ภาษาสันสกฤตอย่างง่าย บทที่ 15


-ธาตุหมวด 10

 

เราเรียนเรื่องธาตุกลุ่มที่ 1 มาแล้ว 3 หมวด คือ หมวด 1, 4, 6 และกำลังจะเรียนหมวดที่ 10 ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

 

ธาตุหมวด 10 และปัจจัย อย (áya)

ธาตุหมวด 10 นี้เรียกตามนักไวยากรณ์อินเดีย บอกว่า จุราทิคณะ (คณะที่มีธาตุ จุรฺ เป็นอาทิ) แต่นักไวยากรณ์ตะวันตกมักไม่ถือว่าเป็นหมวดหนึ่งต่างหาก แต่เป็นลักษณะอย่างหนึ่งของรูปกริยา ที่เรียกว่า กริยาบอกเหตุ (แปลว่า ส่งผลให้ทำกริยานั้นๆ)  รายละเอียดไว้ค่อยเรียนรู้ในโอกาสหน้า เพราะต้องการพื้นฐานอีกสักหน่อย

 

อธิบายง่ายๆ ก็คือ เรากำลังพูดถึง ปัจจัย อย (áya) มีเสียงเน้นที่สระอะตัวแรก กริยาที่เติม อย มีด้วยกัน 3 แบบ คือ

1) ธาตุหมวด 10 ตามนักไวยากรณ์อินเดีย เช่น จุรฺ  โจรยติ

2) นาม ที่นำมาใช้เสมือนธาตุ เรียกว่า นามธาตุ เช่น ศิถิล ศิถิลยติ

3) ธาตุหมวดใดก็ตาม ที่นำมาใช้เป็นกริยาบอกเหตุ เช่น ภู (หมวด 1) ภาวยติ

 

ในที่นี้ขออธิบายตามแบบไวยากรณ์อินเดีย ซึ่งจัดธาตุหมวด 10 ไว้ ดังนี้

1. ทำคุณ (หากทำได้) สระ อิ อุ และ ฤ เมื่ออยู่ต้นธาตุ หรือกลางธาตุ เช่น

               จุรฺ > โจรฺ > โจรฺ + อย + ติ > โจรยติ

               วิทฺ > เวทฺ > เวทฺ + อย + ติ > เวทยติ

               ปีฑฺ > ปีฑฺ (ทำคุณไม่ได้ เพราะสระเสียงยาวแล้ว) > ปีฑฺ + อย + ติ > ปีฑยติ

2. สระท้ายธาตุ ให้ทำพฤทธิ  เช่น

               ธฺฤ > ธารฺ > ธารฺ + อย + ติ > ธารยติ

               หากทำพฤทธิแล้วได้สระ ไอ (āi) และ เอา (āu) ให้เปลี่ยนเป็น อายฺ (āy) และ อาวฺ (āv) ก่อนเติม อย

            ภี > ไภ > ภายฺ + อย + ติ > ภายยติ

               ภู > เภา > ภาวฺ + อย + ติ > ภาวยติ

3. สระอะ เมื่ออยู่ต้น หรือกลางธาตุ ในพยางค์เบา (ลฆุ) บ้างก็ยืดเสียงเป็นอา บ้างก็คงอะ เช่น

               กฺษลฺ > กฺษาลยติ

               ชนฺ > ชนยติ

 

ธาตุ

กถา*       (เรื่อง) บอก, เล่า กถยติ कथयति katháyati

กฺษลฺ        ล้าง. กฺษาลยติ क्षालयति kṣāláyati

คณ*       (จำนวน) นับ คณยติ गणयति gaṇáyati

จุรฺ           ลัก. โจรยติ चोरयति coráyati

ตฑฺ          ตี. ตฑยติ तडयति taḍáyati

ตุลฺ           ชั่ง. โตลยติ तोलयति tuláyati

ทณฺฑ*     ทำโทษ. ทณฺฑยติ दण्डयति daṇḍáyati

นี + อา     นำมา. อานยติ आनयति ānáyati

ปีฑฺ           บีบ, ตี. ปีฑยติ पीडयति pīḍáyati

ปูชฺ           บูชา. ปูชยติ पूजयति pūjáyati

ปฺฤ           กำจัด, คุ้มครอง. ปารยติ पारयति pāráyati

* เป็นนามธาตุ คือ ใช้นามไปสร้างกริยา ในรูปแบบเดียวกับการสร้างจากธาตุ ในที่นี้ไม่ขออธิบายขั้นตอน ให้ลบสระอะหรืออาท้ายคำ แล้วเติม อยะ เช่นจุราทิคณะทั้งหลาย

 

แบบฝึก

สร้างประโยคโดยใช้ธาตุข้างต้นให้ครบ สลับพจน์ บุรุษบ้าง

 

หมายเลขบันทึก: 506691เขียนเมื่อ 24 ตุลาคม 2012 19:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 ตุลาคม 2012 11:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (18)

ชอบที่ ท่าน อจ. นำเสนอนะคะ แต่ยากมาก กับ หมอเปิ้ล นะค

ขอบคุณ มากค่ะ

  1. สระอะ เมื่ออยู่ต้น หรือกลางธาตุ ในพยางค์เบา (ลฆุ) บ้างก็ยืดเสียงเป็นอา บ้างก็คงอะ เช่น

ข้อนี้แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรอะค่ะอาจารย์ว่าบางตัวต้องยืดเสียงบางตัวต้องคงอะไว้อย่างเดิม

  • √กฺษลฺ ธาตุตัวนี้ถ้ายังคงอะไว้ไม่ยืดเสียงก็จะได้เป็น ''กฺษลยติ'' เหรอค่ะ ?

  • √ตุลฺ ( ทำคุณได้พราะสระอุเป็นสระเสียงสั้น ก็ได้เป็น โตลฺ + อย = โตลยติ ทำไมของอาจารย์ถึงได้เป็นตุลยติอะค่ะ หนูงง ? )

  • √นี ( สระอีอยู่ท้ายธาตุให้ทำพฤทธิได้เลย ก็ได้เป็น ไน , เปลี่ยนไนเป็น นายฺ + อย = นายยติ แต่ทำไมของอาจารย์เป็น นยติ อะค่ะ )

ตอนอ่านคำอธิบายข้างบนเข้าใจหมด แต่พอมาเจอกริยาสมบูรณ์แล้วหนูงงเลยคะ เพราะลองมานั่งทำเองดู ธาตุบางตัวทำออกมาได้แล้วไม่เหมือนของอาจารย์อะคะ

ขอบคุณคะ

ตัวไหนยืด ไม่ยืดต้องสังเกตเอาครับ ในที่นี้ให้ยึดตัวอย่างที่ให้ไ้ว้ไปก่อน

ถ้าไม่ยืดก็ กฺษลยติ ถูกแล้ว

อา+นี เป็นหมวด1 จึงทำคุณ แต่ถ้าใช้ปัจจัย อย (เพื่อแปลว่า เป็นเหตุให้นำมา) ก็ต้องทำพฤทธิ (อานายยติ) อย่างที่ว่ามา เก่้งมากครับ

เดี๋ยวต้องแก้หัวข้อนิดนึง ว่าไม่ใช่ธาตุหมวด 10 ทั้งหมด

ขอบคุณครับ พี่เปิ้ล ที่มาให้กำัลังใจเสมอ.. ;)

อาจารย์กำลังบอกว่า เป็นวิธีการเดียวกับการทำธาตุให้เป็นรูป Causative ใช่ไหมครับ ? ต้องขอโทษด้วยนะครับที่บางทีใช้ศัพท์อังกฤษ เพราะว่า เรียนและจำมาแต่ตำราที่เป็นภาษาอังกฤษอย่างเดียว เคยอ่านตำราที่สอนอะไรซับซ้อนอยู่หนนึง เขามีตัวอักษรประกบธาตุอีกที ไม่แน่ใจว่าเขาเรียก ปรัตยยะ หรืออย่างไร หนังสือบอกว่าเป็นตัวบอกการใช้งานธาตุ งงดีเหมือนกันครับ

เมื่อวานวัน วิัชัยทัศมี ขอให้พระแม่ประทานพรให้แด่อาจารย์ครับ

ใช่แล้วครับ causative

ศัพท์ด้านไวยากรณ์คงจะต้องมาจัดทำกันใหม่

เพราะตำราบ้านเราอาศัยศัพท์บาลี ซึ่งบางทีก็ไม่ตรง บางทีก็สับสน

แต่ส่วนใหญ่ยังใช้งานได้

 

ขอบพระคุณที่ขอพรให้ครับ

ขอให้คุณ Blank ได้รับพรอันประเสริฐเ่ช่นกัน..

ฤษี กถยโต ทิคฺธํ พาเลภฺโย คฺฤเห = ฤาษีทั้งสองเล่านิทานให้เด็กๆในบ้านหลังหนึ่งฟัง

กถยโถ’ธรฺมํ ศิษฺยานำ คุรเว ยทา = เธอทั้งสองเล่าถึงความผิดของศิษย์ทั้งหลายให้ครูฟังตอนไหน ?

พาเลา กฺษาลยตะ ปาทํ รามสฺย ชเลน = เด็กทั้งสองล้างพระบาทของพระรามด้วยน้ำ

กวี คณยโต มีนานุทเธา = กวีทั้งสองนับฝูงปลาทั้งหมดที่มีอยู่ในทะเล

ศตฺรุะ โจรยติ อนฺนานิ ผลานิ จ คฺฤหาตฺ = ศัตรูขโมยอาหารและผลไม้เหล่านั้นไปจากบ้าน

คุรุะ ตฑยติ ศิษฺยํ หสฺเถน = ครูตีลูกศิษย์ด้วยมือ

นระ โตลยติ ผลานิ = คนชั่งผลไม้เหล่านั้น

ราโช ทณฺฑยติ อรีนสินา = พระราชาทรงทำโทษเหล่าศัตรูนั้นด้วยดาบ

ฤกฺโษ อานยติ ผลํ วฺฤกฺษาตฺ = หมีนำผลไม้มาจากต้นไม้

พาละ ปีฑยติ อศฺรูณิ เด็กบีบน้ำตา (แบบนี้ได้ไหมค่ะ ฮ่า )

รามะ ปูชยติ ภานุมคฺนินา = พระรามทรงบูชาพระอาทิตย์ด้วยไฟ

กฺษตฺริยาะ ปารยติ ฤกฺษํ คฺรามาตฺ = นักรบทั้งหลายกำจัดหมี(ออก)ไปจากหมู่บ้านแห่งหนึ่ง

สรุปคือว่าธาตุบางตัวในหมวดสิบนี้ตัวไหนทำคุณได้ถือว่าเป็นหมวดที่หนึ่งเหรอค่ะ แล้วก็ต้องขออภัยอาจารย์ด้วยที่หนูพิมพ์ส่งไปซ้ำ พอดีเผลอไปคลิกดับเบิ้ล ถ้าข้อไหนซ้ำรบกวนอาจารย์ลบออกไปได้เลยคะ จะได้ไม่ดูเละเทะ หนูนี่ทำงานไม่ค่อยเรียบร้อยเลย อิอิ

กถยโถ’ธรฺมํ ศิษฺยานำ คุรเว ยทา กทา = เธอทั้งสองเล่าถึงความผิดของศิษย์ทั้งหลายให้ครูฟังตอนไหน ?

ยทา ไม่ใช่คำถาม, ใช้คู่กับ ตทา แปลว่า เมื่อใด... เมื่อนั้น...

พาเลา กฺษาลยตะ ปาทํ รามสฺย ชเลน = เด็กทั้งสองล้างพระบาทของพระรามด้วยน้ำ ถูกแล้ว แต่ ปาท น่าจะใช้ ทวิพจน์

คุรุะ ตฑยติ ศิษฺยํ หสฺเถน หสฺเตน = ครูตีลูกศิษย์ด้วยมือ

ฤกฺโษ ฤกฺษ อานยติ ผลํ วฺฤกฺษาตฺ = หมีนำผลไม้มาจากต้นไม้

ฤกฺษสฺ อานยติ  > ฤกฺษ อานยติ (อสฺ หน้าสระอื่นนอกเหนือจากอะ ให้ลบ สฺ)

พาละ ปีฑยติ อศฺรูณิ เด็กบีบน้ำตา (แบบนี้ได้ไหมค่ะ ฮ่า ).. ไม่เคยเจอคำนี้ คงจะได้เหมือนกัน อิๆๆ

 

ที่เหลือถูกแล้วครับ

ธาตุหมวด 10 ทำอย่างที่อธิบายไว้นั่นแหละ แต่เผอิญที่ให้ศัพท์ไว้ มีหมวด 1 ด้วย

ดังนั้นเราต้องดูเสียงเน้นเหมือนเดิม ว่าธาตุนั้นเป็นหมวดไหนครับ

อาจารย์ค่ะ ปกติแล้วในพจนานุกรมจะบอกเสียงเน้นไว้ไหมค่ะ

พจนานุกรมบอกเสียงเน้น และบอกหมวดด้วยครับ สบายเลย

..สวัสดีเจ้าค่ะ..คุณธวัชชัย..อยากจะเรียนถาม.ท่านผู้รู้ว่าคำนี้..ในภาษาไทยจะเขียนว่าอย่างไร..Kadampa ซึ่งเขียนในภาษาเยอรมัน..K จะใช้เหมือน Cในภาษาอังกฤษ.".คาธดัมปา"ต้นคำน่าจะเป็นภาษาธิเบต...จะครงกับบาลีหรือสันสฤตไหม.."คำ ธรรม"...ไหมเจ้าคะ....(อยากทราบเจ้าค่ะ...ยายธี)

ขอบคุณครับท่านอาจารย์ธวัชชัย ที่นำเสนอเกี่ยวกับการเรียนภาษาสันสกฤต แบบง่าย ๆ แต่ว่าผู้เรียนจะต้องมีพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับภาษาบาลีมาพอสมควรถึงจะเรียนได้ง่ายและรวดเร็วใช่มั๊ยครับ แต่ว่าก็ไม่แน่เสมอไปอยู่ที่ความพยายามของบุคคลนั้น ๆ เป็นประโยชน์มากครับสำหรับวงการศึกษาและผู้คนในสังคมที่สนใจการเรียน ขอให้กำลังใจครับผม

สวัสดีครับ คุณ Blank ยายธี

Kadampa คำนี้ในภาษาทิเบตเป็นสำนักหนึ่งของพุทธศาสนา ถ้าเทียบเป็นไทยตามหลักบาลีสันสกฤต ก็น่าจะเขียนเป็น "กทัมปะ" ครับ อ่านว่า กะดัมปะ  คาดว่าไม่ตรงกับศัพท์ ธรรมะ ครับ

 

สวัสดีครับ อาจารย์ Blank ผศ. คนอง วังฝายแก้ว

ผู้สนใจสามารถติดตามศึกษาได้เลยครับ ไม่ต้องมีพื้นฐานบาลี (แต่ถ้ามีก็ยิ่งดี) เพราะ่ก่อนหน้านี้ผมปูพื้นเรื่องภาษาสันสกฤตมาบ้างแล้ว

ผมปรับบทเรียนมาจากตำราฝรั่ง สำหรับผู้สนใจทั่วไป และเปิดโอกาสให้สอบถามได้ หากอ่านบทเรียนแล้วยังไม่กระจ่าง คิดว่าน่าจะเรียนได้เร็วพอสมควรครับ

ขอบพระคุณที่ให้กำลังใจครับ ;)

 

อาจารย์ขึ้นบทใหม่เลยคะ อิอิ

ธาตุทั้งหมดที่อาจารย์ให้ไว้ในบทนี้ เป็นธาตุหมวดที่สิบทั้งหมดเลยใช่ไหมค่ะ

ยกเว้น นามธาตุ ที่ใช้อย่างธาตุหมวด 10

แล้วก็ นี ที่แจกรูปแล้วบังเอิญไปตรงกัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท