ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน : 36. เรียนสังเคราะห์และคิดสร้างสรรค์ (1) กลุ่มทำแผนที่ความคิด


เป็นเครื่องมือฝึกการเขียนแผนภาพ ซึ่งจะช่วยเปลี่ยนสารสนเทศที่ซับซ้อนไปเป็นสิ่งที่เห็นด้วยตา และเข้าใจง่าย นศ. ต้องวิเคราะห์เรื่องราวที่ซับซ้อน และสังเคราะห์เป็นขั้นตอน หรือเป็นชิ้นส่วน ที่เข้าใจง่ายเมื่อนำเสนอเป็นไดอะแกรม หรือแผนผัง

 

ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน  : 36. เรียนสังเคราะห์และคิดสร้างสรรค์  (1) กลุ่มทำแผนที่ความคิด

บันทึกชุดนี้ ได้จากการถอดความ ตีความ และสะท้อนความคิด    จากการอ่านหนังสือ Student Engagement Techniques : A Handbook for College Faculty เขียนโดย ศาสตราจารย์ Elizabeth F. Barkley    ในตอนที่ ๓๖ นี้ ได้จาก Chapter 14  ชื่อ Synthesis and Creative Thinking    และเป็นเรื่องของ SET 16 : Team Concept Maps   

บทที่ ๑๔ ว่าด้วยเรื่องการสังเคราะห์และคิดสร้างสรรค์   ประกอบด้วย ๗ เทคนิค  คือ SET 16 – 22   จะนำมาบันทึก ลปรร. ตอนละ ๑ เทคนิค    เทคนิคเหล่านี้ ช่วยให้ นศ. ฝึกความสร้างสรรค์ ซึ่งหมายถึงทักษะในการเชื่อมโยงสิ่งที่ตนรู้อยู่แล้ว กับสิ่งที่เรียนรู้ใหม่หรือที่พบโดยไม่คาดฝัน   เกิดสิ่งใหม่ที่กระตุ้นความสนใจ หรือเกิดการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน     และ นศ. ได้ฝึกทักษะสังเคราะห์ ซึ่งหมายถึงการนำเอาสิ่งที่รู้อยู่แล้ว กับสิ่งที่เรียนรู้ใหม่ มาผสมกันเป็นสิ่งใหม่ที่เป็นภาพรวมใหม่

 

SET 16  : กลุ่มทำแผนที่ความคิด  

จุดเน้น  :  ความร่วมมือ

กิจกรรมหลัก :    การเขียนไดอะแกรม

ระยะเวลา  :  หนึ่งคาบ

โอกาสเรียน online  :  ต่ำ

 

เป็นเครื่องมือฝึกการเขียนแผนภาพ ซึ่งจะช่วยเปลี่ยนสารสนเทศที่ซับซ้อนไปเป็นสิ่งที่เห็นด้วยตา และเข้าใจง่าย   นศ. ต้องวิเคราะห์เรื่องราวที่ซับซ้อน และสังเคราะห์เป็นขั้นตอน หรือเป็นชิ้นส่วน ที่เข้าใจง่ายเมื่อนำเสนอเป็นไดอะแกรม หรือแผนผัง

การเขียนถ้อยคำ แนวความคิด หลักการ หรือกิจกรรม ออกมาเป็นไดอะแกรม นั้น   ตัวไดอะแกรมอาจเรียกได้หลายชื่อ ได้แก่ Word Web, Mind Map, Cognitive Map   ในที่นี้ใช้ชื่อ Concept Map เพื่อให้เป็นคำกลางๆ   ให้ นศ. ใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้เต็มที่   ว่าจะจัดทำ กราฟิก แบบไหน

 

 ขั้นตอนดำเนินการ

  1. เพื่อให้ นศ. รู้จักแผนที่แนวความคิด   ครูเลือกเรื่องที่เป็นหลักการ หรือกระบวนการ ที่มีความสำคัญในรายวิชา    สำหรับทดลองทำแผนที่แนวความคิด   เรื่องที่เลือกควรมีความสัมพันธ์ หรือความเชื่อมโยงมากๆ
  2. ระดมความคิดเรื่องนั้นสักครู่    ครูเขียนคำสำคัญ หรือประโยคสำคัญ ที่สะท้อนเรื่องราวหรือประเด็น หรือองค์ประกอบสำคัญ    ลงบนกระดานหรือกระดาษ
  3. เลือกแบบแผนผัง (ไดอะแกรม) ที่จะแสดงภาพความสัมพันธ์ได้ดีที่สุด เช่น flowchart, spoked wheel, network tree, fishbone, mind map    แล้วครูจัดทำตัวอย่างไดอะแกรมแสดงแผนที่แนวความคิดให้ นศ. ดู
  4. ทำตัวอย่างแผนที่แบบอื่น ให้ นศ. ได้เห็นว่า สามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์ทำแผนที่ความคิดได้หลากหลายแบบ
  5. จัดให้มีพื้นที่เขียนร่วมกันในห้องหรือในกลุ่ม เช่น flip chart, white board เป็นต้น    รวมทั้งปากกาเมจิก หรือสีเครยอง หลากสี 
  6. จัดทีม  พร้อมทั้งเครื่องใช้สำหรับระดมความคิดในกลุ่ม  และเขียนแผนที่แนวความคิด   พร้อมทั้งมอบโจทย์
  7. มอบหมายให้ กลุ่ม นศ. เขียนคำหลัก ประโยคหลัก   แล้วลากเส้นเชื่อมโยง   เพื่อเป็นร่างความคิด   ร่วมกันตัดสินใจว่าจะเขียนไดอะแกรมแบบไหน   แล้วจึงเขียนแผนที่ความคิดนำเสนอต่อชั้น   

 

ตัวอย่าง

วิชาไฟฟ้าสถิต

ศาสตราจารย์ผู้สอนวิชานี้ ต้องการใช้เทคนิค “ทีมทำแผนที่ความคิด”   สำหรับเรียนรู้วิชาไฟฟ้าสถิต   เริ่มจากครูบรรยายโดยฉายภาพด้วยเครื่องฉายภาพข้ามศีรษะประกอบ    และแบ่ง นศ. ออกเป็นกลุ่ม ๓ คน   แจกเครื่องใช้ในการระดมความคิดและเขียนแผนที่ความคิด   หลังจากให้เวลาทำ ๑๐ นาที   ให้แต่ละกลุ่มกำหนดผู้นำเสนอ ทำหน้าที่นำเสนอต่อเพื่อนทั้งชั้น 

 

วิชาประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๘๗๗

ศาสตราจารย์ผู้สอนวิชานี้แก่ นศ. ปี ๑   ต้องการให้ นศ. เข้าใจว่าสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีผลกระทบอย่างซับซ้อนต่อประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างไรบ้าง   จึงตั้งประเด็น “ผลของสงครามโลกครั้งที่สองต่อประเทศสหรัฐอเมริกาส่วนที่อยู่ในทวีปอเมริกา”   และแบ่งกลุ่ม นศ. เป็นกลุ่มละ ๔ คน    ให้ระดมความคิดและนำเสนอเป็นแผนผังความสัมพันธ์    นศ. กลุ่มหนึ่งให้เน้นที่ผู้หญิง การศึกษา และเศรษฐกิจ    มอบปากกาสีประจำตัว นศ. แต่ละคน    สิ่งที่เขียนจึงสะท้อนความคิดและบทบาทของ นศ. แต่ละคน   และเมื่อส่งกระดาษผังความคิด ครูจึงสามารถให้คะแนนแก่ นศ. แต่ละคนได้      

 

วิชาการออกแบบ ๒ มิติ เบื้องต้น

เป็นวิชาเบื้องต้น ให้ นศ. เรียนหลักการออกแบบ และการประยุกต์   อาจารย์ผู้สอนใช้เทคนิค “กลุ่มทำแผนที่แนวความคิด” กระจายอยู่ตลอดภาคการศึกษา    เพื่อให้ นศ. เข้าใจมิติที่ซับซ้อนของการออกแบบ   การนำเสนอความคิดออกมาเป็นแผนภาพ ที่ครบถ้วนและเข้าใจง่าย   อาจารย์สามารถใช้ผลงานแต่ละช่วงประเมินความก้าวหน้าของการเรียนรู้ของ นศ. ได้   ว่ามีความเข้าใจและมีทักษะที่ซับซ้อน เชื่อมโยง และครบถ้วน มากขึ้นเพียงใด

 

การปรับใช้กับการเรียน online

เทคนิคนี้มีคุณค่าที่ปฏิสัมพันธ์ทันใดหรือเดี๋ยวนั้น    ดังนั้นหากจะใช้ในการเรียน online ก็ต้องมี software ช่วย เช่น Inspiration

 

การขยายวิธีการ หรือประโยชน์

·      ใช้ กราฟิกต่างแบบ เพื่อแสดงความสัมพันธ์ที่แตกต่างกัน 

·      ใช้ กราฟิก “เหตุการณ์ต่อเนื่อง” (series of event chain)   เพื่อบอกขั้นตอนการก่อตัว หรือความคลี่คลายของเหตุการณ์หนึ่ง

·      ใช้ Spider Map เพื่อแสดงภาพความสัมพันธ์หลายชั้นกับแนวความคิดแกนกลาง

·      ใช้ Network Tree เพื่อแสดงชุดความสัมพันธ์หลายชั้น  

·      ใช้ Fishbone Map บอกความสัมพันธ์เชิงสาเหตุและผลลัพธ์

·      อาจค้น ซอฟท์แวร์ ช่วยทำกราฟิก ได้ที่ http://www.graphic.org/goindex.html  หรือค้นใน อินเทอร์เน็ต ด้วยคำว่า “graphic organizer” + “teach”

·      นอกจากให้ นศ. ทำรายการคำหลักหรือประโยคหลัก   อาจให้รายการคำหลัก และวลีหรือประโยคหลัก แล้วให้ นศ. จัดทำกราฟิก บอกความสัมพันธ์ โดย นศ. อาจเพิ่มเติมแนวความคิดเสริมประกอบการทำ กราฟิก ได้

 

คำแนะนำ

การให้ นศ. จัดทำแผนที่ความคิด เท่ากับเป็นการให้ นศ. ฝึกฝนการทำผังเครือข่ายองค์ความรู้ (schemata network) หรือ conceptual network ที่เคยลงบันทึกไว้แล้ว นั่นเอง (ดูเรื่อง schema ได้ที่นี่)   

นศ. ที่ถนัดเรียนด้วยจักษุสัมผัส จะชอบเทคนิคนี้   ในขณะที่ นศ. ที่ถนัดเรียนด้วยโสตสัมผัสอาจไม่ชอบ

นศ. บางคนอาจรู้สึกว่าการทำรายการแนวคิด และจัดระดับแนวคิดเป็นเรื่องยาก   และการทำความเข้าใจความสัมพันธ์ยิ่งยากกว่า   ครูจึงควรอดทนใช้เวลาแสดงตัวอย่าง จน นศ. เข้าใจ

การเปรียบเทียบแผนที่แนวความคิด ของ นศ. ต่างกลุ่ม ทำได้ยาก   ยกเว้นจะมีการกำหนดรายการคำหลักหรือประโยคหลักไว้ภายในขอบเขตหนึ่ง    แต่การกระทำดังกล่าวก็มีข้อเสีย ตรงที่จะลดทอนความคิดสร้างสรรค์ ความเชื่อมโยงกว้างขวาง และความลึกซึ้ง ในการทำงานของ นศ.

Nilson LB. (2007). The graphic syllabus and the outcomes map : Communicating your course. San Francisco : Jossey-Bass. อธิบายการใช้กราฟิกเพื่อการเรียนรู้โดยละเอียด และบอกความแตกต่างระหว่าง concept map กับ mind map 

กิจกรรม “ทีมทำแผนที่แนวความคิด” นี้ มักใช้เป็นจุดเริ่มต้นสำหรับกิจกรรมต่อเนื่อง ที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น    เช่น ต่อด้วย SET 33 : Jigsaw  หรือต่อด้วย SET 19 : Role Play   หรืออาจใช้เป็นเครื่องมือนำไปสู่การอภิปรายทั้งชั้น   โดยกำหนดตัวผู้นำเสนอของแต่ละทีม   หรืออาจกำหนดให้เขียนแผนที่แนวความคิดส่งครู   หากให้ นศ. ใช้ปากกาคนละสี   ครูก็จะประเมินบทบาทของ นศ. แต่ละคนได้        

 

เอกสารค้นคว้าเพิ่มเติม

Angelo TA, Cross KP. (1993). Classroom assessment techniques. San Francisco : Jossey-Bass, pp. 197-202.

วิจารณ์ พานิช

๒๒ ต.ค. ๕๕

ศูนย์ฝึกอบรม ธนาคารไทยพาณิชย์  อ. หางดง  จ. เชียงใหม่

 

 

หมายเลขบันทึก: 506573เขียนเมื่อ 23 ตุลาคม 2012 20:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 ตุลาคม 2012 20:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท