รักสามอย่าง


ความรักทั้งหลายของมนุษย์ สัตว์ เทวดา พรหมในโลกทั้งปวงไม่พ้นไปจากความรักทั้งสามประการนี้
ความรักคือ ทุกอย่างที่คุณอยากให้เป็น
เป็นความสุข ถ้าคุณสมหวัง
เป็นความทุกข์ ถ้าเขาจากคุณไป
เป็นความอิจฉา ถ้าเห็นเขาไปกับคนอื่น
เป็นความเหงา เวลาอยู่ไกล
เป็นความห่วงใย ยามไม่เห็นหน้า
เป็นความโหยหาเวลาที่ไม่มีเขา
และเป็น.....................
                       ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น กับความรัก
                        แต่เราก็ ยังคงมีรัก...แค่รู้ และอยู่กับ มันให้ได้
    เป็นกำลังใจให้นะ  ทำใจรักแบบ ไม่ยึดติด ไม่ต้องการ ได้มา พอใจที่เขามีสุข  แล้วจะ อยู่ได้โดยไม่ร้อนรน นะ   ทุกคน มีเหตุผลกับการกระทำของเขานะ
อ้างอิง
ความรักคือไร
ความรักคือสิ่งที่สวยงาม
อ้างอิง
ทำไมเราต้องมีความรัก
เพราะเราต้องการความรักจากผู้อื่น 
อ้างอิง
ความรักเป็นสิ่งที่ดีทำไมถึงมีทุกเมื่อไม่สมหวังในรัก
ต้องถูกแล้วคร้าบ  ความรักเป็นสิ่งที่ดี  แต่ที่เป็นทุกข์เพราะความรักมันเปลี่ยนไป
(จริงๆแล้วใจคนเปลี่ยนจึงจะถูก   )
ดูนี่ครับ
ประสบกับสิ่ง  ไม่เป็นที่รักที่พอใจก็เป็นทุกข์
พลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก   เป็นทุกข์
หวังสิ่งใด    ไม่ได้สิ่งนั้นสมหวัง   ก็เป็นทุกข์
โดยสรุป  การยึดถือมั่นร่างกายและจิตใจเป็นตัวทุกข์
อ้างอิง
ทำดีแล้วทำไมไม่ได้ดี
ทำดี  ของคุณหมายถึงทำเช่นไร ?
เรื่องนี้ค่อนข้างอธิบายยาว  ผ่านประเด็นนี้ไปก่อนนะครับ
สรูปว่า   คุณยึดมั่นมากเกินไป  อ้างอิง
...ฯลฯ  และยึดมั่นในศีล 5 ข้อ ตลอดเวลา
แม้ศีล 5 ที่ยึดอยู่นั่น  แม้จะเป็นความดี  ถ้ายึดมั่นถือมั่นมาก ๆ  ก็ทำให้คุณเป็นทุกข์ได้เช่นกัน  จะกล่าวไปไยถึงแฟนคุณเล่า
____________________________________
"ความเพียรที่ระดมมากเกินไป ย่อมเป็นไปเพื่อความฟุ้งซ่าน ความเพียรที่หย่อนเกิดไป ย่อมเป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน เพราะเหตุนั้นแล เธอจงตั้งใจกำหนดความเพียรให้เสมอพอเหมาะ จงเข้าใจความเสมอพอดีกัน แห่งอินทรีย์ทั้งหลาย และจงถือนิมิตในความเสมอพอดีกันนั้น "
องฺ.ฉกฺก.22/326/419
ความรักคืออะไร
ไชย ณ พล, Ph.D.
: จิตวิทยาแห่งความรัก
การเลือกคู่ และการอยู่คนเดียว

          หากจะกล่าวกันอย่างกระชับและตรงไปตรงมา ความรักคือ ความชื่นชมยินดีอย่างยิ่งจนบังเกิดความปรารถนาขึ้น
          แต่ปรารถนานั้นมีอยู่สองทิศทางคือ ปรารถนาที่จะได้กับปรารถนาที่จะให้
          เมื่อบุคคลรักบางสิ่งบางอย่าง เขาอาจจะมีปรารถนาอย่างใด อย่างหนึ่งหรือทั้งสามอย่าง ดังนี้
          ๑. รักที่ปรารถนาจะได้อย่างเดียว ความรักแบบนี้อยู่บนพื้นฐานของจิตใจที่ยังขาดพร่องไม่สมบูรณ์ การรักผู้อื่นเป็นเพียงภาษาของการเรียกร้อง เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ความรักชนิดนี้ จะรักในผู้ที่ถูกรักโดยมีเงื่อนไขคือหวังดูดซับคุณ หรือพึ่งพิงค่าของผู้ที่ถูกรัก
          ๒. รักที่ปรารถนาจะให้อย่างเดียว ความรักแบบนี้อยู่บนพื้นฐานของจิตใจที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ดวงใจเช่นนี้ย่อมรักที่จะรัก คือรักความสุขอันเกิดขึ้นจากการรัก จึงมอบความรักให้ผู้อื่นโดยไม่มีเงื่อนไขที่จะต้องได้สิ่งใดหวนคืนมา แค่รักก็เป็นสุขแล้ว รักแบบนี้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เมตตา
          ๓. รักที่ปรารถนาที่จะให้และต้องการได้ ความรักแบบนี้อยู่บนพื้นฐานของจิตใจระดับกลางทั่ว ๆ ไป ซึ่งจะยินดีในการสละให้ ช่วยเหลือเกื้อกูล แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องการการตอบแทนด้วย เช่น เธอจะต้องเป็นคนดีตามมาตรฐานนี้ ๆ นั้น ๆ หรือเธอจะต้องรักฉันด้วยเช่นกัน หรือ...ฯลฯ ซึ่งคนส่วนใหญ่จะมีความรักแบบนี้
         ความรักทั้งหลายของมนุษย์ สัตว์ เทวดา พรหมในโลกทั้งปวงไม่พ้นไปจากความรักทั้งสามประการนี้
          ความรักประเภทปรารถนาจะได้อย่างเดียว เป็นความรักชั้นต่ำซึ่งสัตว์เดรัจฉานส่วนใหญ่ และมนุษย์ส่วนน้อยจะมีความรักแบบนี้
          ความรักประเภทปรารถนาจะให้อย่างเดียว เป็นความรักชั้นสูง ซึ่งพรหมส่วนใหญ่และเทวดาส่วนน้อยจะมีความรักแบบนี้
          ความรักประเภทปรารถนาทั้งจะให้และจะได้ เป็นความรักระดับกลางที่มนุษย์และเทวดาส่วนใหญ่มีกันอยู่ในปัจจุบันนี้
รักอย่างไรให้เป็นสุข
การรักอย่างเป็นสุขนั้น สามารถทำได้ดังนี้
       ๑. ชำระใจตนให้สะอาด หมดจด จากความต้องการใด ๆ แล้วแผ่ความรัก ความปราถนาดีออกไปรอบทิศทาง จนอิ่มเอิบ เปี่ยมสุข ความรักอย่างนี้เรียกว่า รักสากล หรือเมตตาอันหมดจด จะทำให้ผู้รักอยู่เป็นสุข ตื่นเป็นสุข หลับเป็นสุข ถ้าฝันก็ฝันดี เป็นที่รักของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย
       ถ้าต้องการรักเจาะจงบุคคล ทำอย่างไรจึงจะเป็นสุข
       ๒. หากประสงค์จะรักเฉพาะบุคคล ให้ตั้งใจให้สะอาด ปรารถนาจะมอบให้ซึ่งความรักอันหมดจด จริงใจ โดยไม่หวังสิ่งใด ๆ ตอบแทน บางคนอาจคิดว่าทำได้หรือ
          ก็ต้องตอบตามความจริงว่า ทำได้แน่ สมัยหนึ่ง ขณะที่ยังเป็นวัยรุ่นอยู่ เคยตั้งใจชำระจิตของตนและยกระดับใจให้สูงส่งโดยตั้งใจให้หมดจด แผ่แต่ความรักความเมตตาอันบริสุทธิ์ ที่ปรารถนาจะมอบคุณค่าให้แก่บุคคลผู้หนึ่ง และเกื้อกูลเขาอย่างแท้จริง เพื่อให้เขาเป็นสุข
          ความรักนั้นบริสุทธิ์และมีค่ามาก เขาผู้นั้นก็เอิบอิ่ม เป็นสุข ประทับใจในความรักอันบริสุทธิ์ และมอบความรักอันหมดจดตอบ
          เมื่อต่างคนต่างไม่ต้องการอะไรจากกัน ต่างก็หวังจะให้แก่กัน จึงไม่มีใครผิดหวัง ความทุกข์ก็ไม่มีโอกาสเกิดขึ้น จิตเป็นอิสระ ปราศจากความห่วงหาอาวรณ์ ยามไม่ได้พบกันก็ไม่ได้คิดถึงคนึงหา แต่ยามพบกันคราใดก็จะมีความจริงใจ อันสะอาดหมดจดให้แก่กัน สัมพันธภาพจึงราบรื่นไร้ปัญหา และเอื้อต่อความสุขอย่างแท้จริง
          แต่การใช้วิธีนี้ต้องคำนึงถึงระดับของคู่สัมพันธ์ คู่สัมพันธ์ต้องเป็นบุคคลที่มีจิตใจประเสริฐและพร้อมที่จะให้เหมือนกันจึงจะเป็นสุข ถ้าจิตใจคู่สัมพันธ์บกพร่องหรือหยาบช้า มีเจตนาไม่ดี หรือมีแต่ความอยากได้ถ่ายเดียวแล้ว ก็จะไม่ผลเป็นความสุข
          เพราะในขณะที่คนหนึ่งหมั่นสละให้อีกคนก็จ้องจะตักตวง คนหนึ่งเพียรสร้างความสุข อีกคนก็เฝ้าทำลาย แม้จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ก็ย่อมเป็นทุกข์ทั้งสิ้น
          ความปรารถนาดีและการสละให้โดยหมดจดคือวิธีรักอย่างเป็นสุขระดับที่สอง รองลงมาจากเมตตาอันหมดจด ไร้ขอบเขต
   ถ้าหากมีความต้องการสนองตอบด้วยล่ะ ทำอย่างไรจึงจะเป็นสุข
        ๓. หากมีความต้องการด้วย ก่อนอื่นต้องเลือกบุคคลที่มีความประเสริฐจริงในการคบหาด้วย จากนั้นยินดีในคู่สัมพันธ์ของเรา ความยินดีจะทำให้เกิดความเคารพซึ่งกันและกัน เมื่อเคารพซึ่งกันและกันแล้วก็ตั้งความจริงใจทั้งต่อหน้าและลับหลัง
          ปฏิบัติต่อกันด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ทั้งทางใจ ทางวาจา และทางกายกรรม จากนั้นก็เก็บความต้องการของตนเสียแล้วประพฤติตามความต้องการของคู่สัมพันธ์
          เรื่องนี้ประณีตมาก การที่จะเก็บความต้องการของตนเสีย แล้วประพฤติตามความต้องการของคู่สัมพันธ์นั้น จะต้องได้คู่ที่มีคุณธรรมระดับเดียวกัน หรือดีกว่าเท่านั้น หาไม่แล้วจะอึดอัด และอาจนำไปสู่ความหายนะได้โดยง่าย
          แต่หากได้คู่ที่มีคุณธรรมระดับเดียวกัน และต่างคนต่างก็ปฏิบัติเหมือนกันคือเก็บความต้องการของตนเสีย และปฏิบัติตามความต้องการของคู่สัมพันธ์ เมื่อต่างคนต่างเก็บความต้องการของตนแล้วหวังจะประพฤติตามความต้องการของคู่สัมพันธ์แล้ว ในที่สุดจะปฏิบัติตามความต้องการของใครเล่า
          เมื่อคนดีและคนดีอยู่ด้วยกัน และประสงค์จะประพฤติตามความต้องการของกันและกัน ก็จะพัฒนาไปสู่การประนอมเพื่อความต้องการร่วม โดยต่างพยายามหาจุดประสานหรือจุดร่วมในความต้องการของทั้งสองฝ่าย ในที่สุดก็จะได้วิถีที่สอดคล้องกับความต้องการของทั้งสองคน
          การรักกันตามมาตรฐานนี้ ก็จะเป็นสุขได้
         เรื่องเคยมีมาแล้ว สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปยังป่าโคสิงคสาวัน อันเป็นที่บำเพ็ญเพียรของท่านอนุรุทธ พระนันทิยะ และพระกิมิละ ครั้งนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จไปถึงแล้ว ได้ตรัสกะท่านทั้งสามนั้นว่า
          "ดูกรอนุรุทธ นันทิยะ และกิมิละ ก็พวกเธอยังพร้อมเพรียงกัน ชื่นบานต่อกัน ไม่วิวาทกัน ยังเป็นเหมือนน้ำนมกับน้ำ แลดูกันและกันด้วยจักษุอันเป็นที่รักอยู่หรือ"
         ท่านพระอนุรุทธกราบทูลว่า "เป็นอย่างนั้นพระพุทธเจ้าข้า"
          พระผู้มีพระภาคจึงตรัสถามเพื่อย้ำสำนึกของท่านเหล่านั้นว่า "ก็พวกเธอเป็นอย่างนั้นได้ เพราะเหตุอย่างไร"
          ท่านพระอนุรุทธกราบทูลว่า "พระพุทธเจ้าข้า ขอประทานพระวโรกาส ข้าพระองค์มีความดำริอย่างนี้ว่า เป็นลาภของเราหนอ เราได้ดีแล้วหนอ ที่ได้อยู่กับเพื่อนร่วมพรหมจรรย์เห็นปานนี้
          ข้าพระองค์เข้าไปตั้งกายกรรมประกอบด้วยเมตตาในท่านผู้มีอายุเหล่านี้ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง เข้าไปตั้งวจีกรรมประกอบด้วยเมตตาในทานผู้มีอายุเหล่านี้ทั้งต่อหน้าและลับหลัง เข้าไปตั้งมโนกรรมประกอบด้วยเมตตาในท่านผู้มีอายุเหล่านี้ทั้งต่อหน้าและลับหลัง
          ข้าพระองค์มีความดำริอย่างนี้ว่าไฉนหนอเราพึงเก็บจิต (ความต้องการและความรู้สึก) ของตนเสียแล้วประพฤติตามอำนาจจิตของท่านผู้มีอายุเหล่านี้ กายพวกข้าพระองค์ต่างกันก็จริงแล แต่ว่าจิตเหมือนเป็นอันเดียวกัน"
          แม้ท่านพระนันทิยะก็กราบทูลดังนั้น
          แม้ท่านพระกิมิละก็กราบทูลดังนั้น และกราบทูลอีกว่า "พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระองค์ยังพร้อมเพรียงกัน ชื่นบานต่อกันไม่วิวาทกัน ยังเป็นเหมือนน้ำนมกับน้ำ แลดูกันและกันด้วยจักษุอันเป็นที่รักอยู่"
          พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "ดีละ ดีละ อนุรุทธ นันทิยะ กิมิละ พวกเธอเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปดีแล้ว"
          นั่นคือ พฤติวัตรของพระทั้งสามท่าน ซึ่งเป็นกุศโลบายที่จะอยู่กันอย่างเป็นสุข ท่านที่สามารถเข้าใจและฝึกตนได้ ก็นำไปใช้ได้เลย แล้วจะพบความสุขและความอบอุ่นอันประณีต ลึกซึ้งมาก
          และถ้าหากความต้องการไม่ลงตัวกันล่ะ ทำอย่างไรจึงจะเป็นสุขได้
          ๔. หากความต้องการไม่ลงตัวกัน ต้องตั้งใจว่าเรารักคู่เราให้เสมอรักตนเอง นี่คือวิธีประคับประคองความสุขระดับสุดท้าย หากทำตรงนี้ไม่ได้ เลยจากนี้ก็จะเข้าเขตความทุกข์ซึ่งปัญหานานาประการจะเกิดขึ้นตามมา
          ดังที่พระเยซูตรัสว่า "จงรักผู้อื่นให้เสมอกับรักตนเอง" เพราะการรักผู้อื่นให้เสมอกับรักตนเองนั้น จะทำให้เกิดการเอาใจเขามาใส่ใจเรา อะไรที่จะเป็นการกระทบกระเทือนหรือก่อทุกข์ให้กับอีกฝ่ายหนึ่ง เราจะไม่ทำ
          แต่ถ้ารักคนอื่นมากกว่าตนเอง ก็ยอมเป็นทาสตามเขา แม้ในสิ่งที่ไม่สมควร
          และถ้ารักตนเองมากกว่าคนอื่น ก็จะเอาแต่ใจตนเอง ต้องการให้เขายอมตนแม้ในสิ่งที่ไม่สมควร
          ทั้งสองกรณีจะนำสู่ความบาดหมาง แตกแยก และหายนะในที่สุด
          ดังนั้น การรักตนเองให้เสมอกับรักคนอื่น และรักคนอื่นให้เสมอกับรักตนเอง จะเป็นมาตรการสุดท้าย สำหรับประคับประคองความสุขในสัมพันธภาพไว้ได้
          เมื่อรักตนเสมอกับรักผู้อื่น และรักผู้อื่นเสมอกับรักตนเองแล้ว แล้วความเห็นหรือความต้องการที่แตกต่างกันนั้นจะทำอย่างไรเล่า ความเห็นหรือความต้องการที่แตกต่างกันนั้น ต้องให้ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องนั้น ๆ เป็นผู้ตัดสินใจเลือก โดยอีกฝ่ายหนึ่งต้องเคารพในหน้าที่ของอีกฝ่ายหนึ่งด้วย
          เมื่อผู้มีหน้าที่เลือกแล้ว ต้องรับผิดชอบต่อผลที่เกิดขึ้นด้วย ซึ่งหมายความว่าต้องไม่ทำให้คู่สัมพันธ์เดือดร้อน โดยการเอาใจเขามาใส่ใจเรานั่นเอง หากคำนึงได้อย่างนี้เสมอ ๆ ก็จะสามารถรักษาความรักและคงความสัมพันธ์นั้นไว้ได้
          หากทำไม่ได้ก็เตรียมตัวพบกับความทุกข์ได้เลย
 
อ้างอิง
ทำดีแล้วทำไมไม่ได้ดี

ขออนุญาตแนะนำกระทู้ ความดี
http://larndham.net/cgi-bin/kratoo.pl/007666.htm
______________________________
 ลักษณะของคู่ที่เหมาะสม
          พระพุทธองค์ทรงพิจารณาด้วยพระญาณอันหมดจดแล้วพบว่า ในที่สุด คู่ที่มีความสุข ความเจริญที่สุด คือ คู่ที่เหมาะสมกัน ไม่สำคัญหรอกว่า จะหล่อ สวย รวย เก่ง ดี หรือสูงส่งด้วยศักดิ์ศรี เพียงใด ที่สำคัญคือทั้งคู่เหมาะสมกันเพียงใดต่างหาก เกณฑ์มาตรฐานในการพิจารณาความเหมาะสมคือพิจารณาองค์ประกอบสำคัญของการดำเนินชีวิตหลัก ๔ ปรระการ ได้แก่
๑. คู่ที่เหมาะสมควรมีศรัทธาเสมอกัน
๒. คู่ที่เหมาะสมควรมีพฤติวัตรเสมอกัน
๓. คู่ที่เหมาะสมควรมีการสละเสมอกัน
๔. คู่ที่เหมาะสมควรมีปัญญาเสมอกัน
          ถ้ามาตรฐานทั้ง ๔ ประการนี้เสมอกัน อย่างอื่นทั้งหลายทั้งปวงจะลงตัวกันได้โดยง่าย แต่หากองค์ประกอบหลัก ๔ ประการนี้ไม่เสมอกัน อย่างอื่นก็จะขัดแย้งกันไปตลอด ลองพิจารณาดูรายละเอียด
ความมีศรัทธาเสมอกัน
          ศรัทธา แปลว่า ความยินดีอย่างยิ่งใน... เช่น ศรัทธาในความรัก ก็คือความยินดีอย่างยิ่งในความรัก ศรัทธาในศักดิ์ศรีก็คือ ความยินดีอย่างยิ่งในศักดิ์ศรี ศรัทธาในธรรมะก็คือความยินดีอย่างยิ่งในธรรม ศรัทธาในความบริสุทธิ์ก็คือความยินดีอย่างยิ่งในความบริสุทธิ์ หรือศรัทธาในความสุขก็คือความยินดีอย่างยิ่งในความสุข เป็นต้น
          การที่คู่สัมพันธ์มีความยินดีอย่างยิ่งเสมอกัน ก็คือยินดีในสิ่งเดียวกัน นิยมชมชอบสิ่งเดียวกัน เช่น ยินดีในความรู้เหมือนกัน ก็จะทำให้เป็นคนใฝ่ศึกษาเหมือนกัน หรือยินดีในชื่อเสียงเกียรติคุณเหมือนกัน ก็จะทำให้เป็นคนขยันขันแข็งและมีมนุษย์สัมพันธ์ดีเหมือนกัน หรือยินดีในศาสนธรรมเหมือนกันก็จะทำให้พากันเข้าวัดเข้าวาด้วยกัน
          เมื่อยินดีอย่างยิ่งในสิ่งเดียวกันแล้ว เวลาจะทำอะไรก็จะทำด้วยกัน ช่วยเหลือเกื้อกูล ส่งเสริม สนับสนุนกัน อันเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จของชีวิตคู่
         แต่หากไม่ยินดีในสิ่งเดียวกัน ก็จะไม่ลงรอยกัน คนระรสนิยม คนละแนวทาง แยกกันทำ ซ้ำบางทีอาจจะตำหนิวิถีทางของกันและกัน อันเป็นเหตุแห่งความบาดหมางแตกแยกกันได้ หรือแม้จะยอมรักความแตกต่างกันได้ ให้ความเคารพซึ่งกันและกัน แต่ก็จะไม่เจริญรุ่งเรืองเต็มที่ เพราะไม่มีการรวมพลังและไม่ได้ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ แม้บางทีอยู่ในบ้านเดียวกัน แยกกันอยู่ก็มี
          เรื่องเคยมีมาแล้ว สามีภรรยาคู่หนึ่งอยู่กันมาจนมีบุตรแลธิดาถึง ๗ คน แรกสุดก็มีรสนิยมเหมือนกัน คือชอบสงบ จึงเลือกอาชีพชาวสวน ช่วยกันทำสวนจนมีเงินมีทอง เมื่อร่ำรวยจึงคิดจะปลูกบ้านหลังใหม่ให้ใหญ่กว่าเดิม ได้ให้ช่างไปออกแบบ
          เมื่อช่างออกแบบมาแล้ว ปรากฏว่า ฝ่ายสามีชอบแบบหนึ่ง ฝ่ายภรรยาชอบอีกแบบหนึ่ง ตกลงกันไม่ได้ ต่างคนต่างมีความยินดีของตนที่ไม่เหมือนกัน ยอมกันไม่ได้  จนในที่สุดต้องสร้างบ้านขึ้นสองหลังเอาด้านข้างชนกัน
          แล้วฝ่ายสามีก็อยู่ในบ้านแบบที่ตนเลือก ฝ่ายภรรยาก็อยู่ในบ้านแบบที่ตนเลือก ฝ่ายลูกเจ็ดคนก็แบ่งกันไป ลูกคนไหนอยากไปอยู่บ้านพ่อก็ไปอยู่อีกซีกหนึ่ง ลูกคนไหนอยากไปอยู่บ้านแม่ก็ไปอยู่อีกซีกหนึ่ง เกิดการแบ่งแยกกันโดยใช่เหตุ เพียงเพราะความยินดีไม่เสมอกันเท่านั้นเอง
          ดังนั้น ศรัทธาเสมอกัน หรือความยินดีเสมอกันนั้น จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญเบื้องต้นของคู่ที่จะประสบความสุข ความเจริญและความสำเร็จในชีวิต
ความมีพฤติวัตรเสมอกัน
          พฤติวัตร หมายถึง พฤติกรรมที่ทำเป็นประจำ เช่น การบริโภค การพักผ่อน การทำงาน การออกกำลังกาย การศึกษา การรักษาศีล การปฏิบัติธรรม เป็นต้น
          การมีพฤติวัตรเสมอกัน หมายความว่า มีมาตรฐานการกระทำเสมอกัน เช่นเมื่อฝ่ายหนึ่งเอ็นดูในชีวิตทั้งปวง สมาทานการดำรงชีพโดยไม่ฆ่าสัตว์ ก็ไม่ฆ่าสัตว์ด้วยกันทั้งคู่ หรือจะบริโภคอาหารที่เป็นประโยชน์ งดเว้นอาหารที่ให้โทษ ก็ต้องบริโภคในทำนองเดียวกัน หรือหวังในประโยชน์สุขแห่งชีวิต จึงนั่งสมาธิเป็นประจำทุกวันก็นั่งด้วยกันทั้งคู่ เป็นต้น
          เมื่อกระทำกิจที่ควรทำด้วยกันอย่างนี้ ก็จะบังเกิดความอบอุ่น เป็นกำลังใจของกันและกัน ชีวิตคู่ก็จะผาสุก แต่การที่จะกระทำในสิ่งเดียวกัน เหมือน ๆ กันได้นั้น ต้องมีความยินดีเสมอกันก่อนเป็นเบื้องแรก จึงจะทำในสิ่งที่ยินดีร่วมกันได้
          ถ้าศรัทธาไม่เสมอกันแล้วพฤติวัตรก็จะไม่เสมอกัน อันเป็นเหตุแห่งการรบกวนกัน กระแนะกระแหนกัน ทะเลาะเบาะแว้งกัน และแตกแยกกันในที่สุด
         เมื่อประพฤติวัตรไม่เสมอกัน ความสงบสุขในชีวิตคู่ก็จะไม่เกิดขึ้น เช่น คนหนึ่งนอนตื่นเช้า อีกคนนอนตื่นสาย คนหนึ่งบริโภคมังสวิรัติ อีกคนบริโภคมังสารพัด คนหนึ่งไม่ดื่มเหล้า อีกคนเมาหยำเป คนหนึ่งเคร่งครัดในศีล อีกคนมีอาชีพฆ่าสัตว์
          คนหนึ่งจะดูโทรทัศน์ อีกคนจะอ่านหนังสือเงียบ ๆ คนหนึ่งจะเล่นกีฬา อีกคนจะไปเล่นดนตรี คนหนึ่งชอบความสงบ ชอบนั่งสมาธิ อีกคนชอบเปิดวิทยุฟังเพลงดัง ๆ ถ้าต่างคนต่างแยกกันทำอย่างนี้ แต่ละคนก็จะรู้สึกโดดเดี่ยวแม้จะมีคู่อยู่ทั้งคน
          และหากสิ่งที่แต่ละคนทำนั้นไปด้วยกันไม่ได้ ก็จะก่อให้เกิดความรำคาญ เป็นการทำลายความชอบซึ่งกันและกัน หรืออย่างน้อยที่สุดก็ไม่ได้เสริมความสำเร็จของกันและกัน
          ดังนั้น ความมีพฤติวัตรเสมอกัน จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญพื้นฐานสำหรับชีวิตคู่ที่จะประสบความสุข ความเจริญและความสำเร็จ
ความมีการสละเสมอกัน
          บุคคลสองคนที่มาใช้ชีวิตคู่ร่วมกันนั้นจะได้ถือครองกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินต่าง ๆ ร่วมกัน แม้ทรัพย์สินนั้นจะได้มาโดยทางบุรุษหรือสตรีก็ตาม เมื่อมีชีวิตคู่แล้วก็ถือว่าเป็นสมบัติส่วนรวม ดังนั้น ความมีการสละเสมอกันจึงเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งมีสองขั้นคือ
          ชั้นแรก  ต้องเต็มใจและทำการสละให้แก่กันและกัน ไม่ถือว่า นี่คือของฉัน นั่นคือของเธอ เพราะจะทำให้อีกฝ่ายสะเทือนใจลึก ๆ เป็นการแสลงต่อความสัมพันธ์อันสนิทใจ บัญชีธนาคารหรือบัญชีทรัพย์สินหลักควรเป็นบัญชีร่วมกัน ส่วนบัญชีส่วนตัวเพื่อความสะดวก
          ในการปฏิบัติหน้าที่ประจำนั้นอาจแยกคนละบัญชีก็ได้ตามสมควรแก่กรณี การกระทำเช่นนี้จะทำให้ทั้งคู่มีความมั่นคง มีความรู้สึกร่วมรับผิดชอบ หากไม่จัดเรื่องนี้ให้ลงตัว ต่างฝ่ายต่างยังระแวง  คอยดูท่าที อาจเป็นเหตุให้หมางใจกันอยู่ และอาจไม่ทุ่มเทพลังสร้างชีวิตคู่อย่างเต็มที่
          ชั้นที่สอง  เมื่อครองทรัพย์สินร่วมกัน ควรยินดีในการสละเสมอกัน เพราะเป็นธรรมดาของชีวิตในสังคมที่ควรเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน เช่น การทำบุญให้ทาน การสงเคราะห์ผู้ยากไร้ ผู้ประสบภัยพิบัติ คนพิการ คนด้อยโอกาส หรือการให้ตามประเพณีในโอกาสต่าง ๆ หรือ แม้แต่ภาษีรัฐและภาษีสังคม
          ถ้าทั้งคู่มีความเต็มใจในการให้เสมอกัน ในจำนวนที่เห็นสมควรร่วมกัน ต่างคนต่างก็จะแช่มชื่นยินดี ได้บุญกุศลร่วมกัน
          แต่หากทั้งคู่มีความเต็มใจในการสละให้ไม่เสมอกัน ก็จะกระแนะกระแหน โกรธเคือง ทะเลาะเบาะแว้งกันเพราะเหตุแห่งการให้นั้น เช่น สามีเอาเงินไปช่วยเพื่อนที่กำลังเดือดร้อนในจำนวนมากกว่าที่ภรรยาเต็มใจ เธอก็อาจจะค่อนขอดว่าทีลูกเมียไม่รู้จักให้ เอาไปให้คนอื่น
          หรือภรรยาเอาเงินไปทำบุญมากเกินไป สามีก็อาจไม่พอใจพาลวิพากษ์พระและสงสัยในตัวภรรยาไปต่าง ๆ นานาได้ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเหตุแห่งความบาดใจ
          หากเป็นเช่นนี้ต่อไป ต่างก็จะต้องเก็บส่วนของตนไว้เป็นการลับเพื่อจะได้ทำอะไรตามใจปรารถนาของตน ซึ่งนั่นคือความไม่ซื่อสัตย์ ไม่โปร่งใสอีกประการหนึ่ง อันเป็นเหตุให้ชีวิตคู่ไม่ประสบความสุข
ความมีปัญญาเสมอกัน
          ความมีปัญญาเสมอกัน คือการที่ความรู้ความเข้าใจในสิ่งต่าง ๆ เสมอกัน ถ้าคู่สัมพันธ์มีปัญญาเสมอกัน จะเต็มไปด้วยความเข้าอกเข้าใจกันตลอดเวลา ทำให้มิตรภาพราบรื่น และถาวร ไม่ต้องมานั่งบ่น นั่งว่ากันให้เสียความรู้สึก
          การจะมีปัญญาเสมอกันได้นั้น คู่สัมพันธ์จะต้องมีความเสมอกันในองค์ประกอบข้างต้นสามประการ คือศรัทธาเสมอกัน พฤติวัตรเสมอกัน การสละเสมอกันโดยตลอด จึงอาจพัฒนาปัญญาให้เสมอกันได้ ถ้าต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างฝึกฝนแล้วเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีปัญญาเสมอกัน
          เมื่อปัญญาไม่เสมอกันแล้ว ก็จะมีปัญหาความขัดแย้งมากมายตามมา เช่น การจำแนกว่าอะไรเป็นคุณเป็นโทษก็จะต่างกัน การจำแนกว่าอะไรควรก่อน อะไรควรหลังก็จะต่างกัน การวินิจฉัยเรื่องราวทั้งหลายก็จะต่างกัน วิธีการแก้ปัญหาก็จะต่างกันแนวทางเลี้ยงลูกก็จะต่างกัน และอื่น ๆ อีกมากมาย จะแตกต่างกัน ซึ่งความแตกต่างนั้น เป็นที่มาของกการว่ากัน โทษกัน และความแตกแยก
          วิธีเดียวเท่านั้นที่จะประนีประนอมมิให้แตกแยกในท่ามกลางความแตกต่างได้ คือต้องมีปัญญาเสมอกันอย่างหนึ่งประการคือ ปัญญาในการยอมรับความแตกต่าง
-------------------------------------
คัดลอกจาก: จิตวิทยาแห่งความรัก
การเลือกคู่ และการอยู่คนเดียว
ไชย ณ พล , Ph.D.
คำสำคัญ (Tags): #แจ่มใส
หมายเลขบันทึก: 50648เขียนเมื่อ 18 กันยายน 2006 12:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท