ขอให้ลูกมีลมหายใจเท่านั้นก็พอ


ไม่น่ามาเจอเหตุการณ์แบบนี้เลย “เสียงกรีดร้องที่แสดงถึงความเจ็บปวดในขณะที่ใส่ท่อช่วยหายใจ เสียงนั้นก้องอยู่ในหูของทุกคน”

 

หญิงไทย อายุ 23 ปี สถานภาพโสด โรคเอสแอลอี เข้ารับการรักษาด้วยระบบการหายใจล้มเหลว ปอดอักเสบ หลังเข้ารับการรักษาใน ICU ต้องพยายามควบคุมระบบการหายใจด้วยยาและเครื่องช่วยหายใจ แต่มีปัญหาออกซิเจนในเลือดต่ำมาก ไข้สูง แพทย์มีความเห็นว่าปอดอาจติดเชื้ออะไรบางอย่าง ที่ต้องตรวจด้วยการส่องกล้องและตัดชิ้นเนื้อ เพาะเชื้อ เพื่อให้การรักษาที่ถูกต้องมากขึ้น ครอบครัวยินดีให้ตรวจดังกล่าวได้ แต่ระหว่างการส่องกล้อง เกิดปอดรั่ว เลือดคั่งในปอด จำเป็นต้องเปลี่ยนท่อช่วยหายใจ และใส่สายระบายเลือด หลังจากนั้นได้รับการประคับประคองอย่างดีที่สุด แต่ผู้ป่วยอาการไม่ดีขึ้น คงมีไข้ หอบเหนื่อย ปรับเครื่องช่วยหายใจไม่ได้ จำเป็นต้องให้ยานอนหลับขนาดสูง ติดเชื้อในทางปัสสาวะร่วมด้วย แพทย์ปรึกษาญาติเพื่อให้ยาสเตียรอยด์แบบแรงขนาดสูง ซึ่งจากการให้ข้อมูลนั้นญาติทราบดีถึงความเสี่ยงของยาดังกล่าว แต่ยินดีให้แพทย์รักษาอย่างเต็มที่ หลังจากนั้นผู้ป่วยมีการตอบสนองต่อการรักษามากขึ้น ผลการเพาะชิ้นเนื้อในปอด พบว่าติดเชื้อ pneumocystis carinii Pneumonia; PCP ซึ่งเป็นเชื้อที่เกิดขึ้นได้ในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำมาก ต้องได้รับการรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อเป็นเวลานาน หลายสัปดาห์ต่อมาผู้ป่วยมีระบบการหายใจดีขึ้น เริ่มตื่นรู้ตัว แพทย์แนะนำการเจาะคอเพื่อใส่ท่อช่วยหายใจ (tracheostomy) ญาติใช้เวลาในการตัดสินใจนานหลายวัน ร่วมกับผู้ป่วยไม่ยอมเจาะคอ พยายามทุกทางเพื่อฝึกหายใจและหย่าเครื่องช่วยหายใจแต่ไม่สำเร็จ สุดท้ายได้รับการเจาะคอ และสามารถหย่าเครื่องช่วยหายใจสำเร็จ ย้ายไปฝึกหายใจต่อที่หอผู้ป่วย RCU

          ระหว่างรับการรักษาที่ ICU ญาติของผู้ป่วย ประกอบด้วยพ่อ แม่ พี่สาว 2 คน แต่งงานแล้ว หนึ่งในนั้นป่วยเป็นโรคเอสแอลอีด้วย ทั้งครอบครัวนับถือศาสนาคริสต์ มีอาชีพทำสวนยาง สวนปาล์ม ไม่มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย เนื่องจากให้ลูกเขยทำงานแทนได้ ช่วงแรกที่ผู้ป่วยอาการทรุดมาก ทั้ง 4 คนเฝ้าผู้ป่วยตลอดเวลา พี่สาวคนโตเล่าให้ดิฉันฟังว่า

          “ผู้ป่วยเรียน กศน. กำลังจะจบ ม.6 ทุกอย่างกำลังสดใส ไม่น่ามาเจอเหตุการณ์แบบนี้เลย”

          สิ่งที่ทุกคนในครอบครัวหวังคือ ขอให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น ไม่ต้องหายขาดจากโรค แต่ขอให้มีชีวิตต่อไป ขอให้ลืมตาได้ โดยไม่เจ็บปวด แสดงการรับรู้ได้ว่าต้องการสิ่งใด ครอบครัวพยายามขอพรจากพระเจ้า โดยการอธิษฐานในใจ ให้พระเจ้าคุ้มครอง สิ่งที่ทรมานของทุกคนในครอบครัว คือ

          “เสียงกรีดร้องที่แสดงถึงความเจ็บปวดในขณะที่ใส่ท่อช่วยหายใจ เสียงนั้นก้องอยู่ในหูของทุกคน”

          สมาชิกในครอบครัวทุกคนกังวลเรื่องความเจ็บปวดเป็นอย่างมาก จากข้อมูลนี้ทำให้ผู้ป่วยได้รับยาระงับปวดและระงับประสาทในขนาดสูงตลอด

          สำหรับพ่อและแม่ทุกครั้งที่เข้ามาเยี่ยมร้องไห้ รำพึงรำพันขอให้ลูกสาวมีชีวิตต่อไป ไม่ว่าต้องดูแลใกล้ชิดขนาดใด ทั้งสองคนยินดีดูแลลูกสาว ขอให้ลูกมีลมหายใจเท่านั้นก็พอ การเข้ามาเยี่ยมทุกครั้งพ่อแม่มีคำถามมากมาย ต้องการคำอธิบายมากกว่าปกติ เช่น

          “ทำไมบวมจัง”  

          “ลูกพ่อเจ็บมั้ย”

          “เมื่อไหร่จะตื่น”

          “มีไข้อีกมั้ย”

          เมื่อได้นั่งคุยกันด้วยความเป็นกันเอง เริ่มสนิทกับดิฉันมากขึ้น พ่อจะระบายความรู้สึกต่างๆ มากมายรวมถึงคำแนะนำที่มีต่อโรงพยาบาลด้วย เช่น

          “เจ้าหน้าที่ในนี้ดีทุกคน แต่ยามด้านหน้าชอบมาตะคอกไล่ให้ไป พูดดีๆ ก็ได้”

          “ลูกสาว (พยาบาล) ครับ ญาติบางเตียงไม่ค่อยดูแลความสะอาดเลย ผมทนไม่ไหว กินแล้วทิ้งเรี่ยราด”

          “ผมออกไปพักบ้านญาติที่ในเมืองแล้ว”

          “กลัวพยาบาลลำบากใจ”

          ระหว่างนี้มีเพื่อนของผู้ป่วยเอาตุ๊กตาหมีที่เคยสัญญากันไว้มาให้ ผู้ป่วยหวงมาก นอนกอดไว้ตลอดเวลา จนกระทั่งวันหนึ่งตุ๊กตามาวางใกล้ที่หน้า ผู้ป่วยเขียนบอกว่า

          “พ่อ...เอาไปซักให้หน่อย เหม็นจัง”

          พอถึงเวลาพ่อจะเอาไปซัก ผู้ป่วยบอกว่า “ซื้อตัวใหม่มาเปลี่ยนให้ก่อนได้มั้ย” จนได้ตุ๊กตาตัวใหม่มาเปลี่ยน ดิฉันแนะนำร้านซักรีดที่ใกล้ที่สุด ช่วงหนึ่งแผ่นรองซับในโรงพยาบาลขาดตลาด พ่อแม่ไปหาซื้อที่โลตัส แต่ไม่ได้ยี่ห้อเดียวกับที่ผู้ป่วยเคยใช้ พ่อแม่กลัวผู้ป่วยแพ้ จึงได้โทรมาถามว่าชั้นวางแผ่นรองซับในโลตัสอยู่ตรงไหน พยาบาลได้อธิบาย สุดท้ายพ่อบอกว่า

          “รู้ทุกเรื่อง จริง สมแล้วที่พ่อฝากลูกสาวไว้ที่นี่”    

          หลังจากผู้ป่วยอาการดีขึ้น อยู่ระหว่างพักฟื้น ผู้ป่วยไม่ยอมรับประทานอาหารเลย แม่โทรมาบอกว่า “ไปช่วยเชียร์ให้กินข้าวหน่อย” เมื่อไปเยี่ยมผู้ป่วยและได้พูดคุยกัน บอกว่า “ไม่ค่อยหิว แต่จะพยายามกิน เพื่อจะได้กลับบ้านเร็ว” วันก่อนกลับบ้านขึ้นไปเยี่ยมที่ตึกสามัญ ผู้ป่วยยิ้มแย้มแจ่มใส บอกว่า

          “ขอโทษทีจำเหตุการณ์ที่ ICU ไม่ได้เลย แต่แม่จะคอยเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้ฟัง จนท่องได้ขึ้นใจแล้ว”

          ประเด็นที่น่าสนใจ

          ผู้ป่วยรายนี้มีประเด็นที่น่าสนใจ พอสรุปได้คือ

          1. ผู้ป่วยอายุน้อย ความสามารถในการเผชิญความเจ็บป่วยที่รุนแรงคุกคามต่อชีวิตอาจมีไม่เท่ากับผู้ที่มีอายุมากกว่า ประกอบกับผู้ป่วยเป็นลูกคนสุดท้องที่มีสิ่งแวดล้อมเปี่ยมด้วยความรัก ความห่วงใยจากบุคคลในครอบครัว รวมถึงความวิตกกังวลของพ่อแม่พี่สาว มีคำถามมากมายที่ต้องการคำตอบในขณะนั้น

          2. ความต้องการของผู้ป่วยที่อายุน้อยมีความแตกต่างจากผู้ป่วยอายุมาก ผู้ป่วยรายนี้เป็นลูกคนสุดท้องมีบุคลิกหากต้องการสิ่งใดต้องได้รับการตอบสนองในทันที เมื่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลย่อมมีความต้องการการตอบสนองที่มากกว่าผู้ป่วยในวัยอื่น

คำสำคัญ (Tags): #icu#พยาบาล#เยียวยา
หมายเลขบันทึก: 506264เขียนเมื่อ 20 ตุลาคม 2012 09:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 ตุลาคม 2012 19:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณท่าน ปณิธิ ภูศรีเทศ มากค่ะ ทุกอย่างเป็นกำลังใจให้คนทำงานพยาบาลอย่างดีเยี่ยมเลยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท