หัวหน้าครอบครัวป่วย


“กลัวเค้าตาย” ถ้าเค้าตายหนูจะอยู่อย่างไร”

          ชายไทย อายุ 45 ปี สถานภาพคู่ ติดเชื้อในกระแสเลือด ระบบการหายใจล้มเหลว มีหนองในช่องเยื่อหุ้มปอด ใส่ท่อช่วยหายใจ ถูกส่งตัวมารักษาต่อจากจังหวัดนครศรีธรรมราช ระยะแรกที่เข้ารับการรักษาใน ICU ความดันโลหิตต่ำมาก แพทย์ใส่สายสวนทางหลอดเลือดดำใหญ่ เพื่อให้สารน้ำและยา ให้การรักษาเพื่อควบคุมระบบการหายใจทั้งด้วยยาและเครื่องช่วยหายใจ ใส่สายระบายหนองจากช่องเยื่อหุ้มปอด ผู้ป่วยรับอาหารทางสายยางได้ดี แต่มีภาวะตับวาย ความรู้สึกตัวเริ่มเปลี่ยนไป จนต้องได้รับยาควบคุมการทำงานของตับ   

          ในระหว่างที่ผู้ป่วยรับการรักษาใน ICU มีภรรยาเฝ้าตลอดเวลา ระหว่างการเข้าเยี่ยมภรรยาร้องไห้ สีหน้าเคร่งเครียด จากการพูดคุยกับภรรยา ดิฉันทราบว่ากังวลเรื่องลูก 2 คนที่อยู่ที่บ้านมาก เนื่องจากลูกคนโตอายุ 16 ปี ต้องหยุดเรียน กศน.ชั่วคราว ต้องขายของหน้าบ้านแทนตนเองและสามี ส่วนลูกอีกคนอยู่ ป.6 กลางคืนมีปู่มานอนเป็นเพื่อน จึงได้เสนอทางเลือกให้ภรรยากลับไปจัดการภารกิจที่บ้านบ้าง สามารถโทรมาสอบถามอาการผู้ป่วยได้ อีกทั้งผู้ป่วยต้องรับการรักษาในโรงพยาบาลอีกหลายวัน

          ภรรยาจึงกลับบ้าน 2 วัน การเดินทางสะดวก ขึ้นรถตู้หน้าโรงพยาบาล ลงรถที่หน้าบ้าน กลับมาด้วยสีหน้ายิ้มแย้มมีผลไม้ที่พ่อแม่ปลูกเองมาฝาก เล่าให้ฟังด้วยความภูมิใจว่า

          “ลูกๆ รับผิดชอบร้านค้าได้ ไม่มีของหาย ตนเองซื้อของเข้าร้านไว้ให้ลูกเรียบร้อย กลับมาดีใจที่เห็นผู้ป่วยตื่นรู้เรื่องมากขึ้น วันพรุ่งนี้ลูกๆ และปู่ย่าจะมาเยี่ยม”

          อีกสัปดาห์ต่อมาผู้ป่วยอาการดีขึ้น แพทย์ถอดท่อช่วยหายใจให้สำเร็จ ภรรยาดีใจมาก เพราะคอยลุ้นว่าผู้ป่วยต้องเจาะคอเพื่อใส่ท่อช่วยหายใจหรือไม่ ผู้ป่วยถูกย้ายไปรับการรักษาต่อที่หอผู้ป่วยสามัญ ปรากฏว่าผู้ป่วยมีอาการหอบเหนื่อยเพิ่มขึ้น ผลเอกซเรย์มีหนองในช่องเยื่อหุ้มปอดเพิ่มขึ้น แพทย์ประคับประคองอาการด้วยหน้ากากออกซิเจน และปรึกษาศัลยแพทย์เพื่อผ่าตัดเอาหนองในช่องเยื่อหุ้มปอดออก แพทย์ให้ข้อมูลแก่ภรรยาว่าผู้ป่วยอาจเสียชีวิตระหว่างผ่าตัด ทำให้ภรรยากังวลมาก เพราะ โทรศัพท์พูดคุยกับดิฉันหลายครั้ง ร้องไห้ บอกว่า

          “กลัวเค้าตาย” ถ้าเค้าตายหนูจะอยู่อย่างไร”

          ดิฉันพยายามหาข้อมูลและอธิบายข้อมูลอย่างรอบด้าน สุดท้ายภรรยาตัดสินให้ผู้ป่วยรับการผ่าตัด

          ในระยะการพักฟื้นภรรยาเฝ้าผู้ป่วยสลับกับการกลับบ้านไปเยี่ยมลูกๆ จนสุดท้ายผู้ป่วยพร้อมกลับบ้านก่อนวันปีใหม่ ภรรยาส่งข้อความสั้น (SMS) มาอวยพรวันปีใหม่ มาเยี่ยมเจ้าหน้าที่ที่ ICU เมื่อตรงกับวันนัดตรวจ และมีการติดต่อกันเป็นระยะ

          ประเด็นที่น่าสนใจ

          ผู้ป่วยรายนี้มีประเด็นที่น่าสนใจ พอสรุปได้คือ

          1. แม้ว่าภรรยาได้รับทราบข้อมูลการรักษา หรืออาการประจำวันของผู้ป่วยแล้ว ยังคงแสดงสีหน้า ท่าทางที่บ่งชี้ถึงความวิตกกังวล อีกทั้งกิริยาก้มหน้า นอบน้อม ประกอบกับมาโรงพยาบาลนี้เป็นครั้งแรก โดยไม่มีการเตรียมตัวมาก่อน ไม่มีญาติคนอื่นมาเยี่ยม ผู้ป่วยอายุไม่มาก เป็นหัวหน้าครอบครัว อาชีพค้าขายของชำ รายได้ไม่แน่นอน พยาบาล APN ตีความจากประสบการณ์การทำงาน บอกให้ทราบว่า ครอบครัวนี้ต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิดมากกว่าปกติ

          2. ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคหลัก เป็นการยากที่บุคคลนอกวิชาชีพ จะทำความเข้าใจ ในผู้ป่วยรายนี้มีการติดเชื้อในกระแสเลือด ระบบการหายใจล้มเหลว มีหนองในช่องเยื่อหุ้มปอด แต่มีภาวะแทรกซ้อนไตวายและตับวาย ความรู้สึกตัวเปลี่ยนไป จากคนเรียบร้อย พูดน้อย เป็นโวยวาย มีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง สิ่งเหล่านี้พยาบาลต้องมีความไวในการเข้าถึงความวิตกกังวลของญาติให้มากกว่าปกติ 

คำสำคัญ (Tags): #icu#พยาบาล#เยียวยา
หมายเลขบันทึก: 506263เขียนเมื่อ 20 ตุลาคม 2012 09:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 ตุลาคม 2012 19:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป้นกำลังใจให้ทั้งคนป่วยและพยาบาลครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท