เพื่อภรรยา...ทำดีที่สุดแล้ว


เพื่อภรรยา...ทำดีที่สุดแล้ว

         หญิงไทย อายุ 55 ปี สถานภาพคู่ โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ได้รับเคมีบำบัดมาแล้วจำนวน 9 ครั้ง ครั้งนี้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยอาการหอบเหนื่อยอย่างรุนแรง ออกซิเจนในเลือดต่ำ ต้องใช้ท่อช่วยหายใจ มีอาการปอดอักเสบ ปอดแฟบ ซึมลง มีหนังตาตก อาการทรุดลงจนไม่รู้สึกตัว ถูกย้ายจากหอผู้ป่วยสามัญเข้ารับการรักษาใน ICU

          ระยะแรกที่เข้ารับการรักษาใน ICU ความดันโลหิตต่ำมาก แพทย์ใส่สายสวนทางหลอดเลือดดำใหญ่ เพื่อให้สารน้ำและยา ให้การรักษาเพื่อควบคุมระบบการหายใจทั้งด้วยยาและเครื่องช่วยหายใจ ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาทเพื่อประเมินระบบสมอง มีลำไส้บวมมากจนไม่สามารถรับอาหารทางสายยางได้ ในระยะท้ายผู้ป่วยติดเชื้อแบคทีเรียแกรมลบในเลือด ซึ่งเป็นภาวะที่ควบคุมการรักษาได้ยาก จากข้อมูลเกี่ยวกับอาการทั้งหมดของผู้ป่วยแสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยอยู่ในภาวะคุกคามต่อชีวิต

          ข้อมูลด้านครอบครัวและการดูแล สามีเล่าให้ดิฉันฟังว่า

          “ผู้ป่วยเป็นคนอารมณ์ร้อน หงุดหงิด ตนพยายามสวดมนต์ไหว้พระ แต่ผู้ป่วยไม่เห็นด้วย อีกทั้งผู้ป่วยเลือกรับประทานอาหารมาก ถ้ารสชาติไม่ถูกใจ จะไม่รับประทานเลย แต่ตนพยายามปรุงอาหารอย่างดีที่สุดให้”       สำหรับสามีนั้นอดีตรับราชการทหาร เกษียณอายุแล้วตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้ป่วยเริ่มเจ็บป่วยพอดี รายได้ตอนนี้มาจากเงินบำนาญและการรับจ้างก่อสร้างเล็กๆ น้อยๆ ส่วนลูกชาย 1 หญิง 2 คน เรียนจบแล้ว ค้าขายเล็กๆ น้อยๆ ผู้ป่วยเป็นแม่บ้าน ไม่ได้ประกอบอาชีพ การเจ็บป่วยที่ผ่านมาสามีเป็นผู้ดูแลทั้งหมด หลังจากได้รับยาเคมีบำบัดครั้งที่ 9 ผู้ป่วยอ่อนเพลียมาก รับประทานอาหารไม่ได้ เมื่อมีอาการผิดปกติมักบอกว่า

          “เกรงใจ ไม่อยากมาโรงพยาบาลก่อนนัด”

          การมาโรงพยาบาลในครั้งนี้มาก่อนนัด เพราะเป็นลม สามีอุ้มขึ้นรถมาทันที เมื่อมาถึงโรงพยาบาลแพทย์ใส่ท่อช่วยหายใจทันที สิ่งที่สามีวิตกกังวลมากที่สุด คือไม่มีโอกาสได้คุยกับภรรยา หลังจากใส่ท่อช่วยหายใจแล้ว ตนลืมไปว่าผู้ป่วยเขียนบอกได้ เพราะมัวแต่กังวลเรื่องหนังตาตก ภรรยาจึงไม่ได้บอกอะไรกับตนอีกเลย ตอนนี้ทุกคืนพยายามสวดมนต์ ขอพรพระให้ช่วยคุ้มครอง แต่ดีใจที่สุดที่ภรรยาได้มาอยู่ในสถานที่ที่ดีที่สุด ตนเองสามารถบอกคนอื่นได้ว่า

          “ทำดีที่สุดเพื่อภรรยาแล้ว”

          สำหรับการพูดคุยกับลูกสาว ได้ข้อมูลว่า

          “มีคนข้างบ้านเตือนว่าทิศทางการสร้างและศาลพระภูมิไม่เหมาะสม”

          “พ่อได้จัดฮวงจุ้ยใหม่ เพื่อกำจัดสิ่งชั่วร้าย เสริมมงคลให้กับแม่”

          ดิฉันได้คุยเรื่องขออโหสิกรรมกับลูกสาวทั้งสองคนได้ความว่า เข้าใจและเชื่อในเรื่องของกรรม ตนและน้องสาวยังคงหวังว่าแม่จะหายและได้ขออโหสิกรรมกับแม่แล้ว แต่ตนคิดว่าน้องชาย ซึ่งแม่รักมาก ทำให้แม่เสียใจหลายเรื่อง แต่เขาไม่เคยขอโทษแม่ แค่แสดงออกว่ารักแม่ กอดแม่ อีกทั้งน้องชายไม่กล้ามาเยี่ยมแม่เลย หลังจากนั้นดิฉันมีโอกาสได้พบกับน้องชาย พูดคุยกันจนน้องชายเข้าไปเยี่ยมและขออโหสิกรรมกับแม่ ระหว่างลูกชายเยี่ยมน้ำตาของแม่ไหลอาบแก้มทั้งสองข้าง สื่อให้รู้ว่าแม่รับรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง

          ลูกสาวมาเยี่ยมทุกวัน เล่าให้ดิฉันฟังว่า

          “ตนเองยังไม่ได้ตอบแทนบุญคุณของแม่เลย แม่อยากให้รับราชการ หรือเรียนต่อสูงๆ ซึ่งตนเองจะรอให้แม่หายก่อนแล้วจะทำตามความต้องการของแม่”

          ดิฉันจึงแนะนำให้บอกแม่ที่ข้างหูว่าตนเองจะทำอะไรเพื่อแม่บ้าง แม่จะได้หายกังวล แนะนำให้ลูกๆ ดูแลสุขภาพของพ่อด้วย ระยะหลังแม้ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อเสียงเรียกของพยาบาล แต่เมื่อสามีและลูกๆ มาเยี่ยม ผู้ป่วยแสดงออกทางสีหน้า ขยับหน้า ขยับไหล่ ทำให้ครอบครัวคงมีความหวัง แต่หากหัวใจแม่หยุดเต้นให้กดหน้าอกได้ 1 ครั้ง หากแม่ไม่ไหวให้จากไปอย่างสงบ

          ต่อมาสามีผู้ป่วยความดันโลหิตสูงผิดปกติ เมื่อดิฉันสอบถามพบว่า นอนไม่หลับมาหลายวัน ประกอบกับยาที่กินหมด แนะนำให้สามีได้ตรวจและเล่าให้แพทย์ฟังว่าตนเองต้องเผชิญกับความทุกข์อย่างไรบ้าง สามีได้รับยาเดิม พร้อมทั้งยาคลายเครียด หลายวันต่อมาสีหน้าสมาชิกทั้งครอบครัวดีขึ้น

          ในวันที่ผู้ป่วยจากโลกนี้ไปอย่างสงบ สามีและลูกๆ รับผู้ป่วยไปทำบุญที่วัดใกล้บ้าน ต่อมาลูกสาวได้โทรศัพท์มาเล่าความคืบหน้าเรื่องราวต่างๆ เป็นระยะ รวมถึงวันที่เผาศพของผู้ป่วย

          ประเด็นที่น่าสนใจ

          ผู้ป่วยรายนี้มีประเด็นที่น่าสนใจ พอสรุปได้คือ

          1. ความรู้สึกผิดของสามี ที่ไม่ได้รับทราบความต้องการ หรือการสั่งเสียของภรรยา ต้องการให้ภรรยาตื่นมาบอกอะไรบางอย่าง พยาบาล APN ฟังแล้วแปลความว่า อาจหมายถึง สามี-ภรรยา มีเรื่องติดค้าง หรือค้างคาในใจบางอย่าง

          2. โดยปกติหากผู้ป่วยเป็นเพศหญิง การได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดจากสามีหรือญาติผู้ชาย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เจ็บป่วยเรื้อรัง เป็นประเด็นที่น่าสนใจให้พยาบาลต้องพยายามติดตาม ประเมินข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อนำมาวางแผนการพยาบาลในเชิงลึกต่อไป

          3. ความหวังของครอบครัวตรงข้ามกับสภาพความเจ็บป่วยของผู้ป่วย โดยการแสดงออกทั้งทางวาจา และท่าทางแสดงให้เห็นว่าครอบครัวมีความหวังว่าผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้น แต่จากประสบการณ์การทำงานของ APN สภาพผู้ป่วยโดยรวมบ่งชี้ถึงภาวะท้ายของโรค หากครอบครัวไม่ได้รับทราบข้อมูลที่แท้จริงรวมถึงการเข้าใจ และให้เวลาแก่ครอบครัวได้มีเวลาปรับตัว ตั้งสติต่อการสูญเสียที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ย่อมต้องใช้ความสามารถพิเศษที่เพิ่มจากพยาบาลปฏิบัติการทั่วไป

คำสำคัญ (Tags): #icu#พยาบาล#เยียวยา
หมายเลขบันทึก: 506262เขียนเมื่อ 20 ตุลาคม 2012 09:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 16:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท