ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน : 33. เทคนิคดึงความสนใจ นศ. (13) ทีมวิเคราะห์


เป็นกิจกรรมที่ช่วยให้ นศ. ได้เรียนรู้ว่า ในกิจกรรมที่เรียกว่า “การวิเคราะห์” นั้น จริงๆ แล้วมีกิจกรรมย่อยๆ หลายกิจกรรม คนที่วิเคราะห์ได้ลึกและแม่นยำ ต้องเข้าใจและหมั่นฝึกทักษะองค์ประกอบเหล่านี้

 

ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน  : 33. เทคนิคดึงความสนใจ นศ.  (13) ทีมวิเคราะห์

บันทึกชุดนี้ ได้จากการถอดความ ตีความ และสะท้อนความคิด    จากการอ่านหนังสือ Student Engagement Techniques : A Handbook for College Faculty เขียนโดย ศาสตราจารย์ Elizabeth F. Barkley    ในตอนที่ ๓๓ นี้ ได้จาก Chapter 13  ชื่อ Analysis and Critical Thinking    และเป็นเรื่องของ SET 13 : Analytic Team  

บทที่ ๑๓ ว่าด้วยเรื่องการวิเคราะห์และการคิดอย่างมีวิจารณญาณ   ประกอบด้วย ๘ เทคนิค  คือ SET 8 – 15   จะนำมาบันทึก ลรร. ตอนละ ๑ เทคนิค

 

SET 13  ทีมวิเคราะห์

จุดเน้น  :  ความร่วมมือ

กิจกรรมหลัก :    หลากหลาย

ระยะเวลา  :  ๑ หรือหลายคาบ

โอกาสเรียน online  :  สูง

 

ชื่อบอกอยู่แล้วว่าเป็นเครื่องมือฝึก นศ. ให้มีทักษะด้านวิเคราะห์ และทักษะทำงานเป็นทีมไปพร้อมๆ กัน    จุดสำคัญคือต้องเน้นที่การวิเคราะห์   ส่วนการทำงานเป็นทีมเป็นรอง   

เพื่อให้วิเคราะห์ได้ลึก จึงต้องแบ่งหน้าที่กันทำ เช่น หน้าที่ผู้สรุป  หน้าที่ผู้เชื่อมโยง (กับโลก)   หน้าที่ผู้นำเสนอทฤษฎี   หน้าที่ผู้วิพากษ์วิจารณ์  เป็นต้น 

เป็นกิจกรรมที่ช่วยให้ นศ. ได้เรียนรู้ว่า ในกิจกรรมที่เรียกว่า “การวิเคราะห์” นั้น  จริงๆ แล้วมีกิจกรรมย่อยๆ หลายกิจกรรม   คนที่วิเคราะห์ได้ลึกและแม่นยำ ต้องเข้าใจและหมั่นฝึกทักษะองค์ประกอบเหล่านี้   

ครูสามารถกำหนดหน้าที่ย่อยๆ ให้ตรงกับสาขาวิชาที่กำลังเรียน   เพื่อให้ นศ. ได้เรียนรู้ว่า ในสาขาวิชานั้น   หากจะเรียนรู้ได้ลึก นศ. ต้องหมั่นฝึกฝนทักษะการวิเคราะห์ในมิติใดบ้าง 

การที่ นศ. ตกลงกันแบ่งหน้าที่ โดยมีครูคอยช่วยแนะนำ    จะช่วยให้สามารถดึง นศ. ที่เป็นคนเงียบ ไม่ชอบสังคม   ให้ออกมาแสดงบทบาทในชั้นเรียนได้ 

 

 ขั้นตอนดำเนินการ

  1. ครูหาประเด็นตามเนื้อหาในรายวิชา ที่มีความซับซ้อนมาก   ต้องการกระบวนการวิเคราะห์ที่ซับซ้อน    แล้วแยกแยะบทบาทย่อยในกระบวนการวิเคราะห์   ตัวอย่างของบทบาทย่อยของการวิเคราะห์อยู่ในตารางข้างล่าง

ครูควรทดลองทำหน้าที่แต่ละบทบาทย่อยในเรื่องที่กำหนด   เพื่อหาทางปรับให้แต่ละบทบาทมีความท้าทายพอเหมาะ   ไม่ยากและไม่ง่ายเกินไป 

 

 

ผู้นำเสนอ (proponent)

ทำหน้าที่ เสนอรายการประเด็นที่ตนเห็นด้วย    และบอกเหตุผล

ผู้วิพากษ์วิจารณ์ (critic)

นำเสนอรายการประเด็นที่ตนไม่เห็นด้วย หรือมีข้อสงสัย   หรือเป็นประเด็นที่ไม่มีประโยชน์   และบอกเหตุผล

ผู้ยกตัวอย่าง

ยกตัวอย่างของแต่ละหลักการที่มีการนำเสนอ

ผู้สรุป

เตรียมข้อสรุปของแต่ละประเด็นที่มีความสำคัญ

ผู้ตั้งคำถาม

จัดทำรายการคำถามสำคัญๆ ต่อเอกสารหรือเรื่องราวที่กำลังพิจารณา

 

  1. ครูจัดทีม นศ. ๔ - ๕ คน และมอบหมายหน้าที่ให้แต่ละคน
  2. ครูนำเสนอเรื่องโดยการบรรยาย  ให้ดูวิดีทัศน์  หรือมอบเอกสารให้อ่าน
  3. ให้เวลา นศ. แต่ละทีมทำงานวิเคราะห์
  4. นศ. แต่ละทีมนำเสนอผลงาน
  5. ทำ reflection หรือ AAR เพื่อ ลปรร. การทำหน้าที่ย่อยแต่ละแบบของการวิเคราะห์   หรืออาจให้ นศ. แต่ละคนเขียนเรียงความสั้นๆ   ว่าตนมีข้อแนะนำคนอื่นอย่างไรบ้าง ให้ทำหน้าที่นั้นๆ ได้ดี

 

ตัวอย่าง

วิชาสัมมนาด้านการจัดการ

ศาสตราจารย์ผู้สอนวิชาบริหารธุรกิจ กลับจากการสัมมนาเรื่องการศึกษาสาขาบริหารธุรกิจ ที่มีผู้เชี่ยวชาญการศึกษามาบรรยายว่า ควรปรับปรุงหลักสูตรบริหารธุรกิจให้มีการเรียนรู้วิชาด้านศิลปะวิทยาศาสตร์ (liberal arts) เพิ่มขึ้น   จึงขอวิดีทัศน์ที่บันทึกการบรรยายนั้น   มาเป็นเรื่องสำหรับฝึกเรียนแบบ “ทีมวิเคราะห์”   และเมื่อจบแล้ว ให้แต่ละทีมทำรายการมาว่า นศ. ปริญญาตรีสาขาบริหารธุรกิจ ควรเรียนวิชาอะไรบ้าง 

 

วิชาประวัติศาสตร์อเมริกัน

เป็นชั้นเรียน online   ศาสตราจารย์ผู้สอนต้องการให้ นศ. เข้าใจมุมมองที่แตกต่างกันของคนหลายฝ่าย   ต่อการที่คนยุโรปเข้ามายึดครองทวีปอเมริกา    จึงให้ นศ. ดูภาพยนตร์เรื่อง The Mission ซึ่งหาดูได้ทั่วไป  (เป็นเรื่องเหตุการณ์ช่วงปี ค.ศ. ๑๗๕๐ ในอเมริกาใต้บริเวณที่เวลานี้เป็นประเทศอาร์เจนตินา  ปารากวัย  และบราซิล   สะท้อนความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลสเปน รัฐบาลปอร์ตุเกศ องค์การศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิค  และชนเผ่าพื้นเมือง)   แล้วจัด “ทีมวิเคราะห์” ทีมละ ๕ คน    ครูตั้งคำถามนำ    แล้วจัด discussion board สำหรับ นศ. แต่ละทีม   โดยแบ่งหน้าที่วิเคราะห์เจาะลึกแก่ นศ. คนละหน้าที่ ดังนี้      

·      Visual analyst   เน้นที่วิเคราะห์มุมกล้อง  เครื่องแต่งกาย  ภูมิประเทศและอาคารบ้านเรือน   วิเคราะห์ให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่าง ปัจจัยด้านวัฒนธรรม กับสิ่งที่มองเห็นด้านกายภาพ

·      Music analyst    เน้นที่วิเคราะห์ว่าผู้สร้างภาพยนตร์ใช้ดนตรีสร้างความชัดเจนของการปะทะกันทาง วัฒนธรรมระหว่างคนพื้นเมืองกับคนยุโรป   และการขัดแย้งกันระหว่างวงการศาสนา กับเรื่องทางโลก อย่างไร

·      Character analyst   เน้นที่วิเคราะห์ว่าตัวแสดงมีการเปลี่ยนแปลงอะไร ในขั้นตอนการดำเนินเรื่อง    และ การเปลี่ยนแปลงนั้น สะท้อนการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่าง สเปน ปอร์ตุเกศ ชนพื้นเมือง และศาสนาคริสต์ อย่างไร

·      Historical researcher   วิเคราะห์ความแม่นยำของเรื่องในภาพยนตร์ เมื่อเทียบกับประวัติศาสตร์    และช่วยเพิ่มเติมข้อมูลสำคัญทางประวัติศาสตร์

·      Connector   เชื่อมโยงความคล้ายคลึงระหว่างสถานการณ์ในอเมริกาใต้ กับในอเมริกาเหนือ   และเชื่อมโยงกับสถานภาพทางวัฒนธรรม และทางการเมืองในปัจจุบัน

แต่ละทีมได้รับพื้นที่ใน เว็บบอร์ด เป็นพื้นที่เฉพาะของทีม   สำหรับอภิปรายประเด็นทั่วไปในภาพยนตร์   และสำหรับนำเสนอประเด็นของแต่ละ analyst ในทีม    เมื่อถึงกำหนดเวลา นศ. ในทีมส่งรายงานข้อวิเคราะห์เพื่อตอบคำถามของครู   และครูรวบรวมประเด็น พร้อมทั้งเพิ่มเติ่มประเด็นที่ นศ. ไม่เห็น หรือแก้ข้อเข้าใจผิด   นำออก โพสต์ ให้ นศ. เห็นทั้งชั้น

 

การปรับใช้กับการเรียน online

ใช้ได้สะดวกมาก ดังตัวอย่างวิชาประวัติศาสตร์อเมริกันข้างบน

 

การขยายวิธีการ หรือประโยชน์

·      แทนที่จะเป็นการแบ่งหน้าที่วิเคราะห์เจาะลึกเฉพาะด้านแก่ นศ. รายคน   เปลี่ยนเป็นแบ่งให้แต่ละทีม 

·      ในเรื่องเดียวกัน มอบโจทย์ที่ต่างกันให้แก่ต่างกลุ่ม   นศ. จะได้เรียนรู้กว้างขวาง เมื่อกลับมาอภิปราย ลปรร. ทั้งชั้น

·      อาจขยายเป็นกิจกรรมหลายคาบเรียน   เช่นให้อ่านหนังสือทั้งเล่ม   โดยวิเคราะห์คาบละบท    ให้ นศ. หมุนเวียนบทบาท    

 

คำแนะนำ

เทคนิคนี้ ช่วยให้ นศ. ได้ฝึกพุ่งสมาธิไปที่ประเด็นเดียวของเรื่อง    และที่สำคัญมากคือ ทำให้เกิด active learning   เพราะการฟังการบรรยาย การอ่าน หรือการดูวิดีทัศน์ มีแนวโน้มจะเป็น passive learning   แต่กิจกรรม “ทีมวิเคราะห์” จะเปลี่ยนให้เป็น active learning หรือ learning by doing โดยอัตโนมัติ  

นอกจากนั้น ยังได้ฝึกรับผิดชอบ ฝึกทำงานเป็นทีม ฝึกความมั่นใจที่จะ ลปรร. กับเพื่อน ฯลฯ  

จะให้สนุก เรื่องที่นำมาเรียนต้องมีความซับซ้อนสูง   มิฉนั้น นศ. บางคนอาจเบื่อ   

เพื่อลดเวลาในชั้นเรียน   อาจให้ นศ. อ่านหรือดูวิดีทัศน์ล่วงหน้ามาจากบ้าน   (นี่คือการกลับทางห้องเรียน)

อาจเรียนผสมกับเครื่องมือชนิดอื่น เช่น SET 20 : Poster Session (ยังบันทึกไม่ถึง)  หรือร่วมกับเทคนิค รายงานต่อเพื่อนร่วมชั้น เช่นตัวอย่าง

·      ทีมรายงาน : นศ. ผลัดกันนำเสนอต่อเพื่อร่วมชั้น  แล้วตอบคำถามจากผู้ฟัง

·      ทีมเวียน : ทีม ก  ไปนำเสนอให้ทีม ข ฟัง  และตอบคำถาม   แล้วเปลี่ยนให้ทีม ข นำเสนอ

·      เกม ๓ อยู่  ๑ ไป : สมาชิกทีม ก ๑ คน ไปจากกลุ่ม   ไปนำเสนอต่อทีม ข   ในขณะที่สมาชิกทีม ก ที่เหลือรับฟังการนำเสนอจากสมาชิกจากทีม ค ๑ คน ที่มานำเสนอ

ครูต้องทำความเข้าใจกับ นศ. ว่า แต่ละคนต้องพัฒนาทักษะที่หลากหลายในด้านการวิเคราะห์ เพื่อประโยชน์ในชีวิตของตน   เพื่อให้ นศ. เต็มใจออกมาจาก comfort zone ออกมาทำหน้าที่แสดงบท (เพื่อฝึกหัด) ทักษะให้ได้ครบทุกบทบาท 

 

เอกสารค้นคว้าเพิ่มเติม

Barkley EF, Cross KP, Major CH. (2005). Collaborative learning techniques : A handbook for college faculty. San Francisco : Jossey-Bass.

วิจารณ์ พานิช

๑๙ ต.ค. ๕๕

 

 

หมายเลขบันทึก: 506248เขียนเมื่อ 20 ตุลาคม 2012 05:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 16:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท