สายสนับสนุนในสถาบันอุดมศึกษากับงานวิจัย


สายสนับสนุนในสถาบันอุดมศึกษากับงานวิจัย

                 พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2547 และ แก้ไข พ.ศ. 2551 ในมาตรา 18 ได้กำหนดตำแหน่งข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา มีดังนี้

         (ก)    ตำแหน่งวิชาการ ซึ่งทำหน้าที่สอนและวิจัย หรือทำหน้าที่วิจัยโดยเฉพาะ ได้แก่ ตำแหน่งดังต่อไปนี้

                       (1) ศาสตราจารย์

                       (2) รองศาสตราจารย์

                       (3) ผู้ช่วยศาสตราจารย์

                       (4) อาจารย์ หรือตำแหน่งอื่นตามที่ ก.พ.อ. กำหนด

         (ข)    ตำแหน่งประเภทผู้บริหาร ได้แก่

                       (1) อธิการบดี

                       (2) รองอธิการบดี

                       (3) คณบดี

                       (4) หัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ

                       (5) ผู้ช่วยอธิการบดี

                       (6) รองคณบดีหรือรองหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ

                       (7) ผู้อำนวยการกอง หรือหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่ากองตามที่ ก.พ.อ. กำหนด

                       (8) ตำแหน่งอื่นตามที่ ก.พ.อ. กำหนด

          (ค)   ตำแหน่งประเภททั่วไป วิชาชีพเฉพาะ หรือเชี่ยวชาญเฉพาะตามที่ ก.พ.อ. กำหนด

                

                 สายอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา ข้างต้นได้แก่มาตรา 18 (ก)และ มาตรา 18 (ข) ข้อ (1) ถึง (6) ซึ่งปฏิบัติหน้าที่สอนและวิจัยหรือทำหน้าที่วิจัยโดยเฉพาะ และจากหนังสือของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาที่ ศธ 0509.4/ว2 ลงวันที่ 24 เมษายน 2549 ได้กำหนดชื่อ และระดับของตำแหน่งวิชาการ ไว้ดังนี้               

                       อาจารย์                         ระดับ 4-7

                       ผู้ช่วยศาสตราจารย์          ระดับ 6-8

                       รองศาสตราจารย์             ระดับ 7-9

                       ศาสตราจารย์                  ระดับ 9-10 , 11

                 สายสนับสนุนในสถาบันอุดมศึกษา ข้างต้นได้แก่มาตรา 18 (ข) ข้อ (7) และ (8) มาตรา 18 (ค) ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในการให้การสนับสนุนสายวิชาการและจากหนังสือของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาที่ ศธ 0509.4/ว1 ลงวันที่ 29 มกราคม 2550 ได้กำหนดโครงสร้างตำแหน่งข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นสายสนับสนุน ไว้ดังนี้


                 ประเภทผู้บริหาร : กำหนดเป็นสายงานที่เริ่มต้นจากระดับ 3 ขึ้นไป แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มคือ

  1. ตำแหน่งหัวหน้าหน่วยงานภายในกอง/สำนักงานเลขานุการคณะหรือหน่วยงานที่เทียบเท่ากำหนดเป็น ระดับ 7
  2. ตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มงานหรือเทียบเท่าภายในสถาบัน/สำนัก/ศูนย์ หรือหน่วยงานที่เทียบเท่าซึ่งปฏิบัติภารกิจหลักของสถาบันอุดมศึกษากำหนดเป็น ระดับ 7,8 ตามหน้าที่ความรับผิดชอบ ลักษณะงานที่ปฏิบัติ และความยุ่งยากซับซ้อนของงาน
  3. ตำแหน่งหัวหน้าหน่วยงาน/กลุ่มงานระดับกอง/สำนักงานเลขานุการคณะหรือหน่วยงานที่เทียบเท่า กำหนดดังนี้
    • ตำแหน่งผู้อำนวยการกอง หรือหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นมีฐานะเทียบเท่าภายในสำนักงานอธิการบดี สำนักงานวิทยาเขต กำหนดเป็น ระดับ 7-8
    • ตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานเลขานุการคณะ หรือหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นมีฐานะเทียบเท่า กำหนดเป็น ระดับ 7 และ  8

              ตำแหน่งหัวหน้าหน่วยงาน/กลุ่มงานระดับสถาบันอุดมศึกษา ได้แก่
              ผู้อำนวยการสำนักงานอธิการบดี และ ผู้อำนวยการสำนักงานวิทยาเขต
              กำหนดเป็น ระดับ 8 (มีความยุ่งยากซับซ้อนในการบริหารจัดการ
              พอสมควร) และกำหนดเป็น ระดับ 9 (มีความยุ่งยากซับซ้อนในการ
              บริหารจัดการมาก)

            นอกจากนี้ยังได้กำหนดหัวหน้าหน่วยงานที่มีลักษณะพิเศษในโรงพยาบาล กำหนดเป็น ระดับ 7-8 (มิได้ใช้วิชาชีพ) และระดับ 8,9 (ต้องใช้วิชาชีพ)

 

                 ประเภททั่วไป วิชาชีพเฉพาะ หรือเชี่ยวชาญเฉพาะ : กำหนดโครงสร้างของตำแหน่งไว้เป็น 71 สายงาน 72 ตำแหน่ง จำแนกเป็นตำแหน่งประเภททั่วไป(32 สายงาน 32 ตำแหน่ง) ตำแหน่งวิชาชีพเฉพาะ(15 สายงาน 15 ตำแหน่ง) และตำแหน่งเชี่ยวชาญเฉพาะ(24 สายงาน 25 ตำแหน่ง) และถ้าแบ่งเป็น “กลุ่มงาน” แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มงานคือ

 

  •                 1) กลุ่มงานผู้ปฏิบัติการระดับต้น (วุฒิแรกบรรจุต่ำกว่าปริญญา)
  •                 2) กลุ่มงานผู้ปฏิบัติการระดับกลาง (วุฒิแรกบรรจุปริญญาตรีขึ้นไป)

                 สถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งมีภารกิจหลัก 4 ประการคือ การสอน การวิจัย การบริการวิชาการ และ การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม โดยมี “อาจารย์” เป็นบุคลากรหลักในการปฏิบัติภารกิจของสถาบันอุดมศึกษา และมี “สายสนับสนุน” ช่วยการปฏิบัติงานของอาจารย์ในการขับเคลื่อนภารกิจหลักของสถาบันอุดมศึกษา เนื่องจากอาจารย์ซึ่งต้องปฏิบัติหน้าที่สอนและวิจัย ก.พ.อ.จึงกำหนดให้อัตราแรกบรรจุเป็น ระดับ 4 ด้วยวุฒิการศึกษาขั้นต่ำเป็นปริญญาโท หรือปริญญาเอก ซึ่งถ้าบรรจุตำแหน่งอาจารย์ด้วยวุฒิปริญญาตรีอาจารย์ก็จะไม่สามารถปฏิบัติภารกิจด้านการวิจัยได้ ในขณะที่สายสนับสนุนมิใช่บุคลากรหลักของสถาบันอุดมศึกษา งานที่ทำเป็นเพียงแค่สนับสนุนการปฏิบัติงานของสถาบันอุดมศึกษาให้ขับเคลื่อนไปได้เท่านั้น งานบางอย่างไม่จำเป็นต้องอาศัยผู้ปฏิบัติงานที่มีคุณวุฒิทางการศึกษาในระดับปริญญาจึงกำหนดเป็นตำแหน่งผู้ปฏิบัติงานระดับต้น(ต่ำกว่าปริญญา) ส่วนงานที่ต้องอาศัยผู้ปฏิบัติงานที่มีคุณวุฒิทางการศึกษาในระดับปริญญา จึงกำหนดเป็นตำแหน่งผู้ปฏิบัติงานระดับกลาง(ปริญญาตรีขึ้นไป)

                 บุคลากรหลักของสถาบันอุดมศึกษาที่เป็น “อาจารย์” ทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดจึงสามารถทำวิจัยได้ทุกคน เนื่องจากผ่านการเรียนหลักสูตรวิชา “ระเบียบวิธีวิจัย” มาแล้วในระดับปริญญาโท-เอก  สถาบันอุดมศึกษาทั้งหมดให้ความสำคัญในผลงานวิจัยเป็นอย่างมากจึงได้กำหนดให้เป็นผลงานทางวิชาการชิ้นหนึ่งของอาจารย์ในการประเมินเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการเพื่อกำหนดตำแหน่งเป็น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ระดับ 6-8  รองศาสตราจารย์ ระดับ 7-9  และ ศาสตราจารย์  ระดับ 9-10,11  ยิ่งมหาวิทยาลัยที่ตั้งเป้าหมายจะเป็น “มหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย” ด้วยแล้ว ถึงกับมีนโยบายในการรับหรือบรรจุอาจารย์ใหม่ต้องมีวุฒิการศึกษาในระดับ “ปริญญาเอก” เท่านั้น ดังนั้นการทำผลงานวิจัยของอาจารย์จึงไม่ใช่เป็นเรื่องยาก

                 ในขณะที่สายสนับสนุนในสถาบันอุดมศึกษาส่วนใหญ่ที่มีวุฒิทางการศึกษาในระดับปริญญาตรีและต่ำกว่าปริญญาตรี(ปวช. และ ปวส.) ส่วนน้อยที่มีวุฒิปริญญาโท และในบางสถาบันอุดมศึกษาเท่านั้นที่อาจมีสายสนับสนุนอาจมีวุฒิในระดับปริญญาเอก และถึงมีสายสนับสนุนวุฒิปริญญาเอก อย่างมากไม่เกินแห่งละ 1-3 คน ดังนั้น สายสนับสนุนในสถาบันอุดมศึกษาส่วนใหญ่ไม่เคยผ่านการเรียนหลักสูตรวิชา “ระเบียบวิธีวิจัย” มาก่อน ซึ่งเป็นวิชาที่มีการเรียนการสอนในระดับบัณฑิตศึกษาขึ้นไป  สายสนับสนุนส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดจึงทำงาน “วิจัย” ไม่เป็น  จะมีเพียงสายสนับสนุนส่วนน้อยที่มีวุฒิปริญญาโทที่พอจะมีความสามารถทำวิจัยได้ แต่ไม่ใช่ว่าสายสนับสนุนทุกคนที่มีวุฒิการศึกษาในระดับปริญญาโทแล้วจะทำงานวิจัยได้ทุกคน เพราะหลายคนแม้จะมีวุฒิปริญญาโทแต่ทั้งชีวิตเคยทำงานวิจัยเพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้น คือเมื่อครั้งทำวิทยานิพนธ์ในการศึกษาระดับปริญญาโท ดังนั้นสถาบันอุดมศึกษาส่วนใหญ่จึงไม่ได้บังคับ ให้ “วิจัย” เป็นผลงานทางวิชาการของสายสนับสนุนในการขอกำหนดตำแหน่งให้สูงขึ้นเป็น ผู้ชำนาญการ ระดับ 7-8   ผู้เชี่ยวชาญ ระดับ 9 และ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ระดับ 10 โดยที่ผลงานวิจัยเป็นเพียงผลงานทางวิชาการหนึ่งที่สายสนับสนุนจะใช้ในการเลือกส่งผลงานเพื่อขอกำหนดตำแหน่งเป็น ชำนาญการ เชี่ยวชาญ

                 ก.พ.อ. ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางในการบริหารงานบุคคลได้กำหนดคุณสมบัติเฉพาะสำหรับผู้ขอตำแหน่งเป็น ผู้ชำนาญการ ต้องมีวุฒิการศึกษาและระยะเวลาในการปฏิบัติการ เป็นดังนี้ ปวช.หรือเทียบเท่าปฏิบัติงานมาแล้ว 16 ปี , ปวส.หรือเทียบเท่าปฏิบัติงานมาแล้ว 12 ปี , ปริญญาตรีหรือเทียบเท่าปฏิบัติงานมาแล้ว 9 ปี  , ปริญญาโทหรือเทียบเท่าปฏิบัติงานมาแล้ว 5 ปี  ,  ปริญญาเอกหรือเทียบเท่าปฏิบัติงานมาแล้ว 2 ปี  และคุณสมบัติเฉพาะสำหรับผู้ขอตำแหน่งเป็น ผู้เชี่ยวชาญ ต้องมีวุฒิการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่าและต้องดำรงตำแหน่งชำนาญการหรือเทียบเท่าของสายงานที่เริ่มต้นจากระดับ 3 ขึ้นไปมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี

                 ส่วนผลงานทางวิชาการที่ใช้ในการประเมินเพื่อกำหนดตำแหน่งให้เป็น ผู้ชำนาญการ ผู้เชี่ยวชาญ และเชี่ยวชาญพิเศษ ก.พ.อ. กำหนดแต่เพียงกว้างๆ ว่าเป็น คู่มือการปฏิบัติงาน ผลการศึกษา ค้นคว้า ทดลองวิเคราะห์ สังเคราะห์ หรือวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่องานในหน้าที่ในด้านการแก้ปัญหาหรือการพัฒนางานสนับสนุน งานบริการวิชาการ หรืองานวิชาชีพนั้นๆ จากนั้นสภาแต่ละสถาบันอุดมศึกษาต้องออกเป็น “ข้อบังคับ” หรือ “ประกาศ” ว่าด้วยการกำหนดตำแหน่งและแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้นเป็นของแต่ละสถาบันอุดมศึกษาว่าต้องมีผลงานวิชาการอะไรบ้างในการเสนอขอกำหนดตำแหน่งให้สูงขึ้น

                 ปัจจุบันอาจมีสถาบันอุดมศึกษาบางแห่งที่บังคับให้มี “วิจัย” เป็นผลงานหนึ่งในการขอกำหนดตำแหน่งให้สูงขึ้น(ทั้งๆที่ ก.พ.อ.ใช้คำว่าหรือวิจัย) ในทรรศนะของผู้เขียนเท่ากับเป็นการ “ปิดกั้น”โอกาสในความก้าวหน้าของข้าราชการพลเรือนสายสนับสนุนในสถาบันอุดมศึกษาในกลุ่มผู้ปฏิบัติงานระดับต้นที่มีวุฒิแรกบรรจุต่ำกว่าปริญญา และ กลุ่มผู้ปฏิบัติงานระดับกลางที่มีวุฒิแรกบรรจุปริญญาตรี ซึ่งเป็นสายสนับสนุนเกือบทั้งหมดหรือส่วนใหญ่ของสถาบันอุดมศึกษา จะมีแต่เพียงผู้ที่มีวุฒิสูงกว่าปริญญาตรีซึ่งมีจำนวนไม่มากในสถาบันอุดมศึกษา ที่จะมีโอกาสในการสร้างผลงานวิจัยเพื่อขอกำหนดตำแหน่งให้สูงขึ้น ผู้เขียนเข้าใจว่าสถาบันอุดมศึกษาที่ “บังคับ”ให้สายสนับสนุนต้องมีงานวิจัยเป็นผลงานชิ้นบังคับในการยื่นขอกำหนดตำแหน่งให้สูงขึ้น อาจเนื่องมาจากต้องการเพิ่มจำนวนผลงานวิจัยของบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาให้มากขึ้น เพราะจำนวนผลงานวิจัยเป็นตัวชี้วัดตัวหนึ่งของ ก.พ.ร. ในการประเมินสถาบันอุดมศึกษา

                 การบังคับเช่นนี้ผู้เขียนเห็นว่าเป็นสิ่งที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัย(ส่วนน้อย) “ชอบทำ” กับสายสนับสนุนที่อยู่ใต้บังคับบัญชา เนื่องเพราะอำนาจในการออก กฎ ระเบียบ ประกาศ ข้อบังคับใดๆ อยู่ในมือของผู้บริหารที่เป็นสายวิชาการอยู่แล้ว ผู้เขียนกลับเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ “ชอบธรรม” กับสายสนับสนุนส่วนใหญ่ของมหาวิทยาลัย ที่ไปบังคับเขาให้ทำในสิ่งที่เขายังไม่มี(ความสามารถ) หรือทำไม่ได้ ให้มีในสิ่งที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยต้องการ(งานวิจัย)

                 ในมุมกลับกันถ้าสายสนับสนุนที่เป็นชนชั้นใต้ปกครอง หรือผู้ใต้บังคับบัญชาของสายวิชาการ นอกจากอยากได้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่เป็น คนดี คนเก่ง มีคุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรม และเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถแล้ว ก็ยังอยากได้ผู้นำที่มีตำแหน่งทางวิชาการสูงๆ มาเป็นผู้บังคับบัญชา หรือเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยบ้าง เพราะตำแหน่งทางวิชาการก็เป็นตัวชี้วัดตัวหนึ่งของ ก.พ.ร. ในการที่จะนำพามหาวิทยาลัยสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ  โดยถ้าให้กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นคณบดีต้องมีตำแหน่งทางวิชาการเป็น “รองศาสตราจารย์” เป็นอย่างน้อย หรือผู้ที่จะเป็นอธิบดีมหาวิทยาลัยต้องมีตำแหน่งทางวิชาการเป็น “ศาสตราจารย์” เป็นอย่างต่ำบ้างท่านทั้งหลายจะว่าอย่างไร?

                 ต้องเป็น“รองศาสตราจารย์” และ “ศาสตราจารย์” ที่ผ่านการประเมินโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีการเสนอผลงานทางวิชาการอย่างจริงๆ จังๆ ประเภทตำแหน่งรองศาสตราจารย์ หรือ ศาสตราจารย์ ที่ได้มาโดยวิธีพิเศษ  หรือวิธีพิสดารทั้งหลายไม่นับว่ามีคุณสมบัตินะครับ

 

ท่านผู้มีอำนาจทั้งหลาย

จะมีความรู้สึกเป็นอย่างไรครับ ?

 

***************************************

 

คำสำคัญ (Tags): #กันย์#จั๊บ
หมายเลขบันทึก: 506185เขียนเมื่อ 19 ตุลาคม 2012 13:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 ตุลาคม 2012 13:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • ขออ่านด้วยคนค่ะ พี่สบายดีนะคะ ยังระลึกถึงเสมอค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท