A Min
คุณ จำรัส จันทนาวิวัฒน์

ห้องเรียนในฝัน (เมื่อฉันคือผู้กำหนดวิถี..ห้องเรียน)


สิ่งที่เราได้ทำอย่างหนึ่ง คือ การไม่เช็คชื่อ เราเชื่อโดยสุจริตใจว่า การเช็คชื่อเข้าชั้นเรียนของนักศึกษาในระดับนี้ เป็นเรื่องแทบไม่มีประโยชน์ใด ๆ

 

          หลังสำเร็จเป็นบัณฑิต ใช้เวลาอีก ๑๐ กว่าปี กว่าจะก้าวเข้ามาอยู่ในห้องเรียนในฝันอีกครั้ง แต่คราวนี้ เราอยู่ในฐานะของผู้ถ่ายทอด มิใช่ผู้เรียน  ประโยคเด็ดที่ทำให้เราตัดสินใจหลังจากที่รับเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษ ติดต่อกัน ๒ เทอม  คือคำพูดของครูผู้ที่เราเคารพซึ่งสอนเรามาเมื่อครั้งเรียนอยู่จุฬา   “เธอมีประสบการณ์มาก ไม่รู้ว่ามหาวิทยาลัยจะจ้างเธอไหวหรือเปล่า แต่เด็กจะได้เรียนรู้จากเธอมาก”

 

           วิชาที่ได้สอนในปีแรก คือ การบริหารงานโฆษณา (Advertising Management) และการบริหารกระบวนการโฆษณา (Advertising Campaign)   เป็นวิชาสำหรับนักศึกษาปีสุดท้าย

            เมื่อกลับมาในห้องเรียนอีกครั้ง เราก็ลืมเหตุการณ์ตอนเรียนเมตริกซ์ จนหมดสิ้น  แต่ในสายตานักศึกษาปีที่ ๔ นี่เป็นหัวข้อที่ไม่รู้เรื่องที่สุด ยากที่สุด ไม่มีคำตอบอย่างชัดเจนมากที่สุด ตั้งแต่เรียนมา ๔ ปี วิชานี้แหละที่ดูเหมือนจะดี แต่บอกไม่ได้ว่าดีตรงไหน  ดูเหมือนยุ่งยากไม่น่าเรียน แต่ก็ให้คำตอบและคำอธิบายได้มุมมองธุรกิจได้หลากหลาย

                  ผลคือ นักศึกษาได้เรียน แต่ไม่ได้ผล เราเอาห้องเรียนมาเป็นห้องทดลอง  เด็ก ๆ ยังไม่เคยมีประสบการณ์ของการทำงาน ไม่รู้หรอกว่าอะไรคือผลประกอบการ อะไรคือโอกาส อะไรคือเป้าหมายและวัตถุประสงค์ เราหลงลืมไปอย่างไม่น่าให้อภัย เราคิดว่าห้องเรียนเป็นของเรา ในสายตาผู้สอนนี่คือเนื้อหาที่ดีที่สุดและทันสมัยที่สุดสำหรับนักศึกษา เพราะในการทำงานจริง ทุกคนใช้สิ่งเหล่านี้ขับเคี่ยวกันทุกวัน ทุกนาที แต่...เราก็ลืมไปว่า ช่วงเวลา ๑๐ กว่าปีในการทำงาน ความคิดของเราเพิ่มขึ้นตามวันเวลา และเป็นไปตามแนวทางที่เราฝึกปรือ มาจากมหาวิทยาลัยบวกการผสมผสานและขัดเกลาจากโลกการทำงาน แต่เด็กที่นี่ คือเด็กอีก ๑๐ ปีให้หลัง เป็นผลจากเบ้าหลอมอีกเบ้าหนึ่ง แม้จะเป็นนักศึกษาชั้นโตที่สุด แต่เขาเหล่านั้นก็คือเด็กนักศึกษา

 

                     ห้องเรียนในฝันของเรา ไม่ใช่ห้องเรียนในฝันของเขา แต่ที่สำคัญกว่านั้น  นี่คือห้องเรียนสำหรับเขา ไม่ใช่สำหรับเรา  ห้องเรียนนี้จะมีความหมายได้ ก็เพราะเขาได้รู้ ได้เรียนไปจากห้องนี้

 

                            เราคิดอยู่หลายวัน ถึงหนทางสร้างห้องเรียนในฝันของเขา  แล้วเราก็สรุปว่า เราทำไม่ได้ เด็กหลายคนไม่ได้สนใจที่จะทำอาชีพนักโฆษณา หรือแม้แต่สนใจอยากรู้จักวิชาชีพชนิดนี้ เขามาเรียนด้วยสารพัดเหตุผล ยกเว้นอยู่ข้อเดียวคือ ความฝันในวิชาชีพนี้   เขาเหล่านั้น จวนจะจบการศึกษาแล้ว อีกไม่เกิน ๓ เดือนเขาก็จะก้าวไปสู่บันไดบัณฑิตเพื่อรับปริญญาแล้ว การตามหาความฝันของเขาดูจะเป็นเรื่อง “สาย” เกินไป สำหรับเรา แม้บางคนในสายตาของเรา เขาจะไปได้ เราเชื่อว่าหากได้ทดลองทำงานจริง  จะมีบริษัทที่รับไปทำงานอย่างแน่นอน แต่น่าจะดีกว่า ถ้าหากสามารถรู้ว่า “ฝัน” ของเขาเป็นอย่างไร ตั้งแต่ชั้น ปี ๑

                           

                             ในปีที่ ๒ ของการทำอาชีพใหม่ เราจึงเลือกขอสอนวิชาพื้นฐานสำหรับปีที่ ๑ แลกกับวิชาที่สอนเดิม เด็กปี ๑ เยอะมาก เพื่อนครูหลายคนบอกว่า มหาวิทยาลัยนี้เป็นที่นิยมของนักเรียนที่พลาดการสอบเข้ามหาวิทยาลัย และ แม้จะเรียกเก็บค่าหน่วยกิตแพง แต่คณะของเรา ก็เป็นคณะยอดนิยม มีผู้สมัครเรียนแต่ละปี สูงสุด   แน่นอน รายได้ของมหาวิทยาลัยก็ดีด้วยเช่นกัน  แต่เมื่อผู้เรียนมาก งานผู้สอนก็งอกขึ้นเป็นเงาตามตัว

 

                     แล้วเราก็ทำพลาด...ครั้งใหญ่  เมื่อสั่งงานโดยหวังจะให้นักศึกษาได้ทดลองทำ   ..เราสั่งไปหนึ่งชิ้นในหนึ่งสัปดาห์  เมื่อนักศึกษา ๔๐ คน ส่งการบ้านกลับมา เราต้องตรวจงานถึง ๔๐ ชิ้น เดือนหนึ่ง ๑๖๐ ชิ้น โอ...แม่เจ้า เราทำผิดแล้ว  เพราะเราสอนถึง ๓ วิชา หมายความว่าจะมีงานตามเกณฑ์ถึง ๔๘๐ ชิ้น  ถ้างานชิ้นหนึ่งใช้เวลาตรวจประเมิน ๕ นาที เราต้องใช้เวลาถึง ๒๔๔๐ นาที  หรือ ๔๐ ชั่วโมง

                                   

                     หากเราทำงานวันละ ๘ ชั่วโมง ก็หมายความว่าเราต้องใช้เวลาตรวจการบ้านอย่างเดียว ๑ สัปดาห์ หรือ ๕ วันทำงาน แต่ก็อย่างที่รู้กันดีว่า...งานของผู้สอนในระดับมหาวิทยาลัยนั้น จะต้องทั้งสอน ทั้งให้คำปรึกษาแก่นักศึกษาและต้องค้นคว้าความรู้ใหม่ ๆ มาสอน ยังไม่นับต้องแสวงหางานวิจัย งานเขียนตำรา หรือแม้แต่งานบริการสังคม...แค่โจทย์ขนาดนี้ก็รู้แล้วว่า ถ้ายังทำตามแบบเดิมๆ  การเรียนการสอนแบบห้องเรียนเช่นนั้น จะทำให้มหาวิทยาลัย กลายเป็น “โรงงาน” ผลิตบัณฑิตไปในไม่ช้า

 

                ห้องเรียนของนักศึกษา คงไม่ใช้ห้องเรียนแบบนี้แน่ๆ  และไม่ควรจะเป็นแบบนี้อย่างเด็ดขาด

 

                         ปัญหานี้ของเรา เพื่อนครูหลายคนก็ประสบด้วยเช่นกัน และก่อนที่เราจะล้ากับงานตรวจเอกสาร เราจึงร่วมกันออกแบบห้องเรียนใหม่  ให้มีการรวมกลุ่มทำงานและนำเสนอผลงาน สร้างการเรียนรู้ร่วมกัน ใช้ตัวอย่างของนักศึกษา เป็นเรียนรู้ของกันและกัน ใช้งานเป็นตำรา ใช้บทเรียนเป็นบทสรุปการเรียนรู้ (สมัยนี้เรียกว่า Best Practice / Good Case- Worst Case) 

                          แต่เราก็ทำได้ไม่นาน รูปแบบห้องเรียนก็ต้องเปลี่ยนไป เพราะนักศึกษาต้องจ่ายเงินเพิ่มสำหรับการทำงานของเขามากยิ่งขึ้น ยิ่งหลายกลุ่มอยากเรียนรู้มาก อยากทำเรื่องดี ๆ  ค่าใช้จ่ายก็จะสูงตามไปด้วย เราเคยยกเรื่องนี้คุยกันในหมู่ผู้สอน ก็ไม่สามารถผ่านปัญหานี้ไปได้ เพราะมหาวิทยาลัยเองก็จัดสรรงบประมาณสำหรับห้องเรียนได้จำกัด 

 

                   อีกข้อหนึ่ง การเรียนแบบนี้ ต้องมีแนวทางการสรุปบทเรียนที่แหลมคม มีการจดบันทึกและถ่ายทอดครบถ้วน ลำดับเรื่องราวได้ดี และจัดทำเผยแพร่ให้ครบตัวนักศึกษา และครบทุกกรณีศึกษา เราและเพื่อนก็ต้องปรับตัวเอง  ให้เป็นคนที่มองกรณีศึกษาได้รอบด้าน มีข้อชวนคิดหลายมุมมอง และต้องฝึกตัวให้มองจากมุมที่นักศึกษาได้ประโยชน์เป็นส่วนใหญ่ และนี่กลายเป็นข้อจำกัดของเรื่องบุคคลากรที่ทีมเรามี  (ภายหลังเราจึงได้เรียนรู้ว่า นี่ คือ KM นั่นเอง หากเราเห็นสิ่งนี้ตั้งแต่วันนั้น ห้องเรียนในฝัน คงเป็นจริงได้...(ฮา).. แต่ถึงวันนี้ก็คงยังไม่สายเกินไป..ใช่ไหม???(ฮา)..

 

                            พวกเราช่วยกันหาทางปรับแก้อีกครั้ง โดยเชิญผู้รู้ตัวจริงในวงการ มาถ่ายทอดประสบการณ์และร่วมวิพากษ์วิจารณ์ให้คำชี้แนะ ตรวจงานกันเป็นครั้ง ๆ  เหมือนกับที่เคยเชิญเรามาเป็นวิทยากรพิเศษ เราเห็นด้วยทันที  เพราะการขลุกอยู่กับงานสอนเพียงปี หรือสองปี โลกก็แคบลงแล้ว  การจมอยู่กับงานเอกสารหรืองานสอน แม้จะชำนาญเรื่องการสอนมากขึ้น โลกวิชาการคมชัดขึ้น แต่โลกอาชีพก็แคบลงไปถนัด  อีกอย่าง แนวคิดนี้ของเพื่อนก็ช่วยแก้ปัญหาเรื่อง มุมมองที่หลากหลายที่เอ่ยถึงก่อนหน้านี้ได้ดี

                  การหาทางออกเช่นนี้ แม้จะทำให้งานติดต่อประสานมากขึ้น แต่ก็เพิ่มเสน่ห์ให้ห้องเรียน กลายเป็นกลุ่มวิชาที่นักศึกษาได้เปิดมุมมอง ได้เรียนความรู้ต่าง ๆ มากขึ้น กลายเป็นวิชาที่ดึงดูดให้นักศึกษาอยากเรียนมากขึ้น เป็นห้องเรียนในฝันอีกแบบหนึ่ง โลกวิชาการ ประสานกับโลกวิชาชีพ เสริมด้วยวิชาคน นักศึกษาที่ผ่านห้องเรียนของเรา แน่นปึ๊กด้วยความรู้ ความคิดและความจำ จะขาดก็แต่โลกความจริงอีกเล็กน้อยเท่านั้น  ( แนวคิดแบบนี้ น่าจะตรงกับสิ่งที่เราเรียกกันในปัจจุบันว่า ภาคีเครือข่ายองค์ความรู้)

 

                  สิ่งที่เราได้ทำอย่างหนึ่ง คือ การไม่เช็คชื่อ เราเชื่อโดยสุจริตใจว่า การเช็คชื่อเข้าชั้นเรียนของนักศึกษาในระดับนี้ เป็นเรื่องแทบไม่มีประโยชน์ใด ๆ  นักศึกษาโตเกินกว่าจะชี้บอกให้ทำโน่นทำนี่แล้ว แต่เขาต้องเรียนรู้ว่า กฏเกณฑ์คืออะไร และเขาต้องทำตัวอย่างไร การเรียนรู้ของเด็กโตต่างจากเด็กเล็กแน่นอน แต่สาระที่เด็กทั้งสองวัยต้องเรียนรู้ น่าจะอยู่บนแก่นแกนเดียวกัน คือความเข้าใจ

 

                           ห้องเรียนของเรามีคนเข้าสายน้อยลงกว่าเดิม มีคนตั้งใจมากขึ้น และแน่นอน ภายในสองสามเทอม ผู้ที่เลือกเรียนห้องของเรา ก็จะเป็นคนที่มีฝัน ที่อยากจะเป็นนักโฆษณาตัวจริงเป็นส่วนใหญ่ ประเภทมาเพราะไม่มีทางเลือก มาเพราะเพื่อน พี่ แฟน จัดหนักจัดเบา จัดให้ ต่าง ๆ นานา  น้อยลง ๆ ๆ ๆ ๆเป็นลำดับ

                           ห้องเรียนของเราและเพื่อน กลายเป็นเหมือนตลาดนัด  ทุกคนรู้ก่อนว่าจะมาซื้อหาสินค้าอะไร แม่ค้าพ่อค้ามากี่โมง ตลาดเปิด/ปิดกี่โมง  เมื่อมาถึงแล้ว ก็มาลอง มาชม มาชิม แล้วก็ซื้อหาก่อนตลาดจะวายไปอย่างรวดเร็ว  เป็นห้องที่ทุกคนมาด้วยจุดประสงค์ที่แตกต่างกัน แต่มีเป้าหมายเดียวกัน แลกเปลี่ยนและเรียนรู้จากกันและกัน ทุกคนมาซื้อ-มาขาย เงินทองหมุนวนสารพัด ตลอดเวลาจนกระทั่งตลาดวาย หลังจากนั้นทุกคนก็จะกลับไป เพื่อเตรียมตัวของตัว เตรียมสินค้าของตัว เพื่อกลับมาขาย มาซื้อกันใหม่ในวันพรุ่ง

                           

                  เป็นห้องเรียนในฝันนี้ เราและเพื่อน เอาโลกวิชาการ โลกวิชาชีพ โลกวิชาคน และโลกวิชาธรรม มาหลอมรวมกัน เรียนด้วยความเข้าใจในเนื้อหา อย่างมีเป้าหมาย เห็นทิศทางทั้งหมด  และรู้จักตนเอง 

 

                          เป็นห้องเรียนในฝัน ที่ยังไม่มีชื่อ หากใครพบเห็นห้องเรียนเช่นนี้ที่ไหนอีก...โปรดช่วยบอกด้วย จะช่วยกัน ไปสานฝันให้สมบูรณ์อีกครั้ง... 

 

หมายเลขบันทึก: 505940เขียนเมื่อ 17 ตุลาคม 2012 15:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2012 07:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

 

ห้องเรียนในฝันของเรา ไม่ใช่ห้องเรียนในฝันของเขา แต่ที่สำคัญกว่านั้น  นี่คือห้องเรียนสำหรับเขา ไม่ใช่สำหรับเรา  ห้องเรียนนี้จะมีความหมายได้ ก็เพราะเขาได้รู้ ได้เรียนไปจากห้องนี้

 

 

 

คาดว่าขึ้นบันทึกแนะนำแน่นอน ขอปรบมือให้ค่ะ 

มาชมห้องเรียนในฝันของอาจารย์ค่ะ

อ่านบันทึกนี้แล้วนึกถึงตัวเองที่ยืนสอนนักศึกษาปีสี่เป็นครั้งแรกเมื่อสิบกว่าปีก่อนเช่นกัน ด้านอายุเราอาจจะมากกว่าเขาสักปีหรือสองปีเท่านั้น และด้วยประสบการณ์อันน้อยนิดที่พอเรียนจบก็ได้โอกาสเข้าสอนเลย ด้วยความเคยชินที่จบมาจากนอก ใช้ text ภาษาอังกฤษ, PowerPoint ภาษาอังกฤษ หัวข้อที่สอนเราไม่มีประสบการณ์ตรง สอนจากหนังสือ และสาขาวิชาที่สอนเคมีอุตสาหกรรม....ยังจำแววตาอันว่างเปล่าของนักศึกษาได้ดีค่ะ

นี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่พิจารณาตัวเองให้เปลี่ยนอาชีพจากอาจารย์มหาวิทยาลัยสาวจบนอกมาเป็นสาวโรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม มาถึงวันนี้หากกลับไปสอนอีกครั้ง คิดว่าห้องเรียนคงต่างไปจากเดิมค่ะ

ขอบคุณบันทึกที่ช่วยให้ระลึกถึงตนเองเช่นกันค่ะ

ขอบคุณทุกท่านที่แวะมาเยี่ยมชมครับ..

ขอบคุณ คุณภูสุภา... ...อันที่จริง..มีความฝ้นมากมาย จนเพื่อนเคยแหย่ว่า เป็น "คนขายฝัน" ... บังเอิญ ในห้องนี้ ให้เอ่ยถึง "ฝัน" จึง "ขายฝัน" กันเป็นพะเรอเกวียน...ครับ...(ฮา)....

ขอบคุณ คุณปริม pirimarj ครับ

...บังเอิญเหลือเกินนะครับ...ที่บนเส้นทางสายฝันนี้ ดูเหมือนเราจะเดินผ่านไปเหมือนกัน เพียงแต่คนละช่วงเวลา..เราจึงพบเรื่องราวคล้าย ๆกัน...

... เป็นโชคดีของโรงงานนั้น ที่วันนี้ เขาได้มีครูผู้ยังระลึกถึงความฝันได้ตลอดเวลา ประจำอยู่ที่นั่น...

และขอบคุณที่ติดตาม ให้กำลังใจกันเสมอนะครับ..

อ่านแล้วประทับใจครับ ผมดีใจที่อาจารย์คิดถึงลูกศิษย์ และหาวิธีการใหม่ๆ เพื่อปรับปรุงการสอนให้ดีขึ้น ขอคารวะครับ

ขอบคุณคุณ I love bright ครับ อันที่จริง ต้องถือเป็นคุณูปการอย่างใหญ่ของครูสมัยประถมและมัธยมครับ..โดยเฉพาะคุณครูในชั้นมัธยม สร้างแรงบันดาลใจอันใหญ่หลวงจริง ๆ....

  • ชอบแบบนี้
  • การไม่เช็คชื่อ เราเชื่อโดยสุจริตใจว่า การเช็คชื่อเข้าชั้นเรียนของนักศึกษาในระดับนี้ เป็นเรื่องแทบไม่มีประโยชน์ใด ๆ  นักศึกษาโตเกินกว่าจะชี้บอกให้ทำโน่นทำนี่แล้ว แต่เขาต้องเรียนรู้ว่า กฏเกณฑ์คืออะไร และเขาต้องทำตัวอย่างไร การเรียนรู้ของเด็กโตต่างจากเด็กเล็กแน่นอน แต่สาระที่เด็กทั้งสองวัยต้องเรียนรู้ น่าจะอยู่บนแก่นแกนเดียวกัน คือความเข้าใจ

  • ห้องเรียนแบบนี้หายาก
  • ผมไม่เช็คชื่อแต่ใช้ถ่ายภาพนิสิตแทน
  • 555

ขอบคุณ คุณขจิตครับ..

เผอิญตอนนั้น ยังไม่มีโอกาสมีกล้องน่ะครับ ถ้าเป็นวันนี้ สงสัยมี Clip ตรีม...(ฮา)...

สวัสดีค่ะอาจารย์ Han Min

  • ถ้าความฝันเป็นจริงคงดีไม่น้อยนะคะ
  • คุณยายมาส่งกำลังใจค่ะ

@มนัสดา ขอบคุณ คุณยายนะครับ... อิ่มอก อิ่มใจ เต็มแปร้...เลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท