KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : 578. ปัญญาปฏิบัติ (ต่อ)


การขับเคลื่อนปัญญาปฏิบัตินั้นไม่มีสูตรตายตัว เป็น dynamic process คือเลื่อนไหล มีการเรียนรู้ยกระดับไปเรื่อย เครื่องมือสำคัญที่สุดคือการปฏิบัติ แต่ว่าต้องมีการจดบันทึกอย่างเป็นระบบ มีหลักเกณฑ์ แล้วก็เอามายกระดับเชื่อมโยงตัวความรู้เหล่านั้นให้เพิ่มขึ้น ลึกซึ้งขึ้น ยุทธศาสตร์ที่ใช้คือเครือข่าย การสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ใช้ success story sharing ใช้ storytelling ใช้ appreciative inquiry คือความชื่นชม ความชื่นชมยินดีจะทำให้คนคิดอะไรต่ออะไรออกอีกเยอะ แล้วมันเป็น motivation ไปกระตุ้น inspiration ทำให้เขาอยากทำ เป็นวิธีการ positive psychology จิตวิทยาเชิงบวก

KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ  : 578. ปัญญาปฏิบัติ (ต่อ) 

ต่อจากเมื่อวาน ซึ่งไฟล์ใหญ่ ทำให้ลงได้ไม่หมด 

นักวิชาชีพหรือนักวิชาการสามารถไปมีบทบาทต่อชมรมหรือเครือข่ายเหล่านั้นได้เยอะ ก็เหมือนอย่างที่ทีมอาจารย์วัลลาทำเครือข่ายเบาหวาน ก็จะไปร่วม AAR กับเขา ช่วยจดบันทึก เพราะบางทีชาวบ้านก็จดบันทึกไม่เก่ง เราก็ต้องไปช่วย คอยฝึกให้เขาจดบันทึกขึ้นมา ชาวบ้านถ้าฝึกเขาจะจดบันทึกได้ดี ผมเคยไปร่วมกับชาวนา ทำโรงเรียนชาวนา ทำแล้วก็มาประชุมกันทุกอาทิตย์ อาทิตย์ละครึ่งวัน คือมา AAR กัน ใหม่ ๆ ก็ไม่จด เพราะเขาเขียนหนังสือตัวโย้เย้ อาย สะกดการันต์ผิด ๆ ถูก ๆ แต่พอมีคนหนึ่งเขียนขึ้นมาแล้วเราชม หลังจากนั้นจดกันอุตลุดเลย ตอนหลังไม่มีกระดาษดินสอไม่ได้แล้ว เวลาประชุมต้องมี เพราะเขารู้แล้วว่ามีประโยชน์จริง ๆ ไม่อย่างนั้นกลับถึงบ้านลืมหมด

นอกจากจดบันทึกแล้วก็ออกแบบการเก็บข้อมูลอย่างมีเป้าหมาย เก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ แล้วก็เอามาสังเคราะห์ ทำความเข้าใจ ถ้าจะต้องรายงานก็รายงาน ที่สำคัญที่สุดคือรายงานกันเอง ทำให้เราเข้าใจดีขึ้น ทำให้กลุ่มคนในชมรมเข้าใจดีขึ้น ก็เป็นประโยชน์ เป็นการหมุนเกลียวความรู้ยกระดับขึ้นไป อย่าลืมนี่คือบทบาทของนักวิชาการ อย่าลืมว่าเข้าไปร่วมวงแล้วจะได้โจทย์วิจัย นักวิชาการเข้าไปตรงไหน สัญชาตญาณนักวิชาการขี้สงสัย ไม่เชื่อ ตรวจสอบ ถ้ายังไม่มีหลักฐานยืนยัน นั่นคือโจทย์วิจัย

นักวิชาการต้องช่วยเติม explicit knowledge ความรู้ทฤษฎีให้แก่วงผู้ปฏิบัติ ทำให้วงผู้ปฏิบัติเก่งขึ้นอย่างมากมาย อย่างนักเรียนโรงเรียนชาวนา ผมชวนเอานักวิชาการไปฟังวงเขา เขาก็เอามาโชว์ว่าจุลินทรีย์ดีอย่างนี้ ๆ เพาะเลี้ยงอย่างนี้ ใช้ใบไผ่ อะไรต่ออะไร พูดได้เป็นคุ้งเป็นแคว... นักวิชาการก็ขอไปขะยุ้มหนึ่ง เอาไป culture ใส่ petri dish ถ่ายรูป แล้ว identify ว่าเป็น species ไหน  ส่งรูปนั้นพร้อมคำอธิบายแล้วบอกด้วยว่า specie นี้มีคุณสมบัติอย่างไร ชาวบ้านตาลุกเลยว่ามิน่าต้นไม้ถึงงาม มันเกิดความเข้าใจในมิติที่ลึกและเชื่อมโยงขึ้น นักวิชาการสามารถทำประโยชน์อย่างนี้แก่วงผู้ปฏิบัติได้เยอะมาก เป็นการอธิบาย Why แก่สิ่งที่เกิดขึ้น แก่ What คือ How เขาทำได้ ชาวบ้านจะรู้ What รู้ How แต่ไม่รู้ Why อธิบายไม่ได้ เราช่วยอธิบายง่าย ๆ แล้วมีหลักฐานเชิงประจักษ์ให้เขา เป็นประโยชน์ต่อผู้ปฏิบัติมาก ช่วย convince ให้เขาทำอย่างมั่นใจ

 นักวิชาการต้องทำงานคู่กับนักขับเคลื่อน นักเคลื่อนไหว บางครั้งนักวิชาการก็ต้องเป็นนักเคลื่อนไหวเองเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง เป็นการขับเคลื่อนเครือข่าย ขับเคลื่อนเพื่อที่จะให้เกิดผลเรื่องใดเรื่องหนึ่ง กรณีของเราคือการสร้างเสริมสุขภาพ เครื่องมือในการที่จะขับเคลื่อนคือความสำเร็จที่น่าภูมิใจ คือ success stories แล้วก็ใช้เครื่องมืออีกตัวคือ appreciative inquiry คือการชื่นชม ถ้าจะซักถามก็ซักอย่างชื่นชม เอาเรื่องเล่าดี ๆ ทั้งหลายมาทำ success story sharing, SSS เครื่องมือที่เอา success stories มา share คือ storytelling เป็นการเล่าเรื่อง ฝึกนิดหน่อยใคร ๆ ก็เล่าได้ทั้งนั้น แม้กระทั่งคนไม่มีความรู้ จบแค่ ป. 4 ก็เล่าได้ เล่าสิ่งที่เขาทำมากับมือ  มีพลังมาก เราทำให้เขาเกิดความมั่นใจไม่ยาก พอเล่าแล้วก็มีการจดบันทึก การจดบันทึกที่มีพลังที่สุดของเรื่องเล่าคือถ่าย VDO พอถ่ายแล้วเอาให้ตัวเองดู โอ้โหมันของขึ้นอีกนะ บางครั้งก็โอ้ลืมพูดอันนี้ไป วันหลังก็จะทำได้ดีขึ้นอีก ก็จะทำให้การปลดปล่อย tacit knowledge จากการปฏิบัติยิ่งครบถ้วนและลึกซึ้งยิ่งขึ้น เป็นวิธีการเคลื่อนไหว ที่ผมพูดนี่ไม่ได้มีอะไรใหม่เลย หลาย ๆ ท่านทำอยู่แล้ว ทำได้ดีด้วย อย่างน่าชื่นชม จนกระทั่งมีหลาย ๆ ฝ่ายก็พยายามมาชวนให้ไปทำเพิ่มขึ้น

ผมอยากจะขอเรียนว่าในการทำเรื่องสร้างเสริมสุขภาพอย่าลืมเรื่องเยาวชน ท่านลงไปในพื้นที่อย่าลืมเยาวชน เยาวชนอาจจะอยู่ในโรงเรียน อาจจะไม่อยู่ในโรงเรียน บางคนโชคไม่ดีก็ต้องออกจากโรงเรียนเร็วหน่อย คนเหล่านี้เป็นคนที่มีพลัง มีทั้งพลัง มีทั้งใจ ร่างกายแข็งแรง มีใจ หลายคนอาจจะดูว่าเกเร แต่เราก็ไม่ได้คบกับความเกเรของเขา เราคบกับส่วนที่ดีของเขา ชวนมาทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ คือคบกันด้านบวก ใช้ appreciative inquiry คบกันในส่วนที่เขามีความสามารถจะทำอะไรได้ดี แล้วก็ชวนมาลงมือทำ ลงมือทำแล้วเห็นผล เกิดผล แล้วก็มาเล่า หลายครั้งเยาวชนเหล่านั้นอาจกำลังเดินไปสู่ทางเสื่อม เขาอาจได้ที่แสดงฝีมือแสดงความสามารถ แทนที่จะไปเกลือกกลั้วไปมั่วสุมอยู่กับความเสื่อม กลายเป็นเยาวชนที่ดี ทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม ตนเองได้ประโยชน์ที่สุดคือไม่เสียคน แล้วได้ทำกระบวนการที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นด้วย นี่เป็นกระบวนการที่ชวนเยาวชนมารวมกลุ่มกันทำเรื่องดี ๆ ให้แก่สังคม เป็นจิตอาสา เป็นการเรียนรู้ร่วมกันเป็นกลุ่มที่เรียกว่าเป็น Project-Based Learning

อย่าลืมว่ากระบวนการสร้างเสริมสุขภาพนั้นมี assets ในพื้นที่เยอะมาก เช่น วัด พระ ครู โรงเรียน อปท. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. รพสต. แพทย์พื้นบ้าน ฯลฯ ควรจะเอามาใช้ประโยชน์ให้เต็มที่ แน่นอนว่าบางที่วัดหรือพระอาจไม่ค่อยมีพลัง ก็หากลุ่มอื่น... อย่าลืม check เสียก่อนว่ามีไหม หรืออาจดูว่าไม่มี ก็ลองชวนดูหน่อย อาจได้ภาคีที่ดี

โดยสรุปคือว่าการขับเคลื่อนปัญญาปฏิบัตินั้นไม่มีสูตรตายตัว เป็น dynamic  process คือเลื่อนไหล มีการเรียนรู้ยกระดับไปเรื่อย เครื่องมือสำคัญที่สุดคือการปฏิบัติ แต่ว่าต้องมีการจดบันทึกอย่างเป็นระบบ มีหลักเกณฑ์ แล้วก็เอามายกระดับเชื่อมโยงตัวความรู้เหล่านั้นให้เพิ่มขึ้น ลึกซึ้งขึ้น ยุทธศาสตร์ที่ใช้คือเครือข่าย การสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ใช้ success story sharing ใช้ storytelling ใช้ appreciative inquiry คือความชื่นชม ความชื่นชมยินดีจะทำให้คนคิดอะไรต่ออะไรออกอีกเยอะ แล้วมันเป็น motivation ไปกระตุ้น inspiration ทำให้เขาอยากทำ เป็นวิธีการ positive psychology จิตวิทยาเชิงบวก

ผมขอเติมเรื่องการศึกษา การเรียนรู้ จากการคุยเมื่อเช้าเห็นว่าการประชุมครั้งนี้ต้องการที่จะเน้นเรื่องการศึกษาการเรียนโดยทั่วไปด้วย ขอ sell idea ว่าโลกปัจจุบันนี้มันเปลี่ยนหมด ไม่เหมือนที่เราเคยคิด รวมทั้งตัวเยาวชนด้วย ลูกศิษย์เราจะไม่เหมือนอย่างที่เราคิด หลายคนจะบ่นว่าลูกศิษย์เราทำไมเป็นเช่นนี้ นั่นคือความจริง บ่นไปก็ไร้ประโยชน์ ให้ยอมรับความจริงว่าไม่เหมือนอย่างที่พวกเราเคยเป็น เมื่อเราอายุ 18 ปี ลูกศิษย์เราอายุ 18 ปีตอนนี้เขามีความรู้มากกว่าเราเยอะหลายเท่าตัว เขาสั่งสมอะไรต่ออะไรที่เราไม่เคยมีมากมายเหลือเกิน ทั้งด้านดีและด้านไม่ดี เราต้องเข้าใจอันนี้ เพราะฉะนั้นการจัดกระบวนเรียนรู้ต้องเปลี่ยนใหม่หมดเพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้เหมาะกับผู้เรียน ไม่ใช่เหมาะกับผู้สอน หลักที่สำคัญในปัจจุบันของ education ก็คือว่าการสอนต้องเหลือน้อยมาก ต้องเปลี่ยนไปเป็นการเรียน ครู no more, teacher ไม่ใช่ teacher คือผู้สอนอีกต่อไป แต่เป็น facilitator เป็น learning facilitator หรือเป็นโค้ช เป็นโค้ชแปลว่าลูกศิษย์ทำ ลงมือทำ เราเป็นคนไปโค้ชการทำของเขาให้ทำได้ดี มีกำลังใจที่จะทำ โค้ชเนี่ยที่สำคัญอันหนึ่งคือสร้างกำลังใจ

การเรียนรู้ในปัจจุบันนี้ต้องให้ได้สิ่งที่เรียกว่า 21st century skills เป็น 21st century learning เป็นการเรียนรู้ในศตวรรษใหม่ ศตวรรษที่ 21 ซึ่งหลักที่สำคัญที่สุดคือว่าโลกไม่เหมือนเดิมและจะยิ่งไม่เหมือนเดิมขึ้นเรื่อย ๆ คือมันจะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เปลี่ยนจนแบบไม่คาดฝัน เอาแน่เอานอนไม่ได้ มีสิ่งที่ไม่แน่นอนเกิดขึ้นในอนาคตเยอะมาก แปลว่ามนุษย์ในอนาคตต้องเผชิญกับสิ่งนั้น ความรู้ที่มีในปัจจุบันอีก 3 ปีมันเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย แล้วที่เราสอนก็ผิดไปแล้ว 3 ปีนี้ เยอะเลย เพราะฉะนั้นถ้าลูกศิษย์ของเราได้แต่ตัวความรู้ไป ไม่ได้ learning skills ไป ไม่ได้จริต ความชอบ ความสนุกที่จะเรียนรู้ในชีวิตข้างหน้า ภายในเวลาไม่ช้าเขาจะเป็นคนที่ตกยุค ตกโลก ตกสมัย ความรู้ก็เก่าใช้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นการเรียนรู้ต้องเปลี่ยนใหม่หมด

สิ่งที่จะต้องเรียน... 21st century learning outcomes & support systems (support system อยู่ข้างล่าง ที่เป็นสี ๆ คือ learning outcomes) สีเขียวคือตัวความรู้ วิชา ตัวสีแดงคือทักษะด้านอาชีพ เป็นพยาบาลต้องมีทักษะการเป็นพยาบาล แต่ไม่พอต้องมี life skills ด้วย เป็นพยาบาลแล้วใช้เงินเกินตัวเป็นหนี้เป็นสินแสดงว่าไม่มี life skills โดนลัทธิบริโภคนิยมล้วงกระเป๋า ยั่วยวนให้เราต้องซื้อของที่ไม่จำเป็นเยอะเกิน ทุกคนในห้องนี้รวมทั้งตัวผมด้วยมีของที่ไม่จำเป็นมากเหลือเกิน... สีทองคือ learning & innovation skills ต้องมีทักษะของการเรียนและการทำ innovation คือเปลี่ยนอะไรใหม่ ๆ สีน้ำเงินเป็น information & media skills ต้องมีทักษะด้านการสื่อสารและทางด้านการใช้มีเดีย การสื่อสารนี้ทั้งเข้าและออก หลายคนอาจจะเก่งมากตอนเข้าคือไป absorb ความรู้มาแต่ไม่สามารถ communicate ออกได้ อย่างนี้ก็ไม่ได้ ที่จริงปัจจุบันก็อย่างนั้น คนเราต้องสื่อสารชีวิตจึงจะอยู่ได้...

ทั้งหมดนี้หมายความว่าคนสมัยใหม่เพื่อที่จะมีทักษะสำหรับ 21st century โลกยุคใหม่ จะต้องมีทักษะหลาย ๆ ตัว เขาบอกว่ามี 7Cs+3Rs…Reading, ‘Riting, ‘Rithmetics ซึ่งจะต้องตีความให้มากกว่านี้ไม่ใช่แค่อ่านออกเขียนได้ ที่สำคัญคือต้องมี critical thinking ต้องคิดลึกคิดอย่าง critical ได้ การศึกษาปัจจุบันตั้งแต่อนุบาลมาจนถึงมหาวิทยาลัยจนถึงปริญญาเอกเลยไม่ได้ critical thinking พูดอย่างนี้ไม่ได้แปลว่าการทำให้เกิด critical thinking เป็นของยาก ไม่ยากถ้าใช้การจัดการเรียนรู้แบบใหม่... ต้องมี creativity ต้องมีความสามารถในการ collaborate ร่วมมือกับคนอื่น ไม่ใช่มุ่งแต่จะแข่งขัน ต้องมีความเข้าใจคนในชีวิตในวัฒนธรรมอื่น หรือคนที่มาจากต่างฐานะ อย่างเพื่อนชาวเขาพูดไม่ชัด เพื่อนที่โรงเรียนไปล้อเลียนเขา... เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องมี skills เพราะว่า mother tongue เขาเป็นอย่างนั้น... อยู่ร่วมกันกับคนที่แตกต่างได้ ไม่ใช่แตกต่างแค่วัฒนธรรม ภาษา แต่วิธีคิดด้วย ทุกวันนี้ศาสนาเดียวกันเชื้อชาติเดียวกันเหมือนกันแป๊ะ แต่คิดต่างกันเยอะมาก ... ที่บ้านผมคิดต่างกันเยอะ อยู่กันด้วยความแตกต่าง... แล้วก็มีอีกหลาย ๆ อย่าง

การเรียนรู้ในยุคใหม่ต้องสอนน้อย ๆ เรียนเยอะ ๆ ต้องไปให้เลยจากตัววิชาไปสู่การปฏิบัติ การเปลี่ยนใจ การสอบต้องเปลี่ยนใหม่ เปลี่ยน 3 อย่าง อันที่หนึ่งอย่าเน้นถูกผิด อันที่สองอย่าประเมินแค่ตัวบุคคล ให้ประเมินทีมด้วย การเรียนเป็นทีม อันที่สามคือข้อสอบไม่เป็นความลับ... สมัยพวกผมสบายมากเรารู้ข้อสอบหมด ผมอยู่จุฬาเนี่ยข้อสอบฟิสิกส์เรารู้ทุกข้อ เรารู้ 200 ข้อแต่อาจารย์ออก 5 ข้อ เรามีเฉลยหมด เพราะมี lab boy มาเฉลย แต่บางทีก็เฉลยผิด นี่คือข้อสอบไม่เป็นความลับ

การเรียนรู้ในปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่จะอยู่ใน level แรก คือ Informative learning ทำให้คนนั้นมีวิชาความรู้ ก็เป็น experts พวกเราเป็นวิชาชีพ พยาบาลเรียนมาถึงระดับ Formative, form เป็นวิชาชีพ professionals ซึ่งลึกขึ้นมา แต่ในอนาคตไม่พอ ไม่ว่าเรียนอะไรต้องให้ถึง Transformative, transform ชีวิตจิตใจของคนเพื่อออกไปเป็น change agents ทำประโยชน์ให้แก่สังคม เปลี่ยนแปลงสังคมไปในทางที่ดีขึ้น ต่อสู้กับส่วนที่เป็นโรคร้าย กิเลสทั้งหลาย ซึ่งนับวันยิ่งมากขึ้นเรื่อย ๆ โลกเรามากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งด้านดีและด้านไม่ดี เพราะฉะนั้นบัณฑิตของเราต้องเรียนลึกถึง transformation… เรากำลังทำเรื่องพวกนี้กันอยู่ จะมีกระบวนการทำเรื่องพวกนี้

 

 

วิจารณ์ พานิช

๘ ต.ค. ๕๕

 

หมายเลขบันทึก: 504999เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2012 08:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 ตุลาคม 2012 12:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เรียนอาจารย์วิจารณ์ที่เคารพ

ดิฉันจะส่งไฟล์ที่ทำ artwork แล้วให้อาจารย์นะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท