หนึ่งคนนั้นทำด้วยหัวใจ....อีก...หนึ่งคนทำไปด้วยหน้าที่


หนึ่งคนนั้นทำด้วยหัวใจ....อีก...หนึ่งคนทำไปด้วยหน้าที่

            ในสัปดาห์นี้ กับการทำงานที่ดูสบายๆ ชิว ชิว  จากอาการ bradykinesia ( อาการเคลื่อนไหวลำบาก ) จากพาร์กินสันดูจะลดลง  แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มี  ร่างกายตอบสนองยาได้มากขึ้นกว่าเดิม  ยาออกฤทธิ์ได้นานขึ้น  จึงสามารถใช้ร่างกายในการงานได้อย่างเต็มที่  ความคล่องตัวกระปี้กระเปร่า กลับมา  ทำโน่นนี่นั่นได้อีกสารพัด   แต่ในสัปดาห์นี้ผู้ป่วยเด็กมากจริง  มาด้วยอาการคล้ายกันทั้งนั้นเลย  คือ  Acute bronchiolitis  (หลอดลมฝอยอักเสบเฉียบพลัน)  เด็กมักมีอาการไอมากเสมหะมากหายใจหอบ  ดูแล้วทรมานจริง  เด็กป่วยนี่น่าสงสาร เพราะ พอเป็นอะไรแล้วเขาบอกเราไม่ได้  ต้องสังเกต ถึงจะรู้ได้

            ตามจริงเรื่องนี้ไม่อยากจะเขียนเท่าไหร่ เขียนไปก็ดูเหมือนพาดพิง เพื่อนร่วมงานยังไงไม่รู้  แต่ก็อดไม่ได้ตรวจที่เจอเหตุการณ์เหมือนๆกันอยู่  2 เหตุการณ์  แล้วมันสะเทือนความรู้สึก    จึงอยากเขียนให้เป็นอุทาหรณ์  ของเราในฐานะบุคลากรทางการแพทย์  ซึ่งได้ชื่อว่า  เป็น นางฟ้า  เป็นเทวดา  หรืออะไรก็ตามที่มีใจที่เต็มเปรี่ยมไปด้วยความเมตตากรุณา  นี่เป็นภาพในสายตาของคนที่มองมาที่วิชาชีพของแพทย์พยาบาล  แต่แพทย์พยาบาลก็ใช้คนทำเหมือนวิชาชีพอื่น  การทำงานนั้นย่อมไม่ต่างกับวิชาชีพอื่น คือทำงานตามหน้าที่ เป็นส่วนใหญ่

            ภาพที่เห็นที่อดเขียนบันทึกไม่ได้คือ ภาพของแม่ที่กอดลูกน้อย ที่หายใจหอบ ไอเป็นชุดๆ พร้อมกับร้องงอแง ด้วยไม่สุขสบายจากการหายใจไม่สะดวก   พลันให้นึกถึงตัวเอง เมื่อเวลาที่โรคหอบหืดกำเริบนั้นทรมานไม่น้อยเลย  จำได้ว่า  หญิงคนนี้กับลูกน้อยวัย 6 เดือน มาตรวจเมื่อ 2 วันก่อน  ด้วยลูกหายใจหอบ  จึงมานั่งรีวิวประวัติดู  แพทย์ พ่นยาให้ 3 dose  แล้วให้ยากลับบ้าน  เมื่อวานนี้อาการไม่ทุเลา มาตรวจอีกครั้ง  แพทย์ให้กายภาพมาเคาะปอดให้ดูดเสมหะ พ่นยาอีก 3 ครั้ง  ให้กลับบ้านไปรับประทานยาเดิม  วันนี้กลับมาอีกครั้ง  ด้วยอาการเดิม  แต่คราวนี้ดูแม่หน้าตาไม่สู้ดี  น้องผู้ช่วย ของชลัญมาบอก

            “ พี่โจ้แม่ลูกน่าสงสาร ลูกไม่ดีขึ้นเลย มาติดกัน 3 วัน ต้องเหมารถมาทีละ 400 บาท”

        ชลัญรู้สึกเหมือนมีอะไรมาจุดอยู่ที่คอ  3 วันก็ปาเข้าไป 1200 บาท  สำหรับคนหาเช้ากินค่ำ ไม่ใช่เงินน้อยๆเลย   จึงบอกน้องผู้ช่วยไว้ว่า ให้ดูให้หน่อยหากคนไข้ไม่ได้นอน รพ.ให้มาบอก จะจัดการให้   สุดท้ายน้องมารายงานว่า คนไข้ได้นอนรพ.  เฮ้ยโล่งใจ 

        เพราะเหตุการณ์นี้มันเพิ่งเกิดกับผู้ป่วยอีกรายเมื่อวันอาทิตย์ ที่ชลัญอยู่เวร  แต่แพทย์เวรนั้นเป็นแพทย์ จาก รพ.อื่นมารับจ้างอยู่ เวร เหตุการณ์เหมือนกันทุกอย่าง  วันนั้นชลัญตัดสินใจเดินไปหาหมอแล้วบอกว่า

      “หมอค่ะคนไข้บ้านอยู่ไกลมาก นี่มา 3 วันติดกันแล้ว หมอจะให้เด็กนอน รพ.มั๊ย”

      “แพทย์ท่านนั้นตอบว่า ไม่ต้องหรอกพี่  พ่นยาแล้ว ปอดโล่งแล้ว  “

           ชลัญจะทำอะไรได้  แต่คนอย่างชลัญมีหรือจะยอม  จึงบอกแม่เด็กว่า  ไม่ต้องกลับ รอแป๊บ  จากนั้นชลัญก็ขึ้นไปที่ตึกผู้ป่วยเด็ก  พบกุมารแพทย์กำลังตรวจคนไข้อยู่จึงเล่าเหตุการณ์ พร้อมเอาประวัติคนไข้ และฟิล์ม x-ray ไปให้ดู  แพทย์ รีบ admit ผู้ป่วยให้  เพราะดูแล้วยังไงก็กลับมาอีกแน่   แม่เด็กโล่งใจยกมือไหว้ขอบคุณ 

            นี่เป็นการแก้ปัญหา ที่พยาบาลอย่างชลัญพอจะช่วยได้ในรายที่เหมาะแก่การช่วยเหลือ ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นก็อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ ซึ่งแพทย์ที่เข้าใจปัญหานี่มักเป็นแพทย์ ที่มีประสบการณ์การทำงานมานาน ไม่ใช่แพทย์จบใหม่

  แต่เราจะต้องแก้ปัญหาอย่างนี้อีกเท่าไหร่  ?

           ซึ่งจากการที่ชลัญสังเกต ทั้งแพทย์ และพยาบาลที่จบใหม่นั้น  ชลัญเห็นว่า ส่วนใหญ่ ไม่ได้มองผู้ป่วย  เป็นคนทั้งคน แต่มองเป็นเพียงกายป่วย การรักษาคือบำบัดกายเท่านั้น  แต่คนๆหนึ่งนั้น ยังมีจิต จิตวิญญาณ  และสังคม อีกด้วย  หากเรามองไม่ครอบคลุมการรักษานั้นก็คงไม่สิ้นสุด  แต่ยังคงมีปัญหาที่แก้ไม่สุดแถมยังอาจเพิ่มทุกข์ให้เขาโดยที่เราอาจไม่ตั้งใจ ก็เป็นได้ 

           เรื่องนี้ชลัญไม่ได้มองว่า เป็นความผิดของใคร เพราะเราต่างทำตามหน้าที่  ซึ่งต่างจากแม่ของเด็ก ที่ทุกอย่างที่เขาทำนั้น ทำด้วยหัวใจด้วยความรักที่มีต่อลูก 

          จะเป็นไปได้มั๊ยที่เราในฐานะที่เป็นคนที่ มีหน้าที่บำบัดทุกข์ทางกายให้คนอื่น นั้นจะใช้ใจมองไปในหัวใจของคนไข้  ให้เห็นใจเขา  ในใจของเรา 

          เราอาจไม่ต้องทำด้วยหัวใจ ก็ได้ เพียงมองให้เห็นหัวใจของคนไข้เท่านี้เราอาจช่วยแบ่งเบาความทุกข์ของคนไข้ได้  แม้ทำไปตามหน้าที่ ก็ตามที  

 

ชลัญธร    ตรียมณีรัตน์

หมายเลขบันทึก: 504645เขียนเมื่อ 5 ตุลาคม 2012 20:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 ตุลาคม 2012 09:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ตามมาให้กำลังใจครับ...ชื่นชมมากครับ

A doctor in US made a remark to the same effect a year or so ago.

He said these days "patients are just 'icons' on the computer screen running 'ipatient' programs" (my interpretation) The fact, that patients are 'no longer' the primary concern of healthcare providers but just 'numbers' of cases for hospital statistics and efficiency measures, is a reflection of our today's digital (virtual) interest.

Sigh!

สวัสดีค่ะคุณชลัญ

การทำงานด้วยหัวใจด้วยความรู้สึก ปริมคิดว่ามันเหมือนการใช้ชีวิตในกราฟที่มีลูกคลื่นขึ้นลงใหญ่มากเมื่อเทียบกับการทำงานตามหน้าที่ที่ลูกคลื่นออกจะราบเรียบ

เวลาทำงานด้วยหัวใจ เวลาเราเห็นคนมีความสุขเราก็จะสุขมาก ทางตรงข้ามก็เช่นกันหากเกิดเหตุการณ์แบบที่คุณชลัญพบเราก็จะเหนื่อยใจมากเช่นกัน

สำหรับคนธรรมดา ทำได้ไม่นานก็จะรู้สึกเหนื่อยแล้วชินค่ะ ต้องอาศัยคนมีไฟ จึงจะทำหน้าที่แบบนี้ด้วยดี

คิดถึงคำสอนที่ว่าคนเราต่างกัน บางคนเกิดมามีไฟทำเพื่อคนอื่นอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย บางคนเหมาะที่จะทำงานหน้าเครื่องมือ หน้าคอมพิวเตอร์มากกว่าทำงานกับคนค่ะ งานกับลักษณะของคนจึงต้องเข้ากันได้ ไม่อย่างนั้นก็ไม่ work นะคะ

มาให้กำลังใจด้วยการชื่นชมคนทำงานด้วยหัวใจค่ะ

 

 

ทำทั้ง หัวใจและหน้าที่ ทำแบบ Mixไปเลยนะคะน้องรัก .... ไม่แยกทำ  จะดีไหม?

จิตสำนึกแบบนี้เราต้องปลูกฝังกันอย่างสม่ำเสมอมาตั้งแต่เขาเป็นนักเรียนแพทย์ นักเรียนพยาบาล และต้องให้ได้มีโอกาสเห็น (แบบคิดวิเคราะห์)จากตัวอย่างจริงๆไปด้วยนะคะ ปัจจุบันเรามีโรงเรียนแพทย์มากมายหลายที่ซึ่งปริมาณนศ.มากมายเกินจำนวนอาจารย์อีกด้วย ก็ได้แต่หวังว่าพวกเราที่เป็นเสียงสะท้อนหรือผู้ที่มีโอกาสช่วยสร้างจิตสำนึกให้คนดูแลคนอื่นจะช่วยๆกันปลุกจิตสำนึกนี้ เหมือนที่น้องโจ้พยายามทำอยู่นี่แหละค่ะ 

ถ้าทำด้วยใจ ความปิติจะจามมา เราจะรู้สึกเหมือนไม่ได้ทำงาน แต่ทำสิ่งที่เรารักเนาะน้องชลัญ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท