บันทึกการฝึกปฏิบัติงาน กับเด็กออทิสติกที่น่ารัก


.. การฝึกปฏิบัติงานทางคลินิกครั้งที่ 3 ของนักศึกษากิจกรรมบำบัด ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง 

     ..เวลา 04.45 น.   ถ้าเป็นเวลาที่ต้องนั่งเรียนวิชาบรรยาย(lecture) ..   ดิฉัน คงยังไม่ตื่นนอน(เนื่องจากเริ่มเรียน 09.00 น.)

     แต่..   นี่เป็นช่วงเวลาในการฝึกปฏิบัติงานทางคลินิก ดิฉัน ตื่นนอนแต่เช้ามืด เพื่อรับอากาศแสนสดชื่น แสงแดดอ่อนๆยามเช้า  และเดินทางจากมหาวิทยาลัยไปฝึกปฏิบัติงานในตัวเมืองกรุงเทพมหานคร..

     ..โรงพยาบาล   ผู้ปกครองและเด็กต้องเดินทางออกจากบ้านในตัวเมืองกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัด ตั้งแต่เวลาเช้ามืด หรือบางท่านเดินทางจากต่างจังหวัดตั้งแต่เมื่อวานเพื่อพบบุคลาการทางการแพทย์ในการตรวจประเมิน การบำบัด การรักษาในวันถัดไป..

     ผู้รับบริการเด็ก   ที่ดิฉันนักศึกษากิจกรรมบำบัด ได้รับมอบหมายในวันหนึ่ง เป็นเด็กผู้ชายผิวขาว รูปร่างผอม อายุ 3 ปีกว่าๆย่างเข้า 4 ปี ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์เป็นโรคออทิสติก(Autistic Disorder) ซึ่งมีความบกพร่องหลักๆ 3 ส่วนคือ 1.บกพร่องทางด้านภาษา 2.บกพร่องทางด้านสังคม 3.บกพร่องทางด้านพฤติกรรม 

     เมื่อพบเจอกันวันแรก..   น้องวิ่งเข้ามาหาแล้วกระโดดลงบ่อบอลทันที น้องเล่นคนเดียวในบ่อบอล น้องชอบปีนบนที่สูงๆ แล้วกระโดดลงมา ชอบหมุนชิงช้าเล่น วิ่งรอบห้อง อยู่ไม่นิ่ง พูดเล่นเสียงตัวเอง มีบ้างที่น้องชวนเล่นโดยการจูงมือแล้วพาไปหยิบของเล่น จากการตรวจประเมินพบว่า น้องมีพัฒนาการทางด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่ไม่ค่อยสมวัย มีสมาธิ ความตั้งใจน้อยกว่า 5 นาที สื่อสารกับผู้อื่นด้วยการใช้มือชี้บอกสิ่งที่ต้องการ น้องเลือกและบอกชื่อสัตว์ ผลไม้ สิ่งของที่พบเจอในชีวิตประจำวันจาก 2 ตัวเลือกได้ แต่ยังบอกข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสัตว์ ผลไม้ และสิ่งของดังกล่าวไม่ได้ น้องเล่นคนเดียวแต่นั่งใกล้ๆกับเพื่อน และชอบแกล้งเพื่อน แย่งของเล่นเพื่อน เมื่อเรียกน้อง น้องจะหันมามองหน้าสบตา แต่จะทำไม่สนใจ ในช่วงแรกของการตรวจประเมิน น้องให้ความร่วมมือบ้างเนื่องด้วยมีสมาธิและความสนใจเฉพาะในสิ่งที่ตนเองสนใจจะเล่น คือการปีนป่าย กระโดด เอียงตัวเล่น และแกล้งไม่ยอมทำกิจกรรม ไม่รู้จักการรอคอย จึงต้องใช้เวลามากในการตรวจประเมินเพื่อหาปัญหาของน้องในช่วงแรก

     เมื่อทราบปัญหาหลักๆของน้องแล้ว   และให้การบำบัดฟื้นฟู โดยการใช้ทฤษฎีการบูรณาการประสาทความรู้สึก (Sensory Integration Theory) ของ Dr. A. jean Ayres ให้น้องทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงมากๆ(Heavy Work) เพื่อให้น้องนิ่งขึ้นไม่วอกแวก มีสมาธิในการทำกิจกรรมอื่นๆต่อไป และให้การบำบัดฟื้นฟูตามทฤษฎีพัฒนาการ(Developmental Theory) จนน้องมีพัฒนาการที่ดีขึ้นต่อเนื่อง..

     จากนั้น   ได้มีการพูดคุยกับผู้ปกครองของน้องเพื่อส่งเสริมความสามารถที่น้องมีอยู่ให้เพิ่มมากขึ้น เป็นการต่อยอดความสามารถของน้องด้วยตัวผู้ปกครองเอง โดยการส่งเสริมดังกล่าวเป็นการส่งเสิรมความสามารถของน้องตามพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดเล็กและกล้ามเนื้อมัดใหญ่ การรับรู้และเข้าใจภาษา การช่วยเหลือตนเองในการทำกิจวัตรประจำวันและการเข้าสังคม เพื่อให้ความสามารถของน้องในทุกๆด้านเพิ่มขึ้น เป็นการเตรียมความพร้อมของน้องสำหรับการเข้าสู่วัยเรียน ก่อนการเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูทางกิจกรรมบำบัด ตามนัดหมายอีกครั้ง ต่อไป..

     การฝึกปฏิบัติงานทางคลินิกในครั้งนี้   และการพบเจอน้องเป็นประสบการณ์ครั้งสำคัญครั้งหนึ่ง น้องไม่ใช่แค่เด็กที่อยู่แต่ในโลกของตนเอง แต่เมื่อเราเข้าใจในความต้องการของน้องแล้ว เราจะสนุกในการเรียนรู้ไปพร้อมๆกับน้อง โดยมีสิ่งสนใจของน้องชักจูงน้องออกมาจากโลกของตนเอง การเห็นความสามารถของน้องเพิ่มขึ้นจากเดิม ย่อมส่งผลต่อความสามารถของน้องในการเติบโตต่อไป และการที่ผู้ปกครองต้องเดินทางไกลและรอคอยในการตรวจประเมิน การบำบัดฟื้นฟูภายในเวลา 1 ชั่วโมง ทำให้ดิฉันได้เรียนรู้ว่า 1 ชั่วโมงหรือ 60 นาที เป็นเวลาที่มีคุณค่ามากต่อน้องและผู้ปกครอง ซึ่งจะต้องได้รับการตรวจประเมิน หรือการบำบัดฟื้นฟูอย่างเต็มที่ ภายในเวลา 1 ชั่วโมงหรือ 60 นาทีนั้น ..  

   

คำสำคัญ (Tags): #ออทิสติก
หมายเลขบันทึก: 503940เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2012 11:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กันยายน 2012 22:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท