ผู้หญิงในเรือนจำ


ผู้หญิงในเรือนจำ

นัทธี จิตสว่าง

ประเทศไทยนับเป็นประเทศที่มีผู้หญิงต้องโทษจำคุกอยู่ในเรือนจำมากเป็นอันดับต้นๆของโลก เห็นได้จากสถิติของศูนย์การศึกษาเรือนจำระหว่างประเทศ (International Centre for Prison Studies) ที่สำรวจไว้เมื่อปีค.ศ. 2011 พบว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นแล้ว ประเทศไทยนับเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้ต้องขังหญิงมากเป็นอันดับที่ 4 คือ 29,175 คน จากจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด 224,292 คน รองลงมาจากอันดับที่ 1 คือ สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีอยู่ 201,200 คน สาธารณประชาชนจีน 84,600 คน และบราซิล 35,596 คน ตามลำดับ[1] นอกจากนี้ เมื่อเทียบสัดส่วนของผู้ต้องขังหญิงกับผู้ต้องขังชายแล้ว ประเทศไทยก็มีสถิติผู้ต้องขังหญิงเป็นสัดส่วนกับผู้ต้องขังชายสูงถึงร้อยละ 14.6 ของจำนวนประชากรผู้ต้องขังทั้งหมด ซึ่งจัดเป็นอันดับ 7 ของโลก ต่อจากประเทศมัลดีฟ เขตปกครองพิเศษฮ่องกง บาร์เรน อันดอร่า มาเก๊า และกาตาร์ซึ่งมีสถิติผู้ต้องขังหญิงคิดเป็นร้อยละสูงเป็นอันดับที่ 1 ถึง 6 ตามลำดับ

 

จำนวนผู้ต้องขังหญิงที่มีจำนวนมากนี้ เป็นผลมาจากอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ต้องขังหญิงในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา ที่มีผู้ต้องขังหญิงต้องโทษจำคุกเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการและการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่ออาคารสถานที่ และสภาพทางกายภาพของเรือนจำส่วนใหญ่ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับผู้ต้องขังชาย ที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของเรือนจำมาโดยตลอด โดยเฉพาะเรือนจำในต่างจังหวัดหลายแห่งที่เป็นเรือนจำชายแต่เดิมจะมีการแบ่งเป็นแดนเล็กๆ สำหรับควบคุมผู้ต้องขังหญิง ความจุประมาณ 30 – 60 คน แต่ปัจจุบันจำนวนผู้ต้องขังหญิงได้เพิ่มสูงขึ้นถึง 200 – 300 คน ทำให้สถานที่เดิมไม่สามารถรองรับผู้ต้องขังหญิงที่เพิ่มขึ้นได้อย่างเพียงพอ และก่อให้เกิดผลกระทบในการอบรมฟื้นฟูและการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง แม้จะมีการก่อสร้างทัณฑสถานหญิงเพิ่มเติมหรือการสร้างแดนหญิงที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมาเฉพาะแต่ก็ยังไม่เพียงพอ

 

การที่ผู้ต้องขังหญิงต้องถูกควบคุมตัวในสถานที่ที่มีความแออัดยัดเยียดและออกแบบมาเพื่อผู้ต้องขังชายทำให้เกิดปัญหาหลายประการ โดยเฉพาะการขาดโอกาสในการเข้าถึงโปรแกรมการศึกษา การฝึกวิชาชีพ การอบรมฟื้นฟูทางจิตใจและศาสนา การเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย ซึ่งต่างจากผู้ต้องขังชายที่มีสถานที่จัดเป็นแดนการศึกษา แดนฝึกวิชาชีพ โรงเลี้ยงอาหารและแดนกลางในการออกกำลังกายและทำกิจกรรมต่างๆ ทำให้การอบรมแก้ไขฟื้นฟูผู้ต้องขังหญิง ซึ่งอยู่ในเรือนจำชายทำได้อย่างจำกัด ปัจจุบันในประเทศไทยมีแดนหญิงที่อยู่ในเรือนจำชาย 68 แห่ง มีแดนผู้ต้องขังหญิงที่มีอาคารสถานที่สมบูรณ์ 9 แห่ง และ      ทัณฑสถานหญิง 8 แห่ง กระจายอยู่ตามภาคต่างๆทั่วประเทศ

 

ด้วยเหตุที่มีทัณฑสถานหญิงกระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ เพื่อต้องการให้ผู้ต้องขังหญิงได้รับการปฏิบัติที่ครบถ้วนสมบูรณ์ดังเช่นการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังชาย ก็ทำให้เกิดปัญหาผู้ต้องขังหญิงต้องถูกส่งตัวมาคุมขังห่างไกลจากบ้านและครอบครัว ทำให้ผู้ต้องขังหญิงมีความยากลำบากที่จะติดต่อกับครอบครัวและบุตร เนื่องจากต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ส่งผลกระทบในทางลบต่อผู้ต้องขังหญิงและสัมพันธภาพในครอบครัว โดยเฉพาะต่อพัฒนาการของเด็กเล็ก นอกจากนี้ สำหรับผู้ต้องขังหญิงที่ตั้งครรภ์หรือมีเด็กติดผู้ต้องขังเข้ามาในเรือนจำจึงไม่อยากที่จะห่างไกลบุตร ทำให้ทัณฑสถานฯ ต้องจัดโปรแกรมในการดูแลเด็กติดผู้ต้องขัง รวมทั้งแม่และเด็กพร้อมกันไปด้วย

 

ในขณะที่ผู้ต้องขังหญิงถูกควบคุมอยู่ด้วยความยากลำบาก เจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมซึ่งเป็นผู้หญิงก็ประสบกับปัญหาความยากลำบากในการควบคุมเช่นกัน เพราะในขณะที่จำนวนผู้ต้องขังหญิงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่จำนวนเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์หญิงยังคงอัตราเดิม เพราะถูกจำกัดการเพิ่มอัตรากำลังของส่วนราชการ ที่สำคัญเจ้าหน้าที่ที่เป็นผู้หญิงในเรือนจำมิได้ทำหน้าที่ในการควบคุมผู้ต้องขังหญิงโดยตรง แต่เกือบร้อยละ 70 จะทำหน้าที่บนตึกที่ทำการ เพื่อทำงานธุรการ การเงินการบัญชี หรืองานเอกสารอื่นๆ เพื่อทดแทนเจ้าหน้าที่ชายที่ขาดแคลนและเข้าไปปฏิบัติงานในเรือนจำ ทำให้คงเหลือเจ้าหน้าที่หญิงปฏิบัติหน้าที่ภายในแดนหญิงในเรือนจำชายเพียง 2 – 4 คน ต่อผู้ต้องขังหญิงนับร้อยคน และหากเป็นแดนคุมขังผู้ต้องขังหญิงที่มีขนาดใหญ่ก็จะมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 7 – 8 คน ต่อผู้ต้องขังกว่า 700 – 800 คน สถานการณ์เช่นนี้ ทำให้เจ้าหน้าที่หญิงต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความตรากตรำ ยากลำบาก และเสี่ยงภัยกับการติดโรคระบาด และทำให้เจ้าหน้าที่หมดโอกาสในการทำงานด้านการพัฒนาผู้ต้องขัง หากแต่ใช้เวลาในการทำให้กิจกรรมของผู้ต้องขังหญิงในแต่ละวัน ผ่านพ้นไปด้วยดี การจัดกิจกรรมหรือโครงการเพื่อการพัฒนาผู้ต้องขังหญิงเป็นพิเศษ นอกเหนือจากงานประจำจะต้องอาศัยเจ้าหน้าที่หรือบุคคลภายนอกเข้าไปช่วยดำเนินการ

 

การที่ประเทศไทย มีผู้ต้องขังหญิง เป็นจำนวนมากและเพิ่มขึ้นทุกปีก็เนื่องมาจากการที่ผู้ต้องขังหญิงดังกล่าว ถูกชักจูงให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด และตกเป็นผู้ต้องขัง โดยในปัจจุบัน มีผู้ต้องขังหญิงในคดียาเสพติด ถึงร้อยละ 82 ของผู้ต้องขังหญิงทั้งหมด ในขณะที่ผู้ต้องขังในเรือนจำของประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นผู้ต้องขังในคดียาเสพติดถึงร้อยละ 65 ผู้ต้องขังหญิงเหล่านี้ ส่วนใหญ่กระทำไปด้วยความจำเป็นและถูกชักนำให้เข้าสู่วงจรของการกระทำผิดในคดียาเสพติด ผู้ต้องขังหญิงเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นผู้กระทำผิดครั้งแรก และเป็นผู้ขายรายย่อย จึงเป็นทั้ง “ผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ”

 
 
ปัจจัยอีกประการหนึ่งที่ทำให้มีผู้ต้องขังหญิงอยู่ในเรือนจำของประเทศไทยจำนวนมาก ก็เนื่องมาจากที่กระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยยังขาดมาตรการทางเลือกแทนการจำคุกมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นผลให้ผู้ต้องหาในคดีต่างๆส่วนใหญ่ ถูกส่งเข้าเรือนจำเหมือนกันหมด และหากจะมีกฎหมายเปิดโอกาสให้สามารถใช้มาตรการทางเลือกแทนการจำคุก เช่น มาตรการคุมประพฤติ หรือการควบคุมตัว ณ สถานที่อื่นที่มิใช่เรือนจำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 89 วรรค 1 และวรรค 2 ก็มิได้มีการนำมาใช้ปฏิบัติอย่างจริงจัง จึงเป็นผลให้มีผู้ต้องขังหญิงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี

 

การขาดมาตรการทางเลือกแทนการใช้โทษจำคุกในเรือนจำ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่สังคมในภาพรวมและบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมยังขาดการตระหนักถึงความจำเป็นในการที่จะต้องให้การดูแลผู้ต้องขังหญิงเป็นพิเศษ อันเนื่องมาจากข้อจำกัดด้านสถานที่ควบคุมและความแตกต่างทางกายภาพ ตลอดจนบทบาททางสังคมของหญิงและชาย โดยเฉพาะผู้ต้องขังหญิงที่ตั้งครรภ์และผู้ต้องขังที่ต้องเลี้ยงดูบุตรในเรือนจำ ที่ทำให้ผู้ต้องขังหญิงได้รับการปฏิบัติที่ต่ำกว่ามาตรฐานในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังชาย อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทย นับเป็นพระกรุณาธิคุณอย่างยิ่งที่พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ที่ได้ทรงริเริ่มโครงการ “กำลังใจ” เพื่อประทานความช่วยเหลือและพัฒนาแก่ผู้ต้องขังหญิงระหว่างการต้องโทษจำคุกและการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย โดยขยายไปตามเรือนจำและทัณฑสถานหญิงต่างๆทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังได้ทรงริเริ่มโครงการ ELFI หรือ Enhancing Lives of Female Inmates เพื่อยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงเป็นโครงการระดับนานาชาติที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงทั่วโลกที่ยังขาดแคลนอยู่ เนื่องจากข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังของสหประชาขาติที่มีมาแต่เดิมนั้น ใช้มากว่า 50 ปีแล้ว จึงไม่เอื้อต่อการนำมาประยุกต์ใช้ในสภาพสังคมปัจจุบัน อีกทั้งไม่มีข้อกำหนดเฉพาะที่จะตอบสนองต่อความจำเป็นขั้นพื้นฐานของผู้ต้องขังหญิงอย่างเพียงพอ ดังนั้น จึงได้ทรงผลักดันให้มีข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ ซึ่งต่อมาในที่สุด ที่ประชุมสมัชชาสหประชาขาติ สมัยที่ 65 ก็ได้ให้ความเห็นชอบ ข้อกำหนดสหประชาขาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ และมาตรฐานที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง หรือ “ข้อกำหนดกรุงเทพ” ซึ่งเป็นการตั้งชื่อตามสถานที่ที่มีการจัดทำข้อกำหนดดังกล่าวขึ้น โดยมีข้อกำหนดทั้งหมด 70 ข้อ

 

ข้อกำหนดกรุงเทพนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะกำหนดบรรทัดฐานระหว่างประเทศในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงที่อยู่ในเรือนจำ โดยวางข้อกำหนดทั่วไปเกี่ยวกับการบริหารจัดการเรือนจำโดยทั่วไปในการดูแลและปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง นอกจากนี้ยังได้วางข้อกำหนดที่ใช้กับผู้ต้องลักษณะพิเศษ โดยมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการจำแนกลักษณะผู้ต้องขัง การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงประเภทคดีต่างๆ เช่น ผู้ต้องขังหญิงหรือผู้ต้องขังที่เป็นชนกลุ่มน้อย สำหรับกรณีของมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิงนั้น มีทั้งสิ้น 10 ข้อ ตั้งแต่ข้อที่ 57 – 66 โดยเป็นมาตรการที่ใช้กับผู้กระทำผิดหญิงที่กระทำความผิดไม่รุนแรง หรือมีปัจจัยทางกายภาพที่ไม่เหมาะสมกับการถูกคุมขัง เช่น เยาวชนหญิง หรือผู้กระทำผิดหญิงที่ตั้งครรภ์

 

ส่วนสุดท้ายของข้อกำหนดกรุงเทพ จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการวิจัย การวางแผน การประเมินผล และการสร้างการตระหนักต่อสาธารณชน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในการที่จะทำให้สาธารณชนรับทราบและยอมรับรวมทั้งเข้ามามีส่วนร่วมในการรองรับการกลับสู่สังคมของผู้กระทำผิดหรือผู้ต้องขังหญิง ในส่วนสุดท้ายนี้ มีข้อกำหนดอยู่ 4 ข้อ คือข้อที่ 67 – 70

 

อย่างไรก็ตาม การผลักดันให้มีข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของสหประชาชาติ สำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงเป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น ประเทศไทยในฐานะเป็นประเทศผลักดันข้อกำหนดขึ้น จะต้องแสดงบทบาทนำอีกครั้งในการอนุวัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดกรุงเทพดังกล่าว โดยกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ เพื่อให้มีการนำข้อกำหนดไปสู่การปฎิบัติ โดยเฉพาะการปรับปรุงมาตรฐานในส่วนของประเทศไทยเอง และยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืนต่อไป ในการนี้ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา จึงได้ทรงผลักดันให้มีการจัดตั้งสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (Thailand Institute of Justice) หรือ TIJ ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการอนุวัติข้อกำหนดกรุงเทพ (Bangkok Rules) และการวิจัยและเผยแพร่มาตรฐานและบรรทัดฐานของสหประชาชาติเกี่ยวกับการดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางอาญา หลักนิติธรรมและสิทธิมนุษยชน ดังนั้นเป็นที่เชื่อมั่นได้ว่า ผู้ต้องขังหญิงในประเทศไทยและในประเทศต่างๆจะได้รับการปฏิบัติที่ดีและสมดุลขึ้น โดยมีสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทยเป็นสถาบันที่ช่วยผลักดันและมีบทบาทอย่างสูงในเวทีระหว่างประเทศในการผลักดันให้มีการส่งเสริมและปฏิบัติตามมาตรฐานและข้อกำหนดของสหประชาชาติ โดยเฉพาะการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ต้องขังหญิงได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสม และสมดุลมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

----------------------------------



[1] ข้อมูลจาก Wamsley, R. (2011) World Female Imprisonment List (2nd edition), International Centre for Prison Studies.

 

หมายเหตุ ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

หมายเลขบันทึก: 503438เขียนเมื่อ 25 กันยายน 2012 12:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 16:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท