บทวิเคราะห์กรณีนางเรียน เวียนวัฒนชัย: คนเวียดนามที่เกิดในประเทศไทย


ข้อจำกัด -- การวิเคราะห์ครั้งนี้พิจารณาจากข้อมูลเท่าที่ปรากฏในใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของนางเรียน เวียนวัฒนชัย เลขที่ ๑๓๑/๒๔๘๘ ลงวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๘๘ ออกให้โดย สภ.อ.เมืองนครพนม ซึ่งระบุว่านางเรียน เวียนวัฒนชัย สัญชาติญวน เชื้อชาติญวน เกิดวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๔๗๖ ที่ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม

"นางเรียน เวียนวัฒนชัย ในวัย 79 ปี"


บทวิเคราะห์

๑. เรื่องการจัดทำใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว

เมื่อพิจารณาจากวันที่ออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของนางเรียนฯ ที่ระบุวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๘๘ การออกเอกสารดังกล่าวน่าจะเป็นการปฏิบัติตามมาตรา ๖ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ.๒๔๗๙ (ฉบับแรกของไทย) ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๔๘๐ มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๘๐ (พ้น ๙๐วันนับแต่วันประกาศฯ) ถึงวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๔๙๓ โดยมาตรา ๖ กำหนดให้คนต่างด้าวที่มีอายุต่ำกว่า ๑๒ ปีบริบูรณ์ ซึ่งอยู่ในราชอาณาจักรไทยก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เมื่ออายุครบ ๑๒ ปีบริบูรณ์ ให้ไปขอใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวภายใน ๙๐ วันนับแต่วันที่มีอายุครบ ๑๒ ปีบริบูรณ์  

นางเรียนเกิดปี พ.ศ.๒๔๗๖ อายุจะครบ ๑๒ ปีในปี พ.ศ.๒๔๘๘ ซึ่งสอดคล้องกับปีที่ออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว (วันที่ ๑ มกราคม ๒๔๘๘) แต่มีข้อสังเกตว่าถ้านับอายุบริบูรณ์ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ นางเรียนจะมีอายุ ๑๒ ปีบริบูรณ์ในวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๔๘๘ และจะต้องขอมีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวภายใน ๙๐ วันซึ่งจะครบกำหนดวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๔๘๙ ดังนั้น การจัดทำใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของ สภ.อ.นครพนม ดังกล่าว จึงเป็นการดำเนินการก่อนระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด (กระทำการเกินกว่ากฎหมายกำหนด)  เรื่องนี้จะมีผลอะไรหรือไม่?

อย่างไรก็ดี เมื่อมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.การทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ.๒๔๙๓ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๔๙๓ จนถึงปัจจุบัน และเป็นเหตุให้ยกเลิก พ.ร.บ.การทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ.๒๔๗๙ โดยกฎหมายฉบับนี้ในมาตรา ๕ ได้กำหนดให้คนต่างด้าวที่มีอายุตั้งแต่ ๑๒ ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ซึ่งอยู่ในราชอาณาจักรไทย ต้องมีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว และมาตรา ๒๔ ของกฎหมายฉบับเดียวกันก็ได้รับรองสถานะของใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวที่ออกให้ตามกฎหมายฉบับเดิมด้วย  จึงไม่น่าจะมีประเด็นที่ต้องพิจารณาในเรื่องที่มาและความชอบด้วยกฎหมายของใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของนางเรียน  เวียนวัฒนชัย

ประเด็นสำคัญ ได้แก่ นางเรียนฯ มีเจตนาที่จะถือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวหรือไม่ ซึ่งจะมีผลต่อการได้หรือเสียสัญชาติไทยตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ  เมื่อพิจารณาแล้วจะพบว่า ในการขอมีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๘ นั้น ผู้ปกครองของนางเรียน เป็นผู้ยื่นคำขอแทนเนื่องจากนางเรียนฯ มีอายุเพียง ๑๒ ปี จึงยังไม่อาจวิเคราะห์เจตนาที่แท้จริงได้ แต่เมื่อพิจารณาการต่ออายุการใช้ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวจะเห็นว่ามีการต่ออายุใบสำคัญฯอย่างต่อเนื่อง แม้แต่การแจ้งเปลี่ยนรูปถ่ายหรือแจ้งย้ายที่อยู่ในใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว นางเรียนฯ เป็นผู้ยื่นคำขอดำเนินการเรื่อยมา  จากการกระทำดังกล่าวจึงน่าจะสรุปได้ว่านางเรียนฯ มีเจตนาที่จะมีและใช้ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว


๒. เรื่องเกี่ยวกับสัญชาติ

นางเรียน  เวียนวัฒนชัย  เกิดที่จังหวัดนครพนม ประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๔๗๖ โดยมีบิดาและมารดาเป็นคนเวียดนาม (ญวน)  ซึ่งยังไม่ปรากฏข้อมูลอันเป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานะของบิดามารดาว่าเป็นคนเวียดนามที่เกิดในประเทศไทยหรือเป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ บิดามารดาอยู่กินเป็นสามีภริยากันตั้งแต่ปี พ.ศ.ใด จดทะเบียนสมรสกันหรือไม่ ประเด็นเหล่านี้ล้วนมีความสำคัญต่อการวินิจฉัยสัญชาติของบุคคล  ดังนั้นการพิจารณาสัญชาติของนางเรียนฯ ในที่นี้ จึงเป็นการพิจารณาภายใต้ข้อจำกัดเรื่องข้อมูลตามที่เกริ่นนำไว้แล้วข้างต้น    

กฎหมายว่าด้วยสัญชาติที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่นางเรียน  เวียนวัฒนชัย เกิดได้แก่ พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. ๒๔๕๖ ซึ่งมีผลใช้บังคับถึงวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๕ โดยมาตรา ๓ (๓) ของกฎหมายฉบับนี้กำหนดให้คนที่เกิดในพระราชอาณาจักรสยามเป็นคนไทย ดังนั้น ไม่ว่าบิดามารดาของนางเรียนฯ จะเป็นคนเวียดนามที่เข้ามาในประเทศไทยโดยชอบด้วยกฎหมายว่าด้วย คนเข้าเมืองหรือไม่ นางเรียนฯ ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตั้งแต่วันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๔๗๖

เมื่อนางเรียนฯ ได้รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๘๘ นางเรียนฯ จะเสียสัญชาติไทยหรือไม่ ปรากฏว่าบทบัญญัติตาม พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. ๒๔๕๖ ไม่ได้กล่าวถึงคนที่ได้รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวว่าจะมีผลต่อการเสียสัญชาติไทยหรือไม่ ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะ พ.ร.บ.การทะเบียนคนต่างด้าว เกิดขึ้นภายหลังมีกฎหมายว่าด้วยสัญชาติแล้ว ๒๓ ปี ดังนั้น นางเรียน  เวียนวัฒนชัย  จึงยังคงเป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิดจนถึงวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๕ ก่อนที่จะมีกฎหมายว่าด้วยสัญชาติฉบับใหม่

ต่อมาเมื่อมีการยกเลิก พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๔๕๖ และประกาศใช้ พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๔๙๕ แทน มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๕  กฎหมายฉบับนี้จะมีผลกระทบต่อการมีสัญชาติไทยของนางเรียนฯ หรือไม่ อย่างไร  ก็พบว่าบทบัญญัติของ พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๔๙๕ มาตรา ๗ (๓) กำหนดให้คนที่เกิดในราชอาณาจักรไทยย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด ประกอบกับกฎหมายฉบับนี้ก็ไม่ได้กล่าวถึงคนที่ได้รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวว่าจะมีผลต่อการเสียสัญชาติไทยหรือไม่  ดังนั้น ในระยะเริ่มแรกของการใช้กฎหมายฉบับนี้ นอกจากกฎหมายจะรับรองการได้สัญชาติไทยของนางเรียนฯ แล้ว ยังรับรองความเป็นผู้มีสัญชาติไทยของบุคคลดังกล่าวต่อไป จนกระทั่งมีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๔๙๕ โดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๔๙๖ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๖ ได้มีการบัญญัติเพิ่มมาตรา ๑๖ ทวิ กำหนดให้คนที่มีสัญชาติไทยเพราะเกิดในราชอาณาจักรไทยแต่บิดาเป็นคนต่างด้าว ถ้าได้รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ไม่ว่าจะได้รับก่อนหรือหลัง พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ ให้ขาดจากสัญชาติไทย ทำให้นางเรียนฯ ซึ่งเกิดในประเทศไทยและมีบิดาเป็นคนเวียดนามต้องเสียสัญชาติไทยตามมาตรา ๑๖ ทวิ ตั้งแต่วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๖ เป็นต้นไป

มาตรา ๑๖ ทวิ ได้ถูกยกเลิกโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๙ ตั้งแต่วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๐ โดยไม่ได้กำหนดข้อความใหม่ขึ้นมาแทน ประกอบกับ พ.ร.บ.สัญชาติ ฉบับนี้ได้แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๗ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๔๙๕ ซึ่งถูกแก้ไขโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๔๙๖ อันเป็นบทบัญญัติที่ว่าด้วยการได้สัญชาติไทยโดยการเกิด โดยมาตรา ๗ (๓) ที่แก้ไขใหม่ กำหนดให้คนเกิดในราชอาณาจักรไทยย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด ดังนั้น นางเรียนฯ จึงได้สัญชาติไทยโดยการเกิดกลับคืนมาด้วยผลของ พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๔๙๙ ซึ่งประเด็นนี้เคยมีคำพิพากษาศาลฎีการองรับการวินิจฉัยไว้หลายฎีกา อาทิ ฎีกาที่ ๔๔๓/๒๕๐๒  ฎีกาที่ ๕๕๘/๒๕๐๖  ฎีกาที่ ๑๒๐๒/๒๕๑๑  ฎีกาที่ ๒๗๘/๒๕๑๘ เป็นต้น โดยสรุปนางเรียนฯ ได้สัญชาติไทยกลับคืนมาอีกครั้งตั้งแต่วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๐ จนถึงวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๐๘ ซึ่งเป็นวันที่ พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๔๙๕ รวมถึงฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ยกถูกเลิกโดย พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘

พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ มีบทบัญญัติที่กำหนดให้ผู้ซึ่งมีสัญชาติไทยเพราะเกิดในราชอาณาจักรไทยโดยมีบิดาเป็นคนต่างด้าว ถ้าได้รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวแล้วให้เสียสัญชาติไทย ปรากฏอยู่ตามมาตรา ๒๑ ซึ่งบทบัญญัติมาตรานี้น่าจะส่งผลต่อการมีสัญชาติไทยของนางเรียน  เวียนวัฒนชัย ที่อาจจะต้องเสียสัญชาติไทยโดยผลของ พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๐๘ เป็นต้นมา และถึงแม้ว่ามาตรา ๒๑ นี้จะถูกแก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๙ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ โดยกำหนดให้การเสียสัญชาติไทยอันเนื่องมาจากการเข้าถือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว มีผลกับผู้มีสัญชาติไทยซึ่งเกิดในขณะที่บิดาเป็นคนต่างด้าวและอาจถือสัญชาติของบิดาได้ตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติของบิดา แต่การแก้ไขดังกล่าวก็ไม่น่าจะมีผลในทางบวกต่อการมีสัญชาติไทยของนางเรียนฯ  จึงยังจะสรุปได้ว่านางเรียนฯ น่าจะเสียสัญชาติไทยตามมาตรา ๒๑ เนื่องจากการถือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว 

กรณีการเสียสัญชาติไทยของนางเรียนฯ โดยผลของมาตรา ๒๑ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ นั้น มีประเด็นที่จะต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ เนื่องจากมาตรา ๕ แห่ง พ.ร.บ.ฉบับเดียวกันนี้กำหนดว่าการเสียสัญชาติไทยตามหมวด ๒ (มาตรา ๒๑ อยู่ในหมวดนี้) มีผลต่อเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลเป็นการเฉพาะตัว ซึ่งตามฎีกาที่ ๑๕๐๗/๒๕๒๒ ศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ว่า..มาตรา ๕ เป็นบทบัญญัติในเรื่องผลของการเสียสัญชาติไทยว่ามีผลเมื่อใด เป็นคนละเรื่องกับการเสียสัญชาติไทยอันจะต้องพิจารณาตามมาตรา ๒๑ เมื่อโจทก์ได้รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวแล้ว โจทก์จึงต้องเสียสัญชาติไทยแต่การเสียสัญชาติไทยของโจทก์จะมีผลต่อเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว.. คำถามที่เกิดขึ้นก็คือนางเรียนฯ เสียสัญชาติไทยแล้วจริงหรือ เพราะปัจจุบันยังไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานที่รักษาการตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติได้ดำเนินการประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้นางเรียนฯ เสียสัญชาติไทยแต่อย่างไร 

ถ้าเปรียบเทียบกับการได้สัญชาติไทยของหญิงต่างด้าวที่ขอมีสัญชาติไทยตามสามีคนไทย ตามมาตรา ๙ หรือการแปลงสัญชาติเป็นไทยตามมาตรา ๑๒ จะเห็นขั้นตอนการปฏิบัติที่ค่อนข้างชัดเจน กล่าวคือ เมื่อคำร้องผ่านกระบวนการพิจารณาสั่งให้สัญชาติไทยโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแล้ว ย่อมถือว่าบุคคลนั้นได้รับสัญชาติไทยแต่การจะใช้สิทธิในสัญชาติไทยของผู้นั้นจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้มีประกาศราชกิจจานุเบกษาแล้ว ซึ่งกระบวนการประกาศในราชกิจจาฯ เป็นงานที่เจ้าหน้าที่จะต้องดำเนินการในลักษณะของงานประจำ  แต่การเสียสัญชาติไทยของคนที่ได้รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว กลับไม่มีการปฏิบัติในลักษณะเดียวกัน จึงเกือบไม่พบเลยว่าคนสัญชาติไทยที่ได้รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวจะถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้เสียสัญชาติไทย เมื่อเป็นเช่นนี้จะพิจารณากันอย่างไร ..นางเรียนฯ จะอยู่ในสถานะอะไร..

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นสำคัญที่จะละเลยมิได้ และในการพิจารณาประเด็นดังกล่าวจำเป็นต้องใช้พยานหลักฐานซึ่งรวมถึงพยานแวดล้อมต่างๆ  และต้องใช้ดุลพินิจที่เที่ยงธรรมของเจ้าหน้าที่ผู้รักษาการตามกฎหมาย และอาจจะต้องขอให้ศาลเป็นผู้พิจารณา นั่นก็คือประเด็นเรื่องเจตนาในการขอรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว เพราะถ้าการได้มาซึ่งใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวมิได้เกิดจากความประสงค์โดยสุจริตหรือเจตนาต้องการได้รับเอกสารดังกล่าวของผู้ที่มีชื่อเป็นเจ้าของใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ก็จะมีผลปฏิเสธการถูกบังคับตามกฎหมายให้ต้องเสียสัญชาติไทย ซึ่งประเด็นนี้เคยมีคำพิพากษาศาลฎีการองรับการวินิจฉัยไว้หลายฎีกา อาทิ ฎีกาที่ ๑๔๕๒/๒๔๙๘  ฎีกาที่ ๑๕๗๖-๑๕๙๐/๒๔๙๘ ฎีกาที่ ๑๙๓๘-๑๙๔๕/๒๔๙๙ เป็นต้น โดยสรุป ว่าการรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวโดยมิได้สมัครใจเข้าถือสัญชาติอื่นหรือสละสัญชาติไทย หรือเป็นการปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าพนักงานหรือถูกราชการบังคับให้ขอรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว มิใช่เป็นการรับใบสำคัญฯ โดยสมัครใจ ย่อมไม่ทำให้ขาดจากสัญชาติไทย  แต่สิ่งที่ยากคือการพิสูจน์เจตนาในลักษณะดังกล่าวเพราะจะต้องแสดงหลักฐานให้ปรากฏอย่างชัดเจนเพื่อโต้แย้งและหักล้างหลักฐานที่เป็นเอกสารราชการ

อย่างไรก็ตาม การพิจารณาเรื่องสัญชาติของนางเรียน  เวียนวัฒนชัย ยังจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลซึ่งเป็นข้อเท็จจริงอีกหลายอย่างดังที่กล่าวไว้บ้างแล้ว เพื่อให้เกิดความถูกต้องมากที่สุดและทำให้เกิดประเด็นโต้แย้งน้อยที่สุด ซึ่งจะมีความเป็นไปได้หลายประการ เช่น ถ้าปรากฏว่ามารดาของนางเรียนฯ เป็นคนเวียดนามที่เกิดในประเทศไทย นางเรียนฯ จะได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักสืบสายโลหิตจากมารดาซึ่งเป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักดินแดน ประกอบกับกฎหมายว่าด้วยสัญชาติของประเทศไทยมิได้ห้ามบุคคลถือสัญชาติมากกว่าหนึ่งสัญชาติ การโต้แย้งเรื่องของการรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวโดยขาดเจตนา ก็ดูจะมีช่องทางมากขึ้น???

หมายเลขบันทึก: 503378เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2012 22:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 16:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท