ผู้ร้ายตัวจริง


แทนที่จะสู้กับใครต่อใคร เราควรหันมาสู้กับอกุศลธรรมในตัวเราดีกว่า

ได้รับฟอร์เวิร์ดเมล์มา เห็นว่ามีข้อคิดที่ดี จึงนำมาเผยแพร่ต่อค่ะ

ดังนี้ค่ะ

 

ทุกปีในสหรัฐอเมริกาจะมีการประกวดแข่งขันสะกดคำโดยจำกัดเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี งานนี้เป็นงานระดับชาติ มีเด็กมาร่วมแข่งขันถึง 10 ล้านคน และมีการถ่ายทอดสดทั่วประเทศ

ในรอบสุดท้ายในปีนั้นผู้ที่ฝ่ามาถึงรอบสุดท้ายมีเพียง 13 คน ซามีร์ ปาเตล วัย 12 ขวบ ซึ่งปีที่แล้วได้อันดับ 2 เป็นตัวเต็งอันดับ 1

ส่วนอันดับ 2 คือ ราชีพ ทาริโกพูลา ซึ่งได้ที่ 4 เมื่อปีที่แล้ว

ชัยชนะน่าจะเป็นของซามีร์ แต่แล้วเขาก็พลาดเมื่อเจอคำว่า eramacausis (Er`e`ma`cau´sis n. =A gradual oxidation from exposure to air and moisture, as in the decay of old trees or of dead animals.) 


การตกรอบของซามีร์ทำให้ราชีพเป็นตัวเต็งอันดับ 1

ทันทีมีนักข่าวคนหนึ่งถามราชีพว่า ดีใจไหมที่คู่ปรับตกรอบไป

คำตอบของราชีพก็คือ 
"ไม่ครับ นี่เป็นการแข่งขันกับคำ ไม่ใช่กับคน ครับ"


ไม่ทันขาดคำ เสียงตบมือก็ดังก้องห้องประชุมคำตอบของ
ราชีพคงทำให้ผู้ใหญ่หลายคนได้คิด

ใช่หรือไม่ว่าเวลาเราแข่งขันเรื่องอะไรก็ตามเรามักจะมองเห็นผู้ร่วมแข่งขัน เป็นปรปักษ์หรือฝ่ายตรงข้าม ในใจจึงอยากให้เขามีอันเป็นไป เพื่อเราจะได้เป็นผู้ชนะแต่ผู้เดียว หารู้ไม่ว่าลึกๆ แล้วความอิจฉาและพยาบาทกำลังก่อตัวขึ้น ดังนั้น แข่งไปจึงทุกข์ไป แข่งเสร็จแล้วก็ยังทุกข์อีก
ที่เห็นคนอื่นเก่งกว่าตน

แต่สำหรับราชีพ แม้การแข่งขันจะดุเดือดอย่างไร เขาไม่ได้มองไปที่คน แต่มองไปที่คำ สำหรับเขาความท้าทาย อยู่ที่การต่อสู้กับคำยากๆ คำยากทุกคำคือปริศนาที่เขาต้องถอดออกมาเป็นตัวๆ ให้ได้ เมื่อใจไปจดจ่ออยู่ที่คำเหล่านี้ เขาจึงมิได้ยินดียินร้ายที่ผู้ร่วมแข่งขันจะไปหรืออยู่

แม้ว่าในที่สุดราชีพจะได้เป็นที่ 4 (เพราะแพ้คำว่า Hiligenschein)

(Hei·li·gen·schein    [hahy-li-guhn-shahyn] n, plural =a ring of light around the shadow cast by a person's head, especially on a dewy, sunlit lawn, caused by reflection and diffraction of light rays; halo.)

แต่อย่างน้อยเขาก็ไม่ได้ทุกข์เพราะเกลียด หรืออิจฉาคนที่เก่งกว่าเขา คงมีแต่ความมุ่งมั่นที่จะศึกษาค้นคว้าให้หนักขึ้นเพื่อพิชิตคำยากๆ ในปีหน้า

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าปีหน้าเขาต้องเก่งกว่าปีนี้แน่ มองในแง่นี้ แม้เขาจะ "แพ้" แต่เขาไม่ขาดทุนเลย กลับมีกำไรด้วยซ้ำ

มุมมองของราชีพนั้นไม่ได้เป็นประโยชน์เฉพาะในยามแข่งขันเท่านั้น แต่ยังมีคุณค่าสำหรับการดำเนินชีวิต และสัมพันธ์กับผู้คนด้วย

ใช่หรือไม่ว่าในชีวิตประจำวันเมื่อเราถูกวิพากษ์วิจารณ์ ใจเรามักจะพุ่งตรงไปยังคนวิพากษ์วิจารณ์ แต่ไม่ค่อยสนใจคำวิพากษ์วิจารณ์เท่าใดนัก

ดังนั้น แม้ว่าคำวิพากษ์วิจารณ์จะถูกต้องให้แง่คิดที่ดีเพียงใดก็ตาม แต่เราไม่สนใจที่จะไตร่ตรองเสียแล้ว เพราะใจนั้นเต็มไปด้วยความเกลียดและโกรธคนที่วิพากษ์วิจารณ์เรา

ถ้าเราหันมาใส่ใจกับคำวิพากษ์วิจารณ์กันให้มากขึ้น และสนใจให้น้อยลงกับการตอบโต้เพื่อเอาชนะคะคานคนที่วิพากษ์วิจารณ์ นอกจากเราจะทุกข์หรือโกรธเกลียดน้อยลงแล้ว เรายังมีโอกาสที่จะได้ประโยชน์จากคำวิพากษ์วิจารณ์นั้นด้วย

โดยเฉพาะหากเป็นคำวิพากษ์วิจารณ์ที่ถูกต้อง

ด้วยท่าทีเช่นนี้ เราจะได้กำไรสถานเดียว

เวลาทำงานก็เช่นกัน ถ้าเรามองว่านี้เป็นการต่อสู้ปลุกปล้ำกับงาน เราจะไม่เดือดร้อนที่คนอื่นทำได้ดีกว่าเรา ใครจะดีจะเก่งก็เป็นเรื่องของเขา เพราะในใจนั้นนึกอยู่เสมอว่า

"ฉันกำลังแข่งขันกับงาน ไม่ใช่แข่งขันกับคนอื่น"

นอกจากจะไม่อิจฉาเขาแล้ว ยังพยายามเรียนรู้จากเขาว่ามีวิธีการอย่างไร เพื่อเอาไปใช้ในการพิชิตงานที่กำลังทำอยู่ หรือทำให้งานนั้นดีขึ้น

มองให้ลึกลงไปแล้ว คนไม่ใช่คู่แข่งของเรา กิเลสตัณหา ความเห็นแก่ตัว หรือความหลงตนต่างหากที่เป็นคู่แข่งของเรา

 

แทนที่จะสู้กับใครต่อใคร เราควรหันมาสู้กับอกุศลธรรมในตัวเราดีกว่า

ที่แล้วมาเราต่อสู้กับใครต่อใครมากแล้ว แต่ไม่ได้ต่อสู้กับอกุศลธรรมเหล่านี้ เราจึงทุกข์ไม่เว้นแต่ละวัน



ถึงที่สุดแล้ว แม้แต่คนที่คิดร้ายต่อเรา เขาก็ไม่ได้เป็นศัตรูของเรา ความโกรธความเกลียด หรือความเห็นแก่ตัวในใจเขาต่างหาก ที่เป็นศัตรูของเรา สิ่งที่เราควรจัดการคือความชั่วร้ายในใจของเขา มิใช่จัดการตัวเขา

ด้วยวิธีนี้เท่านั้นที่เราจะปลอดภัยและมีชีวิตที่สงบสุขอย่างแท้จริง เพราะการขจัดศัตรูที่ดีที่สุดคือ เปลี่ยนเขามาเป็นมิตร

แล้วอะไรล่ะที่จะเปลี่ยนศัตรูมาเป็นมิตรได้ หากมิใช่การใช้ความดีเอาชนะใจเขา

 

(ขอขอบพระคุณ คุณหญิงชัชนี จาติกวนิช ที่กรุณาส่งอี-เมลที่มีค่าฉบับนี้ ซึ่งไม่ปรากฏนามเจ้าของมาให้และขออนุญาตนำมาเผยแพร่ต่อ
ขอขอบคุณท่านผู้เขียนที่อาจไม่รู้ตัวว่าได้กระทำสิ่งที่มีประโยชน์ยิ่งในยุค "ชิงชังกัน" เยี่ยงปัจจุบัน)

หมายเลขบันทึก: 503279เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2012 03:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2014 22:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

คล้ายกับที่ผมโพสต์ เรื่องทำบุญ ว่า เราทำที่ต้นน้ำ คือการสละออก ที่ใจเรา ไม่ใช่ไปทำที่ปลายน้ำ หวังบุญกุศลอะไรมากมาย เลือกพระอีกตะหาก

ที่น่าแปลกคือ เด็กต่างชาติมักชนะการแข่งขัน spelling bee นี้ เช่น อินเดีย จีน เวียตนาม ซึ่งน่าแปลกมาก แต่ก็ไม่น่าแปลกนักเพราะคนเอเชียมีความอดทนสูงกว่าคนคอเคเชี่ยน (พวกฝรั่ง)

ชอบอีกแล้วครับ....เตือนตนเองได้อย่างดีมากครับ...โดยเฉพาะยามให้ขั้น...พิจารณาความดีความชอบ....มีคนมาบ่นและน้อยใจให้ฟังเยอะมากครับ...หลายครั้งเป็นเพราะเราแข่งกับคน...แข่งกับเงิน มากกว่างานครับ

ขอบคุณค่ะ

สำหรับข้อคิดดีๆที่นำมาฝากกัน

ได้เพิ่มบันทึก อย่างไรจึงเรียก สัมมาทิฏฐิ อยากเชิญไปชมค่ะ

  • นั่นสินะ  ทุกวันนี้เรากำลังแข่งขันกับอะไร
  • อะไรคือคู่แข่งขันตัวจริงของเรา
  • ขอบคุณจ้าาาา
  • สาธุค่ะ
  • แค่ศัตรูภายในก็เหนื่อยจะแย่แล้วนะคะ ชนะอะไรก็ไม่สำคัญเท่าชนะกิเลศเราเอง
  • เรียบง่ายแต่งามอีกเช่นเคย ขอบคุณมากค่ะ
  • ระถึงถึงเสมอค่ะ 

Blank อ.ถาง เขียนบันทึกเร็วมาก ค้นหายากอยู่นะคะ เดี่ยวไปค้นอ่านค่ะ

คนเอเชียอดทนสูงกว่า แต่เราไม่ค่อยทำงานเป็นทีมนะคะ ความเห็นส่วนตัวค่ะ

Blank เราแข่งกับคน แข่งกับเงิน ไม่แข่งกับงาน

 

จริงที่สุดเลย ... คำคมวันนี้ ช่วงเลื่อนขั้นเงินเดือน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท