ไปดูระบบมอนเตสเซอรี่ที่โรงเรียนวัดบางแขม (ตอน 2)


เด็กที่นี่ส่วนใหญ่จะไม่ยอมนอน ทานอาหารกลางวันเสร็จก็จะไปหยิบอุปกรณ์มาปฏิบัติอย่างตั้งใจ
       12 ก.ย.คณะครูปฐมวัยและศึกษานิเทศก์ จาก สพท.นนทบุรี เขต 1  ร่วม 100 กว่าคน  ที่นำโดย อ.แสงเดือน(หัวหน้ากลุ่มนิเทศฯ) และ อ.โสพิศ(ศน.ปฐมวัย)  ไปดูการจัดการเรียนรู้ระบบมอนเตสเซอรี่ที่โรงเรียนต้นแบบ 2 โรงเรียน  คือโรงเรียนวัดบางแขม และ โรงเรียนวัดดอนเสาเอียด ซึ่งอยู่รอบนอกของอำเภอเมืองนครปฐม 
       เราต้องแยกกันเป็น 2 คณะ 
ผมกับ อ.โสภา
นำคณะไปดูที่โรงเรียนวัดบางแขม  ที่นั่น
 ผอ.ชัยรัตน์  รองฯประยงค์  คุณครูอำพัน  และคุณครูยุพดี  ได้เล่าพื้นฐานของโรงเรียนให้ฟังว่า  โรงเรียนเปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล - ป.6  นักเรียน 366 คน  ครู 15 คน  แต่ครูที่ดูแลระบบนี้ในปฐมวัยมีเพียง 2 คน คือ ครูอำพัน และครูยุพดี  ได้ไปอบรมระบบมอนเตสเซอรีและนำมาใช้ในโรงเรียนตั้งแต่ พ.ศ.2547 (ตามหลักการที่ได้เล่าเมื่อตอนที่แล้ว)
         เราได้เข้าไปดูสภาพจริงใน 2 ห้องเรียน  ภายในห้องดูเงียบเชียบ  ไม่มีเสียงเจี๊ยวจ๊าวของเด็กเหมือนโรงเรียนทั่วๆไป  มีเด็กที่ซุกซนตามประสาเด็กบ้าง  แต่เขาจะพูดกันเบาๆ  ไม่มีเสียงดุเสียงปรามจากคุณครู  เด็กแต่ละคนจะไปหยิบอุปกรณ์มอนเตสเซอรี่ตามที่ตนเองสนใจ  พร้อมผ้าปูผืนเล็กๆ สำหรับวางอุปกรณ์  แล้วต่างก้มหน้าก้มตาทำกิจกรรมตามกระบวนการ(ขั้นตอน)ของอุปกรณ์นั้นๆ  แต่ละคนต่างมีโลกของตนเอง  ไม่ไปก้าวก่ายรบกวนคนอื่น ซึ่งอุปกรณ์จะถูกจัดไว้อย่างเป็นลำดับขั้นตอนของการพัฒนานักเรียนในแต่ละด้านอย่างครอบคลุมพัฒนาการทุกเรื่อง  โดยมีอุปกรณ์ทั้งหมด 5 เรื่อง คือ  1)ชีวิตประจำวัน  2)ประสาทสัมผัส  3)คณิตศาสตร์  4)ภาษา  
5)ประสบการณ์   โดยแต่ละเรื่องมีอุปกรณ์หลายชุดมาก  เมื่อนักเรียนใช้อุปกรณ์เสร็จก็จะนำไปเก็บที่เดิมอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย
          ผมเห็นเด็กชั้นอนุบาล 2- 3 แต่ละคนทำกิจกรรมและประสบผลสำเร็จอย่างน่าทึ่ง
         ครูอำพันเล่าขั้นตอนการสอนให้ฟังว่า 
จะสอนเป็นรายบุคคล  จะไม่พูด  แต่จะวางอุปกรณ์บนผ้า  แล้วสบตาเด็ก  พร้อมทั้งสาธิตทุกขั้นตอนให้เด็กดู  แล้วให้ปฏิบัติตาม  เด็กทำผิดก็จะไม่บอก  แต่ถ้าทำผิดบ่อยครั้งก็จะสาธิตใหม่  จะไม่พูดแต่ใช้การสบตาแทนเหมือนเดิม จนเด็กประสบผลสำเร็จ  แล้วจะไม่ชม แต่จะให้เด็กได้รับแรงจูงใจจากความสำเร็จของเขาเอง 
         ผอ.ชัยรัตน์บอกว่า 
โดยปกติเด็กอนุบาลหลังทานอาหารกลางวันก็จะต้องนอน โรงเรียนได้จัดที่นอนไว้ให้  แต่เด็กที่นี่ส่วนใหญ่จะไม่ยอมนอน  ทานอาหารกลางวันเสร็จก็จะไปหยิบอุปกรณ์มาปฏิบัติอย่างตั้งใจ 
         เคยมีคนถามว่า 
แล้วสุขภาพเด็กจะไม่แย่หรือ  ผอ.ชัยรัตน์บอกว่า  ทำมา 3 ปีแล้ว เด็กก็ดูสดชื่นแจ่มใสดี  ผู้ปกครองยังชอบและบอกว่า พอเด็กกลับไปบ้านก็จะนอนหลับปุ๋ยสบาย  ทำให้ผู้ปกครองไม่ต้องดูแลลำบากด้วย
       ...เชิญพบกับเรื่องราวของเด็กชายขนุนในระบบมอนเตสเซอรี่ที่โรงเรียนวัดบางแขมต่อในตอนที่ 3 ครับ 


หมายเลขบันทึก: 50321เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2006 09:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 13:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท