ปรัชญาการศึกษาตะวันออก


ปรัชญาตะวันออกนำไปประกอบในการจัดการศึกษาไทยได้จริงหรือ

ปรัชญาการศึกษาของตะวันตกและตะวันออกกับการศึกษาไทย

ปรัชญาตะวันตก เน้นการค้นหาความจริงของโลก หมายความว่า ทุกสิ่งอย่างที่ต้องการสืบค้นจะต้องมีหลักฐานมายืนยันไม่ว่าจะเป็นกฎเกณฑ์หรือสถิติต่าง ๆ ที่ผู้รู้ทั้งหลายได้ใช้เวลาเกือบค่อนชีวิตค้นหามาได้ แล้วความจริงของชีวิตที่ว่า จึงกลายเป็นวัตถุที่ต้องสัมผัสรู้ได้ด้วยตาเปล่าและความรู้สึกนึกคิด โดยลืมคำว่า จิตวิญญาณแห่งชีวิตไปโดยสิ้นเชิง จิตวิญญาณที่ว่านั้นเป็นบ่อเกิดของชีวิต ไม่รวมถึง ความหมายที่แท้จริงของชีวิตว่าเรามีชีวิตเพียงด้านที่จับต้องได้จริงหรือ ความคิดที่ว่าชีวิตที่สมบูรณ์พร้อมต้องประกอบด้วยวัตถุปัจจัยทั้ง 4 อย่างเป็นอย่างน้อยเพื่อให้เพียงพอแก่การดำรงชีพในสังคมยุคใหม่ โดยลืมไปว่าเมื่อครั้งที่ไม่มีวิทยาศาสตร์ พวกเราสามารถดำรงอยู่ได้ด้วยสิ่งใดหากไม่ใช่สัญชาตญาณเพื่อการมีชีวิตอยู่ บรรพบุรุษของเราต่างก็ใช่จิตวิญญาณในการนำพาหมู่มวลเพื่อนมนุษย์ให้สามารถดำรงพงศ์พันธุ์มาได้จนล่วงเข้าสู่ยุคสหัสวรรษใหม่ที่ชีวิตเรายิ่งกระพือความอยากแห่งกามตัณหาโดยแท้ การสู้รบเพื่อให้ได้มาซึ่งวัตถุก็ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นก็เพราะคนเราให้ความสำคัญกับความจริงเฉพาะด้านที่เป็นวัตถุเท่านั้น บทความนี้หาได้โจมตีว่าปรัชญาตะวันตกเน้นเรื่องวัตถุสิ่งของ แต่เพียงต้องการให้ทุกคนได้เข้าใจว่าแท้ที่จริงแล้วความจริงของมนุษย์ยังต้องการหลักในการดำเนินชีวิตที่ถูกที่ควรมากกว่า ซึ่งเป็นไปตามแนวคิดของปรัชญาตะวันออกที่เน้นในเรื่องดังกล่าว

ความจริงของโลกตะวันตกต้องมีหลักฐานมารองรับจึงกลายเป็นว่าคนเราต้องสามารถทำทุกอย่างให้กระจ่างเพียงตาเปล่าเท่านั้น โดยลืมนึกถึงคุณค่าของจิตวิญญาณแห่งสรรพสิ่ง นี่คือคำตอบจากผู้เขียนที่มองว่าปรัชญาตะวันตกไม่สามารถจะนำพาให้การศึกษาไทยไปสู่จุดหมายแห่งความสำเร็จได้โดยแท้

ปรัชญาตะวันออก เน้นเรื่องหลักการและวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์นั้น น่าจะสอดรับการศึกษาของไทยมากกว่าตามความเห็นของผู้เขียน เพราะเหตุผลในเรื่องของความเป็นมนุษย์ที่ย่อมต้องมีเรื่องของจิตใจหรือจิตวิญญาณเข้ามาเกี่ยวข้อง มนุษย์ที่เจริญแล้วย่อมต้องมีเรื่องของศีลธรรมเข้ามาประกอบในการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่เพียงเรื่องการศึกษาเท่านั้น แต่ครอบคลุมไปถึงทุก ๆ ด้านของชีวิตมนุษย์

วิถีทางในการใช้ชีวิตเป็นสิ่งสำคัญในการกำหนดกรอบการศึกษาของมนุษย์ทุกคน เพราะการเรียนแต่เพียงเรื่องวัตถุ แต่ไม่ได้ประกอบเข้ากับจิตสามัญสำนึกของความเป็นมนุษย์นั้นมีแต่จะนำพาให้โลกของเราเข้าสู่หายนะ หากทุกคนมุ่งความสำเร็จเฉพาะวัตถุ และหลงลืมรากเหง้าอันดีงามของสังคมไปแล้วไซร้ สังคมโลกย่อมต้องวุ่นวายอย่างที่เราท่านก็เห็นอยู่แล้ว

วิถีทางอันดีงามของคนฝากฝั่งตะวันออกแต่เดิมมุ่งเน้นเรื่องของจิตใจมาก่อนวัตถุ เพราะรากเหง้าของเราคือวัฒนธรรมที่ผูกโยงเข้ากับเรื่องของศาสนา ที่ถือว่าเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจที่สำคัญสูงสุดในชีวิตของคนตะวันออก แต่เมื่อมีการศึกษาแบบตะวันตกเข้าแล้วกลับทำให้เราหลงลืมวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษของเราได้สั่งสมมาอย่างยาวนานไปจนสิ้น วิชาศาสนาถูกแทนที่ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ซึ่งมุ่งเน้นการสืบค้นความเป็นจริงของสรรพสิ่งเพียงด้านเดียว โดยเราท่านต่างหลงลืมไปว่าชีวิตที่ไร้แล้วซึ่งจิตวิญญาณย่อมไม่สามารถจะดำรงอยู่ได้โดยเป็นสุข

ดังนั้นการศึกษาไทยยุคใหม่ควรมีการรื้อฟื้นคุณค่าแห่งปรัชญาการดำเนินชีวิตอย่างตะวันออก ให้กลับมาเป็นแกนหลักในการนำพาหมู่มวลชาวเราให้เงยหน้าอ้าปากได้ หาใช่การเดินตามพวกผิวขาวอย่างที่เป็นมา การเรียนรู้อย่างพวกผู้ดีมีแต่จะดึงสัญชาตญาณดิบของบรรพบุรุษโลกให้กลับคืนมาอีกครั้งมากกว่าการรักตนดำรงตนอยู่ด้วยคุณงามความดีอย่างวิถีตะวันออก ที่เน้นการครองตนด้วยความงามตามธรรมชาติวิถีหาใช่วัตถุวิถีอย่างเดี๋ยวนี้ตอนนี้

การยึดวิถีแห่งปรัชญาตะวันออกมาเป็นแกนกลางในการนำพาการศึกษาไทยให้ก้าวผ่านช่วงเวลาอันทุกข์ยากนี้ไปได้ ความหลงอันเกิดจากการเดินตามชาติมหาอำนาจที่ไม่ได้มองถึงแก่นสารที่แท้จริงของจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์โดยแท้ ความงามอย่างตะวันออกคือเน้นคุณค่าของจริยวัตรอันงามงดจากภายในจิตใจ เมื่อการศึกษาเน้นคุณค่าของจิตใจเป็นหลักแล้ว ก็ย่อมจะเห็นความต้องการที่แท้จริงของลูกศิษย์ว่าชีวิตของเขาต้องการสิ่งใด บางครั้งหากยิ่งเรายัดเยียดความเป็นตะวันตกแล้วผลักไสความเป็นตะวันออกไปจากการกรอบความคิดทางการศึกษายุคใหม่จะยิ่งทำให้แนวทางของเราเกิดการบิดเบือนไปกันใหญ่

การให้การศึกษาที่มองจากภายในจิตใจของเด็กน่าจะนำมาเป็นหลักในจัดการศึกษาในแต่ละช่วงวัยให้เกิดความเหมาะสม มองว่าความต้องการอันใดที่เด็กประสงค์จะได้จากผู้เป็นครู เพื่อให้เขาสามารถดำรงตนอยู่ในสังคมได้อย่างภาคภูมิมากกว่าที่ผู้เขียนต้องการจะเห็นจากแผนการศึกษาของไทย การมุ่งไปที่เด็กกับการมุ่งไปที่จิตใจของเด็กแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะการกระทำอย่างแรกเป็นการใส่สิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องการจะให้เขาเป็น หาใช่สิ่งที่เด็กต้องการจะได้รับจริง ๆ และครูก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใส่ใจในการสอนเพราะมองว่าเด็กเป็นกล่องเปล่า ๆ ที่สามารถจะจับสิ่งของอะไรก็ได้ใส่เข้าไปก็เท่านั้น

การศึกษาตามแนวทางปรัชญาตะวันออกเน้นมองผู้เรียนเป็นสำคัญในการยกย่องให้เกียรติความตั้งใจจริงของผู้เรียนแต่การแสดงออกอาจจะมองดูว่าผู้เป็นครูกลั่นแกล้งศิษย์ได้รับความยากลำบาก ชาวตะวันตกจึงดูถูกการสั่งสอนแบบโบราณคร่ำครึที่ว่า การยกย่องครูผู้สอนว่ามีความรู้ความสามารถเป็นสิ่งดี แต่การตัดขาดความสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์แล้วให้กลายเป็นเพียงพนักงานคนหนึ่งที่มีหน้าที่ในการสอนกับผู้จ้างวานให้สอนย่อมไม่เป็นการดีแน่ แปลกมากที่ความคิดเช่นนี้กระจายไปในสังคมไทยจนไม่รู้ว่าความเป็นครูความเป็นศิษย์ได้ถูกทำให้สูญสลายไปเสียแล้วจริง ๆ ตั้งแต่เมื่อใดกัน ตามความเห็นของผู้เขียนคิดว่าน่าจะเริ่มตั้งแต่การเรียนสมัยใหม่เริ่มเข้ามามีบทบาทมากกว่าการเรียนแบบเก่าที่มุ่งเน้นความสำเร็จของผู้เรียน ไม่ใช่มุ่งเน้นที่การจบการศึกษาเท่านั้นแต่ไม่มองถึงการใช้ชีวิตของบัณฑิตนอกรั้วโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยเลยแม้แต่น้อย

ความสำเร็จจากการเรียนที่ว่าก็คือการเป็นคนดีแม้ไม่มีใครเห็น แม้ไม่ได้รับการยกย่องจากสังคมแต่พร้อมที่จะทำให้สังคมเป็นสุขได้ด้วยกำลังแรงเพียงเล็กน้อย ความสำเร็จที่ได้รับการถ่ายทอดจากจิตวิญญาณของความเป็นครูโดยแท้ต่างหากถึงจะเรียกว่านี่คือความสำเร็จจากการเรียนรู้ ไม่ใช่เพียงแค่ในตำราเรียนแต่มองกว้างไกลออกไปจนถึงชีวิตเบื้องหลังที่จบการศึกษาไปแล้ว หรือแม้แต่การที่ทำให้ผู้เรียนใฝ่รู้ใฝ่เรียนจนลมหายใจสุดท้ายของชีวิต แต่ต้องเป็นการใฝ่เรียนในสิ่งดีงามหาใช่เรื่องชั่วช้าเลวทราม จึงจะถือว่าปรัชญาทางการศึกษาแนวตะวันออกได้บรรลุซึ่งความสำเร็จแล้วจริง ๆ ความงามตามปรัชญาการศึกษานี้คือความสมัครใคร่รู้ความเป็นจริงตามวิถีทางในการดำเนินชีวิตอันสมควรแห่งบุคคล

ความพอดีคือสิ่งสำคัญในปรัชญาตะวันออกแต่ก็อาจจะไม่ดีพอในความคิดของนักปรัชญาตะวันตก เพราะเราไม่เคยมุ่งเน้นที่สิ่งสำเร็จทางวัตถุ แต่เรากลับมองลึกเข้าไปยิ่งกว่านั้นซึ่งก็คือความเป็นคนดีมีศีลธรรมมากกว่าจึงจะถือว่าเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของการศึกษาตามแนวปรัชญาตะวันออก

          ในทางปฏิบัติปรัชญาตะวันออกนำไปประกอบในการจัดการศึกษาไทยได้จริงหรือ ตามความเห็นของผู้เขียนก็อาจจะเป็นไปได้หากผู้ใหญ่ของบ้านเมืองมีตาสว่างและเปิดใจพร้อมจะเห็นลูกหลานไทยเป็นผู้เป็นคน หาใช่เหลวแหลกอย่างเดี๋ยวนี้ ก็พอจะเห็นได้ลาง ๆ ว่ามีผู้ใหญ่ใจดีบางกลุ่มเริ่มให้ความสำคัญของการเรียนจากการดำเนินตามวิถีตะวันออก จนนำไปสู่การเกิดขึ้นของโรงเรียนชาวนา โรงเรียนกาสรกสิวิทย์ หรือแม้แต่มหาวิทยาลัยชีวิต เป็นแนวทางในการเรียนการสอนที่ยึดหลักการในการดำเนินชีวิตเป็นสำคัญ การนำวิถีตะวันออกมาเป็นแกนกลางในการเรียนการสอนย่อมจะเป็นการดีเพราะไม่ได้เน้นความสำเร็จทางด้านวัตถุที่เป็นตัวเงิน แต่กลับมองเลยไปที่ความสำเร็จของชีวิตจริงซึ่งยากยิ่งกว่าการเรียนแบบนกแก้วนกขุนทองที่ใช้งานจริงไม่ได้เลย ผู้เรียนก็สามารถหาความสุขได้ง่าย ๆ จากการเรียนการสอนตามแนวทางแห่งความพอเพียงนี้

ผู้เขียนไม่ได้ต้องการจะให้ทุกคนไปเป็นเกษตรกรกันหมด แต่ต้องการจะบอกว่าทุกคนสามารถจะมีความสุขจากการเรียนรู้ได้จากสิ่งรอบตัวจริง ๆ สามารถจับต้องและนำไปใช้งานได้จริง มันน่าจะมีความสุขมากกว่าการเรียนในห้องสี่เหลี่ยมแคบ ๆ ก้าวออกไปสู่ชีวิตจริงกันเถิดพี่น้องนักศึกษาไทย อย่ากดดันตนเองอยู่ในเรื่องราวที่ไม่ใช่แก่นสารแท้จริงของชีวิต ความจริงของเราก็คือการดำเนินชีวิตอยู่อย่างมีความสุข ถึงแม้ตัวผู้เขียนเองตอนนี้ก็ยังไม่เห็นหนทางใดที่จะทำให้การศึกษาของไทยได้หันกลับมามองรากเหง้าของคนไทย หรือความเป็นไทยอยู่จุดไหน แล้วลูกหลานไทยของเราจะยืนอยู่อย่างไรในกระแสโลกที่ถาโถม ดังนั้นเหล่านักการศึกษาจึงต้องช่วยเป็นแรงสำคัญในการนำพาให้หลักปรัชญาการศึกษาตะวันออกเข้ามามีบทบาทในการจัดการศึกษามากยิ่งเท่าทวีคูณ

          เมื่อเราได้เข้ามาสัมผัสกับการศึกษาตามแนวปรัชญาตะวันออกแล้วจะทำให้เรามีความเป็นมนุษย์มากขึ้น เพราะการเรียนรู้ชีวิตจริงย่อมต้องทำให้เห็นภาพและเข้าใจชีวิตได้อย่างถ่องแท้มากกว่าการเรียนแต่ด้านความเจริญของวัตถุวิถี ความเป็นตัวตนของเราที่แท้จริงจะถูกถ่ายทอดผ่านการกระทำต่าง ๆ เมื่อเราอยู่ในสถานการณ์จริง มันเป็นการเรียนรู้ที่มีคุณค่ากับการมีอยู่ของตัวเรา แต่ก็ไม่ได้เป็นการยึดติดอยู่ว่าจะต้องอยู่เช่นนี้เสมอไป

ขอยกตัวอย่างเช่นหากให้นักเรียนกลุ่มหนึ่งเรียนรู้การทำนาตามวิถีตะวันออกโดยแท้ พวกเขาจะสามารถเข้าถึงวัฒนธรรมรากเหง้าของบรรพบุรุษที่ยืนหยัดอยู่ได้ด้วยความสุข แม้ว่าพวกเขาอาจจะเหนื่อยล้าจากการตรากตรำทำงานด้วยหนึ่งสมองสองมือไปบ้าง แต่พวกเขาจะได้ซึมซับความเป็นจริงโดยแท้ของชีวิต เห็นการเปลี่ยนผ่านของสรรพสิ่งตั้งแต่การเริ่มต้นของเมล็ดพันธุ์จนถึงผลผลิตที่ทำด้วยความรู้สึกนึกคิดของตัวเองจริง ๆ เมื่อเด็กเรียนรู้ความลำบากของชีวิตแล้วย่อมต้องเกิดความคิดของการรักตนเองและรักสรรพสิ่งรอบข้างที่ทำให้มีเขาในวันนี้ พวกเขาจะรักถิ่นฐานบ้านเกิด รักประเทศไทย รักเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และไม่คิดอยากจะเบียดเบียนสิ่งใดอีกเลยคือเป้าหมายสูงสุดของการเข้าถึงการเรียนรู้ตามแนวปรัชญาตะวันออกโดยแท้

แล้วทำไมการศึกษาตามปรัชญาตะวันออกจึงสูญสลายไปสิ้น ตามความคิดเห็นของผู้เขียน แนวทางดังกล่าวยังไม่หายไปไหนแต่ว่ากลับถูกเรียกร้องให้กลับคืนมาจากตัวเองเด็กนักเรียนเอง ทุกท่านเคยสังเกตไหมว่าทำไมเด็กบางคนถึงมีอคติกับการเรียนแบบใหม่นี้ ผู้เขียนคิดว่าการเรียนดังกล่าวนี้อาจจะไม่ได้ตอบสนองความต้องการของเด็กจริง ๆ พวกเขาจึงแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมออกมา เพราะพวกเขาคิดว่าการเรียนแบบตะวันตกไม่ได้มีคุณค่ากับชีวิตของเขาเลยแม้แต่น้อย

หมายเลขบันทึก: 503137เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2012 21:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กันยายน 2012 00:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ข้อแตกต่าง .... ความแตกต่าง .....เป็นความยากลำบากนะคะ

ขอบคุณบทความดีดีนี้นะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท