ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน : 3. จิตผูกพัน และเรียนโดยลงมือทำ


ลักษณะพิเศษที่สำคัญยิ่งของการเรียนโดยลงมือทำอยู่ที่การตีความคำว่า “ทำ” คนส่วนใหญ่ (รวมทั้งผม) เข้าใจผิดว่าหมายถึงกิจกรรมทางกาย จริงๆ แล้วหมายถึงกิจกรรมทางใจครับ คือการคิด ลงมือทำคือลงมือคิด การเรียนโดยลงมือทำเริ่มที่การคิดตั้งคำถาม แล้วจึงลงมือทำเพื่อตอบคำถามนั้น ให้แก่ตนเอง

ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน  : 3. จิตผูกพัน และเรียนโดยลงมือทำ

บันทึกชุดนี้ ได้จากการถอดความ ตีความ และสะท้อนความคิด    จากการอ่านหนังสือ Student Engagement Techniques : A Handbook for College Faculty เขียนโดย ศาสตราจารย์ Elizabeth F. Barkley    ในตอนที่ ๓ นี้ ได้จากบทที่ ๓ ชื่อ Engagement and Active Learning  

ครูทุกคนรู้ว่า ในขณะที่ตนสอน นักเรียนไม่ทุกคนที่ได้เรียน    บางคนไม่สนใจเรียน บางคนตั้งใจเรียนแต่เรียนไม่รู้เรื่อง    ดังนั้นการสอนกับการเรียนเป็นคนละเรื่องกัน    สิ่งที่ครูเพื่อศิษย์สนใจ คือการเรียนของศิษย์     ไม่ใช่สนใจอยู่แค่การสอนของตน    ตนจะสอนดีเพียงไร แต่หากศิษย์บางคนไม่ได้เรียน ครูเพื่อศิษย์จะยังไม่พอใจ

การเรียนโดยลงมือทำ (active learning)  คือเครื่องมือที่ช่วยให้ไม่เกิดการสอนที่ไม่มีการเรียน    การเรียนโดยลงมือทำมีหลากหลายแบบหรือหลายชื่อที่คล้ายๆ กัน ได้แก่ cooperative หรือ collaborative learning, discovery learning, experiential learning. problem-based learning, inquiry-based learning    โดยผมขอเพิ่ม project-based learning เข้าไปด้วย    project-based learning คล้าย problem-based learning แต่ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว

ลักษณะพิเศษที่สำคัญยิ่งของการเรียนโดยลงมือทำอยู่ที่การตีความคำว่า “ทำ”    คนส่วนใหญ่ (รวมทั้งผม) เข้าใจผิดว่าหมายถึงกิจกรรมทางกาย    จริงๆ แล้วหมายถึงกิจกรรมทางใจครับ คือการคิด    ลงมือทำคือลงมือคิด     การเรียนโดยลงมือทำเริ่มที่การคิดตั้งคำถาม แล้วจึงลงมือทำเพื่อตอบคำถามนั้น ให้แก่ตนเอง   

 การเรียนโดยลงมือทำเริ่มที่การคิด แล้วมีกิจกรรมทั้งการคิดและการลงมือทำทางกายที่ซับซ้อนตามมา    เพื่อสนองการคิด คือการตอบคำถามที่ตั้งขึ้น   การเรียนแบบนี้จึงเป็นการฝึก    และการฝึกที่สำคัญที่สุดคือฝึกตั้งคำถามให้ชัด ซึ่งก็คือฝึกคิดให้ชัดนั่นเอง    คนส่วนใหญ่ขาดการฝึกคิดให้ชัดตั้งแต่เด็ก    โตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ก็คิดไม่ชัด หรือคิดไม่เป็นนั่นเอง

  การเรียนโดยลงมือทำจึงหมายถึงการเรียนแบบที่ใจจดจ่ออยู่อยู่กับเรื่องนั้น    ทั้งรับรู้กระบวนการที่เกิด และรับรู้ผลที่เกิด นำมาใช้ตอบคำถามที่ตนตั้งขึ้นในใจ   เกิดเป็นการเรียนรู้ขึ้น   การเรียนโดยลงมือทำแม้จะเกิดการรับรู้ที่ดี แต่ก็อาจไม่เกิดการเรียนรู้ที่ลึกและเชื่อมโยงก็ได้    ฝีมือในการสอนของครูอยู่ตรงนี้    อยู่ที่การทำให้ศิษย์นำเอาการรับรู้มาทำให้เกิดการเรียนรู้ ได้อย่างลึกและเชื่อมโยงกว้างขวาง ตามระดับพัฒนาการทางสมองของศิษย์    ความสนุกของชีวิตครูอยู่ตรงนี้เอง

คำอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในสมองขณะที่เรียนโดยลงมือทำอยู่ที่นี่ และที่นี่

 

สิ่งที่เราเรียนรู้จากวิชาประสาทวิทยาศาสตร์

คำอธิบายสั้นๆ ในตอนนี้ของหนังสือเหมาะแก่ผู้อ่านที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับสมองและระบบประสาทมาก    เพื่อจะได้เข้าใจว่า การเรียนรู้คือการเปลี่ยนแปลงในสมอง   เป็นการเปลี่ยนแปลงเซลล์สมอง และเปลี่ยนแปลงการเชื่อมโยงใยประสาทของเซลล์สมอง    สมองมนุษย์มีความสามารถสูงสุดต่อการเรียนรู้    ซึ่งหมายความว่าต้องมีกลไกให้เกิดความจำ และให้เกิดการลืม   เพื่อไม่ให้เรื่องต่างๆ รกสมอง 

จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสมองแบบถาวร เกิดความจำถาวร จึงต้องมีการทำซ้ำๆ    ให้เซลล์สมองกลุ่มนั้นได้รับการกระตุ้นซ้ำๆ    นำไปสู่การเชื่อมโยงเครือข่ายใยสมองที่ก่อความจำถาวร

 

สิ่งที่เราเรียนรู้จากจิตวิทยาการเรียนรู้

ข้อเสนอโดยนักจิตวิทยาการเรียนรู้คือ โครงสร้างจิตใจที่เรียกว่า schema (พหูพจน์ว่า schemata)    เป็นโครงสร้างการเรียนรู้ ที่ประกอบด้วย ข้อเท็จจริง แนวความคิด และความสัมพันธ์ (association)  ที่ประกอบกันเข้าเป็นระบบความสัมพันธ์ที่มีความหมาย    คนแต่ละคนจะมี schemata ของเหตุการณ์ สถานที่ กระบวนการ บุคคล ฯลฯ มากมาย บรรจุอยู่ในสมอง    และ schema เรื่องใดเรื่องหนึ่งของต่างคนอาจแตกต่างกันมาก    เช่น schema ของโรงเรียน ในสมองของเด็กชาวเขา แตกต่างจาก schema ของโรงเรียนในสมองของนักเรียนโรงเรียนสาธิตในมหาวิทยาลัย  

คนที่มีประสบการณ์มาก ความรู้มาก ก็จะมี schema แยกย่อยมากมาย บรรจุอยู่ในสมอง    ทำให้ความคิดและการเรียนรู้เป็นแบบของ “ผู้เชี่ยวชาญ” (expert)    คือสามารถรับเอาข้อมูลใหม่มาเทียบหรือเชื่อมโยงกับ schema ที่มีอยู่แล้ว    สังเคราะห์เป็น schema ใหม่ เพื่อการเรียนรู้ใหม่ได้อย่างแคล่วคล่องว่องไว    แตกต่างจากการเรียนรู้ของ “ผู้ฝึกใหม่” (novice) ที่ในสมองยังไม่ค่อยมี schema ให้เกาะเกี่ยวเปรียบเทียบ    การเรียนรู้จึงช้า ค่อยเป็นค่อยไป

ตรงนี้ผมตีความเป็นข้อเรียนรู้ของตนเองว่า ครูต้องหมั่นชวนศิษย์เชื่อมโยงบทเรียนใหม่เข้า กับสิ่งที่เคยเรียนรู้มาก่อน   อาจเชื่อมโยงเชิงเปรียบเทียบความเหมือน ความต่าง หรือเชิงขยายความ    ก็จะทำให้การเรียนรู้ของนักเรียน ซึ่งอยู่ในขั้นฝึกใหม่ ง่ายขึ้น น่าสนใจขึ้น สนุกสนานขึ้น

 

บทบาทของการถ่ายทอดเชื่อมโยง (transfer) ในการเรียนโดยลงมือทำ

เมื่อมีการรับรู้สารสนเทศ (information) ใหม่  สมองจะพยายามหาความหมายโดยการเสาะหาโครงสร้างความรู้ (schema) เก่าที่ใกล้เคียงหรือเกี่ยวข้อง    หากพบ schema นั้นก็จะถูกกระตุ้น   เกิดการถ่ายทอดเชื่อมโยงระหว่างความรู้เดิมกับสารสนเทศใหม่   สังเคราะห์ขึ้นเป็นชุดความรู้หรือ schema ใหม่ 

ในวงการวิชาการด้านการเรียนรู้มีการเสนอการถ่ายทอดเชื่อมโยง (transfer) หลากหลายแบบ    ที่สำคัญคือ การถ่ายทอดเชื่อมโยงเชิงบวก (positive transfer) กับการถ่ายทอดเชื่อมโยงเชิงลบ (negative transfer)    กับการถ่ายทอดเชื่อมโยงใกล้ (near – transfer) กับการถ่ายทอดเชื่อมโยงไกล (far – transfer)  

การถ่ายทอดเชื่อมโยงเชิงบวก จะก่อให้เกิดการเรียนรู้ใหม่ที่ถูกต้อง  เขายกตัวอย่างการเรียนภาษาสเปน สำหรับนักเรียนที่พูดภาษาอังกฤษ เมื่อพบคำว่า mucho จะคิดถึงคำว่า much ในภาษาอังกฤษ    ซึ่งเป็นผลของการถ่ายทอดเชื่อมโยงเชิงบวก    ตัวอย่างของการถ่ายทอดเชื่อมโยงเชิงลบเช่น เมื่อนักเรียนคนเดียวกันเรียนคำในภาษาฝรั่งเศส librairie ก็จะนึกถึงคำว่า library ในภาษาอังกฤษ ซึ่งผิด    เพราะ  librairie แปลว่า bookstore 

เขายกตัวอย่างการถ่ายทอดเชื่อมโยงใกล้ เหมือนกับการขับรถเก๋งเกียร์ออโตที่มีขายตามท้องตลาดทั่วไป   เมื่อขับยี่ห้อหนึ่งได้ ก็จะขับยี่ห้ออื่นๆ ได้   เพราะตำแหน่งเกียร์ ที่ปัดน้ำฝน เบรค หน้าปัดบอกความเร็วและอื่นๆ จะคล้ายๆ กัน   ความรู้แบบถ่ายทอดเชื่อมโยงใกล้ใช้ได้ผลในกรณีนี้   แต่เมื่อคนๆ เดียวกันนี้ไปขับรถสปอร์ต ก็อาจขับไม่ได้ หรือได้ก็ต้องพิจารณาอยู่นาน เพราะตำแหน่งของตัวบังคับต่างๆ วางต่างที่และอาจมีรูปร่างต่างกัน   กรณีหลังคือ การถ่ายทอดเชื่อมโยงไกล   

มีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพของการถ่ายทอดเชื่อมโยง  ได้แก่ ความเหมือน/ความต่าง  ความสัมพันธ์ (association)  บริบทและพื้นความรู้เดิม

 

ความเหมือนและความต่าง

หากสิ่งที่พบเห็นใหม่คล้ายคลึงกับสิ่งที่เคยพบเห็นมาก่อนมาก การถ่ายทอดเชื่อมโยงก็เกิดได้ง่าย    เขาอธิบายว่าสมองเก็บข้อมูลของสิ่งคล้ายๆ กันไว้ในสมองส่วนที่เป็นเครือข่ายกัน (schema)   เช่น เมื่อเราเห็นสิ่งที่มีหัว ลำตัว แขน ขา ตั้งตรง ก็รู้ว่าเป็นคน   คือต้องการรู้ว่าเป็นคนใช่หรือไม่ เราก็คิดถ่ายทอดเชื่อมโยงเฉพาะส่วนหยาบๆ ที่เป็นเชิงบวก    แต่เมื่อเราต้องการแยกกลุ่มคนว่ามีคนที่เราต้องการหาหรือไม่ เราก็จะมองเปรียบเทียบหารายละเอียดส่วนต่างของหน้าตาคิ้วคาง ฯลฯ ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงถ่ายทอดเชิงลบ  

 

ความสัมพันธ์ (association)

เมื่อเราเรียนรู้ความสัมพันธ์ของของบางอย่างจนเคยชิน พอเอ่ยถึงสิ่งหนึ่งก็จะนึกถึงคู่ของมันทันที    เช่นเมื่อเอ่ยชื่อแฝดสยามอิน คนก็จะนึกถึงจัน ตามมา

คนที่มีคู่ความสัมพันธ์เก็บไว้ในสมองมากๆ การเรียนรู้สิ่งใหม่ก็ง่าย   เพราะสามารถนำสิ่งใหม่เข้าไปจับคู่หรือสร้างความสัมพันธ์กับสิ่งที่รู้จักแล้วได้ง่าย

 

บริบทและคุณภาพของการเรียนรู้

อารมณ์เป็นบริบทของการเรียนรู้อย่างหนึ่ง

การเรียนรู้ที่สัมพันธ์กับอารมณ์จะช่วยให้การถ่ายทอดเชื่อมโยงมีพลัง เพราะอารมณ์มีธรรมชาติดึงดูดความสนใจ    ตัวอย่างเช่นเด็กบางคนไม่ถนัดวิชาคณิตศาสตร์    พอถึงชั่วโมงคณิตศาสตร์จะมีอารมณ์กังวลใจ   ทำให้เด็กจะหลีกเลี่ยงการเรียนคณิตศาสตร์ เพื่อหลีกเลี่ยงอารมณ์อึดอัดขัดข้องใจ   แต่คนเราจะสนุกกับงานอดิเรก เพราะให้ความบันเทิงใจ    การเรียนด้วยความสุข สนุกสนาน ทำให้คุณภาพของการเรียนรู้ในเบื้องต้นสูง    เกิดพื้นฐานความรู้ที่มั่นคงลึกซึ้งเชื่อมโยง    การเรียนรู้ชั้นต่อๆ ไป ก็จะพลอยมีคุณภาพสูงตามไปด้วย    ตรงกันข้าม หากการเรียนรู้ในเบื้องต้นกระท่อนกระแท่น ผิวเผิน  ก็จะมีผลให้การเรียนรู้ที่ตามมาภายหลังมีคุณภาพต่ำ

นี่คือความสำคัญของครูชั้นเด็กเล็ก อนุบาล และประถมศึกษา    และความสำคัญ ที่ครูจะต้องเอาใจใส่สร้างอารมณ์เชิงบวก เชิงพึงพอใจ ให้เกิดร่วมกับการเรียน    ก็จะเป็นการปลูกฝังนิสัยรักเรียนโดยไม่รู้ตัว    

 

 ความจำกับการเรียนแบบลงมือทำ

ความจำมีความสำคัญต่อการเรียนรู้    ความจำจำแนกได้เป็นหลายแบบ   แต่ที่สำคัญมากมี ๒ แบบ คือความจำระยะสั้น กับความจำระยะยาว

 

ความจำระยะสั้น

ความจำระยะสั้นเป็นสภาพของสมองที่พุ่งความสนใจไปที่ข้อมูลหรือสารสนเทศชุดหนึ่ง    เกิดจากเซลล์สมองเครือข่ายหนึ่งทำหน้าที่ชั่วคราว    อาจจะเป็นวินาที หรือเป็นชั่วโมง    แล้วคล้ายๆ ปิดสวิตช์ของเครือข่ายใยสมองชุดนั้น    สมองหันไปพุ่งความสนใจที่ข้อมูลอีกชุดหนึ่ง โดยใช้เครือข่ายใยสมองอีกชุดหนึ่ง ที่ส่วนหนึ่งอาจซ้ำซ้อนกับเซลล์สมองชุดแรก

ความจำระยะสั้นช่วยให้มนุษย์ทำหรือเรียนรู้ได้เป็นร้อยเป็นพันเรื่องหรือเหตุการณ์ใน ๑ วัน

ก่อนจะปิดสวิตช์เครือข่ายใยสมองที่พุ่งความสนใจระยะสั้น   สมองจะมีกลไกส่งข้อมูลชุดนั้นไปไว้ในความจำระระยาว

 

ความจำระยะยาว

ความจำระยะยาวเกิดจากมีเครือข่ายเซลล์ประสาทเครือข่ายใหม่เกิดขึ้นในสมองส่วนต่างๆ    ความรู้ทางประสาทวิทยาศาสตร์บอกว่าสมองต้องใช้เวลาในการสร้างเครือข่ายใยประสาทชุดใหม่นี้    โดยต้องมีการสร้างโปรตีนเพื่อ Long-Term Potentiation (LTP)   ที่เข้าไปเชื่อมรอยต่อระหว่างใยประสาท    เกิดเครือข่ายใยประสาทชุดใหม่

จุดสำคัญต่อการเรียนรู้คือ ความจำระยะยาวที่แน่นแฟ้นต้องการเวลา

 

ความสำคัญของการรับรู้ (sense) และความหมาย (meaning) ต่อความจำระระยาว

ในการรับรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่ง เด็กจะรับรู้ได้ง่ายหากสิ่งนั้นตรงกับความสนใจและเข้าใจ (make sense)   และจะเกิดการเรียนรู้ที่มีคุณภาพหากสิ่งนั้นมีความหมาย (meaning) ต่อตัวเด็ก

เมื่อเกิดความสนใจ สมองจะ “ตื่นตัว” เพื่อรับรู้เรื่องนั้น หรือรับข้อมูลอย่างเต็มที่    และเมื่อรับรู้แล้ว สมองเข้าใจคุณค่าและความหมายหรือความสำคัญของเรื่องนั้น    กระบวนการ “ย่อย” ทำความเข้าใจเรื่องราวนั้นๆ ก็จะเกิดอย่างจริงจัง    ทำให้เกิดความจำระยะยาวที่มีคุณภาพ

ความสนใจของสมองจะเกิดเมื่อสิ่งใหม่นั้น ต่อติด หรือมีความสัมพันธ์กับความรู้เดิมที่มีอยู่แล้ว    และเมื่อสนใจและเข้าใจแล้ว  สิ่งใหม่นั้นยังไปเชื่อมโยงกับประสบการณ์เดิม ช่วยขยายความเข้าใจประสบการณ์เดิมให้ชัดขึ้น หรือลึกซึ้งขึ้น หรือเชื่อมโยงกว้างขวางขึ้น   เรียกว่ามีความหมายต่อการเรียนรู้    สภาพเช่นนี้จะทำให้ความจำระยะยาวมีคุณภาพ

 

จารึกความทรงจำ (retention)

กระบวนการที่เชื่อมต่อระหว่างความจำระยะสั้น สู่ความจำระยะยาว สู่การจารึกความทรงจำ มีความซับซ้อนยิ่งนัก   และยังไม่เป็นที่เข้าใจอย่างทะลุปรุโปร่ง    แต่ที่รู้แล้วคือ การจารึกความทรงจำส่วนใหญ่เกิดขึ้นขณะนอนหลับ   และการสร้างความจำระยะยาวต้องการเวลา    รวมทั้งความจำระระยาวมีหลายเกรด ตั้งแต่เกรดที่ลืมง่าย ไปถึงเกรดที่ไม่มีวันลืม

การจารึกความทรงจำใช้เวลา ๑๘ - ๒๔ ชั่วโมง    หากหลัง ๒๔ ชั่วโมงยังจำเรื่องนั้นได้ ก็แสดงว่าการจารึกความทรงจำได้เกิดขึ้นแล้ว

 

สรุป

การเรียนรู้เป็นกระบวนการต่อเนื่อง    ที่ผู้เรียนสร้างและเปลี่ยนแปลงเครือข่ายใยประสาท หรือ  schemata ภายในสมองของตนแบบไม่รู้ตัว    กระบวนการนี้เกิดขึ้นอย่างมีพลัง เมื่อคนเราเรียนรู้โดยลงมือทำ    ไม่ใช่เกิดขึ้นระหว่างฟังครูสอนที่หน้าชั้น

วิจารณ์ พานิช

๒๐ ก.ย. ๕๕

 

หมายเลขบันทึก: 502852เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2012 05:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 กันยายน 2012 08:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอท่าน อ.ช่วยแนะวิธีการจำแบบระยะยาว เพื่อเป็นวิทยาทานด้วยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท