กล้วยส้ม : สำหรับคนเบื่อรสหวาน


คนไทยชอบผลไม้รสหวานและผลใหญ่ ยิ่งหวานยิ่งใหญ่ยิ่งดี แต่มันดีกับคนทานรึเปล่า???

ช่วงนี้ผมเลี้ยงเด็กน้อยอยู่ครับ กำลังเริ่มอาหารแข็งเพื่อปรับระบบการย่อยอาหาร ตามแบบฉบับไทยๆก็กล้วยน้ำว้าขูดนี่หล่ะ กับอาหารเสริมสำเร็จรูป แต่หมอก็บอกว่าอย่าให้ทานมากนัก เพราะเด็กจะติดรสหวาน ทำให้ต่อไปเด็กจะทานข้าวยากและมีแนวโน้มชอบทานขนมรสหวาน ซึ่งอาจตามมาด้วยภาวะโรคอ้วนได้ในอนาคต

ทำไมคนเราจึงชอบอาหารหวาน? คำถามนี้หาคำตอบได้ไม่ยากหรอกครับ คนเราก็เฉกเช่นเดียวกับสัตว์อีกมากมายหลายชนิดในโลกที่ชอบทานอาหารที่มีรสชาดหวาน ยิ่งหวานมากก็ยิ่งชอบมาก สาเหตุเพราะว่าสัตว์นั้นไม่เหมือนพืช ที่แค่ยืนต้นเฉยๆก็หาอยู่หากินได้แล้ว แต่สัตว์จำเป็นต้องใช้พลังงานเพื่อการหาอาหารเลี้ยงชีวิต และหากว่าอาหารที่เราทานนั้นมีพลังงานอยู่มาก นั่นก็หมายความว่า เราจะมีความจำเป็นในการใช้พลังงานเพื่อการหาอาหารน้อยลงนั่นเอง และความหวานของอาหารก็เป็นเคมีรสที่บ่งบอกได้ว่าอาหารนั้นให้พลังงานสูงมากเพียงใด เหตุนี้เองธรรมชาติของสัตว์จึงปราถนาอาหารมีโอชารสหวานเป็นธรรมดา

แต่การใช้ชีวิตของคนเราเปลี่ยนไป เราไม่ได้ใช้พลังงานจำนวนมากเพื่อการหาอาหารอีกต่อไป และระบบเศรษฐกิจที่เราสร้างขึ้นนั้น กระตุ้นเราให้บริโภคเพื่อสนองความอยากไม่จบสิ้น สุดท้ายเราไม่ได้ทานเพราะจำเป็นต้องทาน แต่เราทานเพราะอยากจะทาน ลงท้ายด้วยภาวะอ้วนและโรคร้ายนานาชนิดติดตามมา

จะเห็นว่าในประเทศที่พัฒนาแล้วโดยเฉพาะในยุโรป รสนิยมการทานอาหารของคนจำนวนมากเริ่มเปลี่ยนแปลงไป รสหวานจัดเริ่มถูกปฏิเสธ ผลไม้จำนวนมากที่รสหวานจัดๆเริ่มไม่ได้รับความนิยม รวมถึงผลไม้ขนาดใหญ่ๆด้วยเช่นกัน ผู้คนในยุโรปเริ่มทานหวานน้อยลง และทานด้วยปริมาณน้อยลง ผลไม้ลูกเล็กลง เช่น มะละกอพันธุ์ใหม่ๆที่ได้รับความนิยมในแถบยุโรปก็จะมีผลเล็กๆ มะม่วงที่นิยมก็จะรสหวานน้อยอมเปรี้ยว เหตุนี้เองในปัจจุบันผลไม้ไทยหลายๆชนิดจึงไม่ได้รับความนิยมในฝั่งยุโรปมากนัก

ขณะเดียวกันประเทศที่พัฒนาขึ้นใหม่ในแถบเอเซีย ยังคงยึดติดกับผลไม้หวานๆลูกโตๆ ยิ่งหวานยิ่งอร่อย ยิ่งใหญ่ยิ่งชอบ ซึ่งเป็นทัศนะที่จำเป็นต่อมนุษย์ในสังคมโบราณ แต่กำลังจะไม่เหมาะสมอีกต่อไปในยุคปัจจุบัน และนั่นหมายความว่า ถ้าเราไม่อาจละเลิกรสนิยมนี้ได้ ในไม่นานคนเอเซียเราก็จะพบเจอกับปัญหา "อ้วน"

ผมเองไม่ชอบผลไม้หวานจัดมาแต่ไหนแต่ไร ชอบทานผักมาตั้งแต่เด็ก ก็ไม่รู้ว่าทำไม อาจเป็นเพราะว่ามีโรคประจำตัวทำให้ร่างกายไม่แข็งแรง และร่างกายสั่งให้ชอบอาหารมีเคมีที่มีฤทธิ์ทางยาบางอย่าง ก็อาจคล้ายๆกับสุนัขที่กินผักหญ้าเวลาป่วย หรือสัตว์ป่าที่กินดินโป่งละมั้งครับ ผมชอบผลไม้หวานอ่อนอมเปรี้ยว ถ้าหวานสนิทจะรู้สึกไม่อยากทานเท่าไรนัก บ่อยครั้งเวลาผมไปซื้อผลไม้ จะถามแม่ค้าว่า "ป้าครับ หวานหรือเปล่า" แม่ค้าก็ชอบจะตอบเหมือนกันหมดว่า "หวานเจี๊ยบเลยจ๊ะ หวานทั้งร้านเลย" ซึ่งบางทีผมก็แกล้งถามไปงั้นๆเอง เพราะผมก็ชำนาญเรื่องพันธุ์ไม้พอสมควร เห็นผลก็มักจะรู้แล้วว่าเป็นพันธุ์อะไร หวานหรือเปรี้ยวแค่ไหน ซึ่งผมก็ชอบตอบกลับแม่ค้าแบบจริงใจสนองความไม่จริงใจของแม่ค้าไปว่า "หรอครับ ผมไม่ชอบหวานซะด้วยสิ" แม่ค้าผลไม้ก็จะค้อนผมกลับเสมอๆ แต่ก็จริงตามนั้น ผมไม่ชอบรสหวาน

มาเข้าเรื่องกล้วยของผมกันเลยดีกว่า กล้วยส้ม (Musa (ABB group) "Kluai Som ") เป็นกล้วยโบราณที่พบปลูกกันแถบภาคเหนือและภาคตะวันออกของประเทศไทย ปัจจุบันยังพบปลูกกันอยู่บ้างสำหรับทานในครัวเรือน แต่ไม่พบปลูกเพื่อการค้าหรือมีวางขายในท้องตลาดเลย สาเหตุนั้นเพราะรสนิยมของคนไทยต้องใหญ่และหวานจัดเท่านั้น ถ้าไม่เข้าเป้าตามนี้ก็ไม่สนใจ และกล้วยส้มซึ่งมีรสชาดหวานอมเปรี้ยว จึงถูกปฏิเสธจากผู้บริโภค

แต่สถานะการณ์ของกล้วยส้ม ก็ยังถือว่าดีก็กล้วยโบราณอีกมากมายหลายชนิด ที่แทบจะหาดูไม่ได้อีกแล้ว แต่กล้วยส้มยังเป็นที่รู้จักและปลูกกันอยู่บ้าง แสดงว่ากล้วยส้มเปรี้ยวๆนี้ต้องมีดีอยู่บ้างอย่างแน่นอน

ประการแรกเลย ที่ทำให้กล้วยส้มยังคงอยู่ ก็คือเรื่องของรสนิยม การทานกล้วยส้มเป็นเรื่องของรสนิมยมส่วนบุคคลเช่นเดียวกับทุเรียน ที่คนชอบทุเรียนก็ชอบเสียจริง ต้องแสวงหามาทานให้ได้ทุกปีไม่งั้นจะลงแดงตาย คนไม่ชอบก็เกลียดชนิดที่ใครจะเอาเข้าบ้านต้องตายกันไปข้างหนึ่ง และบังเอิญผมเป็นพวกชอบกล้วยส้มเอามากๆ เคยทานมาตั้งแต่เด็กๆ คุ้นเคยกับรสเปรี้ยวอมหวานนี้เป็นอย่างดี พอโตขึ้นไม่มีให้ทานแล้ว จนต้องแสวงหามาปลูกไว้ทานเองที่บ้าน

รสชาดและกลิ่นของกล้วยส้มเป็นเอกลักษณ์ของเค้าเอง ไม่เหมือนใคร ไม่มีใครเหมือน กล้วยส้มเมื่อดิบจะมีเหลี่ยมชัดเจน สีเปลือกเขียวเข้มมาก เมื่อแก่ผลจะกลมมากขึ้นแต่ก็ยังมีเหลี่ยมอยู่ สีจะจางอ่อนลง เมื่อห่ามๆสีเปลือกจะเหลืองเข้มจนออกส้ม เนื้อในมีกลิ่นเปรี้ยวๆ รสชาดก็เปรี้ยวถึงใจ ชนิดที่หาความหวานไม่ได้เลย ซึ่งผมมองว่าทานแล้วสดชื่นดี เนื้อก็แน่นเหนียวหนึบทานเพลิน พอผลงอมสีผลจะซีดลงความหวานจะมากขึ้นเปรี้ยวน้อยลง ยิ่งงอมก็ยิ่งหวาน จนสุดๆแล้วหวานไม่ต่างจากกล้วยน้ำว้าเลย แต่ที่เด็ดกว่ากล้วยน้ำว้าก็คือกลิ่น กลิ่นกล้วยส้มเมื่องอมนั้นหอมชื่นใจ ซึ่งไม่เหมือนกล้วยหอม ไม่เหมือนกล้วยอะไรเลยที่ผมเคยทาน แต่ทานแล้วกลิ่นขึ้นจมูกแล้วรู้สึกสดชื่นดีครับ

ข้อดีอีกอย่างคือกล้วยส้มเนื้อไม่ค่อยดำ สีผลสวย เก็บได้นาน และประการสำคัญคือปลูกง่าย ต้านทานโรค และให้ผลผลิตสูง เหตุเหล่านี้หล่ะครับ ทำให้กล้วยส้มยังคงอยู่ โดยเฉพาะในแถบภาคเหนือนั้นยังพบเห็นกล้วยส้มปลูกแซมอยู่ตามสวนไว้ทานแก้เบื่อกล้วยหวานๆ และที่บ้านผมก็ปลูกอยู่หลายต้นเลย ต้องขอบคุณคุณอ้อยที่ให้มาด้วยนะครับ

จากที่เคยคุยกับคนเฒ่าคนแก่ เหตุที่ชื่อกล้วยส้มนั้น ไม่ได้มาจากรสชาดเปรี้ยวๆของกล้วยตอนที่ยังห่ามๆหรอกครับ เพราะกล้วยโบราณหลายๆชนิดก็เปรี้ยว และบางชนิดก็เปรี้ยวกว่ากล้วยส้มเสียอีก ส้มนั้นจึงไม่ได้หมายถึงความเปรี้ยว แต่เป็นสีของใบอ่อนของกล้วยขนิดนี้ ที่มีสีออกส้ม รวมถึงลำต้นสีอมส้ม แตกต่างจากกล้วยชนิดอื่นๆ ทำให้ได้ชื่อว่า "กล้วยส้ม" คิดว่าอย่างนั้นนะครับ เพราะด้วยความที่เป็นกล้วยที่คนไทยสนใจม๊าาากมาก...(ประชดนะเนี้ย)ทำให้หาข้อมูลอะไรไม่ได้เลยจริงๆ ขนาดไปเดินดูในสวนพฤษศาสตร์ในป้ายชื่อก็ยังบอกแต่ชื่อจริงๆไม่มีคำอธิบายอะไรเลย มีแต่ปากคำของผู้อาวุโสนี่หล่ะครับที่เอามาอ้างอิง

ความแปลกของกล้วยส้มอีกสถานหนึ่งก็คือ หวีของกล้วยส้มแถวบนสุดมักจะใหญ่และยาวมาก จนเวียนได้หนึ่งรอบถึงหนึ่งรอบครึ่งเลยทีเดียว หรืออาจจะเป็นหวีติดๆกันสองสามหวีก็ได้นะครับ แถมหวีก็แน่น ทำให้กล้วยชนิดนี้นิยมแขวนไว้ทั้งเครือ แทนที่จะตัดแบ่งเป็นหวีๆ

ความที่กล้วยส้มตัดแบ่งหวียากและมักแขวนบ่มให้สุกทั้งเครือ และให้ผลผลิตสูง และเร็ว(ปลูก 6 เดือนก็ได้ทานแล้วครับ) เก็บได้นานพอสมควร อีกทั้งยังมีรสชาดที่ทานแล้วชุ่มคอกลิ่นก็สดชื่น ทำให้คนภาคเหนือนิยมนำกล้วยส้มมาแขวนไว้หน้าบ้าน พร้อมกับตั้งตุ่มน้ำดื่ม ไว้ให้คนเดินทางได้ทานกัน ผมเองตอนเด็กก็เคยทานกล้วยส้มกับน้ำอุทัยทิพย์ที่เพื่อนบ้านตั้งไว้เป็นทานเหมือนกัน ถือเป็นน้ำใจไทยที่ปัจจุบันหาไม่ได้อีกแล้ว ก็นะ..ขนาดน้ำเปล่าในร้านอาหารยังคิดเงินเลย กล้วยก็หวีหนึ่งทะลุสามสิบบาทไปแล้ว จะเอามาให้กันฟรีๆไม่มีแล้ว

ท้ายสุดสุดท้ายนี้ ผมก็ได้แต่หวังว่า คนไทยรุ่นใหม่จะเลิกติดหวานเจี้ยบและใหญ่บึ้มกันเสียทีนะครับ มันไม่เหมาะกับสังคมสมัยใหม่อีกต่อไปแล้ว ครอบครัวเราเล็กลง คนโสดมากขึ้น ผลไม้ลูกโตๆก็คงทานไม่หมด จะปอกทิ้งไว้ทานนานๆก็จะเสียคุณค่าทางอาหาร ของหวานๆก็ทำลายสุขภาพ เรามาเลือกทานอาหารโดยใช้สมองและเหตุผลแทนการใช้สัญชาตญาณความอยากกันเถอะนะครับ

หมายเลขบันทึก: 502827เขียนเมื่อ 19 กันยายน 2012 21:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2012 10:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ปลอกแล้วก็ใส่ปากใช่หรือเปล่าครับ

 

สุดยอด....หาทางไปชวนเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานมาอ่านบ้างดีกว่า

จริงค่ะ....ติดหวานทีละนิดตั้งแต่ในท้อง.... เด็กไม่รู้ตัว

ผู้ใหญ่ก็ไม่รู้ตัว หวานล้นเกิน เพราะบริโภคนิยม

...จำความได้ ว่า..เมื่อเป็นเด็ก..โตมาด้วย..กล้วย..แม่จะขูดกล้วย..ผสมน้ำ..ป้อนเด็กอ่อน..(น้องชาย)...แม่ฝากไว้ให้ ยาย เลี้ยง..แขวนกล้วย..ทิ้งไว้ให้..เลยเป็น..ยายธี..มาจน..ทุกวันนี้.."ขอบคุณ กล้วย"..อ้ะะๆๆ...ยายธี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท