"เจ้า" ( The Prince)


ความจริงก็คิดเรื่อยไปไม่ได้มีนัยอะไร เพราะเราเป็นข้าราชการประจำ เป็นผู้ปฏิบัติตามนโยบายด้วยความเป็นกลางทางการเมืองอย่างเต็มกำลังความรู้ความสามารถ

 "เจ้า" ( The Prince) 
 
หนังสือเรื่อง "เจ้า" ซึ่งมีเนื้อหาว่า ทำอย่างไรจึงจะได้มาซึ่งอำนาจ และจะรักษาอำนาจนั้นไว้ได้อย่างไร "เจ้า"จะต้องแกล้งแสดงตัวว่าเป็นคนดี ให้ความเอื้อเฟื้อ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินและภรรยาของลูกน้อง แต่ต้องพร้อมโจมตีศัตรู ต้องคบพันธมิตรที่อ่อนแอกว่า ต้องให้คนกลัว ไม่ต้องรักก็ได้ พร้อมกับยกตัวอย่างจากประวัติศาสตร์ให้เห็นเป็นหลักฐาน การที่จะเป็น"เจ้า"ที่เข้มแข็งได้ ต้องไม่คำนึงถึงศีลธรรมทางศาสนามากนัก รัฐที่จะเข็มแข็งต้องพร้อมทำสงครามเพื่อขยายตัว ไม่เช่นนั้นก็ต้องพร้อมเสื่อมสลายได้เลย ความเติบโตเป็นกฎของชีวิตทางการเมือง เหมือนอย่างชีวิตในธรรมชาติ ซึ่งจะมามัวรักษาและแสวงหาอุดมคติไม่ได้ แมคเคียเวลลี ไม่ได้สนใจที่จะหาเหตุผลและความชอบธรรมให้แก่การกระทำ แต่ต้องการความสำเร็จในการกระทำ "เจ้า"ต้องพร้อมใช้ศาสนาและศีลธรรมเป็นเครื่องมือทางการเมือง และ"เจ้า"ต้องให้ความสนใจแก่พลเมือง ผู้มีความประสงค์จะได้รับความปลอดภัยและการคุ้มครอง เพราะคนเหล่านั้นคือพันธมิตรโดยธรรมชาติที่สำคัญของ"เจ้า" ไม่ใช่เหล่าขุนนาง งานเขียนเรื่องสำคัญของเขาคือ "เจ้า" ( The Prince) จุดยืนของเขาเกี่ยวกับธรรมชาติมนุษย์คือ มนุษย์เป็นสัตว์ที่เห็นแก่ตัว มีความก้าวร้าวเป็นพื้นฐาน พยายามหลีกเลี่ยงอันตรายที่เกิดกับตัวเอง แสวงหาผลประโยชน์ให้ตัว ชีวิตอยู่ในสภาวะที่ต้องแข่งขันและดิ้นรน แม้กระนั้นมนุษย์ก็มีความทะเยอทะยานอยากได้โน่นได้นี่ อยากเป็นโน่นเป็นนี่ มนุษย์ไม่มีความพอใจในสิ่งที่ตนมี การอยู่ร่วมกันของมนุษย์เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้หลังจากที่มีคนจำนวนมากเพิ่มขึ้นในแผ่นดินหรืออาณาเขตหนึ่ง สังคมก็เกิดขึ้น และธรรมชาติอันชั่วร้ายของมนุษย์ก็ทำให้สังคมมีแต่การแข่งขันต่อสู้ ซึ่งถ้าหากไม่มีอำนาจใดมาบังคับให้คนเกรงกลัว สังคมก็จะไร้ระเบียบ ปราศจากความสุข เพราะมนุษย์พร้อมที่จะทำผิดเสมอเพื่อตอบสนองความต้องการของเขา ความต้องการของมนุษย์ในเรื่องความมั่นคงของชีวิต ทำให้คนบางคนซึ่งอ่อนแอ ยอมตัวอยู่ในความคุ้มครองของคนที่แข็งแรงกว่า ฉะนั้นสังคมจึงไม่ได้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติหรือบัญญัติของพระเจ้า แต่มาจากความอ่อนแอของมนุษย์เอง ในขณะที่มีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เข้มแข็งและมีอำนาจ พร้อมที่จะทำหน้าที่ปกครองเพื่อนมนุษย์คนอื่น หน้าที่หลักของรัฐ จึงเป็นเสมือนเครื่องควบคุมธรรมชาติของมนุษย์ ในการอยู่ร่วมกันเป็นสังคม ศีลธรรมและกฎหมายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายหลัง และถูกใช้เป็นเครื่องมือในทางการปกครองเท่านั้น ในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐก็เช่นกัน จะต้องมีรัฐใดรัฐหนึ่งเข้มแข็งกว่ารัฐอื่น รัฐที่อ่อนแอจะต้องยอมตัวอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐที่เข้มแข็งกว่า และดูเหมือนจะเป็นหน้าที่หลักของรัฐในการแสวงหาอำนาจเพื่ออยู่ในฐานะที่เหนือกว่ารัฐอื่น ๆ แมคเคียเวลลีได้บอกไว้ว่า หากเกิดสงครามระหว่างรัฐขึ้น รัฐซึ่งไม่เกี่ยวข้อง จะต้องตัดสินใจเข้าข้างรัฐใดรัฐหนึ่ง การวางตัวเป็นกลางเป็นสิ่งอันตราย เพราะในที่สุดจะต้องมีศัตรูทั้งสองด้านเกิดขึ้นกับรัฐนั้น ในการปกครองผู้เป็นเจ้า จะต้องเลือกคนที่ทำงานด้วยหรือข้าราชการ เขาจะต้องนึกอยู่เสมอว่า คนเหล่านี้ไม่ได้จงรักภักดีต่อเขาอย่างจริงจัง ทำทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง เขาจะต้องรู้จักวิธีควบคุมคนเหล่านี้ รู้วิธีที่จะให้รางวัลเพื่อให้คนเหล่านั้นทำงานให้แก่ตนต่อไป รู้วิธีที่จะต้องลงโทษ เพื่อเขาจะได้เกรงกลัวและยอมรับคำสั่งของผู้เป็นเจ้า ผู้เป็นเจ้าจะต้องเป็นคนที่เด็ดขาดรอบคอบ ต้องมีคุณสมบัติของจิ้งจอกและราชสีห์ด้วยกัน (เจ้าเล่ห์ รู้วิธีการและก่อให้เกิดการเกรงกลัว ยำเกรง) ผู้เป็นเจ้าจะต้องทำตัวให้เป็นที่ยำเกรงมากกว่าจะปรารถนาความจงรักภักดี จากพลเมือง เพราะความยำเกรงทำให้เกิดความเชื่อฟัง ไม่ขัดขืน แต่ก็ต้องระลึกว่าความยำเกรงนั้นไม่ได้เกิดจากความเกลียดกลัว ผู้เป็นเจ้าจะต้องไม่ทำให้พลเมืองรังเกียจ สิ่งที่สำคัญคือ จะต้องไม่ไปริบเอาทรัพย์สมบัติของพลเมืองของเขา เพราะจะทำให้เป็นที่รังเกียจของประชาชน ยิ่งกว่าการที่เขาจะไปฆ่าฟันคนที่ประชาชนรักเสียอีก อย่างไรก็ตามแมคเคียเวลลีได้บอกไว้ด้วยว่า ผู้เป็นเจ้าจำเป็นจะต้องสร้างความนิยมในหมู่ประชาชนด้วยการสร้างภาพพจน์ว่าเป็นคนดี มีความซื่อสัตย์ มีคุณธรรม แต่ความเป็นจริงแล้ว ผู้เป็นเจ้าต้องพร้อมที่จะเป็นคนเข็มแข็งเด็ดขาด ไร้ความเมตตา กลับกลอก (เมื่อสถาณะการณ์บีบบังคับ) ประเด็นสำคัญที่สุดของผู้เป็นเจ้าคือ ต้องรักษาเสถียรภาพแห่งอำนาจของตนและต้องรักตนเท่านั้น รูปแบบการปกครองที่แมคเคียเวลลี เห็นว่าเหมาะสมที่สุด (เขาดูและเข้าใจจากสถานการณ์ของนครรัฐแห่งอิตาลีภาคเหนือ) คือ สมบูรณาญาสิทธิราช หมายถึงการปกครองโดยคนคนเดียว ซึ่งมีอำนาจสูงสุดและเด็ดขาด ที่เขามีความเห็นเช่นนี้ เพราะจุดยืนจากธรรมชาติของมนุษย์ของ แมคเคียเวลลีนั้นเห็นว่าจะเป็นการยากมาก ที่จะสร้างรูปแบบการปกครองแบบสาธารณรัฐโดยคนกลุ่มน้อย หรือคนกลุ่มมากที่ดีได้ ความสำเร็จของการปกครอง เพื่อความเป็นระเบียบมั่นคงย่อมมาจากการกระทำของคนคนเดียว ซึ่งชาญฉลาดและมีอำนาจเด็ดขาด (ที่จริงแมคเคียเวลลีก็เห็นด้วยว่า การปกครองในระบอบประชาธิปไตยเป็นของดี แต่มีข้อบกพร่องสำคัญคือขาดเสถียรภาพ ขาดความมั่นคง และความดีของระบบมักจะทำลายตัวมันเองเสมอ) หลักการสำคัญในการปกครองตามทัศนะของแมคเคียเวลลีก็คือกฎหมาย และการปฏิบัติทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด ในแง่นี้ แมคเคียเวลลีมีทัศนคติต่อกฎหมายในการให้ความสำคัญต่อหลักประเพณี กล่าวคือเขาพูดว่า "กฎหมายคือหลักการสำหรับพิพากษาข้อขัดแย้ง ซึ่งผ่านการตรวจสอบโดยสถาบันต่าง ๆ และพัฒนามาเป็นระยะเวลานานก่อนที่จะได้รับการเชื่อถือ" การที่คนยอมตัวเข้ามาอยู่ในรัฐภายใต้การปกครองของคนคนหนึ่ง หรือคนกลุ่มหนึ่ง เพราะเขาเชื่อมั่นในหลักประกันของกฎหมาย ว่าเขาจะได้รับการคุ้มครองและจะได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมจากผู้ใช้กฎหมายนั้น (คือผู้ปกครอง)
 
คำสำคัญ (Tags): #HA Forum 2012
หมายเลขบันทึก: 502596เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2012 21:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กันยายน 2012 20:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • สวัสดีค่ะท่านBlank กำจัด คงหนู   หวังว่าท่านคงจะสบายดีนะคะ
  • ขอบคุณ สำหรับเรื่องดีๆ ที่ท่านนำมาให้อ่านค่ะ
  • อย่าลืมแวะไปอ่าน  ปลาๆ  หน้าวัดหงษ์ ปทุมาวาสของครูทิพย์ บ้างนะคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท