บทบาทของนักเทคโนโลยีการศึกษาสู่สังคมที่มีฐานแห่งความรู้


เมื่อวานที่ 14 กันยายน 2549

        ได้รับเชิญไปบรรยายพิเศษ เรื่อง เทคโนโลยีการศึกษาและการสื่อสารกับการจัดการฐานความรู้ที่คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม...พอไปถึงทราบว่ารูปแบบการบรรยายเปลี่ยนไปเป็นการเสวนา...แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เราต้องกังวล...ที่เตรียมไปบรรยายพิเศษก็สามารถนำมาใช้ได้เพราะประเด็นยังอยู่ที่เดิม...ว่าบทบาทนักเทคโนโลยีการศึกษามาเกี่ยวข้องหรือมีบทบาทอย่างไรต่อการส่งเสริมให้เป็นสังคมฐานความรู้ (Knowledge Base Society)

       การเสวนาครั้งนี้ร่วมกับท่านผู้อำนวยการพื้นที่การศึกษามหาสารคามเขต 1 ดร.สุรัตน์  ดวงชาทม  โดยมี รศ.ดร.ไชยยศ เรืองสุวรรณ ท่านนายกสมาคมเทคโนโลยีการศึกษาแห่งประเทศไทยร่วมด้วย กลุ่มเป้าหมาย...ที่ร่วมฟังการเสวนา และเป็นนักเทคโนโลยีการศึกษา นักศึกษาหลักสูตรเทคโนโลยีการศึกษาทุกระดับตั้งแต่ ป.ตรี-ป.เอก...ศิษย์เก่าและผู้สนใจทั่วไป...

 

ในทัศนะของดิฉันที่มีมุมมองต่อ การพัฒนาไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้จะต้องดำเนินการไปพร้อมกัน 2 ด้าน คือ
1. การพัฒนาที่นำไปสู่สังคมข้อมูลข่าวสาร หรือสังคมสารสนเทศ (Information Society) ซึ่งจะต้องมีการพัฒนาทางด้านกายภาพให้มีศักยภาพ และมีประสิทธิภาพสูงเพียงพอที่จะรองรับข้อมูลข่าวสารเป็นจำนวนมากได้ อีกทั้งมีการสร้างฐานข้อมูลความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เหมาะสม สร้างโอกาสการรับรู้และกระจายข้อมูลข่าวสารอย่างทั่วถึง
2. การพัฒนาที่นำไปสู่สังคมที่มีฐานแห่งความรู้ (Knowledge – based Society) ซึ่งจะต้องมีการปรับระบบการศึกษาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถและโอกาสในการเรียนรู้ มีการพัฒนาคนเพื่อการปรับปรุงทักษะอย่างต่อเนื่อง

       จากกระแสการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมฐานความรู้ ดังกล่าว สิ่งสำคัญจึงอยู่ที่การทำอย่างไรที่จะให้คนได้เกิดการเรียนรู้ และการสร้างสภาพแวดล้อมแห่งการเรียนรู้ให้บุคลากรสามารถพัฒนาตนเองได้ตลอดเวลา รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ ทักษะ และทัศนคติที่ดีต่อการปฏิบัติงาน ให้สามารถปฏิบัติงานตามเป้าหมายของสังคมนั้นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสิ่งสำคัญประการหนึ่ง คือ การปรับเปลี่ยนวิธีคิดจากแบบเดิมที่เน้นแยกส่วนมาเป็นคิดแบบเชื่อมโยงและบูรณาการ อีกทั้งสามารถทำงานเป็นทีมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

   

       การบูรณาการ ICT มาใช้ในการจัดการความรู้ในสังคมฐานความรู้ยังมีจุดมุ่งหมายของการใช้ระบบการจัดการความรู้
1. เพื่อทำให้เกิดการแบ่งปันและการประยุกต์ใช้ความรู้
2. ระบุผู้เชี่ยวชาญและเครือข่ายบุคคลอย่างไม่เป็นทางการ
3. เพื่อการมีส่วนร่วมในเครือข่ายและชุมชน
4. เพื่อการสร้างและการแลกเปลี่ยนความรู้ในเครือข่ายต่างๆ
5. เพื่อเพิ่มความสามารถของคนในการเรียนรู้
6. เพื่อเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างความรู้ คน และกระบวนการ

       ดังนั้น บทบาทของนักเทคโนโลยีต่างๆ โดยเฉพาะนักเทคโนโลยีการศึกษาหรือนักเทคโนโลยีการสอนที่มีบทบาทหน้าที่ที่สำคัญในการออกแบบสิ่งแวดล้อมทางการเรียนรู้ของมนุษย์นั้น ต้องเน้นตระหนักในการให้ความรู้ได้เกิดการถ่ายโอนความรู้ หรือมีการเคลื่อนย้ายของความรู้ เพื่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายความรู้จากภายในสู่ภายนอก จากภายนอกสู่ภายนอก จากภายนอกสู่ภายใน และจากภายในสู่ภายใน เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาและนำความรู้ที่มีมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด

เมื่อการเสวนาจบลงทางผู้จัดได้มีการแบ่งกลุ่มย่อยสัมมนาเป็น 5 ห้อง คือ
1. ห้อง Computer Base Learning and Knowledge Based Society (CBL and KBS)
2. ห้อง Learning Object and Knowledge Based Society (LO and KBS)
3. ห้อง Learning Mangement System and Knowledge Based Society (LMS and KBS)
4. ห้อง e-Learning and Knowledge Based Society (e-learning and KBS)
5. ห้อง Distance Learning and  Knowledge Based Society (DL and KBS)

       จากบทสรุปการสัมมนาย่อยในแต่ห้องทำให้นักเทคโนโลยีการศึกษาทราบบทบาทของตนเองได้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า...ในการแต่ส่วนของการออกแบบสิ่งแวดล้อมทางการเรียนรู้นี้ไปช่วยเสริมสร้างการเกิดเป็นสังคมฐานความรู้ได้อย่างไรบ้าง...

หมายเลขบันทึก: 50243เขียนเมื่อ 15 กันยายน 2006 16:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2013 12:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • เป็นความเคลื่อนไหวเรื่องเทคโนโลยีทางการศึกษาที่น่าสนใจที่สุดเรื่องหนึ่ง
  • มุมมองของ ดร.กะปุ๋ม ประสบการณ์ ปูมหลังทางวิชาการ วิถีแห่งปัญญา และ Human Skill หาก ดร.กะปุ๋ม จับเอาเรื่องต่างๆที่เป็นประเด็นทางสังคมที่เล่นอยู่อย่างเชี่ยวชาญมากมาย เป็นเนื้อหา และจับเรื่องเทคโนโลยีการศึกษา เป็นเครื่องมือและยุทธศาสตร์การจัดการความเปลี่ยนแปลง เชื่อว่า ดร.กะปุ๋ม จะเป็นนักวิชาการทางเทคโนโลยีการศึกษาเพื่อสังคมที่ดีที่สุดคนหนึ่ง 
  • ขอมีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองนิดเดียวนะครับ อย่าคิดว่าอวดดีนะครับ ถือเสียว่าเป็นคนที่สนใจคล้ายกันก็แล้วกัน...สังคมฐานความรู้นั้นน่าสนใจมาก อีกทั้งควรมุ่งใส่ใจอย่างยิ่งด้วย แต่กุศโลบายในการขับเคลื่อนนั้นสำคัญมาก การเริ่มต้นที่พยายามใช้เทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนก่อน  โดยมักขาดการนำเอาประเด็นทางสังคมของตนเองมาเป็นฐานค้นหาความจำเป็นอยู่เสมอๆในฐานกระบวนการเรียนรู้ไปด้วย มักทำให้เทคโนโลยีที่นำมาใช้  มีบทบาทเพียงสิ่งอำนวยความสะดวก  ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว อาจเป็นหนทางหนึ่งที่มีพลังพอต่อการปฏิรูปการศึกษา-เรียนรู้อย่างมากมาย มิใช่เพียงสิ่งอำนวยความสะดวก หรือสิ่งเสริมเข้ามา  จะทำหรือไม่ทำก็ได้เท่านั้น
  • การพัฒนาคนให้รักการเรียนรู้  สร้างศักยภาพ  เรียนรู้สังคม  กระทั่งมีความสามารถทางเทคโนโลยีแบบ Voluntary Action ไปตามความพร้อมและความจำเป็น จำเป็นต้องเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติการทางเทคโนโลบยีการศึกษา เพราะจะทำให้หน่วยงานและประชาชนมีความฉลาดทางสังคมก่อนการตัดสินใจ  สามารถพิจารณาเลือกเข้าถึงเทคโนโลยีไปตามบริบทและความจำเป็นของตน น่าจะแก้ปัญหาการใช้เทคโนโลยีแบบทันสมัยแต่ไม่พัฒนา อีกทั้งจะเป็นสังคมฐานความรู้ที่ยั่งยืน หรือเปล่านะครับ

 

 

 

  • ขอแลกเปลี่ยนเพิ่มอีกนิดครับ เป็นข้อสังเกต..
  • กรณีของมหาวิทยาลัยมหาสารคามและเครือข่ายการเรียนรู้เพื่อเคลื่อนไหวการพัฒนาเรื่องนี้ของ ดร.กะปุ๋มนั้น ผมว่าน่าจะไปได้ไกลกว่าประเด็น LO หรือการใช้เทคโนโลยีทางการศึกษามาพัฒนาการศึกษารูปแบบใหม่ หรือระบบใหม่ๆ เท่านั้นนะครับ
  • ประการแรก การที่เป็นมหาวิทยาลัยในภูมิภาค-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีความจำเป็นและมีอุปสรรคปัญหาทางการศึกษามากหลายที่เชื่อมโยงอยู่กับปัญหาการพัฒนาทางสังคมเศรษฐกิจ  โดยเฉพาะความยากจนและยากไร้โอกาส  สุขภาพ  และความเปลี่ยนแปลงทางสังคม-สิ่งแวดล้อม
  • ประการที่สอง  อยู่ใกล้กับพื้นที่ชายแดนและประเทศเพื่อนบ้าน
  • ประการที่สาม มีทุนทางสังคม ทุนมนุษย์ และบุคลากรที่มีคุณภาพเยอะเลยครับ ของจริง ตัวจริง และเสียงจริงทั้งสิ้น
  • ดังนั้น ประเด็นที่ว่าน่าจะไปไกล  จึงน่าจะไม่เหมือนใครเลยและน่าจะกระทบต่อการพัฒนาสังคมมากด้วย เช่น e-Learning / Distance Learning เพื่อความเท่าเทียมและความยุติธรรมทางการศึกษา   e-Learning / Distance Learning เพื่อความสัมพันธ์เชิงสมานฉันท์และความร่วมมือเพื่อจัดการความเปลี่ยนทางด้านต่างๆ เป็นต้นว่า การพัฒนาคนและชุมชนเพื่อสุขภาพ เศรษฐกิจชุมชน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวัฒนธรรม การพัฒนาค่านิยมและโลกทัศน์เพื่อสังคมที่ไร้พรมแดน เป็นต้น
  • ขอบคุณมากเลยครับที่นำมาถ่ายทอด ให้ได้เรียนรู้และหูตากว้าง ไปด้วย

เรียนท่าน อาจารย์ ดร.วิรัตน์  คำศรีจันทร์

ทันทีที่กะปุ๋มได้มาเจอความเห็นของท่าน..นั่นทำให้หัวใจรู้สึกพองโตยิ่ง...เพราะเป็นมุมมองที่มีค่ายิ่งและดูเหมือนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง...การขับเคลื่อนของนักเทคโนโลยีคนหนึ่งที่ร่วมผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนกระแสการเปลี่ยนแปลงทางสังคม...

โจทย์: ที่กะปุ๋มตั้งให้กับตนเอง...ว่า "ความยั่งยืน"...แห่งการเรียนรู้ของมนุษย์นั้น เราจะผลักดันให้เกิดขึ้นได้อย่างไร...

ความยั่งยืนที่ว่า นั้นคือ...มนุษย์เรานั้นสามารถมีกระบวนการสร้างความรู้ในตนเองได้อย่างไร...ซึ่งไม่จำกัดว่าความรู้นั้นจะเป็นเรื่องใดก็ตาม แต่คนในสังคมเราไม่ว่าจะเจอโจทย์ ปัญหา ในชีวิตด้วยโจทย์ใดใดก็ตาม...ก็สามารถแก้โจทย์นั้นได้ด้วยกระบวนการสร้างความรู้ที่มีอยู่ในปัญญาตน...

ดังนั้น...กระบวนการหนึ่งที่จะเอื้อให้คนเราสามารถไปสู่ความยั่งยืนแห่งการเรียนรู้ได้นั้น การปลูกฝังจากระบบการศึกษาก็เป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมขับเคลื่อน...บทบาทของนักเทคโนโลยีการศึกษาควรตั้งต้นการเริ่มต้นใหม่..แทนที่เราจะนำสื่อและเทคโนโลยีมาเป็นตัวตั้ง ... แต่เราปรับมุมมองใหม่อีกนิดว่า...สภาพการเรียนรู้ที่เหมาะสมของผู้เรียนนั้นเป็นอย่างไร ... แล้วเราค่อยออกแบบสิ่งแวดล้อมทางการเรียนรู้...พร้อมทั้งเลือกสื่อที่เหมาะสมต่อการตอบสนองต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนนั้นได้...และสื่อที่ว่านั้นไม่จำเป็นต้องเป็น hardware หรือ  sofeware หรือ high technology เสมอไป..."สื่อบุคคล"...ก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่นำไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ดียิ่ง...

แต่การเปลี่ยนแปลงอะไรก็ตามหากเราผลีผลามรีบทำลงไป กระแสแห่งการต่อต้านจะเกิดขึ้น...กะปุ๋มเชื่อว่า...เราค่อยๆ ขับเคลื่อนอย่างมั่นคง...ต่อการเปลี่ยนแปลงและปลูกฝัง..ให้เกิดความยั่งยืน...ช้าหน่อยไม่เป็นไรแต่ค่อยแตกหน่อ..ออกผลไป...เราจะได้ผลผลิตที่งดงามยิ่ง...

ขอบพระคุณท่านมากนะคะ...ที่มาช่วยเติมต่อ...ต่อยอดอันนำไปสู่ความสมดุลย์ทางปัญญา..มากยิ่งขึ้น

*^__^*
กะปุ๋ม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท