ครูเพื่อศิษย์สร้างห้องเรียนกลับทาง : 8. คำถาม - คำตอบ


ลักษณะสำคัญที่สุดของห้องเรียนกลับทาง คือกลับทางจุดสนใจจากตัวครูและการสอนของครู ไปที่ตัวเด็กและการเรียนของเด็ก

ครูเพื่อศิษย์สร้างห้องเรียนกลับทาง  : 8. คำถาม - คำตอบ

หนังสือ Flip Your Classroom : Reach Every Student in Every Class Every Day บทที่ ๘ ชื่อ Answering Your Questions (FAQs) เป็นการนำเอาคำถามดีๆ มาตอบ   เพื่อช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจห้องเรียนกลับทางและเรียนให้รู้จริงแจ่มชัดขึ้น

 

ห้องเรียนกลับทางมีหลายแบบ อะไรคือลักษณะร่วมของห้องเรียนกลับทางหลากหลายแบบนั้น

ห้องเรียนกลับทางไม่จำเป็นต้องใช้วิดีทัศน์   การใช้วิดีทัศน์มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สาระความรู้แก่เด็ก

ลักษณะสำคัญที่สุดของห้องเรียนกลับทาง คือกลับทางจุดสนใจจากตัวครูและการสอนของครู ไปที่ตัวเด็กและการเรียนของเด็ก   

ดังนั้นครูที่ต้องการจัดห้องเรียนกลับทางต้องตั้งคำถามว่า มีกิจกรรมใดบ้างที่เด็กสามารถเรียนรู้ได้โดยไม่ต้องมีครูคอยสอนหรือแนะนำ   ก็เอากิจกรรมนั้นๆ ออกไปจากห้องเรียน   ให้เด็กไปทำที่บ้าน   เพื่อใช้เวลาที่ครูกับนักเรียนอยู่ด้วยกันให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้สูงสุดต่อเด็ก

จึงสรุปได้ว่า หัวใจของการกลับทางคือ กลับทางจากเน้นที่การสอน มาเน้นที่การเรียน   ห้องเรียนกลับทางคือรูปธรรมของ 21st Century Learning 

 

ทำอย่างไรกับเด็กที่ไม่มีคอมพิวเตอร์ที่บ้าน

การดูวิดีทัศน์ที่บ้านทำได้หลายทางตามระดับของเครื่องอำนวยความสะดวกที่มี ได้แก่ โหลดใส่ thumb drive หรือโทรศัพท์มือถือ  หรือ iPod  ให้เอาไปดูด้วยคอมพิวเตอร์ที่บ้าน   burn ใส่ DVD ให้ไปดูด้วยเครื่อง DVD Player ที่บ้าน   เอาไฟล์วิดีโอไปไว้บนหลายๆ เว็บ ที่นักเรียนสะดวกเข้าไปดู  เป็นต้น

ผมชื่นชมครูผู้เขียนทั้งสอง ที่บอกว่า ในการใช้เทคโนโลยีช่วยการเรียน   ให้ระวังว่ามันจะยิ่งไปถ่างระยะห่างของ digital divide   ครูและโรงเรียนต้องทำให้ระยะห่างนี้แคบลง

ข้อเตือนใจคือ อย่างหลงบูชาเทคโนโลยี   มันเป็นเครื่องมือให้เรียนได้รู้จริง สนุกสนาน และสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนและในชีวิต ให้แก่ศิษย์  

ย้ำอีกทีว่า มันเป็นเทคโนโลยีช่วยการเรียน   อย่าหลงใช้เฉพาะเพื่อช่วยการสอน

 

รู้ได้อย่างไรว่าเด็กดูวิดีทัศน์

รู้ได้โดยกำหนดข้อตกลงให้เด็กจดบันทึกจากการดูวิดีทัศน์ แล้วเอามาให้ครูดู   ก็จะได้ประโยชน์สองต่อ คือเด็กได้ทำความเข้าใจอีกรอบหนึ่งโดยการเขียนความเข้าใจของตน   และครูก็ได้ตรวจสอบว่าเด็กทุกคนได้ดูวิดีทัศน์   โปรดสังเกตว่าเมื่อครูให้เด็กทำการบ้านดูวิดีทัศน์แล้วก็ไม่ใช่แล้วกัน   ต้องมีเครื่องมือกำกับพฤติกรรมของเด็กด้วย   แม้ว่าจะมีเพียงบางคนเท่านั้นที่น่าเป็นห่วงว่าจะมีเรื่องเบนความสนใจไปจากการ เรียน

ในห้องเรียน นักเรียนแต่ละคนจะต้องแสดงกระดาษบันทึกของตน และถามคำถามที่น่าสนใจ ๑ คำถาม   ช่วงเวลานี้แหละที่เป็นตัวช่วยทำให้นักเรียนทุกคนมีบทบาทในการเรียนรู้ในชั้น   วิธีการง่ายๆ นี้ยิ่งใหญ่มาก   เพราะจะช่วยดึงเด็กเบื่อเรียนเพราะเข้ากลุ่มไม่ค่อยได้   ให้เข้ามาแสดงบทบาทในการเรียน   ที่เรียกว่าเกิด student engagement

ในยุค ไอซีที เช่นปัจจุบัน วิธีส่ง “การบ้าน” ที่เป็นบทสรุปจากการดูวิดีทัศน์สามารถทำได้ง่ายโดยส่งทาง ออนไลน์   ผู้เขียนเล่านวัตกรรมที่คิดขึ้นโดยครู Ramsey Musallam แห่งโรงเรียนใน ซาน ฟรานซิสโก โดยคิด Google form สำหรับจดบันทึก   และแขวนทั้งวิดีทัศน์ และ Google form ไว้บนเว็บไซต์   ช่วยให้เด็กบันทึกด้วยคอมพิวเตอร์ได้ระหว่างนั่งดูวิดีทัศน์ด้วยคอมพิวเตอร์นั่นเอง   เสร็จแล้วเด็กส่งการบ้านทาง อิเล็กทรอนิกส์ ได้ทันที   ส่วนครู Brian Bennett กำหนดให้นักเรียนเขียน บล็อก ทุกวัน เพื่อ AAR การเรียนรู้ของตนในแต่ละวัน  

จะเห็นว่า ครูสามารถคิดนวัตกรรมในการเรียนรู้ ขึ้นมาช่วยการเรียนรู้ของศิษย์ ได้อย่างไม่จบสิ้น   แต่ต้องอย่าหลงเน้นที่นวัตกรรมของครู   ต้องเน้นที่การเรียนรู้ของศิษย์ 

 

ทำอย่างไร กับเด็กที่ไม่ดูวิดีทัศน์

เนื่องจากห้องเรียนแบบกลับทางย้ายการเรียนเนื้อวิชาไปไว้ในวิดีทัศน์ เด็กที่ไม่ดูวิดีทัศน์จึงไม่ได้รับรู้เนื้อหาวิชา    เทียบได้กับการขาดเรียนในชั้นเรียนแบบเดิม   และจะตามชั้นเรียนไม่ทัน

วิธีแก้ปัญหาแบบง่ายๆ ที่ผู้เขียนหนังสือใช้   คือมีคอมพิวเตอร์ ๒ เครื่องตั้งไว้ที่หลังห้อง ให้เด็กดูวิดีทัศน์ระหว่างที่เพื่อนๆ กำลังเรียนอยู่ในช่วงติวอันสนุกสนาน   แล้วไปทำแบบฝึกหัดหรือรายงานการดูวิดีทัศน์ที่บ้าน   เด็กจะเรียนรู้เองว่า การที่ตนเองไม่ดูวิดีทัศน์มาก่อนทำให้ตนพลาดโอกาสการเรียนที่สนุกสนาน  

 

วิดีทัศน์ควรยาวแค่ไหน

หลังจากทดลองทำวิดีทัศน์หลายแบบ    ผู้เขียนสรุปว่า แต่ละตอนของวิดีทัศน์ควรมีวัตถุประสงค์เดียว และยาวระหว่าง ๑๐ - ๑๕ นาที   เด็กชอบบทเรียนที่สั้น   ผู้เขียนบอกว่ากำลังหาวิธีแบ่งเป็นตอนย่อย ตอนละ ๕ นาที   เพราะจะช่วยให้เด็กเรียนได้ดีกว่า

จะเห็นว่า ประเด็นนี้เป็นโจทย์วิจัยได้   เป็นโจทย์วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโืท ได้สบาย

 

การเรียนแบบกลับทางเป็นภาระแก่นักเรียนในการเรียนที่บ้านมากไปไหม   ในเมื่อนักเรียนต้องเรียนหลายวิชา

ตอบจากประสบการณ์ตรงว่าไม่   เพราะในการเรียนแบบเดิม นักเรียนที่หัวไม่ดีแต่ตั้งใจเรียน ต้องใช้เวลามากในการเรียนที่บ้านเพื่อทำความเข้าใจสิ่งที่ตนเองตามไม่ทัน

ความเป็นจริงคือ กลุ่มเด็กหัวไว ทำ “การบ้าน” แบบใหม่ เสร็จตั้งแต่อยู่ที่โรงเรียน   เฉพาะเด็กหัวปานกลางและหัวช้าเท่านั้นที่ต้องไปทำที่บ้าน  

เป้าหมายของการเรียนแบบกลับทางคือ สร้างสภาพการเรียนรู้ที่นักเรียนได้เรียนรู้เท่าเทียมกัน (equitable)   ตามธรรมชาติของนักเรียนที่แตกต่างกัน   ซึ่งหมายความว่านักเรียนต้องใช้เวลาและความพยายามแตกต่างกัน   แต่ครูและห้องเรียนจะช่วยให้นักเรียนทุกคนเรียนบรรลุเป้าหมายเท่าเทียมกันใน เวลาเรียน

ห้องเรียนกลับทางเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันขจัดปัญหาและอุปสรรค  

ข้อพิสูจน์สุดท้ายคือผลสัมฤทธิ์ในการเรียนของนักเรียนทั้งชั้น

 

ทำให้ผู้ปกครองเห็นด้วยอย่างไร

ผู้เขียนทั้งสองได้รับการสนับสนุนจากผู้ปกครองดีมาก   ข้อกังวลในช่วงแรกของการดำเนินการกลับทางห้องเรียนคือ จะเข้าถึงวิดีทัศน์ได้อย่างไร   

จุดสำคัญคือต้องสื่อสารกับพ่อแม่ผู้ปกครอง    ทั้งโดยจดหมายและโดยการประชุมผู้ปกครอง  

มีผู้ปกครองคนหนึ่ง ในช่วงแรกกังวลว่าครูกำลังสอนแบบ online education   แต่เมื่อได้รับคำอธิบาย และมีประสบการณ์จริง   ก็บอกครูว่า ในห้องเรียนกลับทาง ลูกสาวของตนได้มีโอกาสสัมผัสครูมากขึ้น   ซึ่งตรงกันข้ามกับ online education

 

ทำอย่างไรกับเด็กที่ไม่ร่วมมือ

ผู้เขียนบอกว่า อัตราเด็กนักเรียนในชั้นเรียนปกติ ชั้นเรียนกลับทาง และชั้นเรียนกลับทางและเรียนให้รู้จริงเท่าๆ กัน คือร้อยละ ๑๐   แสดงว่ายังมีปัญหาที่ผู้เขียนไม่ีมีปัญญาที่จะแก้   ถ้อยคำนี้เตือนเราว่าปัญหาการศึกษาที่เราเผชิญอยู่ ไม่สามารถแก้โดยครูและโรงเรียนได้ทั้งหมด  

แต่วิธีกลับทางห้องเรียน ช่วยให้ครูได้มีปฏิสัมพันธ์กับเด็ก และรู้จักเด็กเป็นรายคน   ได้เข้าใจปัญหาหรือเรื่องราวของเด็กที่มีปัญหา   ผู้เขียนบอกว่า ช่วยให้เข้าใจว่าสำหรับเด็กเหล่านี้การเรียนไม่ใช่เรื่องที่มีความสำคัญสูงสุดใน ชีวิตของเขา    และช่วยให้ครูและโรงเรียนได้ให้ความช่วยเหลือตามที่เด็กแต่ละคนต้องการ

ผู้เขียนหนังสือเล่าเรื่องเด็กคนหนึ่งที่ต่อต้านครูอย่างรุนแรง    พฤติกรรมดังกล่าวนำไปสู่การช่วยเหลือด้านแนะแนว (counseling)   ข้อดีของการเรียนแบบกลับทางคือ ช่วยให้เด็กแบบนี้ได้รับความเอาใจใส่

 

การเรียนแบบกลับทางทำให้เด็กเรียนดีขึ้นจริงหรือ

ข้อพิสูจน์ที่แม่นยำต้องมาจากผลการวิจัย   ซึ่งตอนเขียนต้นฉบับหนังสือ ยังไม่ออกมา    คำตอบในหนังสือมาจากข้อสังเกตเฉพาะรายเท่านั้น   คือมาจากผลการสอบของนักเรียนในชั้นเรียนของผู้เขียนทั้งสอง   ซึ่งต้องพิจารณาอย่างระมัดระวัง   ดูจากทั้ง ผลการเรียนตอนเริ่มเข้าชั้นเรียน กับผลการเรียนตอนเรียนจบชั้นเรียน  

ความเป็นจริงก็คือ ในปีที่เริ่มกลับทางห้องเรียน ครูทั้งสองรับสอนเคมีต่อจากครูที่เกษียณอายุออกไป   ครูท่านนี้มีชื่อเสียงมาก และยอมรับเฉพาะนักเรียนที่เรียนเก่งเท่านั้น เข้าในชั้นของท่าน (ผมเพิ่งเคยได้ยิน ว่ามีระบบโรงเรียนที่ครูเลือกศิษย์เข้าชั้นเรียนได้)    แต่เมื่อผู้เขียนทั้งสองเข้ารับมรดกชั้นเรียน   ก็พิจารณาว่า เกณฑ์เลือกนักเรียนที่ใช้อยู่ก่อนเคร่งครัดเกินไป    จึงลดหย่อนเกณฑ์ลงมา

หนังสือให้ตัวเลขผลสอบเฉลี่ยก่อนเข้าชั้นเรียน และตอนจบชั้นปี ของนักเรียนในปีก่อน และในปีที่ผู้เขียนทั้งสองเข้าไปรับสอนแบบกลับทาง    และพบว่า คะแนนตอนเข้าต่างกันมาก    แต่คะแนนตอนออกใกล้เคียงกัน   แม้ในตอนที่ครูทั้งสองสอนมีบางช่วงหิมะตกหนัก และเด็กต้องหยุดเรียน 

ครูทั้งสองบอกว่า ข้อพิสูจน์ที่เชื่อถือได้ต้องจัดโดยนักวิจัย   ข้อสังเกตอย่างหนึ่งคือ ตนเองไม่เคยพบเด็กที่เรียนร่อแร่แล้วปรับตัวได้กลายเป็นเด็กเรียนเก่งในห้องเรียนแบบเดิม   แต่พบในห้องเรียนแบบกลับทาง

 

ใครทำวิดีทัศน์

ครูทำใช้เองก็ได้   ใช้ของครูคนอื่นก็ได้   การมีทีมทำวิดีทัศน์เป็นการเรียนรู้ของครู   ถ้ามีการปรึกษาร่วมมือกันโดยวิธีใดก็ตาม ครูก็จะได้เรียนรู้มากขึ้น

ผมมีข้อเพิ่มเติมว่า ครูอาจชวนศิษย์ปีก่อนที่เรียนจบชั้นไปแล้ว หรือศิษย์ปัจจุบัน มาร่วมสร้างวิดีทัศน์ ก็จะช่วยให้เด็กที่มาร่วมทำวิดีทัศน์ได้เรียนรู้ลึกขึ้น   และช่วยให้วิดีทัศน์เหมาะสมต่อนักเรียนรุ่นปัจจุบันมากขึ้น

 

ครูเอาเวลาไหนทำวิดีทัศน์

คำตอบคือใช้เวลานอกเวลาเรียน   ผู้เขียนคนหนึ่งเป็นไก่ตื่นเช้า จึงมาโรงเรียนตั้งแต่ ๖ น. เพื่อจัดทำวิดีทัศน์   แต่อีกคนหนึ่งเป็นนกฮูกเข้านอนดึก   ก็ทำวิดีทัศน์ที่บ้านหลังลูกเมียเข้านอนแล้ว 

แต่เมื่อได้จัดทำวิดีทัศน์ครบแล้ว การปรับปรุงแก้ไขก็ไม่ใช้เวลามาก    จึงมีเวลาเขียนหนังสือเล่มนี้

และเมื่อเขียนหนังสือเสร็จ ก็มีเวลาไปแก้ไขปรับปรุงวิดีทัศน์อีก

วิจารณ์ พานิช

๑๖ ก.ย. ๕๕

หมายเลขบันทึก: 502407เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2012 09:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มีนาคม 2020 10:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สิ่งที่ใช้แทน IPAD คือกระดานชนวน สิ่งที่ใช้ทวนความรู้ คือการบ้าน สิ่งที่ใช้แทนวีดีทัศน์คือ ภาพวาด แต่มิอาจทดแทนได้ คือ "รักชาติไทย" ขอให้ครู อาจารย์ผู้เสียสละทุกท่าน อายุยืน และก้าวหน้าทุกคนครับ ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท