KM รูปแบบการให้บริการคลินิก Health care สุขภาพดีด้วยการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก ตอนที่ 6


กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งที่ 3 (การพัฒนารูปแบบโปรแกรมแบบมีส่วนร่วม) , ทบทวนระหว่างการทำกิจกรรม

  มาถึงตอนที่ 6 แล้วนะครับ  สำหรับ Km รูปแบบการให้บริการคลินิก Health Care สุขภาพดีด้วยการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ของงานส่งเสริมสุขภาพ (แพทย์แผนไทย) ประจำปี 2555 เป็น กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งที่ 3

 

Concept ของตอนนี้ : เคยถามผู้รับบริการหรือผู้ป่วยไหมว่าเค้าต้องการอะไร

 

หลังจากครั้งที่แล้วเราได้ผลพฤติกรรมสุขภาพของผู้รับบริการจำนวน 50 รายโดยการสุ่มเป็นเวลา 20 วัน  ก็ได้สรุปในข้อที่ผู้รับบริการได้ทำเป็นประจำและกิจกรรมไหนที่ผู้รับบริการยังขาดอยู่  จึงได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันโดยการพัฒนาแบบมีส่วนร่วม  มีส่วนร่วมยังไงคือ  มีทั้งผู้บริหารงาน หัวหน้างาน  เจ้าหน้าที่  ผู้รับบริการ และญาติ  มาร่วมกันคิดกิจกรรมและสกัดออกมาในกิจกรรมที่สามารถทำได้  เพื่อเป็นการพัฒนาแบบมีส่วนร่วม  ตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการได้อย่างแท้จริง  เราทำกิจกรรมโดยไม่รบกวนเวลาให้บริการและใช้ช่วงเวลาว่างหลังจากผู้รับบริการและญาติ ใช้บริการเรียบร้อยเเล้วมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันซึ่งมีรายละเอียดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ดังนี้

เริ่มกิจกรรมโดย ตัวผมเองเป็น Fa  ในการดำเนินกิจกรรมในครั้งนี้  โดยกล่าวเริ่มต้นเป็นเนื้อเกี่ยวกับผลสรุปของพฤติกรรมสุขภาพของผู้รับบริการโดยภาพรวมแล้วขาดตรงวไหนบ้างแล้วให้ผู้รับบริการและเจ้าหน้าที่ทุกท่านได้เสนอความคิดเห็นบอกถึงข้อดี ข้อเสียของการจัดกิจกรรมขึ้น  ซึ่งมีผู้เสนอดังนี้

 

พ.อ.(พิเศษ) ประยูร  อภัยพิมพ์ (ผู้รับบริการ) :

ผมคิดเสนอว่าอันไหนที่ดีอยู่แล้วก็ยังไม่ต้องเน้นมาก  เน้นในส่วนที่ขาดในด้านอื่นๆ   จะได้มีความสมดุลกัน  ในเรื่องที่เรายังไม่เคยรู้ก็จะได้รู้มากขึ้น แต่ไม่ใช่ว่าไม่ทำเลย ต้องทำอยู่แต่น้อยกว่าข้อที่ได้น้อยๆ เพื่อไม่ให้ข้อที่ทำดีอยู่แล้วหายไป

 

ด.ต.หญิง ณิชรัตน์  ทองวิชิต  (ผู้รับบริการ) :

เห็นด้วยกับความคิดเห็นของ พ.อ.(พิเศษ) ประยูร เพราะถ้ากิจกรรมที่เราทำดีอยู่แล้วไม่ทำมันก็จะหายไปบางทีสรุปผลตอนหลังข้อที่ดีอาจจะแย่ลง  และผลคะแนนข้อที่น้อยๆมีอะไรบ้าง  จะได้ช่วยๆกันคิดกิจกรรมเพื่อพัฒนาค่ะ

 

คุณศิวพล  สุวรรณบัณฑิต :

ลำดับคะแนน ไม่เคยปฏิบัติเลยมากที่สุด   ได้แก่

1.รับประทานอาหารตามธาตุเจ้าเรือนจำนวน 46 คน คิดเป็น 92%

2.บริหารร่างกายด้วยท่าฤาษีดัดตนอย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ จำนวน 42  คิดเป็น 84%

3.ปลูกสมุนไพรไว้ใช้เอง  เช่นผักสวนครัว  สมุนไพรริมรั้ว  จำนวน 35 ราย  คิดเป็น 70%

4.มีการใช้สมุนไพรที่มีกลิ่นหอมเพื่อปรับอากาศ  เช่น  มะกรูด  ใบเตย  ตะไคร้หอม  จำนวน 33 คน  คิดเป็น 66%

5.ไม่ใช้อิริยาบถเดิมนานๆ  เช่น นั่งทำงานนาน  นอนนาน  เดินนาน  หรือหักโหมในกิจกรรมต่างๆ จำนวน 15 คน  คิดเป็น 30%

เรามาช่วยกันคิดทีละข้อดีไหมครับว่าจะพัฒนาอย่างไรกันดี

ข้อแรกที่เราไม่ค่อยทำกันมากที่สุด  คือ  รับประทานอาหารตามธาตุเจ้าเรือน  ครับ

 

คุณปราณี  จรไกร :

ธาตุเจ้าเรือนเกิด  บางคนยังไม่รู้จัก  เนื่องจากเป็นการใช้เฉพาะการแพทย์แผนไทย  ถ้าผู้รับบริการรู้จักธาตุเจ้าเรือนคงปฏิบัติได้ดียิ่งขึ้น อันนี้ต้องมีการให้คำแนะนำ และคำนวณธาตุเจ้าเรือนประจำตัวเค้าให้ด้วยพี่ว่าดีนะ

 

คุณอิสราภรณ์  ไชยโสภา (ผู้รับบริการ)

ดีค่ะ  พี่ชอบการดูแลสุขภาพแบบไทยๆ  ถ้าได้แนวความรู้พี่ว่าจะสามารถดูแลตัวเองได้ดี และนำไปแนะนำคนอื่นได้ด้วย  อะไรที่เป็นภูมิปัญญาไทยพี่ชอบค่ะ  ถ้าแนะนำให้รู้จักธาตุเจ้าเรือน และรู้ว่าตัวเองธาตุอะไรจะดูแลตนเองเป็นพิเศษมากขึ้น

 

คุณญดา  เฉลิมพงษ์ :

ทางคลินิกเรามีแผ่นพับที่แนะนำธาตุและคำนวณธาตุเจ้าเรือนอยู่แล้วถ้ามีการแนะนำสักนิดน่าจะนำไปทำได้และปฏิบัติได้ในเรื่องกานทานอาหาร  การดื่มน้ำสมุนไพรก็ครอบคลุมอยู่ในนี้

 

คุณศิวพล  สุวรรณบัณฑิต

เราก็ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับกิจกรรมในข้อแรกแล้วนะครับ ว่าจะทำกิจกรรมอะไรกันบ้าง  มาดูข้อที่สองที่ปฏิบัติกันน้อยอยู่คือ  ด้านอิริยาบถ   ด้วยการบริหารร่างกายด้วยท่าฤาษีดัดตนอย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์   กิจกรรมในแบบประเมินมันบ่งบอกอยู่แล้วว่าให้ยืดเหยียด  หรือทำฤาษีดัดตน เรายังทำกันน้อยอยู่

 

คุณปราณี  จรไกร :

ปกติแล้วเรามีการเปิดวีซีดี  ในช่วงเช้า  และบ่ายให้ผู้รับบริการได้ดูและลองทำตาม  แต่ยังขาดคนสาธิต  เราก็จะมีคนมายืนสาธิตคู่กับวีซีดี และให้ผู้รับบริการลองทำตาม  และมีการแนะนำท่าฤาษีดัดตนเฉพาะโรคที่มีอาการปวด  และเราคิดว่าจะมีกิจกรรมทำร่วมกันเดือนละ 2 ครั้งในการแนะนำท่าบริหาร ด้วยฤาษีดัดตนร่วมกันในตอนบ่ายๆ

 

คุณศิวดี  ใจอินทร์ (ผู้รับบริการ)

แต่ท่าบางท่าคนที่สูงอายุก็ทำไม่ได้นะ  แบบที่ดัดตัวเอง  บางคนกระดูกบาง  กระดูกพรุน  ทำไปจะอันตรายไหม  น่าจะมีการเลือกเฉพาะท่าที่ทำได้และปลอดภัย

 

ด.ต.หญิง ณิชรัตน์  ทองวิชิต  (ผู้รับบริการ) :

พี่สนใจมากเลยค่ะ  อยากให้มีการสอนฤาษีดัดตน เพื่อนำกลับไปทำเอาแบบท่าที่ทำง่าย  ได้ผลดี  และไม่อันตราย  จริงๆแล้วถ้ามีกิจกรรมอื่นๆด้วยคล้ายๆ ฤาษีดัดตนเช่น  โยคะ รำกระบอง หรือรำพัด  ลีลาส  อะไรแบบนี้จะดีนะค่ะ  ถ้าคนสูงอายุหน่อยจะเต้นลีลาส ก็จังหวะช้าๆ ก็ถือได้เคลื่อนไหวอิริยาบถเป็นการส่งเสริมสุขภาพด้วยค่ะ     

 

คุณศิวพล  สุวรรณบัณฑิต

เป็นความคิดที่ดีมากๆครับ กิจกรรมหลากหลายจะได้ไม่เบื่อ เรารับข้อเสนอมานะครับ แล้วจะมาพิจารณาอีกทีหนึ่ง  ส่วนในข้อที่ 3 ที่เรายังทำกันน้อยอยู่ คือ ปลูกสมุนไพรไว้ใช้เอง  เช่นผักสวนครัว  สมุนไพรริมรั้ว  ข้อนี้เป็นการเสริมเรื่องอโรคยา ด้วยครับ    

 

เป็นเพียงตัวอย่างบทสนทนาในช่วงหนึ่งเท่านั้นยังมีอีกเยอะครับถ้าเอาลงหมดคงจะยาวมากๆไ  ขอสรุปเป็นแผนผังความคิดที่พวกเราช่วยกันถอดบทเรียนและสกัดออกมาในเรื่องการพัฒนาโปรแกรมแบบมีส่วนร่วมได้ดังนี้ครับ

 

สรุปเป็นกิจกรรมที่ช่วยกันสกัดออกมาเป็นแผนผังความคิดครับผม ซึ่งเป็นผังที่มีการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมจากผู้บริหาร หัวหน้างาน  เจ้าหน้าที่ ผู้รับบริการและญาติ  

 

ทบทวนหลังกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งที่ 3

 ควรมีการจัดแลกเปลี่ยนเรียนรู้สำหรับผู้ที่มีสุขภาพดี  เทคนิคการดูแลสุขภาพ และกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพต่างๆ

 

หมายเลขบันทึก: 502188เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2012 23:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2012 23:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท