ความหมายของ “สิทธิมนุษยชน” ตอนที่ 3


สิทธิมนุษยชน กับ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

อย่างไรก็ตาม  คณะกรรมการร่างพระราชบัญญัติมีความเห็นด้วยเสียงส่วนใหญ่ว่า  เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน  ขณะเดียวกันก็ไม่จำกัดกรอบของพัฒนาการความคิดด้านสิทธิมนุษยชน  ควรให้นิยามสิทธิมนุษยชนไว้  จึงเป็นที่มาของนิยาม สิทธิมนุษยชน ดังปรากฏในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน พ.ศ.2542 ดังนี้

 

สิทธิมนุษยชน  หมายความว่า  ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  สิทธิ  เสรีภาพและความเสมอภาคของบุคคลที่ได้รับการรับรองหรือคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  หรือตามกฎหมายไทย  หรือตามสนธิสัญญาที่ประเทศไทยมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตาม

 

หากพิจารณานิยามข้างต้น จะเห็นว่ามีลักษณะที่ครอบคลุมความหมายของแนวคิดทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม  ซึ่งบางแนวคิดยังหาข้อยุติในความหมายไม่ได้ เช่น ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

 

เจตนารมณ์ที่สำคัญในการบัญญัติเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540  คือ  แนวความคิดที่ต้องการให้  มนุษย์ตระหนักว่าในความสัมพันธ์ระหว่างกันนั้น จะปฏิบัติต่อผู้อื่นเยี่ยงสัตว์  คือในลักษณะที่ต่ำกว่ามนุษย์ไม่ได้ [1]

 

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ปรากฏวลี ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หลายแห่ง เพราะผู้ร่างต้องการให้มีแนวคิดในเรื่องกฎหมายธรรมชาติ  แต่ไม่ประสงค์ใช้คำว่า กฎหมายธรรมชาติ  จึงแทนด้วยวลี ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

 

คำอธิบายของนักวิชาการเกี่ยวกับศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่น่าสนใจ ได้แก่

 

- การยึดถือว่ามนุษย์คือตัวตนที่มีคุณค่ายิ่งที่ฝ่ายอื่นต้องเคารพ [2]

 

- ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์  หมายถึง  การเห็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์  สิ่งที่กระทบศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์คือ การลดคุณค่า การละเมิดศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์คือ พฤติกรรมที่มนุษย์กลายเป็นวัตถุของการกระทำ [3]

 

ผู้บรรยายมีความเห็นว่า  สิทธิมนุษยชน เป็นแนวคิดที่กว้างขวางกว่า ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์  เพราะสิทธิมนุษยชนเป็นการรวมทุกแง่ทุกมุมของความพยายามที่จะทำให้มนุษย์อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขในสังคมธรรมาภิบาล   ส่วนศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เป็นกรอบความคิดที่มุ่งถึงการให้เกียรติ และยกย่องนับถือว่าบุคคลอื่นก็เป็นมนุษย์เช่นเดียวกับเรา [4]

        กฎบัตรสหประชาชาติและปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน  กล่าวถึง  สิทธิมนุษยชน และ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  แต่ก็มิได้ให้รายละเอียดว่ามีความหมายอย่างไร  หากมองในภาพรวมจะเห็นว่าทั้ง สิทธิมนุษยชน และ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  ล้วนเป็นส่วนสำคัญซึ่งประกอบเป็นฐานแห่งปัจจัยที่ทำให้สังคมอยู่ได้ด้วยดี   ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไม่เหมือนกับสิทธิมนุษยชน  แต่ในขณะนี้ยังไม่มีมาตรฐานสากลที่มีหลักประกันเด่นชัด  ศักดิ์ความเป็นมนุษย์ในปัจจุบันจึงมีเพียงจริยธรรมและศีลธรรมเป็นฐานรองรับ  อย่างไรก็ตาม ศาลในบางประเทศได้ถือโอกาสใช้อำนาจของตนรับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์โดยอ้าง นโยบายสาธารณะ เป็นเหตุผลสนับสนุนประชาสังคม ณ ที่นั้นๆ และวินิจฉัยเป็นกรณีๆ ไปว่า อะไรทำได้หรืออะไรทำไม่ได้  อันเป็นวางหลักการเกี่ยวกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ซึ่งต้องได้รับการรับรอง รับรู้ และคุ้มครอง



[1] ดร.สุจิต  บุญบงการ  สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปีพุทธศักราช 2540.
[2] ศาสตราจารย์ วิทิต  มันตาภรณ์.
[3] ดร.บรรเจิด  สิงคะเนติ.
[4] การหมิ่นน้ำใจ  การหลู่เกียรติ  การไม่ไว้หน้ากัน  เป็นพฤติกรรมที่แสดงถึงการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  ซึ่งมีกฎหมายบัญญัติรับรองและเอาผิดกับการกระทำดังกล่าว เช่น ประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติว่า  การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท  และการดูหมิ่นซึ่งหน้า เป็นความผิดและมีโทษ.
หมายเลขบันทึก: 50198เขียนเมื่อ 15 กันยายน 2006 12:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 14:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท