การใช้ภาษาไทยในการสื่อสารของคนไทย......ในมิติสังคมปัจจุบัน


”เราโชคดีที่มีภาษาของตนเองมาแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษานี้ก็มีหลายประการ ประการแรก คือ ต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในการออกเสียง คือ ออกเสียงให้ถูกต้องและชัดเจน ประการที่ 2 คือ ต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่า วิธีใช้คำมาประกอบประโยค นับเป็นปัญหา ที่สำคัญประการที่ 3 คือ ความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเราคิดว่าไม่ร่ำรวยพอจึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่ขึ้นมาใช้สำหรับคำใหม่ที่ตั้งขึ้นมีความจำเป็นในทางวิชาการไม่น้อย แต่บางคำที่ง่าย ๆ ก็ควรจะมี ควรจะใช้คำเก่า ๆ ที่เรามีอยู่แล้วไม่ควรจะมาตั้งศัพท์ใหม่ให้ยุ่งยาก

การใช้ภาษาไทยในการสื่อสารของคนไทย......ในมิติสังคมปัจจุบัน

          เมื่อ 50 ปีที่ผ่านมาตรงกับวันที่ 29 กรกฎาคม 2505  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปเป็นประธานและทรงร่วมอภิปรายกับผู้ทรงคุณวุฒิในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในหัวข้อ “การใช้ภาษาไทยในปัจจุบัน” ทรงสรุปว่า”เราโชคดีที่มีภาษาของตนเองมาแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษานี้ก็มีหลายประการ ประการแรก คือ ต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในการออกเสียง คือ ออกเสียงให้ถูกต้องและชัดเจน ประการที่ 2 คือ ต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่า วิธีใช้คำมาประกอบประโยค นับเป็นปัญหา ที่สำคัญประการที่ 3  คือ ความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเราคิดว่าไม่ร่ำรวยพอจึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่ขึ้นมาใช้สำหรับคำใหม่ที่ตั้งขึ้นมีความจำเป็นในทางวิชาการไม่น้อย แต่บางคำที่ง่าย ๆ ก็ควรจะมี ควรจะใช้คำเก่า ๆ ที่เรามีอยู่แล้วไม่ควรจะมาตั้งศัพท์ใหม่ให้ยุ่งยาก[1] เพราะฉะนั้นวันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปีเป็นวันสำคัญของภาษาไทย คือ “วันภาษาไทยแห่งชาติ”

            จากประเด็นพระราชดำรัสของพระองค์ท่าน จะเห็นว่าพระองค์ได้ให้ความสำคัญในการรักษาภาษาไทยซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาติไทย และเป็นอัตลักษณ์ของคนไทยทุกคนที่จะช่วยกันรักษาภาษาไทยให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป สิ่งที่คนไทยทุกคนจะรักษาภาษาไทยให้คงอยู่ได้ตลอดไปนั้น จะต้องใช้ภาษาไทยในการพูด ในการเขียน และการออกเสียงให้ถูกต้องตามหลักภาษาไทย และถูกต้องตามหลักไวยากรณ์

1.ความสำคัญของภาษา

          1.ภาษาแสดงให้เห็นถึงอารยธรรมที่เจริญรุ่งเรืองของประเทศ ประเทศไทยมีภาษาเป็นของตัวเองมานานกว่า 700 ปี นับตั้งแต่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 1826 ในภูมิภาคนี้เหลืออยู่เพียงประเทศเดียว คือประเทศไทยมีทั้งภาษาสำเนียง และอักขระเป็นของตนเอง นอกนั้นถูกกลืนหมด น่าจะภูมิใจ และพยายามรักษาภาษาไทยกันให้มาก

         2.ภาษาทั้งหลายเป็นเครื่องหมายของมนุษย์ชนิดหนึ่ง คือ เป็นทางสำหรับแสดงความคิดเห็นอย่างหนึ่งเป็นสิ่งที่สวยงามอย่างหนึ่ง เช่น ในทางวรรณคดี เป็นต้น ฉะนั้นจึงต้องรักษาให้ดี ประเทศไทยมีภาษาของเราเอง ซึ่งต้องหวงแหน

         3.ภาษาเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญที่สุดของชาติ เพราะภาษาเป็นสื่อให้ติดต่อกัน อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางยึดคนทั้งชาติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระองค์ทรงดำรัสว่าภาษาเป็นเครื่องผูกพันมนุษย์ต่อมนุษย์แน่นแฟ้นยิ่งกว่าสิ่งอื่น และไม่มีสิ่งใดที่จะทำให้คนรู้สึกเป็นพวกเดียวกันหรือแน่นอนยิ่งไปกว่าพูดภาษาเดียวกัน

             4.  ภาษานอกจากจะเป็นเครื่องมือในการสื่อสารแล้ว ยังเป็นสิ่งบ่งบอกถึง “ความเป็นชาติเดียวกัน” ของคนในสังคม เช่นเดียวกับคนไทยเราแม้จะต่างเผ่าพันธุ์ ต่างชาติ ต่างภาษาถิ่น หรือต่างศาสนา แต่เมื่อใดก็ตามที่เราต่างพูด “ภาษาไทย” เราย่อมรู้สึกได้ทันทีถึงความเป็นพวกเดียวกัน ความเป็นชาติเดียวกัน

              5. สำเนียงบอกภาษา  กริยาส่อสกุล ภาษายังใช้แสดงรากเหง้าสติปัญญาและความคิดของบุคคลได้ ดังที่มีการเปรียบเทียบการพูดของแต่ละกลุ่มอาชีพไว้ว่า แม่ค้าปากตลาด ทนายจอมหลักการ ครูชอบอธิบายยาว หมอพูดเทคนิคห้วน ๆ  ทหารใช้คำสั้น คนมีเสน่ห์จะปากหวาน  เซลแมนจะพูดหว่านล้อม และผู้ประกาศหรือโฆษกต้องพูดและอ่านได้ถูกต้องอักขระควบกล้ำชัด

 2. สภาพการใช้ภาษาไทยในการสื่อสารในปัจจุบัน

        ศาสตราจารย์คุณหญิงกุหลาบ มัลลิกะมาส[2]  กล่าวถึงสภาพการใช้ภาษาไทยในการสื่อสารในปัจจุบัน ดังนี้

           1.มีคำบัญญัติเพื่อมีใช้ให้เพียงพอกับความเป็นจริงของชีวิตและวัฒนธรรมด้านการศึกษาต่าง ๆ         คำทั้งหลายที่เกิดขึ้นเป็นภาษาทางวิชาการศึกษา          วิชาการแพทย์ วิชาคหกรรม วิชาวิศวกรรม เป็นต้น  วิชาการเหล่านี้มีความจำเป็นจะต้องสร้างคำขึ้น แม้แต่ภาษาพูดของชาวบ้าน ที่มีเครื่องใช้ มีสิ่งของมีวัตถุเป็นเครื่องมือเครื่องใช้มากขึ้น ก็จำเป็นจะต้องมีคำมากขึ้น เพราะฉะนั้นจึงมีการเร่งสร้างคำใหม่ในภาษาไทยเป็นอันมาก และมีวิธีการสื่อสาร เรียบเรียงถ้อยคำที่แตกต่างกันออกไปมากขึ้น

          2. คำที่เกิดใหม่ในภาษาที่มากที่สุดในภาษาไทย เป็นภาษาต่างชาติ ในอดีตมีการรับภาษาเขมร  มอญ จีน และอื่น ๆ มาใช้ในภาษาไทย ต่อมาประเภทไทยติดต่อกับยุโรปและอเมริกา  คำเหล่านี้จึงเข้ามามีอิทธิพลต่อภาษาไทย โดยเฉพาะคำในภาษาอังกฤษ เช่น รถเมล์ คอนโดมิเนียม เป็นต้น

            3. การใช้คำซึ่งมีความหมายเดิมอย่างหนึ่งให้มีความหมายใหม่อีกอย่างหนึ่ง ในปัจจุบันการใช้คำทำให้ความหมายเปลี่ยนไป เช่น คำว่า “อุ้ม” หมายถึง อุ้มเด็ก อุ้มทารก ปัจจุบันยังหมายถึง “อุ้มไปฆ่า” คำว่า “คลื่นใต้น้ำ”ต่อท่อน้ำเลี้ยง “  “เกียร์ว่าง” คำเหล่านี้มีความหมายเปลี่ยนไปจากความหมายเดิม

          4. ภาษาเฉพาะกลุ่ม เช่น ภาษาของวัยรุ่น เช่น คำว่า “แอ๊บแบ๊ว”  “ว้าว” เป็นต้น หรือ ภาษากีฬา เช่น “มีการดวลแข้งกันในระหว่างผีกับปีศาจแดง” เป็นต้น

3. สาเหตุของปัญหาการใช้ภาษาไทยในการสื่อสารในปัจจุบัน

            พระธรรมกิตติวงศ์[3] กล่าวสรุปสาเหตุของปัญหาการใช้ภาษาไทยในการสื่อสารในปัจจุบัน มีสาเหตุมาจาก 3 ประเด็นใหญ่ ๆ ดังนี้

          ประเด็นที่ 1 เกิดจากความไม่ระมัดระวังในการใช้ภาษา เป็นการใช้ภาษาที่ไม่รอบคอบไม่ถ้วนถี่ คือใช้ตามความรู้สึกนึกคิดของตนเอง โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้อง ถูกความหมายและหลักไวยากรณ์

          ประเด็นที่ 2 ไม่พิถีพิถันในการใช้ภาษา กล่าวคือ ใช้อย่างไรก็ได้ ขาดตกบกพร่องอย่างไรก็ได้ ไม่ถูกไวยากรณ์ก็ยอมรับกันได้ขอให้ฟังรู้เรื่อง จึงทำให้ไม่มีการแก้ไขให้ถูกต้อง

          ประเด็นที่ 3 เคร่งครัดในการใช้ภาษามากเกินไป จึงมีกฎเกณฑ์ มีหลัก มีโครงสร้างมาก ทำให้การพูดมักจะผิดไปจากข้อกำหนดจากหลักไวยากรณ์ จึงก่อให้เกิดการใช้ภาษาที่ผิดหลักเป็นต้น

          ศาสตราจารย์ ดร. กาญจนา นาคสกุล[4] กล่าวถึงสภาพปัญหาการใช้ภาษาไทยในปัจจุบันดังนี้

          1. การใช้ภาษาไทยไม่ถูกต้อง ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีระดับ มีทำเนียบต่าง ๆ มีภาษาวิชาการ ภาษาทางการ ภาษาราชาศัพท์ ภาษาวรรณคดี ภาษาสื่อสารมวลชน ภาษาปาก ภาษาตลกคะนอง  เป็นต้น ปัจจุบันมีการใช้ภาษาเหล่านี้ไม่ถูกต้อง ซึ่งเกิดจากการที่ผู้ใช้ภาษาไทยไม่สนใจที่จะใช้ภาษาให้ถูกต้อง อยากจะพูดอะไรก็พูด อยากจะเขียนอะไรก็เขียน โดยไม่คิดสิ่งที่ตนเองพูดหรือเขียนนั้นถูกต้อง ถูกความหมาย ถูกหลักไวยากรณ์หรือไม่

          2. การใช้ภาษาไม่ตรงกับภาษามาตรฐาน กล่าวคือ ภาษาที่ถือว่าเป็นภาษามาตรฐาน คือ ภาษาถิ่นภาคกลาง โดยมีราชบัณฑิตยสถาน ได้กำหนดวิธีการออกเสียง วิธีการเขียนและการสะกดคำเพื่อให้ภาษาไทยมีเอกภาพ แต่ก็มีการใช้คำหลายคำในปัจจุบันที่ใช้คำเหล่านี้ไม่ตรงกับภาษามาตรฐาน เช่น “อุดสาหกรรม” อ่านว่า อุด-สา-หะ-กำ แต่อ่านเป็น อุด-ตะ-สา-หะ-กำ “ปริยัติธรรม” อ่านว่า ป-ริ-ยัด-ติ-ทำ แต่อ่านเป็น ปะ-ริ-ยัด-ทำ เป็นต้น

          3.ไม่ออกเสียงควบกล้ำ พบว่าปัจจุบันคนไทยไม่นิยมออกเสียงควบกล้ำ เช่น คำว่า “ขาดแคลน” อ่านเป็น “ขาดแคน” “กลั่นแกล้ง” อ่านเป็นกั่นแก้ง” “เอาข้าวคลุก” อ่านเป็น “เอาเข้าคุก” ซึ่งทำให้การสื่อสารไม่สัมฤทธิ์ผล

          4. การใช้ภาษาตามสื่อสารมวลชน นักสื่อสารมวลชนบางคนมักจะออกเสียงไม่ถูกต้อง จึงเป็นตัวอย่างในการใช้ภาษาที่ผิด เช่น คำว่า “บรม” อ่านว่า”บอ-รม” แต่อ่านเป็น “บฺรม” “ปลัด”อ่านว่า “ปะ-หรัด” แต่อ่านเป็น”ปฺลัด” “ผลิต” อ่านว่า”ผะ-หลิด” แต่อ่านเป็น “ผฺลิต” “สุนทรี”อ่านว่า”สุน-ทะ-รี”แต่อ่านเป็นสุน-ทรี” เป็นต้น

          5. การพูดตัดคำ ปัจจุบันมีการพูดตัดคำกันมากขึ้น เช่น คำว่า “รัฐธรรมนูญ” อ่านเป็น”รัด-ทำ-นูน” “ผู้พิพากษา” อ่านเป็น “พาก-สา” “มหาวิทยาลัย” อ่านเป็น “มะ-หา-ลัย” เป็นต้น

          6. การใช้ภาษาที่ไม่คำนึงถึงความถูกต้องตามวัฒนธรรม เป็นการใช้คำที่ไม่ถูกต้องตามกาลเทศะ ตามระดับหรือฐานะของบุคคล เช่น พูดสิ่งที่ควรปกปิดในที่สาธารณะ ใช้คำพูดไม่ถูกต้องตามระดับหรือฐานะของบุคคล ใช้คำสูงกับผู้มีฐานะต่ำ เช่น พูดถึงสัตว์ เช่น แมว สุนัข ว่า”รับประทานอาหาร” “คลอดลูก” ซึ่งเป็นกิริยาที่ใช้กับคน แต่ใช้คำว่า” เลียแผล” “คำราม” “ลิ้นห้อย” ฯลฯ ซึ่งเป็นกิริยาของสัตว์มาใช้กับคน เป็นต้น

4. การใช้ภาษาไทยในการสื่อสารในอนาคต

         พระธรรมกิตติวงศ์[5] กล่าวว่า ภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติ เพราะภาษาคือชาติเป็นส่วนหนึ่งของชาติ เพราะฉะนั้นควรจะดำเนินการดังนี้

1.การอนุรักษ์ ป้องกันการใช้ภาษาไทย

2.ต้องมีการพัฒนาภาษา เพราะว่า ภาษามีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ภาษาเป็นสิ่งมีชีวิต กล่าวคือต้องเจริญเติบโตและพัฒนาไปตลอด แต่ต้องอยู่ในกรอบของวัฒนธรรม

         กล่าวโดยสรุปว่า ภาษาไทยเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาติ ซึ่งควรจะได้รับการทำนุบำรุงส่งเสริม และอนุรักษ์ไว้ให้ยั่งยืนตลอดไป อย่างไรก็ตาม ใน ยุคปัจจุบันวิชาการและเทคโนโลยีต่าง ๆ ได้ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วมาก ทำให้เกิดเทคนิคใหม่ ๆ ในการติดต่อสื่อสาร ซึ่งเน้นความสะดวกสบายและความรวดเร็วเพิ่มขึ้น เป็นพิเศษ ภาษาไทยซึ่งเป็นสื่อกลางสำคัญในการติดต่อและผูกพันต่อการดำรงชีวิตประจำวันของคนไทยก็ได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของความเจริญก้าวหน้าดังกล่าว ทำให้ภาษาไทยที่ใช้ปัจจุบันทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างน่าวิตกเป็นอย่างยิ่ง  การใช้ภาษาไทยในการสื่อสารในปัจจุบันส่วนหนึ่งมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพชีวิตที่เจริญขึ้น ก่อให้เกิดการใช้ภาษามากขึ้น มีการใช้ภาษาสื่อสารกันเฉพาะกลุ่มมากขึ้นและสื่อสารมวลชนได้เข้ามามีบทบาทต่อสังคมมากขึ้น ก่อให้เกิดอิทธิพลด้านภาษามากขึ้น สภาพการณ์เช่นนี้หากไม่เร่งรีบหาทางแก้ไขและป้องกันเสียแต่เนิ่น ๆ นับวันภาษาไทยก็จะยิ่งเสื่อมลง เป็นผลเสียต่อเอกลักษณ์  และคุณค่าของภาษาไทยอย่างไม่ต้องสงสัย



[1] จรวยพร ธรณินทร์, “ความสำคัญของคนไทยกับภาษาไทย”, การบรรยายพิเศษ เรื่อง การฝึกอบรมของสมาคมวิชาชืพนักจัดรายการวิทยุ-โทรทัศน์ไทย, ณ โรงแรมรัตนโกสินทร์ กรุงเทพฯ.

[2] กุหลาบ มัลลิกะมาส,ศาสตราจารย์, คุณหญิง,”ปาธดถานำเรื่อง การใช้ภาษาไทยในปัจจุบัน” ในการใช้ภาษาไทยในปัจจุบัน, (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,2551 ),หน้า 22-30.

[3] พระธรรมกิตติวงศ์, “การเสวนา เรื่อง การใช้ภาษาไทยในปัจจุบัน,” ใน การใช้ภาษาไทยในปัจจุบัน, (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2551) หน้า 83.

[4] กาญจนา  นาคสกุล, ศ,ดร, “การเสวนา เรื่อง การใช้ภาษาไทยในปัจจุบัน”, ใน การใช้ภาษาไยในปัจจุบัน, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2551), หน้า 42-53.

[5] เรื่องเดียวกัน, หน้า 83-84.

หมายเลขบันทึก: 501909เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2012 14:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กันยายน 2012 14:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท