การบริโภคด้วยปัญญา (จบ)


              ๖. สัมมาวายามะ : พยายามชอบ (right effort) คือ ความเพียรพยายามในการดับกิเลศด้วยการศึกษาหลักอริยสัจ ๔ อย่างถูกต้องครบถ้วนตามจริง  สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า :

                    “ภิกษุทั้งหลาย สัมมาวายามะ เป็นไฉน ? นี้เรียกว่าสัมมาวายามะ คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้

                       ๑. สร้งฉันทะ พยายาม ระดมความเพียร คอยเร้าจิตไว้ มุ่งมั่น เพื่อ (ป้องกัน) อกุศลธรรมอันเป็นบาปที่ยังไม่เกิด มิให้เกิด

                       ๒. สร้างฉันทะ พยายาม ระดมความเพียร คอยเร้าจิตไว้ มุ่งมั่น เพื่อละอกุศลธรรมอันเป็นบาปที่เกิดขึ้นแล้ว

                       ๓. สร้างฉันทะ พยายาม ระดมความเพียร คอยเร้าจิตไว้ มุ่งมั่น เพื่อ (สร้าง ) กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น

                       ๔. สร้างฉันทะ พยายาม ระดมความเพียร คอยเร้าจิตไว้ มุ่งมั่น เพื่อความดำรงอยู่ ไม่เลือนหาย เพื่อภิญโญภาพ เพื่อความไพบูลย์ เจริญ เต็มเปี่ยมแห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว

 

             ความเพียรพยายามในการดับกิเลส (โลภะ โทสะ โมหะ) หากมองในแง่ของการเกี่ยวเนื่องทางสังคมเศรษฐกิจก็คือ การต้องฝึกมีความเพียรพยายาม มุ่งมั่นในการบริหารจัดการความต้องการของเราให้อยู่ในระดับที่พอประมาณ สมเหตุสมผล สร้างความสมดุล รวมทั้งเสริมสร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้ตกเป็นทาสต่ออารมณ์ความต้องการนั้น ซึ่งปัจจุบันความหลากหลายในสินค้าและบริการพร้อมดึงดูดและจับเราเหวี่ยงเข้าไปให้ตกอยู่ในวงล้อมของมัน เพื่อกระตุ้นความอยากของเราให้ตื่นตัวและทำงานอยู่ตลอดเวลา เราต้องพยายามฝืนความต้องการไม่ตกเป็นทาส (กิเลส) ของมัน แรก ๆ อาจจะอึดอัด กระวนกระวาย แต่พอนาน ๆ ไปก็จะรู้สึกโปร่ง โล่ง สบาย เหมือนคนที่ไม่ต้องแบกสัมภาระเอาไว้บนบ่าอยู่ตลอดเวลาและหาความสุขได้แท้จริง

 

            ๗. สัมมาสติ : ระลึกชอบ (right mindfulness) คือ การพิจารณาเพื่อให้รู้ธรรมชาติของกาย เวทนา จิตและธรรมตามจริง เพื่อคลายความยึดติดถือมั่นรวมทั้งรู้เห็นความเป็นสามัญลักษณะ (ไตรลักษณ์) ตามจริง   สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า :

                 “ภิกษุทั้งหลาย สัมมาสติเป็นไฉน ? นี้เรียกว่าสัมมาสติ คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้

                      ๑. พิจารณาเห็นกายในกาย มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้

                     ๒. พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้

                     ๓. พิจารณาเห็นจิตในจิต มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้

                     ๔. พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้

 

             การมีสติหรือที่คนส่วนใหญ่เข้าใจในความหมายง่าย ๆ ที่ว่า ความระลึกได้รวมความกินลึกไปถึงความไม่เผลอ ไม่เลินเล่อ ไม่ฟั่นเฟือนเลื่อนลอย สติสัมปชัญญะเปรียบเสมือนเครื่องหมายการค้าที่ตีตราประทับรับรองของความเป็นมนุษย์ปุถุชน ซึ่งหากมองในแง่ที่เกี่ยวเนื่องทางสังคมเศรษฐกิจโดยเฉพาะในฐานะที่เราอยู่ในแวดล้อมของกระแส “บริโภคนิยม” ซึ่งเราต้องเข้าไปเกี่ยวเนื่องกับวัตถุ (สินค้าและบริการ) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ทั้งในทางตรงและทางอ้อม ดังนั้นในการดำเนินชีวิตในสังคมเศรษฐกิจเราต้องพก “สติสัมปชัญญะ” ติดตัวไปด้วยทุกแห่งหน เพราะพลังดึงดูดแห่งวัตถุ (สินค้าและบริการ) มีพลังดึงดูดมหาศาลที่พร้อมจะทำลายสติสัมปชัญะของเราอยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า “สุญญากาศทางสติสัมปชัญญะ” โดยเฉพาะพลังดึงดูดทางด้านการโฆษณาชวนเชื่อ การลดแลกแจกแถม โปรโมชั่นของสินค้าต่าง ๆ ที่พร้อมจะกระชากสติของเราให้หลุดลอยออกไปจากตัวในชั่วขณะเหมือนดังต้องมนต์ ดังนั้นการเข้าไปเสพวัตถุ (สินค้าและบริการ) ต่าง ๆ ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างมีสติ รู้เท่าทันตามจริงที่อิงแอบการเสพวัตถุ (สินค้าและบริการ) บนพื้นฐานของความจำเป็นและประโยชน์ตามจริง

 

             ๘. สัมมาสมาธิ : จิตมั่นชอบ (right concentration) คือ การมีสติที่แน่วแน่ มั่นคงอยู่กับกิจนั้น ๆ ไม่เผลอสติไปในทางที่คิดฟุ้งซ่าน เพ้อเจ้อ เป็นต้น เป็นไปในลักษณะของภาวะแห่งจิตที่มีอารมณ์เป็นหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า “จิตตัสเสกัคคตา หรือ เอกัคคตา”  สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า :

                 “ภิกษุทั้งหลาย สัมมาสมาธิเป็นไฉน ? (คือ) ภิกษุในธรรมวินัยนี้

                    ๑. สงัดจากกามทั้งหลาย สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย บรรลุปฐมฌาณ ซึ่งมีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุข เกิดแต่วิเวก อยู่

                    ๒. บรรลุทุติยฌาณ ซึ่งมีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน มีภาวะใจที่เป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารระงับไป มีแต่ปีติและสุข เกิดแต่สมาธิ อยู่

                    ๓. เพราะปีติจางไป เธอจึงมีอุเบกขาอยู่ มีสติสัมปชัญญะ และเสวยสุขด้วยกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายกล่าวว่า “เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข”

                    ๔. เพราะละสุขละทุกข์ และเพราะโสมนัสโทมนัสดับหายไปก่อน จึงบรรลุจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา อยู่”

 

             การมีสมาธิหรือจิตที่มีอารมณ์เป็นหนึ่งในกิจใด ๆ นั้น เป็นรากฐานของการพร้อมในการประกอบกิจดังกล่าวให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีหรือที่เรียกว่า ภาวะจิตที่พร้อมทำงาน ซึ่งประโยชน์ของสมาธิเป็นไปในลักษณะของการตระเตรียมจิตให้พร้อมในการใช้ปัญญาอย่างได้ผลและถูกต้องตามจริง โดยเฉพาะในการปฏิบัติงานหรือหน้าที่ที่พึงมี หากว่าเรามีสมาธิ (จิตพร้อมทำงาน) งานที่ทำก็ออกมาดี มีพลังและคุณค่าในตัวของเนื้องาน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพและศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ ที่ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม

              

             ซึ่งองค์ประกอบทั้ง ๘ ของมรรค นั้น หากว่าเราจัดลำดับย่อยใหม่ให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น องค์ประกอบของมรรค ๘ ประการดังกล่าว ก็คือ "ไตรสิกขา" ที่เป็นกระบวนการการรับรู้หรือเรียนรู้โดยผ่านการประพฤติปฏิบัติจนเป็นที่ประจักษ์เห็นแจ้ง

            

                   ศีล                              สมาธิ                             ปัญญา

             -  วาจาชอบ (๓)               -  พยายามชอบ (๖)              -  เห็นชอบ (๑)

             - การกระทำชอบ (๔)         -  ระลึกชอบ (๗)                 -  ดำริชอบ (๒)

             - การเลี้ยงชีพชอบ (๕)       -  จิตมั่นชอบ (๘)

              (การไม่เบียดเบียน             (มีสติมั่นคงและ               (เห็นและเข้าใจในทุก

               ตัวเองและผู้อื่น)                ทำในสิ่งที่ดีงาม)                  สิ่งตามจริง)

 

             องค์ประกอบทั้ง ๘ ของมรรคนั้น หากพึงสังเกตให้ดีจะเห็นว่าท่านได้ยกเอา “สัมมาทิฏฐิ” ขึ้นไว้เป็นองค์ประกอบในเบื้องแรก มีนัยว่า สัมมาทิฏฐิบ่งชี้ถึงปัญญาที่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรตามจริงอย่างที่สุด ซึ่งเมื่อรู้ว่าอะไรมีคุณ อะไรมีโทษ อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรดี อะไรไม่ดี ตามจริงอย่างไรแล้ว ก็อยากที่จะประพฤติปฏิบัติอะไร ๆ ในด้านที่ดี ๆ เป็นเบื้องถัดไป ในหลักของการบริโภคที่เราพึงต้องเข้าไปเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับ “วัตถุ (สินค้าและบริการ)” ทั้งในทางตรงและทางอ้อมนั้น ปฐมฐานของกระบวนการบริโภคดังกล่าวหากเราน้อมเอาหลัก “สัมมาทิฏฐิ” (right view or right understanding) มาเป็นแนวทาง ก็จะสามารถเข้าไปเกี่ยวข้องกับสินค้าและบริการที่มีให้เลือกสรรมากมายหลากหลายนั้นได้อย่างถูกต้องตามจริง คือ เป็นการเพ่งพินิจ วิเคราะห์ ที่ประโยชน์ใช้สอยตามจริงแห่งวัตถุ ไม่หลงกระโจนทะยานไปตามความต้องการ (ที่มีไม่สิ้นสุด) ที่ถูกเย้ายวนจากรูปลักษณ์ (คุณค่าเทียม) ของสินค้าและบริการนั้น เป็นไปในลักษณะที่เห็นและเข้าใจในคุณประโยชน์และคุณค่าของสินค้าและบริการนั้นตามจริง (สัมมาทิฏฐิ + สัมมาสังกัปปะ  =  ปัญญา) ในเบื้องแรก น้อมนำไปสู่การกระทำที่ถูกต้องต่อวัตถุ (สินค้าและบริการ) ที่เราเสพและเป็นการกระทำที่ไม่เบียดเบียนตัวเอง รวมทั้งไม่ก้าวล้ำนำไปสู่การเบียดเบียนผู้อื่นและไม่ก้าวล่วงไปตักตวงเบียดเบียนธรรมชาติ (สัมมาวาจา + สัมมากัมมันตะ + สัมมาอาชีวะ  =  ศีล) ในเบื้องถัดไป ซึ่งกระบวนการดังกล่าวก็จะเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงไปสู่ประตูของความตั้งมั่นแห่งสติ เป็นไปในลักษณะของการมีความรู้สึกตัวและตื่นตัวในการเสพวัตถุ (สินค้าและบริการ) ที่เพ่งพินิจที่ประโยชน์และคุณค่าตามจริงอยู่ตลอดเวลา อาจกล่าวได้ว่าเมื่อมาถึงขั้นนี้เวลาที่เข้าไปเกี่ยวเนื่องกับวัตถุที่เสพ ก็จะเข้าไปอย่างมีสติสัมปชัญญะที่มั่นคง (สัมมาวายามะ + สัมมาสติ + สัมมาสมาธิ  =  สมาธิ) เป็นไปอย่างอัตโนมัติในเบื้องปลายท้ายสุด

 

“มีความเห็นและเข้าใจในประโยชน์รวมทั้งคุณค่าของวัตถุ (สินค้าและบริการ) ที่เสพตามจริง เมื่อเข้าไปเกี่ยวข้องก็เกี่ยวข้องอย่างรู้เท่าทันและมีสติที่ตั้งมั่นในด้านกระบวนการการเสพวัตถุที่บรรลุสู่ประโยชน์และคุณค่าแท้ ไม่แปรเปลี่ยนหลงใหลไปตามกระแสและค่านิยมปนเปื้อนของสังคมที่ถูกครอบงำนำทางจากกิเลส (ความอยาก)”

      

           ๒. เบื้องสอง “หลักการบริโภคด้วยปัญญา” ที่แปลงค่ามาสู่ตัวคุณค่าแห่งคุณลักษณะที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับวิธีการนำไปประพฤติปฏิบัติโดยคำนึงถึงความพอประมาณ ความสมเหตุสมผล ความสมดุล และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในการบริโภค ที่ผลิตออกมาจากชุดความคิดของทางสายกลาง (อริยมรรคมีองค์ ๘)    

 

           ๓. เบื้องสาม จากกระบวนการทั้งสองเบื้องดังกล่าวมาแล้วจะพึงพิจารณาได้ว่า “การบริโภคด้วยปัญญา” ในฐานะที่เป็นตัวคุณลักษณะ (ความพอประมาณ ความสมเหตุสมผล ความสมดุล และการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน) ในเบื้องที่สองนั้น ของแต่ละคนมีไม่เหมือนกัน เกี่ยวเนื่องจาก เหตุปัจจัยในการเกื้อหนุนจุนเจือต่าง ๆ ทั้งความสามารถในการหารายได้ (ถูกต้องตามกฎหมายและศีลธรรม)  ความสามารถในการก่อหนี้ (ถูกต้องตามกฎหมายและศีลธรรม) ความรู้ ปัญญา โอกาส เป็นต้น ดังนั้น หลักในการบริโภคด้วยปัญญาของแต่ละคนก็จะแตกต่างกันไปตามคุณลักษณะของการบริหารจัดการของแต่ละคน หากแต่ว่าอยู่ภายใต้กรอบของตัวสภาวะแห่งหลักคิดและการปฏิบัติ (อริยะมรรคมีองค์ ๘) เช่น

                    - นาย ก. มีรายได้        ๑๐,๐๐๐       บาทต่อเดือน

                    - นาย ข. มีรายได้        ๒๐,๐๐๐       บาทต่อเดือน

                    - นาย ค. มีรายได้        ๓๐,๐๐๐       บาทต่อเดือน

                    - นาย ง. มีรายได้         ๔๐,๐๐๐       บาทต่อเดือน

                         ………………………………………………………

          

           สมมติว่า : ทั้ง ๔ คนมีความต้องการที่จะบริโภค (ซื้อ) รถและบ้าน ดังนั้นในการบริโภคโดยใช้ปัญญาทั้ง นาย ก.  นาย ข.  นาย ค.  และนาย ง.  จะต้องพิจารณาถึงองค์ประกอบของ

                    ๓.๑ ความพอประมาณ พิจารณาในสัดส่วนของรายได้ รายจ่ายและหนี้สิน

                    ๓.๒ ความสมเหตุสมผล ประกอบไปด้วย

                           - เปรียบเทียบระหว่างผลดี – ผลเสีย หากซื้อรถกับใช้บริการรถประจำทาง

                           - เปรียบเทียบระหว่างผลดี – ผลเสีย หากซื้อบ้านกับการเช่าบ้าน

                   ๓.๓ ความสมดุล เป็นไปในลักษณะของการพิจารณาถึงความจำเป็นในการบริโภค (ซื้อ) รถและบ้านในขณะนั้นตามจริง

                   ๓.๔ การเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน เป็นการมองถึงอนาคตในกรณีที่ซื้อเงินผ่อน (ระยะยาว) หากในอนาคตประสบกับภาวะเศรษฐกิจไม่ดีจะมีความสามารถในการบริหารจัดการรายได้ รายจ่าย และหนี้สินได้คล่องตัวหรือไม่

           

             “การบริโภคด้วยปัญญา” จากตัวอย่างดังกล่าวที่เป็นจริงในการดำเนินชีวิตในสังคมที่มีเหตุปัจจัยต่าง ๆ ( ความรู้ ความสามารถ ปัญญา โอกาส เป็นต้น) ดังที่กล่าวไปแล้วมาเป็นตัวกำหนดตัวคุณลักษณะ (พอประมาณ สมเหตุสมผล สมดุล และเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน) ของแต่ละคนให้ดำเนินไปในลักษณะที่แตกต่างกัน หรือหากพูดให้เข้าใจได้ง่าย ๆ ก็คือ ในการบริโภคด้วยปัญญาให้ยึดหลักความคิดและแนวทางการปฏิบัติตามทางสายกลาง (อริยมรรคมีองค์ ๘) แต่คุณค่าในลักษณะหรือวิธีการนั้นมิอาจไปกำหนดตายตัวเป็นสูตรสำเร็จให้กับทุกคนได้ว่า ต้องใช้วิธีการเดียวกันเกี่ยวเนื่องจากมีเหตุปัจจัยต่าง ๆ ที่เป็นตัวกำหนดชักใยอยู่เบื้องหลังของความเป็นไปใน ความพอประมาณ ความสมเหตุสมผล ความสมดุล และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของแต่ละคนต่างกัน ดังนั้น การบริโภคด้วยปัญญาจึงให้พึงยึดหลักสภาวะ (อริยมรรคมีองค์ ๘) เป็นแกนกลางทางความคิดส่วนตัวคุณค่าแห่งคุณลักษณะถือเป็นวิธีการที่พร้อมยืดหยุ่นได้เสมอตามเหตุปัจจัย (ความรู้ ความสามารถ สติปัญญา โอกาส เป็นต้น) ที่เปลี่ยนแปลงไปในสภาวการณ์ต่าง ๆ


************************************************************************************************

 

                                                                           บรรณานุกรม

 

พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต). (๒๕๔๔). เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ (พิมพ์ครั้งที่ ๙). กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์สุขภาพใจ.

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต). (๒๕๕๒). พุทธธรรม (ฉบับปรับปรุงและขยายความ : พิมพ์ครั้งที่ ๑๑). กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. 

อภิชา ที่รักษ์. (๒๕๕๑). ทางรอดในภาวะเศรษฐกิจถดถอย : โดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง.กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์ดอกหญ้าวิชาการ.

อภิชา ที่รักษ์ (๒๕๕๕). เศรษฐธรรม หลักปฏิบัติเพื่อความสุขและความมั่งคั่งที่ยั่งยืน. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์ธิงค์ บียอนด์ ธรรมะ.

อภิชัย  พันธเสน. (๒๕๔๔). พุทธเศรษฐศาสตร์: วิวัฒนาการ ทฤษฎี และการประยุกต์กับเศรษฐศาสตร์สาขาต่าง ๆ. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์อมรินทร์.

                                     

หมายเลขบันทึก: 501747เขียนเมื่อ 10 กันยายน 2012 09:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กันยายน 2012 15:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ขอบคุณบทความดีๆ ค่ะ

ขอบคุณ คุณ tuknarak มากครับที่แวะมาใหกำลังใจ และ

ขอบคุณดอกไม้จากทุก ๆ ท่านด้วยครับ

ขอโมทนาสาธุแด่คนที่ปฏิบัติได้ตามบทความนี้ดีมากๆ

ช่วงนี้มีเหตุให้ต้องเดินทางเข้าออก มารีน่าเบย์แซนด์ บ่อยมากค่ะท่านอาจารย์ เดินผ่านความหรูหราอย่างสุดโต่งทางด้านวัตถุแล้วกลับมานั่งดูใจดูกิเลสในใจของตัวเอง สนุกดีค่ะ เหมือนเล่นชักเย่อเลย

ขอบคุณบทความเตือนสตินี้ค่ะ วันนี้จะกลับไปที่เดิมด้วยความคิดที่ต่างไป

ขอบพระคุณ ท่านอาจารย์prathan มากครับที่แวะมาให้กำลังใจอยู่เสมอ

อืม...เกมชักเย่อระหว่างกิเลสกับสติ...ที่มารีน่าเบย์แซนด์ของ คุณปริม น่าสนุกนะครับ

  หวังว่าคุณปริมคงได้รับชัยชนะทั้งสองอย่างนะครับ...ได้กิเลส (สินค้าจากคุณค่าแท้) กับได้ฝึกสติไปด้วย...(อิ...อิ...แอบอิจฉานิด ๆ นะเนี่ย)

 “การบริโภคด้วยปัญญา” ..... ไม่O ..... ถ้าบริโภคแบบ  "ด้อย....ปัญญา"             นะคะ ... น้องชาย ... นายจัตุเศรษธรรม ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท