ความแตกต่างระหว่างเถรวาทกับมหายาน


การเฟ้นหาความต่างนี้เพื่อความรู้ ไม่ใช่เพื่อสร้างความไม่พออกพอใจต่อกันและกัน ทั้งมหายานและเถรวาทต่างก็มีสายเลือดอันเดียวกัน พิสูจน์ได้จากหลักคำสอนที่เป็นแกนหลักสำคัญ เช่น อริยสัจ ๔ ปฏิจจสมุปบาท ความหลุดพ้น พระโคตมพุทธเจ้า จะมีความแตกต่างกันก็แต่เพียงปลีกย่อย ไม่ใช่สารัตถะสำคัญ เปรียบเหมือน พี่น้องท้องแม่เดียวกันเมื่อเจริญวัยต่างคนต่างไป ทำกิจการงานต่างๆ ย่อมมีวีธีการ และรสนิยมในการดำเนินชีวิตเพื่อความอยู่รอดที่ไม่เหมือนกัน แต่ก็ยังเป็นพี่เป็นน้องเป็นสายเลือดเดียวกัน ย่อมจะตัดขาดจากกันไม่ได้

 

ความแตกต่างระหว่างเถรวาทกับมหายาน

พระใบฎีกาอนุรักษ์       อินฺทวณฺโณ

 

ความแตกต่างระหว่างเถรวาทกับมหายานอย่างไร

 การเฟ้นหาความต่างนี้เพื่อความรู้ ไม่ใช่เพื่อสร้างความไม่พออกพอใจต่อกันและกัน ทั้งมหายานและเถรวาทต่างก็มีสายเลือดอันเดียวกัน พิสูจน์ได้จากหลักคำสอนที่เป็นแกนหลักสำคัญ เช่น อริยสัจ ๔ ปฏิจจสมุปบาท ความหลุดพ้น พระโคตมพุทธเจ้า จะมีความแตกต่างกันก็แต่เพียงปลีกย่อย ไม่ใช่สารัตถะสำคัญ เปรียบเหมือน พี่น้องท้องแม่เดียวกันเมื่อเจริญวัยต่างคนต่างไป ทำกิจการงานต่างๆ ย่อมมีวีธีการ และรสนิยมในการดำเนินชีวิตเพื่อความอยู่รอดที่ไม่เหมือนกัน แต่ก็ยังเป็นพี่เป็นน้องเป็นสายเลือดเดียวกัน ย่อมจะตัดขาดจากกันไม่ได้ ต่อไปนี้ขอนำข้อคิดเห็นของบูรพาจารย์ที่ท่านแสดงให้เห็นความแตกต่างๆระหว่าง๒นิกายดังต่อไปนี้
                   ๑. นิกายมหายานเป็นนิกายที่มีหลักปฏิบัติเพื่อช่วยมหาชนให้มากที่สุด โดยไม่คำนึงถึงตนเอง ในบางครั้งชาวมหายานอาจจะต้องยอมตกนรก ถ้าหากว่าการกระทำนั้น ๆ จะเป็นการช่วยชีวิตของสรรพสัตว์ไว้ได้เถรวาทไม่ม่มีคำสอนในลักษณะนี้
           ๒. มหายานจะไม่รีบด่วนไปสู่ความดับทุกข์จนกว่าจะช่วยสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์ ดังนั้น ชาวมหายานจึงมีปณิธานที่ว่า “ หากยังมีสัตว์ที่ต้องตกทุกข์ได้ยากอยู่ก็จักไม่ขอปรารถนาบรรลุพุทธภูมิ”ส่วนนิกายเถรวาทต้องการการหลุดพ้นจากวัฏฏะทุกข์อย่างรีบด่วน                                                                          ๓. นิกายมหายานเชื่อว่าหลังจากที่พระพุทธองค์ปรินิพพานแล้ว พระองค์ยังคงมีอยู่และรับรู้เรื่องราวต่าง ๆ ในโลกนี้ และจะเสด็จกลับมาสู่โลกนี้อีกเพื่อโปรดสรรพสัตว์ นิกายเถรวาทปฏิเสธเรื่องราวของพระพุทธองค์หลังปรินิพพานว่ามีอยู่หรือไม่มีอยู่
                   ๔. นิกายมหายานเชื่อว่า สัตว์ทั้งหลายมีจิตเป็นสากล หรือพุทธภาวะที่แจ่มจรัสปราศจากกิเลสส่วนนิกายเถรวาทไม่ยอมรับในเรื่องนี้
         ๕. มหายาน มองพระพุทธพจน์ในแง่ปรัชญา วิพากษ์วิจารณ์ความหมายพระพุทธพจน์ไปในแง่ต่าง ๆ ตามความคิดของบุคคลแต่ละบุคคล ปรับปรุงธรรมวินัยไปตามกาลเทศะ เพื่อความเหมาะสมแก่ประชาชนและสิ่งแวดล้อม เพื่อประโยชน์แก่ พระพุทธศาสนา มีการแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาจีนแล้วใช้ต้นฉบับนั้นเป็นหลัก
            เถรวาท ยึดมั่นอยู่ในธรรมวินัยอันเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าตามแบบเดิมตั้งแต่ครั้งปฐมสังคายนา ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ยกพระธรรมวินัยไว้ในฐานะอันสูงส่งและศักดิสิทธิ์ แม้พระไตรปิฎกก็ไม่เปลี่ยนแปลง คงรักษาของเดิมซึ่งเป็นภาษามคธเอาไว้เป็นหลักเป็นธรรมนูญของพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ใครจะแปลเป็นภาษาอะไรก็แปลไปแต่ไม่ทิ้งของเดิมคงรักษาของเดิมภาษามคธเป็นหลัก
                   ๖. มหายาน ตั้งบุคคลเป็นแกนกลางคำนึงถึงสติปัญญาความคิดความรู้และความสามารถของบุคคลเป็นเกณฑ์ แทนที่จะปรับบุคคลให้เข้าหาพระพุทธพจน์ แต่ปรับพระพุทธพจน์เข้าหาบุคคล เพื่อประโยชน์แก่การเผยแพร่พระพุทธศาสนา ผ่อนปรนจนบางนิกายอนุมัติให้พระสงฆ์มีครอบครัวได้ เพื่อประโยชน์ทางการเผยแพร่ เถรวาทตั้งพระพุทธพจน์เป็นแกนกลางแล้วดึงบุคคลให้เข้าหาพระพุทธพจน์โดยอ้างเหตุผลเป็นเครื่องจูงใจ
                   ๗. มหายาน ตั้งเป้าหมายไว้ง่าย ๆ โดยใช้หลักจิตวิทยาชั้นสูงจูงใจคนคือ ปรับพระพุทธพจน์ให้เข้ากับบุคคล ให้คนทั่วไปมีความรู้สึกว่าพุทธภาวะนั้นอยู่แค่เอื้อม เพราะมีอยู่ในทุกคนแล้ว ดังนั้นบุคคลทุกเพศทุกวัยก็อาจบรรลุพุทธธรรมได้โดยไม่ต้องอาศัยวิธีที่ยากมากหรือการปฏิบัติมากนัก
          เถรวาทตั้งเป้าหมายและวิธีเพื่อบรรลุเป้าหมายไว้สูงและยาก ต้องอาศัยความตั้งใจจริง ๆ จึงจะกล้าดำเนินการตามเป้าหมาย และบรรลุตรงเป้าหมายนั้น ทำให้สามัญชนโดยทั่วไปมองพระพุทธศาสนาในสิ่งสูงสุดยากที่จะเข้าถึง

 ๘. มหายาน ถือ ปริมาณเป็นสำคัญ โดยถือว่า คุณภาพย่อมเกิดจากปริมาณโดยตั้งสมมติฐานไว้ว่า ในจำนวนผู้ศึกษา หรือใฝ่ใจในการปฏิบัติธรรมเป็นจำนวนมากนั้น ย่อมจะมีอยู่จำนวนหนึ่งที่เข้าถึงพุทธธรรม และย่อมรู้แจ้งเห็นจริงในพุทธธรรมเองได้ เถรวาทมุ่งที่ปัจเจกภาพหรือคุณภาพเฉพาะบุคคล คือ เริ่มที่ตนแล้วจึงไปหาผู้อื่น หมายถึงว่าเถรวาทถือคุณภาพเป็นสำคัญ

๙. เกี่ยวกับอุดมคติในการดำเนินงาน การเผยแพร่เถรวาทมุ่งที่ตนเองก่อน คือตนเองต้องรู้ก่อนแล้วจึงสอนจึงช่วยผู้อื่นมิฉะนั้นจะนำอะไรไปช่วยเขาเมื่อตนเองยังไม่มีอะไรยังไม่รู้อะไร
          มหายานวางอุดมคติจูงใจไว้ก่อนว่าต้องบำเพ็ญตนเพื่อผู้อื่นก่อนเพื่อตนเองทีหลังมีปณิธานว่าจะช่วยขนสัตว์ให้พ้นโอฆสงสารบรรลุธรรมจนหมดสิ้นก่อนตนจึงขอบรรลุธรรมเป็นคนสุดท้าย                          

  ๑๐.ในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทมีพระสงฆ์เป็นแกนกลางในการยึดมั่นของประชาชน พระสงฆ์จรรโลงพระพุทธศาสนาเป็นผู้นำพุทธบริษัทอื่นเป็นผู้ตาม ในฝ่ายมหายาน ศูนย์กลางของการนับถือมิได้มีจำกัดในคณะสงฆ์เท่านั้น คนทุกคนมีส่วนจรรโลงพระพุทธศาสนา เหตุผลคือ พระโพธิสัตว์ของฝ่ายมหายานจะมีทั้งบรรพชิต ทั้งคฤหัสถ์ ช่วยกันประกาศพระพุทธศาสนา

๑๑. เถรวาท ถือเรื่องอริยสัจเป็นสำคัญ มหายานถือเรื่องบารมีเป็นสำคัญ เพื่อความเป็นพระโพธิสัตว์
                   ๑๒. เถรวาท มีพระพุทธเจ้าพระองค์เดียว คือ พระสมณโคดม หรือ พระศากยมุนี มหายาน ถือว่าพระพุทธเจ้ามีมาก ประดุจเม็ดกรวดทรายในมหาสมุทร ( เพื่อจูงใจให้คนพอใจปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์ ให้เห็นว่า ไม่ยากจนเกินไปจนน่าท้อ ) บางนิกายแสดงว่ามีพระพุทธเจ้าองค์ดั้งเดิมคือ อาทิพุทธ ( ดุจปราตมันของพราหมณ์ ) เมื่อ อาทิพุทธพุทธเจริญญาณ เกิดเป็น ฌานิพุทธ คือพระพุทธเจ้าเกิดจากฌานของอาทิพุทธอีกเป็นอันมาก เช่น พระไวโรจนพุทธะ อักโขภยพุทธะ อโฆสิทธิพุทธะ รัตนสัมภวพุทธะ ไภสัชชคุรุพุทธะ อมิตตาภาพุทธะ เป็นต้น เฉพาะ อมิตตาภะพุทธะนี้ เมื่อเป็นมานุสสีพุทธ คือเป็นพระพุทธเจ้าในร่างมนุษย์ ( อวตาร ) ก็คือ พระศรีศากยมุนีพุทธนั่นเอง

๑๓. เถรวาท มีความมุ่งหมายเพื่อบำเพ็ญอัตตัตถาจริยา คือ ประโยชน์ส่วนตน ญาตัตถจริยาประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ โลกัตถจริยา คือ ประโยชน์ต่อสัตว์โลก โดยเห็นว่าการี่เราจะช่วยผู้อื่นได้ เราต้องช่วยตัวเองให้มีหลักก่อน การี่เราจะช่วยคนตกน้ำ เราต้องว่ายน้ำเป็นก่อนการที่เราจะช่วยนำสัตว์ให้ข้ามโอฆสงสารได้ เราต้องมีเรือคือ ต้องรู้โพธิปักขิยธรรมก่อน ก็โพธิปักขิยธรรม คนจะรู้ได้ก็ต้องตรัสรู้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าหรือเป็นพระอรหันต์ เมื่อยังไม่สำเร็จก็ยังไม่รู้ เมื่อไม่รู้ก็เท่ากับว่ายังไม่มีเรือ เมื่อไม่มีเรือจะใช้อะไรส่งสัตว์ข้ามโอฆะได้ คติ ของเถรวาทเป็นอย่างนี้
         มหายาน มุ่งความเป็นพระโพธิสัตว์ หรือ พุทธภูมิ เพื่อบำเพ็ญ โลกัตถะจริยาได้เต็มที่ คือมุ่งช่วยผู้อื่นเป็นจุดสำคัญ และแสดงว่ามีพระโพธิสัตว์หลายองค์ เช่น พระอวโลกิเตศวร , พระมัญชุศรี , พระวัชรปราณี , พระกษิติครรภ, พระสุมันตรภัทร และ พระอริยเมตไตรยเป็นต้น เป็นตัวอย่าง เพื่อจูงใจให้คนปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์        

๑๔. เถรวาทมี บารมี ที่จะให้สำเร็จบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระพุทธเจ้า ๑๐ ประการ มี ทาน, เนกขัมมะ, ปัญญา ,วิริยะ, สัจจะ, อธิษฐาน, เมตตา, อุเบกขา, ขันติ

มหายาน มีบารมีอันให้ถึงความสำเร็จเป็นพระโพธิสัตว์ และเป็น ปฏิปทาของพระโพธิสัตว์๖ ประการ คือ ทาน ศีล วิริยะ ขันติ ฌาน ปัญญา ( บ้างก็ว่ามี ๑๐ เหมือนกับ ของ เถรวาท

 ๑๕. เถรวาท พระอรหันต์อยู่จบกิจในพรหมจรรย์แล้วสิ้นกิเลสแล้ว สิ้นความสงสัยรู้ว่าตนบรรลุพระอรหัตผลด้วยตนเอง โดยมิต้องมีคนบอก มีความรู้ในอริยมรรค อริยผล ไม่ฝันปรินิพพานแล้วก็ดับหมดทั้ง กายสังขาร วจีสังขาร จิตสังขาร ( อนุปาทิเสสนิพพาน ) ไม่เกิดอีก ถือว่าเหนือกว่าพระโพธิสัตว์ เพราะสิ้นกิเลสแล้ว ไม่ต้องศึกษาอีกแล้ว แต่พระโพธิสัตว์ยังมีกิเลสยังต้องศึกษาและ พระเถรวาทจะไม่ไหว้รูปพระโพธิสัตว์เพราะถือว่ายังไม่เป็นพระภิกษุ

มหายาน พระอรหันต์ยังฝันอย่างคนมีราคะ เพราะถูกมารยั่ว ยังความไม่รู้ในอริยมรรค อริยผลยังต้องสงสัยใน อริยมรรค อริยผล เป็นต้น จะรู้ว่าตนบรรลุต้องมีผู้บอก ปรินิพพานแล้วยังเกิดอีก แต่เกิดเพื่อสำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถือว่าสู้พระโพธิสัตว์ไม่ได้ เพราะเห็นว่าพระโพธิสัตว์มีโอกาสช่วยสัตว์โลกได้มากกว่า
                   ๑๖. เถรวาท ในกายสาม เถรวาทยอมรับแต่ ธรรมกาย กับ นิรมาณกายบางส่วน นอกนั้นไม่รับ
                   มหายาน รับทั้งสามคือ ทั้งธรรมกาย ได้แก่ พระธรรม สัมโภคกายคือ กายจำลอง หรือ กายอวตารของพระพุทธเจ้า คือ พระพุทธเจ้าเป็นพระกกุสันธบ้าง โกนาคมะบ้าง กัสสปะบ้าง ศากยมุนีบ้างเป็นต้น ล้วนเป็นสัมโภคกายของพระพุทธเจ้าองค์เดิมทั้งนั้น นิรมาณกายคือ กายที่ต้องแก่ เจ็บปรินิพพาน เป็นกายที่พระพุทธเจ้าองค์เดิมสร้างขึ้น เพื่อเป็นเครื่องสอนคนให้เห็นความจริงของชีวิต แต่พระพุทธองค์ที่แท้ ที่องค์เดิมนั้นไม่ตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ เช่น พระอมิตตาภาพุทธะมีกายจำลองเป็นพระศากยมุนีแต่พระอมิตตาพุทธะนั้นเป็นอมตะอยู่ที่แดนสุขาวดี           ๑๗. เถรวาท อาศัยพระไตรปิฎก คือธรรมวินัย ยุติตามะ ปฐมสังคายนาเป็นหลักและไม่มีพระสูตรอะไรเพิ่มเติม มหายาน ธรรมวินัยของเดิมก็มี และมีการเพิ่มพระสูตรใหม่ในภายหลังจากการทำปฐมสังคายนาเช่น ปรัชญาปารมิตาสูตร สุขาวดียูหสูตร สัทธธรรมปุณฑริกสูตร ลังกาวตารสูตรเป็นต้นแม้ปฐมเทศนาก็มิได้มีครั้งเดียว
          

มหายานลดหย่อนข้อปฏิบัติบางข้อเพื่อวัตถุประสงค์อะไร

พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ถือคุณภาพของศาสนิกชนเป็นจุดสำคัญ แต่พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานถือปริมาณเป็นจุดสำคัญคือเขาถือว่า เมื่อมีปริมาณมากแล้ว คุณภาพก็ค่อยๆ ตามมาด้วยการอบรมบ่มนิสัยได้ฉะนั้น ฝ่ายมหายานจึงบัญญัติพิธีกรรมและจารีตแบบแผนต่างๆ ชนิดที่ฝ่ายเถรวาทไม่มีขึ้น เพื่อให้เป็นอุปายโกศลชักจูงประชาชนให้มาเลื่อมใส และมีการลดหย่อนพระวินัยได้ตามกาลเทศะ”

 

มหายานมีจุดเน้นเรื่องพระโพธิสัตว์ที่แตกต่างที่สำคัญต่างจากเถรวาทอย่างไร

         

อุดมคติของฝ่ายมหายาน สอนให้ทุกคนบำเพ็ญตนเป็นพระโพธิสัตว์ เพื่อที่จะได้ช่วยปลดเปลื้องทุกข์ของสัตวโลกได้กว้างขวาง พระโพธิสัตว์หมายถึงผู้ที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งในฝ่ายเถรวาทก็รับรอง แต่ฝ่ายมหายานหยิบยกเอาเรื่องพระโพธิสัตว์ขึ้นมาเน้นเป็นพิเศษ ฝ่ายเถรวาทประกาศเรื่องอริยสัจ ๔ เป็นสำคัญ

 

แต่ฝ่ายมหายานประกาศทศบารมีเป็นสำคัญ ทั้งนี้มิได้หมายความว่าฝ่ายเถรวาทจะไม่มีเรื่องทศบารมี หรือฝ่ายมหายานจะไม่มีเรื่องหลักอริยสัจ ก็หาไม่ เป็นเพียงแต่ว่า ต่างฝ่ายต่างหยิบเอาหลักธรรมทั้งสองมายกขึ้นเป็นจุดเด่นสำคัญเหนือหลักธรรมข้ออื่นๆ ที่มีอยู่เท่านั้น (เสถียร โพธินันทะ, กระแสพุทธรรมฝ่ายมหายาน, โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๔๓, หน้า ๖)

 

มหายานแตกต่างจากเถรวาทเรื่องบารมี ๑๐ อย่างไรบ้าง    

ความแตกต่างคือว่า มหายานได้ย่อหลักทศบารมีลงเหลือ บารมีหก คือ ทาน ศีล ขันติ วิริยะ ฌาน ปัญญา ทานกับศีลเป็นคู่ปรับทำลายกิเลส คือ โลภะ ขันติกับวิริยะเป็นคู่ปรับทำลายกิเลสคือ โทสะ ฌานกับปัญญาเป็นคู่ปรับทำลายกิเลสคือ โมหะ พระโพธิสัตว์จะต้องบำเพ็ญบารมีหกให้สมบูรณ์ ( เสถียร โพธินันทะ, ชุมนุมพระสูตรมหายาน, สำนักพิพมพ์บรรณาคาร, ๒๕๑๖, หน้า

 

พระพุทธเจ้าคือใครในมุมมองของมหายานและเถรวาท

พระพุทธองค์ในทรรศนะของฝ่ายเถรวาท คือมนุษย์ผู้ซึ่งได้เพียรบำเพ็ญความดีจนได้ตรัสรู้หลุดพ้นจากมวลทุกข์มวลกิเลส แต่พระสรีระของพระองค์ยังคงเหมือนชนธรรมดา คือยังเป็นวิบากขันธ์ มีความรู้สึกเย็นร้อนและทรุดโทรมแตกสลายไปได้ ส่วนเมื่อพระสรีระแตกไปแล้ว อะไรที่เหลืออยู่ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ หลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ภาวะของพระองค์เป็นฉันใด ฝ่ายเถรวาทไม่กล่าวถึง เพราะถือว่าพ้นบัญญัติเสียแล้ว เหมือนกองไฟที่สิ้นเชื้อแล้วดับไป ไม่อาจพยากรณ์ว่าไฟที่ดับไปแล้วไปอยู่ ณ ทิศใด แต่ฝ่ายมหายานมีทรรศนะว่า ว่า ลักษณะความเป็นธรรมดาของมนุษย์ไม่ควรเป็นสภาวะของพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นบุคคลที่ยิ่งใหญ่ เพราะมนุษย์มีข้อจำกัด มนุษย์ไม่มีอำนาจที่ยิ่งใหญ่ มนุษย์ต้องเปลี่ยนแปลง ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงควรเป็นผู้มีลักษณะพิเศษ และยิ่งใหญ่กว่ามนุษย์ทั้งหลาย พระพุทธองค์นั้น โดยแท้จริงมีสภาวะเป็นอกาละ อนันตะ แต่โดยพระมหากรุณาจึงทรงสำแดงพระองค์ในภาวะต่างๆ ปรากฏให้เห็นในโลกทั้งปวงเพื่อโปรดสัตว์ (เสถียร โพธินันทะ, ชุมนุมพระสูตรมหายาน, ๒๕๑๖ ,ด-ต )

 

ทำไมคัมภีร์ของมหายานจึงใช้ภาษาสันสกฤต

          ประวัติการใช้ภาษาสันสกฤตในพุทธศาสนาปรากฏครั้งแรกในการทำสังคายนาครั้งที่ ๔ ซึ่งทำเมื่อพระพุทธองค์ปรินิพพานได้ราว ๖๔๓ ปี (บางแห่งว่า ๖๙๖ ปี)การสังคายนาครั้งนั้นมีพระเจ้ากนิษกะเป็นองค์อุปถัมภ์ โดยการแนะนำของพระปารัศวะ ในนิกายสรวาสติวาทิน การสังคายนามีขึ้นที่ทำที่วัดกุณฑลวันวิหาร แคว้นกัศมีร์ (บางแห่งว่าที่วัดกุวนะ เมืองชาลันธร) มีการประชุมสงฆ์ ๕๐๐ รูป พระปารัศวะเป็นประธาน (แต่หนังสือบางเล่มกล่าวว่า พระวสุมิตรเป็นประธาน) เพื่อป้องกันการสูญหายของพระธรรมวินัย เพื่อกำจัดความขัดแย้งภายในคณะสงฆ์ ๑๘ นิกาย

          ในการสังคายนาครั้งนี้ได้มีการจารึกคัมภีร์พระไตรปิฎกเป็นภาษาสันสกฤตครั้งแรกในพระพุทธศาสนา และเป็นครั้งแรกที่จารึกเป็นลายลักษณ์อักษร จารึกลงในแผ่นทองแดงแล้วบรรจุลงในพระเจดีย์ แล้วสร้างสถูปใหญ่รักษาไว้อย่างมั่งคง หลังจากนั้นพระองค์สั่งพระธรรมทูคออกเผยแพร่สู่เอเชียกลาง จนพุทธศาสนาเจริญอย่างรวดเร็ว

          ในยุคนี้ วรรณกรรมสันสกฤตของฝ่ายศาสนาพราหมณ์มีบทบาทโดดเด่นมาก วรรณกรรมต่างๆที่ใช้ภาษาสันสกฤตจารึกจะได้รับความสนใจและน่าเชื่อถือในวงวิชาการยุคนั้น และยุคต่อๆมา พุทธศาสนามหายานต้องเผชิญกับปัญหานี้จึงได้เขียนงานวรรณกรรมต่างๆโดยภาษาสันสกฤต ภูมิหลังของภาษาสันสกฤตก็มีที่มาที่เกี่ยวข้องกับคัมภีร์พระเวทอยู่แล้ว จึงทำให้เป็นที่นิยมมากยิ่งขึ้นต่อวรรณกรรมทั้งหลาย   

 อีกประการหนึ่งของการจารึกคัมภีร์โดยใช้ภาษาสันสกฤต อาจเนื่องด้วยความจำเป็นในการปรับตัวของพระพุทธศาสนา ให้โดดเด่นจนสามารถครองใจคนชั้นสูงของสังคมได้ มหายานจึงใช้ภาษาสันสกฤตในการจารึกคัมภีร์ มหายานเป็นพวกก้าวหน้าและเปลี่ยนแปลง มองพระพุทธพจน์ในแง่ปรัชญา วิพากษ์วิจารณ์ความหมายพระพุทธพจน์ไปในแง่ต่าง ๆ ตามความคิดของบุคคลแต่ละบุคคล ปรับปรุงธรรมวินัยไปตามกาลเทศะ เพื่อความเหมาะสมแก่ประชาชนและสิ่งแวดล้อม ส่วนเถรวาท ยึดมั่นอยู่ในธรรมวินัยอันเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าตามแบบเดิมตั้งแต่ครั้งปฐมสังคายนา ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ยกพระธรรมวินัยไว้ในฐานะอันสูงส่งและศักดิสิทธิ์ แม้พระไตรปิฎกก็ไม่เปลี่ยนแปลง คงรักษาของเดิมซึ่งเป็นภาษามคธเอาไว้เป็นหลักเป็นธรรมนูญของพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ใครจะแปลเป็นภาษาอะไรก็แปลไป แต่ไม่ทิ้งของเดิมคงรักษาของเดิมภาษามคธเป็นหลัก

                    มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า แม้ว่าคัมภีร์ของมหายานเขียนขึ้นด้วยภาษาสันสกฤต แต่ก็มิใช่สันสกฤตแท้ หากเป็นภาษาสันสกฤตที่ปะปนกับภาษาปรากฤตตลอดจนบาลีและภาษาท้องถิ่นอื่นๆ คัมภีร์เหล่านี้สันนิษฐานว่า เป็นพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าบ้าง คำสอนพระโพธิสัตว์บ้าง ทวยเทพต่างๆบ้าง

 

ทำไมชาวพุทธมหายานจึงไม่กินเนื้อสัตว์

                   ก่อนจะเข้าสู่ประเด็นว่าทำไมชาวพุทธมหายานไม่กินเนื้อสัตว์ ขอตั้งข้อสังเกตเบื้องต้นว่า ชนชาติอินเดีย ในปัจจุบันส่วนมากนับถือศาสนาฮินดู ไม่กินเนื้อสัตว์เลย แต่ดื่มนมวัว นมควาย และศาสนาฮินดูก็มีความเป็นมายาวนานพอๆกับมหายาน และสังคมอินเดียในยุคก่อนเกิดลัทธิทั้งหกก็ไม่กินเนื้อสัตว์ พวกวรรณะพราหมณ์ก็ไม่กินเนื้อสัตว์ พระพุทธเจ้า เคยเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ เป็นคนในวรรณะกษัตริย์ นับถือศาสนาพราหมณ์ พระสงฆ์สาวกในยุคนั้นล้วนนับถือศาสนาพราหมณ์มาก่อน ศาสนาพราหมณ์ไม่มีการกินเนื้อสัตว์ แต่ปรากฏเคยมีการใช้สัตว์ฆ่าบูชายัญ พระพุทธเจ้าทรงประกาศธรรมเรื่องการไม่ฆ่าสัตว์ ไม่เบียดเบียนสิ่งมีชีวิตอื่นๆ

มีข้อสงสัยว่าทำไมชาวพุทธมหายานจึงไม่กินเนื้อสัตว์ ชาวพุทธมหายานบางกลุ่มก็กินเนื้อสัตว์ เช่นในฑิเบต ลาดัก ที่ไม่นิยมกินเนื้อสัตว์ หรือไม่กินเลย เช่น มหายานในจีน เวียดนาม เป็นต้น การที่มหายานไม่กินเนื้อสัตว์น่าจะมาจากวิถีชีวิตของแต่ละประเทศส่วนหนึ่ง และอิทธิพลคำสอนในมหายานเองด้วยส่วนหนึ่ง ที่กล่าวถึงการไม่ทานเนื้อสัตว์ไว้อย่างชัดเจน

พระสูตรที่กล่าวถึงเรื่องนี้ คือ ลังกาวตารสูตร อันเป็นคัมภีร์หลัก (text) ของพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน เป็นสูตรว่าด้วยศีลธรรมล้วนภาคที่แปดแห่งลังกาวตารสูตรนี้ กล่าวถึงเรื่องการกินเนื้อสัตว์โดยเฉพาะ เรียกว่า ภาคมางสภักษนปริวรรต จากข้อความในภาคนี้ ย่อมเป็นการพิสูจน์ไว้อย่างเต็มที่ว่า สาวกในพระพุทธศาสนาจะเป็นบรรพชิต หรือฆราวาสก็ตาม จะไม่รับประทานเนื้อปลา หรือเนื้อสัตว์ชนิดใดชนิดหนึ่งเลย จึงขอยกคำแปลวังกาวตารสูตรของท่านพุทธทาส ดังนี้

            "พระตถาคตเจ้าผู้องค์อรหันต์ ได้ตรัสรู้อย่างถูกถ้วนแล้ว, และได้ตรัสความเป็นกุศลหรืออกุศลแห่งการบริโภคเนื้อสัตว์แก่เรา, เพื่อว่าเราและสาวกอื่นๆ ในพระพุทธศาสนา ทั้งในปัจจุบันและอนาคต จะได้ประกาศสัจธรรมอันนี้ แก่เขาเหล่าโน้นผู้บริโภคเนื้อสัตว์ เพื่อเป็นการทำลายความอยากเสพในเนื้อสัตว์ของเขานั้นๆ เสีย"

            "พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า: โอ, มหาบัณฑิต! ด้วยน้ำหนักแห่งเหตุผลอันมากมายเหลือจะประมาณ บ่งแสดงว่าเนื้อทุกชนิดเป็นสิ่งที่ควรปฏิเสธ โดยสาวกแห่งพระพุทธศาสนา ผู้มีใจเปี่ยมอยู่ด้วยความกรุณา สำหรับเขาเหล่านั้น เราจักกล่าวแต่โดยย่อๆ

           โอ, มหาบัณฑิต! ในวัฏสงสาร อันไม่มีใครทราบที่สุดในเบื้องต้นนี้ สัตว์ผู้มีชีพได้พากันท่องเที่ยวไป ในการว่ายเวียนในการเกิดอีกตายอีก, ไม่มีสัตว์แม้แต่ตัวเดียว ที่ในบางสมัย ไม่เคยเป็น แม่ พ่อ พี่น้องชาย พี่น้องหญิง ลูกชาย ลูกหญิง หรือเครือญาติอย่างอื่นๆ แก่กัน สัตว์ตัวเดียวกัน ย่อมถือปฏิสนธิในภพต่างๆ เป็นกวาง หรือสัตว์สองเท้าสัตว์สี่เท้าอื่นๆ เป็นนก ฯลฯ ซึ่งยังนับได้ว่าเป็นเครือญาติของเราโดยตรง สาวกแห่งพระพุทธศาสนา จะทำลงไปได้อย่างไรหนอ, จะเป็นผู้สำเร็จแล้วหรือยังเป็นสาวกธรรมดาอยู่ก็ตาม ผู้เห็นอยู่ว่าสัตว์เหล่านี้ทั้งหมด, เป็นภราดรของตน, แล้วจะเชือดเถือเนื้อหนังของมันอีกหรือ?

          โอ, มหาบัณฑิต! เนื้อสุนัข เนื้อลา อูฐ ม้า โค และเนื้อมนุษย์ เหล่านี้เป็นเนื้อที่ประชาชนไม่รับประทาน แม้กระนั้นเนื้อของสัตว์เหล่านี้ก็ถูกนำมาปลอมขาย ในนามของเนื้อแกะฯ ภายในเมืองเพราะเห็นแก่เงิน เพราะเหตุนี้ เนื้อสัตว์จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรกิน โดยสาวกแห่งพระพุทธศาสนา

โอ, มหาบัณฑิต! เพราะว่าเนื้อย่อมเกิดจากเลือด และน้ำอสุจิ, เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นสิ่งไม่ควรบริโภค สำหรับสาวกแห่งพระพุทธศาสนา ผู้ประสงค์ต่อความสะอาดบริสุทธิ์ (หลุดพ้นทุกข์ทางจิตใจ) และเพราะมันเป็นการสร้างความหวาดกลัว ให้เกิดขึ้นในระหว่างกันและกัน

โอ, มหาบัณฑิต! เพราะฉะนั้นเนื้อนี้ จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรบริโภคโดยบรรพชิตแห่งพระพุทธศาสนา ผู้ประสงค์มิตรภาพในเพื่อนสัตว์ด้วยกัน ทุกถ้วนหน้า

          ตัวอย่างอันประจักษ์เช่นเมื่อสัตว์ได้เห็นนายพรานป่า ชาวประมงหรือนักกินเนื้ออื่นๆ เดินมาแม้ในระยะอันไกล สัตว์ทั้งหลายก็สะดุ้งกลัวเสียแล้ว บางครั้งหรือสัตว์บางชนิดขาดใจตาย ทำนองเดียวกัน สัตว์ตัวน้อยๆ อื่นๆ ในท้องฟ้า บนบกหรือในน้ำก็ตาม เมื่อได้เห็นนักกินเนื้อแต่ที่ไกล หรือได้กลิ่นด้วยจมูกอันไวของมัน ก็จะพากันวิ่งหนีไปไกลพร้อมกับความรู้สึกอยู่ในใจว่า เขาเหล่านั้นเป็นผียักษ์อสุรกายผู้ล้างผลาญ นั่นเพราะความกลัวต่อความตายของมัน

เนื้อเป็นสิ่งที่ควรกินสำหรับผู้ใจดำอำมหิต เป็นสิ่งที่มีกลิ่นน่ารังเกียจ เป็นต้นเหตุแห่งความเสื่อมเสีย และเป็นสิ่งที่จะถูกห้ามกันโดยท่านสัตบุรุษ

          โอ, มหาบัณฑิต! เนื้อนี้เป็นของไม่ควรบริโภคโดยพุทธสาวก

 โอ, มหาบัณฑิต! สัตบุรุษย่อมบริโภคเฉพาะแต่ อาหารที่สมควรแด่ท่านผู้บริสุทธิ์ ไม่ยอมบริโภคเนื้อและเลือด เพราะฉะนั้นควรที่สาวกแห่งพระพุทธศาสนา จะต้องไม่บริโภคเนื้อสัตว์เลย

พระพุทธเจ้าผู้ซึ่งเยือกเย็นไปด้วยพระกรุณา มีพระทัยเต็มเปี่ยมไปด้วยความเป็นที่พึ่งที่ป้องกันภัยแก่ดวงใจของปวงสัตว์ และมีพระสัมปชัญญะสมบูรณ์พอที่จะไม่ปล่อยให้เป็นโอกาสสำหรับความเสื่อมเสียระบาดขึ้นได้เลยนั้น ย่อมจะทรงบัญญัติเนื้อสัตว์ว่าเป็นสิ่งไม่ควรบริโภค

                   โอ, มหาบัณฑิต! ในโลกนี้มีคนเป็นอันมาก ซึ่งกล่าวคำเท็จเทียมต่อพระพุทธดำรัสฯ ให้ผิดไปจากความจริง เขากล่าวกันว่า บรรดาผู้ซึ่งคัดค้านอาหารอันสมควรแด่ท่านผู้บริสุทธิ์แห่งสมัยเพรงกาล ย่อมกินอาหารเหมือนนักกินเนื้อ ย่อมเที่ยวใส่ความทุกข์เจ็บปวดให้แก่สัตว์น้อยๆ ที่มีชีวิตอยู่ในอากาศ บนบก และในน้ำ เที่ยวรบกวนรังควานมัน ทั้งที่นี่และที่นั่นอยู่เสมอ สมณภาพของเขาถูกทำลายเสียย่อยยับแล้ว พราหมณ์ภาพของเขาถูกทำให้เศร้าหมองเสียแล้ว เขามิได้ประกอบด้วยศรัทธาและสมาจาร คนชนิดนี้แหละ ที่กล่าวคำเท็จเทียมมากมายหลายชนิด แด่พระพุทธวจนะ

                   โอ, มหาบัณฑิต! มีกลิ่นที่น่ารังเกียจ ไม่น่าบริโภคอยู่ในเนื้อสัตว์ เช่นเดียวกับกลิ่นแห่งศพ แม้เหตุผลเพียงเท่านี้ เนื้อก็เป็นของไม่ควรบริโภคสำหรับพุทธศาสนิกชนอยู่แล้ว ถ้าหากว่าศพถูกเผา และเนื้อสัตว์อย่างใดอย่างหนึ่งก็ถูกเผา มันก็จะมีกลิ่นอันน่ารังเกียจ ไม่แตกต่างอะไรกันเลย ดังนั้น บรรพชิตในพระพุทธศาสนาผู้หวังความบริสุทธิ์ จะไม่บริโภคเนื้อใดเลย  เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกเกียจกันแล้ว สำหรับท่านผู้บริสุทธิ์ และสาวกของท่าน ในกรณีที่จะพยายามเพื่อโมกษะและความตรัสรู้ เพราะฉะนั้นสาวกผู้ดำเนินตามทางอันสูงยิ่งนี้ ทั้งครอบครัวลูกหญิงชาย ย่อมรู้อยู่อย่างเต็มใจว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกเกียจกัน ในทุกๆกรณีที่พยายามเพื่อสมาธิ

โอ, มหาบัณฑิต! เพราะฉะนั้น เนื้อทุกๆ ชนิดเป็นสิ่งที่ไม่ควรบริโภคสำหรับพุทธศาสนิกชนซึ่งเป็นผู้ที่ปรารถนาจะมีสาธุคุณในทางจิต ทั้งเพื่อตนเองและผู้อื่น นักกินเนื้อ ย่อมเป็นเหยื่อแห่งโรคหลายชนิด เช่น โรคไส้เดือน โรคพยาธิ โรคเรื้อน โรคเจ็บในท้อง ฯลฯ

โอ, มหาบัณฑิต! เรากำลังประกาศว่า การกินเนื้อสัตว์เป็นการกินเนื้อบุตรของตนเองอยู่ดั่งนี้ แล้วจะกล่าวไปอย่างไรได้ ที่เราจะบัญญัติให้สาวกของเรากินเนื้อสัตว์ซึ่งเป็นของจัดไว้ต้อนรับของพวกคนใจอำมหิต เป็นของถูกห้ามโดยท่านสัตบุรุษทั่วไป เต็มไปด้วยมลทิน ปราศจากคุณธรรมใดๆ ไม่เหมาะที่จะบริโภคสำหรับผู้บริสุทธิ์ และเป็นของควรห้ามเด็ดขาด โดยประการทั้งปวง

                   โอ, มหาบัณฑิต! เราได้บัญญัติไว้แล้วว่า สำหรับอาหารอันสมควรซึ่งได้กำหนดนิยมกันมาแล้วโดยบรรดาท่านผู้บริสุทธิ์แห่งสมัยเพรงกาล ได้แก่อาหารที่ปรุงขึ้นจากข้าว ลูกเดือย ข้าวสาลี สารแห่งหญ้ามุญชะ อูรทะและมสุร ฯลฯ นมส้ม น้ำนม นม น้ำตาลสด กุท (?) น้ำตาล และน้ำตาลกรวด ฯลฯ

          โอ, มหาบัณฑิต! ในกาลก่อน มีพระราชาครองราชสมบัติอย่างผาสุกพระองค์หนึ่ง นามว่า ราชาสิงหะเสาทโส ต่อมาได้กลายเป็นผู้ละโมบอย่างแรงในการบริโภคเนื้อ ในที่สุดถึงกับใช้เนื้อคนเป็นอาหาร เนื่องจากความอยากได้เป็นไปแก่กล้าหนักเข้า เพราะเหตุนั้น พระองค์ถูกถอดออกจากความเป็นพระราชา โดยพระสหาย เสนาบดี และประยูรญาติของพระองค์เอง และคนอื่นๆ ต่อจากนั้นต้องสละราชสมบัติ ถูกเนรเทศออกไปจากแว่นแคว้นของพระองค์โดยประชาชน ต้องรับทุกข์ทรมานอันใหญ่หลวง เนื่องจากเนื้อสัตว์เป็นต้นเหตุ

                   โอ, มหาบัณฑิต! ก็ในปัจจุบันชาตินี้เอง เขาเหล่านั้นซึ่งเคยชินเกินไปในการกินเนื้อสัตว์ ในมาตรฐานนี้ เมื่อความอยากเป็นไปรุนแรงเข้า ก็กินเนื้อคนได้ (ในยามขาดแคลน) ย่อมเป็นผู้ละโมบในการกิน และเป็นเหมือนยักษ์ปีศาจร้าย ครั้นถึงอนาคตชาติหน้า เพราะอำนาจจิตติดฝังแน่นในการอยากกินเนื้อ เขาย่อมตกไปสู่กำเนิดแห่งสัตว์กินเนื้อเป็นอาหาร เช่น สิงโต เสือ สุนัขป่า สุนัขไน แมว สุนัขจิ้งจอก นกเค้า และ ฯลฯ

         โอ, มหาบัณฑิต! มิใช่เพราะเนื้อจะเป็นของต้องกิน หรือการฆ่าเป็นของต้องทำก็หามิได้ ในกรณีนั้นๆ ส่วนมากทั้งหมดเป็นเพราะการเห็นแก่เงิน จึงฆ่าสัตว์ที่มีชีวิต ถึงแม้จะเป็นสัตว์เชื่องและปราศจากอันตรายแต่อย่างใด ก็ได้ถูกฆ่า การฆ่าเพราะเหตุอื่นนั้นมีน้อยที่สุด มันเป็นการทรมานใจเขามาก ในเมื่อใจเต็มไปด้วย ความอยากกินเนื้ออย่างแรงกล้า คนก็กินเนื้อคนได้อยู่เสมอ จะต้องกล่าวไปทำไมกะเนื้อสัตว์ เนื้อนก ฯลฯ ส่วนมากที่สุด เนื่องจากความโง่เง่าเข้าใจผิด มนุษย์จึงได้รับกรรม ความกระวนกระวายใจ โดยความอยากในเนื้อสัตว์ คนฆ่านก ฆ่าแกะ และปลา โดยใช้ข่ายหรือเครื่องกล การฆ่ามันเหล่านั้นซึ่งเป็นสัตว์ที่เชื่องและหาอันตรายมิได้ นั่นก็เพื่อหวังจะให้ได้เงิน

โอ, มหาบัณฑิต! ในกรณีแห่งอาหาร ที่เราได้บัญญัติแก่สาวกนั้น มิใช่เป็นเนื้อสัตว์ชนิดใดชนิดหนึ่งเลย ซึ่งเป็นของควรกิน สัตว์ซึ่งเป็นของไม่ควรกิน ไม่เป็นเหตุควรถูกกิน ไม่ใช่สิ่งที่ควรสมมุติว่าควรกิน ในอนาคตกาล ในหมู่สงฆ์ของเราจะเกิดมีคนบางคน ซึ่งกำลังสมาทานข้อปฏิบัติแห่งบรรพชิต และกำลังปฏิญาณตนเป็นศากยบุตร กำลังครองผ้ากาสาวพัสตร์สีแดงหม่น จะเป็นผู้มัวเมาและประกอบตนคลุกเคล้าอยู่ในความเพลิดเพลิน เขาจะมีจิตที่เต็มไปด้วย ความปรารถนาลามก บัญญัติข้อปฏิบัติที่ผิดแบบแผนขึ้นใหม่ เขาเหล่านั้น เป็นผู้อยากเสพเพราะติดรส และจะเรียบเรียงพระคัมภีร์ให้มีข้อความเท็จ อันจะเป็นเครื่องยืนยัน และโต้แย้งอย่างพอเพียง สำหรับการกินเนื้อสัตว์กัน เขาจะบัญญัติสิ่งที่ตถาคตมิได้บัญญัติไว้ เขาจะกล่าวข้อความที่ส่งเสริมการกินเนื้อสัตว์ เขาจะกล่าวว่าเรา ตถาคตได้บัญญัติไว้ในเรื่องนี้ เช่นนี้ และว่าเราตถาคตนับมันเข้าไว้ ในสิ่งทั้งหลายที่ควรกิน และว่าพระภควันต์ก็ได้ทรงเสวยเนื้อสัตว์โดยพระองค์เอง

แต่ โอ, มหาบัณฑิต! เรามิได้เคยบัญญัติเนื้อสัตว์ไว้ในสูตรใดๆ หรือกล่าวว่ามันเป็นของควรกิน หรือนับมันเข้าในประเภทของดีที่ควรกิน

   โอ, มหาบัณฑิต! อริยสาวกทั้งหลาย ไม่บริโภค แม้แต่สิ่งที่คนธรรมดาชอบกินนิยมกันว่าดี เขาเหล่านั้นจะมาบริโภคเนื้อและเลือด ซึ่งเป็นของควรปฏิเสธได้อย่างไรเล่า? เหล่าสาวกของตถาคต เป็นผู้เดินตามแนวแห่งสัจธรรม คนผู้มีปัญญาเป็นเครื่องคิดค้นของตนเอง และบรรดาพุทธศาสนิกชนทั้งหลายอื่นๆ (แห่งพระพุทธเจ้าองค์อื่นๆ) ก็เป็นเช่นเดียวกัน เขาเหล่านั้นมิใช่ผู้กินเนื้อสัตว์ พระตถาคตเจ้าทั้งหลายในกาลก่อนๆ ก็เป็นดังนั้น… พระตถาคตเจ้าทั้งหลาย มีสัจธร

หมายเลขบันทึก: 501542เขียนเมื่อ 7 กันยายน 2012 20:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กันยายน 2012 20:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ได้ความรู้และเข้าใจการเผ่ยแพร่มากขึ้น..ขอบคุณกับการศึกษาค้นคว้าเพื่อการศึกษาต่อไป

เข้าใจความต่างของทั้งสองนิกายได้มากขึ้น ตามกำลังของเรา..ก็เข้าใจในเหตุผลแต่ละนิกาย .สรุปก็อยู่ที่ตัวเรา ควร คิดดี พูดดี ทำดี พยายามไม่เบียดเบียนตนและผู้อื่น ..ความเห็นส่วนตัวนะครับ .. ขอบคุณผู้จัดทำ เรื่องดีๆครับ..

ขอบคุณพระอาจารย์ที่ให้ความรู้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท