พลังแห่งเครือข่าย


ความสำเร็จบนเส้นทางแห่งการร่วมมือ

         มนุษย์ถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกเมื่อใดไม่แน่ชัด  นักคิดได้พยายามอธิบายถึงการกำเนิดของมนุษย์ไว้หลายแนวทาง  บ้างว่าเกิดจากพระเจ้า  บ้างว่าเกิดจากอดัมกับอีฟ  บ้างว่าเกิดวิวัฒนาการมาจากลิง ฯลฯ  อย่างไรก็ตาม  ที่แน่ชัดที่สุดก็คือ  ตั้งแต่เกิดจนตายมนุษย์ไม่สามารถอยู่คนเดียวได้  ต้องมีความสัมพันธ์กับคนอื่น หรือสิ่งอื่นอยู่เสมอ  จนกว่าจะหมดลมหายใจจากโลกใบนี้  ดังนั้น  การเรียนรู้ที่จะอยู่ด้วยกัน การช่วยเหลือเกื้อกูลกันจึงมีความจำเป็นในเบื้องต้นเพื่อทำให้ช่วงแห่งชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข 

         การทำงานด้วยคนคนเดียวเมื่อนำมาเปรียบเทียบกันกับการทำงานด้วยคนหลายๆ คนในเวลาที่เท่ากันย่อมมีความแตกต่างกัน  บางเรื่อง บางกิจกรรมการทำงานด้วยคนคนเดียวอาจจะประสบความสำเร็จได้ดีกว่าการทำงานด้วยคนหลายคน  เพราะคนมากอาจจะเกิดการเกี่ยงกัน การพูดคุยถกเถียง ชิงดีชิงเด่น การนอกเรื่อง  อย่างไรก็ตาม  ส่วนใหญ่แล้วการทำงานด้วยคนหลายๆ คน ได้ผลสำเร็จของงานที่งดงาม ประหยัดเวลา ประหยัดงบประมาณมากกว่า  อยู่ที่เราพิจารณาถึงกิจกรรมและเลือกใช้คนให้เหมาะสมได้เพียงใด

         การทำงานเป็นทีมหรือเครือข่ายในลักษณะของการแบ่งงานกันทำตามความรู้ ความสามารถ ตามอำนาจหน้าที่ เป็นรูปแบบการทำงานที่ถือได้ว่าประสบความสำเร็จมากที่สุด 

          เครือข่ายคืออะไร

          มีนักวิชาการให้ความหมายไว้หลากหลาย  เช่น

          ดร.เสรี  พงศ์พิศ  (๒๕๔๘. เครือข่าย : ยุทธวิธีเพื่อประชามเข้มแข็ง ชุมชนเข้มแข็ง. กรุงเทพ : สถาบันส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน) มองว่า  เครือข่าย คือ ขบวนการทางสังคมอันเกิดจากการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล กลุ่มองค์กร สถาบัน โดยมีเป้าหมาย วัตถุประสงค์ และความต้องการบางอย่างร่วมกัน  ร่วมกันดำเนินกิจกรรมบางอย่าง  โดยมีสมาชิกยังคงความเป็นเอกเทศไม่ขึ้นต่อกัน 

          ผศ.ดร.อรทัย ก๊กผล (๒๕๕๓. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับการเสริมสร้างเครือข่ายพัฒนาท้องถิ่น ใน บันทึกเรื่องเด่น รางวัลพระปกเกล้า’ ๕๒ ด้านการเสริมสร้างเครือข่ายรัฐ เอกชน และประชาสังคม. กรุงเทพฯ : จรัลสนิทวงศ์การพิมพ์)  เห็นว่า  เครือข่าย  หมายถึง  โครงการที่มีลักษณะเป็นการดำเนินร่วมกับกลุ่มและองค์กรภาคส่วนอื่นๆ ซึ่งอาจเป็นส่วนราชการ ภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาสังคม  รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  โดยมีเป้าหมายการดำเนินงานร่วมกันในการพัฒนาท้องถิ่นและการจัดบริการสาธารณะ  มีการแบ่งความรับผิดชอบระหว่างกัน แบ่งปันข่าวสารข้อมูลและทรัพยากร และมีกลไกประสานความร่วมมือซึ่งอาจเป็นทางการและไม่เป็นทางการก็ได้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้  ซึ่งการดำเนินการสามารถเป็นได้เฉพาะกิจหรือมีความเป็นหุ้นส่วนดำเนินการอย่างต่อเนื่อง  โดยที่กลุ่มและองค์กรเหล่านั้นยังคงสามารถดำรงโครงสร้างและความอิสระในการดำเนินภารกิจเฉพาะหน่วยงานของตน

          องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับเครือข่าย

          ผศ.ดร.อรทัย ก๊กผล (๘-๑๒ : ๒๕๕๓)  กล่าวว่า   การบริหารเครือข่ายเป็นเรื่องยากถึงยากที่สุดเพราะเกี่ยวข้องกับตัวแสดงจำนวนมาก  มีความซับซ้อนในการบริหาร  ส่วนหนึ่งของความสำเร็จขึ้นอยู่กับความสามารถและความร่วมมือของกลุ่มองค์กรอื่นๆ  ซึ่งผู้บริหารไม่สามารถเข้าไปควบคุมดูแลได้โดยตรง  นอกจากนั้น บุคลากรภาครัฐทั้งราชการส่วนกลาง ภูมิภาค และท้องถิ่น มักคุ้นชินกับการบริหารราชการตามสายการบังคับบัญชาตามลำดับชั้น  ผู้บริหารภาครัฐได้รับการแต่งตั้งให้มีอำนาจสั่งการให้ผู้ใต้บังคับบัญชาดำเนินการ  ดังนั้น โอกาสก้าวพลาดประสบความล้มเหลวในการบริหารเครือข่ายมีสูง  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับเครือข่าย  เพราะ

          ๑. เครือข่ายเป็นความจำเป็นช่วยจำกัดจุดอ่อน   อาจกล่าวได้ว่า ถ้าปราศจากการทำงานในลักษณะเครือข่าย  โอกาสที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจัดบริการหรือพัฒนาพื้นที่ให้ประสบความสำเร็จมีน้อยมาก  เพราะ

          - องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขาดอำนาจในการจัดการประเด็นปัญหาหรือพัฒนาในพื้นที่อย่างบูรณาการ ถึงแม้มีการกำหนดอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไว้มากมายหลากหลาย  หากแต่ในทางปฏิบัติ หน้าที่ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ร่วมกันหรือเชื่อมโยงระหว่างส่วนราชการทั้งส่วนกลาง ภูมิภาค รัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชน  เช่น ในการพัฒนาท้องถิ่นด้านไฟฟ้า ประปา  ซึ่งท้องถิ่นไม่ได้รับผิดชอบจัดบริการเหล่านี้

          - ข้อจำกัดด้านงบประมาณและบุคลากร

          ๒. เครือข่ายเป็นพลังในการพัฒนาการบริหารสาธารณะใหม่ๆ และสร้างคุณค่าประชาธิปไตย   

           - เป็นการสร้างนวัตกรรมการบริหารรูปแบบหนึ่ง   ในสภาพของการบริหารบนข้อจำกัดหลายประการ  การสร้างเครือข่ายจะช่วยให้เห็นทางเลือกใหม่

           - การสร้างเครือข่ายมีคุณประโยชน์ต่อการพัฒนาบริการสาธารณะใหม่ๆ ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถดำเนินการด้วยตนเอง  เพราะขาดทั้งงบประมาณและบุคลากร นอกจากนั้นการมีเครือข่ายจะช่วยในการให้บริการเข้าถึงประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้รวดเร็วมากขึ้น

           - การพัฒนาประชาธิปไตยท้องถิ่น   การสร้างเครือข่ายก่อให้เกิดคุณค่าที่สำคัญมากอีกประการหนึ่ง คือ การสร้างประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่น  การสร้างเครือข่ายหมายถึงการเปิดให้ภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาพื้นที่ เพราะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร การแบ่งหน้าที่ การสร้างความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน เป็นความสัมพันธ์ในแนวราบ รวมทั้งมีกลไกรับผิดชอบซึ่งกันและกัน  

           การสร้างและบริหารเครือข่ายให้ประสบความสำเร็จไม่ใช่เรื่องง่าย  ดังนั้นไม่จำเป็นต้องใช้เครือข่ายทุกเรื่อง  การตัดสินใจบริหารโครงการในลักษณะเครือข่ายควรมีปัจจัยสนับสนุน คือ  ต้องการความคล่องตัว, ต้องการความแปลก แตกต่าง, ต้องการทักษะและเทคโนโลยีที่ไม่มีในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, โครงการที่จะดำเนินการมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลากหน่วยงาน, โครงการที่จะดำเนินการมีหน่วยงานภายนอกมีศักยภาพความสามารถ   และมีความสมัครใจในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย

หมายเลขบันทึก: 501214เขียนเมื่อ 5 กันยายน 2012 07:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2013 08:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เครือข่าย...มีพลังจริงๆค่ะ เห็นเป็นไปตาม ทฤษฎีนะคะ

ขอบคุณบทความดีๆ ในการสร้างเครือข่ายค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท