ตอนที่ ๑๓


ลูกชาย : ทำไมถึงให้ทำอย่างนั้นหละครับ

พ่อดี : นายเริงชัย ผู้ว่าการฯ ให้เหตุผลโดยยกตัวอย่างว่า นายกรัฐมนตรีรีวิลสัน (Harold Wilson) ของหมู่บ้านสิงโตก็ยืนยันจนคืนสุดท้ายพอวันรุ่งขึ้นก็ประกาศลดค่าเงิน (ปี ค.ศ. ๑๙๖๗) ไม่มีหมู่บ้านไหนที่ไปออกทีวีแล้วบอกว่าผมกำลังพิจารณาเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งหากพูดอย่างนั้นคนนั้นก็จะถูกกล่าวหาว่าเลินเล่ออย่างร้ายแรง ทำให้หมู่บ้านเสียหายแน่นอน นั่นคือเหตุผลที่ให้นายเริงชัย ให้นายกพูดยืนยันเรื่องระบบอัตราแลกเปลี่ยนตามเดิมเมื่อออกทีวีวันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๐

ลูกชาย : เป็นเหตุผลที่ฟังเหมือนดูดีเลยนะครับ เหมือนกับต้องการรักษาผลประโยชน์ของหมู่บ้าน แต่ผมสงสัยว่าถ้าอย่างนั้นแล้วทำไมไม่ประกาศลอยค่าเงินในวันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๐ เลยหละครับ ทำไมต้องรอวันรุ่งขึ้นด้วย

พ่อดี : บุคคลที่เกี่ยวข้องและรับรู้เหตุการณ์ในขณะนั้นไม่มีใครรู้ว่าพวกเขาเหล่านั้นคิดอะไรอยู่และต่างมีคำถามว่า ทำไมธนาคารแห่งหมู่บ้านช้างจึงต้องให้เปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวในวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๐? ทำไมรัฐมนตรีกระทรวงการคลังในขณะนั้นไม่แนะนำให้ประกาศลอยตัวค่าเงินบาทตั้งแต่วันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๐ นั้นเลยซึ่งน่าจะสามารถดำเนินการได้ ? และที่สุดในวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๐ นายเริงชัย ผู้ว่าการฯ ได้นำเอกสารรายละเอียดการลดค่าเงินบาทไปให้นายกรัฐมนตรีเซ็นเพื่ออนุมัติ (โดยมีกระแสข่าวบอกว่านายกรัฐมนตรีในขณะนั้นโกรธมากที่ถูกหลอกมานาน ถึงกับพูดกับผู้ว่าการฯว่า คุณทำอย่างนี้ได้อย่างไร ? ผมถามคุณแล้วนะไม่ลด เสร็จแล้วคุณก็มาลด นั่นแสดงว่าคุณมีเจตนาจะทำลายเกียรติยศชื่อเสียงผม) แต่ท้ายที่สุดก็ยังไม่ประกาศในวันนั้นอีก และเลือกประกาศใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวในวันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ ซึ่งรวมระยะเวลาตั้งแต่ที่ธนาคารแห่งหมู่บ้านช้างมีมติเป็นเอกฉันท์ (วันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๐) ว่าจะต้องเปลี่ยนระบบค่าเงินเป็นลอยตัวจนถึงวันประกาศ รวมทั้งหมด ๑๑ วัน

ลูกชาย : ผลประโยชน์ไม่เข้าใครออกใครจริง ๆ เลยนะครับแม้กระทั่งแลกกับความหายนะของหมู่บ้านตัวเองก็ไม่เว้น เออพ่อครับสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดวิกฤตมาจากอะไรครับ

พ่อดี : ถ้าจะเล่าจริง ๆ มันเป็นปัญหาที่ต้องทำความเข้าใจถึงรากเง้าของปัญหา

            ประการแรก เกิดจากการสะสมของปัญหาเชิงนโยบายทางเศรษฐกิจโดยกระบวนการแนวความคิดทางปรัชญาของเศรษฐศาสตร์กระแสตะวันตกที่หมู่บ้านของเรานำมาใช้ผ่านทางการกำหนดยุทธศาสตร์ของหน่วยงานทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งหมู่บ้าน (สภาพัฒน์ฯ) และธนาคารแห่งหมู่บ้านช้าง นั้นเป็นแนวนโยบายทางเศรษฐกิจที่ขาดความรอบคอบในการคำนึงถึงความเหมาะสมเชิงยุทธศาสตร์ด้านอื่น ๆ ประกอบ อาจจะเนื่องมาจากกลุ่มเทคโนแครต (ขุนนางนักวิชาการ) ที่กุมอำนาจทางด้านนโยบายของเศรษฐกิจในระยะแรก ๆ ถูกหล่อหลอมองค์ความรู้จากศาสตร์กระแสตะวันตก โดยเฉพาะพวกนี้ชอบอ้างการพัฒนาตามแนวทางของทุนนิยมว่าเป็นคำตอบที่ดีที่สุดของหมู่บ้าน โดยไม่ได้ใช้ปัญญาคิดไต่ตรองถึงความเหมาะสมต่าง ๆ ของพื้นฐานเศรษฐกิจของหมู่บ้าน ถ้ามีเสียงคัดค้านจากกลุ่มอื่น ก็จะโดนคนจำพวกนี้ ตะโกนด่าหาว่าโง่ เป็นตัวถ่วงความเจริญของหมู่บ้าน เป็นพวกที่ไม่พัฒนา แต่ขณะเดียวกันถ้ามีเสียง (สวรรค์) มาจากชาวตะวันตกคนพวกนี้จะทำตัวเป็นสาวกที่เชื่องพร้อมน้อมรับเอาปฏิบัติโดยทันที โดยคนพวกนี้จะมีวัฒนธรรมที่บูชาภูมิปัญญาตะวันตกและดูถูกภูมิปัญญาหมู่บ้านตัวเอง โดยความชัดเจนของการก่อให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจเริ่มต้นจากปี พ.ศ. ๒๕๓๓ ในสมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย หมู่บ้านช้างของเราโดยนายประมวล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายชวลิต ผู้ว่าการธนาคารแห่งหมู่บานช้าง ได้ประกาศรับพันธะข้อ ๘ ของกองทุนการเงินระหว่างหมู่บ้าน (MMF) โดยมีสาระสำคัญว่า “ห้ามสมาชิกใช้ข้อจำกัดการแลกเปลี่ยนเงินเพื่อธุรกิจเดินสะพัดระหว่างหมู่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นการชำระเงินหรือการโอนเงิน เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจาก MMF ก่อน ห้ามสมาชิกใช้วิธีการปฏิบัติอย่างลำเอียงในการแลกเปลี่ยนเงินตรา หรือใช้อัตราแลกเปลี่ยนหลายระบบ รวมทั้งให้สมาชิกมีพันธะต้องรับแลก (รับซื้อ) เงินสกุลของตนคืนจากสมาชิกอื่นเมื่อได้รับการร้องขอ หากสมาชิกที่นำมาขอแลกเพิ่มได้รับเงินตรานั้นมาจากการธุรกิจเดินสะพัดหรือมีความจำเป็นต้องแลกเปลี่ยนเงินนั้น เพื่อนำไปใช้ในธุรกิจเดินสะพัด” ซึ่งทางการของหมู่บ้านช้างของเราก็ทำตัวเป็นเด็กดีอยู่ในโอวาทของ MMF โดยสัญญาว่าจะไม่ใช้ข้อจำกัดการชำระเงินหรือการโอนเงินเพื่อธุรกิจสะพัดระหว่างหมู่บ้าน อันเป็นการผูกมัดตัวเองต่อสังคมนานาหมู่บ้านว่าจะไม่วกกลับไปควบคุมการชำระเงินระหว่างหมู่บ้านอีกต่อไป เป็นสาเหตุให้เกิดเงินทุนไหลเข้าในรูปแบบของการกู้ยืมของภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง เหตุผลของการเปิดเสรีทางการเงินโดยการผ่อนคลายปริวรรตเงินตราของรัฐบาลในขณะนั้นก็คือ การค้าและการผลิตเพื่อการส่งออกของหมู่บ้านขยายตัวในอัตราที่สูงมาก ทำให้มีการโอนเงินเข้า-ออก เพื่อการชำระสินค้าและบริการต่าง ๆ ในอัตราที่สูง ระบบการเงินควรจะเอื้ออำนวยต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้มากที่สุด โดยการลดข้อจำกัดต่าง ๆ ลงและยังเป็นโอกาสดีที่จะพัฒนาตลาดการเงินในหมู่บ้านให้เป็นศูนย์กลางทางการเงินในภูมิภาคอีกทางหนึ่งด้วย  แต่การก่อหนี้ของภาคเอกชนมากที่สุดได้เริ่มต้นขึ้น หลังจากคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลของนายชวน (โดยมีนายธารินทร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายวิจิตร ผู้ว่าการธนาคารแห่งหมู่บ้านช้าง) ในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ ได้เห็นชอบในการอนุญาตให้มีการประกอบกิจการสินเชื่อวิเทศธนกิจกรุงเทพ (Bangkok International Bangkok Facitilities--BIBF) อันเป็นสินเชื่อที่เน้นการระดมเงินกู้จากต่างหมู่บ้านเข้ามาปล่อยกู้หรือปล่อยผ่านให้กับสถาบันการเงินและภาคเอกชน โดยไม่ต้องมีกฎเกณฑ์ใด ๆ มาควบคุมทำให้สินเชื่อต่างหมู่บ้านไหลเข้ามาในหมู่บ้านเราได้อย่างไร้ขอบเขต (เปรียบเสมือนเป็นการเหยียบคันเร่งให้กับการเคลื่อนย้ายเงินทุน) ซึ่งก็ปล่อยให้สถานการณ์ของหนี้เพิ่มต่อเนื่องมาเรื่อยทั้งรัฐบาลของนายบรรหาร (ปี พ.ศ. ๒๕๓๘-๒๕๓๙) จนถึงรัฐบาลของพลเอกชวลิต (ปี พ.ศ. ๒๕๓๙-๒๕๔๐)

            ประการที่สอง ความโลภของนักธุรกิจบางส่วน โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของตนและพวกพ้องเป็นที่ตั้ง (เมื่อเกิดผลเสียหายจากอัตราแลกเปลี่ยนก็ชอบโทษคนอื่นอย่างเดียวโดยไม่เคยมองเห็นความผิดพลาดของตนเองเลย) เมื่อตนเองและพวกพ้องได้ประโยชน์ (ถึงแม้ส่วนรวมจะเสียผลประโยชน์) พวกนี้เห็นว่า สิ่งนั้นคือแนวทางที่ถูกต้อง แต่เมื่อไรที่ตนเองและพวกพ้องเสียผลประโยชน์ (ถึงแม้ว่าส่วนรวมจะได้ประโยชน์) พวกนี้เห็นว่าสิ่งนั้นเป็นแนวทางที่ผิด โดยเฉพาะเมื่อมีกลไกหรือนโยบายมาเกื้อหนุนส่งเสริมผลประโยชน์แล้ว ก็ทำตัวเหมือนฝูงแร้งรุมทึ้งนโยบายหรือกลไกนั้นเพื่อสนองความโลภ (กิเลส) ของตนเองและพวกพ้อง เหมือนกับกลไกเสรีการเงิน ที่มีการผ่อนคลายการปริวรรตเงินตราให้เงินไหลเข้าออกโดยไร้การควบคุม ก่อให้เกิดการสร้างหนี้จากภาคเอกชนอย่างท้วมท้น โดยที่มีกลไกและเครื่องมือของภาครัฐเป็นตัวส่งเสริมอย่างลงตัวเริ่มต้นจาก ธนาคารแห่งหมู่บ้านช้างได้ผ่อนคลายการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตราโดยแบ่งเป็น ๓ ขั้นตอนดังนี้   

                ขันที่ ๑ เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๓ ให้ธนาคารพาณิชย์เป็นผู้อนุญาตคำขอแลกเปลี่ยนเงินตราที่เกี่ยวข้องกับสินค้าได้ทุกกรณี ส่วนรายจ่ายด้านเงินบริการต่าง ๆ และด้านการเคลื่อนย้ายเงินทุน เช่น การชำระคืนเงินกู้ต่างหมู่บ้านและการส่งคืนเงินทุนจากการขายหุ้นหรือเลิกกิจการ และการรับจ่ายเงินบาทเข้าและออกจากบัญชีเงินบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกหมู่บ้าน ธนาคารแห่งหมู่บ้านช้างยังคงข้อจำกัดเรื่องวงเงินอยู่บ้าง แต่ว่าได้ผ่อนคลายลงกว่าเดิมมาก

              ขั้นที่ ๒ เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๓๔ ในสมัยรัฐบาลนายอานันท์ ธนาคารแห่งหมู่บ้านช้างได้ยกเลิกการใช้แบบอนุญาตแลกเปลี่ยนเงินที่ใช้อยู่อยู่ในประเภท และให้ใช้แบบรายงานของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งมีน้อยประเภทกว่าทำให้ธนาคารแห่งหมู่บ้านช้างยังคงติดตามความเคลื่อนไหวด้านการเงินระหว่างหมู่บ้านได้ แต่อำนวยความสะดวกให้ผู้ปฏิบัติและประชาชนมากขึ้นกว่าเดิม นอกจากนั้น ยังได้กำหนดให้ผู้ทำธุรกิจด้านส่งออกนำเงินกลับเข้ามาภายใน ๑๘๐ วัน นับตั้งแต่วันส่งออกซึ่งยืดหยุ่นมากกว่าเดิมรวมทั้งสามารถเก็บเงินที่ได้มาไว้ในบัญชีเงินฝากเงินตราต่างหมู่บ้านได้ ซึ่งการนำเงินเข้าหมู่บ้านโดยไม่ต้องจดทะเบียนเงินกู้และเงินลงทุนอีกต่อไป ทำให้การโอนเงินทุนออกนอกหมู่บ้านเป็นไปโดยเสรีมากขึ้น และให้ชาวต่างหมู่บ้านรวมทั้งบุคคลผู้มีถิ่นที่อยู่ต่างหมู่บ้าน คนหมู่บ้านช้างและนิติบุคคลที่อยู่ในหมู่บ้านช้าง เปิดบัญชีเงินฝากในรูปเงินตราต่างหมู่บ้านได้ในยอดเงินพอสมควรโดยคนหมู่บ้านช้างถือได้ถึง ๕๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์ นิติบุคคลหมู่บ้านช้างถือได้ ๕ ล้านดอลลาร์ ทางด้านบัญชีเงินบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกหมู่บ้านก็ผ่อนคลายกฎเกณฑ์มากขึ้น ถือได้ว่าในชั้นนี้มีการปล่อยเสรีการเคลื่อนย้าย เงินทุนระหว่างหมู่บ้านทั้งในแง่ของประเภทและเงิน โดยในสมัยคณะรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน นายพนัส สิมะเสถียร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มีมติอนุมัติในหลักการให้มีการจัดตั้งกิจการวิเทศธนกิจในหมู่บ้านช้าง ในวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๕ โดยมีเหตุผลหลักคือ ต้องการให้มีการแข่งขันทางการเงินการธนาคาร โดยหวังว่าหมู่บ้านช้างจะเป็นศูนย์กลางทางการเงินแห่งภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้แทนที่หมู่บ้านลอดช่อง โดยปราศจากความรู้ความเข้าใจในระบบการเงินการธนาคารอย่างแท้จริง

              ขั้นที่ ๓ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ ในสมัยรัฐบาลชวน  มีนายธารินทร์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีการผ่อนคลายด้านการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างหมู่บ้านและทำให้เงินบาทในบัญชีผู้มีถิ่นที่อยู่ต่างหมู่บ้านเคลื่อนไหวได้มากขึ้น คือ มีการเพิ่มวงเงินที่มอบหมายให้ธนาคารพาณิชย์อนุญาตคำขอซื้อ หรือขอถอนเงินจากบัญชีเงินฝากเงินตราต่างหมู่บ้านเพื่อลงทุนในกิจการในต่างหมู่บ้านได้ในวงเงินปีละ ๑๐ ล้านดอลลาร์ และให้ตัวแทนรับอนุญาตให้กู้เงินตราต่างหมู่บ้านแก่บุคคลที่มีถิ่นที่อยู่ในต่างหมู่บ้านได้โดยไม่จำกัดจำนวน รวมไปถึงอนุญาตให้โอนเงินบาทที่ถอนโดยการเบิกเกินบัญชีจากบัญชีเงินบาทของผู้มีถิ่นอยู่ในต่างหมู่บ้านไปเข้าบัญชีประเภทเดียวกันนี้ในบัญชีอื่นได้ทั้งหมด (ซึ่งตรงนี้ถือได้ว่าเป็นสาเหตุประการหนึ่งที่เป็นการเปิดช่องให้เกิดการโจมตีค่าเงินในเวลาต่อมา)

             ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ถือได้ว่าเป็นลำดับขั้นตอนของกลไกภาครัฐที่เอื้อส่งเสริมให้เกิดการก่อหนี้ต่างหมู่บ้านได้อย่างไหลลื่นซึ่งสอดประสานกับความโลภของภาคธุรกิจเอกชน (ปรัชญากำไรสูงสุดเป็นที่ตั้ง) ได้อย่างลงตัวที่สุด

             ประการที่ ๓ การดำเนินนโยบายด้านอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารแห่งหมู่บ้านช้างไม่สอดคล้องกับสถานการณ์และภาวะของเศรษฐกิจ เนื่องจากว่า การทีเปิดเสรีทางการเงินและการเปิดสินเชื่อวิเทศธนกิจกรุงเทพ BIBF แต่หมู่บ้านช้างของเราก็ยังคงใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบตะกร้าเงิน (อิงกับเงินตราต่างหมู่บ้านที่สำคัญแต่ให้น้ำหนักเงินสกุลดอลลาร์มากที่สุด) โดยมีอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทค่อนข้างคงที่นั้น (เปรียบเสมือนเป็นการส่งเสริมนิสัยการกู้ของภาคเอกชนทางอ้อม) ทำให้ผู้กู้เงินจากต่างหมู่บ้านไม่มีความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา เป็นผลให้มีการกู้เงินจากต่างหมู่บ้านเข้ามาในหมู่บ้านอย่างมากมาย กอร์ปกับในเวลานั้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในต่างหมู่บ้านต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในหมู่บ้าน ซึ่งถือได้ว่าเป็นแรงส่งอีกประการที่เสริมให้เงินกู้ต่างหมู่บ้านไหลเข้ามาอย่างท่วมท้น เป็นสาเหตุให้เกิดการโจมตีค่าเงินในเวลาต่อมา

ลูกชาย : ถือได้ว่าเป็นปัญหาที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนควรตระหนักถึงผลดีผลเสียของการดำเนินการตามกระแสทุนนิยม ถ้าไม่รู้และเข้าใจอย่างแท้จริงแล้วเกิดผลเสียมหาศาลเลยนะครับ แล้วที่พ่อบอกว่ากลุ่มเทคโนแครต (ขุนนางนักวิชาการ) บูชาแนวความคิดตะวันตกแสดงว่ากลุ่มนี้เป็นพวกบูชาลัทธิทุนนิยมด้วยไหมครับ

 

********************************************************************************************************************

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #พ่อ#ลูกชาย
หมายเลขบันทึก: 501160เขียนเมื่อ 4 กันยายน 2012 17:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 กันยายน 2012 18:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท