เมื่อไรจะเลิกอ่านหนังสือธรรมะซะที !


ที่จั่วหัวไว้เช่นนี้ ไม่ใช่ว่าหนังสือธรรมะไม่ดีเลยแนะให้เลิกอ่านนะครับ . . .ปัจจุบันนี้มีหนังสือธรรมะดีๆ มากมายด้วยกัน และนั่นคือเหตุผลที่ผมต้องเขียนบันทึกนี้ไว้เพื่อใช้เตือนตัวเองว่า “น่าจะหยุดอ่านได้แล้วนะ

          หนังสือธรรมะส่วนใหญ่มักจะเป็นการถ่ายทอดคำสอนของครูบาอาจารย์ที่ท่านได้ผ่านประสบการณ์ทางธรรมมา ท่านมีจิตเมตตาช่วยชี้ทางให้เราเห็น ท่านช่วยเปิดประเด็นเพื่อให้เราก้าวเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง แต่ผมว่าตัวเราเองต่างหากที่เป็นปัญหา อาจเป็นเพราะว่าเรายังไม่มีปัญญาพอ จึงมัวแต่ไปติดอยู่กับ “นิ้วที่ใช้ชี้ดวงจันทร์” ของท่าน ครูบาอาจารย์ท่านนั้นชี้ไว้อย่างนี้ สอนไว้อย่างนี้ อาจารย์อีกที่อีกสำนักสอนไว้อีกอย่างหนึ่ง แล้วเราก็พยายามจะ “เข้าถึง” สิ่งที่ท่านสอนนี้ ด้วยความคิด (อันจำกัด) ของเรา

          อ่านอย่างไร คิดอย่างไรก็ไม่เข้าใจ จนบางทีต้องเปลี่ยนไปศึกษาวิธีการของสำนักใหม่ อ่านหนังสือเล่มใหม่ อ่านไปเรื่อยๆ ไม่ต่างอะไรกับการช็อปปิ้งธรรมะไปวันๆ อ่านไปมากๆ ก็ “หลงผิด” คิดว่าตัวเองรู้ คิดว่าตัวเองพัฒนา สามารถสนทนาธรรมกับคนอื่นได้ โดย “ไม่รู้ตัว” เลยสักนิดว่า “ประสบการณ์ทางธรรม” ของตนนั้นยังย่ำอยู่กับที่ แม้ว่าจะอ่านหนังสือธรรมะมาหลายร้อยเล่มแล้วก็ตาม

          จึงต้องพยายามเตือนตนเองบ่อยๆ ว่า “ต้องเลิกแสวงหา หยุดการพัฒนาภูมิธรรมแบบนี้ได้แล้ว” เพราะนอกจากจะเสียเวลาแล้ว อาจจะเพิ่มพูน “อัตตา” ไป โดย “ไม่รู้ตัว” อีกด้วย  อ่านมาถึงตรงนี้ บางทีท่านอาจจะมีคำถามว่าแล้ววิธีการที่ควรจะทำล่ะ เป็นเช่นใด? อย่างที่บอกไว้ล่ะครับว่าครูบาอาจารย์ทำได้อย่างมากก็แค่ชี้ทางให้เราเท่านั้น ประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่ว่า “แล้วเราน่ะ ออกเดินหรือยัง?” ถ้ายังมัวแต่นั่งอ่านหนังสือ หรือใช้ความคิดเพื่อทำความเข้าใจ แสดงว่ายังไปไม่ถึงไหน แล้วนี่เมื่อไหร่จะได้พัฒนาล่ะ?

          เสียงภายในหัวอาจเถียงขึ้นว่า “ก็ยังไม่รู้เลยว่าวิธีของอาจารย์ท่านไหนใช้ได้ ใช้ไม่ได้ แล้วจะให้เดินไปได้อย่างไร?” ขอเตือนไว้ก่อนว่า “อย่าไปไว้ใจ และเชื่อความคิดในหัวที่ชอบโต้เถียงนี้มากนัก” มันมักจะมีอะไรๆ มาอ้าง มีเหตุผลต่างๆ นานาที่มาทำให้เราไม่ได้ก้าวเดินอยู่เสมอ แค่ให้รู้ว่ามีเสียงเหล่านั้นอยู่ แต่ก็ก้าวขาออกไป ลองทำดู แล้วก็จะรู้เองว่าหนทางที่กำลังเดินอยู่นั้นมันถูกหรือผิด วิธีเช็คง่ายๆ ก็คือการดูว่าถ้าเดินไปตามนั้นแล้ว “อัตตาตัวตน” มันใหญ่ขึ้นๆ ทุกที นี่ย่อมเป็นเครื่องชี้ว่ามาผิดทางแล้วแน่ๆ

          หรือหากทำไปๆ แล้วใจมันเกิด “บ้าบุญ” มากขึ้นๆ อยากไปอยู่สวรรค์ชั้นโน้นชั้นนี้ นี่ก็น่าจะมาผิดทางเช่นกัน (นะจ๊ะ) เพราะถ้าเดินมาถูกทาง เราก็น่าจะ “ปล่อยวาง” ได้มากขึ้น ความหงุดหงิดรำคาญใจ ไฟแห่งความโกรธในตัวน่าจะลดน้อยลง สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่แต่ละท่านจะต้องหมั่นเช็คตัวเอง “สอบอารมณ์” ตัวเองอยู่เสมอผ่านสิ่งที่เรียกว่า “สติ หรือ การรู้ตัว”

          สรุปว่าหนังสือธรรมะหรือคำสอนของครูบาอาจารย์เป็นได้ก็แค่เครื่องชี้ทางเท่านั้น ตัวท่านจะไปถึงจุดหมายปลายทางหรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับว่าท่านนั้นได้ออกเดินทางไปบ้างแล้วหรือยัง ท่านได้ก้าวเท้าออกไปเพื่อที่จะได้มีประสบการณ์ตรงแล้วหรือยัง หรือว่าท่านยังคงนั่งอ่านหนังสือธรรมะและใช้ความคิดอยู่เหมือนผม !

                                    

                                      ภาพจาก kanchana.bth.cc

หมายเลขบันทึก: 501144เขียนเมื่อ 4 กันยายน 2012 14:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กันยายน 2012 17:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

เรื่องแบบนี้ต้องปฏิบัติเอง ประสบการณ์ของแต่ละคนย่อมแตกต่างกันไป การอ่านจึงเป็นเพียงแนวทาง ขอบคุณบทความดีๆ ค่ะ

สวัสดค่ะท่านBlankดร. ประพนธ์ ผาสุขยืด   อ่านอย่างเดียวคงจะไม่ถึงจุดหมายค่ะ

         สรุปว่าหนังสือธรรมะหรือคำสอนของครูบาอาจารย์เป็นได้ก็แค่เครื่องชี้ทางเท่านั้น ตัวท่านจะไปถึงจุดหมายปลายทางหรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับว่าท่านนั้นได้ออกเดินทางไปบ้างแล้วหรือยัง ท่านได้ก้าวเท้าออกไปเพื่อที่จะได้มีประสบการณ์ตรงแล้วหรือยัง หรือว่าท่านยังคงนั่งอ่านหนังสือธรรมะและใช้ความคิดอยู่เหมือนผม !

จุดเริ่มต้นของปัญญาที่หาได้่ง่ายในท้องตลาด กระมังครับอาจารย์ ;)...

ชอบอ่านหนังสือธรรมะ.. ฟังเทปธรรมะ.. แต่ไม่ชอบฟังพระเทศน์ค่ะ

 

เห็นด้วยกับท่านอย่างยิ่งครับ เลิกอ่าน ศรัทธาก้เสื่อมไปด้วย แสดงว่าผมปฏิบัติยังไม่ถึงขั้น

อย่าเลิกอ่านเลยค่ะ

หนังสือทุกอย่างมีประโยชน์

คนอ่านเล่มเดียวกัน คิดต่างมุมกัน

อาจารย์อ่านเยอะ อาจารย์ก็มีเรื่องใหม่แปลกเยอะ

ดิฉันอ่านหนังสือเยอะ แต่ไม่อ่านหนังสือธรรมะเลย

เพราะมีคุณแม่อ่าน แล้วเล่าให้ฟัง สนุกกว่าอ่านเอง

แต่ชอบฟังพระสวดมนต์มากที่สุด ยิ่งไม่มีคำแปลภาษาไทย ยิ่งมีความสุขมาก จิตใจสงบมากเลยค่ะ บางทีฟังจนมีเสียงสวดมนต์ก้องในหูตลอดเวลาก็ยังมีเลยค่ะ

ต้องลองหลายๆ ทางครับ ทั้ง อ่าน ฟัง และ ปฏิบัติ แล้วจะดีครับ

ตัวผมเองก็อ่านหนังสือธรรมมะมากเหมือนอาจารย์ คงอ่านมาเป็นร้อยๆ เล่ม บางเล่มหลายรอบ

และผมก็ฟังเสียงเทศน์ธรรมะด้วยครับ ฟังมาเป็น พันๆ ตอน เสียงของครูบาอาจารย์หลายสิบองค์ ดาวน์โหลดมาฟัง ส่วนมากท่านมรณภาพไปแล้ว แต่บางองค์ที่เทศน์ตรงใจก็ฟังเกือบพันตอนก็มี ระดับแค่ร้อยตอนก็มี ระดับแค่ไม่กี่สิบตอนก็มีครับ บางตอนฟังเกินสิบรอบแล้วก็มี (มาร์กไว้ใน iTune เลยนับได้) ฟังไปก็นั่งสมาธิไป ขัดสมาธิราบบ้างขัดเพชรบ้างก็มี รวมแล้วก็เกิน พัน ชั่วโมงแน่นอน ส่วนมากจากซีดีหรือจากคอมพิวเตอร์ แต่เคยไปกราบฟังธรรมสดๆ ก็มี

นอกจากนี้การเข้าวัดบ่อยๆ ก็ทำให้จิตใจเราอ่อนลงได้ครับ เมื่อยี่สิบปีก่อนผมเคยคิดว่าตัวเองดีแล้ว พอเข้าวัดไป เห็นเลยว่าเหนือฟ้ายังมีฟ้า ใจเรายังกิเลสหนาอยู่

แล้วก็ควรไปถือศีล ไปปฏิบัติในที่สัปปายะด้วยครับ บางทีสถานที่เอื้ออำนวยครับ เจอที่ถูกจริต จิตรวมเข้าฌานได้เลยครับ อยู่บ้าน สมัยก่อนก็เคยนั่งสมาธิ วันละ ๓ รอบก็มี

สรุปว่า ผมใช้กลยุทธ์ทุกแบบครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท