การกระทำผิดของผู้หญิงไทยในการกระบวนการค้ายาเสพติดข้ามชาติ


ผู้หญิงไทยในการกระบวนการค้ายาเสพติดข้ามชาติ
            สถิติการจับกุมหญิงไทยที่ถูกจับในคดียาเสพติด ทั้งในประเทศและต่างประเทศนั้น ได้แสดงให้เห็นถึงรูปแบบที่เครือข่ายนักค้ายาเสพติดข้ามชาติใช้เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจตราจับกุมของเจ้าหน้าที่ แต่กลับพบว่ายังไม่ได้มีการศึกษาถึงเรื่องนี้อย่างจริงจัง ทำให้ยังคงมีหญิงไทยที่ตกเป็นผู้กระทำผิดในคดีลักลอบขนยาเสพติดร่วมกับเครือข่ายนักค้ายาเสพติดข้ามชาติทั้งแบบที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจอยู่เป็นจำนวนมากสร้างความเสียหายแก่ประเทศและชื่อเสียงของหญิงไทยเป็นอย่างยิ่ง การศึกษานี้จึงมุ่งที่จะศึกษาถึงรูปแบบของการกระทำผิดของผู้หญิงไทยในกระบวนการค้ายาเสพติดข้ามชาติ เพื่อหามาตรการในการป้องกันไม่ให้ผู้หญิงไทยเข้าสู่กระบวนการดังกล่าว อันจะเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์และศักดิ์ศรีของผู้หญิงไทยในทัศนะของต่างชาติอีกด้วย โดยมีการนำทฤษฎีต่างๆเค้ามาวิเคราะห์สาเหตุดังต่อไปนี้

             แนวคิดและทฤษฎีสตรีนิยม (Feminist) ได้ให้ความหมายไว่า แนวทางในการวิพากษ์วิจารณ์และปรับปรุงสถานภาพที่เสียเปรียบของผู้หญิงที่สัมพันธ์กับผู้ชายภายใต้สถานการณ์ทางวัฒนธรรมเฉพาหนึ่งๆ เนื่องจากเชื่อว่าผู้หญิงถูกปฏิบัติอย่างเลวร้าย และได้รับความทุกทรมานจากระบบสังคมที่ไม่เป็นธรรม เพียงเพราะเกิดเป็นเพศหญิง จึงต้องกระทำการบางอย่างเพื่อแก้ไขสิ่งที่เป็นอยู่ของผู้หญิง เพื่อแปรเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางสังคมเสียใหม่ เพื่อสร้างความเท่าเทียมกันทางสังคม ในด้านอาชญาวิทยานั้นได้นำเอาแนวคิดทางด้านสตรีนิยมมาอธิบายบทบาทของผู้หญิงที่กระทำผิด โดยเรียกว่าอาชญาวิทยาแนวสตรีนิยม (Feminist criminology) เป็นการศึกษาอาชญาวิทยาโดยกลุ่มแนวคิดที่เน้นความเท่าเทียมและความมาเท่าเทียมกันระหว่างเพศหญิงและเพศชาย โดยแนวคิดสตรีนิยมที่จะนำมาวิเคราะห์สาเหตุของการกระทำผิดของผู้หญิงได้ได้แก่ ทฤษฎีสตรีนิยมสายเสรีนิยม (Liberal Feminist) ได้รับอิทธิพลอย่างสูงจากแนวคิดเสรีนิยมที่ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมกันของมนุษย์โดยเฉพาะในทางกฎหมาย ให้ความสำคัญต่อปัจเจกนิยมที่มีเหตุผล ทำให้นักสตรีนิยมในแนวนี้มักเรียกร้องให้ผู้หญิงเปลี่ยนแปลงตนเองให้เป็นคนมีเหตุผล ปรับปรุงตัวเองให้เหมือนกับผู้ชาย เช่นต้องไม่ใช้อารมณ์ ไม่แสดงความอ่อนแอ และเชื่อว่าผู้หญิงและผู้ชายไม่มีความแตกต่างกัน เป็นมนุษย์เหมือนกัน และอีกหนึ่งทฤษฎีคือ ทฤษฎีสตรีนิยมสายถอนรากถอนโคน (Radical feminist) ความไม่เทียมกันทางเพศเกิดจาก อุดมการณ์ชายเป็นใหญ่ (Patriarchy) ระบบชายเป็นใหญ่ หมายถึง ระบบของโครงสร้างสังคมและแนวการปฏิบัติที่ผู้ชายมีความเหนือกว่า กดขี่และเอารัดเอาเปรียบผู้หญิง กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เป็นระบบที่ผู้ชายมีความเหนือกว่าผู้หญิงในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น เศรษฐกิจ การเมือง หรือวัฒนธรรม กลุ่มแนวคิดนี้จะให้ความสนใจต่อสถานะที่เป็นรองของผู้หญิงและมองว่าความเป็นรองที่เกิดขึ้น มีสาเหตุมาจากความต้องการเหนือกว่าของผู้ชาย และอุดมการณ์ชายเป็นใหญ่นี้พยายามสร้างความชอบธรรมต่อความเหนือกว่าของผู้ชาย

            ส่วนทฤษฎีคิดก่อนกระทาผิด (Rational Choice Theory) อธิบายพฤติกรรมอาชญากรรมที่เกิดขึ้นว่า ผู้กระทำผิดได้มีการพิจารณาไตร่ตรองมาก่อนแล้ว ว่าการกระทำผิดในแต่ละครั้งนี้จะได้กำไรหรือขาดทุน โดยการชั่งใจหรือไตร่ตรองนั้น จะอาศัยปัจจัยส่วนบุคคลรวมไปถึงประสบการณ์การเรียนรู้เกี่ยวกับการกระทำผิดมาร่วมพิจารณาด้วย นอกจากนี้ยังต้องอาศัยปัจจัยสภาพแวดล้อมของการกระทำผิดในขณะนั้นด้วย หรืออาจกล่าวได้ว่า ผู้กระทำผิดจะพิจารณาถึงศักยภาพของตนเองว่ามีศักยภาพเพียงพอในการกระทำผิดหรือไม่ ประกอบกับสภาพแวดล้อมที่เปิดโอกาสหรือเอื้ออำนวยต่อการกระทำผิดครั้งนี้มากน้อยเพียงใด จึงนำไปสู่การตัดสินใจประกอบอาชญากรรมแต่ละครั้ง 

           ทฤษฎีการคบหาสมาคมที่แตกต่างกันของเอ็ดวิน ซัทเธอร์แลนด์ (Sutherland’s Differential Association Theory) อธิบายพฤติกรรมอาชญากรเกิดจากการเรียนรู้ โดยการคบหาสมาคมอย่างใกล้ชิดกับบุคลที่มีพฤติกรรมการกระทำผิด ได้เรียนรู้ถึงเทคนิคและวิธีการ เหตุผลและแรงจูงใจในการกระทำผิดจนกระทั่งรับเอาค่านิยมการละเมิดกฎหมายเข้าไว้ในตัวและพัฒนาไปสู่การกระทำผิดได้ในที่สุด

           จากการศึกษาของมูลเชิงเอกสาร ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดของผู้หญิงในกระบวนการค้ายาเสพติดข้ามชาติ ที่ปรากฏในข่าว และเอกสารประชาสัมพันธ์ของทางราชการ เช่น กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ พบว่า รูปแบบการกระทำผิดของผู้หญิงในกระบวนการค้ายาเสพติด มีดังนี้ 

            การเข้าสู่เครือข่ายยาเสพติดข้ามชาติ โดยวิธีการที่นักค้ายาเสพติดข้ามชาติ ใช้ในการชักจูงผู้หญิงให้เข้าสู่เครือข่ายการค้ายาเสพติดข้ามชาติมีวิธีการดังนี้
            1. โดยการหลอกลวงเป็นรูปแบบที่พบมากที่สุดที่เครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาตินิยมใช้ในการเข้ามาสร้างความสัมพันธ์กับหญิงไทย โดยพบว่ามีวิธีการที่หลากหลาย เช่น การหลอกลวงให้ผู้หญิงรักและแต่งงานด้วย ซึ่งเป็นวิธีการที่พบเห็นมากที่สุด โดยหลอกให้หญิงไทยหลงเชื่อว่ามาหลงรัก และขอเป็นแฟน จากนั้นก็จะชวนไปเที่ยวต่างประเทศ ประเทศ เช่น ประเทศในแถบเอเชียที่มีประเทศซึ่งมีความสามารถในการซื้อสูง หรือประเทศที่เป็นจุดเชื่อมต่อไปยังภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งวิธีการที่ใช้ ในการติดต่อสร้างสัมพันธ์กับหญิงชาวไทยจะมี 2 รูปแบบ วิธีแรกคือ ติดต่อผ่านโปรแกรมแชท ทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งผู้หญิงไทยจะรับสัมพันธ์ด้วยโดยง่าย แม้จะยังไม่เคยเห็นหน้ากันมาก่อน ผู้หญิงกลุ่มนี้จะค่อนข้างมีการศึกษา ใช้ภาษาอังกฤษได้บ้าง หลังจากคุยผ่านโปแกรมแชทได้ระยะหนึ่ง ฝ่ายชายจะเดินทางเข้ามาในประเทศเพื่อสานสัมพันธ์และอยู่กินเป็นสามีภรรยา จากนั้นจะใช้ให้ขนยาเสพติด อีกวิธีการขบวนการค้ายาเสพติดจะเดินทางเข้าประเทศเพื่อชักชวนหญิงไทยไปขนยาเสพติดโดยเฉพาะ โดยเมื่อเดินทางถึงไทยแล้วจะไปเที่ยวตามสถานบริการต่างๆ ไปใช้บริการพนักงานนวดแผนโบราณที่ไม่รู้ภาษา จนไว้วางใจว่าเป็นลูกค้าที่ดีแล้วชักชวนเดินทางไปเที่ยว โดยรับปากว่าจะออกค่าใช้จ่ายให้ทุกอย่าง (Sp-report, 2555) วิธีการหลอกลวงให้ร่วมธุรกิจอื่นๆ ซึ่งมักจะเกี่ยวกับอาชีพของผู้หญิง เช่น นำเข้าเพชรโดยหลบเลี่ยงภาษี และวิธีการได้รับติดต่อผ่านทางคนรู้จักในประเทศไทยซึ่งมักมีส่วนเกี่ยวข้องกับชายชาวแอฟริกันหรือขบวนการค้ายาเสพติดข้ามชาติ โดยพบว่าเครือข่ายนักค้ายาเสพติดข้ามชาติส่วนหนึ่งจะเข้ามาพำนักอยู่ในประเทศไทย โดยประกอบธุรกิจ เช่น ซื้อขายอัญมณี ซื้อขายเสื้อผ้า คนกลุ่มนี้เมื่อเข้ามาอยู่ในประเทศแล้วจะพยายามตีสนิทกับหญิงไทย จนถึงขั้นได้เสียเป็นภรรยากัน และจะใช้ให้ภรรยาติดต่อหาผู้รับจ้างขนยาเสพติด โดยมุ่งไปที่หญิงไทยที่พร้อมจะทำหน้าที่เป็นผู้ลำเลียงยาเสพติดให้ หากไม่สามารถหาหญิงรับจ้างขนยาเสพติดได้ก็จะใช้ภรรยานั่นเองเป็นผู้ทำงาน
             2. เต็มใจเข้าสู่กระบวนการค้ายาเสพติดเนื่องจากค่าตอบแทนสูง หรือได้รับข้อมูลที่ผิดเกี่ยวกับโทษคดียาเสพติดของต่างประเทศว่ามีโทษไม่สูง โดยพบว่ามีหญิงไทยรับจ้างขนยาเสพติด โดยร่วมกับชาวต่างชาติ
           
 
ปัจจัยที่ส่งผลต่อการกระทำผิดของผู้หญิงไทยในกระบวนการค้ายาเสพติดข้ามชาติ
 
             1. ความบีบคั้นทางเศรษฐกิจ ผู้หญิงต้องหางานที่สร้างรายได้เพื่อหาเลี้ยงตนเองและครอบครัวถือเป็นแรงผลักดันให้ผู้หญิงต้องทำงานนอกบ้าน เป็นการเปิดพื้นที่ของผู้หญิงจากที่อยู่ในครัวเรือน ให้ได้ก้าวออกมาสู่พื้นที่สาธารณะ ซึ่งสิ่งนี้เองเป็นการเปิดโอกาสของผู้หญิงในการทำงานอาชีพต่างๆที่หลากหลายและเท่าเทียมกับเพศชาย ทั้งงานที่ถูกกฎหมาย และผิดกฎหมาย ซึ่งนักทฤษฎีสตรีนิยมสายเสรี เชื่อว่าผู้หญิงมีอิสรเสรีภาพที่จะทำสัญญาใด ๆ ก็ตาม โอกาสที่เปิดกว้างขึ้นสำหรับผู้หญิงนี้ จึงเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ส่งผลให้ผู้หญิงเข้าสู่กระบวนการค้ายาเสพติดข้ามชาติ สอดคล้องกับการศึกษาของ Taylorที่พบว่าการที่ผู้หญิงเข้าสู่การเป็นสมาชิกแก๊งค์นั้นส่วนหนึ่งมาจากการเปลี่ยนแปลงของโอกาสในการทำงานในเมือง และการเปลี่ยนแปลงสภาพสังคมในขณะนั้น (Joan Moore and John Hagedorn, 2001) แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสังคมจะเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้มีโอกาสที่เท่าเทียมกับเพศชาย แต่กลับพบว่าผู้หญิงบางกลุ่มกลับเข้าไม่ถึงโอกาสที่เปิดกว้างนั้น ด้วยข้อจำกัดทาง การศึกษา ฐานะเศรษฐกิจ สังคม ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของสุมน ทวีวัฒศรีสุข (2546) ที่พบว่าผู้กระทำผิดหญิงในคดียาเสพติดส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับประถมศึกษาและฐานะทางบ้านไม่ค่อยดี ประกอบกับค่านิยมความเชื่อในความเหนือกว่าของเพศชาย ส่งผลให้ผู้หญิงมีความเชื่อว่าการจะพาตนเองให้พ้นจากสภาพที่เป็นอยู่ ก็คือการมีสามีที่มาฐานะสูงกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวต่างชาติ
             2. มีการติดต่อหรือรู้จักกับสมาชิกเครือข่ายค้ายาเสพติด โดยพบว่าผู้หญิงถูกชักจูงเข้าสู่กระบวนการค้ายาเสพติด ผ่านทางคนรู้จัก หรือสมาชิกเครือข่ายค้ายาเสพติดโดยตรง โดยการที่คนเหล่านี้เข้ามาสร้างความสนิทสนม สร้างความคุ้นเคย สร้างความน่าเชื่อถือไว้เนื้อเชื่อใจ แม้จะเป็นวิธีที่ค่อนข้างจะใช้เวลา  แต่คนกลุ่มนี้จะสร้างความสัมพันธ์ในระดับที่เข้มข้นกว่าระดับทั่วไป เช่น หากผู้หญิงเป็นช่างเสริมสวย หรือหมอนวด ก็จะไปใช้บริการบ่อยๆ เป็นลูกค้าประจำ หรือกรณีการติดต่อผ่านอินเตอร์เนต ก็จะเข้ามาทำความรู้จักและหลอกให้รักจนถึงขั้นแต่งงานด้วย ซึ่งสอดคล้องกับทฤษฎีการคบหาสมาคมที่ต่างกัน โดยซัทเธอแลนด์ที่อธิบายความแตกต่างของการคบหาสมาคม ว่าเป็นความแตกต่างด้านความถี่ ระยะเวลา การให้ความสำคัญ และความเข้มข้น นอกจากนี้ซัทเธอแลนด์ ยังได้อธิบายถึงกระบวนการเรียนรู้ที่จะค่อยๆสร้างทัศนคติที่เห็นด้วยกับการกระทำผิดและส่งผลออกมาเป็นพฤติกรรมที่ละเมิดกฎหมาย   ซึ่งการเรียนรู้ นี้รวมถึงการเรียนรู้ด้านเทคนิค และวิธีการในการกระทำผิดด้วย โดยพบว่าเครือข่ายยาเสพติดข้ามชาตินี้จะมีการถ่ายทอดเทคนิคในการซุกซ่อนยาเสพติด เช่น จากคำรับสารภาพของNolubabalo Nobanda วัย 23 ปี ชาวแอฟริกาใต้ที่ถูกจับกุมข้อหานำเข้าโคเคน โดยการซุกซ่อนในผมทรงเดดร็อค(dreadlocked) โดยเธอกล่าวว่า หลังจากที่ถูกบังคับให้ขนยาเสพติด จะมีคนสอนวิธีการกลืนยาเสพติดเข้าไปช่องท้อง แต่เนื่องจากเธอไม่สามารถทำได้ จึงเปลี่ยนวิธีการเป็นการซุกซ่อนในเส้นผมเธอแทน (Mnguni, 2012)
             3. ผลตอบแทนที่ได้รับ เช่นค่าจ้าง หรือผลตอบแทนอื่นๆที่มิใช่ตัวเงินเพียงอย่างเดียว ปัจจัยนี้มีอิทธิต่อทั้งผู้หญิงที่กระทำผิดโดยถูกล่อลวง และเต็มใจที่จะกระทำผิด และเป็นปัจจัยที่สำคัญที่จะส่งผลให้ผู้หญิงกระทำผิดหรือไม่ ซึ่งทฤษฎีคิดก่อนกระทำผิด (Rational Choice Theory)ได้อธิบายแนวทางการเลือกพฤติกรรมขึ้นอยู่กับการที่บุคคลจะได้รับความพึงพอใจหรือผลประโยชน์สูงสุด ซึ่งความพึงพอใจหรือผลประโยชน์ที่ต้องการนั้นไม่จำกัดเฉพาะในรูปของทรัพย์สินเท่านั้น แต่รวมถึงด้านจิตใจด้วย ผู้หญิงที่กระทำผิดบางคนไม่ได้มีแรงจูงใจและอาจไม่ทราบเลยว่ากระเป๋าเดินทางที่ถูกใช้ให้ขนมานั้นมียาเสพติดหรือสิ่งผิดกฎหมายรวมอยู่ด้วย แต่เมื่อได้รับค่าจ้างที่เหมาะสม ก็เป็นสาเหตุสำคัญที่นำผู้หญิงเข้าสู่กระบวนการค้ายาเสพติดข้ามชาติได้ ในบางรายแค่ตอบแทนที่ได้รับนั้นอาจจะเป็นการเดินทางไปต่างประเทศเพื่อไปพบกับคนรักของเธอโดยที่ฝ่ายชายเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมดผู้หญิงเหล่านี้จึงตัดสินใจเดินทางไปต่างประเทศและถูกหลอกให้เข้าสู่กระบวนการค้ายาเสพติดในที่สุด สอดคล้องกับงานวิจัยของCOHA RESEARCH(2011) ที่พบว่าผู้หญิงที่ยินยอมเข้าสู่กระบวนการค้ายาเสพติดข้ามชาตินั้นมาจากค่าตอบแทนที่สูงมากสามารถส่งให้เธอและครอบครัวมีชีวิตที่ดีขึ้น นอกจากนี้ถูกหญิงยังรู้สึกถึงความตื่นเต้น ความลึกลับและความมีอำนาจของการลักลอบค้ายาเสพติด ดังนั้นการลักลอบค้ายาเสพติดนี้จึงเป็นวิธีการที่จะให้ผู้หญิงมีชีวิตที่มั่งคั่งร่ำรวย
 
บทบาทและสถานะของผู้หญิงในกระบวนการค้ายาเสพติดข้ามชาติ
 
                 แม้ว่าผู้หญิงจะได้รับโอกาสจากสังคมที่เปิดกว้างมากขึ้น งานบางประเภทผู้หญิงมีโอกาสอย่างเท่าเทียมกับเพศชาย แต่กลับพบว่าในกระบวนค้ายาเสพติดข้ามชาตินั้นบทบาทของผู้หญิงถูกจำกัด และถูกกดขี่จากสมาชิกเพศชายอันเป็นผลมาจากบริบททางสังคมที่ยึดถือแนวคิดชายเป็นใหญ่(Patriarchy)   โดยผู้หญิงที่เข้าสู่กระบวนการค้ายาเสพติดข้ามชาตินี้ ต้องตกอยู่ในสถานะของเหยื่อการค้ามนุษย์ ซึ่งมีที่มาจากการที่ระบบสังคมและแนวปฏิบัติทางเพศในอดีตที่สร้างให้ผู้ชายมีความเหนือกว่าผู้หญิงในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ การเมือง หรือวัฒนธรรม ทำให้ผู้หญิงต้องตกอยู่ในสถานที่เป็นรอง แต่ในสถานะที่เป็นรองของผู้หญิงนั้นมีสาเหตุมาจากความต้องการเหนือกว่าของผู้ชาย ไม่ว่าจะเป็นผู้ชายฉลาดกว่า มีพละกำลังเหนือกว่า ซึ่งสิ่งเหล่านี้เอกก็ได้ปรากฏในบทบาทของผู้หญิงที่เข้าสู่กระบวนการค้ายาเสพติดข้ามชาติ ผู้หญิงที่เข้าสู่กระบวนการค้ายาเสพติดข้ามชาติ มักจะเป็นผู้ที่อยู่ในสถานะที่ด้อยทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น สาวบริการ พนักงานเสริมสวย หรือหญิงสาวทั่วไปที่มีความใฝ่ฝันที่จะได้แต่งงานอยู่กินกับผู้ชายต่างชาติที่มีฐานะร่ำรวย เพื่อช่วยให้เธอได้มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่ดีขึ้น โดยความเชื่อที่ฝังรากลึกถึงความเหนือกว่าของชายนี้ ทำให้ผู้หญิงต้องยอมรับบทบาทที่เหนือกว่าของผู้ชาย และการแต่งงานกับชาวต่างชาติจึงเท่ากับเป็นการระดับของตนให้สูงขึ้น
             บทบาทของผู้หญิงไทยในกระบวนการค้ายาเสพติดข้ามชาติ จึงไม่ใช่บทบาทที่เท่าเทียมกับเพศชาย แต่กลับพบว่ามีความสำคัญในฐานะของกลไกที่จะทำให้เครือข่ายค้ายาเสพติดข้ามชาติดำเนินการไปได้ เนื่องจากลักษณะของความเป็นหญิงทำให้เจ้าหน้าที่ไม่ได้เพ่งเล็งเท่ากับเพศชาย บทบาทที่พบประกอบด้วย
             1. ผู้ลำเลียง/ขนยาเสพติด บทบาทนี้เป็นเพียงผู้ปฏิบัติตามคำสั่งเท่านั้น ผู้หญิงไม่ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ หรือแม้แต่การปฏิเสธที่จะไม่ทำ โดยพบว่าหากผู้หญิงไม่เต็มใจ ก็มีการบังคับขู่เข็ญ รวมถึงการขู่ทำร้ายคนรัก หรือญาติพี่น้องอีกด้วย บางรายถูกข่มขืนเพื่อให้ท้อง แล้วจึงใช้ให้ขนยาเสพติดเพื่อที่จะสามารถตบตาเจ้าหน้าได้อีกด้วย ซึ่งบางรายถูกจับกุมในขณะที่ยังตั้งครรภ์และคลอดในเรือนจำ ในขณะที่ฝ่ายชายกลับรอดพ้นจากการจับกุม (ลุงแจ่ม, ช่วยลูกสาวไทยขนยาเสพติดจากคุก ในกัมพูชา กลับไทย, 2555)     
             2. ผู้ต่องานหรือจัดหาคนมาขนยาเสพติด บทบาทนี้ผู้หญิงได้เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจมากขึ้น เช่น การเลือกผู้ที่จะเข้ามาขนยาเสพติด แต่ก็ยังคงต้องทำงานตามคำสั่งอยู่ดี โดยผู้หญิงที่อยู่ในบทบาทนี้มักจะเป็นภรรยาของสมาชิกเครือข่ายค้ายาเสพติด และมีโอกาสที่จะตกเป็นผู้ลำเลียงหรือผู้ขนยาเสพติด หากไม่สามารถหาคนมาทำงานได้ (นันทิดา พวงทอง, 2555)
             ในการศึกษาบทบาทของผู้หญิงไทยในกระบวนการค้ายาเสพติดข้ามชาตินั้นยังมีบทบาทจำกัด หญิงไทยนั้นอยู่ในสถานะที่ด้อยกว่าเพศชาย และยังไม่มีบทบาทในระดับบังคับบัญชา ซึ่งแตกต่างจากของ COHA RESEARCH ASSOCIATE ANDREA MARES(2011) ที่พบว่าผู้หญิงมีบทบาทที่โดดเด่นมากขึ้นและเท่าเทียมกับเพศชาย ในหลายๆ ด้านของการค้ายาเสพติดข้ามชาติ ตั้งแต่การเป็นผู้ขนยาเสพติดไปถึงการฟอกเงิน
            
ความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงไทยกับสมาชิกเครือข่ายค้ายาเสพติดข้ามชาติ
             
             จากการศึกษาพบความสัมพันธ์ของหญิงไทยกับสมาชิกเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะชาวต่างชาติเพศชาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวแอฟริกัน สัญชาติไนจีเรียพบมากที่สุด โดยคนกลุ่มนี้จะมีการติดต่อกับหญิงไทย และสร้างความสัมพันธ์ที่รวดเร็ว มีการสร้างความน่าเชื่อถือให้ผู้หญิงเกิดความไว้วางใจ โดยจากการศึกษาพบว่า ระดับความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงไทยกับสมาชิกเครือข่ายค้ายาเสพติดข้ามชาติมีหลายระดับ ดังนี้
             1. ระดับผู้รับจ้าง-ผู้จ้างวาน ความสัมพันธ์นี้ผู้หญิงไทยจะมีสถานะเป็นเพียงผู้รับจ้างเท่านั้น โดยอาจจะได้รับการติดต่อจากคนไทยด้วยกันเองมาอีกทอดหนึ่ง ไม่ได้รู้จักสนิทสนมกับชาวต่างชาติเป็นการส่วนตัว ความสัมพันธ์เช่นนี้ ผู้หญิงอยู่ในสถานะที่ด้อยกว่าทางเศรษฐกิจอย่างเห็นได้ชัด ความสัมพันธ์เป็นไปในรูปแบบของธุรกิจที่ผู้หญิงอยู่ภายใต้อำนาจของเงินค่าจ้างนั่นเอง
             2. ระดับหุ้นส่วนธุรกิจ โดยชาวต่างชาติจะเข้ามาทำความรู้จัก สร้างความสนิทสนมกับผู้หญิงไทย โดยการแอบอ้างหรือชักชวนเข้ามาทำธุรกิจร่วมกัน และจะมีการเกลี้ยกล่อมจนหญิงไทยหลงเชื่อ โดยความสัมพันธ์นี้อยู่บนพื้นฐานของการหลอกลวงเป็นหลัก ชาวต่างชาติจึงมักจะมีรูปแบบและวิธีการในการหว่านล้อมที่หลากหลาย ผู้หญิงจึงตกอยู่ในสถานะที่ถูกหลอกลวงโดยชาวต่างชาติ
             3. ระดับคู่รัก/หุ้นส่วนชีวิต ความสัมพันธ์นี้มีความเข้มข้นมาก และยากที่ผู้หญิงจะถอนตัวออกจากเครือข่ายได้เมื่อหญิงไทยอยู่ในฐานะของคู่รักหรือภรรยาแล้ว จะตกอยู่ภายใต้อำนาจการควบคุมของฝ่ายชายอย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งพบเห็นได้จากการบีบบังคับให้ขนยาเสพติดด้วยวิธีที่เป็นอันตราย ตลอดจนการเป็นวัตถุสนองอารมณ์เพศ ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของCOHA RESEARCH (2011) ที่พบว่าผู้หญิงที่ถูกข่มขู่ให้ทำงานนั้นจะเป็นผู้ที่มีคู่รักอยู่ในขบวนการค้ายาเสพติดและถูกบังคับให้ทำงานด้วย (COHA RESEARCH ASSOCIATE ANDREA MARES, 2011)
             ดังนั้นหากวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของหญิงไทยกับสมาชิกเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติ แล้วจะพบว่าผู้หญิงไทยอยู่ในสถานะที่ด้อยกว่าในทุกๆ มิติ อันเป็นผลของระบบสังคมชายเป็นใหญ่ที่สร้างความไม่เท่าเทียมให้กับเพศหญิง ส่งผลให้สถานะของเพศหญิงที่ปรากฏในกระบวนการค้ายาเสพติดข้ามชาตินั้น เป็นสถานะของผู้ตกเป็นเหยื่อ ซึ่งสอดคล้องกับคำสารภาพของ Nolubabalo Nobanda ผู้หญิงชาวแอฟริกาใต้ที่กล่าวว่า เธอไม่ได้เป็นผู้กระทำผิดในฐานะขนยาเสพติด แต่เธอเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ที่ดำเนินการอยู่ในแอฟริกาใต้ โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาโดยอ้างว่าหลบหนีจากการสังหารในประเทศของเขา (I am not a drug trafficker but a victim of the human trafficking business that is conducted in South Africa by foreigners who come to the country under the pretext that they are running from persecution in their countries.) (Mnguni, 2012)

อ้างอิง
กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ.(14 มีนาคม 2555). เอาอีกแล้ว ...หญิงไทยถูกหลอกขนยาเสพติด ถูกจับที่เปรู. เรียกใช้เมื่อ 20 สิงหาคม 2555 จาก http://protectthaicitizen.blogspot.com/
กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กระทรวงต่างประเทศ. (4 พฤษภาคม2555). อย่าริอ่าน "ขนยาเสพติด". เรียกใช้เมื่อ 20 สิงหาคม 2555 จาก กระทรวงต่างประเทศ : http://protectthaicitizen.blogspot.com/
เกศินี สุวรรณชีวะศิริ. (2555). ศาลเวียดนามตัดสินประหารชีวิตสาวไทย โทษฐานลักลอบนำยาบ้าเข้ามาเวียดนาม. เรียกใช้เมื่อ 23 สิงหาคม 2555 จาก สปริงนิวส์ : http://www.springnewstv.tv/news/crime/15959.html
 
คมชัดลึกออนไลน์. (ม.ป.ป.). เตือนภัยหญิงไทย ถูกใช้ขนยาเสพติดข้ามชาติ. เรียกใช้เมื่อ 21 สิงหาคม 2555 จาก คมชัดลึกออนไลน์ : http://www.komchadluek.net
จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย. (2549). จิตวิทยาสังคม. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย. (2551). สังคมวิทยา อาชญากรรม. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ชาญคณิต กฤตยา สุริยะมณี. (2554). ทฤษฎีอาชญาวิทยาร่วมสมัย กับการวิจัยทางด้านอาชญาวิทยาในปัจุบัน. นนทบุรี : หยินหยางการพิมพ์.
ณัฐฐ์วัฒน์ สุทธิโยธินและ ภาณินี กิจพ่อค้า. (ม.ป.ป.). ประวัติความเป็นมาและวิวัฒนาการของกฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
เดลินิวส์. (7 สิงหาคม 2555). ทูตไทยเผย 40 หญิงไทยติดคุกบราซิลคดีลอบขนยาเสพติด. เรียกใช้ เมื่อ 20 สิงหาคม 2555 จาก เดลินิวส์ออนไลน์ : http://www.dailynews.co.th
นันทิดา พวงทอง. (2555). กต.เตือนขบวนการลักลอบขนยาเสพติด โทษหนักขั้นประหารชีวิต.เรียกใช้เมื่อ 20 สิงหาคม 2555 จาก คมชัดลึกออนไลน์ : http://www.komchadluek.net
ประธาน วัฒนวาณิชย์. (2546). ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับอาชญาวิทยา. กรุงเทพฯ : โฟร์พริ้นติ้ง.
ผู้จัดการออนไลน์. (17 พฤษภาคม 2555). เตือนหญิงไทยระวังแก๊งไนจีเรียหลอกขนยา. เรียกใช้เมื่อ20 สิงหาคม 2555 จาก ผู้จัดการออนไลน์: http://www.manager.co.th 
ผู้จัดการออนไลน์. (2555). ปส.จับสาวไทยรับจ้างไนจีเรียกลืนโคเคนเข้าประเทศ. เรียกใช้เมื่อ 20 สิงหาคม 2555 จาก ผู้จัดการออนไลน์ : http://www.manager.co.th
พรชัย ขันตี. (2553). ทฤษฎีอาชญาวิทยา : หลักการ งานวิจัย และนโยบายประยุกต์. กรุงเทพฯ : สุเนตร์ฟิล์ม.
มาลี พฤกษ์พงศาวลี. (2550). สิทธิความเป็นคนชองผู้หญิง:พันธกรณีระหว่างประเทศ กฎหมาย  และข้อถกเถียง. กรุงเทพฯ : บริษัท สหมิตรพริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด.
ลุงแจ่ม. (2555). 382 สาวไทย เหยื่อความรัก ถูกจับทั่วโลก. เรียกใช้เมื่อ 21 สิงหาคม 2555 จาก  โอเคเนชั่น : http://www.oknation.net
ลุงแจ่ม. (มีนาคม 2555). ช่วยลูกสาวไทยขนยาเสพติดจากคุก ในกัมพูชา กลับไทย. เรียกใช้เมื่อ 21  สิงหาคม 2555 จาก โอเคเนชั่น : http://www.oknation.net
ลุงแจ่ม. (เมษายน 2555). สาวไทยติดคุก คดียาเสพติดในอิหร่าน. เรียกใช้เมื่อ 21 สิงหาคม 2555  จาก โอเคเนชั่น : http://www.oknation.net
ลุงแจ่ม. (เมษายน 2555). หญิงไทยกับยาเสพติด ที่มาเลเซีย. เรียกใช้เมื่อ 21 สิงหาคม 2555 จาก  โอเคเนชั่น : http://www.oknation.net
ลุงแจ่ม. (สิงหาคม 2555). อีกแล้ว สาวไทยถูกจับ รับจ้างหิ้วโคเคน. เรียกใช้เมื่อ 21 สิงหาคม 2555  จาก โอเคเนชั่น : http://www. oknation.net
วัชรพล ประสารราชกิจ. (2544). อาชญากรรมข้ามชาติและการบังคับใช้กฎหมายในความรับผิดชอบ
ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ. ใน พรสวรรค์ วัฒนางกูร (บรรณาธิการ), ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติและนโยบายความมั่นคง มุมมองไทย ยุโรป และนานาชาติ (หน้า หน้า 59). 2544 : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
วารุณี ภูริสินสิทธิ์. (2545). สตรีนิยม : ขบวนการและแนวคิดทางสังคมแห่งศตวรรษที่ 20. กรุงเทพฯ : โครงการจัดพิมพ์คบไฟ.
วีระพงษ์ บุญโญภาส. (2543). ยุโรปกับนโยบายความมั่นคง: ศึกษากรณีอาชญากรรมข้ามชาติทาง เศรษฐกิจ. วารสารยุโรปศึกษา, ปีที่ 8 เล่มที่ 1,.
สมเกียรติ ตั้งนะโม. (2545). ประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับสถานภาพของผู้หญิง. เรียกใช้เมื่อ 20 มิถุนายน 2554 จาก midnightuniversity : http://midnightuniv.org/midnight2545/document9747.html
สุมน ทวีวัฒนศรีสุข. (2546). การกระทำผิดของหญิง : ศึกษาเฉพาะกรณีค้ายาบ้าในทัณฑสถานหญิงกลาง. กรุงเทพฯ : วิทยานิพนธ์           หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต(รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
COHA RESEARCH ASSOCIATE ANDREA MARES. (28 October 2011). The Rise of Femicide and Women in Drug Trafficking. 21 August 2012 จาก Council on Hemispheric Affairs: http://www.coha.org/the-rise-of-femicide-and-women-in-drug-trafficking/
Joan Moore and John Hagedorn. (2001). Female Gangs:A Focus on Research. Juvenile 
             Justice Bulletin.
Meda Chesney-Lind. (1997). The Female Offender Girls, Women, and Crime.  California: Sage Publication Inc.
SAPA. (22 มิถุนายน 2555). Jailed SA drug mule shares her story. 21 สิงหาคม 2555 จาก News 24 : http://www.news24.com
Sp-report. (พฤษภาคม 2555). "ยาเสพติด" กาฬทวีป..สู่เมืองไทย(1). เรียกใช้เมื่อ 21 สิงหาคม 2555 จาก โอเคเนชั่น: http://www.oknation.net
Zheng Caixiong. (14 สิงหาคม 2555). More Chinese women help drug-smuggling boyfriends. เรียกใช้เมื่อ 21 สิงหาคม 2555 จาก The Asia News Network (chinadialy) : http://www.thejakartapost.com
Zithelo Mnguni. (21 June 2012). Nolubabalo Nobanda: The full story from the  dreadlocked cocaine girl herself. เรียกใช้เมื่อ 20 August 2012 จาก Ziyawa Magazine: www.ziyawamag.com/nolubabalo-nobanda-the-full-story-from-the-dreadlocked-cocaine-girl-herself/
หมายเลขบันทึก: 501099เขียนเมื่อ 4 กันยายน 2012 00:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 กันยายน 2012 00:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อาชญาวิทยาแนวสตรีนิยม (Feminist criminology)....น่าเรียนนะคะ วิชานี้

ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท