โปรแกรม HomeC-IPD


อาทิตย์นี้เจอเรื่องที่ซวยมากจริงๆ นั่นคือ 

เครื่องคอมที่ทำงานเสียแล้วครับ ตั้งแต่วันอังคาร ทำให้ไม่สามารถเข้าเน็ตได้ ไม่รู้เหมือนกันว่าจะซ่อมได้ไหม หรือจะเสร็จเมื่อไหร่

(โชคดีที่เป็นที่จอเท่านั้นครับ ข้อมูลเลยยังอยู่ครบถ้วน เฮ้อ)

จริงๆ มีเรื่องอยากจะเขียนเอยะเลยครับเพราะอาทิตย์นี้เจออะไร/ได้คิดอะไรมาพอควรแต่เดี๋ยวจะล้นทะลักเกินบันทึกไป เอาเป็นเรื่องความก้าวหน้าใหม่ที่กำลังจะเกิด (หรือเปล่า) นี่ก่อนละกันครับ ว่าแล้วก็เข้าเรื่อง


เรื่องปัญหาเก่ามาเล่าใหม่อีกรอบครับ ปัญหาโปรแกรม HomeC-IPD ที่ยังไม่ลงตัวดีคราวนี้ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่พอควรเลยครับ ขอเอา 1 ปัญหาก่อนครับ มากว่านี้จะรู้สึกซีเรียสเกิน

ปัญหาแรก การส่งใบคำสั่งแพทย์ (Doctor’s order sheet) มาห้องยาครับ

ต้นเหตุ มาจากบริษัทออกแบบมาว่า เภสัชต้องอยู่ประจำตึก หรือไม่ก็แพทย์เป็นคนคีย์ยาเอง ดังนั้นปัญหานี้บริษัทเลยไม่หาทางไว้ให้ พวกเราต้องมาหาทางกันเอาเองครับ

วิธีการแก้ไข

1.    ใช้ FAX ส่งคำสั่งแพทย์จากตึกมาที่ห้องยา
อุปกรณ์  เครื่อง FAX ประจำทุกตึก+ห้องยาสองห้อง 17 เครื่องเป็นอย่างน้อย , เบอร์โทรประจำตึก+ห้องยาทั้งสองห้องสำหรับส่ง FAX ,  อุปกรณ์อื่นๆ การต่อสายโทรศัพท์
อุปกรณ์สิ้นเปลือง กระดาษ+หมึก FAX, ค่าโทร (ไม่ทราบว่าโทรภายในจะคิดราคายังไง)

2.    ใช้เครื่อง Scanner ส่งข้อมูลมายังห้องยา
อุปกรณ์  เครื่อง
Scanner สำหรับตึก+ห้องยา ,เครื่องพิมพ์เลเซอร์สำหรับห้องยานอก 1 เครื่อง, เครื่องคอมพิวเตอร์สำหรับทุกตึก+สาย Lan เชื่อมต่อ  (คาดว่ามีครบทุกตึกแล้ว), โปรแกรมที่ใช้ส่งเอกสารที่ scan
อุปกรณ์สิ้นเปลือง กระดาษ A4+หมึกพิมพ์เลเซอร์พรินเตอร์ 

ดูคร่าวๆ แล้วพบว่าวิธีแรกคุ้มทุนกว่ากันเยอะเลยใช่ไหมครับ แต่ถ้าตัดค่าเครื่องคอมพิวเตอร์ออกแล้วพบว่าสูสีกันครับ อาจจะแพงกว่าด้วยในระยะยาวเพราะ ค่าอุปกรณ์สิ้นเปลือง FAX จะสูงกว่าทั้งกระดาษ A4 และหมึกพิมพ์ รวมทั้งค่าโทรในการส่งแต่ละครั้ง

แต่ทั้งนี้การส่ง Scan ยังต้องพึ่งพาโปรแกรมในการส่ง ซึ่งทางตึกอาจประหลาดใจเพราะการส่งข้อมูลคราวก่อนใช้การส่งผ่านระบบ Lan โดยตรง ให้พิมพ์ที่เครื่องพิมพ์ห้องยาเลยใช่ไหมครับ ไม่ต้องใช้โปรแกรมอะไรให้ยุ่งยาก กล่าวคือ การพิมพ์แบบ share เครื่องพิมพ์นั่นเอง
แต่การส่งครั้งนั้นมีเงื่อนไขที่ทำให้ประสพความสำเร็จครับ คือ

  • ทำเพียงตึกเดียวและ
  • ค่อยๆ ส่งมาอย่างมีระเบียบ 

ซึ่งค่อนข้างต่างกับความเป็นจริงการทำงานของสถาบันเราครับสภาพความจริงที่โหดร้าย นั่นคือ

  • ตึกแต่ละตึกจะรวมส่งมาทีละปึกในกรณีไม่เร่งด่วน,
  • ส่วนกรณีที่ญาติรอ/ขอด่วน นั้นจะทยอยมาเป็นระลอก ไม่มีเวลาชัดเจน

ข้อมูลเพิ่มเติม

ปริมาณใบยาผู้ป่วยใน ที่มาห้องยาในเฉลี่ยแต่ละวัน ประจำเดือน สค.49 คือ 156 ใบ ครับ ซึ่งมากที่สุดในรอบปีงบประมาณ 49 (น้อยที่สุด เดือน เมย.49 คือ 120 ใบ คาดว่าเพราะไปสงกรานต์กัน)

ช่วงเวลาเร่งด่วนสำหรับใบยาผู้ป่วยใน คือ 10.00-13.00 น.เลื่อนลงมาจากเดิม 9.00-12.00 น.เพราะแพทย์เลื่อนเวลาขึ้นตึก

ตึกที่เคยส่งใบยามากที่สุด คือ ตึก 5/3 สถิติ 27 ใบ, รองมา คือ 3/4 สถิติ 24 ใบ

ความจริงอันนี้ละครับที่กลายเป็นปัญหาให้กับทั้ง 2 วิธีแก้ไขดังกล่าวว่า

  1.    รองรับกับปริมาณงานในช่วงเร่งด่วนได้หรือไม่
  2. หากส่งใบมาพร้อมกันหลายตึก เครื่อง FAX/ เครื่องพิมพ์เลเซอร์ จะทำงานอย่างไร สามารถแยกแยะได้หรือไม่ว่างานใดก่อนหลัง
  3. รวมทั้งหากมีใบที่ส่งมาขณะเครื่องเสีย ทางตึกที่ส่งจะสามารถรับรู้และแก้ไขได้ไหม 

มาดูทีละระบบ ทีละข้อนะครับ

วิธี FAX นั้น เท่าที่ทราบจากน้องเอ้ (คลังยา) คือ

  • ถ้าส่งมาชนกันเครื่องจะบอกว่าสายไม่ว่างครับ เหมือนกับโทรศัพท์เวลาสายไม่ว่าง (ใครมีประสบการณ์ช่วยหน่อยก็ดีครับ เพราะผมไม่เคยส่ง FAX เลย)
  • ทางตึกจะรู้ว่าสายไม่ว่าง ก็ส่งไม่ได้ต้องรอจนกว่าสายจะว่าง....
  • ต้องถามตึกครับว่ายอมรับได้ไหม สมมตินะครับตึกเด็กจองเวลายาว 27 ใบ ตึกอื่นก็ไม่ต้องส่งจนกว่าจะเสร็จ
  • แล้วมีกรณีใบยาเร่งด่วนจะทำอย่างไรอันนี้ผมเนื่องจากอ่อนประสบการณ์ไม่สามารถตอบได้ครับ
  • สาเหตุหลักมาจากช่องทางส่งที่คับแคบที่คาดว่าห้องยาคงได้ 1 เบอร์/ 1 ห้องยา

วิธี Scanner นั้น

  • วิธีแรกสุดที่ทดลอง คือ การ share เครื่องพิมพ์ส่งมาพิมพ์ห้องยานั้นทำไม่ได้แน่นอนครับ
  • เพราะจะตันเช่นเดียวกับการส่ง FAX ถ้าหลายท่านเคยพิมพ์งานคงทราบว่า การส่งไปพิมพ์ถ้าเครื่องพิมพ์ไม่พร้อมเครื่องจะเตือนว่าส่งไม่ได้...ก็ต้องรอส่งใหม่ หรือคือต่างฝ่ายต่างส่งถ้าเครื่องพิมพ์มีปัญหาติดค้างก็จบครับ
  • นอกจากนี้ทางตึกคิดว่าคงไม่รู้ด้วยว่างานพิมพ์ที่ส่งมาข้างล่างมีปัญหา
  • แต่ทั้งนี้ขึ้นกับโปรแกรมที่กำลังหาอยู่ด้วยนะครับเพราะปัญหาที่ว่ามานั้นเกิดจากการที่ส่งงานโดยไม่มีการควบคุมที่ดี ไม่สามารถแยกแยะงานด่วน/ธรรมดาได้
  • แต่มีข้อดี คือ ระบบ Lan สามารถรองรับงานที่ส่งมาได้ทุกตึก กล่าวคือ สามารถส่งพร้อมกันได้ครับ แต่ปลายทางนั้นต้องอาศัยโปรแกรมมาจัดการที่ต้นสาย/ปลายสาย เพื่อแยกแยะงานและจัดลำดับงานให้เรียบร้อย ซึ่งกำลังรออยู่ครับ คำว่ารอนี่คือรอจริงๆ ไม่รู้ว่าจะได้เมื่อไหร่ เอิ้กๆ
  • โปรแกรมต้องเสียค่าใช้จ่ายครับผมเองก็ลองหาโปรแกรมฟรีเช่นกันแต่พบว่า จะจำกัดจวนครั้งที่ใช้บ้าง หรือ จำกัดจำนวนเครื่องบ้าง ซึ่งไม่เหมาะสมกับการทำงานเลย
  • ส่วนอีกทางคือ รอจากบริษัทที่ทำ HomeC นี่ละครับรู้สึกว่าทางบริษัทจะเคยทำตัวนี้มาก่อนแต่ต้องไปคุ้ยดูว่าเข้ากับโปรแกรมเราหรือไม่ มีปัญหาอะไรไหมและราคาน่าสนไหม 

ทางออกอีกทางที่ผมเสนอไป คือ

การส่งข้อมูลผ่าน Intranet ด้วยโปรแกรม Outlook Express ที่มีอยู่แล้วครับ

โดยส่งไฟล์ภาพแนบมากับจดหมาย แยกจดหมายฉบับหนึ่งอาจส่งมาหลาย (ภาพ) ใบได้ครับ

  • ผมได้ทดลองยกเครื่อง scanner ส่วนตัว รุ่น Genius Vivid 1200X มาทดลองส่งดูความเร็วในการส่งครับว่านานแค่ไหนได้ผลดังนี้ครับ
  • การทดลองทำจดหมายส่งใบคำขอแพทย์ 5 ครั้ง/ 1 ความละเอียด
  • ใช้เวลาวอร์มเครื่องนานเฉลี่ยราว 35 วินาที (ในแต่ละครั้งที่ไม่ต่อเนื่องกันต้องทำการวอร์มเครื่องทุกครั้งครับ) 
  • Scan ใบคำขอแต่ละความละเอียดพบว่าได้ผลดังนี้ครับ

ความละเอียดภาพ เวลาแสกนเฉลี่ย ความจุที่ใช้/A4 ความคมชัดภาพ
100 dpi 20 วินาที/ใบ 150 kb ภาพเลือน
150 dpi 22 วินาที/ใบ 175 kb ดีขึ้นแต่ยังมีการเบลอบางส่วน
200 dpi 25 วินาที/ใบ 230 kb ชัดเจน
250 dpi 30 วินาที/ใบ 275 kb ชัดเจนมาก

 หมายเหตุ ภาพแต่ละใบขนาดจะต่างกันขึ้นกับรายละเอียดใบคำขอ กล่าวคือ ยิ่งมีการเขียนมากขนาดภาพยิ่งใหญ่
ดังนั้นค่าเฉลี่ยที่ได้นี้ผมใช้ภาพเดียวกันหมดแต่ในการทำงานจริงอาจต่างจากนี้ได้ทั้งนี้ต่อจากใบแรก (ที่ต้องวอร์มเครื่อง 30 วินาทีก่อน)
ใบต่อๆ ไป ก็ใช้เวลาพอๆ กันครับแล้วแต่ความละเอียดของภาพที่ต้องการ

การใช้งานเครื่องก็ง่ายมากเลยครับ เพราะว่าผมตั้งให้มันง่าย ไม่งงนะครับ คือ กดปุ่มที่เครื่อง scan ครับเลือกปุ่ม E-mail มันก็เปิดโปรแกรม scan มาถามยืนยันว่าเราจะ scan ที่ความละเอียดนี้ใช่ไหม ถ้าใช่ก็ใส่ใบที่ต้องการ scan แล้วตอบ yes ตกลงไปพอ scan ภาพแรกเสร็จมันจะถามว่าเรามีใบอื่นอีกไหม ถ้ามีก็ใส่แผ่นคำขอใหม่พร้อมกด Yes ตกลงไปและจะถามไปเรื่อยๆ ครับจนกว่าจะกระทั่งเราทำครบงาน ก็กด NO จบไปจากนั้นจะเปิดเข้าโปรแกรม Outlook express ให้ สร้างจดหมายใหม่ให้เอง พร้อมแนบไฟล์ภาพมาให้เสร็จขั้นนี้เราอาจกำหนดต่อให้เสร็จได้ครับว่าส่งมาที่ห้องยาเลย ไม่ต้องจ่าที่อยู่เอง

หมายเหตุ ถ้านอกเวลาต้องจ่าที่อยู่ใหม่เป็นห้องยานอกนะครับเขียนหัวข้อว่าเป็นจดหมายเรื่องใด ด่วนหรือไม่ (ตรงนี้ผมยังหาไม่เจอแต่คาดว่าน่าจะมี)

เนื้อหาว่าต้องการตรงไหนพิเศษยังไงสั่งมาเลยครับ จะส่งมาคิดเงินก็ว่าไปเสร็จแล้วก็กดปุ่มส่ง (Send) ปิ๊ง

เครื่องก็ทำการส่งผ่านระบบ Lan ซึ่งก็ต้องใช้เวลาหน่อยถ้าจดหมายขนาดใหญ่

ข้อดีของวิธีนี้ครับ

  1. โปรแกรมฟรีครับ รวมทั้งไม่ต้องลงเดินสายอะไรเพิ่ม
  2. ทุกคนพอคุ้นเคยกันบ้างอยู่แล้ว เพราะมีการใช้งานประจำกันอยู่
  3. กรณีที่ตึกส่งมาสามารถรองรับได้ทั้งหมดทุกตึก
  4. จัดอันดับด่วน/ไม่ด่วนได้
  5. สามารถ save เก็บใบคำขอที่เป็นภาพเป็นหลักฐานการส่งได้เลยครับกรณีต้องการย้อนกลับมาดูภายหลัง
    แทนที่จะเก็บแผ่นก็อบปี้คำสั่งที่ไม่ชัดเจน แต่ยอมรับว่าการค้นคงลำบากไม่น้อยเพราะชื่อไฟล์ไม่สอดคล้องกับชื่อผู้ป่วยเลย
     

ข้อเสีย/ปัญหาจุกจิกครับ

  1. คนใช้งานจริงๆ ไม่สอดคล้องกับคนทำงานครับ คือ ต้องมาฝึกกันใหม่นะละครับแต่ยังดีที่มีคนเป็นบางส่วน รวมทั้งต้องซ้อมให้เข้าใจว่าส่งมาที่ห้องยานอก/ใน ให้ถูกเวลาด้วยครับ
  2. ขนาดไฟล์ที่แนบจดหมายส่งผ่านระบบ Lan นั้นถ้านับทุกตึกแล้วจะกินทรัพยากรระบบมากพอสมควร รวมทั้งพื้นที่เก็บจดหมายที่ให้เพียง 1 MB ทำให้รับจดหมายอาจได้เพียงไม่กี่ฉบับ ต้องขอพื้นที่เพิ่มเยอะเลยครับ อย่างน้อยก็ 30 MB ครับแล้วขยันลบจดหมายเอา รับทีก็ลบทันที และต้องลบแบบถาวรด้วยครับไม่งั้นจะไปอยู่ถังขยะ
  3. ผลกระทบตามจากข้อข้างบนครับ ทำให้ระบบรวมของสถาบันอืด(ช้า)ลง ไม่ต้องที่อื่นครับห้องยานี่ก็รับไม่ได้แล้ว แต่ก็ต้องฝากหน่วยไอทีครับว่าจะคุมได้ระดับไหน เหมือนช่องทางจราจรมันมี 5 เลนขอผมสัก 1-2 เลนจะได้ไหม โดยที่ไม่ทำให้การจราจรติดขัดนะ

   ส่วนวิธี FAX นั้นข้อดีเด่นๆ เลยครับ

  1. ระบบของสถาบันไม่อืดลง เพราะเป็นช่องทางใหม่
  2. ใช้งานง่าย ไม่ต้องสอนมาก

 ข้อเสียครับ

  1. สิ้นเปลืองครับ อย่างที่กล่าวข้างต้นแล้วในระยะยาวค่าวัสดุสิ้นเปลืองกินขาดครับ
  2. ใช้งานจริงลำบากในช่วงเร่งด่วนที่มีคนส่งหลายเจ้าๆ ละหลายๆ ใบคำขอ
  3. ใบคำขอเร่งด่วน ตรงนี้ผมปิ๊งได้ว่าอาจขอเบอร์มาอีกเบอร์สำหรับเบอร์ด่วนฉุกเฉิน แต่ก็เปลืองเครื่อง/เบอร์/พื้นที่อีกละครับ

ก็อย่างที่ผมพยายามหาข้อดีข้อเสีย มาแล้วครับ บอกตามตรงว่า ผมเอียงๆ ไปด้านใช้ระบบ Lan ในการส่งข้อมูลมากกว่า เพราะข้อมูลถูกแปลงเป็นดิจิตอลเสร็จ การต้มยำทำแกง เอ้ย เก็บรวบรวมข้อมูลทำได้ง่าย สะดวกกว่า แต่ผมไม่ได้แอนตี้ระบบ FAX นะครับ ถ้าใครมีข้อมูลดีๆ เกี่ยวกับ FAX ก็เสนอได้ครับ

บันทึกนี้ยาวนานที่สุดที่เคยทำ คือ พิมพ์ค้างตั้งแต่เมื่อวานยันวันนี้รวม 4 ชั่วโมงครับ

หมายเลขบันทึก: 50102เขียนเมื่อ 14 กันยายน 2006 18:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 10:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)

ความจริงอันน่าขำแต่ผมขำไม่ออก

มีคนเสนอให้นำใบคำขอมาซีร็อกไปเลย...

คือ ให้เจ้าหน้าที่รวมใบคำสั่งแพทย์ไปนั่งต่อคิวซีร็อก จากนั้นก็เอาใบซีร็อกมาห้องยาในแล้วนำตัวจริงกลับขึ้นตึก.....

วิธีนี้ผมพูดไม่ออกบอกไม่ถูกเลยครับ

 

อ่านบันทึกนายแล้ว....

เป็นคนคุณภาพจริงๆ...ผมว่าข้อมูล และการเรียนรู้เหล่านี้เป็นประโยชน์อย่างมาก

ถึงผมไม่มีความรู้เรื่องโปรแกรมอะไรที่ว่านี้ แต่วิธีการเปรียบเทียบ และการวิเคราะห์อย่างรอบด้านแบบที่จันทร์เมามายทำ  ทำให้ได้เรียนรู้และเป็นแบบอย่างกับผมครับ

ขอบคุณคนคุณภาพของบำราศฯ

จอมยุทธ์แห่งห้องยา 

 

มาศึกษาวิทยายุทธ เพื่อไปต่อยอดค่ะ ขอบคุณมากๆค่ะ

มาให้กำลังใจค่ะ

คิดว่าน่าจะใช้ส่งทาง Intranet  จะสะดวกที่สุด  แต่ต้องมีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง  ต้องคอยตรวจเช็ค เพราะ ถ้า Intranet เต็มจะส่งข้อมูลไม่ได้เลย

สำรอง อีกวิธี คือการส่ง Fax  น่าจะช่วยให้เร็วขึ้น ต้องวางระบบดีๆๆ

ได้อ่านข้อเสนอของคุณ จันทร์เมามายแล้ว  เห็นด้วยกับการส่งทาง Intranet ค่ะ  นำเข้าที่ประชุมยาวันที่  18 ก.ย.49 นี้นะคะ  พี่ดีใจจัง  เรื่องนี้มีทางออกเสียทีหลังจากที่ ตันมานาน  ไม่รู้จะออกทางไหน ขอบคุณในข้อเนอแนะดีๆ นี้ค่ะ  ขอบคุณ.ๆ.ๆ.ๆ..

จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

ข้าน้อยก็ชื่นชมผลงานสหายเช่นกันความขยัน การหมั่นออกเดินทางและอารมณ์ดีของท่านทำให้ข้าน้อยได้เรียนรู้ แต่ทำม่ายด้าย...

ปล. อย่ายอมากเน้อ(เดี๋ยวเหลิง) สหายเพียงมองตาก็รู้ใจจริงไหม

 

P..OOM

เรื่องการใช้งานสำรองนี่ โดนใจผมจริงๆ ครับ เพราะมองเผื่อ...(ไม่ได้แช่งนะครับ) ว่า ระบบ Intranet ล่มแล้วเรามีช่องทางอื่นนอกจากการส่งก็เป็นทางเลือกหนึ่งครับ หรือใช้แยกใบคำขอยาด่วนออกมาก็ได้ครับ

วันนี้ผมได้ลองส่งจดหมายด่วนแล้วก็ไม่รู้ถึงความแตกต่างครับในด้านความเร็วเพราะส่งถึงตัวเอง ทั้งด่วนและไม่ด่วนพบว่าใช้เวลาพอกัน 1 วินาที ส่งปุ๊บถึงปั๊บ

แต่จดหมายฉบับด่วนจะมีเครื่องหมายตกกะใจ (!) แสดงต่อหลังจดหมายครับ

คุณพัชรา

ขอบคุณที่มาเยี่ยมชมครับ
ขอให้คุณพัชราเก่งวิทยายุทธเร็วๆ นะครับ

คุณอัจฉรา

ขอบคุณท่านผอ. ที่มาให้กำลังใจครับ

คุณสุนันทา

พี่นันมีประชุมเรื่องนี้ด้วยหรือครับ ได้ยินจากพี่หญิงเหมือนกัน ว่าพยาบาลมีคุยกันเรื่องคอม แต่ไม่ได้เอะใจอะไร

คือ วันนั้นผมกับพี่หญิงจะไปคุยกับห้องคลอดและหลังคลอดเรื่องขยายตึกที่จะใช้โปรแกรมใหม่นี้พอดีครับ

แทนคำขอบคุณ ขอให้พี่นันช่วยดันเรื่องนี้ให้สำเร็จด้วยครับ ห้องยาจะได้รับอานิสงค์ไปด้วย

1.ถ้าใช้ FAX ด้วยเบอร์ 4 ตัว สายภายใน ไม่เสียค่าโทรศัพท์ 2.แทนที่จะมี เครื่องทุก ward อาจ จะมองว่าตั้ง FAx center โดยดูจากปริมาณการใช้งาน ที่ใดมากใช้บ่อย ตั้งเลย ที่ใดมีน้อย ก็เดินในตึกเดียวกัน ขึ้นลงไม่เกิน 1 ชั้น
ขอบคุณในความพยายามพัฒนาคุณภาพงานค่ะ สุดยอดจริงๆ ในส่วนตัวคิดว่าน่าจะต้องมีระบบสำรองไว้ด้วยค่ะ เพราะจากประสบการณ์ที่ลงไปช่วยกันพัฒนางานห้องบัตร เวลาเกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบคอมและระบบไฟฟ้า ปัญหาตามมามากมาย น่ากลัวจริงๆ

คุณทน.พญ.ครับ

ขอบคุณสำหรับข้อมูลครับ ถ้า fax ไม่เสียค่าโทรจริงจะประหยัดได้เยอะครับ

fax center ก็เป็นไอเดียที่น่าสนจริงๆ ครับ ถ้ามีการรวมกันระหว่างตึกใกล้ๆ กัน ที่น่าเป็นไปได้ก็จะมีตึก 5 ชั้น 2 ครับห้องหลังคลอดกับ NICU ที่อยู่ในชั้นเดียวกัน

ส่วน 5/3 ตึกเด็กจะคนไข้เยอะไม่ควรรวมกัน เช่นเดียวกับ 5/4 และ 5/5 ที่น่าจะแยกกัน

และน่าคิดเพิ่มเติมครับว่า center ควรจะมีกี่เครื่องถ้าเสียหมายความว่า center นั้นใช้งานไม่ได้ ต้องไปขอใช้ตึกที่งานเยอะใช่ไหม....เป็นปัญหาที่น่าคิดต่อครับ

คุณ ศูนย์พัฒนาคุณภาพ Anonymous

เห็นด้วยครับที่ต้องมีระบบสำรองไว้ใช้
ยิ่งเราเน้นใช้ระบบไปทีมากเท่าไหร่ยิ่งต้องหาทางเผื่อไอทีล่มมากขึ้นครับ ที่ห้องยาทำได้ตอนนี้ คือ ระบบเขียนมือครับ

  • เขียนบันทึกใส่ใบไว้ที่ห้องยาแล้ว 
  • จ่ายยาส่งตึกไปก่อน
  • พอเครื่องปกติดีค่อยมาคีย์ให้ทีหลัง
  • กรณีที่เสียไม่นาน ไม่เกิน 1 วันนะครับ

ส่วนอีกกรณีหนึ่ง คือ

  • กรณีที่คนไข้กลับบ้านต้องจ่ายตังนี่ก็ต้องคิดมือไปเลยครับ นั่งเปิดสมุดราคายา/เวชภัณฑ์กัน+เขียนสติกเกอร์ให้คนไข้
  • แล้วให้การเงินคิดมือเช่นกัน ค่อยจ่ายยา

แต่ก็กำลังคิดหาวิธีอื่นอยู่เหมือนกันครับ

  • ขอบคุณในความพยายามพัฒนาคุณภาพงานนะคะ
  • รู้ว่าเหนื่อยทั้งการแก้ปัญหา และหาโอกาสพัฒนางาน
  • ถ้าไม่มีคนอย่างท่าน ก็คงมีแต่คนบ่นๆๆๆ และไม่มีการแก้ไข
  • เป็นกำลังใจเสมอนะคะ ขอบคุณอีกครั้งค่ะ

 ขอบคุณสำหรับกำลังใจมากเลยครับ

การแก้ปัญหาทุกวันนี้มันเหนื่อยตรงที่ว่าแก้เป็นเฉพาะรายไปครับ ซึ่งแต่ละรายรายละเอียดต่างกันก็อาจต้องแก้ต่างกัน

สาเหตุมาจากเราใช้เชิงรับครับ โดนตีหัวค่อยมารับทั้งเจ็บทั้งเหนื่อย ต้องตื่นตัวตลอดไม่รู้ว่าจะโดนจู่โจมเมื่อไหร่

ผมเลยพยายามหาทางเชิงรุกไม่ให้คุณปัญหามารุกถึงห้องยาเราได้ โดยการสร้างปราการออกแบบ ให้มันแน่นหนา จะได้ไม่ต้องตื่นตัวตลอดแถมก็ยังเจ็บตัวอยู่ดีแต่เจ็บมากหรือน้อยเท่านั้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท