ไม่มี quick fix ในสุขศึกษา


รู้ไหมว่าสิ่งที่เธอทำอยู่ "มันผิด"...รู้ตั้งแต่อยู่อนุบาลแล้วโว้ย

    เพื่อนมนุษย์ที่มารับบริการทันตกรรมกับเรานั้น ไม่เคยมีใครที่มาแบบกลวงๆ แบบว่างๆ พร้อมที่จะรับคำแนะนำด้านทันตสุขภาพไปปฏิบัติโดยปราศจากเงื่อนไขใดๆ 

    ผมเชื่อว่า มนุษย์ทุกคนมีข้อจำกัด มีเงื่อนไข คนส่วนใหญ่รู้ว่า อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ อะไรดีต่อสุขภาพ อะไรไม่ดี รู้ทั้งนั้น รู้มาแล้วตั้งแต่อยู่อนุบาล แต่ด้วยเงื่อนไข ข้อจำกัดนี้เอง ไม่เอื้อให้คนมีพฤติกรรมสุขภาพ...ไม่ใช่ความรู้

     ดังนั้น ทันตสุขศึกษาดาดๆ ที่หมอพร่ำสอน เช่น "น่าจะแปรงฟันให้ดีกว่านี้หน่อยนะครับ" "อย่าดื่มน้ำอัดลม" "กินขนมให้น้อยๆ หน่อย" "ขนมถุงไม่ดีนะจ๊ะ" จึงแทบจะไม่เกิดประโยชน์อะไร นอกจากจะย้ำสิ่งที่ใครๆ ก็รู้แล้วตั้งแต่อยู่อนุบาล ให้ฟังอีกครั้งหนึ่ง

    พฤติกรรมเพื่อทันตสุขภาพมีหลักๆ อยู่ห้าหกเรื่องเท่านั้นเองครับ

1.ลดการบริโภคหวาน โดยเฉพาะจากน้ำตาลทราย

2.ทำความสะอาดช่องปากเป็นประจำ

3.รับฟลูออไรด์อย่างสม่ำเสมอและเพียงพอ (แหล่งที่ง่ายและดีที่สุดคือ ยาสีฟัน)

4.ลด เลิก การบริโภคยาสูบ

5.ใช้อุปกรณ์ป้องกันภยันตรายบริเวณศีรษะและใบหน้า (เช่น หมวกนิรภัย)

6.ตรวจฟันเป็นประจำ ปีละครั้งก็ยังดี 

     ความคาดหวังของหมอว่า การให้คำแนะนำ ดาดๆ ดังกล่าวจะทำให้ผู้รับบริการทันตกรรม เปลี่ยนพฤติกรรม เพราะความน่าเชื่อถือของหมอ เป็นผู้ให้คำแนะนำนั้น เป็นความคิดที่ออกจะไร้เดียงสาไปสักหน่อย

    Quick fix ซึ่งแปลว่า An approach to finding a solution to a problem as quickly as possible. น่าจะเป็นนิยามที่เหมาะสมเหลือเกิน กับสิ่งที่หมอมักจะ "ให้สุขศึกษา" โดยเริ่มต้นหา "สิ่งที่ผิด" จากนั้นบอกให้รู้ว่า "ไอ้ที่คุณทำอยู่น่ะ มันผิดรู้ไหม ที่ถูกต้องควรจะทำอย่างนั้น อย่างนี้"  

     ไม่มี quick fix ในสุขศึกษาครับ เด็กที่ดื่มน้ำอัดลมเป็นประจำ ไม่ใช่เพราะเขาไม่รู้ ไม่ใช่เพราะพ่อแม่เขาไม่รู้ แต่เพราะเงื่อนไขในชีวิตของเขาต่างหาก น้ำอัดลม อาจจะเป็นเครื่องดื่มประเภทเดียวที่เขารู้สึกว่า "สะอาด" เมื่อเทียบกับน้ำเปล่าจากก๊อกเน่าๆ ในโรงเรียน น้ำอัดลมอาจเป็นเครื่องดื่มที่ทำให้เขารู้สึกสดชื่น เมื่อเขาไปเล่นกับเพื่อนๆ กลางแดดจ้าในตอนพักกลางวัน น้ำอัดลมอาจเป็นสัญลักษณ์ของ "รางวัล" ที่พ่อแม่ให้ เมื่อลูกทำอะไรได้ดังใจ เป็นต้น แต่ละคนก็มีเงื่อนไขของการแสดงพฤติกรรมแตกต่างกัน

     ผมอยากให้หมอที่เป็นศิษย์ของผม "ฟัง" เรื่องราวที่เป็นเงื่อนไขเหล่านี้ "เข้าใจ" ในข้อจำกัดของเขา ก่อนที่จะ "ช่วยกัน (กับคนไข้ หรือผู้ปกครอง) ออกแบบ" หนทาง หรือสร้างเงื่อนไขใหม่ ไปสู่พฤติกรรมสุขภาพ

      การให้ความรู้อย่างดาดๆ จึงแปรเปลี่ยนไปเป็นการวิเคราะห์ต้นตอของปัญหาและออกแบบหนทางแก้ไขร่วมกัน การแก้ปัญหาการดื่มน้ำอัดลมจึงมีหนทางมากมาย ตั้งแต่ พกกระติกน้ำไปโรงเรียน ผลิดเครื่องดื่มเกลือแร่ดื่มเอง ไปจนกระทั่งเปลี่ยนระบบคุณค่าการให้รางวัลในครอบครัว

   การฟัง และพยายามทำความเข้าใจเพื่อนมนุษย์อย่างลึกซึ้ง จึงเป็นทักษะที่สำคัญเหลือเกิน ที่ทันตแพทย์ทั้งมวลควรจะฝึกฝนให้จงได้

    เพราะเมื่อเราเข้าใจเพื่อนมนุษย์ เราจะรู้สึกเห็นใจเขา เราจะไม่ตราหน้าว่า พฤติกรรมที่เขาประพฤติอยู่เป็นสิ่งผิด เมื่อได้ออกแบบทางออกร่วมกัน เราจะพบว่า ทุกคนมีศักยภาพสู่สุขภาพ

    ผมเชื่อว่า การให้ทันตสุขศึกษา คือโอกาสอันพิเศษของคนเป็นหมอ ที่จะได้เชื่อมโยงตัวเองเข้ากับเพื่อนมนุษย์ เป็นโอกาสที่จะได้พูดคุย สัมผัส เรียนรู้ชีวิตผู้คน เป็นโอกาสที่จะได้ถ่ายทอดความปรารถนาดี ความมุ่งมั่นที่จะให้เขามีสุขภาพที่ดี การทำอะไรอย่างนี้ มันช่วยให้จิตใจของเราละมุนละไมขึ้น กระด้างน้อยลงครับ

    ผมว่าเราโชคดีเหลือเกินที่อยู่ในวิชาชีพที่ทำอย่างนี้ได้ อยากวิงวอนให้คุณหมอ "ฟัง" "ทำความเข้าใจ" และ "ช่วยกันออกแบบเงื่อนไขใหม่" แทนการให้สุขศึกษาแบบ Quick fix ครับ 

     

หมายเลขบันทึก: 500982เขียนเมื่อ 2 กันยายน 2012 21:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 กันยายน 2012 21:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท