การบริหารจัดการขยะโดยชุมชนมีส่วนร่วม


การบริหารจัดการขยะโดยชุมชนมีส่วนร่วม

1. ชื่องานวิจัย   การบริหารจัดการขยะโดยชุมชนมีส่วนร่วม  กรณีศึกษา  ประชาชนในเขต องค์การบริหารส่วน

                    ตำบลอำแพง  อำเภอบ้านแพ้ว  จังหวัดสมุทรสาคร

2. ประเภทของงานวิจัย           

งานวิจัยเชิงปริมาณงานวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research)

3. สาขาวิชาที่วิจัย

สาขาวิชา รัฐประศาสนศาสตร์

4. ผู้ดำเนินการวิจัย

นายพีรพล  อ่วมเปี่ยม      รหัส  549904106   หมู่เรียน   MPA 54.1   

5. ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

การเร่งพัฒนาด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศ นอกจากก่อให้เกิดการพัฒนาประเทศให้มีความทัดเทียมกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคแล้ว ยังส่งผลกระทบในทางลบที่เกิดจากการพัฒนาประเทศหลายด้าน ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาหนึ่งที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น อาทิเช่น ปัญหาขยะมูลฝอย น้ำเน่าเสีย อากาศเป็นพิษ ฯลฯ  ซึ่งปัญหาเหล่านี้มักเกิดขึ้นในเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ เป็นต้น และเมืองที่เป็น เมืองอุตสาหกรรม อย่าง สมุทรสาคร  เป็นต้น

ปัญหาขยะมูลฝอยที่มีปริมาณมาก อันเป็นผลมาจากการดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจำวันของประชากร ประกอบกับการพัฒนาประเทศที่นำมาซึ่งความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคม ส่งผลให้มีผลิตภัณฑ์ใหม่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอให้เลือกบริโภคได้สะดวกและรวดเร็วหลากหลายรูปแบบเป็นเหตุให้มีสิ่งเหลือใช้และสิ่งปฏิกูลที่ไม่เป็นที่ต้องการมากขึ้น ส่งผลให้เกิดปัญหา “ขยะมูลฝอยล้นเมือง” ปัญหาขยะมูลฝอยยิ่งเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ จากสถิติของกรมควบคุมมลพิษกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เมื่อปี พ.ศ. 2540 รายงานว่าปริมาณมูลฝอยทั่วประเทศมีประมาณ 13.5 ล้านตันต่อปีหรือประมาณ 37,000 ตันต่อวัน และในปี พ.ศ. 2541 มีปริมาณมูลฝอยจากชุมชนทั่วประเทศสูงถึงประมาณ 13.9 ล้านตัน หรือประมาณ 38,000 ตันต่อวัน และในปี พ.ศ. 2544 ปริมาณมูลฝอยจากชุมชนทั่วประเทศสูงถึงประมาณ 14.1 ล้านตัน และในปี พ.ศ. 2545 ปริมาณมูลฝอยเพิ่มสูงขึ้นถึง14.2 ล้านตัน จะเห็นได้ว่าปริมาณมูลฝอยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ (กรมควบคุมมลพิษ, 2542 ซึ่งคาดการณ์ว่าปริมาณมูลฝอยในรอบ 10 ปีข้างหน้านั้น คือระหว่างปี พ.ศ. 2545 – 2554 จะมีปริมาณมูลฝอยเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 47,000 ตันในปี พ.ศ. 2554 หรือมีอัตราการเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 ต่อปีคิดเป็นปริมาณมูลฝอยที่เพิ่มขึ้นประมาณวันละ 700 – 900 ตัน ดังนั้นปัญหามูลฝอย จึงเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ทุก ๆ หน่วยงานไม่ว่าภาครัฐ ภาคเอกชน รวมทั้งภาคประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาขยะมูลฝอยอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดในการจัดการปัญหาขยะมูลฝอย จากกล่าวข้างต้นแสดงให้เห็นถึงความรุนแรงของปัญหาขยะมูลฝอย หากภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาคประชาชน ไม่ให้ความสนใจหรือเห็นความสำคัญของการแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้วนั้น ปัญหาดังกล่าวก็ย่อมทวีความรุนแรงและเพิ่มมากขึ้นทุกปี

 

 

องค์การบริหารส่วนตำบลอำแพง อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ตั้งปี 2498  ได้มุ่งเน้นในการวางแนวทางการพัฒนาตำบลอำแพง ในปัจจุบันไปสู่อนาคต ตามวิสัยทัศน์ แนวยุทธศาสตร์การพัฒนาขององค์การบริหารส่วนตำบลอำแพง คือ “อำแพงน่าอยู่ เชิดชูคุณธรรม ก้าวล้ำการศึกษา พัฒนาสุขภาพพร้อม น้อมนำเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งเป็นการพัฒนาที่มุ่งเน้นการพัฒนาในทุกด้านไปพร้อมๆกันทั้งในด้านเศรษฐกิจสังคม การศึกษาศาสนา การคมนาคมและสิ่งแวดล้อมกำหนดกรอบแนวทางการพัฒนาโดยมุ่งหวังผลสัมฤทธิ์ของงานและความผาสุกของประชาชนโดยส่วนรวมเป็นหลักอันเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน ประกอบกับพื้นที่ตำบลอำแพง เป็นพื้นที่เกิดของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัตนพระวรชายา ในสมเด็จพระบรมอาสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารฯ ซึ่งพระองค์ได้ทรงมีดำริให้ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ หน่วยงานต่างๆ รวมไปถึงประชาชนชาวอำแพงทุกๆคนร่วมกันพัฒนาพื้นที่เกิดของพระองค์ให้มีความเป็นอยู่ที่สมบูรณ์ในทุกๆด้าน โดยเฉพาะในเรื่องสิ่งแวดล้อม และความเป็นอยู่ของชุมชน และยังทรงยกทรัพย์สินส่วนพระองค์ให้กับชาวตำบลอำแพง ได้ใช้ประโยชน์ และให้ส่วนราชการต่างๆ เข้ามาร่วมเป็นที่ปรึกษาและร่วมดำเนินงาน เพื่อพัฒนาพื้นที่ตำบลอำแพงให้น่าอยู่

ในปัจจุบันพื้นที่ตำบลอำแพง อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร และพื้นที่ข้างเคียงมีการขยายตัวของชุมชนอย่างมาก ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้พื้นที่ตำบลอำแพง เริ่มประสบปัญหาต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาในด้านสิ่งแวดล้อม และการจัดการขยะมูลฝอย ซึ่งเกิดจากการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในชุมชน ในปัจจุบันตำบลอำแพง ประมาณวันละ 2 ตันต่อวัน ซึ่งอาจเป็นปริมาณไม่มากนัก เมื่อเทียบปริมาณพื้นที่   22.51   ตารางกิโลเมตร / จำนวน   11,404   ไร่โดยประมาณ แต่ปริมาณขยะมูลฝอยมีแนวโน้ว ว่าจะมีปริมาณมาก  ซึ่งขยะมูลฝอยที่เกิดนั้นเกิดจากบ้านเรือนของประชาชน ตลาดนัด และภาคเกษตรกรรมในเขตตำบลอำแพง ที่ทำให้เกิดขยะมูลฝอยจำนวนมาก โดยทางองค์การบริหารส่วนตำบลอำแพงร่วมกับประชาชนได้ร่วมกันหาวิธีและแนวทางในการบริหารจัดการขยะในพื้นที่ โดยจะจัดเวทีประชาคม เพื่อรับฟังความคิดเห็นและแนวทางการบริหารจัดการขยะของชุมชน และทำข้อตกลงร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และประชาชน โดยให้ชุมชนดำเนินการด้านการคัดแยกขยะ ให้โรงเรียนในพื้นที่ ที่มีอยู่จำนวน  4 แห่ง ดำเนินการจัดตั้งธนาคารขยะ เพื่อเป็นรายได้เสริมของเยาวชน และชุมชน และภาคราชการสนับสนุนงบประมาณในการขนถ่ายขยะเหลือจากการคัดแยกออกนอกพื้นที่ เพื่อให้ทางเอกชนผู้ที่รับเหมาในการกำจัดเป็นผู้รับผิดชอบต่อไป  

ซึ่งขยะมูลฝอยเพียงเล็กน้อยที่เหลือจากการบริหารนจัดการ ประชาชนมักกำจัดโดยวิธีฝังกลบหรือเผาทำรายบ้างเป็นครั้งคราว

จากที่กล่าวมาเห็นได้ว่าความตระหนักต่อการจัดการขยะมูลฝอย ความรู้และวิธีการกำจัดขยะของประชาชน ณ แหล่งกำเนิดนั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยแบ่งเบาภาระในการจัดการขยะขององค์การบริหารส่วนตำบลอำแพง  ดังนั้นผู้ทำการวิจัยจึงสนใจศึกษาถึงความตระหนักต่อการจัดการขยะมูลฝอย ความรู้และวิธีการบริหารจัดการขยะโดยชุมชนมีส่วนร่วม  และศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขการจัดการขยะมูลฝอยของประชาชน ทั้งนี้เพื่อให้ทราบความตระหนักต่อการจัดการขยะมูลฝอย ความรู้และวิธีการบริหารจัดการขยะโดยชุมชนมีส่วนร่วม  และได้แนวทางส่งเสริมความรู้และวิธีการจัดการขยะมูลฝอยของประชาชน ในเขตองค์การบริหารส่วน                  ตำบลอำแพง  อำเภอบ้านแพ้ว  จังหวัดสมุทรสาคร

 

6. วัตถุประสงค์ของการศึกษา

1. เพื่อศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขการจัดการขยะมูลฝอยของประชาชน

2. เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมของครัวเรือนในการจัดการขยะมูลฝอย

3. เพื่อศึกษาค่าใช้จ่ายในการลงทุนการจัดการขยะมูลฝอย

 

7. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการวิจัย

1. ได้แนวทางส่งเสริมความรู้และการจัดการขยะมูลฝอยของประชาชน

2. สามารถใช้เป็นข้อมูลประกอบสำหรับเสนอผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบลอำแพง อำเภอบ้านแพ้ว  จังหวัดสมุทรสาคร ในการแก้ไขการจัดการขยะมูลฝอยของประชาชน

3. ทำให้ทราบข้อมูลทางด้านการลงทุน, การบริหารจัดการมูลฝอย เพื่อนำไปสู่กระบวนการลดและคัดแยกปริมาณขยะในพื้นที่ลดน้อย

 

8. ผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

แนวคิดและความหมายของการมีส่วนร่วมของประชาชน

            มีนักวิชาการหลายท่านได้ให้ความหมายของการมีส่วนร่วมของประชาชนไว้แตกต่างกันดังนี้

คีท (Keith.1972:136) กล่าวว่าการมีส่วนร่วม หมายถึงการเกี่ยวข้องทางจิตใจและอารมณ์ (Mental and Emotion Involvement) ของบุคคลหนึ่งในสถานการณ์กลุ่ม (Group Situation) ซึ่งผลของการเกี่ยวข้องดังกล่าวเป็นเหตุเร้าใจให้กระทำให้บรรลุจุดมุ่งหมายของกลุ่มนั้นกับทั้งทำให้เกิดความรู้สึกรับผิดชอบกับกลุ่มดังกล่าวด้วย

                        รีเดอร์ (Reeder,W.W, 1974:39) กล่าวว่าการมีส่วนร่วมของประชาชน หมายถึง การมีส่วนร่วมในการปะทะสังสรรค์ทางสังคม ซึ่งรวมทั้งการมีส่วนร่วมของปัจเจกบุคคล และการมีส่วนร่วมของกลุ่ม

                        ลีล (Lele,U.) (ความหมายของการมีส่วนร่วม. ออน-ไลน์:2550) กล่าวว่าการมีส่วนร่วมของประชาชน หมายถึง การที่ประชาชนมีความรู้สึกไวต่อสิ่งต่างๆ ที่ตนได้รับและสามารถที่จะตอบสนองต่อโครงการพัฒนาต่างๆ และสนับสนุนการริเริ่มโครงการต่างๆ ในท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี

                                เดอร์ตัน (Turton,A.) (ความหมายของการมีส่วนร่วม. ออน-ไลน์.2550) กล่าวว่าการมีส่วนร่วมของประชาชน หมายถึงการรวมความสนในของแต่ละคน ซึ่งมีความเกี่ยวพันกันทางด้านความรู้สึกในกิจกรรมต่างๆ ในลักษณะของความร่วมมือ ร่วมกำลังจนกระทั่งเกิดการรวมกันเป็นกลุ่มขึ้น

                            ยุวัฒน์ วุฒิเมธี (2541:32)กล่าวว่าการมีส่วนร่วมของประชาชน หมายถึง การเปิดโอกาส ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการคิดริเริ่ม การพิจารณาตัดสินใจ การปฏิบัติและรับผิดชอบในเรื่องต่าง ๆ อันมีผลกระทบถึงตัวประชาชนเอง การที่จะสามารถทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นเพื่อแก้ไขปัญหาและนำมาซึ่งสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นเพื่อแก้ไขปัญหาและนำมาซึ่งสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนที่ดีขึ้นได้นั้น ผู้นำการเปลี่ยนแปลงต้องยอมรับปรัชญาพัฒนาชุมชนที่ว่า มนุษย์ทุกคนมีความปรารถนาที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างเป็นสุขได้รับการปฏิบัติ อย่างเป็นธรรมและเป็นที่ยอมรับของผู้อื่นและพร้อมที่จะอุทิศตนเพื่อกิจกรรมของชุมชน ขณะเดียวกันต้องยอมรับความบริสุทธิ์ใจด้วยว่ามนุษย์นั้นสามารถพัฒนาได้ถ้ามีโอกาสและได้รับการชี้แจงอย่างถูกต้อง

                                ศิริกุล กสิวิวัฒน์ (2546:20) กล่าวว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนหมายถึงการที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกิจกรรมการพัฒนาด้วยความสมัครใจ ตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุด เพื่อพัฒนาชุมชนของตนเองด้วยความรู้สึกรับผิดชอบร่วมกัน   การมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นกิจกรรมที่มีลักษณะสำคัญของกระบวนการทางการเมืองและกระบวนการในการจัดการต่อปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารงานของสังคมยุคใหม่ที่เน้นปัจจัยในด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการเสนอข้อเรียกร้อง (Demand) และการสนับสนุน (Support) เป็นสิ่งที่แสดงความสำคัญ และวิธีการบริหารจัดการสังคมและชุมชนร่วมกัน

การที่จะทำให้สังคมและระบบการเมืองอยู่ในดุลยภาพได้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยปัจจัยในด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารจัดการและการนำเสนอข้อมูล ตลอดจนการตรวจสอบระบบของสังคม ซึ่งถ้าหากระบบการเมืองปราศจากสิ่งเหล่านี้แล้วก็ไม่สามารถที่จะดำรงอยู่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้นถือว่าเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญยิ่ง

ปัจจัยที่มีผลต่อการมีส่วนร่วม

                        อำนาจ อนันตชัย (2526:16) ได้อธิบายถึงการที่ตนมีความร่วมมือกับงานต่างๆด้วยความเต็มใจนั้น เนื่องจากปัจจัยที่สำคัญ 5 ประการ คือ

                        1.ความต้องการที่จะร่วมทำงานกลุ่ม

                        2.ความต้องการที่จะเป็นผู้มีความสำคัญ

                        3.ความต้องการที่จะได้รับผลประโยชน์

                        4.ความต้องการที่จะทดลองกระทำ

                        5.ความต้องการที่จะแก้ตัวที่จะทดแทนความผิดพลาดที่เคยทำมาในอดีต

ผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

นรินทร์ชัย  พัฒนพงศา (2539) ศึกษาวิจัยเรื่อง การศึกษาความรู้ ทัศนคติและการปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวกับการจัดการขยะในชีวิตประจำวันของชุมชนทางวิชาการ และประชาชนในเขตเทศบาล อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อการรณรงค์จัดการขยะที่สัมฤทธิผล ผลการศึกษาวิจัยพบว่าปริมาณขยะที่เกิดขึ้นโดยเฉลี่ยวันละ 3.01 กิโลกรัม พฤติกรรมการทิ้งขยะของชาวเชียงใหม่ส่วนใหญ่ยังไม่ดี และเห็นควรให้ทางเทศบาลนครเชียงใหม่ทำการรณรงค์แยกขยะเปียกออกจากขยะแห้งให้ได้ บุคคลกลุ่มต่าง ๆ ทั้งชาย หญิง ที่มีระดับการศึกษาต่างกัน อายุต่างกัน รายได้ต่างกันหรืออยู่ในชุมชนต่างกัน ต่างมีความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมด้านขยะไม่แตกต่างกัน สำหรับประเด็นความรู้เรื่องการกำจัดขยะของเทศบาลนครเชียงใหม่ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามเข้าใจว่าเทศบาลนครเชียงใหม่ ใช้วิธีแอบทิ้งทั่วไปซึ่งเป็นความเข้าใจผิด อันทำให้เกิดภาพลบแก่เทศบาลนครเชียงใหม่ ซึ่งจำเป็นต้องเร่งแก้ไขให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง ผู้วิจัยยังได้เสนอแนะให้เทศบาลนครเชียงใหม่รณรงค์เรื่องความรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ควรพิจารณาขึ้นค่าธรรมเนียมจัดเก็บขยะ แต่ต้องมีการจัดการให้ดีขึ้น และรณรงค์ให้นำขยะแห้งไปแยกแล้วนำกลับไปใช้ประโยชน์อีกด้วยวิธีต่าง ๆ ควรมีการร่วมมือระหว่างเทศบาลนครเชียงใหม่กับองค์กรประชาชน และกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมในการร่วมรณรงค์จัดการขยะในรูปแบบต่าง ๆเช่น คำขวัญ เรียงความ เพลงสั้น ใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยกลุ่มบุคคลเป้าหมายสำคัญที่ควรเน้นก่อนอื่น คือ กลุ่มบุคคลที่อายุยังไม่มากเพราะเป็นกลุ่มบริโภคนิยมที่ผลิตขยะมากกว่ากลุ่มอายุอื่น ๆ

เทวัญ พัฒนาพงศ์ศักดิ์ (2540) ศึกษาเรื่องการแยกมูลฝอยและการจัดการมูลฝอยที่แยกแล้วในแหล่งกำเนิดต่าง ๆ ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ ผลการศึกษาความร่วมมือของประชาชนในการแยกทิ้งมูลฝอยลงในถังมูลฝอยเปียกและถังมูลฝอยแห้งที่ทางเทศบาลนครเชียงใหม่ได้จัดเตรียมไว้ ปรากฏว่าประชาชนยังไม่ให้ความร่วมมือในการคัดแยกมูลฝอยองค์ประกอบมูลฝอยจากแหล่งกำเนิดต่าง ๆ ได้แก่ โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ตลาดสดเมืองใหม่แอร์พอร์ตพลาซ่า โรงแรมเชียงใหม่ภูคำ และชุมชนเคหะหนองหอย ส่วนใหญ่ประกอบด้วยกระดาษ (ร้อยละ 15.8 – 38.4) พลาสติก (ร้อยละ 10.1 – 25.5) และเศษอาหาร (ร้อยละ 9.7 – 45.7)และจากการประเมินความเป็นไปได้ในการแยกมูลฝอย และรูปแบบการแยกมูลฝอยที่เหมาะสมในแหล่งกำเนิดต่าง ๆ สรุปได้ดังนี้ คือ โรงเรียนควรมีการแยกมูลฝอยออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่1) กระดาษ 2) พลาสติก 3) มูลฝอยทั่วไป ศูนย์การค้าและโรงแรมควรมีการแยกมูลฝอยออกเป็น 3ประเภท ได้แก่ 1) กระดาษ 2) แก้ว พลาสติก และโลหะ 3) มูลฝอยทั่วไป ตลาดสดและชุมชนควรมีการแยกมูลฝอยออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1) มูลฝอยเปียก 2) มูลฝอยแห้ง นอกจากนี้มูลฝอยที่แยกประเภทแล้ว ในส่วนของกระดาษและพลาสติกสามารถนำไปขายแก่ผู้รับซื้อของเก่าได้โดยตรงมูลฝอยจากศูนย์การค้าและโรงแรมที่แยกรวมเป็น แก้ว พลาสติก และโลหะ ควรมีแยกประเภทอีกครั้งก่อนนำออกจำหน่าย และมูลฝอยเปียกและมูลฝอยแห้งที่แยกแล้วจากตลาดสดและชุมชนให้ทางเทศบาลเป็นผู้จัดเก็บนำไปใช้ประโยชน์หรือกำจัดด้วยวิธีการที่เหมาะสมต่อไป

มิศรา สมารถ และรักกิจ ศรีสรินทร์ (2540) ทำการศึกษาวิจัยเรื่องแนวทางความร่วมมือระหว่างประชาชนกับภาครัฐในการแยกประเภทมูลฝอยก่อนนำทิ้ง ผลการศึกษาวิจัยแยกเป็น 4ลักษณะ ดังนี้

1) ข้อมูลพฤติกรรมและกลุ่มความคิดเห็นของประชาชน พบว่า กลุ่มตัวอย่างกว่าครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 59.9) ไม่ได้แยกประเภทมูลฝอย เพราะการเก็บขนของพนักงานยังรวมอยู่ในรถคันเดียวจึงไม่มีประโยชน์ในทางปฏิบัติ แต่ประชากรส่วนใหญ่ (ร้อยละ 95.7) พร้อมจะร่วมมือกับนโยบายการแยกประเภทมูลฝอยก่อนนำทิ้ง

2) ข้อมูลการปฏิบัติและข้อคิดเห็นของกลุ่มเจ้าหน้าที่ จากแบบสอบถามที่ทอดไปยังเจ้าหน้าที่และสำนักงานเขตต่าง ๆ ทั่วประเทศ พบว่าปัญหาการจัดการมูลฝอยในพื้นที่มีหลายปัญหาด้วยกัน เช่น ปัญหาขาดแคลนบุคลากร งบประมาณและอุปกรณ์เครื่องใช้ (ร้อยละ 53.7) ปัญหาระบบการจัดการไม่สามารถรองรับปริมาณมูลฝอยที่เกิดขึ้นได้ (ร้อยละ 43.4) และปัญหาประชาชนไม่ให้ความร่วมมือ (ร้อยละ 87.1) เป็นต้น

3) ข้อมูลจากการสังเกตการณ์จากพื้นที่เป้าหมาย 8 จังหวัดหัวเมืองหลัก คือ ระยองพระนครศรีอยุธยา ขอนแก่น นครราชสีมา เชียงใหม่ พิษณุโลก ภูเก็ต และกระบี่ ปรากฏผลการวิจัยพบว่า ทุกเทศบาลล้วนมีปัญหาร่วมกัน 2 ประการ คือ งบประมาณในการจัดเก็บและการกำจัดมูลฝอยของท้องถิ่นมีไม่เพียงพอ และปัญหาประชาชนไม่ให้ความสำคัญและความร่วมมือกับการแยกประเภทมูลฝอยที่ได้ดำเนินการไปแล้ว

4) ข้อเสนอแนะและการระดมสมอง สรุปผลได้ดังนี้ คือ การแยกประเภทมูลฝอยควรมุ่งเน้นเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับประชาชน การประชาสัมพันธ์เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในการแยกมูลฝอย รัฐควรให้การสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจรีไซเคิลให้มากขึ้นรณรงค์ให้ประชาชนและองค์กรบริหารส่วนตำบลมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการแก้ปัญหาขยะมูลฝอย และควรมีมาตรการทางกฎหมายที่จะช่วยสร้างให้การดำเนินการแยกประเภทมูลฝอยก่อนนำทิ้ง ดำเนินการไปได้ด้วยดี

กิ่งกาญจน์ บุญมา (2544) ได้ศึกษาเรื่อง ความเข้มแข็งของชุมชนในการจัดการขยะมูลฝอยในบ้านใหม่ หลังมอ ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ได้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชนในชุมชนให้มีการจัดการขยะมูลฝอยในชุมชน โดยในฐานะที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีส่วนได้เสียในการจัดการขยะและได้รับผลกระทบจากการทิ้งขยะมูลฝอยทั้งสิ้นเช่น ร้านค้า, ประชาชนทั่วไป นักศึกษาที่เข้ามาใช้บริการ ซึ่งผลกระทบดังกล่าวส่งผลให้สิ่งแวดล้อมสุขภาพอนามัยของชุมชนเปลี่ยนแปลงไป การสร้างจิตสำนึกและความตระหนักในการทิ้งขยะรวมถึง การให้มีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาเป็นหลักการสำคัญในอันที่จะต้องช่วยกันเสริมสร้างและช่วยกันดำรงรักษาไว้ ซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชนบ้านใหม่หลังมอต่อไปและอย่างบูรนาการ

ธนาพร ประสิทธิ์นราพันธุ์ (2544) ได้ศึกษาเรื่องการจัดการขยะชุมชน: กรณีบ้านดงม่อนกระทิง นครลำปาง ผลการศึกษาวิจัยพบว่า มีการจัดการขยะมูลฝอย แบบมีส่วนร่วมด้วยตนเอง การจัดหาแรงงานการบริหารกองทุนขยะ ตลอดจนการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ รวมถึงการกำหนดกฎเกณฑ์การปฏิบัติ เพื่อการจัดการขยะมูลฝอยของชุมชนเป็นไปอย่างมีส่วนร่วมของชาวบ้าน มีการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น เทศบาลนครลำปาง โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ซึ่งการดำเนินการจัดการขยะของชุมชนของบ้านดงม่อนกระทิงเป็นการเสริมการทำงานของชุมชน ให้มีศักยภาพในการจัดการขยะมูลฝอย การจัดเก็บค่าธรรมเนียมการบริการให้เป็นไปอย่างถูกต้อง และชุมชนเองมีรายได้เข้ามาบริการกองทุนเพิ่มมากขึ้น

ศุภชัย ไชยลังกา (2545) ได้ศึกษาเรื่อง การศึกษาเพื่อจัดทำแบบปฏิบัติการจัดการขยะมูลฝอยในเขตเทศบาลตำบลแม่สาย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย จากการศึกษาพบว่าการจัดการขยะมูลฝอยในเขตเทศบาลตำบลแม่สาย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย โดยชุมชนมีการจัดการขยะมูลฝอย เช่น การเผา การนำขยะไปฝังกลบ หรือแม้กระทั่งการนำมูลฝอยไปทิ้งตามที่สาธารณะโดยเฉพาะครัวเรือนต่าง ๆ ยังมิได้มีการคัดแยกขยะ การเข้ามีส่วนร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังมีระดับต่ำ ปริมาณมูลฝอยเพิ่มมากขึ้นและมีแนวโน้ม เพิ่มตามจำนวนประชากรและนักท่องเที่ยว อีกทั้งการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของเทศบาลตำบลแม่สาย ยังมีข้อจำกัดทางด้านงบประมาณ บุคลากร เครื่องมือ ยานพาหนะในการบรรทุกขยะมูลฝอย แต่ทางเทศบาลได้มีโครงการแผนฟื้นฟูแก้ไขในระยะยาว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการมูลฝอยที่นับวันเพิ่มมากขึ้น

เรืองเดช ทองสถิต (2545) การศึกษาเรื่อง ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อความคิดเห็นในการจัดการขยะของชุมชน: กรณีศึกษาตำบลหมอเมือง อำเภอแม่จริม จังหวัดน่าน โดยกรณีศึกษาพบว่าปัจจัยทางบุคคล คือ เพศ อายุ ต่างมีผลต่อความคิดเห็นต่อการจัดการขยะที่แตกต่างกันปัจจัยทางสังคม การเรียนรู้ข่าวสารของทางราชการ รวมถึงปัจจัยความคิดเห็นทางสิ่งแวดล้อม ไม่มีผลต่อระดับความสัมพันธ์กับความคิดเห็นในการจัดการขยะมูลฝอยปัจจัยทางการศึกษา พบว่า มีความสัมพันธ์ในเชิงบวกต่อบทบาทของการจัดการขยะมูลฝอยของชุมชน โดยเฉพาะผู้ที่มีระดับการศึกษาสูง มักมีความคิดรับผิดชอบต่อการจัดการมูลฝอยชุมชน โดยส่วนรวมแล้วมีความคิดเห็น ทางด้านสิ่งแวดล้อมชุมชนในทางลบ ในส่วนแนวทางแก้ไขปัญหา ผู้ศึกษาวิจัยแนะนำให้ใช้มาตรการ “ใครเป็นผู้ก่อ ผู้นั้นต้องรับผิดชอบ” นั้นคือ การจัดการบริหารโดยการใช้มาตรการทางกฎหมาย ทางเทศบัญญัติของส่วนท้องถิ่น การรณรงค์ เพื่อสร้างความตระหนักในชุมชน มีการจัดการขยะในครัวเรือนด้วยตนเองอย่างมีประสิทธิภาพโดยได้รับการสนับสนุนจากชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเอง

 

9. ขอบเขตของการศึกษา

1. ขอบเขตด้านพื้นที่

ขอบเขตพื้นที่ที่ใช้ในการศึกษาวิจัยเฉพาะประชาชน ในหมู่ที่ 1 – 3 และ หมู่ที่ 5 ในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลอำแพง อำเภอบ้านแพ้ว  จังหวัดสมุทรสาคร จำนวน  300 คน

2. ขอบเขตด้านเวลา

ระยะเวลาการศึกษาระหว่างตั้งแต่เดือน 1 พฤษภาคม 2555 – 31 มีนาคม 2556

3. ขอบเขตเนื้อหา

ศึกษาสิ่งที่ส่งผลต่อการจัดการขยะมูลฝอย ณ แหล่งกำเนิดของประชาชน ประกอบด้วย ความรู้ ความตระหนัก และการรับข่าวสาร

 

10. นิยามศัพท์ที่ใช้ในการวิจัย

ความตระหนักของประชาชนต่อปัญหาขยะมูลฝอย หมายถึง ความสนใจของประชาชนใน

องค์การบริหารส่วนตำบลอำแพง อำเภอบ้านแพ้ว  จังหวัดสมุทรสาคร ต่อการจัดการและแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยของครัวเรือนและชุมชน

ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการปัญหาขยะมูลฝอย หมายถึง ความรู้ความเข้าใจของประชาชนในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลอำแพง อำเภอบ้านแพ้ว  จังหวัดสมุทรสาคร ต่อการจัดการและแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยของครัวเรือนและชุมชน

ขยะหรือมูลฝอย (Solid Waste) หมายถึง เศษกระดาษ เศษผ้า เศษอาหาร เศษสินค้า เศษวัตถุ ถุงพลาสติก ภาชนะที่ใส่อาหาร เถ้า ซากสัตว์ หรือสิ่งอื่นใด ที่เก็บกวาดจากถนน  ที่เลี้ยงสัตว์หรือที่อื่น และหมายความรวมถึง มูลฝอยติดเชื้อ มูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตรายจากชุมชนหรือครัวเรือน ยกเว้นวัสดุที่ไม่ใช้แล้วของโรงงานซึ่งมีลักษณะและคุณสมบัติที่กำหนดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน

ขยะย่อยสลาย (Compostable Waste) หรือมูลฝอยย่อยสลาย หมายความถึง ขยะที่เน่าเสียและย่อยสลายได้เร็ว สามารถนำมาหมักทำปุ๋ยได้ เช่น เศษผัก เปลือกผลไม้ เศษอาหาร ใบไม้เศษเนื้อสัตว์ เป็นต้น

ขยะรีไซเคิล (Recyclable Waste) หรือมูลฝอยที่ยังใช้ได้ หมายความถึง ขยะของเสียบรรจุภัณฑ์ หรือวัสดุเหลือใช้ ซึ่งสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้ โดยการนำมาแปรรูปเป็นวัตถุดิบในขบวนการผลิตหรือใช้สำหรับผลิตเป็นผลิตใหม่ เช่น แก้ว กระดาษ กระป๋องเครื่องดื่ม เศษพลาสติก เศษโลหะ อลูมิเนียม ยางรถยนต์ เป็นต้น

ขยะอันตราย (Hazardous Waste) หรือมูลฝอยอันตราย หมายความถึง ขยะที่มีองค์ประกอบหรือปนเปื้อนวัตถุอันตรายชนิดต่าง ๆ ซึ่งได้แก่ วัตถุระเบิด วัตถุไวไฟ วัตถุออกซ์ไซด์วัตถุมีพิษ วัตถุที่ทำให้เกิดโรค วัตถุกัมมันตรังสี วัตถุที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมวัตถุกัดกร่อน วัตถุที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง วัตถุอย่างอื่นไม่ว่าจะเป็นเคมีภัณฑ์หรือสิ่งอื่นใดที่อาจทำให้เกิดอันตรายแก่บุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์สิน หรือสิ่งแวดล้อม เช่น ถ่านไฟฉาย หลอดฟูออเรสเซนต์ แบตเตอรี่โทรศัพท์เคลื่อนที่ ภาชนะบรรจุสารกำจัดศัตรูพืช กระป๋องสเปรย์บรรจุหรือสารเคมี เป็นต้น

ขยะทั่วไป (General Waste) หรือ มูลฝอยทั่วไป หมายความถึง ขยะประเภทอื่น นอกเหนือจากขยะย่อยสลาย ขยะรีไซเคิล และขยะอันตราย มีลักษณะที่ย่อยสลายยากและไม่คุ้มค่า สำหรับการนำกลับมาใช้ประโยชน์ เช่น กล่องนม UHT ท่อพลาสติกใส่ขนม ถุงพลาสติกบรรจุผงซักฟอก พลาสติกห่อลูกอม ซองบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ถุงพลาสติกเปื้อนเศษอาหาร โฟมเปื้อนอาหาร เป็นต้น

บรรจุภัณฑ์ (Package) หมายความถึง ภาชนะที่ใช้สำหรับใส่สิ่งของ เครื่องใช้ สินค้า หรือเพื่อการหีบห่อ ห่อหุ้ม บรรจุ หรือผูกมัดสิ่งของต่างๆ

วัสดุเหลือใช้ (Waste Residues) หมายความถึง สิ่งของ เครื่องใช้ หรือสินค้าที่ผ่านการ ใช้งานแล้ว หรือหมดอายุการใช้งานแล้ว หรือที่เหลือจากความต้องการและไม่เป็นที่ต้องการจะใช้อีกต่อไป

การคัดแยกขยะ (Waste Separation) หมายความถึง กระบวนการหรือกิจกรรมจัดแบ่งหรือแยกขยะออกเป็นประเภทต่าง ๆ ตามลักษณะองค์ประกอบ เช่น แก้ว กระดาษ พลาสติก โลหะอลูมิเนียม โดยใช้แรงงานคนหรือเครื่องจักรกล เพื่อการนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ หรือใช้ประโยชน์ทางพาณิชย์

ผู้คัดแยกขยะนอกระบบ (Informal Waste Separator) หมายความถึงซาเล้ง เจ้าหน้าที่เก็บขนขยะหรือผู้คัดแยกขยะภาชนะรองรับขยะในชุมชน เพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์

วัสดุที่นำกลับคืน (Recovered Materials) หมายความถึง เศษวัสดุจำพวกโลหะ กระดาษแก้ว พลาสติก อลูมิเนียม และวัสดุมีค่าอื่น ๆ ที่ได้ถูกคัดแยกจากขยะหรือของเสียเพื่อนำกลับคืนมา ใช้ประโยชน์ใหม่ไม่ว่าจะมีการแปรสภาพในภายหลังหรือไม่ก็ตาม แต่ไม่รวมถึงวัสดุที่นำไปกำจัด ต่อไป

การแปรสภาพ (Processing) หมายความถึง การเปลี่ยนแปลงคุณลักษณะหรือ องค์ประกอบทางกายภาพ เคมี และชีวภาพของขยะเพื่อให้มีความสะดวก และปลอดภัยในการขนส่ง การนำกลับไปใช้ประโยชน์ การเก็บรวบรวม การกำจัดหรือการลดปริมาณ

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Local Administrative Organization) หมายความถึงองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้ง

การจัดการขยะมูลฝอย ณ แหล่งกำเนิด หมายถึง การดำเนินการต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นในครัวเรือนต่าง ๆ โดยการลดปริมาณขยะมูลฝอย ณ แหล่งกำเนิดตามหลัก 7 Rs ซึ่งประกอบด้วย

1. การปฏิเสธหรือหลีกเลี่ยงสิ่งของหรือบรรจุภัณฑ์ (Refuse)

2. การเลือกใช้สินค้าชนิดเติม (Refill)

3. การเลือกใช้สินค้าที่สามารถส่งคืนบรรจุภัณฑ์กลับสู่ผู้ผลิตได้ (Return)

4. การซ่อมแซมเครื่องใช้ (Repair)

5. การใช้ซ้ำ การนำบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วกลับมาใช้อีกครั้ง (Reuse)

6. การแยกขยะที่ยังใช้ประโยชน์ได้ให้ง่ายต่อการจัดเก็บและส่งแปรรูป (Recycle)

7. การลดการบริโภค (Reduce)

 

11. วิธีการวิจัย

การศึกษาในครั้งนี้ ผู้ศึกษาได้ดำเนินการศึกษาเชิงปริมาณ (Quantitative Research) โดยแบ่งการดำเนินการศึกษาออกเป็น  2 ส่วน ดังนี้

1. การศึกษาจากเอกสาร (Document Study) โดยศึกษาค้นคว้าและรวบรวมแนวคิดทฤษฎี งานศึกษาที่เกี่ยวข้อง และข้อมูลจากเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการจัดการขยะมูลฝอย

2. การศึกษาจากภาคสนาม (Field Study) เป็นการศึกษาโดยเก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสุ่มตัวอย่าง

ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง

ประชาชนในหมู่ที่ 1 – 3 และ หมู่ที่ 5 เขตพื้นที่รับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนตำบลอำแพง  อำเภอบ้านแพ้ว  จังหวัดสมุทรสาคร  จำนวน  300 คน

                    กรอบแนวคิดกรอบแนวคิดที่ใช้ในการศึกษา

จากแนวคิดที่นำเสนอข้างต้น ผู้ศึกษาได้นำแนวคิดการจัดการมูลฝอยของการมีส่วนร่วมในการจัดการมูลฝอยเทศบาลนครเชียงใหม่ โดยสาขาการจัดการมนุษย์และสิ่งแวดล้อมบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาประยุกต์ใช้เป็นกรอบแนวคิดในการศึกษาครั้งนี้ โ

หมายเลขบันทึก: 500937เขียนเมื่อ 2 กันยายน 2012 13:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 กันยายน 2012 08:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อ่านแล้ว 1ครั้งค่อยมาcommentอีกที

ดิฉัน  เป็นเจ้าหน้าที่งานรักษาฯ ค่ะ  สนใจงานวิจัยชิ้นนี้  อยากอ่านฉบับเต็ม ค่ะ รบกวนช่วยส่ง Mail ให้หน่อยได้มั้ยคะ  ขอบพระคุณล่วงหน้าค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท