จากเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สู่เรียนรู้ทักษะชีวิต สู่การปฏิรูปการศึกษา


การดำเนินการพัฒนาโรงเรียนตามแนวที่โครงการนี้ใช้ ได้พัฒนาทักษะด้านการคิดของครู ทำให้ครูเปลี่ยนพฤติกรรมจากทำงานโดดเดี่ยว มาเป็นทำงานเป็นทีม ครูกลายเป็นผู้เรียนรู้ จากการออกแบบการเรียนรู้แก่ศิษย์

จากเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สู่เรียนรู้ทักษะชีวิต สู่การปฏิรูปการศึกษา

เช้าวันที่ ๒๙ ส.ค. ๕๕ ผมไปร่วมการประชุมปฏิบัติการผู้ประสานงานภูมิภาค โครงการเสริมศักยภาพการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา ครั้งที่ ๒/๒๕๕๕   จัดโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล ร่วมกับ มูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์  และกระทรวงศึกษาธิการ

ที่จริงโครงการนี้เป็นส่วนเล็กๆ ของการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในสังคมไทย   โดยมูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์  และกระทรวงศึกษาธิการ ต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา ทั่วประเทศ   และดำเนินการแบบค่อยๆ ดำเนินการอย่างมีคุณภาพ   ให้มีโรงเรียนตัวอย่างที่จัดการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงได้ดี   ได้รับการยกย่องและมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นศูนย์เรียนรู้ขับเคลื่อนเครือข่ายโรงเรียนจำนวนหนึ่ง    คือดำเนินการขยายขบวนการเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียนให้เต็มแผ่นดิน อย่างเป็นขั้นเป็นตอน

มูลนิธิสยามกัมมาจลเข้าร่วมมือ ดึงมหาวิทยาลัยในพื้นที่เข้าหนุนโรงเรียนเป้าหมาย    เพื่อสร้างทักษะการจัดการเรียนรู้ของครูในโรงเรียนให้แน่นขึ้น สำหรับให้ขบวนการเศรษฐกิจพอเพียงผสมกลมกลืนเข้าไปในการเรียนตามปกติ ทั้ง ๘ หน่วยสาระ   รวมทั้งนำเอาแนวคิดการเรียนรู้ให้ได้ทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ เข้าไปบูรณาการด้วย   ซึ่งหมายความว่า มีการนำเอาวิธีการเรียนแบบ PBL  และการรวมตัวกันทำงานและเรียนรู้ของครู ที่เรียกว่า PLC เอามาใช้

ทีมมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง และครูแกนนำในโรงเรียนมา ลปรร. กันเมื่อวันที่ ๒๘ ส.ค.   แล้วนำผลมารายงานต่อคณะกรรมการชี้ทิศทาง ที่ผมเป็นประธาน   ผมได้ฟังเพียง ๓ ทีมเท่านั้น   คือทีม มช. กับโรงเรียนในภาคเหนือตอนบน   ทีม มมส. กับโรงเรียนในภาคอีสาน   และทีม มรภ. กำแพงเพชร กับโรงเรียนในภาคเหนือตอนล่าง    ฟังแล้วก็ชื่นใจ ที่ได้เห็นการทำงานจริงจัง เพื่อประโยชน์ทวีคูณ   คือได้ทั้งทักษะด้านการครองชีวิตแบบพอเพียง    และได้การจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑

เราได้เห็นว่า การดำเนินการพัฒนาโรงเรียนตามแนวที่โครงการนี้ใช้    ได้พัฒนาทักษะด้านการคิดของครู   ทำให้ครูเปลี่ยนพฤติกรรมจากทำงานโดดเดี่ยว มาเป็นทำงานเป็นทีม   ครูกลายเป็นผู้เรียนรู้ จากการออกแบบการเรียนรู้แก่ศิษย์

ผมได้ชี้ให้ที่ประชุมเห็นว่า โครงการนี้ได้ก้าวหน้าจากที่เห็นในการประชุม steering เมื่อวันที่ ๙ พ.ค. ๕๕ อย่างน่าชื่นใจ    เราได้เห็นภาพการเรียนรู้ของครูคู่ขนานไปกับการเรียนรู้ของศิษย์     

ผมจึงให้ความเห็นเชิงเสนอแนะต่อกระทรวงศึกษาธิการผ่าน อ. รจนา สินที หัวหน้ากลุ่มโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กระทรวงศึกษาธิการ    รวมทั้งต่อท่านอดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และอดีตเลขาธิการ สพฐ.คือ ดร. คุณหญิง กษมา วรวรรณ ณ อยุธยา    เป็นข้อเสนอแนะ ๒ ข้อ คือ

๑. ใช้งบประมาณส่วนที่เป็นงบพัฒนาครู ในการสนับสนุนกิจการนี้    เพราะที่เราได้ฟังคือกิจกรรม HRD (Human Resource Development) ของครู   ที่ได้ผลดี   ดีกว่าวิธีจัดหลักสูตรอบรมครูอย่างเทียบกันไม่ติด   ผมเสนอให้เปลี่ยนวิธีพัฒนาครูจาก training mode ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน   มาเป็น learning mode ที่เรียนรู้แนบแน่นกับการทำงานประจำนั่นเอง    ผมเสนอให้ใช้งบพัฒนาครูร้อยละ ๘๐ สนับสนุนโครงการแบบนี้   ที่เหลืออีกร้อยละ ๒๐ ใช้อบรมครู    โดยที่อบรมตามความต้องการของครู    โดยที่ครูที่ผ่าน learning mode จะบอกได้ว่าตนต้องการให้จัดหลักสูตร training เรื่องอะไร

๒. เปลี่ยนผลงานเพื่อประเมินเข้าสู่ตำแหน่ง คศ. จากวิธีทำผลงานในกระดาษ (ซึ่งบางกรณีมีการจ้างทำ) มาเป็นการนำผลงานแบบที่นำเสนอในเช้าวันนี้มาเป็นผลงานเพื่อเข้าสู่ตำแหน่ง คศ.   การให้คุณแก่ครูก็จะเชื่อมโยงกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ของศิษย์

ผมเสนอให้เปลี่ยนการบริหารการศึกษาของประเทศจากแนวทางรวมศูนย์ ไปเป็นแนวทางกระจายอำนาจให้แก่พื้นที่   เน้นการวัดผลของการพัฒนาการศึกษาที่ผลสัมฤทธิ์ของเด็ก    เน้นการวัดโดยคนนอก  

และได้แนะนำวิธีการเปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้ของนักเรียนแบบ กลับทางห้องเรียน ซึ่งผมได้บันทึกไว้ ที่นี่

กิจกรรมของโครงการนี้ ส่วนใหญ่เกิดผลเป็นการฝึกทักษะชีวิต ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑

ท่านที่สนใจค้นคลังความรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง  และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงโดยสถานศึกษา อ่านได้ที่นี่

วิจารณ์ พานิช

๑ ก.ย. ๕๕

หมายเลขบันทึก: 500920เขียนเมื่อ 2 กันยายน 2012 05:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กันยายน 2012 07:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

คุณครูกำลัง สนใจเรื่อง ปศพพ. เป็นพิเศษครับ เพราะว่าเขตพื้นที่ก็ให้ความสนใจ มีการกำหนดในแผนการดำเนินงานว่า ต้องพัฒนาเป็นโรงเรียนต้นแบบ และโรงเรียนศูนย์ให้ได้กี่โรงเรียน ในปีกันเลยทีเดียวครับ

รวมถึงการที่โรงเรียน และเด็กนักเรียนได้เข้าร่วมโครงการ ต่างๆ แล้วมีรางวัล มีผลงานที่ได้ส่งเด็กเข้าร่วมกิจกรรม ก็ได้รับความสนใจจากครู เพราะการขอเลื่อนวิทยาฐานะ ต้องมีส่วนนี้ประกอบเพื่อพิจารณาในการเลื่อนวิทยฐานะ ครับ มาจากคำบอกเล่าจากครูผู้น้อย ครับ

เพื่อให้การพัฒนาครูมีประสิทธิภาพสูง ควรจะมีการพิจารณาแนวทางการเลื่อนวิทยฐานะของครูควบคู่ไปกับวิธีการตามที่อาจารย์วิจารณ์กล่าวไว้ในเบื้อต้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท