DBA : Motivation ใครมีแรงจูงใจ คนนั้นใกล้ประสบความสำเร็จ


แรงจูงใจ

       แรงจูงใจ  ( Motivation ) ความจริงแล้วคำนี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจมากเพราะว่าในการทำสิ่งใดๆก็ตามหากจะให้ประสบความสำเร็จสำคัญเป็นอย่างยิ่งคือแรงจูงใจ ในสมัยโบราณนักรบที่ต่อสู้กันในสงครามล้วนแล้วแต่มีแรงจูงใจเป็นอย่างมากในการรบ เพื่อว่าการรบนั้นจะนำมาซึ่งความสำเร็จ มีนักวิชาการหลายท่านทั้งในประเทศและต่างประเทศ ต่างให้ความหมายของคำว่าแรงจูงใจไว้อย่างมากมาย เช่น

โลเวลล์( Lovell, 1980, p. 109 ) ให้ความหมายของแรงจูงใจว่า เป็นกระบวนการที่ชักนำโน้มน้าวให้บุคคลเกิดความมานะ พยายามเพื่อที่จะสนองตอบความต้องการบางประการให้บรรลุผลสำเร็จ

ไมเคิล คอมแจน ( Domjan, 1996 , P 199 )  อธิบายว่า  การจูงใจเป็นภาวะในการเพิ่มพฤติกรรมการกระทำกิจกรรมของบุคคลจงใจกระทำพฤติกรรมนั้นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ

Walters (1978) กล่าวว่า แรงจูงใจ หมายถึง  บางสิ่งบางอย่างที่อยู่ภายในตัวของบุคคลที่มีผลทำให้บุคคลต้องกระทำ หรือเคลื่อนไหว หรือมี พฤติกรรม ในลักษณะที่มีเป้าหมาย

 อารี พันธ์มณี ( 2546 หน้า 269 ) กล่าวว่า แรงจูงใจ หมายถึง การนำปัจจัยต่างๆ ที่เป็นแรงจูงใจมาผลักดันให้บุคคลแสดงพฤติกรรมอย่างมีทิศทางเพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายหรือเงื่อนไขที่ต้องการ ปัจจัยต่างๆที่นำมาอาจจะเป็นเครื่องล่อรางวัล การลงโทษ การทำให้เกิดการตื่นตัว รวมทั้งทำให้เกิดความคาดหวังเป็นต้น

เสนาะ ติเยาว์ ( 2543 หน้า 208 ) ให้ความหมายของแรงจูงใจว่า แรงจูงใจในความหมายหนึ่งคือ การจูงใจเป็นพลังที่กระตุ้นพฤติกรรม กำหนดทิศทางของพฤติกรรมและมีลักษณะเป็นความมุ่งมั่นอย่างไม่ลดละไปยังเป้าหมายหรือสิ่งจูงใจนั้น ดังนั้นการจูงใจประกอบด้วยความต้องการ ( needs ) พลัง ( Force) ความพยายาม ( effort ) และเป้าหมาย ( goal)

จากนักวิชาการทั้งในประเทศและต่างให้ความหมายของคำว่า แรงจูงใจ ( Motivation) ดังนั้นผู้เขียนเห็นว่า แรงจูงใจ  หมายถึง  เป็นบางสิ่งบางอย่างที่อยู่ตัวคน อาจเป็นพฤติกรรม การแสดงออก ที่เป็นตัวขับเคลื่อนไปยังเป้าหมายที่กำหนดไว้ ดังนั้นการจูงใจจึงประกอบด้วย ความต้องการจะบรรลุเป้าหมาย พลัง ความพยายามไม่ยอมแพ้ เป็นต้น

       ทฤษฏีเกี่ยวกับแรงจูงใจ ( Motivation ) มีมากมายแต่ครั้งนี้ผู้เขียนขอนำเสนอทฤษฏีแรงจูงใจของ McClelland ได้แบ่งแรงจูงใจตามความต้องการขั้นพื้นฐาน ของบุคคลเป็น 3 แบบดังนี้

       1.ความต้องการอำนาจ ( The need  of  power)  บุคคลมีความต้องการอำนาจมากอาศัยการใช้อำนาจสร้างอิทธิพลและควบคุมการทำงาน เพื่อแสวงหาความเป็นผู้นำ และมีพลังที่เข้มแข็ง

       2. ความต้องการผูกพัน ( The need of  affiliation ) บุคคลต้องการมีความผูกพันเป็นอย่างมาก ปกติความผูกพันเกิดจากความรักทำให้บุคคลมีความสุขและความตั้งใจหลีกเลี่ยงการไม่ยอมรับของกลุ่มสังคมที่ทำให้เกิดความเจ็บปวด แต่ละบุคคลชอบ รักษาสัมพันธภาพที่ดีทางสังคม เพื่อทำให้เกิดความรู้สึกยินดี มีความคุ้นเคยกันเข้าใจกัน

       3. ความต้องการความสำเร็จ ( the need for achievement ) บุคคลต้องการมีความสำเร็จมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะได้รับความสำเร็จ มีความหวาดกลัวอย่างรุนแรงต่อการประสบความล้มเหลวต้องการท้าทายในการทำงาน ใช้แนวทางการทำงานที่เคยใช้ได้ผลสำเร็จมาแล้ว ทฤษฏีของ McClelland มีความสอดคล้องกับความพึงพอใจเพราะความต้องการที่เกิดขึ้นมาจากแรงจูงใจเกิดจากสิ่งเร้าทั้งภายนและภายนอกตัวบุคคล เช่น สถานีโทรทัศน์ ช่องต่างๆ ต้องการนำเสนอข่าวการเมืองที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ข้อมูลข่าวสารที่นำเสนออาจจะไม่ใช่ข้อเท็จจริงแต่อาจจะเป็นข่าวสารขายได้เท่านั้นเป็นต้น

จากทฤษฏีแรงจูงใจของ  McClelland  ทำให้เราทราบว่าแรงจูงใจขั้นพื้นฐานนั้นของมนุษย์นั้นสามารถแบ่งออกเป็น 3 ขั้น คือ ความต้องการอำนาจ  ความต้องการความผูกพัน ความต้องการความสำเร็จ แต่หากเราวิเคราะห์แล้วผู้เขียนเห็นว่า แรงจูงใจนั้นน่าจะประกอบดังนี้คือ

 

1. ความต้องการความผูกพันมนุษย์เราต้องการความผูกพันจากผู้บังคับบัญชา หรือแม้นกระทั่งจากเพื่อนร่วมงาน ดังนั้นหากมนุษย์ได้รับความผูกพันจากเพื่อนร่วมงาน ก็เป็นแรงจูงใจอย่างหนึ่งที่จะทำให้เขาประสบความสำเร็จ

2. ความต้องการความมั่นคงในอาชีพการงานและครอบครัว มนุษย์มีความต้องการด้านความมั่นคงในอาชีพการงานและความั่นคงในด้านครอบ ดังนั้นมนุษย์มีความมุ่งมั่นและสร้างแรงจูงใจในการทำงานเพื่อความมั่นคงในอาชีพและครอบครัวของเขา

3. ความต้องการการได้รับการยอมรับในสังคม มนุษย์เราต้องการได้รับการยอมรับนับถือจากผู้บังคับบัญชา หรือแม้กระทั่งการได้รับการยอมรับจากเพื่อนร่วมงาน และบุคคลรอบข้าง ดังนั้นหากเขาเหล่านั้นได้รับการยอมรับ นับถือก็จะทำให้เขาเหล่านั้นมีแรงจูงใจการทำงานให้ประสบความสำเร็จได้

4.ความต้องการความสำเร็จ  ความสำเร็จถือว่าเป็นประเด็นสำคัญของมนุษย์ กล่าวคือ มนุษย์ต้องการความประสบความสำเร็จในการทำกิจกรรมใดๆ ก็ตาม เช่น ความสำเร็จในการทำงาน เมื่อเราได้รับมอบหมายงานใดก็ตามเราก็คาดหวังจะทำงานนั้นให้ประสบความสำเร็จแต่จะไม่สามารถประสบความสำเร็จได้เลยหากขาดแรงจูงใจในสิ่งนั้น  ความก้าวหน้า มนุษย์เราทุกคนต้องการความก้าวหน้าในชีวิต หากดังนั้นเขาจะทำงานเพื่อความก้าวหน้าของชีวิต

             จากที่กล่าวมาแล้วผู้เขียนมองว่า การสร้างแรงจูงใจที่ดีนั้นสำคัญเป็นอย่างยิ่งคือการกำหนดเป้าหมาย เมื่อเรากำหนดเป้าหมายแล้วหลังจากนั้นเราก็ต้องวาดฝันไปยังเป้าหมายของเราว่าหากประสบความสำเร็จแล้วเราจะได้อะไร หากมองในลักษณะของพุทธศาสนานั้นเหมือนการกำหนดจิตของเราเอาไปไว้ที่เป้าหมาย เมื่อจิตของเราอยู่เป้าหมายแล้วก็จะเกิดสิ่งที่ตามมานั้น ลักษณะเช่นนี้เราเรียกว่า แรงจูงใจ ในการที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จ เมื่อจิตใจของเรามุ่งตรงไปยังเป้าหมายก็จะสามารถทำงานให้ประสบความสำเร็จได้ ดังนั้นผู้เขียนมองว่า การกำหนดจิตของเราไปไว้ยังเป้าหมายทำให้เราสามารถทำงานได้ประสบความสำเร็จ มีลักษณะคล้ายกับแรงจูงใจในการทำงาน เมื่อใจเราไปยังเป้าหมายแล้วเราก็จะสามารถทำงานให้ประสบความสำเร็จได้

 

กรณีศึกษา แรงจูงใจในการประสบควาสำเร็จ

 

       ผู้เขียนขอยกตัวอย่างอาจารย์ท่านหนึ่งที่เป็นเพื่อนสนิทกับผู้เขียนเอง ผู้เขียนมองว่าเขามีแรงจูงใจในการประสบความสำเร็จของชีวิต ผู้เขียนเลยนำตัวอย่างของเขามาเล่าเพื่อเป็นการสนับสนุนทฤษฏีเรื่องแรงจูงใจ ความจริงผมกับอาจารย์ท่านนี้ก็รู้จักกันมาพอสมควรแต่หลังจากที่ได้พูดคุยและรับรู้ถึงแรงจูงใจในการประสบความสำเร็จของเขาเป็นอย่างดี เขาเล่าให้ฟังว่า ตัวเขาเองเป็นคนที่เกิดในชนบทมีฐานะค่อนข้างยากจน คือไม่สามารถที่จะเรียนหนังสือได้เนื่องจากเขาไม่มีเงินมากพอ ทางบ้านต้องการให้เขาทำงานโดยไม่ให้เรียนหนังสือ แลต่เขาต้องการเรียนหนังสือ เขามีแรงจูงใจว่าวันหนึ่งเขาต้องเรียนให้ดีที่สุด และจบการศึกษาในระดับสูงอันนี้เป็นความคิดตอนเด็กๆ ต่อมาเขาทำงานรับจ้างก่อสร้างเพื่อเรียนหนังสือจวบจนจบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษา และเข้าศึกษาต่อปริญญาตรีและไม่มีทุนการศึกษาอีก  เขาแสวงทุนจนได้รับทุนการศึกษาจนสามารถเรียนจบปริญญาตรี หลังจากนั้นด้วยความสามารถอันโดดเด่นทำให้เขาได้รับทุนการศึกษาในระดับปริญญาโทและระดับปริญญาเอก ทางด้านการผลิตอาหารสัตว์  จนจบการศึกษาในระดับปริญญาเอก หลังจากจบการศึกษามาเขามีเป้าหมายของชีวิตใหม่กล่าวคือเขาต้องการนำความรู้ที่เรียนมา ช่วยเหลือชุมชนหรือชาวบ้านที่ยังไม่มีความรู้พอ เขาตั้งใจทำวิจัย โดยโจทย์วิจัยที่คิดล้วนแล้วแต่นำมาซึ่งประโยชน์ของชุมชนทั้งสิ้น ยกตัวอย่าง เช่น  ในยามที่ทุเรียนออกมากพ่อค้าแม่ค้าต่างนำทุเรียนมาขายกันในตลาดจนทำให้เปลือกทุเรียนมีปริมาณมากในตลาด อาจารย์ท่านนี้เลยคิดแก้ไขปัญหาในการนำเปลือกทุเรียนไปผลิตเป็นอาหารสัตว์จนสามารถทำแล้วเกิดประสบความสำเร็จ และสามารถใช้ในการลดขยะของจังหวัดได้ นอกจากนั้นยังสามารถเป็นอาหารสัตว์พวกโคนมของจัหวัดได้ ทำให้เกษตรกรระแวกนั้น มีผลผลิตที่สูงและยังสามารถลดค่าใช้จ่ายในส่วนของอาหารสัตว์ได้  จากกรณีศึกษานี้ทำให้ผู้เขียนเห็นว่า อาจารย์ท่านนี้มีแรงจูงใจอย่างแรงกล้าในการที่จะประสบความสำเร็จ ในการศึกษาและแรงจูงใจในการนำความรู้ที่ได้เรียนมา มาช่วยเหลือชุมชน เป็นต้น

หมายเลขบันทึก: 500897เขียนเมื่อ 1 กันยายน 2012 22:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 กันยายน 2012 22:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท