คุณค่าของการจัดการศึกษาเพื่อกลุ่มเด็กเสี่ยงและเด็กด้อยโอกาส


 

 

          บ่ายวันที่ ๓ ก.ค. ๕๕ ผมไปร่วมประชุมเสวนาวิชาการ “เวทีปฏิรูปการเรียนรู้สู่การศึกษาเพื่อคนทั้งมวล” ครั้งที่ ๖ ที่จัดโดย สสค. โรงแรมมิราเคิล  เรื่อง “การจัดการศึกษาเพื่อกลุ่มเด็กเสี่ยงและเด็กด้อยโอกาส”  ที่เชิญ ผอ. สว่าง มโนใจ  โรงเรียนบ้านแม่จัน  อ. แม่จัน  จ. เชียงราย เสนอเรื่องโฮงเฮียนจาวบ้าน   และ ครูวราภรณ์ หงษ์ดิลกกุล แห่งโรงเรียนรัตนโกสินทร์สมโภชบางขุนเทียน  กรุงเทพฯ ครูในโครงการแก้ปัญหาเด็ก drop-out ให้เหลือศูนย์   มาเล่าเรื่องความสำเร็จที่เกิดขึ้นในโรงเรียนทั้งสอง 

 

          ฟังแล้ว ศ. นพ. ประเวศ วะสี บอกว่า การดำเนินการทั้งสองเรื่อง ตอบสนองธรรมชาติด้านดีของมนุษย์   คือธรรมชาติด้านการทำเพื่อผู้อื่น (altruism)    และธรรมชาติด้านเห็นอกเห็นใจผู้ยากลำบาก (empathy)  

 

          ที่จริงเรื่องราวของโรงเรียนทั้งสองบอกเราว่ากิจกรรมดีๆ ด้านการศึกษาหรือการเรียนรู้ดีๆ มีอยู่   และครู/ผู้บริหารสถานศึกษาดีๆ มีอยู่   แม้ระบบจะไม่ค่อยเอื้อ   และมีอยู่กระจัดกระจาย   ขยายผลไม่ค่อยออก   เราจึงคุยกันเรื่องการขยายผล และความต่อเนื่องยั่งยืน  

 

          อ. หมอประเวศ โยนลูกมาให้ผมให้ความเห็น  ผมจึงเสนอว่า ส่วนหนึ่งของเด็กกลุ่มนี้เรียนไม่สนุก   การจัดการเรียนรู้ในโรงเรียนไม่น่าสนใจ   เพราะเน้นสอนวิชา   น่าจะได้ทดลองจัดการเรียนรู้ตามแนว 21st Century Learning    โดยให้เรียนแบบลงมือทำ   ทำกิจกรรมหรือโครงงานที่เชื่อมโยงกับชีวิตจริง    และทำงานวิจัยวิธีการจัดการศึกษาแก่เด็กกลุ่มนี้ ตามแนวทางดังกล่าว

 

          กรณีการช่วยเหลือเด็กกลุ่มเสี่ยง ของ รร. รัตนโกสินทร์สมโภช ทำให้ผมนึกถึงครู LauAnne Johnson ที่เล่าเรื่องประสบการณ์จัดการสอนในชั้น remedial class แก่เด็กที่เรียนตามเพื่อนไม่ทัน ดัง บันทึกชุดนี้    ผมมีความเห็นว่าน่าจะยกระดับความรู้ หรือทักษะชุดนี้เป็นวิชาการ  สำหรับใช้ในทุกโรงเรียน   เพราะทุกโรงเรียนต้องเอาใจใส่เด็กกลุ่มเสี่ยง   ซึ่งจะช่วยให้ยกระดับคุณภาพการศึกษาของทั้งประเทศ   ตามแนวทางของฟินแลนด์ ที่ถือหลักเอาใจใส่เด็กเรียนอ่อนเปนพิเศษ ดังใน บันทึกนี้  

 

          ผมตั้งใจจะเสนอต่อที่ประชุม ให้คิดถึงการใช้เด็กกลุ่มปกติเป็น “ผู้ช่วยครู” เพื่อช่วยเพื่อน แต่ไม่ได้เสนอ เพราะความจำกัดของเวลา    จึวขอเสนอไว้ ณ ที่นี้   ว่าน่าจะได้พิจารณาใช้นักเรียนกลุ่มปกติ จากการรับสมัครคัดเลือก และฝึกอบรม มาเป็น อาสาสมัครเพื่อนช่วยเพื่อน   เพื่อให้เด็กกลุ่มปกตินี้เรียนรู้ลึกซึ้งขึ้น เชื่อมโยงขึ้น แตกฉานขึ้น   ทำให้ได้ผลสองต่อ   คือมีกำลังงานช่วยนักเรียนกลุ่มเสี่ยงหรือกลุ่มออกกลางคัน   ให้ช่วยเหลือได้ดีขึ้น   และได้ผลการเรียนรู้ของนักเรียนอาสาสมัคร เรียนรู้ได้ลึกซึ้งขึ้น เชื่อมโยงขึ้น   ตามหลักการการเรียนรู้ใน Learning Pyramid

 

          กลับมาที่ คุณค่าของการจัดการศึกษาเพื่อกลุ่มเด็กเสี่ยงและเด็กด้อยโอกาส   ผมมีความเชื่อว่า   การพุ่งเป้าเอาใจใส่เรื่องนี้จะมีคุณค่าต่อบ้านเมืองเป็นอย่างยิ่ง   จะมีผลต่อคุณภาพของพลเมืองไทย   เพราะปัจจัยที่มีความสำคัญต่ออนาคตของบ้านเมือง ไม่มีอะไรสำคัญกว่าคุณภาพของพลเมือง   และเด็กทุกคนมีศักยภาพสูงมาก ต่อการพัฒนาไปเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพในอนาคต   เด็กที่หลุดเข้าไปในเส้นทางหลงผิด นอกจากทำลายอนาคตของตนเองแล้ว ยังก่อปัญหาต่อสังคมด้วย  

 

          ผมเชื่อว่า เด็กกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มด้อยโอกาสจำนวนหนึ่งเป็นเด็กที่มีสติปัญญาสูง    เป็นหน่ออ่อนที่มีศักยภาพสูงต่อการพัฒนาไปเป็นคนที่มีคุณค่าต่อสังคม   การช่วยให้เด็กเปลี่ยนแปลงตนเองจากพลังลบเป็นพลังบวก   คือคุณค่าของการศึกษาที่เรียกว่า Transformative Learning

 

 

วิจารณ์ พานิช

๔ ก.ค. ๕๕

 

หมายเลขบันทึก: 500527เขียนเมื่อ 29 สิงหาคม 2012 09:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 สิงหาคม 2012 09:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท