ภาษาอาเซียน : รู้อดีต


อตีต      สันสกฤต, บาลี, ชวาโบราณ (atīta)

อติต       อินโดนีเซีย (atita)

อดีต       ไทย, ลาว

อตีตกาล  เขมร (ออกเสียง อะ-เดต-กาล)

อติต        พม่า (အတိတ်), มอญ (ออกเสียง อะติ๊ด หรือ อะเติ้ด)

(ถ้าไม่เห็นเป็นตัวอักษร ก็แสดงว่าเครื่องของท่านไม่รับฟอนต์นี้)

 

อดีตเป็นคำภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต (มีใช้ในทั้งสองภาษา เหมือนกัน)

บรรพบุรุษชาวไทยเราไม่มีคำไทยสำหรับเรียก อดีต หรืออย่างไร ไม่ทราบเหมือนกัน เพราะคำนี้ใช้กันมาช้านานเต็มที อาจจะใช้คำว่า “แต่ก่อน” “แต่กี้แต่ก่อน” “วันหลัง” “แต่หนหลัง” แทนคำว่า อดีต ก็เป็นได้

คำนี้มีปรากฏในภาษาเพื่อนบ้านของเราด้วย คำว่า อดีต ในภาษาไทย จะรับมาจากภาษาเขมรก่อนหรือเปล่าก็ไม่ทราบ แต่ทั้งไทยและลาวออกเสียง อะดีด ส่วนเขมร ออกเสียงต่างไปนิดตามหลักการสะกด ว่า อะเดต (หรือ อะเดตกาล์) พม่าออกเสียงอย่างไรไม่ทราบ รอผู้สันทัดภาษาพม่าอยู่ แต่ดูรูปอักษร(อักษรเดียวกับมอญ) ถอดได้ว่า “อ-ตี-ต์” (มีเครื่องหมายการันต์บนตัว ต ที่สุดคำ) ส่วนภาษามอญเขียนเหมือนกัน แต่คงออกเสียงต่างจากภาษาพม่า

ในภาษาชวาโบราณใช้ว่า อะตีตะ อย่างภาษาบาลีและสันสกฤต ส่วนภาษาอินโดนีเซียใช้ว่า อะติตะ แต่ไม่เขียนเครื่องหมายกำกับสระสั้นยาว (ทั้งสองคำนี้ได้มาจากหนังสือ Sanskrit Words in Southeast Asian Languages) แต่เมื่อค้นจากเว็บไซต์ พจนานุกรมภาษาอินโดนีเซีย และสุ่มจากหนังสือพิมพ์ภาษาอินโดนีเซียแล้ว ไม่พบคำนี้เลย เข้าใจว่าคงจะเป็นคำเก่า หรือเกิดความผิดพลาดอะไรสักอย่าง...

 

รากศัพท์ของ อดีต

               อดีต มาจากคำว่า "อตีตะ"  แปลว่า พ้นแล้ว ล่วงไปแล้ว แยกธาตุได้อย่างนี้...

               อติ + {อิ} + ต = อตีต (ati + {i} + ta = atiita)

 

อติ เป็นอุปสรรค หรือคำเติมข้างหน้า เพื่อเน้นความหมายว่ามากกว่าปกติ พ้น, เลยไป)

---> อิ เป็นธาตุ หรือเป็นรากศัพท์กริยา แปลว่าไป

เป็นปัจจัย คือคำเติมข้างหลัง เพื่อบอกว่ากริยาเสร็จสิ้นแล้ว หรือถูกทำแล้ว

 

อิ กับ อิ สนธิกันเป็น อี ดังนั้น อติ+อิ+ต = อตีต แปลว่า สิ่ง,เหตุการณ์,การกระทำ ที่ถูกทำผ่านไปแล้ว...

ง่ายจัง....

 

ในรูปแบบ อุปสรรค + ธาตุ + ปัจจัย นี้เราสามารถแทนค่าตัวไหนก็ได้ตามสูตร ในที่นี้ลองแทนค่าเฉพาะ อุปสรรค หรือ ปัจจัย ก็จะได้คำที่มีความอื่นๆ ดังนี้

  • อนุ(ตาม) + อิ +ต = อนฺวิต แปลว่า (ผู้/สิ่งที่)ไปแล้วด้วยกัน
  • อุป(ใกล้) + อิ + ต = อุเปต แปลว่า (ผู้/สิ่งที่)มาถึงแล้ว
  • อป(ออก, ห่าง) + อิ + หิ = อเปหิ แปลว่า ออกไป(ซะ)
  • ปร(อื่น) + อิ + ต = เปรต แปลว่า (ผู้/สิ่งที่)ไปที่อื่นแล้ว (ตายซะแล้ว...)
  • อว(ผ่าน, ลง) + อิ + ต =  อเวต (ผู้/สิ่งที่)ผ่านไปแล้ว

 

สรุปว่า อดีต ในภาษาไทย มาจากคำว่า อตีต แปลว่า สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว, ผ่านพ้นไปแล้ว มาจากรากกริยา อิ ที่แปลว่าไป. ในภาษาเพื่อนบ้านเราล้วนใช้รูปนี้ แต่ออกเสียงต่างกันไปตามหลักการสะกด เข้าใจว่ามาจากภาษาในวรรณกรรมทางศาสนาเป็นหลัก.

 

อ้างอิง

  • Satya Vrat Shastri (Ed.). Sanskrit Words in Southeast Asian Languages. Mumbai : Somaiya Publications Pvt., Ltd., 2005. (ศัพท์ภาษาอินโดนีเซีย และชวาโบราณ)
  • http://www.myordbok.com (ศัพท์พม่า)
  • ขอขอบคุณ คุณ Rock Mon และ คุณ Nui Theekayu ที่กรุณาบอกศัพท์ภาษามอญ

 

 

หมายเลขบันทึก: 500456เขียนเมื่อ 28 สิงหาคม 2012 20:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 สิงหาคม 2012 19:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ขอบคุณคะอาจารย์ ภาษาเหนือ เรียก "ตะวา" :)

ผ่านไปนาทีเดียวก็เป็นอดีตแล้ว "วานซึน" ก็แปลว่าอดีตได้เหมือนกันใช่ไหมคะ ฮิฮิฮิ

สวัสดีครับ คุณ Blank ป.

ขอบคุณครับ

ภาษาใต้ (ชุมพร) มี "แต่วา" หมายถึง เมื่อวาน ครับ

จะเก่ากว่านั้นได้หรือเปล่าต้องถามผู้เฒ่าผู้แก่อีกที

ภาษาถิ่นนับวันจะหาย เพราะใช้น้อยลงทุกทีครับ

สวัสดีครับ พี่Blank ดาวลูกไก่ ชื่นชมยินดี

เป็นอย่างนั้นจริงๆ ครับ

ผ่านไปแป๊บก็อดีตแล้ว

สันสกฤตเขามี "อดีตที่ไม่ใช่วันนี้" ด้วยครับ ;)

I have a question, if you please

Why do Thais swap ด and ต (or ท) [and บ and พ] in Pali and Sanskrit words?

Imagine the confusion in a conversation among international monks.

สวัสดีครับ คุณBlank sr

ด้วยความยินดีครับ

คำถามนี้ตอบยากครับและชวนให้สับสนด้วย เช่น อักษร ต เราเปลี่ยนมาเป็น ด (ออกเสียง ดอ) บ้าง เป็น ต (ออกเสียงคล้ายเดิม) ส่วนอักษร ท (ออกเสียง ดอ) เราเปลี่ยนมาออกเสียง ทอ ... แค่นี้ก็ปวดหัวพอสมควรแล้วครับ ;)

 

ก่อนอื่น ขอเสนอแนวคิดเรื่องการรับเอาภาษาบาลี-สันสกฤตมาใช้ ว่าน่าจะมีภูมิหลังอย่างนี้

1. การรับภาษาบาลีสันสกฤตมาใช้ในภูมิภาคแถบนี้ ว่าน่าจะรับมาหลายระลอก คำบาลีสันสกฤตที่เรามีใ้ช้ร่วมกันกับภาษาอื่นๆ ในอาเซียนน่าจะเป็นศัพท์รุ่นแรกๆ ที่รับเข้ามา คำเหล่านี้มีโอกาสเปลี่ยนแปลงสูง เพราะน่าจะรับเอามาเฉพาะเสียงจริงๆ เรื่องเสียงนั้นเปลี่ยนง่ายกว่าตัวอักษร

2. การเขียนบันทึกกับการออกเสียงนั้นเหมือนงูกินหาง เช่น เราพูดอย่างหนึ่ง แล้วเขียนเป็นอีกแบบหนึ่งไม่สู้ตรงกับการออกเสียงนัก แต่ต่อมา เราพยายามออกเสียงให้ตรงกับตัวเขียน ซึ่งแตกต่างไปจากการออกเสียงในตอนแรก. การเขียนอักษรไทยจริงๆ ก็คงจะเริ่มในราวสมัยพ่อขุนรามคำแหง หรือก่อนนั้นก็คงไม่มาก ทั้งๆ ที่เรารับภาษาบาลีและสันสกฤตมานานกว่านั้นหลายร้อยปี หรือถึงพันปี. แต่ก็ไม่ใช่การเขียนของบุคคลทั่วไป การเขียนอย่างมีแบบแผนจริงๆ น่าจะเริ่มในราวรัชกาลที่ 6 ขึ้นมา.

3. คำภาษาบาลีและสันสกฤตจำนวนหนึ่ง คนไทยรับผ่านภาษาเขมรอีกทีหนึ่ง มีบางคำเท่าที่ผมทราบ เขมรใช้วิธีนี้แหละ (อตีต เป็น อดีต). ไทยอาจรับมาดื้อๆ แบบนั้น. ส่วนที่ว่าทำไมเขมรเปลี่ยน ต เป็น ท ก็ต้องโยนไปให้เขมรอีก ;)... (คำพวกนี้มาจากเขมรเยอะจริงๆ นะครับ คงจะต้องรวบรวมสักที)

ผมขอสันนิษฐานว่า

1. คำที่เขียน ต เป็น ด, หรือออกเสียง ท เป็น ทอ (ทั้งที่ควรจะเป็นเสียง ดอ ตามภาษาอินเดีย) อาจเป็นคำที่รับมาก่อนการเีขียน. เมื่อเราใช้ตัวหนังสือมาเขียน จึงมีทั้งการเขียนตามเสียงเดิม และการเขียนโดยถ่ายถอด (transliteration) จากอักษรอินเดีย ซึ่งใช้กันลักลั่นเรื่อยมา

2. การตั้งใจดัดแปลงศัพท์ เพื่อใช้ในบทกลอนหรือวรรณคดี เช่น มารดร มารดา บิตุรงค์ บิดุรงค์

3. กรณีที่รับจากเขมร อักษรเขมรบางตัวออกเ้สียงได้สองแบบ (ขึ้นกับสระ) เช่น "เตชะ" อ่านว่า แดเจียะ, "ตมลึง" อ่านว่า ด็อมเลิง, แต่ "ตา" อ่านว่า ตา. จึงอาจมีการเทียบแนวจากเขมรก็ได้ครับ

 

การหาคำตอบอย่างชัดเจนในเรื่องนี้ คงต้องรวบรวมคำที่มีการเปลี่ยนเสียงแบบนี้มาศึกษาวิเคราะห์เพื่อจะได้เห็นทิศทางครับ.

ตอบคำถามเพิ่มเติมครับ...

การสนทนานั้น ไม่สู้จะเป็นปัญหา เพราะเสียงที่เพี้ยนนั้นเพี้ยนเป็นระบบ โดยเฉพาะเมื่อเสียงที่เพี้ยนไม่ไปพ้องกับคำที่มีความหมาย เช่น

  • เทวตา = อินเดียออกเสียง เดวะตา, ไทยออกเสียง เทวะตา (เสียงตรงกับ เถวตา, แต่คำว่า เถวตา ไม่มี)
  • ทีป = อินเดียว่า ดีปะ, ไทยว่า ทีปะ (เสียงพ้องกันคำว่า ถีป, แต่คำว่า ถีป ไม่มี)

เสียง พ ก็แบบเดียวกัน

อ่านแล้วได้ใจมากค่ะ  สำหรับคนรุ่นดิฉัน  อ่านแล้วมีความสุขค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท