หนองบัวในวันที่นีลอาร์มสตรองเยือนดวงจันทร์


                                                                  That's one small step for [a] man,
                                                                  one giant leap for mankind.
 
                                                                  ๑ ก้าวเล็กๆของคนๆเดียว 
                                                                  ที่เป็นก้าวกระโดดครั้งยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งของมนุษยชาติ

ข้างบนนี้ เป็นถ้อยความจารึก เมื่อครั้งที่นีล อาร์มสตรอง มนุษย์คนแรกที่ก้าวออกจากยานอวกาศอพอลโล ๑๑ ลงไปเหยียบดวงจันทร์ ซึ่งบัดนี้ได้ถึงแก่มรณกรรมแล้วด้วยวัย ๘๒ ปีเมื่อ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๕ ที่ผ่านมา ผู้คนทั่วโลกเมื่อนึกถึงเขา ก็จะต้องนึกถึงวาทะที่เสริมสร้างพลังใจแก่ความเป้นมนุษย์ตัวเล็กๆให้เกิดความบันดาลใจจากการได้ร่วมสร้างภารกิจอันยิ่งใหญ่ต่อมวลมนุษยชาตินี้ไปด้วย  

Large_truckwoods

หนองบัวในยุคร่วมสมัยกับการไปเยือนดวงจันทร์ของยานอพอลโลและการก้าวลงเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์ของนีล อาร์มสตรองนั้น ยังมีสภาพเป็นชนบทมาก ถนนที่ทอดผ่านหนองบัวนั้น เป็นถนนที่มาจากเหมืองแร่และปากดงไปยังชุมแสง เป็นเส้นทางสำหรับรถบรรทุกแร่จากเหมืองแร่ และบรรทุกไม้จากป่าหนองบัวไปลงที่ชุมแสงเพื่อล่องซุงไปทางแม่น้ำเจ้าพระยาและขนส่งไปทางรถไฟ

ตลอดสองข้างถนนยังเต็มไปด้วยป่าและธารน้ำธรรมชาติ ในหน้าฝนและหน้าน้ำหลาก ธารน้ำก็จะกลายเป็นคลอง สามารถวิ่งเรือจากหนองบัวไปถึงชุมแสงได้ ท่าเทียบเรือของหนองบัวในยุคนั้นก็จะอยู่ตรงบริเวณริมถนนใกล้ๆกับแหล่งอันเป็นที่ตั้งของธนาคารกสิกรไทยในปัจจุบันนี้นั่นเอง ซึ่งไม่มีเค้าเดิมหลงเหลือให้พอจะคิดไปได้เลยว่าเมื่อไม่กี่สิบปีที่ผ่านมานี้หนองบัวกับชุมแสงและปากน้ำโพนั้น สามารถติดต่อสัญจรถึงกันได้ทางเรือ คนรุ่นหลังได้ฟังแล้วก็คงแทบจะไม่อยากเชื่อ และหากคนร่วมสมัยกับยุคนั้นไม่บันทึกยืนยันไว้ให้ทราบ ก็เกินที่จะจินตนาการถึงได้

แต่ถนนในหน้าฝนและหน้าน้ำหลากนั้น จะกลายเป็นโคลนและเป็นหลุมเป็นบ่อ รถที่จะวิ่งได้ก็มีเพียงรถจีเอ็มซีของทหาร รถบรรทุกแร่ รถบรรทุกไม้ และรถแลนด์โรเวอร์ของราชการที่ติดลวดสลิงยึดกับต้นไม้ดึงรถติดหล่มได้ ห้วงเวลานั้น หนองบัวจึงเป็นเพียงชุมชนเล็กๆที่วางตัวอย่างสงบเงียบอยู่กลางป่าดง 

ในยุคนั้น หนองบัวยังต้องอาศัยการสื่อสารกันผ่านการบอกกล่าวปากต่อปากเป็นหลัก และมีระบบสื่อสารกระจายเสียงอยู่บ้าง ที่พอรำลึกได้ก็คือ 
             ๑) ลำโพงสี่ทิศและหอกระจายข่าว ที่หัวตลาดของหนองบัวในยุคนั้น จะมีหอกระจายเสียง ติดลำโพงแบบปากบาน ๔ ทิศทาง ใช้ประกาศและแจ้งข่าวสารต่างๆ ดำเนินการโดยสำนักงานอำเภอ 
             ๒) กลองเพลและระฆังย่ำค่ำ มีกลองเพลและระฆังย่ำค่ำบอกเวลาเป็นช่วงๆ
             ๓) ยามถีบจักรยาน ในตลาดหนองบัวเมื่อมืดค่ำ จะมียามถีบจักรยาน คอยเฝ้าเวรยามให้กับคนหนองบัวและตีเหล็กบอกเวลาตลอดคืน ชั่วโมงหนึ่งก็จะตีครั้งหนึ่ง
             ๔) พื้นที่พบปะสมาคม เช่น ร้านตัดผม ท่ารถเมล์และนั่งเล่นหมากฮอร์สตามท่ารถและใต้ร่มไม้ในตลาด ตลาดสด เหล่านี้เป็นต้น 
             ๕) ศาลาประชาคมอำเภอ ที่ว่าการอำเภอนั้น จะมีหอประชุมและศาลาอเนกประสงค์ ให้ข้าราชการ พ่อค้า และประชาชน ไปประชุม พบปะกัน และจัดงานต่างๆ ทำให้เป็นพื้นที่การสื่อสารและสร้างปฏิสัมพันธ์เชิงการสื่อสารบอกกล่าวที่สำคัญมากที่สุดอีกแหล่งหนึ่ง เชื่อมโยงหนองบัวกับโลกภายนอก และราชการกับพ่อค้าประชาชน

การสื่อสารและการสร้างปฏิสัมพันธ์กันของคนหนองบัว ที่จะมีการถามไถ่และสื่อสารบอกกล่าวเรื่องราวต่างๆ เกิดขึ้นบนช่องทางการสื่อสารดังที่กล่าวถึงในข้างต้นของคนยุคนั้น มีความพอเพียงไปตามสภาวะแวดล้อมพอสมควร คนในหนองบัวจึงสามารถสร้างความรู้จักกันอย่างทั่วถึง รู้จักกันถึงพ่อแม่ รวมทั้งเพียงได้เห็นเกวียนและวัวควายกันก็แทบจะบอกได้เลยทีเดียวว่าเป็นเกวียนและวัวควายของใคร

ส่วนสื่อมวลชนนั้น ในห้วงเวลานั้น มีเพียงวิทยุทรานส์ซิสเตอร์และโทรทัศน์ขาวดำ ซึ่งก็มีอยู่อย่างนับเจ้าได้ ดังนั้น ข่าวคราวการถ่ายทอดรายการโทรทัศน์และเป็นข่าวยานอพอลโลจะไปลงจอดดวงจันทร์ ที่ปรากฏให้รับรู้ขึ้นในยุคนั้น จึงเป็นความมหัศจรรย์บนความมหัศจรรย์หลายชั้นสำหรับคนหนองบัว 

Large_nongbuamarket

วันที่ยานอพอลโล ๑๑ ประสบความสำเร็จในการลงจอดบนดวงจันทร์นั้น เป็นวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๑๒ คนหนองบัวในรุ่นนั้นเป็นจำนวนไม่น้อยก็ได้รับรู้ข่าวสารครั้งดังกล่าวผ่านการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ ซึ่งทั่วทั้งหนองบัวในยุคนั้นมีเพียงโทรทัศน์ขาวดำอยู่ไม่กี่เครื่อง อีกทั้งไฟฟ้าก็ยังเป็นไฟฟ้าจากเครื่องปั่นไฟซึ่งตั้งอยู่ที่เกาะลอยและจะติดเครื่องจ่ายกระแสไฟให้คนในตลาดใช้เมื่อมืดค่ำหกโมงเย็นถึงประมาณ ๓ ทุ่ม แต่ในวันถ่ายทอดยานอพอลโลลงดวงจันทร์นั้น เครื่องปั่นไฟฟ้าตัดสินใจเดินเครื่องและจ่ายกระแสไฟตอนกลางวัน โรงเรียนงดการเรียนการสอน สำนักงานอำเภอ และหน่วยงานราชการทั้งอำเภอ ปิดทำการไปโดยปริยายชั่วคราว เพราะคนหนองบัวทั้งอำเภอแตกตื่นไปตลาดเพื่อไปดูโทรทัศน์ถ่ายทอดยานอพอลโลลงจอดดวงจันทร์ 

ที่หัวตลาดติดกับกำแพงวัดหนองกลับจะเป็นเหมือนศูนย์กลางของการเดินทางและทำมาค้าขาย ร้านริมสุดของตึกแถวสองชั้นทำด้วยไม้ ซึ่งปัจจุบันเป็นร้านของตากวงและยังพอจะมีเค้าโครงเดิมอยู่บ้างนั้น เป็นร้านขายข้าว ด้านนอกของร้านเป็นท่าจอดรถเมล์และเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ เช่น เป็นลานเล่นกลขายยาและเร่ขายของ

ที่ร้านนี้นั่นเอง เป็นร้านหนึ่งของตลาดหนองบัวที่มีโทรทัศน์ และในวันถ่ายทอดรายการยานอพอลโล ๑๑ นำนีล อาร์มสตรอง และเพื่อนนักบินอวกาศอีก ๒ คน ไปลงดวงจันทร์นั้น ร้านหัวตลาดดังกล่าวนี้ก็กลายเป็นแหล่งถ่ายทอดสื่อสารสาธารณะให้กับคนหนองบัว ซึ่งพากันแตกตื่นและแห่กันไปห้อมล้อมเนืองแน่นจนกลายเป็นเวทีสาธารณะสำหรับนั่งดูโทรทัศน์ด้วยกันของคนหนองบัวอย่างกับดูหนังกลางแปลง

การถ่ายทอดโทรทัศน์ในวันนั้น ไม่เห็นอะไรเลยนอกจากจุดขาวๆจากสัญญาณรบกวนเต็มจอโทรทัศน์ขาวดำ และเสียงบรรยายขาดๆหายๆเหมือนเสียงวิทยุติดต่อกันของตำรวจ ดูไปก็ต้องมีคนอาสาออกไปหมุนเสาโทรทัศน์อยู่เป็นระยะๆ ทำท่าจะเห็นแบบลางๆบ้างในบางช่วง ส่วนใหญ่แล้วก็จะภาพล้มและตามด้วยเสียงฟู่ๆ แต่คนหนองบัวก็นั่งชมกันด้วยใจระทึกทั้ง ๒ อย่าง ทั้งความระทึกใจข่าวคราวการไปลงดวงจันทร์ของยานอพอลโล และความมหัศจรรย์ใจกับการได้เห็นโทรทัศน์ ถึงแม้แทบจะไม่เห็นภาพอะไรกันเลย

หลังจากวันนั้นแล้ว การรับรู้ว่าในหนองบัวมีโทรทัศน์ดูก็เป็นที่รับรู้กว้างขวางขึ้น  และผลสืบเนื่องของการไปลงดวงจันทร์ของยานอพอลโล ๑๑ ก็เกิดกระแสคลั่งไคล้นีลอาร์มสตรองกับยานอพอลโล ๑๑ อย่างเป็นบ้าเป็นหลัง เป็นต้นว่ามีเป้ใส่หนังสือผูกติดหลังแบบนักบินอวกาศเรียกกระเป๋าอพอลโล มีปากกาอพอลโล มีดินสออพอลโล และอีกหลายอย่าง ในยุคนั้นหนองบัวยังไม่มีถุงพลาสติกใส่ของเลย ทุกอย่างจะห่อด้วยใบตองและกระดาษ ผูกด้วยเชือกกล้วย 

แม้นีลอาร์มสตรองจะถึงแก่มรณกรรมแล้ว แต่เขาและเพื่อนนักบินอวกาศ รวมทั้งยานอวกาศอพอลโล ๑๑ นอกจากจะยังอยู่ในความทรงจำของผู้คนทั่วโลกอยู่เสมอแล้ว ก็เป็นความทรงจำร่วมกันอย่างหนึ่งของคนหนองบัวด้วยเช่นกัน จึงขอคารวะและร่วมรำลึกถึงมนุษย์ตัวเล็กๆที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของมนุษยชาติ.

................................................................................................................................................................................

ขอขอบคุณภาพจาก Google และข้อมูลจาก http://en.wikipedia.org/wiki/Neil_Armstrong

หมายเลขบันทึก: 500265เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2012 15:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 23:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (19)

 

  ใช่แล้วค่ะ.... เขาจะยังอยู่ในความทรงจำของผู้คนทั่วโลกอยู่เสมอๆค่ะ


ขอบคุณบทความคุณภาพดีดีที่มีให้นะคะ

สวัสดีครับ ดร.สมศรีครับ
เขาอายุยืนมากเลยนะครับ ตั้ง ๘๒ ปีแน่ะ ภาพก่อนถึงแก่กรรมนั้นก็ดูไม่แก่ตามวัยเลย ดูเป็นผู้สูงวัยที่ดูดี ทะมัดทะแมง และสมาร์ทมากเลย

สวัสดีค่ะท่านอาจารย์วิรัตน์,

อาจารย์ค่ะ ...ยอดเยี่ยมจริงๆค่ะ อาจารย์เชื่อมโยงในมิติของเวลาและสถานที่ โดยมีบุคคลที่มีความดี..ควรค่าแก่การระลึกถึง เชิดชู และคารวะ อย่าง "นีล อาร์มสตรอง"  ต่อการเปลี่ยนแปลงก้าวสำคัญต่อมวลมนุษย์ชาติ..ขอร่วมไว้อาลัยไปพร้อมกับบันทึกนี้ด้วยค่ะ

แทบจะทุกสำนักข่าว กล่าวถึง..นีล.. ผู้จากไปว่ามีนิสัย  "humble"  ถ้าแบบไทยๆก็คงจะ..อ่อนน้อม ถ่อมตน ฟังแล้วน่าชื่นชมยิ่งนัก.. มีข้อความยกย่องที่ ท่านไม่ให้ลายเซ็น ของท่านในอะไรๆอีกต่อไปเลย หลังจากพบว่ามีผู้นำสิ่งของที่ท่านเคยลงลายเซ็นชื่อท่านไว้ ไปประมูลขายใน e-bay.. ยิ่งตอกย้ำ "ความเป็นมนุษย์ตัวเล็กแต่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของมนุษยชาติ" อย่างที่อาจารย์กล่าวไว้ ..

ความชื่นชม ฝากไปถึงอาจารย์ด้วยนะค่ะ...ยอดเยี่ยมจริงๆ สมกับเป็น "นักสื่อ" และอีกหลายๆ "นัก" ในดวงใจ :-)) อาจารย์รักษาโทนของอารมณ์ ของเรื่องราว  ด้วยสี sepia ใช้ภาพวาดลายเส้นแทนภาพถ่าย ภาพเล่าเรื่องได้ด้วย และ ทุกอย่างดูการเชื่อมโยงและล้อกันหมดเลย  ยังกะฉายหนังย้อนยุค ทั้งบนดวงจันทร์และที่หนองบัวในบันทึกนี้..ชอบค่ะ :-)) ...ขอบคุณค่ะ..ที่ได้มีโอกาสเรียนรู้ไปพร้อมๆกัน ...all in one..

อืืมม์...ชีวิตสมัยนั้น ที่หนองบัว ..สงบและเรียบง่ายดีนะค่ะ ขอบคุณที่อาจารย์กรุณาเล่าให้อ่านกัน.. เห็นอาจารย์กล่าวถึง "ศาลาประชาคม"  รู้สึกว่าคิดถึง คำเหล่านี้ เดี่ยวนี้ไม่ีค่อยได้ยินแล้วค่ะ  ที่หนองบัว เรียก สถานีอนามัย ว่า "สุขศาลา" บ้างไหม๊ค่ะ แถวบ้านที่ปักษ์ใต้ เรียกอย่างงั้น  และโตทันได้ยินเค้าเรียกกัน ฟังแล้วชอบมากเลยค่ะ มีความหมายในตัวที่ชัดเจน..คล้ายๆสมัยปราสาทขอม เีรียก อโรคยาศาล?? .. ขอบพระคุณมากค่ะ :-))

 

สวัสดีครับอาจารย์ดร. Kwancha ครับ

ขอบพระคุณครับอาจารย์ ที่หนองบัวในยุคผมนั้นก็เรียกสถานีอนามัยว่า 'สุขศาลา' มาตลอดครับ และเรื่องราวการก่อตั้งสุขศาลา หมอสุขศาลาคนแรก กับพัฒนาการด้านสาธารณสุขของหนองบัวนั้น ก็น่าประทับใจมากครับอาจารย์ หมอสุขศาลาคนแรก กับหมอฝรั่งของโรงพยาบาลแห่งแรกของหนองบัวซึ่งต่อมาได้พัฒนาการเป็นโรงพยาบาลอำเภอ ตอนนี้ก็ยังมีชีวิตอยู่และอายุก็น่าจะกว่า ๙๐ ปีแล้วครับ เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง ก็มีความเชื่อมโยงทั้งในการให้ภาพพัฒนาการของหนองบัว กับภาพพัฒนาการของการสาธารณสุข ทั้งของหนองบัว ภาคกลาง และบางส่วนนั้น ก็ให้ภาพสะท้อนพัฒนาการของงานสุขภาพของประเทศ ที่ค่อยๆกระจายสู่ท้องถิ่นในภูมิภาคในอีกบางมิติด้วยครับ

ภาพของหนองบัวในเหตุการณ์อย่างในบันทึกนี้นี่ หากอาจารย์ได้ร่วมเหตุการณ์ด้วยละก็ หลายเรื่องเมื่อเห็นสภาพหนองบัวในปัจจุบันและได้นึกภาพย้อนกลับไปแล้วละก็ เป็นต้องนึกแปลกใจเลยละครับ

เมื่อก่อนนี้ ครั้งเมื่อนั่งดูโทรทัศน์ถ่ายทอดยานอพอลโลดังในบันทึกนี้น่ะครับ คนหนองบัวที่เคยขึ้นรถและเดินทางไกลออกจากหนองบัว ไม่ต้องไกลมากหรอกครับ เพียงแค่ปากน้ำโพหรือตัวเมืองชุมแสง ซึ่งห่างจากหนองบัวเพียง ๓๐ กิโลเมตรเท่านั้นนี่แทบจะนับคนได้เลยละครับ ในท่ามกลางวิถีชีวิตและสภาพแวดล้อมอย่างนั้น อาจารย์คงพอจะนึกภาพออกนะครับว่า อารมณ์การนั่งดูโทรทัศน์กับรับรู้เรื่องยานอวกาศลงดวงจันทร์ได้นี่ มันช่างเป็นเรื่องสุดจะจินตนาการของชาวบ้านขนาดไหน นึกถึงแล้วก็ขำดีครับอาจารย์ ในโทรทัศน์แทบจะไม่เห็นอะไรเลย ทั้งเนื่องจากระบบการถ่ายทอดสัญญาณยังไม่ดี และยุคนั้นก็เสาอากาศต้องใช้หมุนเอาไปตามยถากรรม และเสียงนั้น ก็ทอดห่างจากการโต้ตอบกันแต่ละครั้งหลายสิบวินาที แต่คนก็นั่งดูกันเต็ม แน่นขนัดทั้งในร้านค้าและแผ่ออกไปกลางถนน วิถีชีวิตในชนบทนี่ก็ให้ความทรงจำที่ได้ความสุขไปอีกแบบหนึ่งนะครับ

ในยุคอพอลโล๑๑นั้น

ชาวบ้านหนองบัวนอกจากจะจำเกวียนวัวควายของกันและกันได้แล้ว
อีกสิ่งหนึ่งก็คือสัญญาณจากเสียงของกะแหล่ง,โปง(กระดึง)
(เครื่องทำเสียงสัญญาณ สำหรับแขวนคอ วัว-ควาย)
เมื่อเพื่อนบ้านนำเกวียนไปนา ไปไร่
ผ่านหน้าบ้าน ในเวลาเช้ามืด กลับบ้านตอนค่ำ
เราก็บอกได้เลยว่าเป็นเสียงกะแหล่งของบ้านใคร

หรือนำวัวควายไปเลี้ยงในป่าเหนือ เขาพระ เขามรกต
พอได้ยินกะแหล่งวัวควายในป่าโดยไม่เห็นตัว
คนเลี้ยงหรือเจ้าของสามารถจำและแยกเสียงนั้นได้

คนที่มีฝีมือดี หรือมีความสามารถทางช่าง
ก็จะทำกะแหล่ง,โปง ได้สวยงามและมีเสียงไพเราะมากด้วย

หรืออีกเสียงหนึ่งคือเสียงไล่ควายคนหนองบัว
ต้องบอกว่าเป็นเสียงที่ล้อเลียนได้ยากมากๆ

ปีพ.ศ.๒๕๑๒ นี่อาตมาน่าจะอยู่ป.๓ นะ
เป็นคนที่อยู่ในยุคนี้ด้วย
ก็พยายามจะนึกถึงเหตุการณ์วันนั้นอยู่
แต่เลือนลางมาก คือนึกไม่ออกเอาเลย
ที่จำได้ก็คือกระแสอพอลโลนี่แหละ

ขอบคุณบันทึกที่มีคุณค่านี้
ที่ทำให้มองเห็นหนองบัว
ซึ่งอยู่อีกซีกโลกหนึ่งของอเมริกา
แต่เหมือนได้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์สำคัญนี้ด้วย


ภาพจากอินเตอร์เน็ทภาพซ้าย เรียกว่าผางลาง ภาพขวาเรียกว่ากะลอหรือกะแหล่ง
ภาพขวาคนหนองบัว เรียกโปง(ทำด้วยไม้)
ส่วนคนบ้านดอนม่วงอ.วังทองเรียกว่ากะล้อ


ภาพนี้ชาวหนองบัวเรียกว่ากะแหล่ง(ทำด้วยเหล็ก สองลูกด้านขวา)

 

ยุคอพอลโล ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๑๒)
ที่บ้านนอก อำเภอหนองบัวนั้น
จะคึกคักด้วยบรรยากาศ คาราวานเกวียน
อย่างในภาพนี้เลย
                   
                    อธิบายภาพ : ชาวบ้านอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ เข้าป่าหาไม้และอาหารจากป่า การหาไม้บางครั้งเป็นการระดมพลังชุมชนเพื่อหาไม้สร้างสิ่งสาธารณะของชุมชนและเป็นมรดกสังคมมาจนถึงปัจจุบัน เช่น ศาลาวัดหนองกลับ ซึ่งเป็นศาลาไม้ขนาดใหญ่มีเสามากกว่า ๑๐๐ ต้น วาดภาพ : วิรัตน์ คำศรีจันทร์

อ่านรายละเอียดได้ใน : http://www.gotoknow.org/blogs/posts/361301

กราบนมัสการท่านพระอาจารย์มหาแล อาสโย(ขำสุข)ครับ

ในยุคนั้นนี่ นึกถึงความแตกตื่นของแปลกของคนหนองบัวแล้วก็ขำดีครับ ทุกอย่างที่ดูแปลกที่เข้ามาถึงหนองบัวนี่ ก็จะทำให้เกิดการบอกต่อกันปากต่อปากแตกตื่นเฮโลสารพาไปดูกันอย่างจริงๆจังๆ เป็นต้นว่า มีรถแทรกเตอร์มาขุดดิน ก็แห่กันไปนั่งห้อมล้อมดูได้เป็นวันๆ มีเครื่องบินเฮลิปคอปเตอร์ไปลงหน้าอำเภอละเป็นแล้วใหญ่ ต้องยกโขยงไปดูกันทั้งลูกเล็กเด็กแดง วิ่งกันฝุ่นตลบเลยทีเดียว

ยุคนั้น ในขณะที่อเมริกาส่งยานอวกาศไปลงดวงจันทร์แล้วนั้น คนหนองบัวยังคงนั่งล้อมวิกดูช้างเตะบอล นั่งดูคนเล่นกลขายยาถ่ายพยาธิและขายว่านรางจืดแก้พิษงูและปืนมีดยิงฟันไม่เข้า ก็ข้ามมิติข้ามภพมาเจอกันและร่วมความทรงจำกันได้ในครั้งนี้ครั้งหนึ่งแหละนะครับ

ชอบ บันอืด แบบ นี้ของอ.มากคับ อ.อยู่ช.ม.แล้วหรือคับ ส ก

ตอนนี้อยู่กรุงเทพฯครับ ประเดี๋ยวอีกวันสองวันนี้จะลงมาที่ประจวบฯอีกครับ
ตอนนี้ได้จิบกาแฟของคุณแสงแห่งความดีม่วนไปเลย ขอบคุณมากนะครับ 

คลองเรือ

                        Large_nongbuamarket

เท่าที่จำได้ สมัยเดินทางไปโรงเรียนหนองบัวเทพวิทยาคม(ปัจจุบันอนุบาลหนองบัว)
ถ้าเดินไปโรงเรียนทางเส้นทางบ้านเนินตาโพ ออกไปตาม ซอย(สอก)ทางเกวียน ของหมู่บ้านโคกมะกอก  ต.หนองบัวหมู่ที่ ๗ สอกนี้เชื่อมต่อกับถนนสายหนองบัว-ชุมแสง ตรงบริเวณบ้านครูสุธีร์ นาคสุทธิ์(ทางเข้าบ้านช่างว่อน ขำสุข บ้านเนินตาโพ)

ที่ถนนใหญ่(สายชุมแสง)นี้ ข้างถนนจะมีคลองอยู่ด้วย บริเวณนี้มีสะพานไม้ข้ามคลอง ซึ่งสมัยนั้น สะพานนี้ จะเป็นที่สัญจรของเกวียน รถจักรยาน รถขนข้าว คน วัว ควาย

สะพานอีกสองแห่ง แห่งหนึ่งก็คือบริเวณด้านซ้ายของภาพวาดสี่แยกหอนาฬิกา ตลาดหนองบัว ซึ่งสะพานนี้อยู่ใกล้ ๆ กับโรงพยาบาลคริสเตียน เป็นสะพานที่เชื่อมระหว่างตลาด(ห้องแถว) ฝั่งบ้านหนองกลับ กับฝั่งตลาดบ้านหนองบัว หน้าน้ำ น้ำก็จะไหลแรง

อีกแห่งหนึ่งก็เป็นสะพานข้ามไปหมู่บ้านเนินยายปู(บ้านทายกค้อน พวงจำปา) หมู่บ้านนี้อยู่ตรงข้ามกับตลาดศูนย์ท่ารถหนองบัว(ปัจจุบันหมู่บ้านนี้ เป็นตลาด)

นี่คือภาพในความทรงจำ คือจำได้ว่าคนหนองบัวเคยเรียกคลองข้างถนนสายหนองบัีว-ชุมแสงว่าคลองเรือ ส่วนอาตมานั้นไม่ทันได้เห็นเรือโดยสารหนองบัว-ชุมแสง

อ้อนึกได้ว่ามีสะพานอีกหนึ่งที่คือสะพานข้ามคลองเื่รือ ไปหมู่บ้านบ้านใหญ่ ตรงบริเวณข้างป่าช้าวัดใหญ่(หนองกลับ) เยื้องๆกับโรงเรียนหนองบัวเทพฯ ข้ามสะพานนี้ไปก็จะเป็นโรงสีฮั้งลั้ง

ก่อน ๒๕๐๐ เป็นยุคที่หนองบัวมีเรือโดยสารไปชุมแสง
ยุคหลัง ๒๕๐๐ไม่มีเรือโดยสารแล้ว
เหตุที่หนองบัวเคยมีคลองคู่กับถนนและมีเรือโดยสาร
ต่อมาไม่มีเรือโดยสาร คลองตื้นเขินสภาพคลองหายไป
แต่ก็ยังหลงเหลือชื่อคลองเรืออยู่ต่อมา

จากนั้นจนปัจจุบัน
ไม่หลงเหลือสภาพความเป็นคลองเรืองอีกเลย
และชื่อคลองเรือที่เคยเีรียกขาน
ก็คงเลือนหายไปกับกาลเวลา

ร่อยรอยท่าเรือโดยสารหนองบัว-ชุมแสง

ขออนุญาตนำภาพเก่าและใหม่
มาบอกเล่าเรื่องราวประกอบบทความนี้
เพื่อให้เห็นร่องรอยท่าเรือหนองบัว
ภาพเก่าชุดนี้ ก็น่าจะพอช่วยบอกเล่า
ให้เราได้จินตนาการถึงเรือโดยสาร ท่าเรือในอดีต
ได้บ้างไม่มากก็น้อย
                 Large_dsc00015031245
                 สภาพป่าช้าหน้าวัดหนองกลับ ๒๕๑๖-๒๖๑๘ (หลังยุคอพอลโล ๑๑ ประมาณ ๖-๗ ปี) ภาพนี้มีอายุประมาณ ๓๕-๓๘ ปี

ภาพป่าช้าหน้าวัดในอดีต ปัจจุบันได้กลายเป็นตัวเมืองหนองบัวไปแล้ว
ด้านขวามือผู้อ่าน(ในภาพ) บริเวณนี้ในอดีต จนถึงประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๐
ก็คือท่าเรือโดยสารหนองบัว-ชุมแสง นั่นเอง

ถัดจากยุคอพอลโล ๑๑ มาอีกประมาณ ๔๑ ปี
และถัดจากสภาพป่าช้าในภาพถ่ายข้างบนอีก ประมาณ ๓๕-๓๘ ปี
ก็คือภาพข้างล่างนี้ ภาพใจกลางเมืองหนองบัว

           
            ตัวเมืองหนองบัว(๒๕๕๓ โดยวิรัตน์ คำศรีจันทร)

ตึกและอาคารพาณิชย์ด้านซ้ายมือในอดีตคือป่าช้าและท่าเรือโดยสารหนองบัว-ชุมแสง

 

ท่านพระอาจารย์กุล กุสลจิตฺโต อายุ ๖๐ กว่า
พระวัดหนองกลับ ท่านเล่าให้ฟังเมื่อต้นปี(๒๕๕๕)
ว่าตอนท่านเป็นเด็ก มีเหตุการณ์ที่ท่านจำได้ครั้งหนึ่ง
ท่านให้ข้อมูลว่ามีผู้นำประเทศท่านหนึ่ง
จอมพลอะไรสักท่านหนึ่งนี่แหละ เดินทางมาจากเพชรบูรณ์
จะเข้านครสวรรค์ ได้แวะมาเยี่ยมชาวหนองบัว
และเข้าไปกราบนมัสการหลวงพ่ออ๋อย

ท่านบอกว่าคนไปดูกันทั้งบ้านทั้งเมืองเลย
(ไปดูเครื่องบินและท่านจอมพล ท่านว่างั้น)
โดยเฉพาะคนบ้านห้วยด้วน ตำบลธารทหารนั้น
เดินมากันเยอะมาก นำโดยกำนันผล กำนันคนดังแห่งธารทหาร
ซึ่งบ้านห้วยด้วนนี้ ก็อยู่ห่างจากหนองบัว ถึงกว่า ๗ กิโลเมตร
แต่ชาวบ้าน ก็ยังอุตส่าเดินมากันได้

ท่านเล่าว่าเวลาเดินผ่านบ้านในระหว่างทางไปวัดหนองกลับนั้น
คนเฒ่าคนแก่ ลูกเล็กเด็กแดง จะส่งเสียงเรียกขาน
ร้องเชิญชวนเพื่อนบ้านกันไปด้วย
เสียงดังงระงมเซ็งแซ่ไปหมด ตลอดทาง

ฟังแล้วก็ช่างน่าตื่นเต้นจริงๆ
และก็อดขำตามไปด้วยไม่ได้

 

กราบนมัสการท่านพระอาจารย์มหาแลครับ
รุ่นผมนี่ ผมก็จำไม่ได้และนึกภาพไม่ค่อยออกแล้วครับ ที่พอจำได้และนึกภาพออกก็ไม่แน่ใจว่าจะมีเรือวิ่งอยู่หรือเปล่า แต่คลองกับสองข้างทางของภาพที่มีรถกระบะวิ่งนั้นมีคลองให้ทันได้เห็น แล้วก็มีทุ่งนา คอกวัว กองไฟเผาถ่าน ของชาวบ้าน กระจายกันอยู่ห่างๆ พอจะนึกภาพออกครับ ผมได้เดินผ่านอยู่แถวนั้นเยอะแล้วก็มีบ้านเพื่อนๆอยู่แถวนั้นทั้งสองฟากของบริเวณที่เป็นถนนในปัจจุบัน

ระบบสื่อสารบอกเวลาชาวบ้าน ยังมีอีกหนึ่งอย่างนั่นคือเสียงหวูดจากโรงสี
ตอนเช้าถ้าจำไม่ผิดน่าจะประมาณหกโมงเช้าหรือไงนี่แหละ แต่ถ้าเป็นตอนเที่ยงวันละก็จำได้แม่นยำมาก พอเที่ยงวัน โรงสีจะเปิดหวูดเสียงดัง ต่อเนื่องกันสักระยะ พอให้ได้รู้ว่าขณะนี้เที่ยงวันแล้ว เสียงหวูดนี้ดังไปไกลมาก ไกลหลายกิโลเมตรทีเดียว คิดว่าระยะสักสิบกิโลเมตรนี่ก็สามารถจะได้ยิน

เที่ยงวันนี่ ทำนาเหนื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นหน้าดำนา หรือหน้าเกี่ยวข้าว พอถึงเวลาประมาณนี้นี่ ชักอยากจะหยุดพักกินข้าวเต็มทีแล้ว ประกอบอาการหิวข้าวท้องร้องจ้อกๆ มันชวนให้พักเข้าร่มไม้หรือขึ้นห้างเสียนี่กระไร

ถ้าเหนื่อยมากๆนี่ ใจก็จะนึกว่าเมื่อไหร่พระจะตีกลองเพลเสียที หรือเมื่อไหร่โรงสีจะเปิดหวูดเสียทีหนอ เพราะถ้าได้ยินสัญญาณเสียงดังกล่าว(กลองเพล)หรือเสียงหวูด นั่นหมายถึงใกล้เวลาหยุดพักกินข้าวกลางวันแล้ว

มื้อเที่ยงที่อร่อยๆก็จะต้องมีแกงร้อนๆ ทำงานไปพอได้ยินกลองเพลหรือโรงสีเปิดหวูดนี่แม่ครัวก็เตรียมตัวหยุดพักงานนาไว้ก่อน เพื่อไปเตรียมทำอาหารกลางวัน

วันนี้นั่งคุยเรื่องนี้กับหลวงตาในวัด สอบถามว่าเวลาออกจากบ้านไปทำนาไม่มีนาฬิกา ไม่มีวิทยุไปนาด้วยนี่ ทราบเวลากินข้าวกลางวันได้อย่างไร(ฝนครึ้มๆ) คำตอบเหมือนคิดไว้ในใจเลย คือฟังเสียงกลองเพล ซึ่งอยู่ในนาสามารถได้ยินพระตีกลองเพลพร้อมกันหลายวัด และเสียงหวูดจากโรงสีในตอนเที่ยงวัน แสดงว่าประสบการณ์ตรงจากท้องทุ่ง นี่ไม่ต่างกันเลย

Love this post!

Thank you all

especially Blank วิรัตน์ คำศรีจันทร์ and Blank พระมหาแล อาสโย ขำสุข

I was dreaming of space travelling in 1969. I was gardening (on Earth) in 2009 (and still am). These days I do more 'time travelling' than I had realized. No, not into the future as much as into the past.

;-)

กราบนมัสการท่านพระอาจารย์มหาแลครับ
นึกออกได้ทันทีครับ ใช่เลยนะครับ ยังมีหวูดโรงสีอีกอย่างหนึ่งที่เป็นคอยบอกเวลา นอกนั้นก็ดูเงาตะวัน หรือบางทีก็ฟังเสียงเด็กๆท่องสูตรคูนกับสวดมนต์เตรียมกลับบ้าน ซึ่งก็จะเป็นเวลาออกไปเลี้ยงวัวควายกันพอดี 

สวัสดีครับคุณ sr ครับ ขอบคุณเช่นกันครับ

เวลามีข่าวคราวบุคคลและความเคลื่อนไหวทางสังคมต่างๆ แล้วก็ได้เป็นโอกาสทบทวนชีวิตและใคร่ครวญถึงความเป็นมาเป็นไปของสรรพสิ่งรอบข้างอย่างนี้นี่ก็ดีเหมือนกันนะครับ ยิ่งได้มุมคิด time travelling อย่างที่คุณ sr กล่าวถึง ก็ยิ่งชวนให้ได้มองตัวเองแล้วก็เห็นอย่างที่คุณ sr ว่าเหมือนกันครับ

มองอนาคตย้อนกลับไปในอดีตนี่ ทั้งผมเองและรอบข้าง ก็มาถึง ณ จุดที่น่าจะไกลเกินดวงจันทร์ ดาวอังคาร หรือนอกระบบสุริยะ ที่เมื่อตอนที่ดูเขาถ่ายทอดยานอพอลโลลงไปจอดบนดวงจันทร์เมื่อ ๓๐-๔๐ ปีก่อนโน้น ก็คิดฝันกันไม่ออกกันเลยว่า สิ่งที่ยังได้เห็น ได้เป็น ได้อยู่ ได้สัมผัส และได้ร่วมยุคร่วมสมัยอยู่ด้วยกันในวันนี้จะเป็นอย่างไร เห็นวิธีสร้างอดีตให้กับอนาคตเพื่อได้ท่องไปในห้วงเวลาของชีวิตอย่างมีความสุขเสมอๆเลยนะครับ

เพิ่งทราบที่มา ปากกา ดินสอ อพอลโล ค่ะ :-)

สวัสดีครับอาจารย์หมอสุภาครับ
คุณหมอทันได้ใช้หรือทันได้เห็นด้วยหรือครับ ผมมีรูปสเก๊ตช์มาฝากด้วยครับ

                   Large_apollo_pencil_1

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท