การแนะแนว


 

 

การแนะแนว (Guidance)

ความหมายของการแนะแนว

การแนะแนวเป็นบริการที่จัดขึ้นเพื่อช่วยให้บุคคลสามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้องและเฉลียวฉลาด การแนะแนวถือหลักว่าผู้แนะแนวเพียงแต่แนะแนวทางหรือชี้ช่องทางให้เท่านั้นผู้รับการแนะแนวจะเป็นผู้ตัดสินใจเอง แก้ปัญหาเองตามความสมัครใจ ผู้แนะแนวจะใช้กลวิธีและเครื่องมือต่าง ๆ เข้าช่วย เพื่อให้ผู้รับการแนะแนวเข้าใจตนเองได้อย่างถูกต้อง เข้าใจปัญหาของตนเองมองเห็นลู่ทางแก้ปัญหาและสามารถตัดสินใจได้เอง ผู้แนะแนวจะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงช่วยให้ผู้รับการแนะแนวสามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้องเท่านั้น ส่วนการเลือกวิธีแก้ปัญหาและการตัดสินใจต่าง ๆ เป็นหน้าที่ของผู้รับการแนะแนว  นอกจากจะช่วยเหลือให้คนเราสามารถเลือกและตัดสินใจได้อย่างถูกต้องแล้ว ในกรณีที่ไม่มีโอกาสอะไรได้เลย เราก็อาจจะใช้การแนะแนวให้เกิดประโยชน์ได้เช่นกัน เพราะเป็นการชี้ให้เป็นสถานการณ์ได้อย่างถูกต้องและช่วยให้คนเราสามารถยอมรับข้อเท็จจริง ยอมรับความจริงนั้น ๆ สามารถร่วมมือกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้นการแนะแนวอาจช่วยให้คนเราสามารถมองเห็นลู่ทางต่าง ๆ ที่ตนเองมองข้ามเสียแต่แรกได้อีกด้วย (นิรันดร์ จุลทรัพย์, 2539: 6)

 

ความสำคัญของการแนะแนว

ความสำคัญของการแนะแนวมีหลายประการ (นิรันดร์ จุลทรัพย์, 2539: 7) สรุปได้ดังนี้

                1) ความเปลี่ยนแปลงและความเจริญทางด้านการศึกษา การศึกษาในสภาพปัจจุบันมีการแข่งขันกันมากยิ่งขึ้น ผู้ปกครองและนักเรียนมองเห็นความสำคัญของการศึกษามากขึ้นกว่าแต่ก่อนและการเรียนมักจะมุ่งในทางสาขาวิชาที่มีโอกาสในการประกอบอาชีพ และได้ค่าตอบแทนมากกว่า เพราะฉะนั้น การเลือกคณะสาขาการเรียน และวิชาเรียนเป็นสิ่งสำคัญ ครูแนะแนว จึงมีบทบาทที่จะช่วยให้นักเรียนได้เลือกเรียนตามความสนใจ ความถนัด และความสามารถของตนเองได้อย่างแท้จริงเพื่อออกไปประกอบอาชีพที่เหมาะสมในอนาคต นอกจากนี้จำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะระดับมัธยมศึกษา ตามโครงการขยายโอกาสทางการศึกษาที่ได้รับความสนใจจากผู้ปกครองและนักเรียนเพิ่มมากขึ้น ทำให้อัตราส่วนระหว่างครูกับนักเรียนไม่สมดุลกัน ครูผู้สอนจึงไม่สามารถดูแลนักเรียนได้อย่างทั่วถึง จึงจำเป็นต้องมีบริการแนะแนวขึ้นช่วยเหลือนักเรียนเพื่อป้องกันปัญหา แก้ไขปัญหา และส่งเสริมพัฒนาให้นักเรียนแต่ละคนได้พัฒนาตนเองจนถึงขีดสุด

                2) ความจำเป็นทางด้านการเลือกอาชีพ ในสังคมปัจจุบันมีอาชีพเกิดขึ้นมากมาย จนยากที่จะระบุออกมาเป็นจำนวนที่แน่นอนได้ จึงมีความจำเป็นที่นักเรียนควรจะได้รับการช่วยเหลือแนะแนวทางในการเลือกอาชีพได้อย่างถูกต้องเหมาะสม โดยครูแนะแนวจะต้องให้นักเรียนได้รู้จักโลกของอาชีพต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวและอยู่ในสังคมทั่วไปว่า อาชีพแต่ละชนิดต้องการผู้ที่มีคุณสมบัติอย่างไร ตัวเขาเองมีความเหมาะสมกับอาชีพชนิดใด มีความสนใน มีความถนัดและมีความสามารถอย่างไรต่อการเลือกประกอบอาชีพเพื่อดำเนินชีวิตต่อไปในภายหน้า ซึ่งการเลือกอาชีพที่เหมาะสมของนักเรียนถือว่า มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศชาติด้วย

                3) ความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีและวิทยาการใหม่ ๆ มีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนโฉมหน้าของสังคมไอย่างรวดเร็วและยังทำให้การถ่ายเทข้อมูลหรือถ่ายทอดความรู้ทำได้อย่างสมบูรณ์ ข่าวสารต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจะถูกถ่ายทอดข้อมูลหรือถ่ายทอดความรู้ทำได้อย่างสมบูรณ์ ข่าวสารต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจะถูกถ่ายทอดไปอย่างกว้างขวาง และทั่วถึง

                4) ความเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคมซึ่งเป็นไปอย่างรวดเร็ว สภาพสังคมเกษตรกรรมเปลี่ยนมาเป็นอุตสาหกรรม จากสภาพชนบทมาเป็นสภาพเมือง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนมาก เพราะต้องดิ้นรนต่อสู้กับภาวะค่าครองชีพสูงขึ้นเรื่อย ๆ รายได้จากงานประจำไม่เพียงพอต่อรายจ่ายมีภาระหนี้สินจึงต้องแสวงหารายได้เสริมโดยทำนอกเวลาจากงานปกติ ทำให้พ่อแม่ไม่ค่อยมีเวลาได้ใกล้ชิดและอบรมสั่งสอนลูก เด็กจะเกิดความว้าเหว่ และเมื่อเกิดปัญหาไม่รู้จะปรึกษาใครจึงออกไปคบเพื่อนและให้ความสำคัญต่อเพื่อนมากกว่าพ่อแม่ ซึ่งบางครั้งอาจถูกชักจูงไปในทางไม่ดีได้ง่าย

                5) การอบรมเลี้ยงดูของพ่อแม่ ผู้ปกครองตามสภาพแวดล้อมในสังคมปัจจุบัน วิธีการอบรมเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสมบางประการทำให้เด็กเกิดพฤติกรรมที่เป็นปัญหา

                6) ความเปลี่ยนแปลงทางด้านวัฒนธรรมและความเชื่อทางศาสนาโดยเฉพาะการรับวัฒนธรรมจากต่างชาติเข้ามา โดยไม่มีการแยกแยะทำความเข้าใจจึงทำให้เอกลักษณ์ ค่านิยม และวิถีชีวิตของคนไทยเปลี่ยนไป ทำให้เด็กเกิดความลังเล ไขว้เขว ไม่แน่ใจว่าสิ่งใดเป็นสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมและบางครั้งก็จะแสดงพฤติกรรมเลียนแบบผู้ใหญ่ในทางที่ไม่ถูกไม่ควร

                7) ความต้องการในการรู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ นักเรียนเป็นจำนวนมากยังไม่สามารถแบ่งเวลาให้เหมาะสมว่าเวลาใดควรทำอะไร บางคนใช้เวลาในการเล่น เที่ยวเตร่ พักผ่อนหรือร่วมในกิจกรรมนักเรียนมากเกินไปจนทำให้ผลการเรียนเสียลง

 

ขอบข่ายของบริการแนะแนว

 

                ขอบข่ายของบริการแนะแนว แบ่งออกเป็น 5 บริการ (นิรันดร์ จุลทรัพย์, 2539: 82-357) ดังนี้

1) บริการสำรวจนักเรียนเป็นรายบุคคล หรือบริการรวบรวมข้อมูลเป็นรายบุคคล (Information Service or Individual Appraisal Service)   

                2) บริการสนเทศ (Information Service)

                3) บริการให้คำปรึกษา (Counseling Service)

                4) บริการจัดวางตัวบุคคล (Placement Service)

                5) บริการวิจัยและติดตามผล (Research and follow up Service)

 

                1) บริการสำรวจนักเรียนเป็นรายบุคคล หรือบริการรวบรวมข้อมูลเป็นรายบุคคล (Information Service or Individual Appraisal Service)

เป็นบริการหนึ่งที่ทำการรวบรวมละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับตัวนักเรียนในทุก ๆ ด้าน แล้วนำมาเก็บรวบรวมไว้อย่างเป็นระบบ เพื่อประโยชน์ในการนำไปใช้ให้ความช่วยเหลือนักเรียนต่อไป

วัตถุประสงค์ของการสำรวจนักเรียนเป็นรายบุคคลที่สำคัญมี 3 ประการ ดังนี้

(1) เพื่อให้ครูอาจารย์หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับนักเรียนได้รู้จัก และเข้าใจนักเรียนได้มากขึ้น

(2) เพื่อให้นักเรียนได้มีโอกาสสำรวจตนเองเพื่อทำความรู้จักและเข้าใจตนเองในด้านต่าง ๆ มากขึ้น

(3) เพื่อหาทางป้องกันและแก้ไขปัญหาให้แก่นักเรียน เพื่อให้นักเรียนได้พัฒนาตนเองอย่างเต็มที่

 

เครื่องมือ เทคนิค หรือวิธีที่นำมาใช้ในการรวบรวมข้อมูลเป็นรายบุคคล มีอยู่หลายชนิดด้วยกัน ดังนี้

                (1) การสังเกต (Observation)

                (2) การสัมภาษณ์ (Interview)

                (3) แบบสอบถาม (Questionnaire)

                (4) ระเบียนสะสม (Cumulative Record)

                (5) การเยี่ยมบ้าน (Home Visitation)

                (6) สังคมมิติและกลวิธีใครเอ่ย (Sociometry Technique and Guess Who or Who Technique)

                (7) อัตชีวประวัติและบันทึกประจำวัน (Autobiography and Diary)

                (8) การศึกษารายกรณี (Case Study)

                (9) การประชุมรายกรณี (Case Conference)

                (10) กลวิธีให้บุคคลระบายความในใจ (Projective Technique)

                (11) แบบทดสองวัดเชาว์ปัญญา (Intelligence Tests)

                (12) แบบทดสอบวัดความถนัด (Aptitude Tests)

                (13) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน (Achievement Tests)

                (14) แบบสำรวจความสนใจ (Interest Inventories)

                (15) แบบสำรวจค่านิยม (Values Inventories)

                (16) แบบทดสอบและแบบสำรวจบุคลิกภาพ (Personality Tests and Personality Inventories)

               

                2) บริการสนเทศ (Information Service)

บริการสนเทศเป็นบริการที่จัดหารวบรวมข่าวสารทั้งทางด้านการศึกษา อาชีพ ส่วนตัว และสังคม โดยอาศัยเครื่องมือและวิธีการต่าง ๆ แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์แจกแจง เพื่อให้เป็นข้อสนเทศและพร้อมที่จะนำเสนอให้แก่นักเรียนหรือผู้รับบริหารด้วยเทคนิคและวิธีต่าง ๆ ตามความเหมาะสม เพื่อที่นักเรียนหรือผู้รับบริการสามารถที่จะนำมาประกอบการตัดสินใจได้ด้วยตนเองต่อไป (นิรันดร์ จุลทรัพย์, 2539: 278)

วัตถุประสงค์ของบริการสนเทศที่สำคัญหลายประการต่างที่ นอรีส และคณะ (Norris, Zeran and Hatch, 1960: 24-26 อ้างใน นิรันดร์ จุลทรัพย์, 2539: 278) กล่าวไว้ดังนี้

(1) เพื่อพัฒนาความเข้าใจตนเองและการยอมรับตนเองของบุคคล

(2) เพื่อช่วยพัฒนากระบวนการตัดสินใจของบุคคล

(3) เพื่อแสดงให้เห็นว่าบุคคลทุกคนมีคุณค่า มีเกียรติ และมีศักดิ์ศรีแห่งตนเอง

(4) เพื่อให้ทราบว่าบุคคลมีความแตกต่างกันในด้านความสนใจ ความถนัด ความสามารถและค่านิยมแห่งบุคคล

(5) เพื่อให้บุคคลทราบว่าความชำนาญงานแต่ละอาชีพของบุคคลมีความแตกต่างกัน

(6) เพื่อให้บุคคลตระหนักว่าความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและสภาพสิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลต่อการพัฒนาการด้านอาชีพของบุคคล

(7) เพื่อให้บุคคลได้ทราบถึงโอกาส และปัญหาที่จะเกิดขึ้นในการศึกษาและการพัฒนาอาชีพทุกระดับ

(8) เพื่อให้บุคคลตระหนักว่ามีความจำเป็นที่จะต้องทราบข้อสนเทศทางด้านอาชีพ การศึกษาส่วนตัวและสังคมที่ถูกต้องและเที่ยงตรง

(9) เพื่อให้บุคคลได้ทราบและเข้าใจถึงความสัมพันธ์ของกิจกรรมต่าง ๆ อย่างกว้างขวางทั้งทางด้านการศึกษา อาชีพ ส่วนตัว และสังคม

 (10) เพื่อช่วยให้บุคคลสามารถนำเทคนิควิธีการต่าง ๆ มาใช้ตีความและแปลความหมายของข้อมูลต่าง ๆ เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจได้

(11) เพื่อช่วยเสริมสร้างเจตคติ และนิสัยที่จะช่วยให้การตัดสินใจ และการปรับตัวของบุคคล

(12) เพื่อช่วยให้บุคคลสามารถตัดสินใจทำกิจกรรมตามขอบเขตที่เหมาะสมกับความถนัด ความสามารถและความสนใจของบุคคล

(13) เพื่อพัฒนาความสนใจในการประกอบอาชีพที่บุคคลธรรมดาไม่มีความสามารถประกอบได้ แต่เป็นอาชีพที่บุคคลบางคนสามารถประกอบได้

                ประเภทของข้อสนเทศ (Norris, Zeran and Hatch, 1960: 22-23 นิรันดร์ จุลทรัพย์, 2539: 279) ได้แบ่งข้อสนเทศออกเป็น 3 ประเภทดังนี้ คือ

                (1) ข้อสนเทศทางด้านอาชีพ (Occupational information)

(2) ข้อสนเทศทางด้านการศึกษา (Educational information)

                (3) ข้อสนเทศทางด้านส่วนตัวและการศึกษา (Personal-social information)

 

                3) บริการให้คำปรึกษา (Counseling Service)

บริการให้คำปรึกษา เป็นบริการหนึ่งในบริการทั้งห้าของบริการแนะแนวจัดว่าเป็นบริการที่สำคัญมาก และเปรียบเสมือนหัวใจของบริการแนะแนวจำเป็นต้องอาศัยผู้ให้คำปรึกษา (Counselor) ที่ได้รับการฝึกอบรมมาโดยเฉพาะและเป็นผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมของการเป็นผู้ให้คำปรึกษาที่ดีเพื่อที่ให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของการให้คำปรึกษาได้อย่างแท้จริง (นิรันดร์ จุลทรัพย์, 2539: 303)

การให้คำปรึกษาเป็นกระบวนการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ขอรับคำปรึกษาในปัญหาทางด้านการศึกษา อาชีพ ส่วนตัว และสังคมโดยผู้ให้คำปรึกษาซึ่งเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญจะให้เทคนิควิธีการ เพื่อกระตุ้นและสะท้อนให้ผู้ขอรับการปรึกษาเข้าใจตน เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นและสามารถจะตัดสินใจหรือวางแผน การแก้ปัญหาในอนาคตได้ด้วยตนเอง  ส่วนการจัดบริการให้คำปรึกษา (Counseling Service) เป็นบริการที่จัดขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่นักเรียน นิสิตนักศึกษาในการแก้ปัญหาทางด้านการศึกษา ด้านอาชีพ การวางโครงการในอนาคตการกำหนดเป้าหมายของชีวิต การปรับพฤติกรรมและการปรับตัว ตลอดจนการรู้จักแบ่งเวลา และใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น บริการให้คำปรึกษาจะช่วยให้นักเรียน นิสิตนักศึกษา สามารถเลือกวางโครงการ และปรับตัวได้เหมาะสมตรงกับความต้องการของเขา บริการให้คำปรึกษาจึงถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของการจัดบริการแนะแนว (นิรันดร์ จุลทรัพย์, 2539: 304)

               

                4) บริการจัดวางตัวบุคคล (Placement Service)

บริการจัดวางตัวบุคคล หมายถึง บริการที่จัดขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่นักเรียนทางด้านการเพิ่มพูนประสบการณ์ การได้รับการสงเคราะห์ตามควรแก่กรณีและการปฏิบัติหรือดำเนินตามแผนที่วางไว้ โดยจัดให้เหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการและสภาพปัญหาของนักเรียนแต่ละคนทั้งทางด้านการศึกษา อาชีพ ส่วนตัว และสังคม (นิรันดร์ จุลทรัพย์, 2539: 341)

วัตถุประสงค์ของบริการจัดวางตัวบุคคล (นิรันดร์ จุลทรัพย์, 2539: 341-342) มีดังนี้

(1) เพื่อช่วยนักเรียนได้รับบริการ หรือสวัสดิการที่จำเป็นสอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของนักเรียน

(2) เพื่อช่วยให้นักเรียนได้เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ สอดคล้องกับความถนัด ความสามารถและความสนใจของตน

(3) เพื่อช่วยให้นักเรียนได้เลือกเรียนอย่างเหมาะสม เช่น เลือกวิชาเรียน เลือกแผนการเรียน เลือกคณะและสถานศึกษา เป็นต้น เพื่อให้สอดคล้องกับการศึกษาต่อและประกอบอาชีพในอนาคต

(4) เพื่อช่วยให้นักเรียนได้มีประสบการณ์ทางด้านอาชีพ โดยจัดหางานพิเศษนอกเวลาเรียนและยังช่วยตอบสนองความต้องการของชุมชนอีกด้วย

(5) เพื่อช่วยให้นักเรียนได้เรียนในห้องเรียนเดียวกันกับนักเรียนที่มีระดับความสามารถทางการเรียนใกล้เคียงกัน

(6) เพื่อช่วยให้นักเรียนได้มีโอกาสประกอบอาชีพได้เหมาะสมกับความสนใจ ความถนัดและความสามารถของตน ซึ่งนักเรียนเหล่านี้อาจจะออกจากโรงเรียนกลางคันหรือสำเร็จการศึกษาขั้นสูงสุดของโรงเรียน

(7) เพื่อช่วยให้นักเรียนได้มีโอกาสแสวงหาความก้าวหน้า พัฒนาประสบการณ์และปรับปรุงตนเองในด้านต่าง ๆ

 

                5) บริการวิจัยและติดตามผล (Research and follow up Service)

บริการติดตามผล จัดว่าเป็นขอบข่ายของงานบริการอย่างหนึ่งของงานแนะแนวที่เกี่ยวข้องกับการติดตามดูพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของนักเรียน ตลอดจนความสำเร็จในการจัดบริการแนะแนวและการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ของโรงเรียนโดยส่วนรวม (นิรันดร์ จุลทรัพย์, 2539: 344-345)

วัตถุประสงค์ของบริการติดตามผล (นิรันดร์ จุลทรัพย์, 2539: 345) มีดังนี้

(1) เพื่อช่วยให้การให้ความช่วยเหลือนักเรียนเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เมื่อพบว่านักเรียนที่ได้รับความช่วยเหลือไปแล้วยังประสบปัญหาอยู่หรือมีปัญหาใหม่เกิดขึ้น

(2) เพื่อเป็นการประเมินผลการจัดบริการแนะแนวที่ดำเนินไปแล้ว ว่าได้ผลเพียงใด อันจะเป็นแนวทางในการนำมาปรับปรุงแก้ไขและแสวงหาแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมต่อไป

(3) เพื่อทราบถึงสาเหตุการออกจากโรงเรียนกลางคันของนักเรียน โดยที่ยังไม่สำเร็จการศึกษา

(4) เพื่อทราบถึงความคิดเห็นของนักเรียนเก่าที่สำเร็จการศึกษาไปแล้วเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมและงานบริการด้านต่าง ๆ ของโรงเรียนว่าเหมาะสมเพียงใด เพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขให้มีประสิทธิภาพต่อไป

(5) เพื่อต้องการทราบถึงสภาพปัญหาที่มีต่อการศึกษาต่อหรือการประกอบอาชีพของนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาไปแล้ว เพื่อเป็นการเตรียมการป้องกันให้แก่นักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในปัจจุบัน

(6) เพื่อทราบถึงความต้องการของนักเรียนเก่าที่สำเร็จการศึกษาไปแล้ว เพื่อโรงเรียนจะได้มีโอกาส จัดโครงการให้ความช่วยเหลือเป็นบริการต่อเนื่องต่อไป

(7) เพื่อต้องการทราบเกี่ยวกับสถิตินักเรียนที่สำเร็จการศึกษาไปแล้วว่าศึกษาต่อ ประกอบอาชีพ หรือว่างงานมากน้อยเพียงใด

(8) เพื่อเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างระหว่างโรงเรียนกับนักเรียนศิษย์เก่า ผู้ปกครองและชุนชน ซึ่งจะมีผลต่อความร่วมมือ ในการพัฒนาโรงเรียนและเผยแพร่ชื่อเสียงของโรงเรียน

(9) เพื่อข้อมูลที่ได้จากการติดตามผลมาจัดเป็นโครงการศึกษาวิจัยทางการแนะแนวต่อไป

การวิจัยทางการแนะแนว (Guidance Research)

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อประสิทธิภาพของการจัดบริการการแนะแนวที่สำคัญ คือ ความรู้ ความสามารถของครูแนะแนวในการที่จะจัดบริการแนะแนว เพื่อให้ความช่วยเหลือนักเรียนบรรลุความวัตถุประสงค์  วิธีที่จะพัฒนาความรู้และทักษะของครูแนะแนวมีหลายวิธี เช่น การได้รับการฝึกอบรม การเข้ารับการศึกษาต่อเพื่อให้ได้วุฒิสูงขึ้น การศึกษาดูงาน การนิเทศโดยศึกษานิเทศก์ การประเมินผลการทำงานเป็นระยะ ๆ การนำผลการวิจัยโดยผู้อื่นมาเป็นตัวกระตุ้น หรือการให้ครูแนะแนวทำวิจัยเองซึ่งวิธีหลังสุดนี้กำลังได้รับความนิยม เพราะเป็นตัวที่เชื่อมระหว่างทฤษฎีทางการแนะแนวกับภาคปฏิบัติจริงในโรงเรียน ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ การที่นักวิจัยจะพยายามทำความเข้าใจกับปัญหาการจัดบริการแนะแนวในโรงเรียน นับเป็นสิ่งที่ยากเพราะปัญหาต่าง ๆ นั้นผู้ที่รู้ดี คือ ครูแนะแนวในโรงเรียนนั่นเอง เพราะฉะนั้นจึงมีความจำเป็นที่ครูแนะแนวควรมีความรู้ความเข้าใจในการที่จะนำผลการวิจัยมาใช้และสามารถที่จะทำการวิจัยได้ด้วยตัวเอง (นิรันดร์ จุลทรัพย์, 2539: 348-349)

การวิจัย หมายถึง กระบวนการค้นหาความรู้และทำความเข้าใจปรากฏการณ์ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นและมีคุณค่าต่อสังคมโดยอาศัยการะบวนการทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Method)  การวิจัยทางการแนะแนว เป็นการวิจัยเกี่ยวกับการจัดบริการและโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแนะแนวรวมทั้งการวิจัยทางจิตวิทยาที่เป็นการนำผลการวิจัยไปใช้เพื่อการแนะแนว (นิรันดร์ จุลทรัพย์, 2539: 349-350)

 

 

สรุป

การแนะแนวเป็นบริการที่จัดขึ้นเพื่อช่วยให้บุคคลเข้าใจตนเองได้อย่างถูกต้อง เข้าใจปัญหาของตนเองมองเห็นลู่ทางแก้ปัญหาและสามารถตัดสินใจได้เอง การแนะแนวอาจช่วยให้คนเราสามารถมองเห็นลู่ทางต่าง ๆ ที่ตนเองมองข้ามเสียแต่แรกได้อีกด้วย การศึกษาในสภาพปัจจุบันมีการแข่งขันกันมากยิ่งขึ้น ครูแนะแนว จึงมีบทบาทที่จะช่วยให้นักเรียนได้เลือกเรียนตามความสนใจ ความถนัด และความสามารถของตนเองได้อย่างแท้จริงเพื่อออกไปประกอบอาชีพที่เหมาะสมในอนาคต

 

 

บรรณานุกรม

นิรันดร์ จุลทรัพย์. 2539. เอกสารคำสอนวิชาการแนะแนวเบื้องต้น. โครงการบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ภาคใต้. 

 

หมายเลขบันทึก: 500039เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2012 12:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 สิงหาคม 2012 12:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท