Hybrid Learning vs Blended Learning


Hybrid Learning vs Blended Learning

             ผมได้รับเกียรติจากคณะสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร ให้มาบรรยายในหัวข้ออีเลิร์นนิ่งและไฮบริดเลิร์นนิ่ง ซึ่งผมก็ได้ขอแบ่งหัวข้อการบรรยายให้อาจารย์กิตติพงษ์ พุ่มพวง อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา ช่วยบรรยายในเรื่องถนัดของอาจารย์นั่นคือเรื่องอีเลินนิ่ง ซึ่งอาจารย์มีประสบการณ์ตรงจากการเคยทำงานเรื่องนี้มาจากมหาวิทยาลัยสุรนารี และยังเป็นที่ปรึกษาของกองบริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ด้านนี้โดยตรง ส่วนผมขอพูดในประเด็นเรื่องไฮบริดเลิร์นนิ่งดีกว่า

ไฮบริดเลิร์นนิ่งคืออะไร

                ความจริงผมไม่ค่อยอยากใช้คำนี้สักเท่าไร เพราะพูดถึงไฮบริดทีไรทำให้ผมนึกถึงโฆษณาของรถยนต์โตโยต้าที่เพิ่งจัดงานยักษ์แนะนำนวัตกรรมใหม่ของยนตร์กรรมที่ผสานการทำงานของเครื่องยนต์และมอเตอร์ขับเคลื่อน ซึ่งเป็นสิ่งใหม่ที่เริ่มจะได้รับการยอมรับในสังคมผู้ใช้รถว่าดีจริง ประหยัดพลังงานได้จริง แต่เอ๊ะ แล้วการเรียนการสอนไฮบริดล่ะเป็นอย่างไร ถ้าดูความหมายของคำว่าไฮบริดก็จะได้ความหมายว่า ผสม ลูกผสม พันธ์ผสม เอ๊ะ แล้วการเรียนการสอนเค้าผสมอะไรกับอะไร ผสมวิธีการเรียนการสอนระหว่างวิธีการสองวิธี โดยมุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกัน ผสมสื่อสองแบบขึ้นไปก็จะใช้คำว่า “สื่อผสม” หรือ มัลติมีเดีย แต่พอมาวิธีการเรียนการสอน ถ้าเป็นการสอนสองวิธี เช่น การสอนแบบบรรยายกับการสอนโดยใช้หนังสือกลับไม่เรียกว่า ไฮบริดเลิร์นนิ่ง

                ไฮบริดเลิร์นนิ่งในที่นี้หมายถึง การจัดระบบการเรียนรู้ที่ผสมผสานกันระหว่างวิธีการเรียนการสอนแบบเผชิญหน้า(ห้องเรียน)กับวิธีการสอนแบบไม่เผชิญหน้า(การศึกษาทางไกล) ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเข้าด้วยกัน เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ มากกว่าการฟังบรรยายในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว ครูและนักเรียนสามารถใช้สื่อการสอนออนไลน์ต่างๆ ผ่านหน้าเว็บเพจในการปฏิสัมพันธ์ในรูแบบต่างๆ เช่น การนำเสนอ วิดีทัศน์ออนไลน์ การส่งเอกสารการบรรยาย การสนทนาแบบทันทีทันใด (Synchronous) หรือแบบไม่ทันทีทันใด (Asynchronous)  เครือข่ายสังคมออนไลน์ เป็นต้น

Hybrid Learning VS Blended Learning

                ที่ผมไม่อยากจะใช้คำว่าไฮบริดเลิร์นนิ่งนั้น เพราะมีอีกคำที่เหมาะสมกว่า คือคำว่าเบล์นเด็ดเลิร์นนิ่ง ซึ่งหมายความว่า กระบวนการเรียนรู้ ที่ผสมผสานรูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในห้องเรียน ผสมผสานกับการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่ผู้เรียนและผู้สอนไม่เผชิญหน้ากัน หรือการใช้แหล่งเรียนรู้ที่มีอยู่หลากหลาย กระบวนการเรียนรู้และกิจกรรมเกิดขึ้นจากยุทธวิธีการเรียนการสอนที่หลากรูปแบบ เป้าหมายอยู่ที่การให้ผู้เรียนบรรลุเป้าหมายการเรียนรู้เป็นสำคัญ

                 การสอนด้วยวิธีการเรียนรู้แบบผสมผสานนั้น ผู้สอนสามารถใช้วิธีการสอนสองวิธีหรือมากกว่าในการเรียนการสอน เช่น การนำเสนอเนื้อหาภายในห้องเรียนด้วยวิดีทัศน์ออนไลน์ และเปิดประเด็นคำถามให้นิสิตได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระผ่านเว็บบอร์ด หรือสื่อออนไลน์รูปแบบอื่นที่เหมาะสมเพื่อสร้างกิจกรรมการเรียนรู้แบบสองทาง โต้ตอบกันเพิ่มเติมนอกจากห้องเรียนปรกติ

                คำว่า Hybrid Learning มีการใช้ในความหมายของการเรียนการสอนที่มีวิธีการเรียนการสอนสองรูปแบบ คือการเรียนการสอนในห้องเรียนและการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเข้ามาผสมผสาน ในขณะที่มีอีกคำหนึ่งคือคำว่า  Blended learning เป็นการบูรณาการระหว่างการเรียนในชั้นเรียนและการเรียนแบบออนไลน์ สามารถช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนและการใช้เวลาในชั้นเรียนได้เหมาะสม แต่อย่างไรก็ตาม การเรียนรู้จากสมุดแบบฝึกหัด และ เทป ก็ยังไม่อาจเรียกได้ว่า “ Blended ” ถึงแม้ว่าจะมีการใช้ สมุดแบบฝึกหัดและเทป ที่เป็นการผสมผสานของสื่อในการเรียนรู้ แต่ก็เป็นเพียงการเรียนในชั้นเรียนแบบเผชิญหน้ากัน ที่ไม่ได้มีช่องทางให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเองนอกห้องเรียนและการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนและครูดังนั้น Blended learning จึงเป็นการผสมผสานวิธีหลายๆวิธี (Multiple Learning Methods) เพื่อใช้ในการจัดการเรียนการสอน (teaching and learning) เพื่อการส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้และเกิดทักษะในด้านการปฏิบัติ เช่น การสอนในชั้นเรียนร่วมกับการสอนแบบออนไลน์ (a combination of face-toface and Online Learning) ซึ่งตรงกับความคิดที่ว่า " ไม่มีวิธีการสอนแบบใดแบบหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ (Learning) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาจารย์ผู้สอนจะต้องใช้วิธีการหลายๆวิธี นำมาผสมผสานกันเพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ "

ลักษณะของการเรียนแบบผสมผสาน (Blended - Hybrid Learning)

             1. การเรียนแบบผสมผสาน (blended learning) เป็นการเรียนที่ใช้กิจกรรมที่ต้องระบบเน็ตเวิร์คออนไลน์และการเผชิญหน้ากัน (Face to Face) ในห้องเรียนจริง (hybrid) โดยใช้สื่อที่มีความหลากหลายเหมาะสมกับบริบทและสถานการณ์ การเรียนรู้เพื่อตอบสนองต่อความแตกต่างระหว่างบุคคล

             2. การเรียนแบบผสมผสาน เป็นการรวมกันหรือนำสิ่งต่าง ๆ มาผสม โดยที่สิ่งที่ถูกผสมนั้น การเรียนอาจจะเรียนในห้องเรียน 60% เรียนผ่านระบบออนไลน์ 40%  หรือเรียนภายในห้องเรียน 30 % เรียนผ่านระบบออนไลน์ 70 % ไม่ได้มีกฎตายตัวว่าจะต้องผสมผสานกันเท่าใด เช่น รวมรูปแบบการเรียนการสอน , รวมวิธีการเรียนการสอน , รวมการเรียนแบบออนไลน์ และรูปแบบการเรียนการสอนในชั้นเรียน

             3. การเรียนแบบผสมผสาน (Blended learning) การเติบโตของการเรียนแบบผสมผสานตั้งแต่อดีตปัจจุบันและอนาคตการเรียนรู้แบบผสมผสาน โดยในอดีตนั้น การเรียนแบบผสมผสานคือส่วนที่ได้มีการรวมเข้าหากัน จาก 2 รูปแบบ

                 3.1 สภาพแวดล้อมของการเรียนแบบเดิม นั้นก็คือ การเรียนแบบเผชิญหน้าในชั้นเรียน (Classroom)

                  3.2 การเรียนแบบออนไลน์

หมายเลขบันทึก: 500037เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2012 11:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 ตุลาคม 2012 23:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณค่ะอาจารย์ สำหรับอาหารสมองจานนี้

แสดงว่า hybrid learning มีกรอบแคบกว่า blended Learning ใช่ไม๊ค่ะ เพราะว่า blended Learning เป็นการผสมผสานที่รวมหลากหลายวิธีการและรูปแบบ ที่ไม่จำกัดเพียงแบบเผชิญหน้าและ e-learning เท่านั้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท