Module 7 Community and Family Medicine Part 1


การประเมินครอบครัวตามหลักการเวชศาสตร์ครอบครัว (Family system assessment)

การศึกษาข้อมูลของผู้ป่วยและสมาชิกในครอบครัว

วงจรชีวิตครอบครัว(Family life cycle)

                วงจรชีวิตครอบครัว คือ การเปลี่ยนแปลงของครอบครัวที่ทำนายได้และเปลี่ยนแปลงไปตามความต้องการของแต่ละครอบครัว, ความเชื่อถือ, วัฒนธรรม และวิธีการดำรงชีวิตของสังคมนั้น  โดยมีลักษณะที่สำคัญ 3 ประการคือมีรูปแบบที่แน่นอน, เกิดขึ้นเป็นระยะ และมีความเป็นสากล  Duvall และ Miller (1985) แบ่งระยะวงจรชีวิตครอบครัวได้เป็น 8 ระยะคือ

  1. ระยะสร้างครอบครัวใหม่(Family formation) เป็นระยะที่ปรับตัวเข้ากับบทบาทใหม่และคนใหม่(สามีหรือภรรยา)  พัฒนาความเป็นอิสระ  สร้างความสัมพันธ์แบบสามี-ภรรยาที่เหมาะสม  ความผูกพันธ์ของครอบครัวใหม่กับครอบครัวเดิมถ้ามากเกินไป เช่น ครอบครัวใหม่ยังอยู่กับครอบครัวเดิมเครือญาติอาจเข้ามายุ่งวุ่นวายกับชีวิตของคู่สมรสใหม่มากเกินไป  หรือความผูกพันธ์น้อยเกินไปโดยคู่สมรสใหม่แยกตัวออกจากครอบครัวและไม่ติดต่อหรือยุ่งเกี่ยวกับครอบครัวเดิมก็จะเกิดปัญหาได้ เช่น พ่อ,แม่ที่สูงอายุอาจจะไม่ได้รับการดูแลที่ดีจากลูกหลาน  หรือหลานขาดความสัมพันธ์กับปู,ย่า,ตา,ยาย  ซึ่งอาจจะช่วยดูแลหลานและให้ประสบการณ์ที่ดีแก่หลานได้   บทบาทของแพทย์ประจำครอบครัว  ได้แก่การให้คำแนะนำในการวางแผนการมีบุตร, การคุมกำเนิด, ความสัมพันธ์ระหว่างสามี,ภรรยา, การเตรียมความพร้อมของคู่สามี-ภรรยาก่อนการมีบุตร, การส่งเสริมสุขภาพ
  2. ระยะครอบครัวมีบุตรเล็ก(Childbearing family)  เป็นระยะตั้งแต่มีบุตรถึงบุตรอายุประมาณ 30 เดือน  ระยะนี้ครอบครัวต้องปรับตัวเพื่อรับบทบาทใหม่(พ่อ-แม่)  รักษาความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรส  ปรับความสัมพันธ์ระหว่างสามีและภรรยาเพื่อรับบุตรที่เกิดใหม่  บทบาทของแพทย์ประจำครอบครัวในระยะนี้  ช่วยให้สามีและภรรยาแบ่งหน้าที่และภาระงานที่เพิ่มขึ้นคือการเลี้ยงดูลูกให้อย่างเหมาะสม  ให้คู่สามีและภรรยามีเวลาพอเพียงต่อความต้องการของทั้งคู่  ช่วยให้พ่อมีบทบาทในการเลี้ยงดูลูกมากขึ้นเนื่องจากส่วนใหญ่มักจะเป็นภรรยาที่ใช้เวลาในการเลี้ยงดูลูก  ช่วยให้พ่อ,แม่มีทักษะในการเลี้ยงดูลูก
  3. ระยะครอบครัวกับบุตรก่อนวัยเรียน(Family with preschool children)  เป็นระยะที่ครอบครัวมีบุตรอายุ 2 ขวบครั้งจนถึง 6 ปี  ระยะนี้จะเป็นการเตรียมห้องสำหรับลูกและคู่สามีภรรยาแยกกันอยู่  แต่ในวัฒนธรรมตะวันออกส่วนใหญ่ลูกมักจะอยู่กับพ่อ,แม่จนถึงวัยรุ่น  ปรับตัวเพื่อให้มีความส่วนตัวของชีวิตคู่  บทบาทของแพทย์ประจำครอบครัวเหมือนกับในระยะครอบครัวมีบุตรเล็ก  แต่ระยะนี้พ่อ,แม่มักจะมีประสบการณ์ในการดูแลบุตรมากขึ้น  การช่วยเหลือจะลดลง
  4. ระยะครอบครัวกับบุตรวัยเรียน(Family with school-age children)  เป็นระยะที่ครอบครัวมีบุตรอายุ 6-13 ปี  ระยะนี้ครอบครัวจะสร้างระเบียบใหม่ให้ลูกและเริ่มเข้าสังคม  มอบหมายงานให้ลูกรับผิดชอบ  บทบาทของแพทย์ประจำครอบครัว  ควรจะเป็นที่ปรึกษาและความคำแนะนำแก่พ่อ,แม่ในพฤติกรรมที่จะพบได้
  5. ระยะครอบครัวกับบุตรวัยรุ่น(Family with teenage children) ระยะที่ครอบครัวมีบุตรอายุ13-18 ปี  ระยะนี้ครอบครัวมีการขยายขอบเขตและความรับผิดชอบของลูกมากขึ้น  ลูกจะมีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกาย สติปัญญา อารมณ์และสังคม  มีพัฒนาการเพื่อสร้างเอกลักษณ์ที่มั่นคงและความเป็นตัวของตัวเอง  ลูกจะเริ่มห่างจากครอบครัวและไปสร้างความผูกพันใหม่กับผู้อื่น  คู่สามีภรรยาเตรียมพร้อมกับการแยกตัวของลูก  บทบาทของแพทย์ประจำครอบครัว คือการช่วยให้พ่อแม่ควบคุมพฤติกรรมของลูกให้อยู่ในขอบเขต  มีระเบียบวินัยพอสมควร  จะเกิดขึ้นจากการที่พ่อ,แม่,ลูกมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันและมีเวลาให้กันอย่างเพียงพอ
  6. ระยะครอบครัวกับบุตรวัยเป็นผู้ใหญ่(Family with adult children) ระยะที่ครอบครัวมีบุตรอายุมากกว่า 18-20 ปี  ระยะนี้ลูกจะเริ่มแยกตัวออกจากครอบครัวไปสร้างครอบครัวใหม่ พ่อแม่ต้องปรับตัว ยอมรับในความเป็นผู้ใหญ่ของลูก  ยอมรับการแต่งงานการแยกครอบครัวออกไปของลูก ๆ หรือการเข้ามาของ ลูกเขย ลูกสะใภ้      อาจทำให้พ่อ,แม่รู้สึกหว้าเหว่ เป็นห่วงลูก และ พ่อ,แม่ ต้องปรับตัวกับการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกใหม่ในตระกูล บทบาทของแพทย์ประจำครอบครัวอาจจะต้องให้คำปรึกษาและรักษาพ่อ,แม่ที่มีอารมณ์ ซึมเศร้าจากการแยกตัวออกไปของลูก และการปรับตัวเข้าหาลูกเขยและลูกสะใภ้
  7. ระยะลูกแยกจากครอบครัว(Family dispersion) ระยะที่พ่อแม่ย่างเข้าสู่วัยกลางคน ระยะนี้ลูกจะเริ่มแยกตัวออกจากครอบครัวอาจทำให้พ่อ,แม่รู้สึกว้าเหว่และถูกทอดทิ้ง  พ่อ,แม่ปรับตัวกับการหมดบทบาท  สร้างความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรสให้ดียิ่งขึ้น  สร้างความรู้สึกเป็นเพื่อนที่จะพึ่งพาอาศัยกันในวัยชรา  มีการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของเครือญาติที่สูงอายุ  บทบาทของแพทย์ประจำครอบครัวอาจจะต้องให้คำปรึกษาและรักษาพ่อ,แม่ที่มีอารมณ์ซึมเศร้าจากการที่ลูกแยกออกไป  หรือพ่อ,แม่มีความเครียดกับการดูแลเครือญาติสูงอายุที่ไม่สบาย
  8. ระยะคู่สมรสสูงอายุ(Older couple)   ระยะนี้คู่สมรสต้องปรับตัวต่อการไม่มีงานทำ   สร้างความสัมพันธ์และมีบทบาทใหม่กับลูกหลานและชีวิตคู่  ปรับตัวกับความเสื่อมโทรมของร่างกาย  ปรับตัวกับการสูญเสียความเป็นตัวของตัวเองต้องพึ่งพาลูกหลานมากขึ้น  ปรับตัวกับการสูญเสียชีวิตคู่,เพื่อน, และสังคมที่ตนเองคุ้นเคย  บทบาทของแพทย์ประจำครอบครัว  คือช่วยให้ผู้สูงอายุมีความหนักแน่นทางจิตใจและเตรียมพร้อมที่จะรับสถานการณ์ต่างๆ มีการดูแลสุขภาพและการจัดการเงินที่ดี  สนับสนุนให้ผู้สูงอายุทำตนให้เป็นประโยชน์

การที่แพทย์เวชปฏิบัติครอบครัวทราบว่าสมาชิกของครอบครัวอยู่ในระยะไหนของวงจรชีวิตของครอบครัว  จะช่วยให้มีการเตรียมพร้อมที่จะพบกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับสมาชิกของครอบครัวในระยะต่าง ๆ ของวงจรชีวิตของครอบครัว  ระยะต่างของวงจรชีวิตครอบครัวจะไม่มีเส้นแบ่งเวลาที่แน่นอนอาจมีการเหลื่อมล้ำกันได้  การมีครอบครัวอาจจะไม่มีสมาชิกครอบคัวพ่อ, แม่, ลูกก็ได้  

หมายเลขบันทึก: 499687เขียนเมื่อ 22 สิงหาคม 2012 17:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 สิงหาคม 2012 17:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท