ประวัติศาสตร์และการพัฒนาการแพทย์แผนไทย


นำเสนอลักษณะของการแพทย์แผนไทยตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน รวมไปถึงตัวอย่างยาและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ประวัติศาสตร์และการพัฒนาการแพทย์แผนไทย

วัตถุประสงค์ นำเสนอลักษณะของการแพทย์แผนไทยตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน รวมไปถึงตัวอย่างยาและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

 

การแพทย์แผนไทย (Thai Traditional Medicine) คือ วิถีการดูแลสุขภาพของคนไทยที่มีการใช้สมุนไพรในการรักษา มีการวินิจฉัยโรคเป็นแบบความเชื่อแบบไทย โดยมีพื้นฐานทางมาจากพระพุทธศาสนาผสมกลมกลืนกับความเชื่อทางพิธีกรรมด้วย

ประวัติศาสตร์ของการแพทย์แผนไทย

สมัยสุโขทัย

  • การรักษาและตัวยาไม่ปรากฏหลักฐานแต่อนุมานได้ว่าน่าจะรักษาแบบแพทย์แผนไทย 
  • มีวิธีการรักษาโดยใช้ไสยศาสตร์ ปรากฏหลักฐานการค้นพบตุ๊กตาเสียกบาลที่สร้างขึ้นในการบนบานศาลกล่าวยามเจ็บไข้ได้ป่วย
  • จากศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงได้บันทึกไว้ว่า ทรงสร้างสวนสมุนไพรขนาดใหญ่บนเขาหลวง  หรือเขาสรรพยาเพื่อให้ราษฎรได้เก็บสมุนไพรไปใช้รักษาโรคยามเจ็บป่วย

สมัยอยุธยา

  • มีลักษณะผสมผสานปรับประยุกต์องค์ความรู้การแพทย์พื้นบ้านกับความเชื่อตามปรัชญาแนวพุทธรวมทั้งความเชื่อทางไสยศาสตร์และ โหราศาสตร์
  • ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช   พบบันทึกว่ามีระบบการจัดหายาที่ชัดเจน  มีแหล่งจำหน่ายยา และสมุนไพรหลายแห่ง
  • มีการรวบรวมตำรับยาต่าง ๆ ขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การแพทย์แผนไทย เรียกว่า ตำราพระโอสถพระนารายณ์

สมัยรัตนโกสินทร์

  • การแพทย์แผนไทยสมัยรัชกาลที่ ๑ ได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดโพธาราม หรือวัดโพธิ์ขึ้นเป็นอารามหลวงให้ชื่อว่า วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และโปรดเกล้าให้รวบรวมและจารึกตำรายา ท่าฤาษีดัดตน และตำราการนวดไทยไว้ตามศาลาราย มีการจัดตั้งกรมหมอโรงพระโอสถ ผู้ที่รับราชการเรียกว่าหมอหลวง ส่วนหมอที่รักษาประชาชนทั่วไปเรียกว่าหมอราษฎร หรือหมอเชลยศักดิ์
  • การแพทย์แผนไทยสมัยรัชกาลที่ ๒ ได้มีการให้เหล่าผู้ชำนาญลักษณะโรคและสรรพคุณยา รวมทั้งผู้ที่มีตำรายาดี ๆ นำเข้ามาให้กรมหมอหลวงคัดเลือกและจดเป็นตำราหลวงสำหรับโรงพระโอสถ ในพ.ศ. ๒๓๙๕ ตรากฎหมายชื่อว่า กฎหมายพนักงานพระโอสถถวาย
  • การแพทย์แผนไทยสมัยรัชกาลที่ ๓ มีการจารึกตำรายาบอกสมุฏฐานของโรคและวิธีรักษาไว้บนแผ่นหินอ่อน ตามผนังโบสถ์และศาลารายของวัดพระเชตุพนฯ และปลูกต้นสมุนไพรที่หายากได้ในวัดเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังร.3ยังทรงปฏิสังขรณ์วัดราชโอรสาวราราม และได้จารึกตำราไว้ในแผ่นศิลาตามเสาระเบียงพระวิหาร รัชสมัยนี้มีการนำการแพทย์แบบตะวันตกเข้ามาเผยแพร่โดยคณะมิชชันนารีชาวอเมริกัน โดยการนำของนายแพทย์แดน บีช  บรัดเลย์ ซึ่งคนไทยเรียกว่า หมอบรัดเลย์ ซึ่งนำวิธีการแพทย์แบบตะวันตกมาใช้
  • การแพทย์แผนไทยสมัยรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้นำการแพทย์แผนตะวันตกมาใช้มากขึ้นเช่น การสูติกรรมสมัยใหม่ แต่ไม่สามารถเปลี่ยนความนิยมของชาวไทยได้    เพราะการแพทย์แผนไทยเป็นวิถีชีวิตของคนไทย เป็นจารีตประเพณีและวัฒนธรรมที่สืบเนื่องกันมา
  • การแพทย์แผนไทยสมัยรัชกาลที่ ๕ มีการจัดตั้ง ศิริราชพยาบาล ซึ่งมีการเรียนการสอนและให้การรักษาทั้งการแพทย์แผนไทย และแผนตะวันตกร่วมกัน มีการพิมพ์ตำราแพทย์ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๔๓๘ ชื่อ ตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ เล่ม ๑- ต่อมาพระยาพิษณุประสามเวช (หมอคง) เห็นว่าตำราเหล่านี้ยากแก่ผู้ศึกษา จึงพิมพ์ตำราขึ้นใหม่ได้แก่ ตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ฉบับหลวง ๒ เล่ม และตำราแพทย์ศาสตร์สังเขป ๓ เล่ม ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขยังคงใช้มาจนทุกวันนี้
  • การแพทย์แผนไทยสมัยรัชกาลที่ ๖รัชมีการสั่งยกเลิกวิชาการแพทย์แผนไทย และมีประกาศให้ใช้ พระราชบัญญัติการแพทย์เพื่อควบคุมการประกอบโรคศิลปะเพื่อป้องกันอันตรายจากการประกอบการของผู้ไม่มีความรู้และไม่พร้อมในด้านการเรียนการสอน การสอบและการประชาสัมพันธ์ ทำให้หมอพื้นบ้านจำนวนมากกลัวถูกจับจึงเลิกประกอบอาชีพนี้ บ้างก็เผาตำราทิ้ง จะมีหมอแผนโบราณเพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่สามารถปฏิบัติได้ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวนับเป็นทั้งข้อดีและข้อเสียที่ควรคำนึงถึง
  • การแพทย์แผนไทยสมัยรัชกาลที่ ๗ กฎหมายเสนาบดี ได้แบ่งการประกอบโรคศิลป์ออกเป็นแผนปัจจุบันและแผนโบราณ มีการศึกษาวิจัยสมุนไพรขึ้นในระหว่างปี พ.ศ.๒๔๘๕-๒๔๘๖ ขณะที่สงครามโลกครั้งที่ ๒ ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนยา ศาสตราจารย์  นพ. อวย เกตุสิงห์ศึกษาวิจัยสมุนไพร ที่ใช้รักษาไข้มาลาเรียที่ โรงพยาบาลสัตหีบ หลังจากสงครามโลกสงบลง ยังคงมีปัญหาขาดแคลนยาแผนปัจจุบัน รัฐบาลจึงมีนโยบายให้องค์การเภสัชกรรมกระทรวงสาธารณสุข ผลิตยาสมุนไพรเป็นยารักษาโรค
  • การแพทย์แผนไทยสมัยรัชกาลที่ ๘ มีการตั้งกระทรวงสาธารณสุข ขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ซึ่งเป็นนโยบายเกี่ยวกับ สมุนไพรว่าจะจัดให้มีการตรวจค้นหาความรู้ ในเรื่องสรรพคุณยาสมุนไพรและยาอื่นๆ ในประเทศ เพื่อนำมาดัดแปลงเป็นยาแผนตะวันตกและขยายการทำยาให้มากชนิดและ มีปริมาณมากขึ้น
  • การแพทย์แผนไทยสมัยรัชกาลที่   ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ จัดตั้งสมาคมของโรงเรียนแพทย์แผนโบราณที่วัดโพธิ์ จากนั้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ก่อตั้งโรงเรียนอายุรเวทวิทยาลัย

แนวคิดและสาเหตุของการเจ็บป่วยตามทฤษฎีแพทย์แผนไทย

แนวคิดทฤษฎีแพทย์แผนไทย

เดิมการแพทย์แผนไทยคล้ายคลึงกับการแพทย์พื้นเมือง มีความเชื่อเกี่ยวกับสาเหตุสำคัญของการเจ็บป่วย 3 กลุ่ม ดังนี้

  1. เชื่อว่าความเจ็บป่วยเกิดจากสิ่งที่เหนือธรรมชาติ แตกต่างกันตามที่อยู่และวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น
  2. เชื่อว่าความเจ็บป่วยเกิดจากธรรมชาติ การเสียสมดุลของร่างกายอันประกอบ
  3. เชื่อว่าความเจ็บปวดเกิดจากพลังจักรวาล อิทธิพลของดวงดาวต่างๆ

การรักษาอาจเป็นพิธีกรรมตามความเชื่อ การใช้สมุนไพรการกินอาหารปรับสมดุลของร่างกาย การนวด การอบ การประคบ และการปรับสมดุลทางจิตด้วยสมาธิ หมอแผนไทยในอดีตมีความรู้มากมายหลายสาขาเป็นทั้งผู้ชำนาญการประกอบพิธีกรรม การใช้ยา การนวด และโหราศาสตร์ บางคนเคยบวชเรียนจึงเก่งในเรื่องการนั่งสมาธิ การแพทย์แผนไทยเคยรุ่งเรืองมากจนมีผู้ชำนาญเฉพาะทางในสมัยอยุธยา ทำให้มีตำราคัมภีร์เฉพาะโรคมากมาย

สาเหตุการเจ็บป่วยตามทฤษฎีการแพทย์แผนไทย

นอกเหนือจากความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งที่เหนือธรรมชาติแล้ว การแพทย์แผนไทยเชื่อว่าสาเหตุแห่งการเจ็บป่วยเกิดจากอิทธิพลดังต่อไปนี้

  1. มูลเหตุแห่งธาตุทั้ง 4
  • ธาตุดิน คือองค์ประกอบของสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะเป็นของแข็ง มีความคงรูป เช่น อวัยวะต่างๆ
  • ธาตุน้ำ คือองค์ประกอบของสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะเป็นน้ำ เป็นของเหลว มีคุณสมบัติ ไหลไปมา ซึมซับไปในร่างกายอาศัยธาตุดินเพื่อการคงอยู่ อาศัยธาตุลมเพื่อการเลื่อนไหล
  • ธาตุลม ธาตุลม คือองค์ประกอบของสิ่งมีชีวิต มีลักษณะเคลื่อนไหวได้ มีคุณสมบัติคือ ความเบาเป็นสิ่งที่มีพลัง ทำให้ร่างกายมีการเคลื่อนไหว
  • ธาตุไฟ มีลักษณะที่เป็นความร้อน คุณสมบัติเผาผลาญให้แหลกสลาย
  1. อิทธิพลของฤดูกาล
  2. อายุที่เปลี่ยนไปตามวัย
  3. อิทธิพลของกาลเวลาและสุริยะจักรวาล
  4. ถิ่นที่อยู่อาศัย
  5. พฤติกรรมที่เป็นมูลเหตุก่อโรค

เภสัชกรรมแผนไทย

                เภสัชกรรมแผนไทย คือ การปรุงยาคือการนำวัตถุตั้งแต่ ๒ ชนิดขึ้นไป นำมาแปรสภาพโดยแพทย์ หรือเภสัชกร เพื่อใช้บรรเทาหรือบำบัดและรักษาโรค หรือเป็นปฏิกิริยาต่อ ต้านอาการของโรคได้ การปรุงยา รักษาโรคนั้นเป็นหน้าที่ของเภสัชกรผู้ซึ่งจะต้องรู้หลัก ๔ ประการคือ

  1. เภสัชวัตถุ คือวัตถุนานาชนิดที่ได้จากธรรมชาติ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภายใน สามารถนำมาใช้เป็นยารักษาโรคและบำรุงร่างกาย ได้ แบ่งเป็น ๓ ชนิด คือ พืชวัตถุ สัตว์วัตถุ และ ธาตุวัตถุ
  2. สรรพคุณเภสัช เภสัชกรจะต้องเรียนรู้สรรพคุณของวัตถุนานาชนิดที่จะ นำมาใช้ปรุงเป็นยารักษาโรคหรือแก้ไข้ โดยต้องรู้จักรสของตัวยา ซึ่งรสของตัวยานั้นจะบอกถึงสรรพคุณของยาแบ่งรสยาออกเป็นยาประธาน ๓ รส และรสยา ๙ รส
  3. คณาเภสัช คือการจัดหมวด หมู่ยาหลายอย่างเข้าด้วยกันเป็น หมวดหมู่ รวมเรียกเป็นชื่อเดียว ตัวยาที่นำมาจัดนั้นจะต้องมีรส หรือสรรพคุณไม่ขัดกัน
  4. เภสัชกรรม คือการรู้จักวิธีปรุงยาต่างๆซึ่งมี อยู่ ๒๔ วิธี

ยาสมุนไพร

รูปแบบของยาสมุนไพรนั้นแบ่งออกได้ ๗ ประการดังนี้

  1. สมุนไพรสด สมุนไพรบางชนิดนิยมใช้ในรูปสมุนไพร สดจึงจะได้ผลดี
  2. ตำคั้นเอาน้ำกิน ใช้สมุนไพรสดๆตำให้ละเอียดจนเหลวถ้าไม่มีน้ำให้ เติม น้ำลงไปเล็กน้อย คั้นเอาน้ำที่ได้มากิน
  3. ยาต้ม เหมาะสำหรับสมุนไพรที่มีสาระสำคัญละลายออกมาในน้ำ ข้อดีคือดูดซึมง่าย
  4. ยาชง เหมาะสำหรับสมุนไพรที่มีสาระสำคัญละลายน้ำได้ดี
  5. ยาลูกกลอน เหมาะสำหรับสมุนไพรที่มีสาระสำคัญละลายน้ำได้ยาก ยาลูกกลอนเป็นเม็ดกลมๆเล็กๆทำจากผงยาชนิดเดียวหรือหลายชนิดผสมกับสาร ที่ทำให้ผงยาเกาะตัวกัน นิยมใช้น้ำผึ้ง
  6. ยาดองเหล้า เป็นยาที่ใช้เหล้าหรือแอลกอฮอล์เป็นตัวทำละลาย
  7. ยาพอก เป็นยาที่เตรียม จากสมุนไพรสดๆที่ล้างสะอาด นำมาตำให้ละเอียดและเติมเหล้า

ตัวอย่างยาที่ใช้ในการแพทย์แผนไทย

1. ยาธาตุเปลือกอบเชย

                สูตรตำรับ:
                                1) เปลือกอบเชย 50 กรัม
                                2) เปลือกสมุลแว้ง 50 กรัม
                                3) ชะเอมเทศ 50 กรัม
                                4) ดอกกานพลู 50 กรัม
                                5) การบูร 1 ช้อนชา
                                6) เมนทอล 1 ช้อนชา
                                7) น้ำ 7,000 ซีซี
                วิธีเตรียม: น้ำสมุนไพรทั้ง 4 อย่าง ต้มน้ำประมาณ 15 นาที จากนั้นตั้งทิ้งไว้พออุ่น จึงเติมการบูรและเมนทอล

                วิธีใช้:ผู้ใหญ่ ครั้งละ 2-3 ช้อนโต๊ะ เด็กลดลงตามส่วน รับประทานหลังอาหาร หรือทุก 2-3 ชั่วโมง เมื่อมีอาการปวดท้อง จุกเสียด แน่นเฟ้อ

                หลักการ: ธาตุ 4 ที่มีชีวิตจึงมีชื่อเรียกเป็นพิเศษว่า “มหาภูตรูป” หมายถึง รูปอันยิ่งใหญ่ที่บังเกิดขึ้นแล้วโดยธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ มาคุมกันเข้าเป็นรูปมนุษย์ ซึ่งมีความละเอียดซับซ้อนพิสดารกว่าธาตุ 4 ของสิ่งไม่มีชีวิต ตามทฤษฎีธาตุสมุฏฐานนั้น หากธาตุทั้ง 4 ตั้งอยู่ในสมดุล สุขภาพของเราก็จะเป็นปกติ เมื่อมีอาการอาหารไม่ย่อย หรืออาหารผิดสำแดง คืออาการที่เสียสมดุลของธาตุดิน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ให้แปรปรวนและเสียสมดุลไปด้วย นับแต่โบราณกาลมา หมอไทยรู้จักใช้ตำรับยาขนานหนึ่งเพื่อใช้คุมธาตุดินมิให้กำเริบนั่นคือ ยาคุมธาตุหรือที่เรียกกันสั้นๆว่า “ ยาธาตุ ”

                การวิจัย: คณะวิจัยกลุ่มใหญ่ประกอบด้วยทีมแพทย์ เภสัชกรพยาบาลวิชาชีพ เจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน เจ้าพนักงานเภสัชกรรม และแพทย์แผนไทยประยุกต์จากโรงพยาบาลชุมชนถึง 6 แห่ง รวมทั้งคณะแพทย์ศิริราชพยาบาล และกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกของกระทรวงสาธารณะสุขได้ร่วมมือกันทำวิจัยทางคลีนิกในหัวข้อเรื่อง “ ประสิทธิผลและความปลอดภัยของยาธาตุอบเชยในการรักษาภาวะอาหารไม่ย่อยที่ ไม่ทราบสาเหตุ (functional dyspepsia)” ผลการวิจัยคือ ผู้ป่วยร้อยละ 82.3 ที่ได้รับยาธาตุอบเชย พึงพอใจต่อผลการักษา และและผู้ป่วยร้อยละ 86 ที่ได้รับยาไซเมธิโคนก็พึงพอใจต่อผลการรักษาเช่นกัน แต่ค่ารักษาด้วยธาตุอบเชยมีราคาถูกกว่าเกือบ 3 เท่า

2. ฟ้าทะลายโจรรูปแบบต่างๆ

                ฟ้าทะลายโจร เป็นพืชล้มลุก โดยในตำรายาโบราณของไทย จัดให้เป็นสมุนไพรพื้นบ้าน ที่สามารถหามารับประทานแก้โรคได้เอง

                สูตรตำรับ:

1) ยาชงมีวิธีทำดังนี้
-  เอาใบสดหรือแห้งก็ได้ ประมาณ 5-7 ใบ แต่ใบสดจะดีกว่า
-  เติมน้ำเดือดลงจนเกือบเต็มแก้ว
-  ปิดฝาทิ้งไว้ประมาณครึ่งชั่วโมง หรือพอยาอุ่น แล้วรินเอามาดื่ม ขนาดรับประทาน ครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3-4 ครั้ง ก่อนอาหาร, ก่อนนอน

2) ยาเม็ด (ลูกกลอน) มีวิธีทำดังนี้
-  เด็ดใบสดมาล้างให้สะอาดผึ่งในที่ร่ม ห้ามตากแดด ควรผึ่งในที่มีลมโกรก ใบจะได้แห้งเร็ว
-  บดเป็นผงให้ละเอียด
-  ปั้นกับน้ำผึ้ง หรือน้ำเชื่อม เป็นเม็ดขนาดเท่าเม็ดถั่วเหลือง (หนัก 250 มิลลิกรัม) แล้วผึ่งลมให้แห้ง เพราะถ้าปั้นรับประทานขณะที่ยังเปียกอยู่จะขมมาก ขนาดรับประทานครั้งละ  4-10 เม็ด วันละ 3-4 ครั้ง ก่อนอาหาร, ก่อนนอน

ข้อควรระวัง
บางคนรับประทาน ยาฟ้าทะลายโจร จะเกิดอาการปวดท้อง ท้องเสีย ปวดเอว เวียนหัว แสดงว่าแพ้ยา ให้หยุดยา และเปลี่ยนไปใช้ยาอื่น หรือลดขนาดรับประทานลง

วิธีใช้:  1. ถ้าใช้แก้ไข้เป็นหวัด ปวดหัวตัวร้อน ใช้ใบและกิ่ง 1 กำมือ (แห้งหนัก 3 กรัม สดหนัก 25 กรัม) ต้มน้ำดื่มก่อนอาหารวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น หรือเวลามีอาการ
                2. ถ้าใช้แก้ท้องเสีย ท้องเดิน เป็นบิดมีไข้ ใช้ทั้งต้นหรือส่วนทั้ง 5 ของฟ้าทะลายโจร ผึ่งลมให้แห้ง หั่นชิ้นเล็ก ๆ ประมาณ 1 กำมือ (หนักประมาณ 3-9 กรัม) ต้มเอาน้ำดื่มตลอดวัน

สรรพคุณ:
1. แก้ไข้ทั่ว ๆ ไป เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่
2. ระงับอาการอักเสบ  พวกไอ เจ็บคอ คออักเสบ ต่อมทอนซิล หลอดลมอักเสบ ขับเสมหะ รักษาโรคผิวหนังฝี
3. แก้ติดเชื้อ พวกทำให้ปวดท้อง ท้องเสีย บิด และแก้กระเพาะลำไส้อักเสบ
4. เป็นยาขมเจริญอาหาร

สาเหตุที่ต้องมีการนำแพทย์แผนไทยมาประยุกต์ใช้กับแพทย์แผนปัจจุบัน

เนื่องจากการรักษาของแพทย์แผนปัจจุบันในบางครั้งก็ไม่สามารถรักษาโรคที่ไม่ทราบสาเหตุการเกิดอย่างแน่ชัดอย่างเช่น โรคมะเร็งตามส่วนต่างๆของร่างกายหรือโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นต้น ทำให้แพทย์แผนไทยมีบทบาทเข้ามาในการรักษาโรคจำพวกนี้โดยเราสามารถบอกถึง ข้อดี-ข้อเสีย ของแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนปัจจุบันได้ดังต่อไปนี้

ข้อดี-ข้อเสีย ของแพทย์แผนไทยกับแพทย์แผนปัจจุบัน

ข้อดีของการใช้แพทย์แผนไทย

  1. เป็นการรักษาสุขภาพของผู้ป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจ 
  2. ใช้สมุนไพรรักษาซึ่งสามารถหาได้ตามท้องถิ่นในประเทศไทยทำให้ประหยัดงบประมาณการนำเข้ายาจากต่างประเทศ
  3. สมุนไพรมีฤทธิ์อ่อนจึงมีผลข้างเคียงน้อย
  4. เป็นเรื่องของความเชื่อที่สืบต่อกันมาของคนโบราณที่ผ่านการพิสูจน์คัดกรองมาจากรุ่นสู่รุ่นแล้วว่าสามารถรักษาให้หายใด้

ข้อดีของการใช้แพทย์แผนปัจจุบัน

  1. สามารถรักษาโรคที่ต้องผ่าตัด
  2. เป็นการรักษาด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ทำให้ดูน่าเชื่อถือ
  3. เป็นการรักษาด้วยกระบวณการทางวิทยาศาสตร์ เพราะได้ผ่านการทดลองตรวจสอบแล้วว่าสามารถรักษาได้และมีความปลอดภัย
  4. ใช้กันอย่างแพร่หลายในทุกประเทศและมีความเป็นสากล

ข้อเสียของการใช้แพทย์แผนไทย

  1. สมุนไพรมีฤทธิ์อ่อนจึงต้องใช้ในปริมาณมาก
  2. ไม่ใช่การรักษาด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ทำให้ดูไม่น่าเชื่อถือ
  3. ยาออกฤทธิ์ช้าจึงอาจต้องใช้เวลารักษานานรวมทั้งมีกระบวนการที่ยุ่งยาก
  4. การนำยาสมุนไพรมาใช้ต้องใช้ให้ถูกส่วน ถูกวิธี ถูกขนาด มิฉะนั้นอาจเกิดผลเสียแทนผลดี

ข้อเสียของการใช้แพทย์แผนปัจจุบัน

  1. ยามีฤทธิ์แรงทำให้มีผลข้างเคียงต่อร่างกายของผู้ป่วยเมื่อใช้เป็นเวลานานหรืออาจมีสารพิษตกค้างในร่างกาย
  2. เป็นการรักษาที่มุ่งเน้นไปทางด้านสุขภาพร่างกายของผู้ป่วยโดยมิได้คำนึงถึงสภาพจิตใจ
  3. ยาแผนปัจจุบันส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศจึงต้องใช้งบประมาณของประเทศในการนำเข้าสูง

สถานการณ์แพทย์แผนไทยในปัจจุบัน

                แม้ว่าในปัจจุบันจะมีพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ.2542 เพื่อคุ้มครองและรับรองผู้ประกอบอาชีพหมอนวด และหมอพื้นบ้านแล้วก็ตาม แต่การแพทย์แผนไทยก็ยังมิได้รับการส่งเสริมและเป็นที่ยอมรับเท่าที่ควรนายอร่าม อามระดิษ นายกสมาคมแพทย์แผนไทยแห่งประเทศไทย จึงได้ดำริถึงการสร้างรากฐานอันมั่นคงให้กับวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ด้วยการรวบรวมรายชื่อสมาชิกของสมาคมแพทย์แผนไทยแห่งประเทศไทยและประชาชนทั่วไปได้ประมาณ 30,000 คน ร่วมกันเข้าลงชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพแพทย์แผนไทย ต่อประธานรัฐสภา โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2555 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 2 สมัยสามัญทั่วไป มีนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุมได้มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพแพทย์แผนไทย ท้ายที่สุดได้มีการลงมติเห็นชอบด้วยคะแนน 348 ต่อ 6 เสียงจากนั้นที่ประชุมจึงได้ส่งเรื่องให้วุฒิสภาพิจารณาก่อนประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

นโยบายของรัฐมนตรีว่าการสาธารณสุขเกี่ยวกับแพทย์แผนไทย

ส่งเสริมการใช้การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกในระบบบริการสาธารณสุขทุกระดับ โดยมีการส่งเสริมดังนี้

  1. โครงการส่งเสริมการใช้แพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก
  2. โครงการสนับสนุนการพัฒนาหมอพื้นบ้าน (จากคัมภีร์เดินได้สู่คัมภีร์อ่านได้
  3. โครงการปลูกป่าสมุนไพรทุกหมู่บ้านทั่วไทย
  4. โครงการจัดตั้งสถาบันยาแผนไทยแห่งชาติ

นโยบายกรมพัฒนาแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกประจำปีงบประมาน 2555

1.พัฒนาระบบบริการสุขภาพ ทั้งการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือกให้อยู่ในแนวเดียวกัน

2.พัฒนาอัตรากำลังในกรม ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง โดยต้องมีแผนพัฒนากำลังคนให้ก้าวหน้า พัฒนาโครงสร้างกรมให้เหมาะสมกับงาน และต้องกำหนดเส้นทางความก้าวหน้าให้ชัดเจน

3.การพัฒนาตำหรับยาไทย และสมุนไพรไทย กรมต้องเป็นหลักในการพัฒนายาไทยให้มีมาตรฐาน และเป็นที่ยอมรับของแพทย์ปัจจุบัน โดยตั้งเป้าในปี ค.ศ. 2015 ประเทศไทยต้องช่วงชิงความเป็นผู้นำในตลาดสมุนไพรระดับอาเซียนให้ได้ “สมุนไพรไทย สมุนไพรอาเซียน” รวมทั้งส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียน

4.การคุ้มครองภูมิปัญญาไทย

5.การจัดการความรู้ทางแพทย์แผนไทยให้ถูกต้องมากยิ่งขึ้นเพื่อป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์จากผู้ใช้ความรู้แบบผิดๆ

นโยบายของกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับการใช้แพทย์แผนไทยในโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งเป็นประเด็นที่ทำให้ต้องมีบูรณาการแพทย์แผนไทยเข้าสู่ระบบสุขภาพอย่างเป็นทางการ

ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2555 มีการลงนามของคณะสาธารณสุขในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทย เตรียมปรับการให้บริการของโรงพยาบาล ให้บริการครอบคลุม พัฒนาแนวทางการเบิกค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วย โดยจะมีการร่วมกันพัฒนาบริการโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทย โดยบูรณาการบริการให้สอดรับกับการแพทย์แผนปัจจุบันอย่างเหมาะสม โดยมีการศึกษาวิจัยประสิทธิผล คุณภาพความปลอดภัยของการแพทย์แผนไทย ทั้งเรื่องการรักษาโรคอาการเจ็บป่วยต่างๆ ยาสมุนไพร การผดุงครรภ์ และการนวดไทย การพัฒนาบุคลากรและกรอบอัตรากำลังการแพทย์แผนไทยที่เหมาะสมในสถานพยาบาลทุกระดับ และพัฒนาให้เป็นแหล่งศึกษา ฝึกปฏิบัติงานของนักเรียน นักศึกษาด้านการแพทย์แผนไทยและสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

สรุปเป้าหมายในปี 2555  ได้แก่

  1. ให้โรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่ง มีบริการการแพทย์แผนไทยครอบคลุมถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
  2. เปิดโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยจำนวน 10 แห่ง ให้บริการตรวจรักษา ทั้งผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน ในชุมชนด้วยแพทย์แผนไทย รักษาด้วยยาแผนไทย ทั้งยาเดี่ยวและยาตำรับ เป็นทางเลือกประชาชนอย่างครบสูตร ผสมผสานกับแผนปัจจุบันโดยโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยทั้ง 10 แห่งนี้ จะบูรณาการบริการตรวจรักษาด้วยการแพทย์แผนไทยให้สอดรับกับการแพทย์แผนปัจจุบัน เช่น เอกซเรย์ ตรวจเลือด การส่งต่อผู้ป่วย โดยมีแพทย์แผนไทยและบุคลากรที่เกี่ยวข้องดำเนินการ มีบริการทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในใช้ยาแผนไทยทั้งยาเดี่ยวและสูตรตำรับ ที่มีส่วนผสมสมุนไพรหลายตัว มีทั้งนอกและในรายการบัญชียาหลักแห่งชาติ รักษาผู้ป่วยได้หลายระบบ เช่น โรคสะเก็ดเงินเบาหวาน โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคที่เกี่ยวกับโลหิตสตรี โรคที่เกี่ยวกับกล้ามเนื้อ และโครงสร้าง เป็นต้น และรักษาได้ทุกสิทธิสวัสดิการทั้งรักษาด้วยยา และการนวด การอบ การประคบสมุนไพร
  3. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาแนวทางการเบิกค่ารักษาพยาบาลของผู้ป่วยใน สำหรับโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทย 1 ชุด มีอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ เป็นประธาน เพื่อศึกษาแนวทางเบิกค่ารักษาพยาบาลโรคต่างๆ ด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย โดยจะศึกษาในโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทย 13 แห่ง ซึ่งรวมของมหาวิทยาลัย 3 แห่งด้วย ถือเป็นการปูทางครั้งแรกของประเทศ เนื่องจากยังไม่เคยมีการกำหนดมาก่อน คาดว่าจะประกาศใช้ทันในปีนี้

จะเห็นได้ว่า ในปี 2555 นี้ กระทรวงสาธารณสุขได้มีการวางแผนบูรณาการแพทย์แผนไทยเข้าสู่ระบบสุขภาพอย่างเป็นทางการ โดยการออกมาตรการและนโยบายส่งเสริมการแพทย์แผนไทยในโรงพยาบาลของรัฐ รวมถึงการนำยาสมุนไพรต่างๆมาใช้ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลทั่วไปที่ผู้ป่วยจะเข้าได้รับการรักษาเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ประชาชน อีกทั้งยังส่งเสริมด้านค่ารักษาพยาบาลซึ่งอาจช่วยให้ประชาชนหันมาสนใจการรักษาแพทย์แผนไทยมากขึ้นด้วย

แหล่งอ้างอิง

สถาบันการแพทย์แผนไทย

http://ittm.dtam.moph.go.th/

การแพทย์แผนไทย

http://th.wikipedia.org/wiki/การแพทย์แผนไทย

มารู้จักแพทย์แผนไทยกันเถอะ 

http://www.ttmed.psu.ac.th/read.php?8

ข้อมูลสมุนไพรฟ้าทลายโจร ตำรับยา วิธีการใช้ และข้อควรระวัง

http://thanyanan.com/index.php?option=com_content&view=category&layout=blog&id=38&Itemid=77&lang=th

สธ.ลุยปรับโหมดบริการโรงพยาบาลแพทย์แผนไทย

http://www.thairath.co.th/content/edu/239229

ยาธาตุเปลือกอบเชย

http://www.thaihof.org/main/article/detail/1953

สมาคมแพทย์แผนไทยฯ ผลักดัน 'พ.ร.บ.วิชาชีพแพทย์แผนไทย'ส่งเสริมให้เป็นมรดกโลก

http://www.ryt9.com/s/bmnd/1455507

หลักการตรวจวินิจฉันโรคตามทฤษฎี

http://www.horokengkard.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=539081282&Ntype=2

สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

http://bps.ops.moph.go.th/

ประเด็นของการรักษาด้วยแผนปัจจุบันและแผนไทย

http://www.pharmacy.cmu.ac.th/web2553/n45.php

ข้อดี-ข้อเสียของการรักษาแบบแพทย์แผนไทย

http://www.learners.in.th/blogs/posts/346640

จัดทำโดย

นายตุลยณัฐ วรรณกุล  553070027-9
นางสาวพรรณปพร นำไพศาล 553070055-4
นายกฤตภาส จงเจริญใจ 553070004-1
นายธชย ศรีนพรัตนกุล 553070028-7
นายภาณุพงศ์ แสงศรี 553070063-5
นายอภิสิทธิ์ นาเมืองรักษ์ 553070081-3
นางสาวณภัชนันท์ วิสิทธิ์เจริญ553070122-5
นางสาวสุดาภัทร เทียมเก่า 553070209-3
นางสาวสุนิษา ศรีสะอาด 553070212-4
นางสาวจิตตราพร นิธิพรเดชะ 553070111-0
นางสาวรุ่งทิวา คงแสนคำ 553070191-6
นางสาวภัทราพร เอื้อพงศ์การุณ 553070228-9
นายวัชรพงษ์ เพียะวงศ์ 553070197-4
นายชานนท์ เกษทอง 553070119-4
นางสาวสุธิดา สนบ้านเกาะ 553070211-6
นางสาวทวิณัฐ ศรคำ 553070133-0
นายกิตติภณ กิจกวีพจน์ 553070248-3
นายยศ วีระวัฒนตระกูล 553070261-1
นายคามิน กุลกระจ่าง 553070239-4

คำสำคัญ (Tags): #แพทย์แผนไทย
หมายเลขบันทึก: 499348เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2012 23:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 สิงหาคม 2012 09:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (26)

การแพทย์แผนไทยก็มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพไม่แพ้การแพทย์แผนปัจจุบันเลย :)

ขอบคุณครับ สมุนไพรดีจริง

เนื้อหาเยอะดีนะคะ แพทย์แผนไทยนี่เป็นแพทย์ทางเลือกที่น่าสนใจมากๆเลยค่ะ มีประโยชน์มากๆ

ประวัติศาสตร์และการพัฒนาการแพทย์แผนไทย มีมายาวนาน ศึกษาไว้ใช่ว่าจะเสียหาย

แพทย์แผนไทยมีประโยชน์มากๆเลย

การแพทย์แผนไทยเข้าถึงธรรมชาตดีจัง ถ้าใช้ควบคู่กับแผนปัจจุบัน น่าจะเป็นการรักษาที่ยอดเยี่ยมมากเลยทีเดี่ยวว > <

ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆนะคะ !!

การแพทย์แผนไทย กับยาสมุนไพรไทย น่าสนใจจริงๆครับ

อ่านแล้วเข้าใจ รูปสวย รวมๆ แล้ว >> สวดยอด !!

มีโอกาสเห็นสมุนไพรมีขายทั่วไป แต่ไม่เคยทราบประโยชน์ของมันเลย ขอบคุณมากครับ

เป็นภูมิปัญญาไทยที่สั่งสมมานาน ผ่านการคิดค้น ใช้จริงมาหลายยุคหลายสมัย น่าภูมิใจและน่าสนใจจริงๆคับ :D

ได้ความรู้ใหม่เยอะแยะเลย ดีมากๆ

แพทย์แผนไทยกว่าจะมาถึงวันนี้มีประวัติมายาวนานจริงๆ :]

แพทย์แผนไทยมีประโยชน์มากจริงๆ ชอบการใช่สมุนไพรค่ะ ดูเข้าถึงธรรมชาตดี^ ^ ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆนะคะ !!

เป็นความรู้ที่น่าสนใจมากเลยค่ะ คนไทยต้องรู้ไว้

ได้รับข้อมูลดีๆมากมายเลยย

พอได้รู้แล้วภาคภูมิใจจริงๆกับภูมิปัญญาไทย

ได้ความรู้เยอะแยะเลยหล่ะ

ชอบมากครับที่นำเรื่องประวัติศาสตร์ด้านการแพทย์และสุขภาพมาร่วมเผยแพร่นะครับ...เพราะประวัติศาสตร์ในหลายแง่มุมสามารถนำมาดูแนวโน้มของอนาคตได้ด้วยครับ....ประวัติศาสตร์ทางการแพทย์และสุขภาพมีความสำคัญ....แต่ยังมีศึกษาอย่างจริงจังน้อยมากเมื่อเทียบกับต่างประเทศ.....ผมอยากเห็นว่า...รัฐบาลน่าจะพัฒนาด้านนี้บ้าง เช่น ส่งแพทย์ไปเรียนด้านประวัติศาสตร์ หรือนักประวัติศาสตร์ไปแพทย์...เพื่อศึกษาและทบทวนด้านนี้อย่างจริงจังครับ

พึ่งรู้ว่าอบเชยเป็นยา แต่อยากบอกว่า เอาไปใส่แกงบ่อยมาก เพราะมันห๊อมหอม =_,=+

ชอบกลิ่นสมุนไพรไทย ><

เเพทย์เเผนไทยสุดยอดดด

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท