กว่าจะมาอยู่บนเคาน์เตอร์ยา


...

วันก่อนเพื่อนที่ทำงานด้านกฎหมายได้ส่งข้อความมาบอกว่ากำลังติดตามเรื่องการขออนุมัติการจำหน่ายยาตัวหนึ่งในสิงคโปร์ และจะแจ้งให้ทราบหากได้รับการอนุมัติจาก Health Science Authority of Singapore (HSA) (เทียบเท่ากับสำนักงานอาหารและยาของบ้านเรา) ที่เพื่อนแจ้งมาก็เพื่อเป็นการบอกเล่าถึงความก้าวหน้าของงานเพราะผู้เขียนได้เป็นส่วนหนึ่งในการทำการถ่ายทอดความรู้และทำการผลิตยาตัวนี้ครั้งแรกในโรงงานเมื่อต้นปีที่แล้ว

คิดย้อนกลับไปถึงครั้งแรกที่ได้มีส่วนเข้ามาทำงานกับยาตัวนี้ในปี 2008 ในฐานะหัวหน้าทีมทำการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีการผลิตจากห้องแลปที่แผนกวิจัยที่สหรัฐอเมริกามาวางแผน scale up และผลิตใน Pilot plant จนมาถึงโรงงานผลิตจริงที่สิงคโปร์ และส่งกลับไปขึ้นรูปอัดเม็ด แพ็กเกจ บรรจุกล่องที่โรงงานที่สหรัฐอเมริกา ตลอดจนมีส่วนในการให้ข้อมูลในการขออนุญาตการจำหน่ายในประเทศต่างๆ จนถึงต้นปีที่แล้วที่ยาตัวนี้ได้รับการอนุมัติให้วางจำหน่ายในยุโรป มาจนถึงปีนี้ได้รับการอนุมัติให้จำหน่ายในสหรัฐอเมริกาและอีกหลายๆ ประเทศในทวีปอื่น โปรเจคนี้ใช้เวลาถึงสี่ปีเต็มหลังจากที่ผู้บริหารได้มีอนุมัติให้ผลิตยาตัวนี้ออกสู่ตลาด 

ซึ่งทั้งนี้ยังไม่รวมไปถึงการเริ่มค้นพบยาตัวนี้และทำการศึกษาด้านคลีนิกในระยะต่างๆ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 3 -  20 ปีในยาบางชนิด และยาตัวนี้ก็เช่นกันหลังจากที่ได้ถูกค้นพบเมื่อยี่สิบกว่าปีมาแล้ว ผ่านการศึกษาและทดลองใช้มาหลายโรค จนในกระทั่งปี 2005 ได้เข้าสู่การศึกษาด้านคลีนิคเฟสสาม และเสร็จสิ้นในปี 2008 สำหรับการรักษาโรคลมชัก เมื่อผลการทดลองด้านคลีนิกออกมาดีเราจึงได้รับมอบหมายให้เริ่มทำงานเพื่อนำยาตัวนี้ออกสู่ตลาด ทั้งๆ ที่รู้ว่ายาตัวนี้มีสิทธิบัตร (patent) ในการค้าแค่อีก 7 ปี ก่อนที่บริษัทยาอื่นๆ จะเข้ามาผลิตได้

ตั้งแต่ผู้เขียนได้เข้าทำงานที่บริษัทตั้งแต่ปี 2002 ได้มีส่วนเข้าร่วมในโปรเจคต่างๆ ที่เกียวข้องกับ New Chemical Entities (NCEs) กว่าสิบตัว แต่ยาตัวที่สามารถนำออกวางขายสู่ตลาดได้ถึงตอนนี้มีเพียงสองตัว ซึ่งผู้เขียนนับว่าเป็นผู้โชคดีมากที่ได้มีโอกาสฉลองการปิดโปรเจคด้วยความสำเร็จถึงสองครั้งในสิบปี เพื่อนนักเคมีและวิศวกรบางคนไม่เคยได้ทำงานในโปรเจคที่สามารถนำยาออกวางตลาดได้เลยในช่วงเวลาเดียวกัน พวกเราพบเจอโปรเจคที่หยุดตัวลงกลางคันมากมายมากกว่าโปรเจคที่ข้ามไปถึงฝั่งฝันและประสบความสำเร็จหลายเท่าตัว เหมือนนักกีฬาโอลิมปิกจากหลากมุมทั่วโลกที่เฝ้าฝึกฝนเตรียมตัวกันหลายต่อหลายปี เพื่อการครอบครองเหรียญรางวัลสามเหรียญในแต่ละประเภท คนที่ขึ้นไปยืนรับเหรียญกับคนที่หอบกระเป๋ากลับบ้านนั้นอัตราส่วนต่างกันเหลือเกิน

จากสถิติที่เคยอ่านเจอชี้ว่านักวิทยาศาสตร์สังเคราะห์สารที่คิดว่าน่าจะมีประสิทธิภาพเป็นยาได้ในสัดส่วนประมาณ 10,000 สาร จะมีการนำไปทดลองใช้สัตว์ทดลองเช่น หนู สุนัข ลิง ประมาณ 250 สาร และจาก 250 สารนี้จะมีประมาณ 10 ตัวยาที่สามารถเอาไปทดลองในคนที่เรียกว่าเป็นการทดลองด้านคลีนิกเฟสแรก แล้วฝ่าด่านไปถึงเฟสสองและเฟสสาม และจากสิบตัวยาจะมีแค่หนึ่งหรือสองตัวที่สามารถกลายเป็นยาและได้รับการอนุมัติให้วางขายในประเทศต่างๆ ได้

การทดลองด้านคลีนิกในคนตั้งแต่เฟสแรกไปจนถึงเฟสสามจำนวนคนอาจต่างไปตามลักษณะของยา ยาที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยเรื้อรังหรือยาประเภท life style drug ที่ต้องใช้ยาเป็นประจำเช่นโรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดอุดตัน อาจต้องมีการทดลองในคนนับหมื่นคนจากทุกทวีปทั่วโลกเพื่อให้แน่ใจในประสิทธิภาพและผลข้างเคียงในการใช้ยาในระยะยาวซึ่งต้องใช้เวลาในเฟสนี้หลายปี ยาที่ใช้ในการรักษาโรคเฉียบพลันและไม่ต้องใช้ยาติดต่อกันนานเช่นยารักษาโรคมะเร็ง อาจมีการทดลองในคนจำนวนเป็นหลายร้อยหรือพันและใช้เวลาน้อยกว่า ดังนั้นในการพัฒนานำยาออกสู่ตลาดสำหรับยาที่ใช้ในการรักษาโรคเรื้อรังจะต้องใช้เวลานานกว่ายาที่ใช้รักษาอาการเฉียบพลันมาก

กว่าจะมาเป็นตัวยาอยู่บนเคาน์เตอร์ยาแต่ละชนิดใช้เวลาเนิ่นนานในการค้นพบ ใช้ทรัพยากรมากมายในการผลิต ใช้ต้นทุนที่สูงมาก ว่ากันว่ากว่าจะนำยาแต่ละตัวออกสู่ตลาดบริษัทยายักษ์ใหญ่ใช้เงินถึงหนึ่งพันล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว ซึ่งเป็นธรรมดาที่บริษัทยาก็ต้องการขายให้มาก ขายให้เร็ว ขายให้แพงเพื่อกู้ทุนคืนให้เร็วที่สุด

ไม่ว่าจะเป็นยาชนิดใดการที่เราถือยาเม็ดนั้นอยู่ในมือก็แสดงว่าในวันนั้นสุขภาพของเรากำลังไม่ปกติ ยาคือสารแปลกปลอมที่เรานำเข้าสู่ร่างกาย การนำสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกายยิ่งน้อยเท่าไหร่ก็ดีกับตัวเรา พึ่งพาการเยียวยาของร่างกายเราดีกว่าการพึ่งพายา ใช้เท่าที่จำเป็น และหากจำเป็นต้องใช้ก็ต้องใช้อย่างรู้คุณค่า ใช้ด้วยความระมัดระวังและมีวินัยให้มากที่สุด

ในฐานะที่ผู้เขียนได้คลุกคลีกับการผลิตยามาหลายปี แม้ในด้านธุรกิจปริมาณยาที่ได้รับสั่งเพิ่มมากขึ้นจะเป็นผลดีต่อการเงินการลงทุนของบริษัท แต่ทว่าข้าพเจ้ายังแอบหวังว่าปริมาณยาที่ได้รับสั่งให้ผลิตจะคงที่หรือลดลงในทุกๆ ปีสำหรับยาที่ผลิตมานาน และมีการกระจายยาไปสู่ภูมิภาคที่ยายังไปไม่ถึงมากกว่า และโรงงานสามารถใช้เครื่องมือที่มีในการผลิตยาสำหรับการรักษาโรคชนิดใหม่ เพราะนั่นหมายถึงคนเราเอาใจใส่กับสุขภาพมากขึ้น สุขภาพดีขึ้นและไม่จำเป็นต้องพึ่งพายามากมาย เพราะอย่างไรก็ตามคำว่า "กันไว้ดีกว่าแก้" ก็ยังคงใช้ได้ผลเสมอนะคะ

 

ขอให้ทุกท่านมีสุขภาพกายและจิตที่สมบูรณ์เบิกบานค่ะ

 

ด้วยความนอบน้อม

ปริม ทัดบุปผา

๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๕

 

รักไม่ต้องการเวลา (หนูนา) เปียโน

http://www.youtube.com/watch?v=5CbT5GH-suU&playnext=1&list=PLBDC5A266DFF8904B&feature=results_video

หมายเลขบันทึก: 499100เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2012 14:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 สิงหาคม 2012 20:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (29)

กันไว้ดีกว่าแก้ ถ้าแย่แล้วจะแก้ไม่ทัน ผมผ่าตัดเมื่อ พฤศจิกายน 2554 หมอนัด 2 ครั้งแล้ว ได้ยามากินมากมาย แต่ผมดื้อ และหยุดกินแล้ว หันมาดูแลร่างกาย รู้สึกดีขึ้น คิดถึงโครงการ ยาแลกไข่ ของสธ. รัฐลงทุนเรื่องยาเยอะมาก

ตอนนี้ ยา (นำเข้า) ไม่ใช้เพื่อ...การรักษาอย่างเดียว "เสียแล้ว" แต่เป็น "ธุรกิจยักษ์..หย่ายยยยยยยยย" ไปเสียแล้ว + การเมืองข้ามชาติ ... (ต้องร้องเพลงโอ้ยๆๆ...เย็บข้างในด้านช้ายจังเลย)

สวัสดีค่ะท่านอาจารย์ชยันต์,

ดูแลร่างกายให้แข็งแรง ทำสุขภาพจิตให้สดชื่นเป็นยาที่ดีที่สุดค่ะ

ขอให้อาจารย์พักผ่อนให้เพียงพอในวันยุดนะคะ :)

สวัสดีค่ะคุณพี่ Dr.Somsri,

ในสภาพเช่นนี้เราจึงต้องดูแลตัวเราเองให้ดียิ่งขึ้น เพื่อที่เราจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของยักษ์หญ่าย....ที่ว่านะคะ

ขอบคุณที่กรุณามาอ่านและฝากข้อเท็จจริงที่น่าตื่นใจค่ะ

มีความสุขในวันหยุดนะคะ :)

ขอบคุณค่ะปริมที่แบ่งปันความรู้ แอบกระซิบ มียาพาร์กินสันดีๆ ก็ส่งข่าวด้วยนะจ๊ะ ขอบคุณค่ะ

ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์เลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ อังค์ถัด กล่าวว่า ... "นอกจากนี้ ประเทศไทยควรส่งเสริมให้ใช้สิทธิประโยชน์จากการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ให้มากขึ้น แต่ในส่วนของการทำข้อตกลงหุ้นส่วนความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) กับสหรัฐฯ อยากเตือนว่า ต้องคิดให้ดีและต้องรอบคอบว่าสิ่งที่จะแลกกันนั้นเราสามารถยอมรับได้หรือไม่ โดยเฉพาะเรื่องที่ไทยยังไม่สามารถแข่งขันได้ เช่น เรื่องสิทธิบัตรยา ที่ทำให้เกิดการใช้ยาราคาแพง แต่อาจได้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) คืนมา รัฐบาลต้องพิจารณาให้รอบคอบว่าคุ้มค่าที่จะยอมแลกกันหรือไม่"

      เห็นด้วยกับคุณ P' Ple และ คุณปริมครับ "ในสภาพเช่นนี้เราจึงต้องดูแลตัวเราเองให้ดียิ่งขึ้น"

        ในด้านเหตุ : ดูแลรักษาสุขภาพเรื่องอาหาร,การออกกำลังกาย,พักผ่อน ทำทุกอย่างให้พอประมาณ สมเหตุสมผล สมดุล เพื่อเสริมสร้างเป็นภูมิคุ้มกัน...

       ส่วนในด้านผล : หากดูแลป้องกันแล้วแต่เมื่อยามเกิดเจ็บป่วยขึ้นมา...ขอราคายาย่อมเยาด้วยนะครับ...เอหรือว่าจะห้ามตัวเองไม่ให้ป่วยดี...เอหรือว่าจะกังวลเกินเหตุ...เอาไว้เวลาป่วยค่อยกังวลดีกว่าเดี๋ยวกังวลตอนนี้หากเวลาเจ็บป่วยขึ้นมาจะกลายเป็นว่ากังวลซ้ำซ้อน (555)


                                     โรคร้าย ?

       นายตระหนกตื่นขึ้นมาในเช้าวันหนึ่ง รู้สึกว่าร่างกายของตัวเองผิดปกติ จึงรีบไปพบหมอด้วยหน้าตาตื่นตระหนก

       นายตระหนก : คุณหมอครับ ผมคงไม่รอดแน่เลยครับ

 

        หมอ : ใจเย็น ๆ ก่อนครับ ไหนลองเล่าอาการของคุณให้หมอฟังหน่อยครับ

       นายตระหนก : เมื่อคืนก่อนเข้านอนผมก็เป็นปกติทุกอย่าง...แต่พอรู้สึกตัวตื่นขึ้นมาในช่วงเช้า รู้สึกว่าร่างกายของตัวเองผิดปกติ จับที่ส่วนไหนก็เจ็บที่นั่น 

 

         นายตระหนกอธิบายพร้อมกับทำท่าประกอบ เอานิ้วจิ้มที่จุดต่าง ๆ ของร่างกาย

 

            “นี่ครับหมอ หัวใจก็เจ็บ...ซี่โครงก็เจ็บ...อกก็เจ็บ...ท้องก็เจ็บ...ไม่ว่าจะจับที่ส่วนไหนก็เจ็บหมดเลยครับ”

       หมอนั่งฟังพร้อมกับพยักหน้าช้า ๆ และตรวจร่างกายโดยละเอียด นายตระหนกสังเกตเห็นคุณหมอมีท่าทางปกติจึงอดถามขึ้นไม่ได้

          “คุณหมอครับ...ตกลงผมเป็นอะไรกันแน่ครับ...ผมจะมีชีวิตอยู่ได้อีกกี่วันครับ”

 

    หมอยิ้มและตอบเสียงเรียบ ๆ ว่า “อ๋อ จะอยู่ได้อีกกี่วัน...กี่เดือน...หรือกี่ปี... ผมไม่สามารถที่จะบอกได้หรอกครับ ขึ้นอยู่กับคนป่วยเอง แต่ที่ผมรู้ตอนนี้ก็คือ คุณนิ้วชี้หักต้องเข้าเฝือกและกินยาตามที่หมอสั่งครับ”


               ขอบคุณ คุณปริม มากนะครับที่มีเรื่องราวดี ๆ มาให้เสพอยู่เสมอ



เห็นด้วยทุกประการค่ะ..ขอบคุณที่ช่วยกันเผยแพร่ข้อมูลนี้

..ชอบใจที่ได้ อ่าน..คำนี้..จากผู้มีความรู้และทรงคุณวุฒิ เรื่องผลิตยา..."กันไว้ดีกว่าแก้"..ก็ได้ผลเสมอ....เจ้าค่ะ..ยายธี

สวัสดีค่ะคุณชลัญธร

ถ้ามีข่าวคราวจักระซิบบอกนะคะ ;)

รักษาสุขภาพค่ะ

ราตรีสวัสดิ์นะคะ

สวัสดีค่ะคุณจัตุเศรษฐธรรม

ขอบคุณมากค่ะสำหรับเรื่องเล่าชวนขำที่นำมาฝาก พร้อมคำแนะนำดีดีของ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์

รักษาสุขภาพค่ะ

ราตรีสวัสดิ์ค่ะ

สวัสดียามดึกค่ะคุณพี่ใหญ่

ขอบคุณมากค่ะสำหรับกำลังใจค่ะ

ฝันดีค่ะคืนนี้

สวัสดีค่ะคุณยายธี

เราต่างต้องดูแลตัวเองก่อนพึ่งสิ่งอื่น คนอื่นนะคะ (แอบบอกว่าปริมไม่ชอบทานยาเลยค่ะ อิอิอิ)

ขอบคุณมากค่ะ ฝันดีค่ะ

สวัสดีครับคุณปริม ยาที่กำลังใช้ในการรักษา ไวรัสตับอักเสบซีแพงมากต้องร้องเรียนกับสนง.ประกันสังคมกว่าจะได้มา แต่ก็ยังตอบไม่ได้ว่าจะหายขาด 100 เปอร์เซนต์ อยู่ที่ตัวเราเองด้วยว่าจะรับยาได้มากน้อยแค่ไหน

ดีใจและภูมิใจที่คนไทยมีส่วนลิตยาคุณภาพสู่โลก ขอบคณครับ

เก่งรอบด้านเลยครับ คุณปริม

สวัสดีค่ะคุณพิชัย

ปริมไม่เคยผลิตยาที่เกี่ยวข้องกับไวรัสตับอักเสบซีค่ะ เคยคลุกคลีกับยาที่ใช้สำหรับไวรัสตับอักเสบบีกว่าสามสี่ปี จนแทบฝันถึงกิจกรรมที่เกี่ยวกับยาตัวนั้นเลย ยาที่ยังอยู่ในสิทธิบัตรจะแพงมากค่ะจนกว่าสิทธิบัตรจะหมด บริษัทแถบจีน อินเดียผลิตได้ราคาจึงจะลดลงค่ะ

ปริมโชคดีที่ได้รับโอกาสที่ดีค่ะเลยได้มีโอกาสทำงานที่ตนรัก และมีความสุขที่ได้ทำค่ะ และก็ตั้งใจทำอย่างมากด้วยค่ะ โปรเจคสุดท้ายปิดตัวลงอย่างสวยงามปริมเลยตั้งใจจะหาประสบการณ์ด้านอื่นบ้างค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ ฝันดีค่ะ

สวัสดีค่ะท่านอาจารย์วิชญธรรม

ด้านไหนคะอาจารย์? อิอิอิ ล้อเล่นค่ะ

ด้านที่อยากเก่งแต่ทำไม่ได้ค่ะคือการปฏิบัติธรรมให้ถึงที่สุด อันนี้ทำยากจริงๆ ด้านอื่นก็ไม่ถึงกับเก่งค่ะ พอถูถูไถไถไปได้ค่ะ

เข้านอนแล้วค่ะอาจารย์ เดี๋ยวถูแซวว่าเป็นคนนอนน้อยอีก (ความจริงกลัวหน้าแก่มากกว่าค่ะ อิอิอิ)

ฝันดีค่ะ

  • วันก่อนเห็นเพื่อนที่ทำงานซื้อยาบำรุงสมองยี่ห้อหนึ่งมาทาน รู้สึกแปลกใจค่ะ ถามพี่เขาว่าซื้อทำไม เขาบอกว่าต้องทานป้องกันไว้ก่อน กันสมองเสื่อม หลงลืม เพราะอายุมากขึ้น
  • ฟังแล้ว ก็ไม่อยากอธิบายอะไรในตอนนั้น แต่คงหาโอกาสเหมาะสมที่จะแสดงความเห็นให้พี่เขาเข้าใจ  ไม่ทราบว่าคุณปริมเห็นด้วยใช่ไหมคะว่าไม่มียาป้องกันใดสำคัญไปกว่า "อาหาร" "อารมณ์" "ออกกำลังกาย" ที่ดี เป็นยาวิเศษแล้ว ... คิดแบบพื้นฐานไม่มีความรู้อะไรน่ะค่ะ เพราะโดยส่วนตัวไม่ชอบให้มีสารใด ๆ ในร่างกาย หากมิใช่ความจำเป็นเพื่อการรักษา
  • ขอบคุณนะคะที่เขียนบันทึกนี้ให้ทั้งความรู้ ความรักด้วยความห่วงใย สัมผัสได้ถึงความอ่อนโยนนั้นค่ะ

สวัสดีค่ะคุณศิลา,

เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งค่ะที่ว่า 3อ อาหาร อารมณ์ ออกกำลังกายเป็นการป้องกันโรคต่างๆ ได้ดีที่สุดค่ะ

ปริมเองก็ไม่ชอบทานยามาตั้งแต่เด็กค่ะ ยกเว้นในกรณีที่ขัดใจคนอื่นไม่ได้จริงๆ อิอิอิ

ขอบคุณมากค่ะที่แวะมาให้กำลังใจ มาทักทายกันเหมือนเช่นเคย

สุขสันต์วันอาทิตย์นะคะ

ขอขอบคุณกัลยาณมิตรทุกท่านที่เข้ามาอ่าน มาให้กำลังใจบันทึกนี้นะคะ

สุขสันต์วันอาทิตย์ค่ะ

สวัสดีตอนเช้า..เจ้าค่ะ..อดคุยไม่ได้..จะไปขี่จักรยาน..วันนี้..อุณหภูมิที่นี่..จะขึ้นถึง สามสิบหก..องศา..บางแห่งอาจถึงสี่สิบ...(จะมาบอกว่า...เรื่องดูแลตนเอง..เจ้าค่ะ..คุณตาตีตรา เธอ บอกชื่อยาและให้ทดลองยา...ยายธีบอกว่า..จะดูแลตัวเองไปก่อน.คุณตา(หมอ).บอกว่าไม่มีผลข้างเคียง..แน่ะ..ยายธีก็ดื้อ..ยา(คือไม่ยอมกินไม่ยอมทา)..เหมือนกันเจ้าค่า....อ้ะะๆๆมีเพื่อนแล้ว..อิอิ..คุณปริมนี่เอง..๕๕๕.....)...ยายธี

ขอบคุณสำหรับข้อมูลนะคะจะนำไปเล่าต่อให้พี่ๆน้องๆ ว่าตัวยาแต่ละชนิดนั้นกว่าจะคิดค้นขึ้นมาได้ลำบากยิ่งนัก. หลายๆคนคิดไม่ถึงเพราะส่วนใหญ่เวลาไปหาหมอหมอจะสั่งยาให้แถมบางครั้งขอหมอเพิ่มอีก(จะได้ไม่ต้องมาบ่อยๆ)เผื่อว่าทุกคนจะได้ตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ยาค่ะ

มาอ่านได้ความรู้ เคยคาดเดาว่า ขบวนการผลิตยาเป็นแบบไหน ก็นึกไม่ถึงความยากลำบากขนาดนี้

แล้วยารักษากลุ่มโรคของระบบกล้ามเนื้อเล่าคะ ถ้าน้องปริมพอมีเวลานำมาเล่าบ้าง

เมือวานพิมพ์ไปแล้ว พอกดมีแมวโผล่ อืม พิมพ์ใหม่วันนี้ จะบอกว่า เพิ่งทราบว่า เพลงนี้ชื่ออะไร เป็นเพลงที่ลูกชอบกดเปียโนเล่นโดยที่เขาไม่รู้จักเพลง รู้แต่ว่ารุ่นพี่เล่นมาแบบนี้ แม่และลูกตามหากันไม่เจอ เพิ่งรู้จักชื่อเพลงวันนี้

ขอบคุณมากค่ะ

น้องปริมค่ะ กว่าจะเป็นยา .. กว่าจะเป็นยาบนเคาน์เตอร์ยา ..กว่าจะเป็นยานำไปใช้รักษาโรค... และกว่าจะเป็นยาที่ถูกกำจัดจากร่างกาย ลงสู่สิ่งแวดล้อม อืมม์....มีเรื่องราวน่าสนใจทุกขั้นตอน ขอบคุณมากที่นำมาเล่าแบ่งปันกันค่ะ ดูเหมือนทุกคนก็เห็นด้วยกับการรักษาสุขภาพให้แข็งแรงทั้งกายใจ เป็นสิ่งที่ดีที่สุดนะค่ะ

 

เรื่องของการตรวจพบปริมาณสาร เมแทบอไลท์ ที่ได้จากการสลายตัวยา ที่เรารับเข้าไป พบปนเปื้อน ในน้ำทิ้งที่ผ่านกระบวนการบำบัดดูแลน้ำทิ้ง และพร้อมปล่อยลงสู่แหล่งน้ำ ก็เป็นที่น่าเป็นห่วงไม่น้อยนะค่ะ  สารบางตัวถึงแม้มีปริมาณน้อย ดักจับไม่ได้โดยเครื่องมือตรวจสอบทางเคมี เพราะต่ำกว่าความสามารถที่เครื่องจะจับได้ (lower detection limit) แต่เมื่อนำมาทดสอบความเป็นพิษ ก็ยังแสดงความเป็นพิษ  นึกๆแล้วน่าสะพรึงกลัวหากปนเปื้อนไปในแหล่งน้ำ จนกระทั่ง มีผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อสิ่งมีชีวิตในแหล่งน้ำ และสุดท้ายก็กลับมาหาคนเราอีกครั้ง 

 

หากรับยาเข้าสู่ร่างกายมาก โดยไม่จำเป็น ก็ขับออกมามาก ลงสู่แหล่งเก็บรวบรวมน้ำทิ้ง ของชุมชนเมือง (ถ้ามี) แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่มี ทำให้ปนเปื้อนสิ่งแวดล้อมมาก ต้องใช้กระบวนการในการจัดการที่สิ้นเปลืองทั้งนั้น ทำอย่างไรที่จะตัดวงจรให้ใช้ยาน้อยลง  นี่ยังไม่คิดถึงยาปลอมไม่ได้คุณภาพอีก มีสารคดีออกมาให้เห็นบ่อยๆ หรือแม้แต่งานวิจัยบางครั้งก็มีเงื่อนงำ เมื่อมีบริษัทยักษ์ใหญ่อยู่เ่บื้องหลัง นักวิจัยก็มีกิเลส จนตกเป็นทาสเงิน บิดเบือนงานวิจัย เป็นเรื่องราวในติดตาม ในกระแสข่าวโลก หรือโลกฮอลสีวูด ชีวิตเราตกอยู่ในภาวะเสี่ยงแทบจะทุกเรื่องนะค่ะ น้องปริม    เราต้องเรียนรู้ จัดการความเสี่ยง ให้ดำรงชีวิตได้บนความสุข รู้เท่าทัน ทั้งภายนอกและภายในเชียวนะค่ะ :-))

สวัสดีค่ะคุณยายธี

ดีใจค่ะที่คุณยายแวะมาคุยด้วยค่ะ..ปั่นจักรยานสนุกไหมคะคุณยาย...เมื่อวานปริมก็ไปเดินในเมืองมาทั้งวันค่ะ พอกลับถึงบ้านเหนื่อยมากเลย ทำให้รู้ว่าเดินในเมืองเหนื่อยมากกว่าเดินในสวนสาธารณะมากมายค่ะ แม้จะใช้เวลาเดินเท่าๆกันก็ตาม

คุณยายรักษาสุขภาพนะคะ พอไม่สบายแล้วไม่ยอมกินยา คงต่างกับกันไว้ดีกว่าแก้นิดนิดนะคะ ;)

สุขสันต์วันจันทร์นะคะ ;)

สวัสดีค่ะพี่หมอภูสุภา

ความจริงแล้วกระบวนการผลิตยาก็ไม่ได้ต่างไปจากขบวนการผลิตสารเคมีอื่นๆ นะคะ ไม่ต่างกันเลยบางขบวนการก็สลับซับซ้อน บางขบวนการก็ง่ายๆ สิ่งทีต่างคือด้านของ compliant ที่เราต้องใส่ใจมากเป็นพิเศษ เพราะ regulator คือลูกค้าคนสำคัญของเราเช่นเดียวกับคนใช้ยาทั่วไปที่เราต้องคำนึงด้านความปลอดภัยเป็นหลักค่ะ

ที่โรงงานที่สิงคโปร์ได้รับมอบหมายให้ผลิตยาในสามลักษณะค่ะ

  1. ยาที่ต้องการปริมาณการผลิตสูงพวก medium to high dosage ยากลุ่มนี้ราคาถูกแต่ผลิตเยอะมากทั้งปีก็ว่าได้ เช่น lamivudine, ranitidine, retigabine
  2. ยาที่ใช้สำหรับโรคทางเดินหายใจ respiratory product, ยากลุ่มนี้แพงมากที่สุดเช่น salmeterol, Fluticasone propionate และสารใกล้เคียงตัวอื่น
  3. ยาที่ใช้สำหรับรักษาโรคมะเร็ง Oncology product, ยากลุ่มนี้มีทั้งปริมาณมากและน้อย แล้วแต่ตัวยา เช่น Pazopanib และยา onco ตัวใหม่ๆ อีกหลายตัว

เหตุผลที่มีแต่กลุ่มยาพวกนี้ผลิตที่นี่ก็เป็นในด้านธุรกิจการลงทุนค่ะ และความพร้อมด้าน infra ด้วย

เลยยังไม่มียากลุ่มกล้ามเนื้อมาที่นี่ คงเป็นที่ primary site อื่นเช่น cork uk ค่ะ ปริมเลยไม่มีประสบการณ์ค่ะ การตัดสินใจว่ายาชนิดไหนผลิตที่ไหนทำโดยผู้บริหารระดับสูงมาก และตัดสินในช่วงคลีนิกเฟสหนึ่งหรือสองค่ะ

อยากฟังน้องเล่นเปียโนเพลงรักไม่ต้องการเวลาจังค่ะ ;)

สุขสันต์วันจันทร์ค่ะ ;)

สวัสดีค่ะพี่อาจารย์ kwancha,

พี่อาจารย์ชวนให้คิดถึงโปรเจคสุดฮ็อตฮิตตอนนี้คือเรื่องของ sustainability ค่ะ ทำอย่างไรให้ carbon footprint ต่ำที่สุดในการคิดค้นขบวนการผลิตยาค่ะ ประหยัด ปลอดภัย reuse recover recycle etc รวมไปถึงการใช้สารที่เป็นอันตรายน้อยลงเพื่อความปลอดภัยในด้านคุณภาพและ environment, มีกฎข้อบังคับเกี่ยวกับสารที่เป็น aqua toxic มีโปรเจคที่จัดขึ้นเพื่อให้โรงงานเป็นโรงงานแห่งอนาคต ฯลฯ คุยกันได้ทั้งวันในหัวข้อนี้ค่ะ

สิ่งที่โรงงานคิดจะทำก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งในสายโซ่เท่านั้นนะคะ แต่ปัญหาที่พี่อาจารย์พูดถึงมีเริ่มขึ้นมาตั้งแต่เราเริ่มคิดที่จะนำสารเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายแล้วค่ะ หากเรารับสารเหล่านั้นเข้าไปในระบที่สูงเกินไป ร่างกายเราก็จะกำจัดออกมาในต่างรูปแบบต่่างๆกันไป บางสารร่างกายเราเองที่ metabolite ออกมาให้เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม

แต่ตอนนี้ทั่วโลกเรากำลังระดมใช้ทรัพยากรอย่างเมามัน บางอย่างก็รู้ที่มาที่ไปทั้งหมด บางอย่างก็รู้แค่เพียงบางส่วน บางอย่างก็ยังนึกกันไม่ถึงจนกว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นมาสักอย่่าง บางอย่างก็รู้ผิดผิด บางอย่างก็ไม่รู้อะไรเลย

เราคงต้องดูแลตัวเองให้ดีขึ้น บริหารความเสี่ยงของตัวเองและคนรอบตัวเราให้ดีค่ะ เลือกทำ เลือกใช้ เลือกเป็นในสิ่งที่จะทำให้เราเสี่ยงต่อการใช้สิ่งเหล่านีี้ให้น้อยที่สุดค่ะ อยู่อย่างพอเพียง, holistic care, simple lifestyle คงจะเป็นวิถีที่ปริมจะเลือเดินค่ะ

ขอบคุณคอมเมนท์ชวนคิดชวนพิจารณานะคะพี่อาจารย์

มีความสุขในวันหยุดวันนี้ค่ะ ;)

สวัสดีค่ะคุณต้อยติ่ง

ป้องกันโรคภัยด้วย 3อ อย่างที่คุณศิลาเอ่ยไว้ข้างบนคงจะเป็นการดีที่สุดนะคะ อาหาร อารมณ์ ออกกำลังกาย

กันไว้ดีกว่าต้องมานั่งใช้ยารักษาค่ะ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งใด อะไรก็ตาม มากไปน้อยไปไม่ดีเสมอค่ะ พอดี พอดี เป็นดีที่สุดค่ะ

สุขสันต์วันทำงานอีกวันนะคะ

ขอบคุณค่่ะ

สวัสดีครับคุณปริม กว่าจะมาอยู่บนเคาน์เตอร์ยา นี่เป็นบันทึกที่เติมความรู้ให้ผมได้เยอะครับ ทำให้เราคนไทยได้ทราบความเป็นมาของยาว่าเป็นยังงัย หลายคนที่รู้น่ะมีแต่จำนวนมันน้อยมากๆ ... ดีมากๆ เลยครับ ขอบคุณที่เสียสละเวลาเขียนไว้เป็นวิทยาทานนะครับ ..มีความสุขทุกวันนะครับ

สวัสดีค่ะคุณเพชร

ดีใจค่ะที่ทราบว่าเรื่องที่เล่ามีประโยชน์อยู่บ้างค่ะ เล่าเท่าที่เล่าได้ค่ะ

ขอบคุณมากค่ะที่มาแวะอ่าน

สุขสันต์ยามค่ำกับครอบครัวนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท