สอนอย่างไรให้ลูก(หลาน)ศิษย์ อ่านหนังสือได้ 4 ชาตรี สำราญ


ถ้าเราคิดว่าเด็กที่อ่านหนังสือไม่ออกคือเด็กโง่ วิธีคิดและการคิดนี้ก็จะส่งผลสู่ความคิดของผู้คิด ถ้าตอกย้ำความคิดนี้บ่อยๆ ก็จะกลายเป็นความเชื่อขึ้นมาได้ ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้คิดและผู้ถูกคิด

สอนอย่างไรให้ลูก(หลาน)ศิษย์

อ่านหนังสือได้ (4)

 

            ถ้าเราคิดว่าเด็กที่อ่านหนังสือไม่ออกคือเด็กโง่   วิธีคิดและการคิดนี้ก็จะส่งผลสู่ความคิดของผู้คิด  ถ้าตอกย้ำความคิดนี้บ่อยๆ  ก็จะกลายเป็นความเชื่อขึ้นมาได้  ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้คิดและผู้ถูกคิด 

            เด็กที่ถูกครูทอดทิ้งมากมายเพราะถูกคิดว่าเป็นเด็กโง่  ซึ่งถ้าจะสอนซ่อมเสริมก็เสียเวลา  เมื่อโง่ย่อมอ่านไม่ออกคิดไม่เป็น  สู้เอาเวลาไปสอนเด็กเก่งไม่ดีกว่าหรือ

            คนโง่  คือคนกลัว  คือคนขี้ขลาด  ในโลกนี้เรามีคนโง่มากมาย  ร่ำรวยเงินทองอยู่แล้ว  แต่กลัวลูกหลายจนก็กอบโกยยิ่งขึ้น  ใฝ่คว้าอำนาจ  แสวงหาตำแหน่งกอบโกยโกงกินบ้านเมือง  นี่คือคนโง่  เพราะไม่รู้จักความพอดี  ผมเขียนเตือนตนเองว่า  “ธรรมชาติจะให้ทุกสิ่งทุกอย่างแก่ผู้ที่ไม่รู้จักพอ  แล้วธรรมชาติจะดูเขาผู้นั้นบ้าอยู่กับสิ่งที่เขาได้มา”  ผมชอบอ่านหนังสือเรื่องหนึ่งชื่อ  โลกนี้มีแต่คนบ้า  ของท่านพุทธทาสภิกขุ  เป็นหนังสือที่ดีมากสำหรับผม  เพราะสอนจิตวิทยาวิญญาณให้แก่ผม

            ลูกศิษย์ทุกคนของผมไม่ใช่คนโง่  เพราะเขาไม่กลัวที่จะต้องอ่านซ้ำๆ  กับสิ่งที่เขาอ่านไม่ได้  ทำไม่ได้  เมื่อลูกศิษย์ของผมไม่รู้วิธีการอ่านให้ถูกต้อง  ผมจึงต้องเรียนรู้วิธีการอ่านของเขา  ครับ  ครูต้องเรียนรู้วิธีการเรียนของลูกศิษย์  จึงจะสามารถสร้างวิธีการสอนของตนขึ้นมาได้  ครูต้องนำลีลาการเรียนของศิษย์มาคิดสร้างลีลาการสอนของครูอยู่เสมอ  ผึ้งเองนั้นมีวิธีการเรียนที่ต่างไปจากเด็กหลายๆ คนที่ผมเคยสอนผ่านมา  กล่าวคือ  ผึ้งไม่ชอบวาดรูปตามแบบที่ครูนำมาสอนหรือให้วาดตาม  แต่ชอบวาดรูปตามใจที่ตนเองคิด  และผึ้งชอบคิดตามที่ตนเองเห็น  แต่บ่อยครั้งที่ผึ้งคิดต่างไปจากเด็กคนอื่นๆ มาก  เช่น  ครั้งหนึ่งผึ้งซื้อลูกโป่งมาเล่น  แล้วบังเอิญคุณย่าทำลูกโป่งแตก  ผึ้งร้องไห้  คุณย่าบอกว่าจะซื้อให้ใหม่  ผึ้งตอบว่า  “ลูกโป่งของผึ้งคือของผึ้ง  ย่าไม่สามารถซื้อมาแทนลูกโป่งที่ผึ้งซื้อเองได้”  ครับ  มันเป็นคำพูดของเด็กทว่ามันลึกซึ้งเกินที่เด็กหลายๆ คนจะคิดพูดได้  ผมจึงต้องการให้ผึ้งเห็นความจริงที่ควรเห็น  นอกจากนี้   ผึ้งยังมีสิ่งที่เด็กอื่นๆ ไม่ค่อยมี  คือ  จินตนาการต่อเนื่อง  เช่น  คิดอะไรในวันนี้  พรุ่งนี้หรือหลายๆ วันจะมาคิดต่อ  และถ้าทำงานหรือเรียนจะเรียนได้ในเวลานานๆ  จนรู้เรื่องเข้าใจในสิ่งนั้นก่อน  ผึ้งก็จะหยุดเรียน  แต่ผมยังเป็นห่วงผึ้งอยู่อย่างหนึ่งคือ  ถ้าทำอะไรไม่ได้เป็นที่หนึ่ง  (ในกรณีเรียนร่วมกันกับเพื่อนๆ)  ผึ้งจะไม่พอใจ  นี่คือข้อที่ผมจะต้องช่วยเหลือผึ้ง  กิจกรรมการเรียนการสอนของผู้สอนจะต้องสร้างขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือผู้เรียนในส่วนนี้ด้วย  ผู้สอนโปรดอย่าได้ละเลยว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย  นี่คือจุดเปราะบางอย่างหนึ่งของอารมณ์  แต่ผึ้งก็มีจุดเด่นอยู่อย่างหนึ่งคือ  ชอบช่วยเหลือน้องหรือผู้ที่อ่อนแอกว่า  คนเราทุกคนย่อมมีจุดเด่นและจุดด้อย  ทำอย่างไรเราจึงจะรู้เท่าทันถึงสิ่งนั้น  นี่คือสิ่งที่เราจะละเว้นเสียไม่ได้

            เวลาผมจะให้ผึ้งวาดรูป  ผมจะนั่งคุยกับผึ้งถึงเรื่องราวที่ผึ้งจะวาดได้  แล้ววางอุปกรณ์ให้ผึ้งวาดเอง  ถ้าผมจะพัฒนาการวาดของผึ้ง  ผมจะชวนเพื่อนของผึ้งมาวาดรูป  โดยจะสอนเพื่อนของเขา  ผึ้งจะนั่งฟังวิธีการแล้วไปวาดเอง  นี่คือวิธีการเรียนอย่างหนึ่งของผึ้งที่ผมสังเกตได้

            “ลูกโป่ง  ปู่  ลูกโป่ง”  ผึ้งถือลูกโป่งมาหาผม  บทเรียนบทใหม่เริ่มต้นแล้ว  ผมเขียนลงไปในแผ่นกระดาษว่า

                        ลูกโป่ง

                        ลูกโป่ง                        บิน

 

            ผึ้งอ่านแล้วหัวเราะ  ก่อนจะพูดว่า  “ลูกโป่งบินไม่ได้  ต้องลอย”  ผมรีบลบคำว่า  “บิน”  ออก  ใส่  “ลอย”  แทนที่

                        ลูกโป่ง

                        ลูกโป่ง                        ลอย

                        ลูกโป่ง                        ลอยไป             ลอยมา

            ผึ้งดู     ลูกโป่ง                        ลอยไป             ลอยมา

 

            จะเห็นได้ว่า  คำว่า  “ลอย”  ผึ้งเป็นคนบอกให้ผมนำมาใช้ด้วยเหตุผลว่า  ลูกโป่งบินไม่ได้ต้องลอย  ตรงนี้หมายถึงผึ้งเข้าใจคำว่า  บินและลอย  ได้ทั้งความหมายและวิธีการใช้  เพราะเรื่องราวที่อ่านและคำที่นำมาใช้คือเรื่องราวและคำที่ผึ้งเป็นผู้กำหนด  อีกทั้งมีความหมายต่อผึ้งด้วย

            ผมนำเรื่องลูกโป่งที่เขียนเสร็จแล้วปิดไว้ข้างฝาผนัง  ผึ้งยืนอ่านอยู่ข้างๆ  ผมเริ่มบทเรียนแผ่นที่สอง

            ลูกโป่ง                        ลอยไป             ลอยมา

ผีเสื้อ    บินมาดู            ลูกโป่ง                        ลอยไป          ลอยมา

            ปลาดู               ลูกโป่ง                        ลอยไป          ลอยมา

            ผึ้งดู                 ลูกโป่ง                        ลอยไป          ลอยมา

 

            “ปู่เขียนซ้ำๆ”  เด็กน้อยบอดผม  นี่คือสัญญาณเตือนภัยแห่งการจัดการเรียนการสอน  ผู้สอนจำต้องรับฟังสิ่งนี้เพราะนี่คือ  คำร้องขอของผู้เรียนให้ผู้สอนเปลี่ยนลีลาการสอน  ถ้าผู้สอนยังจะขืนสอนต่อไป  ผู้เรียนจะไม่ขืนใจเรียน

             ลูกโป่ง

                                    ลอยไป             ลอยมา

                                    ผึ้งเดิน              ไปหา

                                    ลูกโป่ง                        ของผึ้ง

 

            เขียนเสร็จผมก็อ่านนำ  ผึ้งอ่านตาม  เพียงสามเที่ยวเท่านั้นผึ้งจำได้  ท่องปากเปล่า  บทเรียนบทนี้ผมไม่ต้องการให้ผึ้งอ่านออก  แต่ต้องการให้ผึ้งจำไปเพื่ออ่านออก  คือ  จำความก่อนอ่านคำได้

            การเปลี่ยนแปลงลีลาการสอนแบบฉับพลันจะจูงมือผึ้งให้สนใจต่อการเรียนรู้  และได้ผลตามแผนที่วางไว้  ผึ้งจะค่อยๆ ชี้คำตามคำอ่านที่ท่องจำมาได้  นี่คือวิธีการเรียนอีกวิธีหนึ่งของผึ้ง

            วิธีสอนใหม่ๆ จะเกิดขึ้นเสมอ  ถ้าผู้สอนหมั่นสังเกตวิธีเรียนของผู้เรียน  เพราะเด็กๆ ผู้เรียนจะเป็นผู้สอนวิธีสอนให้  ผมคิดเสมอว่าเด็กนั่นแหละคือครูของผม

            ถ้าครูหรือผู้สอนตามใจผู้เรียน  อ่านหรือเขียนตามที่ผู้เรียนต้องการ  ผู้เรียนก็จะอ่านหรือเขียนตามใจผู้สอนเช่นกัน  จะเห็นได้ว่าถ้าเราตามใจเด็ก  เด็กก็จะตามใจเรา  การสอดรับทางอารมณ์ระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน  ช่วยให้การเดินทางสู่เป้าหมายง่ายขึ้น  มีครูและผู้ปกครองมากมายต้องการให้เด็กอ่านได้เขียนได้ทันที  แต่สำหรับผึ้ง  ทุกครั้งที่ให้เขียนหนังสือผึ้งเหนื่อยหน่าย  ถ้าให้ผึ้งวาดรูป  ผึ้งจะชอบ  ผมจึงให้ผึ้งวาดรูปแทนเขียนตัวอักษร  ความจริงการวาดรูปด้วยวิธีการวาดลากเส้นโค้งงอ  วงกลม  เส้นตรง  ก็เป็นการฝึกกล้ามเนื้อเล็กให้แข็งแรง  และเป็นการเขียนหนังสืออีกแบบหนึ่งเช่นกัน  แต่เป็นการเขียนรูปร่างที่ยังไม่เป็นตัวหนังสือหรือตัวอักษร  เมื่อกล้ามเนื้อนิ้วมือแข็งแรง  จับดินสอได้มั่นคงก็จะเขียนลากตัวอักษรได้เช่นกัน

            สำหรับการฝึกอ่าน-เขียน ก.ไก่  ข.ไข่  และเลข 1, 2, 3 นั้น  ควรให้เด็กๆ ฝึกอ่านคำ  ชี้คำ  และเล่นเกมเลือกคำตามคำบอกอยู่เสมอ  เป็นบทเรียนพิเศษที่นอกเหนือจากการเรียนการสอนดังกล่าวผ่านมา

            ผึ้งพอใจที่จะอ่าน  ก.ไก่  ข.ไข่  นับเลข  นับจำนวน  และบวกลบเลขง่ายๆ ไปพร้อมๆ กัน

            เด็กๆ ส่วนใหญ่ชอบอ่าน  ก.ไก่  ข.ไข่  ท่องจำชี้คำ  และบางคนอ่านพร้อมเขียนตามรอยเส้นประไปด้วย  แต่ผึ้งไม่ชอบเขียน  ผลที่ผึ้งไม่ชอบเขียนพยัญชนะส่งผลสู่การเขียนคำด้วย  ซึ่งจะได้กล่าวในบทต่อไป

            “การเรียนรู้ของเด็กๆ  นั้นมีจังหวะและเวลา”  นี่คือบทเรียนที่ผึ้งสอนผม

 

 

รวบรวมจากหนังสือวารสาร สานปฏิรูป

อ่านเป็นเล่มได้ที่นี่ครับ https://docs.google.com/docume...



หมายเลขบันทึก: 498847เขียนเมื่อ 16 สิงหาคม 2012 12:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2018 14:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

คนสอน...จะสอน...อย่างไร?.....การสอนเป็นเรื่องยากนะคะ อย่างP'Ple...ไม่มีความสามารถมากนัก...ไม่ถนัดด้วยค่ะ

 

ขอบคุณบทความดีดีที่มีให้อ่านนี้นะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท