สอนอย่างไรให้ลูก(หลาน)ศิษย์ อ่านหนังสือได้ 2 ชาตรี สำราญ


การนำคำง่ายๆ ที่เริ่มต้นจากผู้เรียนต้องการเรียนหรือกล่าวออกมาครั้งแรกเป็นคำนำสอน แล้วเพิ่มคำขึ้นทีละนิดพอให้เป็นวลี แล้วขยับขึ้นสู่ประโยค เด็กๆ ผู้เรียนจะอ่านตามสิ่งที่เราสอนเขาได้ทัน

สอนอย่างไร  ให้ลูก(หลาน)ศิษย์

อ่านหนังสือได้ (2)

 

            “ผีเสื้อ  ปู่  ผีเสื้อ”  หลานผึ้งชี้มือไปที่ผีเสื้อกำลังโบยบินอยู่ที่ดอกไม้  เด็กน้อยวิ่งไล่ผีเสื้อไปรอบๆ  ต้นไม้พุ่มเตี้ยที่กำลังออกดอกเต็มต้น  เสียงหัวเราะที่ร่าเริงของผึ้ง  ส่งผลให้คนเป็นปู่สบายใจไปด้วย  เป็นความสุขของคนแก่อย่างผม  ที่มีเวลาช่วงสั้นๆ  ได้ใช้ชีวิตอยู่กับลูกและหลาน

            “ใครดูผีเสื้อลูก”  ผมถามหลานสาว

“ผึ้งดูผีเสื้อค่ะ”  เด็กน้อยตอบผม  ผมถือโอกาสสอนทันที  โดยพูดว่า

                                    ผีเสื้อ

                        ดู          ผีเสื้อ

            ผึ้ง        ดู          ผีเสื้อ

“เขียนปู่เขียน”  หลานสาวเร่งเร้าให้ผมเขียน  แสดงว่าผึ้งจำข้อความของบทเรียนที่ผ่านมาได้  เรา  ผมหมายถึงหลานสาวกับปู่เดินจูงมือกันไปที่ห้องเรียนหนังสือ  แล้วผมก็เขียนคำเรียงตามลำดับให้ผึ้งอ่าน  เด็กน้อยสามารถอ่านได้  ผมดีใจมาก  เพราะวันนี้พอผมเขียนผีเสื้อ  ผึ้งก็อ่านได้  พอผมเขียนดู  ผึ้งก็อ่านได้ทันที  นั่นแปลว่า  อาการอ่านคล่องต่อคำๆ นั้นเกิดกับหลานสาวของผมแล้ว  ผมจึงนำแผ่นกระดาษแผ่นนั้นไปปิดไว้ที่ฝาผนังต่อจากบทเรียนเรื่อง  ปลา  เมื่อวานนี้

วันนี้ผมเห็นว่า  บรรยากาศแห่งการเรียนรู้เริ่มขึ้นแล้ว  ผึ้งพร้อมที่จะเรียน  ผมจึงนำปลามาพบกับผีเสื้อ  โดยเขียนว่า

                                    ปลา     ดู          ผึ้ง

ผึ้ง        ดู          ปลา

ปลา     ดู          ผีเสื้อ

ผีเสื้อ    ดู          ปลา

                        ปลา     ดู          ผึ้ง        ดู          ผีเสื้อ

                        ผีเสื้อ    ดู          ผึ้ง        ดู          ปลา

                        ผึ้ง        ดู          ปลา     ดู          ผีเสื้อ

ผีเสื้อ    ดู          ปลา     ดู          ผึ้ง        ดู          ผีเสื้อ

ปลา     ดู          ผึ้ง        ดู          ผีเสื้อ    ดู          ปลา

           

            ขณะที่ผมเขียน  ผึ้งก็อ่านไปพร้อมๆ กัน  นั่นแสดงว่าผึ้งอ่านคำออก  ทำไมเด็กน้อยจึงอ่านคำเหล่านี้ได้อย่างรวดเร็ว  ครับใช่  เพราะว่าเป็นคำง่ายๆ ใกล้ตัวผึ้งนั่นเอง  “คำใดที่เด็กคุ้นชินคำนั้นเด็กจะอ่านได้ง่าย”  นี่คือทฤษฎีที่ผมค้นพบมาจากการสังเกตตลอดระยะเวลาที่ทำการสอนผ่านมา

            “สวย”  ผึ้งพูดขึ้นเบาๆ  ผมไม่ปล่อยให้คำนี้ผ่านไป  รีบดึงกระดาษมาเขียน  “สวย”  ผึ้งอ่านได้ทันที  เด็กน้อยยิ้มอย่างดีใจที่ตัวเองอ่านได้  ผมชมว่าเก่ง  แล้วเราก็เริ่มบทเรียนใหม่

                                                            สวย

                                                            ปลาสวย

                                                ผี้เสื้อสวย

ปลาสวย          ดู          ผี้เสื้อสวย

ผีเสื้อสวย         ดู          ปลาสวย

                        ผึ้ง        ดู          ปลาสวย

                        ผึ้ง        ดู          ผีเสื้อสวย

                        ผีเสื้อสวย         ดู          ผึ้งสวย

                        ปลาสวย          ดู          ผึ้งสวย

 

            บทเรียนนี้ไม่ยากสำหรับผึ้งหลานสาวของผม  เธออ่านตลอดเวลาที่ผมกำลังเขียนอยู่  และเมื่อผมเขียนเสร็จ  ผึ้งก็อ่านได้  สองคนปู่หลานพบความสำเร็จในการเรียนรู้บทเรียนวันนี้

            เมื่อมาถึงตรงนี้  สิ่งแรกที่ผมต้องคิดทำคือ  จะเพิ่มคำใดให้ผึ้งเรียนต่อ  คำที่เรียนได้แล้วมี  สวย  ดู  ผึ้ง  ปลา  ผีเสื้อ  ผมจำเป็นที่จะต้องจดคำนำสอนให้เป็นกลุ่ม  เพราะคำที่เป็นกลุ่มหรือเป็นชุดนั้น  จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ง่ายขึ้น  เช่น

                        ดิน       บิน       กิน       ริน

                        เดิน      เกิน

                        ดาว      ขาว      ยาว      วาว      สาว

                        ไป       ไว

                        ใน        ใจ

 

            คำที่จัดชุดสอนต้องมีความหมายกับผู้เรียน  พูด  อ่าน  หรือเขียน  ผู้เรียนจะต้องเข้าใจ  ไม่ต้องแปลความให้เสียเวลา  ดังนั้นคำที่นำสอนจะต้องเป็นคำที่ผู้เรียนคุ้นชินเข้าใจความหมาย  เคยใช้ผ่านมา  จะเห็นได้ว่าคำที่ผมนำสอนผ่านมาล้วนแต่เป็นคำที่ผึ้งบอกให้ผมสอน  ผึ้งจึงอ่านได้ไม่ยาก  และเข้าใจความหมายที่เรียนรู้

            “ผีเสื้อทำอะไรลูก”  ผมถามเพื่อจะให้ผึ้งบอกคำนำสอนแก่ผม

            “ผีเสื้อบินค่ะปู่”  ผึ้งตอบและผมได้คำนำสอนแล้ว  ผมจึงเขียนว่า

                        บิน

                                                            ผีเสื้อ

                                                ผีเสื้อ    บิน

                        ผีเสื้อ    บิน       ดู          ปลา

                        ผีเสื้อ    บิน       ดู          ผึ้ง

 

            พอเขียนเสร็จผมชี้ไปที่คำ  “บิน”  ด้านบนซ้าย  สอนให้ผึ้งอ่าน  เด็กน้อยอ่านตาม  ผมก็ชี้มือไปที่คำว่า  “ผีเสื้อ”  ผึ้งอ่านได้  แล้วเจ้าหลานสาวของผมก็อ่านเรื่องที่ผมเขียนได้  ผมเขียนเรื่องใหม่ให้ผึ้งอ่าน

                                                                        ผีเสื้อสวย

            ผีเสื้อสวย         บิน       ดู                      ปลาสวย

            ผีเสื้อสวย         บิน       ดู                      ผึ้งสวย

            ผึ้งสวย             ดู          ผีเสื้อสวย         บิน

            ผึ้งสวย             ดู          ปลาสวย          กับ       ผีเสื้อสวย

 

            ตรงนี้จะเห็นว่าผมแอบใช้คำว่า  “กับ”  มาเขียนไว้โดยไม่สอนก่อน  ทำไมผมจึงแหวกกฎที่ว่าผู้เรียนบอกคำให้ผู้สอนสอน  ทั้งนี้เพราะคำว่า  กับ  คือคำที่จำเป็นต้องใช้ในประโยคนี้  และเป็นภาษาที่ง่าย  ผึ้งใช้อยู่บ่อยๆ  เมื่อผมเขียนแล้วอ่านครั้งเดียวผึ้งก็อ่านได้  เด็กน้อยดีใจมากที่อ่านได้  ทั้งๆที่เป็นคำใหม่ของผึ้ง  ผมนำกระดาษที่เขียนไปติดไว้ข้างฝาผนังอีก  แล้วผมก็วางระเบิดคำใหม่หรือขุดหลุมล่อคำใหม่ไว้  โดยวาดรูปผีเสื้อบินอยู่ที่ดอกไม้  พอเห็นภาพนี้เท่านั้น  หลานสาวของผมก็พูดเสียงดังว่า  “ผีเสื้อบินอยู่ที่ดอกไม้”  ครับ  เราได้บทเรียนบทใหม่ขึ้นมาแล้ว  ผมรีบดึงกระดาษมาเขียนคำที่ผึ้งบอกทันที  กระดาษแผ่นโต  เขียนประโยคเดียวว่า

            “ผีเสื้อบินอยู่ที่ดอกไม้”

            และผมก็วาดรูปไว้ด้วย  ผึ้งอ่านคำเหล่านั้นได้  ดูเธอตื่นเต้นที่สามารถอ่านหนังสือได้ตั้งหลายแผ่น  ผมเองก็ดีใจที่หลานสาวตัวน้อยของผมเรียนรู้การอ่านหนังสือได้เร็ว  เพียงแค่เวลาไม่นานนัก  ผึ้งสามารถอ่านคำเหล่านี้ได้  คือ

                        ปลา     ผีเสื้อ                ผึ้ง        ดู

                        บิน       ดอกไม้                        สวย     กับ

 

            เมื่อผมนำคำทั้งหมดนั้นมาเขียนสลับไปสลับมาก็สามารถสร้างเป็นเรื่องสอนได้

            การนำคำง่ายๆ  ที่เริ่มต้นจากผู้เรียนต้องการเรียนหรือกล่าวออกมาครั้งแรกเป็นคำนำสอน  แล้วเพิ่มคำขึ้นทีละนิดพอให้เป็นวลี  แล้วขยับขึ้นสู่ประโยค  เด็กๆ ผู้เรียนจะอ่านตามสิ่งที่เราสอนเขาได้ทัน  แม้ว่าเด็กคนนั้นจะเรียนช้าก็ตาม  แต่ผู้สอนก็ต้องสอนช้าๆ  อย่ารีบเร่งป้อนคำใหม่  ผมเองนั้นจะดูสภาพเด็กเป็นรายบุคคล  คนที่เรียนช้าผมจะสอนช้าๆ  บางครั้งผมสอนวันหนึ่ง  เด็กบางกลุ่มอ่านได้นิดเดียวเท่านั้น  แต่ผมก็สนุกกับการสอน  เพราะเป้าหมายของผมอยู่ที่เด็กคนนั้นๆ  อ่านได้เท่าที่เขาอ่านได้เท่านั้น

            การเริ่มสอนอย่าใจร้อน  สอนไปเพิ่มคำไป  คำน้อยๆ นำมาร้อยเรียงได้เป็นเรื่องราว  อ่านกลับไปกลับมา  แต่เป็นเรื่องตามที่เด็กต้องการ  ไม่นานนักเด็กจะเข้าใจวิธีการอ่านการเขียนเรื่อง  ถึงเด็กน้อยจะเขียนไม่เป็น  แต่เขาสามารถบอกให้เราเขียนได้  การบอกให้เราเขียนบ่อยๆ  เด็กน้อยก็จะรู้วิธีสร้างประโยค  แต่เขาไม่สามารถบอกได้ว่านั่นคำ  นั่นวลี  และนั่นคือประโยค  เราเองก็ไม่ต้องการลงลึกเข้าไปถึงระดับนั้น  ผมต้องการให้เท่านั้น  ผึ้งสามารถอ่านคำที่เขียนเป็นเรื่องง่ายๆ  จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตจริงช่วงนั้นๆ ของผึ้ง

            สำหรับการเขียนนั้นผมไม่เร่งรัด  ผมเชื่อว่า  ถ้าผู้เรียนพร้อมเขาจะเขียนคำเอง  แต่แน่นอนเด็กๆ จะชอบวาดรูป  ก็ปล่อยให้เขาวาดรูป  เพราะนั่นคือการเขียนของเขาอีกอย่างหนึ่ง  การวาดรูปเป็นการเขียน  การอ่าน  และการคิด  ของเด็กครับ

 รวบรวมจากหนังสือวารสาร สานปฏิรูป

อ่านเป็นเล่มได้ที่นี่ครับ https://docs.google.com/docume...



หมายเลขบันทึก: 498835เขียนเมื่อ 16 สิงหาคม 2012 10:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2018 14:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท