DSRR
มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้ มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้

สนามจริง! ปฏิบัติการอาสาสมัครลงเยี่ยมเยียวยาครั้งแรก


เราต้องการเพียงนำกำลังใจไปให้เขา เพื่อร่วมกันให้เขา “ลุกขึ้นสู้” อีกครั้ง

"นางสาวมารียา เจ๊ม๊ะ"         

     หลังจากที่ทีมอาสาสมัครเยียวยา รุ่นที่ 1 ได้รับการอบรมในภาคทฤษฎี ไปเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2555 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ได้เวลาของการลงปฏิบัติงานในสนามจริง นั่นคือ การลงเยี่ยมให้กำลังใจผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ระเบิดลีการ์เดนพลาซ่า หาดใหญ่ ซึ่งพักรักษาตัวที่หอผู้ป่วยไฟไหม้ – น้ำร้อน และหอผู้ป่วยเฉลิมพระบารมี โรงพยาบาลสงขลานครินทร์โดยมี พี่พรรณี อ่าวเจริญ หัวหน้าพยาบาลแผนกจิตเวช โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เป็นผู้ให้คำแนะนำแก่อาสาสมัครและพาไปเยี่ยมผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด      1 พฤษภาคม 2555 ถือเป็นวันแรกของการลงพื้นที่เยียวยา ทีมประกอบไปด้วยพี่แอ๊ด (เจ้าภาพ) น้องต้น (ประสานงาน) พี่ตั้ม (วันนี้มาเป็นช่างภาพให้) พี่อนันต์ น้องแหวน น้องนิว น้องวาและตัวดิฉันเอง เรานัดกันเวลา 11 นาฬิกา หน้าห้องประชาสัมพันธ์โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เมื่ออาสาสมัครพร้อม ทีมงานพร้อม และพี่พรรณีพร้อม ลุยกันเลย.....

     เตรียมตัวก่อนลงเยี่ยม พี่พรรณี นำพวกเราเดินไปนั่งคุยกันที่หอผู้ป่วยไฟไหม้ – น้ำร้อนลวก เพื่อแนะนำตัวว่าใครเป็นใคร จากนั้น ก็ให้คำแนะนำเป็นแนวทางในการเยี่ยมต่างๆ        

     พี่พรรณี แนะนำว่า        
- หลักสำคัญอยู่ที่การ “ไม่พูด” คือ เราไม่ต้องไปพูดแนะนำให้ผู้ป่วยต้องอย่างนู้นทำอย่างนี้       
- ไม่ต้องไปตัดสินใดๆ แทนผู้ป่วย (เช่น การที่ผู้ป่วยพูดว่า “ปวดหัว” เราเพียงฟังและแสดงความคล้อยตามเท่านั้น ไม่ต้องไปบอกว่า “ทานยาไหม” เพราะเป็นการด่วนสรุปแทนเกินไป การที่เขาพูดว่าปวดหัวอาจมีสาเหตุหลายอย่าง หรือบางครั้งเขาเพียงพูดเพื่ออยากเล่าเรื่องอื่นๆ ออกมา)       
- ให้ฟังเท่านั้น ฟังด้วยความตั้งใจ ฟังอย่างเก็บเกี่ยวรายละเอียด เพื่อให้เราได้รู้จักเขาให้มากที่สุด ว่าเขาคือใคร เป็นอย่างไร สังเกตสีหน้า ท่าทาง อารมณ์ และพฤติกรรมชองเขาเป็นอย่างไร ซึ่งจะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ป่วยกับอาสาสมัคร       
- แสดงออกว่าเราจะช่วยเขา เป็นกำลังใจ ช่วยเหลือ และเป็นเพื่อนเขา ที่พรรณี เสริมอีกว่า ในความเป็นจริงเราไม่รู้ว่าผู้ป่วยผ่านการเยี่ยมมากน้อยแค่ไหน ไม่รู้ว่าเขาผ่านการช่วยเหลืออะไรมาบ้าง

     ในการเข้าเยี่ยมจึงมีขั้นตอนการเยี่ยม ดังนี้       
- ก่อนอื่นอาสาสมัครต้องแนะนำตัวแก่ผู้ป่วยเราว่าเป็นใคร มาจากไหน        
- บอกเขาว่าเราจะมาเยี่ยมเขาเมื่อไหร่ได้บ้าง ระวังอย่าให้ผู้ป่วยรอคอย รอเก้อ เพราะทำให้เขาผิดหวัง และคิดมากไปว่าเราไม่เห็นความสำคัญของเขา ให้รักษาคำพูดที่เราได้นัดเขาไว้แต่ถ้ามีเหตุจำเป็นก็ให้โทรมาเลื่อนนัดได้       
- ในการเข้าเยี่ยม ถามสักนิดว่าเขาสะดวกให้เรามาช่วงไหน เช้า กลางวัน เย็น       
- ในจุดที่จะเปิดการช่วยเหลือนั้น ให้ถามว่าจะเอาอะไรบ้าง หรือต้องการอะไรบ้าง เช่น ฝากซื้อของเล็กๆ น้อยๆ ก็ได้ แต่อย่าให้หนักที่เราเกินไป ทำแต่พอดีๆ       
- ระยะเวลาในการเยี่ยมประมาณครึ่งชั่วโมง  ไม่ควรมากกว่านั้น เพราะเป็นการรบกวนผู้ป่วยเกินไป       
- ช่วยหยิบของ เลื่อนของให้       
- ทุกครั้งที่เข้าเยี่ยม จะต้องแจ้งพยาบาลที่หอผู้ป่วยนั้นๆ ก่อน - หลังการเยี่ยม ให้อาสาสมัครบันทึกเรื่องราวการเยี่ยมแต่ละครั้ง เพื่อทบทวนตัวเอง ว่าเรารู้สึกอย่างไร เพื่อให้เรารู้เท่าทันตัวเราเอง รวมทั้ง เป็นประโยชน์ในการลงเยี่ยมครั้งต่อๆ ไปด้วย       

     พี่แอ๊ด เพิ่มเติมว่า เราต้องมีใจก่อนเป็นอันดับแรก มีใจที่อยากช่วยเขา จากนั้นจึงฟังเขา ฟังอย่างตั้งใจ (ดั่งฟองน้ำที่ดูดซับน้ำ) ฟังเพื่อรับรู้เรื่องราวของเขา ความรู้สึกของเขา ให้ใช้หลักการช่วยเหลือด้วยหัวใจของความเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ซึ่งจะออกมาเองโดยอัตโนมัติ เป็นธรรมชาติ        
- อาสาสมัครสามารถสร้างความสัมพันธ์ได้ง่าย ด้วยการชมเชยผู้ป่วย เช่น หากเขาสามารถทำอะไรต่างๆ ได้ด้วยตนเอง ได้ เช่น ทรงตัวได้ดีแม้แผลเจ็บบ้าง กินข้าวได้มาก สามารถกินข้าวด้วยตนเอง เขายิ้มได้ อารมณ์ดี ก็ให้ชมเชยเขาส่วนเรื่องที่ไม่ดีให้เก็บเอาไว้        
- คนไข้จะไม่พอใจกับหน้าตา และบาดแผลของตัวเอง เราต้องพูดให้เขามั่นใจว่าเราจะไม่เปิดเผยความลับแก่ใคร เพื่อให้เขาสบายใจและไม่อับอาย (แต่ทางที่ดีไม่ควรพูดถึงเรื่องแผลจะดีที่สุด)        
- เน้นความรู้สึกของเรา และความรู้สึกของผู้ป่วย เพราะการเยียวยาใช้ความรู้สึกเป็นสำคัญ        
- ควรมีการนัดคุยกันสัปดาห์ละครั้งหลังการเยี่ยม ตั้งเป้าการลงเยี่ยม 6 เดือน คือ ตั้งแต่เมษายน ถึงกันยายน       
- รวบรวมบทเรียนที่ทำพลาดไป หรือทำดี เพื่อแลกเปลี่ยน และเสนอแนะแก่เพื่อนๆ ใน mail group       เสร็จสิ้นการ brief ลงเยี่ยมกันเลย         

น้องซูเฟียน อายุ 18 ปี พักที่หอผู้ป่วยคนไข้ไฟไหม้ – น้ำร้อนลวก จากเหตุคาร์บอมบ์ ที่ สสจ.ปัตตานี (เป็นเคสพิเศษ นอกเหนือจากเหตุระเบิดปัตตานี) เป็นเด็กหนุ่ม กำลังเรียน ชั้น ม.6 มีแม่เฝ้าไข้ เปิดประตูไว้ เพราะต้องการระบายอากาศ สภาพจิตใจดี ยิ้มแย้มแจ่มใส พูดคุยกับอาสาสมัครด้วยความสนใจ มีความสนใจอยากจะสอบปลัด เมื่อรู้ว่าหนึ่งในทีมที่ลงเยี่ยมคือต้นจบจากคณะรัฐศาสตร์ จึงสนใจไถ่ถาม และพูดคุย ผู้ป่วยสะดวกให้เยี่ยมทุกเวลา ข้อเสนอแนะ คือ อาสาสมัครน่าจะนำหนังสือเกี่ยวกับการเรียนต่อมหาวิทยาลัย หรือการสอบปลัด นำไปให้อ่าน หรือเอาไปอ่านให้ฟัง แล้วพูดคุย เพื่อดึงความสนใจออกจากเฟสบุ๊กบ้าง เพราะน้องติดคุยเฟสบุ๊ก เพราะเหงา อยากคุยกับเพื่อน        

สุกัญญา อายุ 28 ปี พักห้องถัดจากซูเฟียน บ้านเดิมอยู่โคราช สะดวกให้เยี่ยมช่วงบ่าย ตอนที่อาสาสมัครไปเยี่ยมมีอาการอ่อนเพลีย เพราะพยาบาลเพิ่งให้ยา สภาพร่างกายยังใช้เครื่องใช้หายใจ แต่รู้สึกตัวดี ให้การตอบรับอาสาสมัครดี ในตอนที่อาสาสมัครแนะนำตัว ก็มีการสนใจ สบตา คิดว่าเป็นเคสที่ต้องการกำลังใจมากกว่าเคสอื่นๆ ต้องดูจังหวะการเข้าเยี่ยมดีๆ ว่าเขาพร้อมให้เราเข้าไปไหม คิดว่าทางที่ดีน่าจะใช้เวลาเยี่ยมไม่เกิน 15 นาที เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนคนไข้มากเกินไป แต่ควรไปเยี่ยมสม่ำเสมอให้เห็นถึงความต่อเนื่อง         

ด.ต.สิทธิชัย อายุ 39 ปี พักที่หอผู้ป่วยเฉลิมพระบารมี 9 เดิมประจำการอยู่ยะลา วันเกิดเหตุพาแฟนมาเที่ยวที่หาดใหญ่ แฟนได้รับบาดเจ็บที่แขนขาด้วย แต่อาการดีขึ้น จึงมาดูแล ด.ต.สิทธิชัย กำลังจะออกโรงพยาบาลวันนี้ สภาพจิตใจผู้ป่วยดีขึ้น ยิ้มแย้ม และเปิดรับอาสาสมัคร ถามไถ่เป็นกันเอง ชวนกินข้าวด้วย มีการวางแผนอนาคตว่ากลับไปพักฟื้นที่อำเภอสุคิริน ซึ่งเป็นบ้านแฟน แล้วค่อยกลับไปทำงานที่ยะลา คิดว่าไม่น่าเป็นห่วง เพราะมีการวางแผนชีวิตไว้ ไม่เคว้งคว้างเกินไป         

น้องสุนันทา อายุ 24 ปี พักที่หอผู้ป่วยเฉลิมพระบารมี 8 เพิ่งจบปริญญาตรี สะดวกให้เยี่ยมตอนบ่าย มีแม่ ญาติ พี่สาว เฝ้า และเพื่อนๆ มาเยี่ยมเสมอ สุขภาพจิตดีขึ้น แต่ไม่รู้รายละเอียดข้างใน เพราะยังเป็นวัยรุ่นอาจห่วงหรือคิดมากเรื่องบาดแผล  

     บทสรุปจากพี่พรรณี วันนี้เป็นวันแรกของการลงเยี่ยม ถือเป็นวันที่ดี เพราะผู้ป่วยให้การตอบรับอาสาสมัครดีมากมีความสนใจเปิดรับดีมาก อาจเป็นเพราะเรามากันเป็นกลุ่ม และลงเยี่ยมพร้อมกันทำให้บรรยากาศการลงเยี่ยมคึกคัก เป็นธรรมชาติและไม่เคอะเขิน บางคนอาจคิดว่าการเป็นอาสาสมัคร คือ เรามาเป็น “ผู้ให้” เท่านั้น แต่จริงๆ แล้วเรากลับมาเป็น “ผู้รับ” ด้วย เพราะ เราได้รับจากเขามามากมายเช่นกัน ได้มีการเรียนรู้เรื่องต่างๆ วันนี้เป็นวันที่ดี อาสาสมัครยิ้มได้ และคนไข้ตอบรับดีเช่นกัน เป็นเพราะเรานัดหมายล่วงหน้า คนไข้จึงให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

     สรุปบทเรียนว่าเราต้องชวนคุยเรื่องที่เขาสบายใจ ไม่ต้องย้อนเหตุการณ์ เพื่อให้เขาอยากให้เรามาเยี่ยมอีกในครั้งต่อๆไป  บทสรุปจากอาสาสมัคร        

       น้องนิว รู้สึกดี ที่วันนี้ได้สัมผัสผู้ป่วย ว่าเขาเป็นอย่างไร รู้สึกอย่างไร แต่เรายังไม่กล้าพูดกับเขามากกลัวว่าจะพูดออกไปในทางอื่นเป็นความกังวลมากกว่า จึงทำให้เกร็ง        

     น้องวา รู้สึกดี ตอนแรกที่ได้มาสัมผัส แต่ยังไม่รู้ว่าเขาคิดอะไรกับเรา        

       แหวน รู้สึกดีกว่าที่คาดคิดไว้มากเลย ตอนแรกนึกว่าผู้ป่วยจะหดหู่ แต่ไม่เลย เขากลับเปิดรับเราอย่างมาก        

      พี่อนันต์ จากสายตาคนไข้ เขาอยากให้เรามาบ่อยๆ คิดว่าเขาอยากมีเพื่อนที่สามารถพูดคุย และให้กำลังใจกัน คิดว่าผู้ป่วยต้องการความอบอุ่น รู้สึกว่าคุ้มที่ได้ร่วมกิจกรรมในวันนี้        

       พี่แอ๊ด รู้สึกดี ที่เห็นอาสาสมัครยิ้มแย้ม เข้าไปด้วยท่าทีที่เป็นมิตร การที่เราเปิดเผยตัวเอง แสดงว่าเราจริงใจกับเขา เป็นนิมิตรหมายอันดี

        บันทึกบอกเล่าความรู้สึกส่วนตัว        
       รู้สึกดีใจจริงๆ ที่ได้ร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ได้ความรู้เพิ่มขึ้นอีกมาก ได้มีโอกาสไปร่วมเยี่ยมผู้ป่วย คิดว่าการไปเป็นกลุ่มจะทำให้อาสาสมัครไม่เคอะเขินเกินไป และคนไข้เองก็รู้สึกไม่เกร็ง ญาติๆ ก็ให้การต้อนรับดีมาก จากการที่ร่วมอบรม หรือการ brief งานได้รับความรู้ส่วนหนึ่ง แต่เราก็มีความกังวลอยู่ลึกๆ ว่าเวลาทำงานจริงๆ เราจะทำได้ดีไหม เราจะไปพูดอะไรผิดไปไหม ก็มีความกังวลบ้าง แต่เมื่อได้ลงไปที่ผู้ป่วยจริงๆ เขาเปิดรับเรามาก ทำให้ความกังวลต่างๆ คลายลง หลักการต่างๆ เป็นเครื่องมือนำทาง แต่สุดท้ายสิ่งที่ออกมาจะเป็นไปเองอย่างเป็นธรรมชาติ เป็นไปด้วยความรู้ดีๆ และรอดูว่าเขามีความรู้สึกอย่างไร เกิดความรู้สึกว่าอยากไปเยี่ยมอีกในครั้งต่อไป โดยภาพรวม คนไข้แต่ละคน มีสภาพบาดแผลที่ได้รับตามร่างกายแตกต่างกันไป แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน คือ ทุกคนมีใจที่เปิดรับเรา มีรอยยิ้ม แม้ว่าเขาจะทุกข์ แต่เมื่อเราไป เขาก็มีความสุข เป็นความสุขเล็กๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเขา เป็นนิมิตรหมายอันดีที่จะเป็นจุดเริ่มสู่ความสัมพันธ์ที่ดีต่อไปในอนาคต ความรู้สึกที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากความสงสาร แต่เป็นความเห็นใจเพื่อนมนุษย์ที่เขาต้องมาประสบกับบางสิ่งที่ไม่ดีนัก เราต้องการเพียงนำกำลังใจไปให้เขา เพื่อร่วมกันให้เขา “ลุกขึ้นสู้” อีกครั้ง

๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑

คำสำคัญ (Tags): #เยียวยา
หมายเลขบันทึก: 498516เขียนเมื่อ 13 สิงหาคม 2012 21:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 สิงหาคม 2012 19:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ขอเป็นกำลังใจให้กับเหล่านางฟ้าของคนใต้ค่ะ

อีกหนึ่งความสุขของการเป็นผู้ให้และผู้รับค่ะ..เป็นกำลังใจค่ะ..

  • ขอเป็นกำลังใจกับทีมงานทุกๆท่านครับ
  • ขอชื่นชม

ชอบจัง...เขียนให้อ่านอีกนะครับ

สวัสดีค่ะ เด๊ะ..มารียา เจ๊ม๊ะ...ขอบคุณที่เขียนเล่าเรื่อง การทำงานของทีมเยียวยา .ถึงแม้จะบอกว่าเป็นอาสาสมัครแต่.ทำงานได้อย่างมืออาชีพ ขอชื่นชม :-)) นอกจากที่ เด๊ะ บอกว่า จะนำกำลังใจไปให้เขา เพื่อให้ "ลุกขึ้นสู้" ชีวิตต่อไป ขอเป็นกำลังใจของกันและกัน..ทั้งอาสาสมัคร พี่เลี้่ยงและผู้บาดเจ็บที่ได้รับการเยียวยา ด้วยค่ะ :-))

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท