โครงงานหลักวิชาชีพนักกฎหมาย เผยแพร่ความรู้ให้แก่บุคคลทั่วไป


ค่าใช้จ่ายในการยื่นขอเป็นผู้จัดการมรดกเพียง 750 บาท

 หลายท่านเมื่อต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไป สิ่งที่ผู้ตายเหลือไว้คือมรดก หากผู้ตายมิได้ทำพินัยกรรมแบ่งทรัพย์มรดกไว้ ทายาทผู้ตายก็มักจะไม่รู้ว่าตนเองจะต้องจัดการทรัพย์มรดกของผู้ตายอย่างไร ซึ่งทายาทสามารถจัดการเองได้ โดยมีค่าใช้จ่ายเพียง 750 บาท

ขั้นตอนการขอเป็นผู้จัดการมรดก

การจัดการมรดกโดยขอตั้งผู้จัดการมรดก

 เมื่อบุคคลถึงแก่ความตาย ทรัพย์มรดกของบุคคลซึ่งได้แก่ ทรัพย์สินต่าง ๆ ที่มีอยู่ก่อน ถึงแก่ความตาย รวมทั้งสิทธิ หน้าที่ และความ รับผิดต่างๆ จะตกทอดแก่ทายาท ในกรณีที่มีเหตุขัดข้องในการจัดการทรัพย์สินของผู้ตาย จึงต้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ตั้งทายาทหรือบุคคลอื่นเป็นผู้จัดการมรดกขึ้นเพื่อรวบรวมและทำบัญชีเพื่อแบ่งมรดกให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดก
ผู้มีสิทธิยื่นขอจัดการมรดก
  1. ทายาทโดยธรรม หรือ ผู้รับพินัยกรรม
  2. ผู้มีส่วนได้เสียในมรดก
  3. พนักงานอัยการ
เอกสารที่ใช้ในการยื่นขอจัดการมรดก
  1. หลักฐานความสัมพันธ์ระหว่างผู้ตายกับผู้ร้อง
    • กรณี บุตร กับบิดา/มารดา หรือ กรณี บิดา/มารดา กับบุตร
      1. ใบสำคัญการสมรส หรือการหย่า ของบิดามารดา แล้วแต่กรณี
      2. สูติบัตรของผู้ร้อง หรือทะเบียนการรับรอง หรือทะเบียนการรับบุตรบุญธรรม
    • กรณีคู่สมรส ใช้ใบสำคัญการสมรสระหว่างผู้ร้องกับผู้ตาย
    • กรณีพินัยกรรม หรือเป็นผู้จัดการทรัพย์มรดกตามพินัยกรรม ต้องมีพินัยกรรมมาแสดง
  2. ใบมรณบัตรของผู้ตาย
  3. สำเนาทะเบียนของผู้ตาย
  4. หลักฐานเกี่ยวกับทรัพย์สินทุกอย่างของผู้ตาย
  5. บัญชีเคลือญาติ
  6. หนังสือแสดงความยินยอมของทายาท
  7. ใบมรณบัตรของทายาทผู้มีสิทธิรับมรดก ที่ถึงแก่ความตายก่อนผู้ตาย (เพื่อสิทธิในการรับมรดกแทนที่)
  8. หนังสือสำคัญการเปลี่ยนชื่อและชื่อสกุลของผู้ร้องหรือผู้ตายหรือทายาทผู้มีสิทธิรับมรดก
ขั้นตอนการทำคำร้องขอจัดการมรดก
  1. ติดต่อประชาสัมพันธ์ของศาล เพื่อรับคำแนะนำในการเขียนคำร้อง
  2. จัดเตรียมเอกสารประกอบคำร้อง
  3. ยื่นคำร้องต่องานรับฟ้องที่ศาลที่ผู้ตายมีภูมิลำเนาอยู่ในขณะถึงแก่ความตาย
  4. ชำระค่าธรรมเนียมศาล, ค่าประกาศหนังสือพิมพ์ และศาลกำหนดวันนัดไต่สวน
  5. ศาลไต่สวนคำร้องและรอฟังคำสั่งในวันเดียวกัน
  6. ยื่นคำร้องขอคัดถ่ายสำเนาคำสั่งศาล ต่อเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ แล้วนำไปใช้ ตามความประสงค์
ค่าใช้จ่ายในการการจัดการมรดก
  1. ค่าใช้จ่ายในวันยื่นคำร้อง
    • ค่าธรรมเนียมศาล 200 บาท
    • ค่าประกาศหนังสือพิมพ์ 500 บาท
  2. ค่าใช้จ่ายในการไต่สวน
    • ค่ารับรองสำเนา ฉบับละ 50 บาท
การยื่นคำร้องขอยื่นที่ไหน

 การยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก ให้ยื่นคำร้องขอต่อศาลที่เจ้ามรดกมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลในขณะถึงแก่ความตาย เช่น นาย ก. มีภูมิลำเนาอยู่เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร นาย ก. ก็ต้องไปยื่นที่ศาลแพ่งธนบุรี เป็นต้น การที่จะทราบได้ว่าจะต้องยื่นคำร้องต่อศาลใดนั้น ควรจะโทรศัพท์ไปสอบถามเกี่ยวกับเขตอำนาจศาลที่ศาลเสียก่อน เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาในการเดินทาง เพราะในเขตกรุงเทพมหานครนั้น มีทั้งศาลแพ่ง ศาลแพ่งธนบุรี ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ แต่ละศาลจะมีเขตอำนาจศาลที่แตกต่างกัน ส่วนในต่างจังหวัดให้โทรศัพท์สอบถามจากศาลจังหวัดนั้น ๆ และกรณีที่เจ้ามรดกไม่มีภูมิลำเนาในประเทศไทย ให้ให้เสนอต่อคำร้องต่อศาลที่ทรัพย์มรดกนั้นตั้งอยู่แทน

คำร้องต้องทำอย่างไร

 การทำคำร้องเป็นเรื่องที่ผู้มีความรู้ในทางกฎหมายและทางปฏิบัติ ดังนั้น บุคคลทั่วไปที่ไม่มีความรู้ในทางกฎหมายควรจะไปติดต่อกับทางประชาสัมพันธ์ของศาลเสียก่อน คำร้องขอจัดตั้งผู้จัดการมรดกนั้นจะมีรายละเอียดต่าง เช่น ชื่อ ที่อยู่ของผู้ร้อง วันเวลา และสถานที่ที่ถึงแก่ความตาย หลักฐานการตาย ผู้ตายมีทายาทคือใครบ้าง มีทรัพย์สินอะไร มีเหตุขัดข้องอย่างไรจึงจัดการทรัพย์สินของเจ้ามรดกไม่ได้ และท้ายสุดคือการขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดก

การยื่นคำร้องและนัดไต่สวนทำอย่างไร

 เมื่อยื่นคำร้องต่องานรับฟ้องของศาลนั้นๆ แล้ว เจ้าหน้าที่งานรับฟ้องจะเสนอ ต่อศาลเพื่อมีคำสั่งคำร้องนั้น จากนั้นศาลจะมีคำสั่งให้นัดไต่สวนหรือมีคำสั่งอย่างอื่นใด ในทางปฏิบัติผู้ร้องจะต้องขอประกาศหนังสือพิมพ์ให้ผู้มีส่วนได้เสียทราบก่อน หลังจากนั้น 45 วัน ศาลจะนัดไต่สวนคำร้อง การไต่สวนผู้ร้องจะต้องมาศาลและนำพยานอื่นเช่นทายาทคนอื่น ๆ มาด้วย หากไม่มีผู้ใดคัดค้านการยื่นคำร้องขอจัดการมรดกและไต่สวนแล้วเป็นจริงตามที่ผู้ร้องขอไต่สวนไว้ ศาลจะมีคำสั่งให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ผู้ร้องสามารถขอคัดถ่ายคำสั่งศาลได้ที่เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์

ลำดับคำถามในการไต่สวน
  1. ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ร้องกับผู้ตาย เช่น ผู้ร้องเป็นบุตรของผู้ตายเป็นต้น โดยแสดงสูติบัตรของผู้ร้องต่อศาล เป็นต้น
  2. วันที่ผู้ตายถึงแก่ความตาย สาเหตุการตาย และภูมิลำเนาของผู้ตาย แสดงหลักฐานการตายโดยใบมรณบัตร และหลักฐานเกี่ยวกับภูมิลำเนาของผู้ตาย คือ ทะเบียนบ้าน
  3. ทรัพย์มรดกของผู้ตาย เช่น บัญชีเงินฝากธนาคาร โฉนดที่ดิน เป็นต้น
  4. เหตุขัดข้องในการจัดการทรัพย์มรดก
  5. เรื่องบัญชีเครือญาติ แสดงบัญชีเครือญาติต่อศาล
  6. ความยินยอมของทายาท แสดงหนังสือให้ความยินยอมของทายาทต่อศาล
  7. คุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นผู้จัดการมรดก เช่น ไม่เป็นบุคคลไร้ความสามารถ ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย เป็นต้น
  8. คำถามอื่น ๆ ตามความเหมาะสมที่เกี่ยวข้องกับการจัดการมรดก
ผู้จัดการมรดกจะถูกถอนจากการเป็นผู้จัดการมรดกได้หรือไม่

 กรณีผู้จัดการมรดกปล่อยปละละเลย ไม่ดำเนินการจัดการมรดก หรือจัดการมรดกไปในทางเสียหาย ประมาทเลินเล่อ หรือทุจริต เช่นเบียดบังทรัพย์มรดกเป็นของตนเอง ทายาทก็สามารถร้องขอต่อศาลให้เพิกถอนผู้จัดการมรดกได้ แต่ต้องร้องขอต่อศาลก่อนการแบ่งปันทรัพย์มรดกเสร็จสิ้น

 แหล่งที่มา: ประชาสัมพันธ์ศาลแพ่งธนบุรี เบอร์โทรศัพท์ 0-2416-7169, 0-2416-7243, 0- 2415-0040 ถึง 44

 นักศึกษาภาคบัณฑิต Sec3 Group1: ผู้รวบรวม และนำเสนอ เพื่อประโยชน์แก่ผู้ที่ต้องการดำเนินการร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกด้วยตนเอง

คำสำคัญ (Tags): #ผู้จัดการมรดก
หมายเลขบันทึก: 498011เขียนเมื่อ 10 สิงหาคม 2012 00:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 สิงหาคม 2012 00:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท