วงจรปฏิจจสมุปปบาท : วงจรการเมืองไทย


ความขัดแย้งทางการเมืองไทย เป็นผลกระทบอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศในทุกๆ ด้าน

ความสัมพันธ์ขององค์ประกอบทั้ง 12 ข้อ


               ความขัดแย้งทางการเมืองไทย เป็นผลกระทบอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศในทุกๆ ด้าน หากจะพิจารณาให้ละเอียดจะพบว่า ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ ไม่สามารถจะก่อให้เกิดความปรองดอง หรือสมานฉันท์ได้ ประเด็นหนี่งก็คือ ไม่มีการแก้ปัญหาด้วยความจริงใจ แก้ปัญหาไม่ถูกจุด หากวิเคราะห์ตามวงจรปฏิจจสมุปปบาท จะพบวงจรที่การเมืองไทยที่เกิดขี้นอย่างน่าสนใจ ดังนี้
1. อวิชชา : เมื่อเกิดความขัดแย้งทางการเมืองขึ้น ไม่มีใครแสวงหาข้อเท็จริย คือไม่รู้ความจริง (อวิชชา) ว่าเหตุผลต้นปลายเป็นอย่างไร และไม่ใช้ปัญญาพิจารณาเพื่อหาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในการเมืองไทย

 

2. สังขาร : หลายฝ่ายอาจคิดปรุงแต่ง (สังขาร) สร้างภาพในใจไปต่าง ๆ ตามพื้นนิสัย ตามทัศนคติหรือตามกระแสความคิดตามอุดมการณ์ทางการเมืองที่เคยชินของตน แล้วสรุปว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้
3. วิญญาณ : เมื่อคิดปรุงแต่งเช่นนั้น จิตก็ขุ่นมัว หรือฟุ้งซ่าน ไปตามกิเลสที่ปรุงแต่งเหล่านั้น คอยรับรู้ (วิญญาณ) การกระทำและอากัปกิริยาของฝ่ายตรงข้าม โดยรับรู้และเข้าใจไปเองว่า ที่ฝ่ายตรงข้ามทำอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะคิดจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ นั่นก็คือยิ่งนึกคิดก็ยิ่งเห็นเป็นอย่างนั้น สีหน้า กิริยาท่าทางต่าง ๆ ของฝ่ายตรงข้าม ก็ดูจะเป็นเรื่องที่กระทบกระทั่ง ฝ่ายตนเองไปเสียทั้งนั้น

4. นามรูป : ความรู้สึก ภาพที่คิด ภาวะต่าง ๆ ของจิตใจ สีหน้า กิริยาท่าทาง คือทั้งกายและใจทั้งหมดของฝ่ายตน (นามรูป) คล้อยไปด้วยกันในทางที่แสดงออกมาเป็นผลรวม คือ ภาวะอาการของคนโกรธ คนที่มีความไม่พึงพอใจ คนที่เกิดความขัดแย้งในใจ เป็นต้น พร้อมที่จะทำงานร่วมกับวิญญาณนั้น

5. สฬายตนะ : อายตนะต่าง ๆ มี ตา หู เป็นต้น ของฝ่ายตนที่รับรู้พฤติกรรมของฝ่ายตรงข้าม และมีการตื่นตัวพร้อมที่จะทำหน้าที่รับความรู้พฤติกรรมต่างๆ ของฝ่ายตรงข้ามอย่างเต็มที่ และพร้อมที่จะตอบโต้ตลอดเวลา โดยมีอวิชชาเป็นพื้นฐานในจิตใจอยู่แล้ว

6. ผัสสะ : ฝ่ายของตนเองจะสัมผัสกับลักษณะอาการแสดงออกต่าง ๆ ของฝ่ายตรงข้าม ที่มีลักษณะเด่น ที่น่าสนใจ เกี่ยวข้องกับกรณีนั้น เช่น คำพูดหรือการให้สัมภาษณ์ของฝ่ายตรงข้าม การกระทำหรือพฤติกรรมของฝ่ายตรงข้าม พร้อมที่จะจับผิดหรือหาข้อบกพร่อง เพื่อเป็นข้อมูลในการตอบโต้ฝ่ายตรงข้ามตลอดเวลา  เป็นต้น

7. เวทนา : ฝ่ายตนเองมักจะมีความรู้สึกไม่สบายใจ บีบคั้นใจ เจ็บปวดรวดร้าว หรือเหี่ยวแห้งใจ เมื่อได้รับการตอบโต้ หรือจากกระทำ หรือพฤติกรรมของฝ่ายตรงข้าม ยิ่งฝ่ายตรงข้ามประสบความสำเร็จเท่าไหร่ ฝ่ายตนเองก็เกิดความคับข้องใจเพิ่มขึ้นเท่านั้น

8. ตัณหา : จากนั้นจะเกิดวิภวตัณหา คือ อยากให้ภาพที่บีบคั้น ทำให้ไม่สบายใจนั้น พ้นหายอันตรธานไปเสีย หรือต้องการทำลายฝ่ายตรงข้ามให้หลุดพ้นไปจากวงจรทางการเมือง

9. อุปาทาน : เกิดความยึดมั่นถือมั่น ผูกใจต่อพฤติกรรมของฝ่ายตรงข้าม ว่าเป็นสิ่งเกี่ยวข้องโดยเฉพาะกับตน มีผลกระทบต่อตน เป็นคู่กรณีหรือเป็นปฏิปักษ์กับตนซึ่งจะต้องจัดการหรือหากำจัดคู่ต่อสู้อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือวิธีการใดวิธีการหนึ่งโดยไม่คำนึงถึงวิธีการที่กระทำลงไป

10. ภพ : พฤติกรรมที่สืบเนื่องต่อไปของฝ่ายตนเอง ตกอยู่ใต้อิทธิพลของอุปาทานเกิดเป็นกระบวนพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งที่สนองอุปาทานนั้น คือพฤติกรรมเป็นปฏิปักษ์กับฝ่ายตรงข้าม (กรรมภพ) ภาวะชีวิตทั้งทางกายทางใจที่รองรับกระบวนพฤติกรรมนั้น ก็สอดคล้องกันด้วย คือ เป็นภาวะแห่งความเป็นปฏิปักษ์กับฝ่ายตรงข้าม (อุปปัตติภพ)

11. ชาติ : ฝ่ายตนเอง จึงหลงเข้าไปรับเอาภาวะชีวิตที่เป็นปฏิปักษ์นั้น โดยมองเห็นความเป็นปฏิปักษ์ระหว่างฝ่ายตนกับฝ่ายตรงข้าม ชัดเจนลงไปแยกเป็นเป็นเรา-เขา มีตัวตนที่จะเข้าไปกระทำและถูกกระทบกระแทกกับฝ่ายตรงข้าม

12. ชรามรณะ : การเกิดขึ้นของภาวะปฏิปักษ์นั้น จะก่อให้เกิดขัดแย้งที่รุนแรง เกิดภาวะที่เสื่อมถอย ทุกฝ่ายเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ (Lost-lost) รวมทั้งประเทศชาติด้วย

ต่างฝ่ายต่างก็มีทัศนคติที่เป็นลบต่อกัน จึงมีลักษณะของความด้อย ความพ่ายแพ้ เกิดเป็นความทุกข์ในรูปแบบต่าง ๆ ตลอดเวลา เช่น เกิดความเครียดเกิดความวิตกกังวล เป็นต้น เกิดสะสมมากขึ้น ๆ ก็จะมีผลกระทบต่อทั้งชีวิตของตนเอง ต่อผู้อื่น ต่อสังคม และต่อประเทศชาต และมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมครั้งต่อไปที่รุนแรงขึ้น ชั่วร้ายขึ้น เจ็บปวดเพิ่มมากข้น  และเกิดความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้นๆ (เป็นความเสื่อม) ในที่สุด

วงจรปฏิจจสมุปปบาททางการเมืองเช่นนี้ ก็จะก่อให้เกิดทุกข์ ไม่สามารถหลุดพ้นเป็นอิสระได้ เกิดแต่ความเสื่อม (ชรา มรณะ) ในท่สุด เรียกว่า ฝ่ายเกิดทุกข์ ซึ่งเป็นวงจรที่จะต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดขึ้น ส่วนวงจรที่เป็นฝ่ายดับทุกข์ เป็นวงจรที่พ้นทุกข์เป็นอิสระและหลุดพ้นจากความเสื่อมทางการเมืองในที่สุด วงจรทั้งสองมีดังนี้

ฝ่ายเกิดทุกข์

อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร -->วิญญาณ--> นามรูป--> สฬายตนะ--> ผัสสะ--> เวทนา--> ตัณหา--> อุปาทาน-->ภพ-->ชาติ ((ชรามรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และปายาส) = ความเสื่อมทั้งมวล และทุกข์ทั้งมวลเกิดด้วยอาการอย่างนี้

ฝ่ายดับทุกข์

เพราะดับอวิชชาจึงดับสังขาร -->วิญญาณ--> นามรูป--> สฬายตนะ--> ผัสสะ--> เวทนา--> ตัณหา--> อุปาทาน-->ภพ-->ชาติ ((ชรามรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และปายาส) = ความเสื่อมทั้งมวล และทุกข์ทั้งมวลย่อมดับด้วยอาการอย่างนี้ แก้ปัญหา (ดับทุกข์) ทางการเมืองต้องเริ่มต้นจากดับอวิชชา นั่นคือ ค้นหารากเหง้าของปัญหาทางการเมืองที่แท้จริง ด้วยความจริงใจ เต็มใจ และบริสุทธิ์ใจ...สาธุ

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #มจร.
หมายเลขบันทึก: 497794เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2012 10:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 สิงหาคม 2012 15:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เข้าใจเปรียบเทียบนะครับ ...

เป็นบทความที่สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเมืองในปัจจุบันมากที่สุด ให้กำลังใจเขียนบทความเรื่องอื่น ๆ ต่อไปนะ อย่าหยุดเสียละ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท