การขับเคลื่อนนวัตกรรมในองค์กรภาครัฐ


การขับเคลื่อนนวัตกรรมในองค์กรภาครัฐ

นัทธี  จิตสว่าง 

            การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และเทคโนโลยีในปัจจุบันได้ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการขององค์กรต่างๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าวเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว รุนแรง มีขอบเขตกว้างขวาง ครอบคลุมเรื่องต่างๆ แทบทุกเรื่อง และเป็นการเปลี่ยนแปลงที่คาดเดาได้ยาก

            ความรวดเร็วของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคตมีความเร็วจน    บิล เกตส์ (Bill Gates) เปรียบเปรยไว้ว่า “การเปลี่ยนแปลงของธุรกิจในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา ยังไม่เท่ากับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นใน 10 ปีข้างหน้า” การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วดังกล่าวทำให้หลายองค์กรปรับตัวไม่ทัน และได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงเพราะการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นเปลี่ยนแปลงในทุกมิติไปพร้อมๆ กัน กระทบถึงกันและกัน ทั้งเรื่องภูมิอากาศ อุทกภัย การผลิตอาหาร โรคระบาด พลังงาน เศรษฐกิจ การตลาด และโครงสร้างทางสังคม ในขณะที่สื่อทางสังคมรูปแบบต่างๆ ทำให้การสื่อสารและแบบแผนความสัมพันธ์ของคนในสังคมเปลี่ยนไป รวมตลอดถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ทุกภาคส่วนเกิดการเปลี่ยนแปลงส่งผลกระทบซึ่งกันและกัน แต่สิ่งสำคัญที่สุดก็คือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่คาดเดาไม่ได้ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่แทบไม่มีทิศทางหรือแนวโน้มแบบแต่ก่อน ทำให้ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าอนาคตจะเปลี่ยนไปในทางใด เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบแกว่งตัว หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นความผันผวนมากกว่าการเปลี่ยนแปลง

            การบริหารองค์การในยุคปัจจุบันจึงมิอาจที่จะใช้วิธีการแบบดั้งเดิมที่เคยใช้มาในอดีตมาใช้กับการบริหารองค์กรในยุคปัจจุบัน องค์กรจะต้องพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและการปรับตัวตลอดเวลา ดังนั้นนวัตกรรมจึงเป็นสิ่งจำเป็นของการบริหารองค์กรในยุคปัจจุบันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นวัตกรรมหรือการคิดใหม่ทำใหม่ การประดิษฐ์คิดค้นวิธีการทำงานหรือผลิตภัณฑ์ เครื่องมือใหม่ เพื่อแก้ปัญหาเดิมหรือปัญหาใหม่ที่จะเกิดขึ้น เป็นสิ่งที่องค์กรในยุคนี้จำเป็นจะต้องคิดค้นขึ้น นวัตกรรมดังกล่าวไม่จำเป็นจะต้องเป็นเรื่องของนวัตกรรมทางผลิตภัณฑ์หรือบริการ แต่ยังรวมถึงนวัตกรรม กระบวนการและนวัตกรรมการบริหารอีกด้วย ดังนั้นนวัตกรรมจึงไม่ใช่สิ่งจำเป็นแต่เฉพาะภาคธุรกิจเท่านั้น ภาครัฐก็จำเป็นที่จะต้องมีนวัตกรรมไว้รองรับการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงจากกระแสโลกาภิวัตน์ ที่ทำให้การติดต่อสื่อสารของประเทศต่างๆ ในโลกเชื่อมถึงกันได้สะดวกขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ทำให้การแข่งขันของประเทศต่างๆ หมดไป ตรงกันข้ามกลับยิ่งทำให้การแข่งขันของประเทศต่างๆ รุนแรงขึ้น ดังนั้นการที่ประเทศต่างๆ จะสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้จะต้องอาศัยความมีประสิทธิภาพขององค์กรภาครัฐที่ช่วยในการขับเคลื่อนนโยบาย ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาประเทศ จนผลักดันจากประเทศกำลังพัฒนาขึ้นมาเป็นประเทศชั้นนำของโลกได้อย่างสาธารณรัฐเกาหลี สิงคโปร์ หรือไต้หวัน ล้วนมีระบบราชการและกลไกภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ และมีการนำนวัตกรรมมาใช้อย่างต่อเนื่อง

            นอกจากจะต้องแข่งขันกับประเทศอื่นๆ แล้ว องค์กรภาครัฐยังจะต้องปรับตัวให้ทันต่อความก้าวหน้าของภาคเอกชนและองค์กรธุรกิจต่างๆ ด้วย เพื่อที่จะได้เสริมและเกื้อหนุนให้ภาคธุรกิจได้พัฒนาไปอย่างก้าวไกล ในขณะที่ประชาชนหรือผู้รับบริการก็จะมีความคาดหวังที่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ ต่อการบริการของภาครัฐ จึงทำให้ภาครัฐไม่อาจหยุดนิ่งได้ต้องปรับตัวและมีนวัตกรรมในการทำงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

            ปัญหาอยู่ที่ว่าจะขับเคลื่อนนวัตกรรมในองค์กรภาครัฐได้อย่างไร ในเมื่อวัฒนธรรมการทำงานของคนในองค์กรภาครัฐยังเคยชินกับการทำงานแบบเดิมๆ ในการยึดกฎ ระเบียบ เป็นหลักเพื่อความปลอดภัยในการทำงาน การขาดบรรยากาศในการส่งเสริมให้ข้าราชการคิดใหม่ ทำใหม่ ขาดวัฒนธรรมองค์กรในการส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม และที่สำคัญคือการขาดผู้นำที่มีวิสัยทัศน์และความคิดสร้างสรรค์ในการคิดค้นนวัตกรรมในการทำงาน

            แน่นอนที่สุดการขับเคลื่อนนวัตกรรมในองค์กรภาครัฐต้องเริ่มจากผู้นำองค์กรก่อน ต้องอาศัยผู้นำที่สนใจ ตระหนักและเห็นความจำเป็นที่ต้องมีนวัตกรรมในองค์กร แต่ผู้นำองค์กรอาจจะไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ หรือความคิดเชิงนวัตกรรม  สูง ขอให้เป็นเพียงคนที่อยากนำนวัตกรรมมาใช้ในองค์กรก็พอ ดังที่มีผู้กล่าวว่า “ระหว่างนวัตกรรมกับการทำงานหนักอย่างไหนสร้างแรงบันดาลใจให้คุณมากกว่ากัน หากคุณเลือกนวัตกรรม นักบริหารอย่างคุณจะมีบทบาทเพียงแค่หาคนที่มีหัวคิดสร้างสรรค์เข้ามา แล้วปล่อยให้เขาทำงานโดยอิสระ แต่ถ้าคุณเชื่อในการทำงานหนัก ภารกิจของคุณก็จะหนักหน่วงไปด้วย”

            ผู้นำต้องสร้างบรรยากาศให้เกิดการตื่นตัวและตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องมีนวัตกรรม เช่นเดียวกับที่ จอห์น คอตเตอร์ (John Kotter) กล่าวถึงการสร้างความตระหนักและความจำเป็นในการบริหารการเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ผู้นำจะต้องทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในองค์กรแล้วคนอื่นๆ จะช่วยกันคิดนวัตกรรมให้เกิดขึ้นในองค์กรเอง แต่ถ้าคนในองค์กรมีวัฒนธรรมที่ไม่เอื้อต่อการคิดสร้างสรรค์หรือมีการเมืองในองค์กรสูง ใครที่ทำอะไรต่างไปจากระเบียบประเพณี จะถูกร้องเรียน เช่นนี้นับเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของนวัตกรรมในองค์กรเป็นอย่างยิ่ง

            ดังนั้น การสร้างบรรยากาศ และสร้างวัฒนธรรม นวัตกรรมในองค์กรจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการก้าวไปสู่องค์กรนวัตกรรม เพราะนวัตกรรมมีอายุไข ต้องทำอย่างต่อเนื่องหยุดเมื่อไร นวัตกรรมนั้นก็จะถูกนวัตกรรมอื่นทำลายหรือสูญสลายไปเอง โดยเทคนิคง่ายๆ ที่จะเสริมสร้างบรรยากาศเช่นว่านี้ได้ คือการจัดประกวดนวัตกรรมประจำปีของหน่วยงานขึ้นในทุกๆ ปี ในขณะเดียวกันการเปิดรับนวัตกรรมหรือแนวคิดจากภายนอกหรือผู้รับบริการก็เป็นสิ่งจำเป็นเพราะไอเดียดีๆ ความคิดนอกกรอบอาจไม่ได้มาจากคนข้างในองค์กรจากงานประจำ จากในห้องประชุม แต่มาจากคนนอก จากสนามฟุตบอล จากหนังสือพิมพ์ จากโทรศัพท์ จากภาพยนตร์ จากข้อเสนอของคนนอกที่ทำให้คนในปิ๊งไอเดียขึ้นมา หรือทำให้เกิดจิตนาการในการทำงานขึ้นเพราะนวัตกรรมนั้นเกิดจากจินตนาการมากกว่าความรู้

            เทคนิคอีกประการหนึ่งคือการจัดให้มีหน่วยงานนวัตกรรมนำร่อง หรือหน่วยงานที่มีการปฏิบัติที่ดีเป็นแบบอย่างหรืออาจจัดทำมาตรฐานองค์การนวัตกรรมเพื่อการประเมินหน่วยงานในสังกัดเข้าสู่องค์กรนวัตกรรม เทคนิคนี้เป็นสิ่งจำเป็นมากสำหรับหน่วยงานที่เป็นองค์กรขนาดใหญ่ มีหน่วยงานย่อยในสังกัดกระจายอยู่เป็นจำนวนมาก การเปลี่ยนแปลงหรือการริเริ่มสิ่งใหม่ๆ มักจะถูกต่อต้านและถากถางว่า “ทำไม่ได้” หรือ “เป็นทฤษฎี” หรือ“เป็นเรื่องของฝรั่ง” นำมาปฏิบัติไม่ได้ ดังนั้นหากมีหน่วยงานที่สามารถทำได้ ปฏิบัติได้เป็นตัวอย่าง นำร่องการต่อต้านก็จะลดน้อยลง ยิ่งถ้าเป็นองค์กรที่เก่าแก่และมีขนาดใหญ่แล้ว การใช้ “ทฤษฎีตุ๊กตาล้มลุก”  เป็นสิ่งจำเป็นคือเปลี่ยนแปลงที่หัวก่อนแล้วฐานค่อยเคลื่อนตาม ไม่ควรที่จะขับเคลื่อนไปพร้อมกันๆ กันในคราวเดียวเพราะนวัตกรรมมีความเสี่ยง

            นอกเหนือจากมีหน่วยงานนำร่องแล้ว หน่วยงานอื่นๆ ก็ต้องสอดรับ สนับสนุน ฝ่ายกฎหมายต้องตรวจสอบข้อกฎหมายใดที่ต้องปรับปรุง ฝ่ายวิจัย ต้องออกค้นหานวัตกรรมของต่างประเทศหรือองค์กรเอกชนเพื่อเปรียบเทียบหรือพัฒนาต่อยอดเป็น Incremental Innovation ฝ่ายฝึกอบรมต้องสอดแทรกวิชานวัตกรรมลงในหลักสูตรการฝึกอบรมในเกือบทุกหลักสูตรหรือจัดเป็นหลักสูตรเฉพาะขึ้นมา รวมตลอดจนถึงการทำ KM แบบมีชีวิต

            ถึงแม้จะมีหลายฝ่ายช่วยสนับสนุนแต่สิ่งที่จะช่วยผู้บริหารได้มากในการขับเคลื่อนนวัตกรรมในองค์กรคือทีมงานนวัตกรรม ผู้บริหารต้องมีทีมงานในการขับเคลื่อนนวัตกรรมขององค์กร เป็นทีม “Hot Group” ที่รวมคนที่มีหัวก้าวหน้า คิดนอกกรอบ คิดเชิงนวัตกรรม คิดเชิงระบบ มารวมกันและสร้างสรรค์งานนวัตกรรมหรือต่อยอดงานนวัตกรรมจากการประกวดนวัตกรรมประจำปีเพื่อให้เกิดผลทางปฏิบัติ เพราะนวัตกรรมจะแตกต่างจากสิ่งประดิษฐ์ตรงที่นวัตกรรมมีการนำไปปฏิบัติจริง ใช้ได้จริง ทีมงานที่จะขับเคลื่อนงานนวัตกรรมจึงเป็นสิ่งจำเป็น วอลท์ ดิสนีย์ เอง ยังกล่าวไว้ว่า “คุณสามารถฝัน ออกแบบและสร้างสถานที่ที่ยอดเยี่ยมที่สุดในโลกได้ แต่ก็ยังต้องมีคนมาช่วยทำให้ฝันนั้นเป็นจริง” ทีมนวัตกรรมอาจไม่ใช่ทีมที่มาจากตำแหน่งหน้าที่ตามสายงาน แต่มาจากคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดก้าวหน้า มีความคิดเชิงนวัตกรรมสำหรับทำหน้าที่ในการคิดและขับเคลื่อนการคิดของคนในองค์กรไปสู่การปฏิบัติ

            แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดของความสำเร็จในการสร้างนวัตกรรมในองค์กรก็คือตัวผู้บริหารเอง จะต้องเปิดรับนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์เพื่อให้เกิดบรรยากาศและปูทางไปสู่การสร้างวัฒนธรรมขององค์กร ในขณะเดียวกันผู้บริหารก็จะต้องเป็นผู้นำเชิงนวัตกรรมด้วย ต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง และนำการคิดใหม่ๆ ผลักดันให้มีการปฏิบัติใหม่ๆ อีกนัยหนึ่งผู้บริหารต้องเป็นแบบอย่างในการทำงานเชิงนวัตกรรมด้วย คือต้องทำงานแบบผู้นำไม่ใช่ผู้บริหาร กล่าวคือ “ผู้นำต้องนำคนไปในที่ที่เขาไม่เคยไปมาก่อน” ต้องคิดริเริ่ม คิดนอกกรอบ มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ต้องไม่ทำงานประจำไปวันๆ บริหารระเบียบ ทำงานตามภารกิจ ผู้บริหารต้องดีดตัวเองออกมาจากงานประจำ หันมามองปัญหาและการทำงานอย่างเป็นระบบ มองการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอนาคต และเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง

               เพราะ  “นวัตกรรมในองค์กรภาครัฐ”  จะเกิดขึ้นได้ต้องมีนวัตกรรมในตัวผู้บริหารองค์กรก่อน

 *******************

 

 หมายเหตุ: ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

หมายเลขบันทึก: 497548เขียนเมื่อ 7 สิงหาคม 2012 19:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 สิงหาคม 2012 00:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เห็นด้วยกับการประกวดนวัตกรรมประจำปีค่ะ เพราะเป็นการกระตุ้นทีดี ไม่แน่อาจเหมือนของเซเว่น ทีพนักงานในร้านเสนอแนวคิดเรื่องใบเสร็จ จนตอนนี้เหลือแผ่นเล็ก และใช้กระดาษความร้อน(กระดาษชนิดเดียวกับเครื่องfax)ส่งผลให้องค์กรประหยัดไปเยอะเลยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท